แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันวันที่ 29 เมษายน 2566
ผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณสัก 30 กว่า วันหนึ่งตื่นขึ้นมาก็มีความรู้สึกไม่อยากตื่นเลย ไม่อยากลุกจากเตียง แล้วก็ไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากทำอะไรสักอย่าง อยากอย่างเดียวคืออยากร้องไห้ แล้วก็เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องมาเป็นเดือนเลย คือรู้สึกว่าหมดไฟ ที่จริงเรียกว่าหมดกำลังใจในการที่จะมีชีวิตด้วยซ้ำ รู้สึกว่าตัวเองนี้ผิดปกติ ไปหาหมอ หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า แกเสียใจมากเลย ไม่คิดว่าตัวเองจะมีอาการหนักขนาดนั้น เรียกว่าใจสลายเลย ร้องไห้ ขณะที่เดินออกมาจากห้องตรวจก็ไปเงยหน้า เห็นคนแก่จำนวนมากเลยยืนหรือนั่งรอ รอใคร รอหมอ
ตอนนั้นเป็นช่วงที่ตัวเองกำลังเศร้าโศกเสียใจ แต่พอมองเห็นคนแก่เหล่านี้ แล้วก็สังเกตว่าคนแก่ไม่ว่าจะเป็นคุณลุงคุณป้าคุณปู่คุณยาย พวกนี้มาคนเดียว ไม่มีลูกหลานมาเป็นเพื่อน เลยเกิดความสงสารขึ้นมา เกิดความคิดว่า เอ๊ะ..ทำไมไม่มีใครพาคนแก่เหล่านี้มาโรงพยาบาลเลย ลูกหลานหายไปไหน ตัวเองกำลังเศร้าอยู่เลย แต่พอเจอคนที่ทุกข์กว่า เรียกว่าใจมันเปลี่ยนอารมณ์เลย เกิดความคิดว่าเราน่าจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อช่วยเหลือคนแก่เหล่านี้ เลยเกิดความคิดว่า ถ้าเรามาช่วยคนแก่เหล่านี้ ขับรถพาเขามาส่งโรงพยาบาล เป็นเพื่อนเขาในขณะที่เขารอหาหมอ หรือเป็นเพื่อนขณะที่หมอกำลังวินิจฉัยให้ยา ก็คงดีนะ
พอมีความคิดแบบนี้ ใจก็ไปจดจ่ออยู่กับเรื่องนี้ แล้วปรากฎว่าเธอก็ไม่ได้คิดอย่างเดียว ทำด้วย ตัดสินใจลาออกจากงานแล้วก็มาทำงานนี้ แต่ก่อนที่จะทำงานนี้ก็ต้องมาคิดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง 1, 2, 3 ปรากฏว่ามันช่วยทำให้เธอลืม ลืมความทุกข์ ลืมอาการซึมเศร้าของตัวเองไปเลย เพราะว่าใจไปจดจ่ออยู่กับเรื่องใหม่ เรื่องที่สำคัญ แล้วสุดท้ายเธอก็ลาออกจากงาน มาทำอาชีพใหม่ ขับรถพาคนแก่ไปส่งโรงพยาบาล ไปเป็นเพื่อนขณะที่รอหมอ เพราะว่าโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งผู้ป่วยต้องรอนาน บางทีไปเข้าคิวตั้งแต่ตีห้า รับบัตรคิว กว่าจะได้ตรวจก็ 8-9 โมง หรือสายกว่านั้น ปรากฏว่าแกทำอาชีพนี้แล้วแกก็มีความสุข โรคซึมเศร้ามันหายไปเลย
ทีแรกหายไปเพราะว่าไปจดจ่ออยู่กับเรื่องที่มันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องยาก คือการพาคนแก่ไปโรงพยาบาลซึ่งเป็นงานที่เธอไม่เคยทำ มันมีรายละเอียดเยอะถ้าจะทำให้เป็นเรื่องเป็นราว เพราะเธอตั้งใจว่าจะไม่ได้ทำเพียงแค่เป็นจิตอาสา แต่ว่าทำแบบรับจ้างเลย เพราะฉะนั้นก็ทำต้องทำให้รัดกุม ทีนี้ก็ต้องมีแอปด้วย
ต้องทำแอปเพื่อที่จะรายงานคนที่ว่าจ้างอาจจะเป็นลูกเป็นหลานของผู้ป่วย ว่าตอนนี้ปู่ย่าตายายพ่อแม่ถึงโรงพยาบาลหรือยัง ตอนนี้กำลังรอรับยา ตอนนี้กำลังพากลับบ้าน ต้องมีการแจ้งผ่านแอป คล้ายๆ กับแอปของพวกแท็กซี่พวกแก๊ปหรือว่าพวกเดลิเวอร์รี่ เดี๋ยวนี้เขาจะมีการแจ้งรายละเอียด ว่ารถที่สั่งถึงไหนแล้ว หรือว่านั่งรถไปแล้วตอนนี้ถึงไหนแล้ว ของที่สั่งตอนนี้ออกจากร้านแล้ว กำลังจะมาถึงบ้านแล้ว นี่ถ้าทำเป็นอาชีพก็ต้องทำขนาดนี้
แล้วพอเธอมาจดจ่อใส่ใจกับเรื่องนี้ก็ลืม ความซึมเศร้า ลืมความทุกข์ รวมทั้งลืมเรื่องราวที่ทำให้ซึมเศร้าด้วย ทีแรกเป็นอย่างนั้น ตอนหลังทำแล้วมีความสุข ความสุขที่ได้บริการคนแก่ เพราะว่าเธอทำด้วยใจ แต่ว่าจะอยู่ได้นานต้องมีเงินทุนสนับสนุน ต้องอาศัยค่าจ้างก็เลยต้องทำเป็นการรับจ้างด้วย แล้วเธอยอมรับว่าเราเป็นลูกรับจ้าง หลานจำเป็น เป็นลูกรับจ้างหลานจำเป็นที่รับจ้างเขา แต่ว่าทำแล้วมีความสุข เรียกว่าหายซึมเศร้า ตอนหลังกิจการก็ขยายไป ตอนนี้ก็มีคนมาเป็นคนที่ร่วมเป็นลูกน้องหลายคน
อันนี้เรียกว่าเป็นการประสานระหว่างประโยชน์ตนกับประโยชน์ท่าน ประโยชน์ท่านคือการช่วยเหลือคนแก่ ให้เขามีเพื่อนมีคนคอยแนะนำ บางทีหมอสั่งยาแล้วหรือหมอแนะนำแล้วคนไข้ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ ศัพท์แสงภาษาฝรั่ง คนที่นั่งอยู่ด้วยก็ช่วยแนะนำ นี่เรียกว่าเป็นประโยชน์ท่าน ประโยชน์ตนคือเรียกว่าเป็นอาชีพ ไม่ใช่แค่มีความสุขแบบจิตอาสา แต่เป็นอาชีพที่ทำได้ต่อเนื่อง เป็นทั้งอาชีพและงานบริการ
สมัยนี้ถ้าจะทำอะไร ถ้าเราสามารถที่จะเชื่อมได้ทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน หลายคนมีอาชีพได้ประโยชน์ตนก็จริงมีรายได้ แต่ว่าไม่เกิดประโยชน์ท่าน บางคนทำงานเกิดประโยชน์ท่าน แต่ว่าทำได้ไม่ยั่งยืนเพราะว่าไม่มีรายได้ ประโยชน์ท่านอย่างเดียวที่จะได้คือความสุขซึ่งก็มีคุณค่า แต่ว่าถ้าจะทำได้นานก็ต้องมีรายได้มาช่วยจุนเจือหล่อเลี้ยง
แต่สมัยนี้ถ้าหากว่าเราทำงาน แล้วเราเห็นว่าสิ่งที่ทำเกิดทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน แม้จะทำงานออฟฟิศแต่ถ้าเห็นว่ามันให้ประโยชน์ตนด้วย มีรายได้เลี้ยงครอบครัว แล้วก็เป็นประโยชน์ท่าน ช่วยเหลือ สังคมด้วย ก็ทำให้มีความสุข รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่ามีความหมาย ไม่ใช่ว่าตื่นมาวันๆ แล้วก็เบื่อ ไม่อยากทำงานเพราะไม่เห็นคุณค่า แล้วก็พลอยรู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่มีคุณค่าด้วย เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้กันเยอะ
เพราะคนเราทำงานแล้ว งานมาเติมคุณค่าให้กับชีวิตจิตใจ จะทำได้นานและมีความสุข แล้วมันก็ช่วยปัดเป่าความเครียดความซึมเศร้าที่เดี๋ยวนี้เกิดขึ้นมากในหมู่ผู้คน เพราะเขาไม่รู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย ที่ คิดอย่างนั้นหรือรู้สึกอย่างนั้นเพราะว่างานที่ทำก็ไม่เห็นคุณค่าด้วย อันนี้ก็เป็นปัญหา ถ้าหากว่าสามารถจะทำให้งานที่ตัวเองทำมีคุณค่าขึ้นมา ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านด้วย ทำงานก็มีความสุข ไม่ เครียดง่ายๆ ใจไม่สลายง่ายๆ.