บ่ายวันนี้มีฝรั่งชาวโปแลนด์มาสัมภาษณ์ แล้วเขาเล่าว่าเขามาเมืองไทยเพื่ออยากจะมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับวัดต่างๆ เขาอยากจะให้คนที่ประเทศของเขาได้เห็นเมืองไทยในอีกแง่มุมหนึ่ง ไม่ใช่รู้จักเมืองไทยแต่ในเรื่องที่มันเป็นด้านลบ เช่น เรื่องแหล่งเริงรมย์ หรือว่าเรื่องโสเภณีที่ใครๆ ก็เข้าใจกัน เขาก็มาเยี่ยมวัดต่างๆ ก็ไม่รู้ว่าใครแนะนำเขาให้มาที่วัดป่าสุคะโต แล้วเขาก็เห็นว่าที่วัดเราก็มีการปฏิบัติ ไม่ใช้วัดอย่างในเมืองที่เขาเห็น
คิดว่าเขาคงจะมีโอกาสได้ทดลองปฏิบัติอยู่บ้าง แต่เขาก็อยากจะทำความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติของที่สุคะโตนี้ เพราะว่าเห็นรูปแบบการปฏิบัติแตกต่างจากที่เขาเคยเห็นเคยรู้จัก โดยเฉพาะ การเจริญสติแบบที่เรียกว่าอานาปานสติ
ก็เลยอธิบายให้เขาฟังว่าการปฏิบัติของที่นี่ก็เป็นการเจริญสติเหมือนกัน แต่ว่าเราให้มีสติอยู่กับอิริยาบถ ทำอะไรใจก็อยู่กับสิ่งนั้น โดยที่ไม่เน้นเรื่องการหลับตา เขาก็สงสัยว่าทำไมการปฏิบัติของที่นี่ไม่มีการ หลับตา ก็อธิบายให้เขาฟังว่าการหลับตาสำหรับนักปฏิบัติหลายคนเพราะมุ่งความสงบ เพราะถ้าเปิดตาก็เห็นภาพเห็นรูป ก็อาจจะทำให้ใจวอกแวกได้
แต่ว่าการปฏิบัติของที่นี่เราไม่เน้นความสงบ โดยเฉพาะการพยายามควบคุมบังคับจิต เพราะหลายคนเวลามาปฏิบัติด้วยวิธีอื่น นอกจากหลับตาแล้วก็มีวิธีการบังคับจิตให้นิ่งอีกหลายอย่าง เช่น มีคำบริกรรม อาจจะมีการนับหนึ่งนับสอง หรือว่ามีการบริกรรมว่าพุทโธๆ พวกนี้เป็นอุบายเพื่อให้จิตสงบ เพราะว่าความสงบก็เป็นความมุ่งมาดปรารถนาของนักปฏิบัติจำนวนมาก แต่ที่นี่เราไม่ได้เน้นเรื่องความสงบ แต่เน้นเรื่องความรู้สึกตัว
ที่จริงความรู้สึกตัวถ้าหากว่าทำได้ต่อเนื่อง ผลที่ตามมาก็คือความสงบนั่นแหละ แต่มันไม่ใช่เป็นการความสงบเพราะบังคับจิตไม่ให้คิด หรือว่าบังคับจิตให้นิ่ง ที่นี่เราเปิดตา แล้วก็ไม่ได้นั่งนิ่งๆ เพราะว่าไม่ได้ เน้นว่าจิตจะต้องนิ่ง แต่ว่าอนุญาตให้จิตเขาไปไหนมาไหนก็ได้ ข้อสำคัญก็คือว่าไม่ว่าจิตจะมีอาการอะไรก็ให้รู้ทัน
หรือบางทีเราก็ใช้คำว่ารู้เฉยๆ รู้ว่าจิตไม่นิ่ง หรือรู้ว่าจิตสงบ รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน หรือว่ารู้ว่าจิตกำลังผ่อนคลาย เราไม่เน้นการบังคับจิต แต่อนุญาตให้จิตเขาเป็นอิสระ
หน้าที่ของเราก็คือว่าเรารู้ทุกอาการของจิต หรือทุกความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิต ไม่ว่าขึ้นหรือลง บวกหรือลบ กุศลหรืออกุศล เพราะว่าเพียงแค่รู้หรือรู้ทันความคิดและอารมณ์ มันก็นำไปสู่การปล่อย การวาง มันก็ทำให้ไม่มีการเข้าไปยึดในความคิดและอารมณ์เหล่านั้น มันก็ทำให้จิตสงบ เกิดความสงบตามมาได้ ไม่ใช่สงบเพราะนิ่ง แต่สงบเพราะรู้ทัน
เวลามันไม่นิ่ง ไม่ใช่สงบเพราะว่าไม่มีความหงุดหงิด แต่ เพราะรู้ทันเวลามีความหงุดหงิดเกิดขึ้น จะทำแบบนี้ได้ก็หมายความว่าเราอนุญาตให้จิตมันคิดมันฟุ้งได้ รวมทั้งยอมรับทุกอาการที่เกิดขึ้นกับจิต ทุกความคิดที่เกิดขึ้นในใจ
การยอมรับไม่ได้แปลว่ายอมแพ้หรือไม่ทำอะไร
พอพูดถึงคำว่ายอมรับ เขาก็มีคำถามขึ้นมาเลยว่า ยอมรับนี่มันไม่ได้คำถามถึงการนิ่งเฉย หรือถ้าพูดให้มันชัดเจนกว่านั้นก็คือว่าการยอมรับไม่ได้แปลว่ายอมแพ้หรือ ก็อธิบายไปว่าการยอมรับนี่คือการยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก่อนที่เราจะทำอะไรต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเหตุการณ์ หรือว่าการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์จากร้ายกลายเป็นดี ต้องเริ่มต้นจากการที่เรายอมรับความจริงที่เกิดขึ้นก่อน ไม่ว่าสิ่งนั้นมันเกิดขึ้นภายนอกตัวเรา หรือเกิดขึ้นในใจเรา
ทีนี้พอเรายอมรับแล้วก็หมายความว่าเราไม่ผลักไส ไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย มันก็ทำให้จิตมีความปลอดโปร่ง ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ ก็หมายความว่าสามารถที่จะคิดอ่านอะไรได้แจ่มชัด ว่าควรจะทำ อะไรต่อไป
คนเราจะทำอะไรมันก็ต้องมีสติ มีใจที่ปลอดโปร่ง ไม่ขุ่นมัว ไม่ถูกครอบงำด้วยอารมณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะเรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น
อย่างถ้าเกิดของหาย แล้วเราไม่ยอมรับมัน เราก็โวยวายตีโพยตีพาย หัวเสีย ซึ่งนอกจากจะทำให้เรามีความทุกข์มากขึ้นแล้ว ก็ยังทำให้เราไม่สามารถที่จะคิดอ่านได้ชัดว่าควรจะทำอะไรต่อไป
หรือเวลาเรา เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ถ้าเราไม่เริ่มต้นด้วยการยอมรับ เราโวยวายตีโพยตีพาย มันก็ซ้ำเติม ไม่ใช่แค่ป่วยกายอย่างเดียว ป่วยใจด้วย ทุกข์ใจด้วย แล้วบางทีก็ทำให้หมดอาลัยตายอยาก เสื้อผ้าหน้าผมไม่สนใจ สิ่งที่ควรจะทำเพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บก็ไม่ได้ทำ หรือบางทีก็ซ้ำเติมให้อาการย่ำแย่ลง
อย่างคนที่หมดอาลัยตายอยากกับชีวิต เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ยิ่งทำให้อาการความเจ็บป่วยรุนแรงมากขึ้น แต่ถ้าเกิดว่าเรายอมรับมันได้ อาการหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตก็ไม่เกิดขึ้น แล้วก็มีสติที่จะคิด อ่านว่าควรจะทำอะไรต่อไป จะรักษาอย่างไร พูดอีกอย่างคือนอกจากจะไม่ซ้ำเติมความทุกข์ให้กับตัวเราแล้ว ก็ยังทำให้เราสามารถที่จะแก้ปัญหา หรือเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง
ทำกิจ ทำจิต
ที่จริงถ้าจะอธิบายขยายความต่อไปก็คือ การยอมรับเป็นเรื่องการทำจิต พุทธศาสนาท่านสอน 2 อย่าง เวลาพูดถึงการทำ คือ 1.ทำจิต 2.ทำกิจ
ทำจิต เช่น การยอมรับหรือการปล่อยวาง แต่ไม่ได้แปลว่าไม่ ทำอะไรเลย ถ้าหากว่ามันมีเหตุที่จะต้องทำ หรือมีโอกาสที่จะทำอะไรได้ คนไปเข้าใจว่ายอมรับหรือการปล่อยวางคือการปล่อยปละเลย ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่เขาถาม อย่างเช่น ถ้าเกิดว่ามีความไม่ถูกต้องเกิดขึ้นใน สังคม ถ้าเรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ก็แปลว่าเรานิ่งดูดาย ไม่ทำอะไรหรือ
อันนี้มันคนละเรื่อง การไม่ทำอะไรเลยคือการไม่ทำกิจ แต่สิ่งที่เราเน้นเป็นเบื้องต้นคือการรู้จักทำจิต เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น เราก็ต้องยอมรับมันก่อนว่ามันเกิดขึ้นแล้ว ป่วยการที่จะปฏิเสธมัน เพราะถ้าเราไม่ยอมรับ อาการที่มันเกิดขึ้นคือการปฏิเสธ แล้วพอสิ่งที่ปฏิเสธ สิ่งที่ผลักไส มันไม่เป็นไปดั่งใจ ก็เกิดความหดหู่เกิดความท้อแท้ ก็ทำให้นอกจากทำจิตไม่ถูกแล้ว ก็ยังทำให้เกิดการไม่ทำกิจด้วย
แต่พอเราทำจิตให้ถูกต้อง เช่น เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เรารู้จักยอมรับมัน ถึงเวลาที่เราจะทำกิจ เราก็รู้ว่าควรจะทำอย่างไร เพราะว่าเรามีสติ เรามีใจที่ไม่ขุ่นมัว มันก็สามารถที่จะคิดอ่านทำอะไรได้
คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักแยกแยะระหว่างการทำจิตกับการทำกิจ มันเป็นคนละอันกัน การยอมรับที่พูดถึงก็คือการทำจิต พอเราทำจิตแล้วเราก็ดูว่าเราจะทำอะไรต่อไปได้หรือเปล่า บางอย่างมันก็ทำไม่ได้ เช่นคนรักตายจากไป มันก็ต้องทำจิตยอมรับอย่างเดียวหรือปล่อยวาง ทำอะไรไม่ได้มากกว่านั้น แต่ถ้าเกิดว่าเจ็บปวดขึ้นมา อย่างน้อยเราก็สามารถทำกิจได้ เช่นการเยียวยารักษาตัวเอง แต่ก่อนที่จะทำกิจให้ถูกต้องได้ก็ทำจิตก่อน
ทีนี้สำหรับเวลาเจอเหตุการณ์ที่ไม่ถูกต้อง อย่างที่บอกคือเราเริ่มต้นด้วยการยอมรับ ว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องคิดอ่านว่าควรจะทำอะไร ถ้าหากว่ามันสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้มันดีขึ้นได้ เขาตั้งคำถามว่าคนที่สนใจเรื่องการเจริญสติจำนวนไม่น้อยเลยนิ่งดูดาย ไม่ทำอะไรเพื่อแก้ไขเหตุการณ์ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้ก็มีเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม หรือว่าการเอารัดเอา เปรียบกัน ช่องว่าง หรือความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น
ถ้าเกิดว่าเมื่อเราเจริญสติแล้วเราเห็นปัญหา แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย มันก็ต้องมาดูว่าเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเกียจคร้าน เป็นเพราะหวาดกลัว หรือว่าเป็นเพราะกลัวสูญเสียผลประโยชน์หรือเปล่า ถ้าเจริญสติอย่างถูกต้อง มันต้องเห็นตรงนี้ เห็นตัวการที่อยู่เบื้องหลัง ที่ทำให้เราไม่ทำอะไรเลย เพื่อทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เจริญสติอย่างถูกต้อง ต้องเห็นว่าตัวกิเลสที่มันอยู่เบื้องหลังการกระทำที่ทำให้เรานิ่งเฉยมัน คืออะไร ถ้ามองไม่เห็น แล้วปล่อยให้มันครอบงำจิต ก็แสดงว่าไม่ได้เจริญสติอย่างถูกต้อง
ก็เหมือนกับที่มีคนพูดว่าโจรก็ต้องมีสติ พวกนักย่องเบามันก็ต้องมีสติ พวกมือปืนที่คอยซุ่มยิงคนก็ต้องมีสติ อันนี้ก็ถูก คนเหล่านี้ถ้าเขาไม่มีสติ ใจเขาวอกแวก เขาก็ทำการไม่สำเร็จ แต่ว่าสติที่เขามีมันไม่ใช่ สัมมาสติ เพราะมันเป็นมีสติที่เพียงแค่กำกับใจให้สงบ ให้แน่วแน่อยู่กับสิ่งที่กำลังทำ แต่ไม่ใช่สติที่ทำให้เห็นตัวกิเลสที่อยู่เบื้องหลังการกระทำซึ่งผิดศีลผิดธรรม โจรทำการด้วยความโลภ หรือว่าผู้ร้ายที่ซุ่มยิง คนก็ทำการด้วยความโกรธ ด้วยความเกลียด หรืออาจจะด้วยความโลภเพราะว่าได้ค่าจ้าง ถ้าเขาไม่มีสติเห็นความโลภหรือกิเลสเหล่านี้ ก็แสดงว่าเป็นสติที่บกพร่อง หรือเป็นสติที่เรียกว่า มิจฉาสติ ไม่ใช่สัมมาสติ
ฉะนั้นถ้าเจริญสติอย่างถูกต้อง แล้วคนที่มีสติจริงๆ เวลาเห็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง จริงอยู่ต้องยอมรับว่ามันคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ว่าขั้นต่อไปคือต้องลงมือทำ การยอมรับว่ามันมี เป็นความจริงที่เกิดขึ้น คือการทำจิต ส่วนการแก้ไขลงมือทำ คือการทำกิจ ต้องแยกกัน
ไม่ผลักไส ไม่ใฝ่หา
แล้วในการเจริญสติ อย่างที่บอก คือการที่เรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่ามีความคิดหรืออารมณ์ใดๆ เกิดขึ้น มีความโกรธก็ไม่ผลักไสความโกรธนั้น มีความฟุ้งซ่านก็ยอมรับ ไม่ผลักไสกดข่มความคิดฟุ้งซ่านนั้น
อย่างนี้ที่ครูบาอาจารย์เรียกว่ารู้ซื่อๆ คำว่ารู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ ก็เป็นอันเดียวกับการยอมรับ รู้ซื่อๆ ก็คือว่า โกรธก็รู้ ฟุ้งก็รู้ สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ มันเป็นการรู้โดยที่ไม่ผลักไส แล้วก็ไม่ไหลตาม เช่นเวลามีอารมณ์อกุศลเกิดขึ้นก็รู้โดยไม่ผลักไส มีความโกรธเกิดขึ้น มีความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็รู้ แต่ไม่ไปผลักไสกดข่มมัน มีความสงบเกิดขึ้นก็รู้ แต่ไม่ได้ไปเคลิ้มคล้อยกับความสงบจนติดสงบ อันนี้คือหลักการการเจริญสติของที่นี่ ซึ่งที่จริงก็เป็นหลักการเจริญสติตามหลักสติปัฏฐาน 4 อยู่แล้ว ก็คือไม่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ ก็แค่รู้เฉยๆ
มีเวทนาเกิดขึ้นก็รู้ ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา เพราะถ้าไม่รู้ มันจะเกิดปัญหาขึ้นมา เช่น พอเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาก็ผลักไส ผลคืออะไร ก็คือไม่ใช่แค่กายทุกข์อย่างเดียว ใจก็ทุกข์ด้วย เวลามีความโกรธเกิดขึ้นผลักไสมัน สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ก็คือยิ่งไปจมอยู่ในความโกรธมากขึ้น
ก็อธิบายให้เขาฟังว่างานของสติ สติถือว่าเป็นสิ่งที่คุ้มกันจิต สติเปรียบเหมือนกับนายทวารบาล หรือยามที่เฝ้าประตูเมือง เมืองในที่นี้ก็คือจิตตนคร สติรักษาใจไม่ให้ทุกข์ด้วยวิธีอะไร ด้วยวิธีป้องกัน ไม่ให้ ความโกรธ ความเกลียด ความทุกข์เข้ามาครอบงำจิต ทำอย่างไร? ก็แค่รู้ทัน แค่รู้ทันว่ามันมีกิเลสเกิดขึ้น มันมีความโกรธเกิดขึ้น มันมีความเศร้าเกิดขึ้น การรู้ทันมันมีอานุภาพ เพราะว่าถ้าเข้าไปกดข่มมัน ถ้าไม่รู้ ทัน แต่เข้าไปกดข่ม ไปโรมรันพันตูกับมัน ก็เท่ากับว่าตกอยู่ในอำนาจของอารมณ์ หรือความทุกข์เหล่านี้
ยิ่งผลักไสก็ยิ่งยึดติด เหมือนกับขาที่ติดบ่วง เวลาขาติดบ่วง ถ้าเรายิ่งพยายามดึง พยายามที่จะสลัดให้หลุด บ่วงยิ่งรัดแน่น ทำนองเดียวกัน เวลาเรารับมือกับอารมณ์ ความโกรธก็ดี ความเศร้าก็ดี ถ้าเราไปสู้กับมัน เราก็ยิ่งยึดติด ตกอยู่ในอำนาจของมัน เป็นการต่ออายุ เป็นการเติมพลังให้มัน
ลองสังเกตดูเวลาเราโกรธ แล้วพยายามกดข่มความโกรธไว้ มันยิ่งโกรธ มันอาจจะหลบในประเดี๋ยวเดียว แล้วพอเผลอมันก็อาละวาดขึ้นมา หรือเวลามีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น เราพยายามบังคับจิตไม่ให้คิด ยิ่งห้ามมันยิ่งคิด มันเป็นธรรมชาติของจิตเลย ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ
เขาเคยมีการทดลองให้คนมานั่งอยู่ในห้องคนเดียว แล้วก็มีหลายคน นั่งคนละห้องๆ แล้วทุกคนก็ได้คำสั่งว่าจะคิดอะไรก็คิดได้ แต่ห้ามคิดถึงหมีขาว ถ้าใครคิดถึงหมีขาวให้กดกริ่งเลย ปรากฏว่าสั่งไม่ทันไรเลย พอปิดห้องประเดี๋ยวเดียวคนกดกริ่งกันใหญ่เลย เพราะอะไร เพราะคิดถึงหมีขาว ทำไมถึงคิด เพราะว่าถูกห้ามไม่ให้คิด พอห้ามคิดมันก็ยิ่งคิดใหญ่เลย ถ้าไม่ห้ามมันก็ไม่คิด ใครจะไปคิดถึงหมีขาว แต่พอ ห้ามคิดถึงหมีขาว มันจะคิดขึ้นมาทันทีเลย อันนี้เรียกว่ายิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ
แล้วมันไม่ใช่แค่ความคิดอย่างเดียว อารมณ์เหมือนกัน ไหลตามอารมณ์ ทำตามอารมณ์ ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มพลังให้มัน แต่ถ้าเราไปกดไปข่มมัน ก็เท่ากับเราตกอยู่ในอำนาจของมันเหมือนกัน แล้วธรรมชาติของอารมณ์มันก็ชอบยั่ว ยั่วให้เราเข้าไปโรมรันพันตูกับมัน ถ้าเราหลงเชื่อมัน เราก็ตกอยู่ในอำนาจของมัน เรียกว่าเข้าล็อค
เพราะฉะนั้นหลายคนจะพบว่าเวลาเจริญสติ แล้วแค่ดูเฉยๆ รู้ซื่อๆ มันทำยาก มันอดไม่ได้ที่จะเข้าไปกดข่ม ผลักไสความคิดและอารมณ์ ยิ่งอยากหรือปรารถนาความสงบ ยิ่งทนไม่ได้กับความคิดฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น ยิ่งไปกดข่มมัน พอยิ่งกดข่มก็ยิ่งฟุ้ง และยิ่งหงุดหงิดที่ทำไม่สำเร็จ หลายคนพอทำไปๆ ก็จะท้อ เพราะว่ายิ่งกดข่มมัน ยิ่งพยายามห้ามจิตไม่ให้คิด มันกลับยิ่งคิด เลยท้อ หรือถ้าไม่ท้อก็หงุดหงิดมากขึ้น
บางคนโมโหเอาหัวโขกเสาเลย ทำไมมันคิดมากเหลือเกินๆ บางคนก็เอารองเท้าแตะฟาดหัว ทำไมคิดมากเหลือเกิน ลืมตัวเลย ทั้งที่เวลาไม่ปฏิบัติก็ไม่ลืมตัวขนาดนั้น แต่พอปฏิบัติ ทำไมลืมตัว ก็เพราะ พยายามบังคับความคิดไม่ให้มันคิด เพราะอยากให้จิตมันสงบ แต่จิตมันยิ่งไม่สงบ หลายๆ คนก็หน้ามืด ปวดหัว แน่นหน้าอก ที่ทำก็ทำด้วยความทุกข์ และหลายคนก็ทนความทุกข์ไม่ไหวก็เลิก ทำได้ 5 นาที 10 นาทีก็เลิก นี่เพราะไม่รู้จักวิธียอมรับมัน หรือว่ารู้ซื่อๆ แต่เข้าไปสู้กับมัน
จริงๆ อารมณ์พวกนี้ไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้าย อยู่ที่ว่าเราจะเกี่ยวข้องกับมันอย่างไร ความหงุดหงิด ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น มันดีนะ ถ้าหากว่ารู้ทันมัน อย่างที่พูดเมื่อวานนี้ พูดถึงคำสอนของหลวงพ่อคำเขียนว่า การ ปฏิบัติหรือการเจริญสติไม่มีคำว่าล้มเหลว แม้ใจไม่สงบก็ไม่ถือว่าล้มเหลว เพราะว่าไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ ไม่สงบก็จริง แต่ก็รู้ว่าไม่สงบ ได้ตัวรู้เพิ่มมา 1 ตัว มันมีแต่รู้ มันมีแต่รู้และรู้เพิ่มขึ้น รู้เพิ่มขึ้น แม้ว่ามันจะมีความคิดฟุ้งซ่าน แม้มันจะมีความหงุดหงิด แต่นั่นไม่ใช่ความล้มเหลว เพราะว่าได้รู้เพิ่มมากขึ้น
ฉะนั้นในการปฏิบัติ การเจริญสติ อะไรเกิดขึ้นไม่สำคัญเท่ากับว่าเราปฏิบัติกับมันอย่างไร อย่าไปคิดว่าความฟุ้งซ่านไม่ดี อย่าไปคิดว่าความหงุดหงิดไม่ดี มันดีถ้าเกิดว่าเรารู้จักใช้มัน ใช้มันเป็นอุปกรณ์ในการฝึกจิต ในการสร้างตัวรู้ มีผู้รู้เขาแนะนำว่าอารมณ์พวกนี้ ให้เรามองมันเหมือนกับช่างหม้อ(ช่างทำหม้อ)มองหรือปฏิบัติกับดินเหนียว ดินเหนียวไม่เป็นปัญหา ดินเหนียวคือวัตถุดิบที่จะแต่งหม้อ ที่จะปั้นหม้อให้ เป็นอะไรก็ได้ อารมณ์ความคิดต่างๆ ก็เหมือนกัน ที่มันเกิดขึ้นในใจ ให้เรามองว่ามันคือวัตถุดิบ มันคืออุปกรณ์ที่เราสามารถจะเสกสรรค์ปั้นแต่งให้มันเกิดสิ่งดีงามขึ้นมาได้ สิ่งดีงามนี่ก็คือการมีสติ มีความรู้สึกตัว
ฉะนั้น อะไรเกิดขึ้นกับใจไม่สำคัญเท่ากับว่าเราปฏิบัติกับมันอย่างไร มีความสงบเกิดขึ้น แต่ถ้าเราไม่มีสติ เราไปหลงยึดความสงบนั้น กลายเป็นคนติดสงบก็เกิดโทษ นักปฏิบัติจำนวนมากพอติดสงบแล้วกลายเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย หัวเสียง่าย เวลามีเสียงมากระทบ เวลามีคนพูดเสียงดัง อันนี้เพราะว่าปฏิบัติกับความสงบไม่ถูกต้อง แต่เวลาเจอความฟุ้งซ่าน ถ้าปฏิบัติถูกต้อง มันได้ตัวรู้ หลวงพ่อเทียนบอกว่าอย่าไปห้ามคิด แล้วถ้าปฏิบัติถูก ยิ่งคิดมันยิ่งรู้ คือรู้สึกตัว
เพราะฉะนั้นอันนี้คือเหตุผลว่าทำไมการปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนไม่ได้ปิดตา ไม่ได้ทำให้อยู่นิ่งๆ เพราะว่าถ้าปิดตาแล้วความสงบเกิดขึ้น ก็อาจจะทำให้ติดสงบ แล้วก็อย่างที่บอกคือไม่เน้นการบังคับจิต ไม่ได้เน้นที่การกล่อมจิตให้สงบ แต่เน้นที่จะให้รู้ รู้สึกตัวแล้วก็รู้ทันความคิด รู้ทันทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้น เพราะความรู้สึกตัวหรือการรู้ทัน มันคือสิ่งที่จะช่วยทำให้เราเป็นอิสระจากความทุกข์ และอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างแท้จริง