พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 6 มีนาคม 2566
วันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งสำหรับชาวพุทธ เราเรียกวันนี้ว่าวันมาฆบูชา สำหรับคนทั่วไปแม้จะนับถือพุทธศาสนาจำนวนไม่น้อยก็ไม่รู้ว่าวันนี้สำคัญอย่างไร เช่นเดียวกับที่ไม่รู้ว่าวันวิสาขบูชาหรือวัน อาสาฬหบูชาสำคัญอย่างไร บางทีก็เข้าใจสับสนไปเข้าใจว่าวันมาฆบูชาคือวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็นวันเดียวกับที่พระเจ้าประสูติ เป็นวันเดียวกับที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน
หรือบางคนก็เข้าใจไปว่าวันวิสาขบูชาคือวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
เข้าใจสับสน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราเกิดมาเป็นชาวพุทธ ได้ยินคำว่ามาฆะ วิสาขะ อาสาฬหะมาตั้งแต่เกิด พอได้ยินบ่อยๆบางทีก็จำสับสน เพราะว่ามันลงท้ายคล้ายๆกันว่ามาฆะ วิสาขะ อาสาฬหะ การที่เราเกิดมาในสังคมชาวพุทธ แล้วก็ได้ยินได้ฟังคำเกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งที่เป็นวันสำคัญก็ดี เหตุการณ์ก็ดี หรือธรรมะก็ดี บางทีฟังมากๆก็สับสน ปนเปกัน
เมื่อ 20 ปีก่อนมีอาจารย์ท่านหนึ่งไปสอนให้กับนักศึกษาปริญญาโทเกี่ยวกับเรื่องสังคมวัฒนธรรมไทย นักศึกษาปริญญาโทนี้ก็เป็นข้าราชการชั้นกลางหรือระดับสูง หลายท่านก็เป็นคนที่มีอายุ น่าจะมีการศึกษามากด้วย ที่เป็นนักธุรกิจก็มีอยู่บ้างแต่ส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการเพราะว่าส่วนหนึ่งคงจะเรียนวุฒิเอาปริญญา เพื่อเอาไปใช้ในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง
มีคราวหนึ่งอาจารย์ก็พูดถึงพุทธศาสนา แล้วก็ถามนักศึกษาว่าหลักธรรมที่สำคัญของพุทธศาสนาคือไตรลักษณ์ ก็จะถามนักศึกษาว่าไตรลักษณ์ได้แก่อะไรบ้าง นักศึกษาก็นิ่ง นึกไม่ออก อาจารย์ก็แย้มมาข้อ หนึ่งว่าอนิจจัง แล้วข้อต่อไปล่ะ นักศึกษาก็ยังนึกไม่ออกอีก อาจารย์ก็เลยเฉลยว่าทุกขังไงล่ะ แล้วข้อที่สามล่ะ ทุกคนตอบพร้อมกันเลยนะ พลัง
มาได้อย่างไร อนิจจัง ทุกขัง แล้วก็พลังนี่ มาได้อย่างไร ที่จริงอนิจจัง ทุกขัง แล้วก็อนัตตาใช่ไหม แต่นี่ทำไมมาพูดว่าอนิจจัง ทุกขัง แล้วก็พลัง เพราะคนไทยเรา โดยเฉพาะชาวพุทธเราคุ้นเคยกับการให้พรว่า อายุ วัณโณ สุขะ พละ หรืออายุ วัณโณ สุขัง พลัง ที่จริงอาจารย์ก็ไม่ได้บอกว่า สุขัง แต่พูดถึงทุกขัง แต่ว่านักศึกษาหลายคนไปนึกถึงสุขัง พอสุขังก็ไปพลังทั้งนั้นแหล่ะ จะตอบอย่างนี้ได้มันต้องเป็นคนที่อยู่ ในวัฒนธรรมไทยนะ จนกระทั่งสับสนระหว่างไตรลักษณ์กับพร 4 ประการ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กับอายุ วัณโณ สุขัง พลัง
เพราะฉะนั้นก็ธรรมดาที่ชาวพุทธจำนวนมาก ไม่เข้าใจว่าวันมาฆบูชามีความสำคัญอย่างไร ก็ต้องทบทวนสักหน่อยถึงแม้ว่าจะดูซ้ำซาก แต่ว่าสำหรับบางคนก็เป็นเรื่องใหม่เพราะเพิ่งมาสนใจพุทธศาสนาทั้งๆที่ก็เกิดอยู่ในวัฒนธรรมพุทธมานาน อธิบายก็จะได้ไม่สับสนกับความสำคัญของวันวิสาขบูชา แล้วก็วันอาสาฬหบูชา
เราเรียนมาตั้งแต่เล็กว่าวันมาฆบูชาเป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญ เหตุการณ์นั้นบางทีก็สรุปกันสั้นๆว่าจาตุรงคสันนิบาต คือการประชุมที่ครบองค์ 4 องค์ 4 ได้แก่อะไร ก็คือ 1. พระอรหันต์ 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยที่ไม่ได้นัดหมายที่วัดเวฬุวัน และ 2. ภิกษุทั้งหมดเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า เรียกว่าเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือการบวชในสมัยพุทธกาลเริ่มแรกคือการบวชโดยพระพุทธเจ้า ไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก
และ 3. ทั้ง 1,250 รูปเป็นพระอรหันต์ ขีณาสrที่มีวิชชา 3 อภิญญา 6 คือไม่ใช่แค่ตรัสรู้ธรรมแจ่มแจ้งจนพ้นทุกข์ แต่ว่ายังมีความสามารถพิเศษทางจิตด้วย แล้วก็ข้อที่ 4 คือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโอกาสในคืนวันเพ็ญเดือน 3 อันนี้เราก็เคยได้ยินได้ฟังตั้งแต่เล็ก มาพูดทวน หลายคนคงนึกออก
แต่ที่จริง ยังมีสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ไม่อยู่ในองค์ประกอบทั้ง 4 ซึ่งอาตมาถือว่าสำคัญที่สุด โดยเฉพาะสำคัญกับพวกเราเองนั่นคือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ธรรมะข้อนี้หรือว่าธรรมะหมวดนี้สำคัญมาก เพราะว่าเป็นการสรุปหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาในส่วนที่เราเรียกว่าจริยธรรม หรือข้อปฏิบัติ
ธรรมะในพุทธศาสนาซึ่งมีมากมาย ถ้าสรุปย่อๆก็เหลือแค่สอง อันที่ 1 คือสัจธรรม อันที่ 2 คือจริยธรรม สัจธรรมคือความจริง ความจริงที่เป็นกฎธรรมชาติ ที่ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าอุบัติหรือไม่ มันก็คงตัวของ มันอย่างนั้น หรือมีของมันอย่างนั้น เช่นอะไร กฏไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรืออริยสัจ 4
ที่จริงอริยสัจ 4 ยังไม่ใช่สัจธรรมล้วนๆ เพราะว่า ส่วนที่เป็นมรรค 8 ก็เป็นเรื่องของจริยธรรม แต่ที่เป็นสัจธรรมล้วนๆคือปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบในคืนวันเพ็ญวิสาขะมาส พระพุทธเจ้าตรัสรู้ บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเพราะทรงเห็นความจริงที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นคำอธิบายหรือความจริงของการเกิดทุกข์
การเกิดทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ใจ หรือความทุกข์ในชีวิต ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ รวมไปถึงการเกิดแก่เจ็บตาย ปฏิจจสมุปบาทอธิบายว่าความทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งเป็นธรรมะที่ลึกซึ้งมาก
ส่วนอริยสัจ 4 พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันที่เราเรียกว่า วันอาสาฬหบูชา คือเป็นการแสดงปฐมเทศนา แต่ว่าโอวาทปาฏิโมกข์จะผูกโยงกับวันมาฆบูชา ที่ว่าเป็นข้อที่สำคัญก็เป็นเพราะว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ช่วยให้ชีวิตของเราเป็นไปในทางที่ผาสุก เจริญงอกงามเกื้อกูลทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน
ส่วนจาตุรงคสันนิบาต เรารู้ไว้เพื่อประดับสติปัญญา แต่ก็ไม่ได้มีความสำคัญขนาดที่จะนำพาชีวิตของเราให้พ้นจากความทุกข์ได้ คือรู้ไปก็ไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์ แต่ว่าโอวาทปาฏิโมกข์ถ้ารู้แล้วปฏิบัติ ก็ช่วย ทำให้พ้นทุกข์หรือไกลจากความทุกข์ได้ แต่ถ้ารู้แล้วไม่ปฏิบัติ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ อาจจะเกิดประโยชน์บ้างในการแนะนำสั่งสอนผู้คน แต่ว่ามันไม่ได้ช่วยแก้ทุกข์ของตัวเองได้ แล้วก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของตัวเองมีความเจริญ มีความผาสุก
โอวาทปาฏิโมกข์ ส่วนแรกเป็นแผนที่นำทางชีวิตคนเราแบบง่ายๆ สรุปง่ายๆ เป็นหัวใจของจริยธรรมในพุทธศาสนา ก็คือการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ เป็นข้อปฏิบัติที่เข้าใจง่าย ไม่ใช่เฉพาะ 3 ข้อนี้เท่านั้นนะ ส่วนที่เหลือก็เหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นข้อปฏิบัติที่เข้าใจง่าย แล้วก็ปฏิบัติได้เลย
อย่างที่บอกไว้แล้วว่า ในโอวาทปาติโมกข์ ท่านจะสอนแต่เรื่องที่เป็นจริยธรรม ข้อปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงชีวิตอันประเสริฐที่เราเรียกว่าพรหมจรรย์ ส่วนเรื่องสัจธรรมท่านก็พูดในโอกาสอื่นไว้แล้ว อย่างเช่นในอนัตตลักขณสูตร ก็พูดในโอกาสที่พระองค์ทรงแสดงธรรมให้กับปัญจวัคคีย์ หรือว่าธรรมจักกัปปวัตนสูตรก็เหมือนกัน ซึ่งมีความยาว
ทำไมโอวาทปาฏิโมกข์จึงเป็นข้อปฏิบัติที่กระชับ ปฏิบัติได้เลย แล้วก็ไม่ยาวเหมือนกับธรรมจักกัปปวัตนสูตร แล้วก็อนัตตลักขณสูตร ทั้งนี้ก็เพราะว่าผู้ที่ฟังธรรมนี้ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ท่านเข้าใจสัจธรรมแจ่มแจ้งแล้ว เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็เลยไม่ได้แสดงธรรมที่ลึกซึ้งมาก
ไม่เหมือนกับตอนที่แสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร ตอนนั้นปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ยังเป็นปุถุชนอยู่เลย ยังมีความคิดที่เรียกว่าสุดโต่งหรือว่าเป็นมิจฉาทิฐิคือมีความคิดในทางที่เชื่อในทางสุดโต่ง โดยเฉพาะอัตตกิลมถานุโยค การทรมานตน พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมที่ชื่อว่าทางสายกลาง แล้วก็แจกแจงเป็นอริยสัจ 4 ยิ่งอนัตตลักขณสูตรด้วยแล้วเป็นธรรมที่ลึกซึ้งมาก เพราะว่าผู้ฟังคือปัญจวัคคีย์ ซึ่งแม้ว่าจะได้บรรลุธรรม เป็นพระโสดาบันแล้ว แต่ว่าพอได้ฟังอนัตตลักขณสูตร ซึ่งเป็นสัจธรรมที่ลึกซึ้งก็บรรลุอรหัตตผลเลย เข้าใจธรรมลึกซึ้งอย่างแจ่มแจ้ง
เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เข้าใจสัจธรรม ไม่มีแล้ว มีแต่เรื่องของการที่จะไปสั่งสอนญาติโยม เพราะพระอรหันต์นี่เรียกว่าประโยชน์ตน ท่านถึงพร้อมแล้ว ชาติที่แล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่จะทำเพื่ออย่างนี้ไม่มีอีก เพื่ออย่างนี้คือการพ้นทุกข์ หรือการบำเพ็ญประโยชน์ตน เหลือแต่ประโยชน์ท่านที่ต้องทำต่อ ประโยชน์ท่านคือการสอน
พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เพื่ออะไร เพื่อเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการนำไปสอนญาติโยม ไปสอนผู้ที่ยังมีกิเลส ยังมีความหลงอยู่ เป็นข้อปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์ที่ทำได้เลย พระพุทธเจ้า จะพูดเป็นประเด็นๆไปภาษาสมัยใหม่เรียกว่า Talking Point เป็นประเด็นๆ เพราะฉะนั้นก็ไม่ยืดยาว เริ่มต้นด้วยการสรุปสาระสำคัญ 3 ประการที่เราสรุปง่ายๆว่า การเว้นชั่ว การทำดี และการทำจิตให้ผ่องใส
อันนี้มันเป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานเลย ซึ่งแม้เพียงเท่านี้ ชาวพุทธจำนวนมากก็ยังเข้าใจตกหล่น อย่างที่พูดไปเมื่อเช้า ก็จะจำได้หรือนึกได้แค่ 2 ข้อแรกที่เราเรียกว่าละชั่ว ทำดี แต่ว่าข้อ 3 ที่ว่าทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส อันนี้มักจะมองข้าม
เมื่อพระพุทธเจ้าสรุปหลักการหรือข้อปฏิบัติ 3 ประการแล้ว ก็มีการขยาย หรือมีข้อปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้การปฏิบัติ 3 ข้อนี้ให้เป็นไปได้ดี ทรงอธิบายว่า การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย การสำรวมในปาฏิโมกข์ การรู้ประมาณในการบริโภค การนอนการนั่งในที่อันสงัด รวมทั้งการทำจิตให้ยิ่งหรือการประกอบจิตให้ยิ่ง ทั้ง 6 ข้อนี้ก็ไปเสริมกับ 3 ข้อแรก เพราะว่าถ้ายังพูดร้าย ยังทำร้ายมันก็ไม่อาจที่จะก้าวหน้า ในชีวิตทางธรรม หรือในชีวิตพรหมจรรย์ พรหมจรรย์คือชีวิตอันประเสริฐ ไม่ได้หมายถึงชีวิตพระที่ไม่มีคู่เท่านั้น
เราก็ต้องรู้จักประมาณในการบริโภค ซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนในยุคนี้ เพราะเดี๋ยวนี้เราไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เราเสพกันมากเหลือเกิน แค่เสพทางปากก็ทำให้เป็นโรคนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ไตวาย โรคไต โรคอ้วน ความดัน สารพัด ทั้งนี้เพราะว่าไม่รู้จักประมาณในการบริโภค และไม่ใช่แค่เกิดโรคทางกาย มันเกิดกิเลสพอกพูนทางใจด้วย ซึ่งนำไปสู่ การสร้างทุกข์ให้กับตนเอง ให้กับผู้อื่นต่อไป
รู้จักประมาณในการบริโภคแล้ว ต้องนอนนั่งในที่สงัด ที่สงัดนี่คือสิ่งสำคัญที่พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับคำว่ารมณีย์ รมณีย์หรือถิ่นรมณีย์คือที่ที่สงบ สงัด ร่มรื่น ที่กล่อมเกลาจิตใจให้สงบ แต่เดี๋ยวนี้มันจะหาถิ่นรมณีย์ได้ยากแล้ว เราก็ต้องรู้จักขวนขวาย อย่างน้อยๆก็ไม่ไปเพิ่มที่หลับที่นอนที่อยู่ให้มันวุ่นวาย
เดี๋ยวนี้เราแม้จะอยู่ในห้องแอร์ ไม่มีเสียงรบกวนเพราะว่าปิดประตูหน้าต่าง แต่ว่ามันก็ไม่สงัดนะเพราะว่าเปิดโทรศัพท์มือถือเอาไว้ ซึ่งสามารถที่จะปลุกเร้าให้ตื่น หรือมิเช่นนั้นก็ดูโทรศัพท์มือถือกันจนดึกจนตื่น อย่างนี้มันก็ไม่สงบสงัด แม้ว่าจะไม่มีเสียงจากภายนอกรอดเข้ามาในห้องเลย แล้วพอไม่สงบสงัดภายนอกแล้ว ใจมันก็ว้าวุ่นภายใน พอว้าวุ่นภายในแล้ว การที่จะทำความดีสร้างกุศลมันก็เริ่มยากแล้ว โอกาสที่จะทำชั่วด้วยความสับสน ด้วยความโกรธ ด้วยความเกลียด ด้วยความหลง มันก็นำไปสู่การพูดร้าย การทำร้ายได้
และท่านก็มีประเด็นอีกนะว่า จะทำอย่างนี้ได้ มันก็ต้องสำรวมในปาฏิโมกข์ สำรวมในปาฏิโมกข์สำหรับฆราวาสก็คือศีล 5 หรือว่ากุศลกรรมบถ 10 เป็นเบื้องต้น ไม่ใช่ว่าต้องเป็นปาฏิโมกข์ของพระอย่างเดียวโยมก็มีปาฏิโมกข์เหมือนกัน คือข้อปฏิบัติที่กำกับกาย วาจา เพราะถ้าไม่เช่นนั้นก็พูดร้ายทำร้ายได้ง่าย
และสุดท้ายก็ต้องมีการทำจิตให้ยิ่งคือ การฝึกจิตให้เจริญงอกงาม ทั้งหมดนี้เพื่ออะไร เราจะเห็นคุณค่าของสิ่งนี้ได้ ก็เพราะเรามีศรัทธามีความเชื่อในอุดมคติสูงสุดของชีวิตคือนิพพาน
อันนี้ก็เป็นประเด็นที่พระพุทธเจ้าได้มอบหมาย เวลาพระอรหันต์ทั้ง 1,250 รูปรวมทั้งรูปอื่นๆด้วยซึ่งไม่ได้มา ซึ่งมีเยอะ ปัญจวัคคีย์ก็ไม่ได้มา พระสารีบุตรพระโมคคัลลานะก็ไม่ได้มาร่วมประชุม ภัททวัคคีย์ 30 ก็ไม่ได้มา สหายของยสกุลบุตร 50 ก็ยังไม่ได้มาร่วมประชุมด้วย มีอีกเยอะ แต่ทั้งหมดนี้ ก็มีจุดหมาย มีภารกิจเดียวกันก็คือ การสอนธรรมให้กับผู้คน เพื่อนำไปสู่ความสงบเย็น จนกระทั่งถึงขั้นพ้นทุกข์
โอวาทปาติโมกข์เป็นการย้ำว่าอุดมคติของชาวพุทธ ไม่ใช่อะไรอื่น คือพระนิพพาน พระนิพพานถือว่าเป็นประโยชน์สูงสุดนะที่เขาเรียกว่าปรมัตถะ ประโยชน์ที่มนุษย์เราควรจะได้จากชีวิต มันมี 3
1. คือประโยชน์ชั้นต้น ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือการมีสุขภาพดี การมีอาชีพที่ดี การมีครอบครัวดี มีการงานดี มีมิตรดี อันนี้คือความสุขเบื้องต้น เรียกว่าประโยชน์ตาเห็น ประโยชน์ปัจจุบัน แต่เท่านั้นไม่พอนะ หรือจะมีสิ่งนั้นได้มันต้องมีหรือเข้าถึงประโยชน์ขั้นที่ 2 สัมปรายิกัตถะ คือคุณภาพจิต เช่น มีศรัทธา มีจาคะ มีศีล มีศรัทธา มีปัญญา สิ่งนี้เป็นประโยชน์ที่มนุษย์เราควรจะเข้าถึง
เพราะถ้าหากว่าเรามีศรัทธาที่ถูกต้อง มีศีลที่ดีงาม รู้จักเอื้อเฟื้อบ่งปัน แล้วยิ่งมีปัญญาด้วยแล้ว การที่เราจะพบความสุขทางใจ ไม่ใช่แค่ความสุขทางโลก มันก็เกิดขึ้นได้ง่าย แต่ว่าประโยชน์ที่เราจะได้จากความเป็นมนุษย์ยังมีมากกว่านั้น เรียกว่า ปรมัตถะ คือประโยชน์สูงสุด นั่นคือนิพพาน
จะว่าไปแล้วการที่คนเรายึดถือเอานิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต มันหมายถึงว่าเราพร้อมที่จะฝึกจิตให้ไม่ยึดติดอยู่กับทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง หรือว่าลาภยศ สุขสรรเสริญ เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่ได้เป็นที่มาแห่งความสุขที่แท้ มีลาภมียศ มีสุขอย่างโลกๆ มีสรรเสริญก็ยังมีความทุกข์ เพราะได้ไม่สมอยาก หรือได้แล้วก็พบว่ามันเสื่อมสลายไป ได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ สุขก็แปรเปลี่ยนไปเป็นทุกข์ สรรเสริญก็แปรเปลี่ยนเป็นนินทา พวกนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น
ฉะนั้นถ้าคนเราเอาลาภยศสรรเสริญเป็นสรณะของชีวิตนี่ สุดท้ายมันก็ต้องจบลงด้วยความทุกข์ เมื่อเกิดเจอความผันผวนแปรปรวน แต่ถ้าคนเรานี่เห็นว่า ลาภยศสรรเสริญมันไม่ใช่มันไม่ควรจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือนิพพาน นั่นคือการที่จิตเป็นอิสระจากความยึดติดถือมั่น อิสระจากกิเลส
เมื่อน้อมเอานิพพานเป็นอุดมคติของชีวิตแล้ว 6 ประการดังที่กล่าวมาแล้วนี้ มันคือหนทาง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นบันได 6 ขั้นที่จะนำเราไปสู่พระนิพพาน ทั้ง 6 ขั้นนั้นถ้าหากว่าเราเริ่มปฏิบัติ มันก็จะพาให้เราประสบกับประโยชน์ชั้นต้นก่อน ถ้าเราทำ 6 ประการนี้ได้ ประโยชน์ชั้นต้น ประโยชน์ทันตาเห็น การมีสุขภาพดี การมีมิตรดี การมีการงานดี มีครอบครัวดี มันก็เกิดขึ้นได้ง่าย
แต่ว่าทั้ง 6 ประการนี้สามารถจะให้เราได้มากกว่านั้น พาเราเข้าถึงสัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ขั้นกลาง แล้วสามารถจะพาเราเข้าถึงประโยชน์ขั้นสูง ปรมัตถะได้ เรียกว่าเป็นบันได 6 ขั้นที่พาเราเข้าสู่ประโยชน์ 3 และสุดท้ายก็เข้าถึงพระนิพพาน
อันนี้ก็เป็นบทสรุปที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเป็นข้อๆ ย่อๆ เพื่อให้พระอรหันต์ทั้ง 1,250 รูปนำไปสอนกับญาติโยม และที่สำคัญคือข้อสุดท้าย การประกอบหรือการทำจิตให้ยิ่ง ที่จริงแล้วมันเป็นข้อสำคัญทีเดียวที่ทำให้พระอรหันต์ทั้ง 1,250 เข้าถึงสัจธรรมจนพ้นทุกข์ได้
สำหรับคนที่คิดว่าเราทำได้แล้ว การไม่พูดร้ายเราก็ทำได้แล้ว ไม่ทำร้ายใครเราก็ทำได้แล้ว เรารู้จักสำรวมในปาฏิโมกข์ อยู่ในกรอบของศีลธรรม ศีล 5 กุศลกรรมบถ 10 เราก็ทำแล้ว รู้จักประมาณในการบริโภค มีความสันโดษเราก็ทำแล้ว หรือว่าการนอนการนั่งในที่อันสงัดเราก็ทำแล้ว
สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ การประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง หรือการฝึกจิตนั่นเอง สำคัญมากนะเพราะว่าถ้าเราไม่ฝึกตรงนี้ ก็ยังมีความหลงครอบงำ ยังมีความทุกข์เพราะความยึดติดในสิ่งต่างๆ จะทำให้เราไม่เป็นอิสระ ถ้ารู้จักฝึกจิตเราก็จะพบว่า จริงๆแล้วความทุกข์มันไม่ได้อยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ใจของเรานี่แหละ
เมื่อครั้งที่ยสกุลบุตร ร่ำรวยมากเป็นลูกของเศรษฐี ซึ่งมีฐานะร่ำรวยพอๆกับพระเจ้าสุทโธทนะ มีปราสาท 3 หลังเช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายสิทธัตถะมีอะไร ยสบุตรก็มีอย่างนั้น ปราสาท 3 หลังเป็นต้น แล้วก็ใช้ชีวิตอย่างสำเริงสำราญ เรียกว่าถ้าเป็นสมัยนี้คือดูหนังฟังเพลง แล้วก็เสพสุราได้ทั้งวันทั้งคืน
แต่ว่ายสกุลบุตรก็ไม่มีความสุขหลังจากเสพกามสุขเข้าไปอย่างเต็มที่ ทั้งตาหูจมูกลิ้นกาย ปรากฏว่าใจนี้กลับเป็นทุกข์ กลางดึกนี่ต้องเดินออกมาจากปราสาท ในขณะที่หญิงที่เริงระบำนอนก่ายกองกันเพราะว่าเหนื่อยอ่อนจากการละเล่นเพื่อปรนเปรอยสกุลบุตร แต่ยสกุลบุตรไม่มีความสุขเลย เดินออกไปจากปราสาท แล้วก็ไปอย่างไม่มีจุดหมายร่องรอย พร้อมกับอุทานว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ
ยสกุลบุตรเข้าใจว่า ที่นี่ก็คือที่ที่ตัวเองอยู่ ปราสาทที่แม้จะอุดมไปด้วยความสำเริงสำราญ แต่มันไม่ได้ให้ความสุขอย่างแท้จริง แถมวุ่นวายเสียอีก ก็เดินพึมพำด้วยความสับสนแล้วก็อุทานว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ จนกระทั่งเดินเข้าไปในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบพระพุทธเจ้า ตอนนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่ได้บรรทม ก็ได้พูดกับยสกุลบุตรว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ก็ทำให้ยสกุลบุตรสะดุดใจว่ามีด้วยหรือ เลยหันมาสนทนาธรรมกับพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมที่เรียกว่าอนุปุพพิกถา ตามด้วยอริยสัจ 4 ปรากฏว่า ยสกุลบุตรบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ถึงตอนนั้นจึงพบว่า คำว่าที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ มันไม่ใช่สถานที่ แต่มันคือภาวะจิตใจ สถานที่ไม่ได้ทำให้เป็นทุกข์ แต่ที่ทุกข์ก็คือภาวะจิตใจที่ว้าวุ่น ที่ไม่มีสติ ที่ไม่รู้จุดหมายของชีวิต หรือพูดง่ายๆคือว่าไม่เข้าถึงธรรมนั่นเอง
เป็นเพราะรู้เช่นนี้นะว่า ที่วุ่นวายนี่ไม่ใช่ข้างนอก ไม่ใช่สถานที่ แต่เกิดขึ้นที่ใจ พอได้เข้าถึงธรรมจากการฟังธรรมและพิจารณาตามนี่ ก็หายสงสัย หายสับสน และพบว่าได้เข้าถึงแล้วความสงบ ความสงบอยู่ที่ใจที่มันว้าวุ่น มันไม่ใช่เพราะสถานที่ แต่เป็นเพราะใจที่ไม่เข้าถึงธรรม
ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนเรามักจะมองว่าความทุกข์มาจากภายนอก อาจจะมองเป็นเพราะว่า มีเงินไม่พอ เงินในกระเป๋าน้อยไป หรือเพราะว่ามีคนทำไม่ถูกใจ มีคนต่อว่าด่าทอ ทั้งหมดนี้เป็นที่มาแห่ง ความทุกข์ในใจเรา แต่ที่จริงแล้วถ้าหากว่ารู้จักทำจิต คือหันมามองใจของตัวอยู่เนืองๆก็จะพบว่า เหตุแห่งทุกข์ มันอยู่ที่ใจเรานี้เอง
เมื่อเร็วๆนี้ มันมีเพลงดังอยู่เพลงหนึ่ง ตั้งแต่เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วนะ เพลงนี้ถ้าบอกชื่อ เด็กก็รู้จัก วัยรุ่นก็ยิ่งรู้จัก ทรงอย่างแบด เด็กรู้จักกัน ปรากฏว่ามีโรงเรียนหนึ่ง เอาเพลงนี้มาใช้สอนวิชาศีลธรรม ที่จริงเอามาสอบมากกว่า ถามนักเรียนซึ่งเป็นเด็กวัยรุ่น ข้อหนึ่ง ถามว่าข้อความต่อไปนี้ ข้อใดตรงตามหลักอริยสัจในเรื่องทุกข์
ก็ดี ที่ครูเอาเพลงที่เด็ก/วัยรุ่นสนใจนี้ เอามาเป็นประเด็นในการตั้งคำถาม ให้รู้จักคิด จากมุมมองพุทธศาสนาว่า อริยสัจ 4 ที่ว่าด้วยทุกข์ ข้อความไหนนะที่มันใช่ ข้อ ก. เธอไม่อิน ข. ทรงอย่างแบด ค. แซดอย่างบ่อย ง. ผู้ชายแบดบอย
ทรงอย่างแบดก็หมายความว่า แต่งตัวหรือทำอากัปกิริยาอย่างเด็กเกเร แบดคือ Bad แซดอย่างบ่อยก็คือเศร้า เศร้าบ่อยๆ เด็กหลายคนก็ตอบข้อ ก. บ้างล่ะ ข้อ ค. บ้างล่ะ แต่ว่าผู้เฉลยบอกว่า ที่ถูกคือข้อ ค. นะ แซดอย่างบ่อย ส่วนที่มีเด็กบางคนตอบว่าเธอไม่อิน อันนั้นไม่ใช่ทุกข์น่ะ อันนั้นเป็นสมุทัย
ถ้าลองพิจารณาคำเฉลยดู แซดอย่างบ่อยคือเศร้า เศร้าบ่อยๆ อันนี้มันก็คือทุกข์นั่นเอง
แต่ว่าคำเฉลยว่าเธอไม่อินคือสมุทัยนี่อันนี้น่าคิดนะว่าใช่หรือเปล่า เธอไม่อินนี่คือเธอไม่รัก พอเธอไม่รัก หนุ่มก็เลยเศร้า เศร้านี่คือทุกข์นะ ถามว่าเธอไม่รัก เธอไม่อินคือสมุทัยหรือเปล่า ถ้าชาวโลกทั่วไปก็ บอกว่าสมุทัยคือเธอไม่อิน คือเธอไม่รัก พอเธอไม่รัก ฉันก็เลยอกหัก อกหักคือแซดอย่างบ่อย
อันนี้ถ้าเรามองดูให้ดี มองอย่างพุทธ เธอไม่อินมันไม่ใช่สมุทัยนะ การที่คนหนึ่งไม่รักเรา มันไม่ใช่สมุทัยหรือเหตุแห่งความเศร้า เหตุแห่งความเศร้าคืออะไร คือการที่ไปหลงรักเขา หรือไปคาดหวังเขา อยากให้เขารัก ถ้าพูดด้วยภาษาธรรมคือตัณหานั่นเอง พอมีตัณหาเข้าคืออยากให้เขารัก พอเขาไม่รักมันก็เลยเศร้าไง
เพราะฉะนั้นที่เขาเฉลยว่า เธอไม่อินคือสมุทัย มันก็ไม่ใช่นะ ในทางพระพุทธศาสนา การที่ไปคาดหวังให้เขารักเรา หรือความปรารถนาความรักจากเขาต่างหากนี่คือสมุทัย เพราะว่าถ้าไม่มีความปรารถนาหรือคาดหวังให้เขารัก เขาไม่รัก เราก็ไม่ทุกข์ ก็เหมือนกับถ้าเราไม่ปรารถนาให้คนชม ถ้าคนไม่ชมเรา เราก็ไม่ทุกข์ แต่ที่เราทุกข์เพราะเราปรารถนาคำชม ปรารถนาการเป็นที่ยอมรับ ปรารถนาหรือคาดหวังให้ เขาพูดถูกใจเรา พอเขาพูดไม่ถูกใจเรา เราก็เลยทุกข์ แต่ที่ทุกข์สาเหตุที่แท้จริงคือความปรารถนา ความคาดหวังในใจเรามากกว่า
ตรงนี้แหละ ถ้าหากเรารู้จักการประกอบทำจิตให้ยิ่ง หรือการฝึกตนฝึกดูจิตอยู่เสมอ ก็จะพบว่าจริงๆแล้วเหตุแห่งทุกข์นั้นมันอยู่ที่ใจเรา ซึ่งก็รวมไปถึงความยึดมั่น ความอยาก หรือบางทีเรียกรวมๆว่าความยึดติดถือมั่น ถ้าไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งใด แม้สิ่งนั้นมันจะสูญสลายหายไป มันก็ไม่ทุกข์ เวลาข้าวของเสียหายเงินถูกขโมย ที่เราทุกข์นี่เพราะเราไปยึดว่า เงินเป็นของเรา
เวลาเราป่วย และเราทุกข์นี่ มันไม่ใช่เพราะความป่วยที่ทำให้เราทุกข์ แต่เป็นเพราะเราไปยึดนะว่าร่างกายนี้เป็นเรา ความป่วยนี่มันแค่ทำให้ทุกข์กาย แต่ที่ทุกข์ใจ พอเราไปยึดว่าร่างกายนี้เป็นเรา หรือยึดว่า ร่างกายนี่มันต้องหนุ่มต้องสาวต้องแข็งแรง พอร่างกายเราไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดหวัง ก็เลยทุกข์
การที่คนเราจะเห็นสมุทัย หรือเห็นเหตุแห่งทุกข์ว่าอยู่ที่ใจนี่ มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเวลาเรามีความทุกข์ มีความโกรธ เรามักจะไปโทษข้างนอก โทษเสียงดัง โทษการกระทำหรือคำพูดของใครบางคน เรามักจะไม่ค่อยมามองใจว่า เป็นเพราะเรามีความยึดติดถือมั่น มีความคาดหวังหรือเปล่า
อาจารย์ท่านชยสาโรท่านพูดดีนะ ท่านบอกว่าไม่มีอะไรหรือใครจะทำให้เราโกรธหรือจะทำให้เราทุกข์ได้ มีแต่เขามาเชิญมาชวนให้เราโกรธ มาเชิญมาชวนให้เราทุกข์ อยู่ที่ว่าเราจะรับคำชวนคำเชิญของเขา หรือเปล่า ฉะนั้นถ้าเราโกรธ เราทุกข์ แสดงว่าเราไปรับคำเชิญคำเชิญของเขา แล้วจะโทษใคร ถ้าเราไม่รับคำเชิญคำชวน เราจะทุกข์ไหม อันนี้คือสิ่งที่คนไม่ค่อยมองเท่าไหร่ ไม่ได้มองว่าเรามีส่วนในการทำให้ เกิดความทุกข์ในใจไหม ใจเราไปร่วมมือหรือเปิดช่องให้ไหม
พระพุทธเจ้าตรัสว่า มือที่ไม่มีแผล จับต้องยาพิษก็ไม่เป็นอะไร จะเป็นอะไรก็ต่อเมื่อมือมีแผล คำถามคือถ้าหากว่าเราทุกข์หรือว่าเกิดอันตรายขึ้นมา จะไปโทษยาพิษทีเดียวก็ไม่ได้นะ มันต้องโทษว่าทำไม ปล่อยให้มือมีแผล แล้วเมื่อมือมีแผล แล้วทำไมไปจับยาพิษ พอเจ็บพอเกิดอันตรายขึ้นมา จะไปโทษยาพิษได้อย่างไร เพราะถ้ามือไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่เป็นอะไร ยาพิษอาจจะเป็นคำต่อว่าด่าทอ การกระทำ คำพูดที่ไม่ถูกใจมันทำอะไรเราไม่ได้ถ้าใจเราไม่เปิดช่อง อย่างที่ท่านอาจารย์ชยสาโรใช้คำว่า ไม่รับคำเชิญ ไม่รับคำชวน หรือว่าไม่ร่วมมือด้วย
เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่เราจะต้องมองให้เห็น เพราะว่าถ้าเรามองอย่างนี้ได้ เราก็จะพบว่าเพียงแค่เราปรับเปลี่ยนที่ใจ มันก็ช่วยลดความทุกข์ไปได้เยอะ อาจจะยังมีความทุกข์กายอยู่ เพราะแก่เพราะเจ็บ อาจจะยังมีความสูญเสียทรัพย์ พลัดพรากจากของรัก แต่ไม่เกิดความทุกข์ ความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเกิดความสูญเสีย หรือว่าเพราะมีใครเอาไป แต่เป็นเพราะเราไปยึดสิ่งนั้น
ที่จริงคำว่าสูญเสีย มันก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นเพราะเราไปยึดว่าเรามี ไปสำคัญว่ามี เพราะเสียเกิดขึ้นได้เมื่อมี แต่ความคิดว่ามีนั่นแหละคือปัญหา เพราะที่จริงนี่มันต้องมีความยึดมั่นถือมั่นว่ามีเสียก่อน หรือว่ายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเรา ถ้าไม่ยึดมั่นถือว่าเป็นของเรา คำว่ามี มันก็เป็นของสมมติเท่านั้นเอง เมื่อไม่ยึดว่ามีมันก็ไม่มีคำว่าเสีย เมื่อไม่ยึดคำว่าได้มันก็ไม่มีคำว่าหมด
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราหันกลับมาใคร่ครวญใจของเรา รู้จักมองตน อย่างที่ท่านใช้คำว่า การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ หรือการประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง เริ่มต้นจากการมองตน ใคร่ครวญให้เห็น เวลามีความทุกข์อย่าเอาแต่คร่ำครวญ ให้ใคร่ครวญเสียก่อน เพราะคร่ำครวญแล้วมันจะไปโทษ เอาแต่จะก่นด่าชะตากรรม แต่ว่าถ้าใคร่ครวญ ก็จะพบว่าทุกข์เกิดขึ้นที่ใจ เหตุแห่งทุกข์มันก็เกิดขึ้นที่ใจนั่นแหล่ะ
ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ คือเข้าใจสมุทัยถูกต้อง การที่เราจะบำบัดทุกข์ หรือว่าทำให้ทุกข์หมดไป มันก็อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ แม้เรายังต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องพลัดพรากสูญเสีย แต่ว่าใจไม่ทุกข์ เหมือนกับว่าโดนยาพิษยังไงก็ไม่เกิดอันตราย เพราะว่ามือไม่มีแผล
นี้แหละคือหนทางที่จะนำไปสู่พระนิพพาน หรือถึงแม้จะยังไม่ถึงนิพพาน ก็ทำให้ความทุกข์บรรเทาเบาบางลง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติธรรมทั้ง 6 ประการในโอวาทปาฏิโมกข์ได้ โดยเฉพาะนำมาเสริมกับ 3 ข้อแรก การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลถึงพร้อม การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ การที่ชีวิตของเราจะเป็นไปในทางที่งดงาม สงบเย็น ไกลจากความทุกข์ก็เป็นไปได้ และนี่คือสิ่งที่ผู้คนปรารถนามิใช่หรือ
วันมาฆบูชา จาตุรงคสันนิบาตคืออะไร จำไม่ได้ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยจำให้ได้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรในวันนั้น สอนอะไรก็ตาม จำได้แล้วไม่พอ ต้องปฏิบัติด้วย โดยเฉพาะข้อสุดท้ายสำคัญมากคือการชำระจิตของตนให้ขาวรอบ หรือการประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง.