แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 5 มีนาคม 2566
เมื่อสักเดือนสองเดือนที่แล้ว มีข่าวที่เราอาจจะได้ยินอยู่บ้าง คือข่าวนักวิชาการไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์หรือทั้งหมดก็ว่าได้ ไปซื้องานวิจัยจากต่างชาติคือ เป็นงานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำ คนอื่นทำ ตัวเองก็เพียงแต่ว่าไปซื้อ หมายความว่าให้เงินกับคนที่นำเสนองานวิจัย เพื่อจะให้ตัวเองมีชื่ออยู่ในงานวิจัยนั้นว่าเป็นผู้ทำวิจัย เพื่อจะได้มีตำแหน่ง หรือว่าจะได้ตรงตามเงื่อนไขของมหาวิทยาลัย ที่ว่าอาจารย์จะต้องมีผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในต่างประเทศ
เพราะถ้าจะเป็นอาจารย์ได้นานๆ ต้องมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในต่างประเทศจำนวนชิ้นเท่านั้นๆ ก็แล้วแต่มหาวิทยาลัย ก็มีอาจารย์ไทยจำนวนไม่น้อยแทนที่จะทำวิจัยเองก็ไปซื้องานวิจัย โดยการจ่ายเงินเพื่อให้ตัวเองมีชื่ออยู่ในงานวิจัย เพื่อได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ ที่มันเป็นข่าว เพราะว่าอาจารย์บางคนอยู่สายสังคมศาสตร์แต่ว่ามีชื่อในงานวิจัยทางด้านวิศวะ หรือทางด้านเกษตร คนก็เอะใจสอนสังคมศาสตร์ สอนรัฐศาสตร์ แต่ทำไมมีผลงานวิจัยทางด้านวิศวะ ทางด้านเกษตร ทางด้านวิทยาศาสตร์ มันผิดสังเกต
ตอนหลังก็มีการเปิดเผยว่า มันมีตลาดที่ขายงานวิจัย เพื่อเรียกเอาเงินจากนักวิชาการต่างๆ ทั่วโลก เมื่อเดือนที่แล้วมหาวิทยาลัยในเมืองไทยอย่างน้อย 8 แห่งพบว่า มีอาจารย์ของตัวเอง 33 คนซื้องานวิจัยที่ว่า แล้วก็มีอีกอาจจะเป็นร้อยที่อยู่ในข่ายของการซื้องานวิจัย ซึ่งก็เรียกว่าเป็นการทุจริตทางวิชาการ นอกจากนั้นมีการตั้งคำถามกับอาจารย์หรือนักวิชาการในเมืองไทยที่มีผลงานตีพิมพ์ในต่างประเทศแล้ว ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า งานวิจัยที่อาจารย์หลายคนอ้างว่าตัวเองเป็นผู้ทำวิจัย มันมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน
และก็เพิ่งมีข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เมื่อมีการสอบสวนติดตามงานวิจัยต่างๆ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในต่างประเทศ เฉพาะที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับด้านการแพทย์หรือด้านชีววิทยาระดับโมเลกุล ซึ่งเป็นสาขาที่ สำคัญของการแพทย์ในปัจจุบัน พบว่ามีจำนวนเป็นหมื่นๆ เลย ที่สันนิษฐานหรือสงสัยว่าปลอมแปลง ตกแต่งข้อมูล หรือว่ายกเมฆข้อมูล รวมทั้งไปลอกจากที่อื่นมา แล้วก็ดัดแปลงให้มันดูสวยดูดี
มันน่าตกใจมากนะ ว่าเวลานี้เวลาเราเห็นเฟกนิวส์ หรือเวลาเราเห็นข่าวปลอม มันเป็นข่าวที่ไม่มีต้นตอ แล้วก็เป็นเรื่องทางด้านการเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของการแก่งแย่งเอาผลประโยชน์ มันก็ดูเหมือนธรรมดาที่จะมีการโกหกหลอกลวงเพื่อผลทางการเมือง แต่ว่างานวิชาการมันอีกเรื่องหนึ่งเลย มันเป็นเรื่องของวิชาการเพื่อแสวงหาความจริง แล้วคนที่เป็นเจ้าของมาวิจัยก็มีชื่อ ไม่ใช่นิรนาม กว่าจะได้การตีพิมพ์ก็ต้องมีการตรวจสอบ โดยบุคคลในวงการเดียวกัน ที่มีความรู้มีประสบการณ์ มีกระบวนการขั้นตอนคัดกรอง ยืนยันความน่าเชื่อถือ กว่าจะได้รับการตีพิมพ์ แต่ปรากฏว่าที่ตีพิมพ์มาในวารสารวิชาการระดับท็อปๆ ของโลกจำนวนไม่น้อยเลย มีการตกแต่งเติมแต่งบิดเบือนยกเมฆ
อย่างในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เฉพาะในวงการวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยาระดับโมเลกุล ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องการแพทย์ ปรากฏว่ามีงานวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วถูกถอดกว่า 19,000 ชิ้น ก็เกือบ 20,000 ถูกถอดหมายความว่าวารสารที่เขาพิมพ์เขาประกาศเลยว่า งานวิจัยที่เขาตีพิมพ์ชิ้นนี้ๆ เขาไม่รับรองแล้ว เขาขอถอด แสดงว่าไม่น่าเชื่อถือ เกือบ 20,000 ชิ้นเลยที่จับได้ แล้วเฉพาะในวงการชีววิทยาระดับโมเลกุลของปีที่แล้ว งานที่ถูกถอดมีถึง 2,600 ชิ้น แค่วงการแคบๆ เล็กๆ วงการเดียว ถ้าเขาขยายการสอบสวนไปถึงวงการอื่นๆ ด้วย ก็อาจจะเจออะไรที่มันน่าตกใจยิ่งกว่านี้
เผอิญคนที่จะมาทำหน้าที่ใส่ใจที่จะมาติดตามจับเท็จงานวิชาการต่างๆ ที่ตีพิมพ์มันไม่ค่อยมี เพราะว่าไม่มีเวลา ส่วนใหญ่ก็เอาเวลาไปทำงานวิจัยดีกว่า งานสอนดีกว่าที่จะไปติดตามว่างานวิจัยที่ดีพิมพ์ว่ามีชิ้นใดบ้างที่มันทำให้ทะแม่งๆ มันไม่ค่อยมี แต่ว่าพอมีคนทำงานนี้ขึ้นมา คลำไปทางไหนก็เจอ ข้อมูลที่มันประหลาดๆ ข้อมูลที่มันพิกลๆ โดยเฉพาะถ้าคนที่มีหูตากว้างไกล อ่านงานวิจัยมาเยอะ เขาก็จะพบว่างานชิ้นนี้ที่ตีพิมพ์นี่ ข้อมูลชอบกลนะ แล้วก็มีคนมีความเพียรไม่ใช่มีคนเดียว มีเป็นคณะเลย ไล่ตามเลย ข้อมูลที่เขาค้นพบมันทำให้น่าตกใจมากว่า งานวิชาการที่พิมพ์ในวารสารที่มีชื่อในต่างประเทศจำนวนมากมันเติมแต่ง
ถามว่างานวิจัยที่ตีพิมพ์ที่บิดเบือนข้อมูล ยกเมฆ มากมายมันมาจากไหน เขาบอกมันมาจาก 2 แหล่ง 1. มาจากนักวิชาการที่มีชื่อ ซึ่งบางทีทำงานเป็นทีม นักวิชาการนี่ขยันมากในการผลิตงาน แล้วผลิตงาน แต่ละชิ้นๆ ก็สร้างความฮือฮาให้กับวงการ ก็ทำให้ตัวเองมีชื่อเสียง ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำ เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ แล้วคนก็เห็นว่าเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ก็ไม่กล้าตั้งคำถาม ก็เชื่อ คิดว่าเขามีศักดิ์ศรี มีจริยธรรมทางวิชาการ แต่ปรากฏว่าพอตามเช็คจริงๆ มีไม่น้อยเลยที่ยกเมฆ
มีอาจารย์คนหนึ่ง ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยา ประเทศฮอลแลนด์ ปรากฏว่าต้องถอนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ ยอมรับเลยว่ายกเมฆถึงเกือบ 60 ชิ้น ขยันเขียนนะ 60 ชิ้นนี่ไม่ใช่น้อยเลย แต่ปรากฏว่าไม่มีคุณภาพเลยสักชิ้น เพราะว่ามันยกเมฆ นี่ขนาดงานวิจัยที่อ้างว่าทำกับมือ ไม่ได้ซื้อมา ทำกับมือแต่ว่ามันหาความน่าเชื่อถือไม่ได้ เพราะถูกจับได้ว่าบิดเบือนข้อมูล หรือทำขึ้นเอง ยกเมฆมา อ้างว่ามีการทดลองอย่างนั้นอย่างนี้ ปรากฏว่าไม่มีการทดลองหรอก นี่ก็อีกประเภทหนึ่ง คือประเภทเป็นคนดัง เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง อาจจะทำคนเดียวหรือทำเป็นคณะ บางทีก็ให้ลูกศิษย์ทำ บางทีก็ให้นักศึกษาปริญญาเอกทำ แล้วตัวเองก็มาเติมแต่งข้อมูล สร้างความฮือฮา เพราะผลงานมีเยอะ
อีกประเภทหนึ่งเป็นฝีมือของโรงงานผลิตงานวิจัย พวกนี้ปั๊มเพื่อขาย ใครอยากได้ก็มาซื้อเอา นี่แหละที่อาจารย์นักวิชาการไทยถูกกล่าวหาว่าไปซื้อมา ไปซื้อจากพวกที่ปั๊มงานวิจัย ทำไมปั๊มได้เยอะ เป็นพันๆ เป็นหมื่นๆ ก็เพราะว่าไปคัดลอกงานวิจัยที่มีคุณภาพอยู่แล้ว แล้วก็มาเติมแต่งข้อมูล มาปรับเปลี่ยนข้อมูล มาแก้ไขนิดหน่อย แล้วก็เอาไปออกขาย ก็มีคนไปซื้อ คนไทยก็ไปซื้อมาไม่ใช่น้อย เขาว่าแหล่ง ผลิตปั๊มงานวิจัยแหล่งสำคัญก็คือประเทศจีน จีนมีชื่อเสียงหลายด้านแม้กระทั่งงานวิจัยที่ทำออกขาย ประเภทปั๊มกันมาเป็นโรงงาน เป็นอุตสาหกรรมมีเยอะมาก แต่ไม่ใช่จีนที่เดียว ที่อื่นก็มีเหมือนกัน
อันนี้คือความจริงที่คนไม่ค่อยรู้ แต่เขาเพิ่งมาเปิดเผยว่ามันขนาดนี้เชียวหรือ แล้วที่สำคัญคือว่างานวิจัยเหล่านี้ พอมันอ้างอิงมากๆ คนก็เชื่อ แล้วบางอย่างคนก็นำมาปฏิบัติ โดยเฉพาะเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวกับการทดลองกับผู้ป่วย ซึ่งตอนนี้ก็พบว่าการรักษาหลายอย่างที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันทั่วโลก ปรากฏว่ามันไปอ้างจากงานวิจัยที่ยกเมฆ
อย่างเช่นมีวิธีรักษาคน คนที่กำลังจะผ่าตัด ถ้าเป็นคนที่ป่วยหนัก เขาก็จะมีการแนะนำว่า ควรฉีดสารละลายชนิดหนึ่ง เรียกว่าสต้ารชอินฟูชั่น (starch infusion) เข้าไป เพื่อที่จะกระตุ้นหรือเพิ่มความดันของเลือด ไม่ให้ความดันตก เพราะถ้าผ่าตัดแล้วความดันตกก็อาจถึงตาย แล้วก็มีการกระตุ้นความดันเลือด เขาใช้สต้ารชอินฟูชั่นฉีดเข้าไป ปรากฏว่ามันเป็นคำแนะนำหรือวิธีการที่อิงจากการวิจัยที่ยกเมฆขึ้นมา ซึ่ง เขาบอกว่าการทำเช่นนั้น มันทำให้คนจำนวนไม่น้อยมีปัญหาเรื่องไต ไตวายได้ แต่ก็ทำกันไปเรียบร้อยแล้วทั่วโลก
หรือไม่ก็มีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการผ่าตัด ถ้าป้องกันไม่ให้เกิดโรคหัวใจวายขณะที่ผ่าตัด หรือว่าเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่เรียกว่าสโตร้ก (stroke) เขาแนะนำให้ฉีดยาที่เรียกว่า บีต้าบล็อคเกอร์ (beta-blocker) มันจะช่วยได้ ตอนนี้พบว่าวิธีการนี้สรุปมาจากการวิจัยที่ยกเมฆขึ้นมา บิดเบือน แล้วเขาบอกว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้มีคนตายถึงหมื่นคน เฉพาะในอังกฤษที่เดียว เพราะฉีดบีต้าบล็อคเกอร์เข้าไป มันน่ากลัวนะ วิธีการดังกล่าว มาจากงานวิจัยของวิสัญญีแพทย์ชาวเยอรมันคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมาก ตอนนี้พบว่ามีการเติมแต่งและบิดเบือนข้อมูลในงานวิจัยของเขา
หรือมีงานวิจัยที่บอกว่าคนที่มีการกระทบทางสมอง ถ้าฉีดหรือให้น้ำตาลเข้มข้นสูงๆ มันจะช่วยได้ ทำให้อาการทุเลา พอไปเช็คดูปรากฏว่ามันอ้างจากการทดลองที่ไม่มีจริง งานวิจัยบอกว่ามีการทดลองอย่าง นั้นอย่างนี้ ทดลองแล้วได้ผล ฉีดน้ำตาลความเข้มข้นสูงเข้าไปในผู้ป่วยที่มีการกระทบกระแทกทางศีรษะ ปรากฏว่ามันไม่มีการทดลองเช่นนั้นจริงๆ แต่ว่าคนก็เชื่อไปเรียบร้อย แล้วก็ไปปฏิบัติด้วย
ตอนนี้ก็เลยเป็นเรื่องที่น่าวิตกมาก เพราะแม้กระทั่งงานวิจัย ในวารสารวิชาการที่มีคุณภาพ ปรากฏว่ามันเป็นความเท็จเสียเยอะ มีคนคาดประมาณว่าอย่างน้อย 1 ใน 50 ที่มันมีการบิดเบือนข้อมูล บางคนบอกว่าบางทีอาจจะเกินครึ่งหรือเกือบครึ่งที่มันยกเมฆขึ้นมา อันนี้มันก็เป็นอุทาหรณ์หรือข้อเตือนใจว่า แม้กระทั่งงานวิชาการก็อย่าเพิ่งไปเชื่อมากเกินไป กาลามสูตร ยังใช้ได้อยู่ทุกวันนี้ อย่าเชื่อเพียงเพราะผู้พูดเป็นครูของเรา อย่าเชื่อเพียงเพราะอ้างในตำรา อย่าเชื่อเพราะผู้พูดหรือเขียนเป็นศาสตราจารย์ เพราะว่าที่โกหกยกเมฆก็มีไม่น้อย
ทีนี้ถามว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ที่มันเกิดขึ้นได้เพราะว่ามันมีคล้ายว่าเป็นเงื่อนไข เป็นกติกา ที่เป็นไปเพื่อส่งเสริมงานวิชาการ คือสถาบันวิชาการเขาต้องการส่งเสริมให้นักวิชาการทำงานวิจัย เพื่อจะได้เกิดองค์ความรู้ที่กว้างขวางและลึกซึ้ง เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ เขาก็เลยมีการให้แรงจูงใจว่า ถ้าใครทำงานวิชาการและมีผลงานดี ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีคุณภาพ ก็จะเป็นเงื่อนไขให้ได้รับตำแหน่งที่สูงขึ้น มีเงินเดือนมากขึ้น แล้วก็รวมทั้งเป็นที่นับหน้าถือตาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ อันนี้คือแรงจูงใจ ที่กระตุ้นให้นักวิชาการทำงานวิจัย ซึ่งเป็นงานที่ยาก ต้องใช้ความอดทน และต้องใช้สติปัญญา แต่ว่าผลที่ได้มันก็จะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ ก็มีการสร้างแรงจูงใจแบบนี้
เจตนาดี แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือมันมีการกระตุ้นให้คนจำนวนไม่น้อย ซึ่งอยากจะมีเงิน มีตำแหน่ง มีชื่อเสียง หาทางใช้ทางลัด มีการทุจริต มีการบิดเบือนข้อมูล มีการปั้มงานวิชาการ โดยเติมแต่งข้อมูลตามใจชอบ เพื่อตัวเองจะได้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ มีเงินเดือน เป็นที่นับหน้าถือตา
เจตนาดี การที่พยายามส่งเสริมให้คนทำงานวิจัย โดยเอาชื่อเสียงเกียรติยศมาเป็นตัวล่อ จนกระทั่งมีคำพูดว่า ถ้าไม่พิมพ์ผลงานวิจัย ก็เท่ากับหมดอนาคต ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “publish or perish” publish ก็คือพิมพ์ ถ้าไม่มีงานตีพิมพ์ก็ perish คือหมดอนาคต
คนก็เลยถ้าอยากมีอนาคตทางวิชาการก็ต้องผลิตงานวิจัย ได้รับการตีพิมพ์ แต่ปรากฏว่าอยากโตเร็ว อยากมีชื่อเสียง อยากประสบความสำเร็จเร็วๆ ก็เลยโกงมันเสียเลย ทุจริตมันเสียเลย ก็กลายเป็นว่ากลไกที่ต้องการส่งเสริมงานวิชาการ ส่งเสริมให้มีการสร้างองค์ความรู้ กลับกลายเป็นการสร้างความเท็จ สร้างความหลงผิดอย่างกว้างขวางเลย เจตนาดีแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นเลวร้ายไปซะ
เราเห็นได้เยอะเลย การทำอะไรที่มีเจตนาดี มีมาตรการที่ต้องการให้เกิดผลที่ดี แต่แล้วมันเกิดผลต่อตรงกันข้าม มีโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งในอิสราเอล เขามีกติกาหรือข้อบังคับว่าผู้ปกครองต้องมารับลูกตามเวลา เช่นเวลาเลิกบ่ายสาม ผู้ปกครองก็ต้องมารับลูกบ่ายสาม อย่าให้ลูกรอ แต่ก็มีผู้ปกครองบางคนที่มาสาย ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับเด็ก แล้วก็ครูที่ต้องคอยเฝ้าเด็กจนกว่าผู้ปกครองจะมา เขาก็คิดกันว่าทำอย่างไรจะให้ผู้ปกครองมารับเด็กตามเวลา เขาก็เลยมีบทลงโทษว่าถ้าผู้ปกครองมารับลูกสายจะถูกปรับ แล้ว เขาคิดว่าถ้ามีมาตรการแบบนี้ ผู้ปกครองจะมารับลูกตรงเวลามากขึ้น มาสายน้อยลง
ปรากฏว่าตรงข้าม ผู้ปกครองมารับลูกสายกันจำนวนมากขึ้น เขาก็สงสัยว่าทำไมเป็นอย่างนั้น มาตรการนี้มีไว้เพื่อลงโทษผู้ปกครองที่ไม่ใส่ใจในการมารับลูก แต่ทำไมกลับทำให้ผู้ปกครองมารับลูกสายมากกว่าเดิม ก็พบว่าผู้ปกครองแต่ก่อนเวลามารับลูกสาย เขาจะรู้สึกผิดว่าเขาไม่รับผิดชอบลูก หลายคนก็พยายามมาให้ทันเวลา คนที่มาสายก็จะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ รู้สึกผิด แต่ว่าบางทีก็จำเป็นเพราะติดพันกับงาน
แต่คราวนี้พอโรงเรียนมีมาตรการแบบนี้ มันแปลว่าต่อไปนี้มารับลูกสายได้ ขอเพียงแต่จ่ายเงิน การจ่ายเงินก็คือการซื้อสิทธิ์ในการมาสาย เป็นอย่างนั้นไป ผู้ปกครองก็เลยยอมซื้อสิทธิ์มาสาย ด้วยการจ่ายเงินให้กับโรงเรียน เพราะว่ามีธุระที่โน่นที่นี่ บางทีก็ไปช้อปปิ้งต่างๆ มาสายก็ไม่เป็นไร ไม่รู้สึกผิดอีกแล้ว เพราะว่าแค่จ่ายเงิน จ่ายเงินแล้วก็ซื้อสิทธิ์ในการมาสาย ก็สบายใจ เลยมาสายกันใหญ่ อันนี้เรียกว่าเจตนาดี แต่ว่าผลออกมามันตรงกันข้ามเลย
เราเจอเหตุการณ์แบบนี้เยอะเลย เมื่อหลายปีมานี้ รัฐบาลหลายประเทศมีนโยบายที่จะลดการบริโภคเหล้า คนกินเหล้าสร้างปัญหามากมายทั้งอาชญากรรม ปัญหาสุขภาพ เกิดอุบัติเหตุ และไม่ต้องพูดถึงเรื่องศีลธรรมนะ ทำอย่างไรให้คนเลิกกินเหล้า ก็ทำให้การกินเหล้าผิดกฎหมาย ห้ามกินเหล้า ห้ามซื้อขายเหล้า ด้วยความคาดหวังว่าคนจะกินเหล้าน้อยลง แต่ที่ไหนได้กลับทำให้เกิดปัญหามากมาย เพราะพอยกเลิกเหล้า ทำให้เหล้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เหล้าไม่ได้หายไปไหน มันลงใต้ดิน พอลงใต้ดินก็อยู่ในอุ้งมือ อยู่ในความดูแล อยู่ในอำนาจของพวกโจร พวกมาเฟีย พวกที่เป็นมิจฉาชีพร่ำรวยกันเป็นลำ่เป็นสันเลย เพราะแอบขายเหล้าผิดกฎหมาย
แล้วพอเหล้ามันอยู่ใต้ดิน เหล้าผิดกฎหมาย เหล้าก็เลยราคาแพง พอเหล้าราคาแพง กำไรมันก็สูง พวกมาเฟีย พวกทุจริต ก็ร่ำรวยจากการขายเหล้าใต้ดิน คราวนี้ตำรวจที่จะมาตามจับ ทำอย่างไร พวกมาเฟียพวกนี้ก็ซื้อ ยัดเงินให้ตำรวจ ตำรวจก็ทำเป็นไม่สนใจ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ บางทียัดเงินตำรวจไม่พอ ยัดเงินผู้พิพากษาอีก กลายเป็นว่าตำรวจเอย ผู้พิพากษาเอย อัยการเอย คอรัปชั่นกันเป็นระบบเลย เพราะการที่ทำให้เหล้ามันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มิหนำซ้ำชาวบ้านที่หาซื้อเหล้าไม่ได้ เขาก็ผลิตเหล้าเองเลย
ในรัสเซียเคยทำให้เหล้าผิดกฎหมาย ปรากฎว่าคนตายเพราะผลิตเหล้าเองกันเยอะมาก น้ำยาขัดรองเท้าที่เราเคยขัดกันสมัยเด็กๆ กีวี่นี่เอามาทำเป็นวัตถุดิบผลิตเหล้า เพราะว่าอยากกินเหล้า แต่หาเหล้ากินไม่ได้ ก็ต้องผลิตเอง ก็เอาน้ำยาขัดรองเท้านี่มาปรุงผลิตเป็นเหล้า ปรากฏว่าตาย กินเหล้านี้ตายกันเป็นแถวเลย สุดท้ายรัฐบาลยอมเลิก ไม่ทำให้เหล้าผิดกฎหมายแล้ว แต่ว่ามีการควบคุมการบริโภคการผลิต มันก็เลยดีขึ้น อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่าความตั้งใจดี โดยเฉพาะเรื่องเหล้า เหล้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ผิดศีล 5 เพราะฉะนั้นมันต้องควบคุมไม่ให้มีการผลิต ทำให้เหล้าผิดกฎหมาย ปรากฎว่าเกิดปัญหาตามมามากมาย
อันนี้ก็อาจจะรวมไปถึงสิ่งที่มันปรนเปรอกิเลสอย่างอื่นด้วย เช่นโสเภณี หรือว่ายาเสพติดบางชนิด หลายคนก็เจตนาดี อยากจะให้มันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่พอผิดกฎหมายเข้าจริงๆ ปัญหาตามมาเยอะเลย หลายประเทศเดี๋ยวนี้เขาก็เลยยอมให้มันเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่เอาผิด ยอมให้มันขึ้นบนดิน ทำให้มันขึ้นบนดินแทนที่จะหลบใต้ดิน ทำให้มันถูกกฎหมายเสีย เพราะอยู่ใต้ดินควบคุมยาก แต่พอพ้นขึ้นมาอยู่ บนดินแล้วมันควบคุมง่าย ปัญหาก็น้อยลง อันนี้คือประสบการณ์ของหลายประเทศ
ประเด็นทั้งหมดที่พูดมาก็คือความปรารถนาดีอย่างเดียวไม่พอ เราทำ เราสร้างมาตรการหลายๆ อย่างที่พยายามส่งเสริมให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นมา แต่ว่ามันอาจจะกลายเป็นตัวกระตุ้นกิเลส ทำให้คนเกิดตัณหาราคะมากขึ้นก็ได้
ยกตัวอย่างง่ายๆ เราเห็นเด็กเกเร บางทีครูก็ลงโทษด้วยการจับเด็กมานั่งสมาธิ ดูเหมือนดีนะ บางทีลงโทษเด็กด้วยการนั่งสมาธิ แต่ครูก็ไม่ได้นั่งนะ ครูก็แค่คอยเฝ้าดูให้เด็กนั่งสมาธิ ปรากฏว่ามันสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีให้กับเด็ก ว่าการนั่งสมาธิเป็นสิ่งที่ไม่ดี มันคือการลงโทษ เด็กดีเขาไม่นั่งสมาธิกัน เฉพาะเด็กไม่ดี นั่งสมาธิ สมาธิคือการลงโทษ ไม่ใช่ว่าคือการที่ทำให้เกิดความดีงามกับ จิตใจ เจตนาดีนะ ครูอยากจะให้เด็กมีสมาธิ แต่พอเอาสมาธิมาใช้เพื่อเป็นการลงโทษเด็ก เด็กดีๆ ก็เลยรู้สึกว่าการนั่งสมาธิไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับตัว มันเหมาะกับคนที่ทำผิดมากกว่า เพราะมันคือการลงโทษ เด็ก จำนวนมากมีความคิดแบบนี้ ว่าสมาธิคือการลงโทษ มันไม่ใช่เป็นการให้รางวัลกับตัวเอง ไม่ใช่เป็นการทำสิ่งดีงามให้กับตัวเอง
ฉะนั้น คนเราเวลาทำอะไร เราปรารถนาดีก็จริง แต่ว่าก็ต้องคำนึงด้วยว่าสิ่งที่เราทำลงไป หรือสิ่งที่เราพยายามส่งเสริมให้คนทำ มันต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจด้วย ไม่ใช่แค่เจตนาดีอย่างเดียว เพราะเจตนาดี แต่ว่าสร้างผลเสียนี่มีเยอะมาก ตัวอย่างที่พูดมานี่ก็แค่เล็กน้อย.