แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 6 มีนาคม 2566
เมื่อถึงวันพระ พวกเราชาวพุทธก็นิยมมาวัด และยิ่งถ้าเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอย่างเช่นวันมาฆบูชาคือวันนี้ ผู้คนก็มาวัดกันมากขึ้น ศาลาหน้ามีคนมาวัดกันคับคั่งเลย มาเพื่ออะไร เพื่อมาทำบุญ และที่จริงหลายคนเชื่อว่า ถ้าเป็นวันพระหรือเป็นวันที่สำคัญ มาทำบุญก็จะได้บุญมาก
ที่จริงมาทำบุญวันไหน จะเป็นวันธรรมดาหรือเป็นวันพระ ก็ได้บุญเท่ากันนั่นแหละ โดยเฉพาะถ้าเกิดว่าวางใจให้เป็นกุศล ระหว่างที่มาวัด ระหว่างที่ใส่บาตร ใจก็อยู่กับปัจจุบัน น้อมจิตให้ระลึกถึงจาคะ คือการบริจาคหรือการสละ จิตก็เป็นกุศล แต่ว่าถ้ามาวัดแล้ว ใจไปอยู่ที่บ้านเพราะห่วงลูก หรือไปอยู่ที่โรงพยาบาลเพราะว่าพ่อแม่ป่วย หรือไปอยู่ที่ทำงานเลือกสวนไร่นาเพราะเป็นห่วงงานการ แบบนี้ก็ได้บุญน้อย เพราะว่าจิตไม่ค่อยเป็นกุศลเท่าไหร่ ตัวอยู่วัดใจก็ต้องอยู่วัดด้วย แล้วขณะที่กำลังใส่บาตร ใจก็น้อมอยู่กับการใส่บาตร
แต่ที่จริงเรามาวัด เราไม่ใช่แค่มาทำบุญด้วยการใส่บาตรหรือถวายสังฆทานอย่างเดียว เรามาฟังธรรมด้วย อันนี้ก็ยิ่งได้บุญ เพราะว่าทำให้ใจได้น้อมรับเอาสิ่งที่เป็นธรรมะเป็นสัจธรรมความจริง ช่วยทำให้มีความเห็นที่ถูกต้อง มีความเห็นตรง แล้วยิ่งถ้าเรามาวัดในวันมาฆบูชา ก็ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น คือได้ฟังได้ย้อนระลึกนึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ ถ้ามาวันธรรมดาอาจจะไม่ได้หวนระลึกนึกถึงคำสอนที่สำคัญของพระพุทธองค์ก็ได้ แล้วคำสอนที่ว่านี่เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราฟังแล้วใจอยู่กับข้อธรรมที่ได้ยิน ไม่ใช่ว่าหูฟังแต่ใจไม่รู้อยู่ที่ไหน แบบนี้เรียกว่าเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่ได้ประโยชน์ อุตส่าห์มาวัดแล้วเสียเวลาแล้ว แต่ว่าไม่ได้น้อมใจให้สงบ มีสติอยู่กับการฟังธรรม
นี่เพราะเราฟังธรรมแล้วด้วยใจที่สงบ จิตมีสติ ก็เกิดปัญญาขึ้นมาได้ เกิดสัมมาทิฏฐิ โดยเฉพาะธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ในวันที่เราเรียกต่อมาว่าวันมาฆบูชา อันนี้มีคุณค่ามากทีเดียว พระพุทธเจ้าสอนอะไรในวันมาฆบูชา หรือวันที่เราเรียกในภายหลังว่ามาฆบูชา ที่จริงพระองค์สอนไม่มาก มี 3 ข้อที่เป็นเรื่องหลัก ๆ การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ หรือว่าสะอาดบริสุทธิ์สว่างไสว มี 3 ข้อ แต่ส่วนใหญ่จำได้แค่ 2 ข้อ เรียกสั้น ๆ ว่า ละชั่ว ทำดี
ที่จริงละชั่วก็ยังไม่ถูก ต้องเรียกว่า เว้นชั่ว ละชั่วหมายความว่าเคยทำชั่วแล้วก็ละซะ เหมือนกับเราเคยมีสิ่งสกปรกตามเนื้อตามตัวแล้วเราก็ล้างให้สะอาด แบบนี้เรียกว่าละชั่ว คือมีอยู่แล้วแต่ว่าเราสละ หรือ สละทิ้งไปหรือชำระออกไป แต่ถ้าจะให้ดีต้องเว้นชั่ว
เว้นชั่วคือไม่แตะต้องเลย แต่ถ้าเกิดว่าเคยเกี่ยวข้องหรือแตะต้องก็ยังดีที่รู้จักละ
อันนี้เว้นชั่วแล้ว หรือละชั่วแล้ว ทำดีแล้ว พอไหม ยังไม่พอนะ แต่ส่วนใหญ่พอเรามานึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า มีคนมาถามว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร อาจจะเป็นคนต่างชาติ อาจจะเป็นฝรั่งมาถามเรา อาจจะเป็นคนต่างศาสนา อยากรู้ หลายคนก็จะตอบว่า พระพุทธเจ้าสอนว่าให้ละชั่วทำดี อันนี้เรียกว่าพูดติดปาก เพราะว่าเข้าใจอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วแค่เว้นชั่วหรือละชั่วทำดียังไม่พอ ศาสนาอื่นเขาก็สอนอย่างนี้แหละ หรือถึงแม้จะไม่ใช่ศาสนา อาจจะเป็นปรัชญาที่สอนให้คนมีคุณธรรม เช่นขงจื้อ ขงจื้อนี่ก็เป็นปรัชญาเป็นคำสอนในประเทศจีน เขาไม่เรียกว่าศาสนา เขาก็สอนเหมือนกันคล้าย ๆ กัน หัวใจคือให้เว้นชั่วทำดี ทำความดีก็หมายถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความซื่อสัตย์ ความกตัญญูรู้คุณ ก็ขยายจำแนกแจกแจงไปมีมากมาย
แต่ว่าพุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่น เพราะว่าท่านสอนข้อที่ 3 ด้วย ให้ทำจิตให้ผ่องใส เพราะว่าคนเราแม้ว่าเว้นชั่วทำดีแล้ว ก็ยังมีความทุกข์ จริงอยู่เว้นชั่วทำดีก็ทำให้ความทุกข์ลดน้อยถอยลง คนที่ไม่ทำดี คนที่ทำแต่ความชั่ว สมมุติมีความทุกข์ 100% คนที่เว้นชั่วหรือละชั่วทำดี ความทุกข์ก็จะหายไป 80-90% แค่งดกินเหล้าอย่างเดียวก็ลดกว่าปัญหา ลดความทุกข์ ลดความเดือดร้อนไปได้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บป่วย การเป็นหนี้สิน หรือว่าการทะเลาะเบาะแว้งกับคนในครอบครัว ครอบครัวแตกแยก มีเรื่องร้าวฉานกับเพื่อนบ้าน หรือว่าเกิดอุบัติเหตุขับรถเมามาย ปัญหาพวกนี้ตัดทิ้งไปได้เลย สำหรับคนที่รักษาศีลข้อ 5 อย่างเคร่งครัด
แล้วถ้ารักษาครบทั้ง 5 ข้อ ความทุกข์ก็จะหายไป ความเดือดร้อนก็จะหายไป 80-90% แต่ยังเหลืออยู่ 10% หรือ 20% แม้จะเว้นชั่วทำดีแล้ว เพราะว่ายังต้องเจอกับความเจ็บความป่วย ทำดีแค่ไหนก็ต้องเจ็บต้องป่วย แม้แต่เป็นพระอรหันต์ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงอาพาธหนักในช่วงท้าย ๆ ของพระชนม์ชีพ พระอรหันต์หลายท่านก็เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย โรคมะเร็ง หรือโรคติดเชื้อ อหิวาห์ สมัยก่อนยังไม่มียาวัคซีนป้องกันก็ติดได้ ไข้ทรพิษ ไข้ป่า มาลาเรีย มรณภาพกันเพราะโรคนี้เยอะ
ไม่ใช่แค่ป่วยอย่างเดียว ป่วยแล้วก็ยังต้องเจอกับความพลัดพรากสูญเสีย ไม่ใช่แค่พ่อแม่เสียชีวิต ปู่ย่าตายายจากไป บางทีก็เป็นคู่ครอง หรือเป็นคนรัก เช่นลูกเช่นหลาน หรือมิตรสหาย นี่คือการที่สูญเสียคนรัก แม้จะทำดีแค่ไหน สูญเสียทรัพย์ ถูกโกง บางทีน้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือว่าไฟไหม้ ทำดีก็ต้องเจอ ไม่ใช่ว่าคนชั่วเท่านั้นที่เจอ อย่างนี้แหละที่เราเรียกว่าทุกข์ ไม่ต้องพูดถึงความตาย เพราะทุกคนต้องตายกันทั้งนั้น
ฉะนั้นขณะที่ยังต้องเจอกับความเจ็บความป่วยความแก่ ซึ่งไม่มีใครหนีพ้น และความพลัดพรากจากของรัก สูญเสียคนรัก แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้จักฝึกใจให้มีสติ ให้มีปัญญา โดยเฉพาะการเห็นว่า อะไร ๆ ก็ไม่เที่ยง ซึมซับ รับสัจธรรมความจริงว่า ทุกอย่างไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นอายุของเรา ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติของเรา คนรักของเรา พวกนี้ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่แปรเปลี่ยนไป จากดีเป็นร้าย จากมีกลายเป็นไม่มี
แล้วที่จริง ทุกข์ไม่ใช่เพราะสูญเสียหรือเขาจากไป แต่เป็นเพราะไปยึดว่าเป็นของเรา นอกจากมองว่าไม่เที่ยงแล้ว ที่สำคัญคือถ้ายังไปยึดว่าเป็นของเรา ๆ ก็ยังทุกข์อยู่ร่ำไป เป็นเพราะยึดว่ามันเที่ยง และเป็น เพราะยึดว่าเป็นของเรา ทรัพย์ของเรา ร่างกายของเรา ลูกเมียของเรา พวกนี้ไม่ใช่ของเราเลยแม้แต่น้อย แม้แต่ร่างกายนี้ก็ไม่ใช่ของเรา พ่อแม่ให้มา จะว่าอย่างนั้นก็ยังไม่ถูก เรียกว่าธรรมชาติให้มาดีกว่า
ทรัพย์สมบัติที่ว่าเป็นของเราก็เป็นสมมติ สมมติตามกฎหมาย สมมติตามวัฒนธรรมที่ยอมรับกัน แต่ก็รับรู้กันเฉพาะคนในกลุ่มในพวกพ้อง แต่ว่าแม้แต่มดแม้แต่แมลงมันก็ไม่ได้สนใจว่าเป็นของเรา น้ำตาลที่วางติดป้ายไว้ว่าขวดน้ำตาลนี้เป็นของฉัน เป็นของนาย ก. เป็นของนาย ข. เป็นของพระไพศาล แต่มดมันไม่สนใจ มันไม่รับรู้ด้วยว่าเป็นของใคร มันก็มาจัดการ มาขนเอาไป
เสื้อผ้าติดป้ายว่าเป็นของเรา ถึงไม่ติดป้ายก็รู้ว่าเป็นของใคร แต่ว่านกหรือหนูมันไม่สนใจ มันก็มากัดมาแทะ นี่เรียกว่ามันเป็นสมมตว่าของเรา แต่ว่าธรรมชาติ สัตว์นานาชนิดเขาไม่ได้รู้ด้วยว่าเป็นของเรา เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันเป็นของธรรมชาติ ถึงเวลาธรรมชาติก็เอาคืนไป น้ำท่วมบ้าง ฝนแล้งบ้าง หรือว่าไฟไหม้บ้าง หรือไม่ความชื้นมันก็ค่อย ๆ ย่อยสลาย แม้แต่เหล็กมันก็ยังกลายเป็นสนิม เพราะว่าธรรมชาติเอาไป
เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นความจริงตรงนี้ ก็ทำให้มีทุกข์น้อยลง รู้จักปล่อยรู้จักวางมากขึ้น อันนี้แหละคือความหมายของการทำจิตให้สดใส สว่างไสว มีปัญญา ชำระความหลงออกไป ชำระอุปทานหรือตัณหาออกไป อันนี้คือคำสอนที่สำคัญ ที่เราชาวพุทธความจะรู้เอาไว้ หรือถึงแม้ยังไม่มีปัญญาเห็นสัจธรรม อย่างน้อยให้มีสติเอาไว้ เวลามีความเศร้าความโศก ความโกรธ ความเกลียด ความสูญ มีสติรู้ทัน ไม่ปล่อยให้มันครองใจ โกรธเกิดขึ้นแต่ใจไม่ทุกข์ เกลียดเกิดขึ้นแต่ใจไม่ทุกข์ เพราะไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าฉันโกรธฉันเกลียด
หลวงพ่อคำเขียนเรียกว่า เห็น แต่ไม่เข้าไปเป็น เห็นความโกรธแต่ไม่เป็นผู้โกรธ เห็นความเกลียดแต่ไม่เป็นผู้เกลียด เห็นความเครียดแต่ไม่เป็นผู้เครียด เห็นความเศร้าแต่ไม่เป็นผู้เศร้า อันนี้ก็ช่วยรักษาใจให้มีความทุกข์น้อยลง เรามีผิวหนังคอยรักษากายไม่ให้เชื้อโรคเข้ามา เราก็ต้องมีธรรมะรักษาใจไม่ให้ความทุกข์เข้ามาครอบงำใจเราได้
ฉะนั้นถ้าเราฝึกใจไว้ก็ทำให้ความทุกข์เราน้อยลง จนถึงขั้นไม่เหลือทุกข์เลย อย่างพระอรหันต์ ความทุกข์ท่านเป็นศูนย์ อันนี้เพราะว่าท่านได้ฝึกจิตจนมีปัญญาแก่กล้า เห็นแจ้งในสัจธรรม พวกเราถึงแม้จะทำไม่ได้ขนาดนั้น ก็สามารถจะเดินตามรอยท่านได้ ตามรอยพระพุทธเจ้า ความทุกข์ก็จะลดลง
เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาวัดเนื่องในวันมาฆบูชาแล้ว ขอให้ได้ฟัง ได้เข้าใจ ได้ระลึกนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างครบถ้วน ไม่ใช่แค่เว้นชั่ว ทำดี แต่ว่าทำจิตให้ผ่องใส ให้สว่าง แล้วก็สงบด้วย.