แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 29 เมษายน 2566
เมื่อ 10 วันที่แล้ว มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งอยู่ในความสนใจของคนทั้งโลกมาก โดยเฉพาะคนที่สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์แล้วก็วิศวกรรม เพราะว่ามีการปล่อยยานอวกาศ ยานอวกาศที่ว่านี้เป็นของบริษัทสเปซเอ็กซ์ เจ้าของคือ อีลอน มัสก์ เขาเป็นคนที่มีไอเดียบรรเจิด นอกจากเขาจะบุกเบิกรถไฟฟ้าที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันแล้ว เขาก็มีความฝันว่าจะส่งยานอวกาศไปให้มนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานที่ดวงจันทร์
แล้วเขาคิดต่อไปถึงเรื่องการตั้งถิ่นฐานในดาวอังคารเลย เขาถึงบอกว่าเขาจะไปเกษียณที่ดาวอังคาร ก็ดูเป็นคนที่ฝันเฟื่อง แต่ว่าเขาก็ไม่ได้ฝันอย่างเดียว เขาทำด้วย บริษัทของเขาก็พยายามพัฒนาจะจรวด หรือยานอวกาศ ที่มันจะสนองความฝันของเขา และเมื่อ 10 วันที่แล้วก็เป็นกำหนดการปล่อยยานอวกาศ ชื่อเรียกว่าสตาร์ชิป ซึ่งมันเป็นที่จับตาของผู้คน เพราะว่ามันมีนวัตกรรมใหม่หลายอย่าง
ประการแรกคือว่ามันมีท่อนส่งอวกาศ ท่อนส่งแรงดันที่มีกำลังมหาศาลเลย เพราะว่ามันจะต้องบรรทุกน้ำหนักหลาย 100 ตัน ที่บรรทุกน้ำหนักหลาย 100 ตันก็เพราะว่าเวลาจะส่งคนไปอยู่ดวงจันทร์ ไปอยู่ดาวอังคารนี่ มันต้องมีอุปกรณ์ มีเสบียงหลายอย่าง เพราะฉะนั้นก็ต้องทดลองว่ายานอวกาศที่จะบรรทุกแบกน้ำหนักเป็นร้อยๆ ตัน มันจะทะยานขึ้นฟ้าได้อย่างไร มันก็ต้องอาศัยยานอวกาศที่มีกำลังมหาศาล แล้วยานอวกาศของเขาก็เรียกว่ามีแรงดันสูงมาก สูงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยทำ
แล้วประการที่ 2 คือว่ายานอวกาศของเขาซึ่งมี 2 ท่อนนี่ ท่อนแรกเป็นท่อนส่ง หรือว่าท่อนที่ระเบิดส่งแรงดันขึ้นอวกาศ กับอีกท่อนหนึ่งเป็นท่อนยานอวกาศโดยตรง ทั้ง 2 ท่อนนี้จะต้องกลับมาสู่ฐานได้ แต่ก่อนยานอวกาศแต่ละท่อนๆ ต้องทิ้งลงทะเล แต่อีลอน มัสก์เขาบอกว่าเพื่อที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้ง 2 ท่อนนี้ต้องกลับมาสู่ภาคพื้นดินได้อย่างปลอดภัย เพื่อจะได้ใช้ต่อ
คนก็สงสัยว่าจะทำได้อย่างไร อยากจะรู้ว่ายานอวกาศ 2 ท่อน ท่อนหนึ่งที่เป็นท่อนส่งยานอวกาศ พอทำงานเสร็จแล้วก็กลับมายังฐานอย่างปลอดภัย ส่วนยานอวกาศนี่ก็จะโคจรรอบโลก แล้วก็อาจจะได้ทดลองดูว่าถ้าจะมีการเติมเชื้อเพลิงระหว่างทางนี่จะทำได้ไหม พอเสร็จภารกิจแล้วก็จะกลับมาสู่พื้นโลก กลับมาร่อนลงฐานปล่อยจรวดอย่างปลอดภัย ซึ่งก็เป็นนวัตกรรมที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน คนก็จับตาดูว่ายานอวกาศสตาร์ชิปของสเปซเอ็กซ์นี่มันจะทำได้ไหม
ปรากฏว่าพอถึงวันที่เขาปล่อยยานอวกาศ มันก็ทะยานขึ้นฟ้าได้ แต่พอทะยานขึ้นฟ้าไปได้สัก 4 นาที ที่กำหนดนี่มันจะต้องแยกตัวออกจากกัน 2 ท่อนนี่ ท่อนหนึ่งกลับสู่พื้นโลก อีกท่อนหนึ่งโคจรรอบโลก ปรากฏว่ามันไม่ยอมแยก ศูนย์บัญชาการก็เลยทำลาย ระเบิดทิ้งเลย แล้วก็จะมีภาพระเบิดกลางอากาศ หลายคนก็ผิดหวัง แหม นึกว่าจะได้เห็นยานอวกาศทั้ง 2 ท่อนนี้มันทำงานตามภารกิจ ท่อนหนึ่งก็กลับสู่ พื้นโลก กลับสู่ฐานอย่างไม่บอบช้ำ ไม่เสียหาย อีกท่อนนึงก็สามารถที่จะโคจรรอบโลกได้ แล้วก็กลับมาสู่พื้นโลกได้ กลับมาที่ฐาน ไม่ได้ทิ้งลงทะเลเหมือนกับยานอวกาศของนาซ่า
พอไม่ได้เห็นแบบนี้หลายคนก็ผิดหวัง แต่ว่าทางสเปซเอ็กซ์ รวมทั้งอีลอน มัสก์กลับยิ้ม เขากลับพอใจ คนก็สงสัยทำไมถึงพอใจ ทั้งที่การทดลองครั้งนี้มันล้มเหลว มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ แต่พวกเขากลับพอใจเพราะว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มันทำให้เขาได้ข้อมูลมากมาย แล้วก็เป็นวิธีการที่จะได้ข้อมูลที่ดีที่สุด และเป็นข้อมูลที่จะใช้ในการออกแบบจรวดที่ดีครั้งต่อๆ ไป คือเขาไม่รู้สึกท้อเลย แล้วเขาก็รู้สึกพอใจ เพราะว่ามันเป็นความตั้งใจอยู่แล้ว ว่าจะเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด จากอุบัติเหตุ จากความล้มเหลว
เขาบอกว่าความล้มเหลวมันก็ทำให้ได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะเลย เรียนรู้เกี่ยวกับอะไร เรียนรู้เกี่ยวกับปัญหา ปัญหามันมีอะไรบ้าง จะได้นำไปใช้ในการพัฒนาจรวดรุ่นต่อๆ ไปให้ดีขึ้น เขาก็บอกว่าจะไปหาข้อมูลจากเครื่อง simulator ภาคพื้นดินมันไม่พอ มันต้องมีการทำจริงด้วย แล้วข้อมูลที่ได้นี่เขาบอกว่าได้มาเยอะเลย รู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน และจะแก้ไขอย่างไร แล้วเขาก็บอกว่า
ในการทดลอง ความสำเร็จมันอยู่ที่การเรียนรู้ หรือการได้ความรู้ และการทดลองครั้งนี้ได้ความรู้เยอะเลย เพราะฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าความล้มเหลว แต่เรียกว่าเป็นความสำเร็จ
แล้วมันก็เป็นทัศนคติที่น่าสนใจ เพราะคนธรรมดาถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้ อุตส่าห์ลงทุนลงแรงไปเยอะแยะ แล้วปรากฏว่ายานอวกาศมันระเบิดกลางอากาศ แทนที่ยานอวกาศมันจะแยกตัวออกจากกัน มันกลับติดแน่นจนต้องทำลายทิ้ง หลายคนก็จะมองว่าเป็นความล้มเหลว เป็นความเสียหน้า แต่ว่าอีลอน มัสก์ กับวิศวกรของสเปซเอ็กซ์ เขากลับพอใจ เขาบอกว่าแค่จรวดออกจากฐานได้ก็ถือว่าเกินความคาดหมายแล้ว ที่เหลือนี่ก็ถือว่าเป็นความรู้
อันนี้เป็นทัศนคติที่น่าสนใจนะ คือมองว่าการทำอะไรก็ตาม แม้จะล้มเหลวมันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เลวร้าย เพราะความล้มเหลวก็ให้ความรู้มากมาย แล้วมันดีกว่านั่งคิดเอา หรือทดลองอยู่ในห้องแล็บ และอันนี้มันไม่มีทางที่จะได้ความรู้ที่มีค่า มากเท่ากับการที่ทดลองทำ แล้วพอมันล้มเหลวกลับได้ความรู้มากมาย เขาเลยมองว่าที่เกิดขึ้นนี่ไม่ได้ล้มเหลวนะ แต่เป็นความสำเร็จเพราะสิ่งสำคัญคือความรู้ที่ได้
อันนี้มันคล้ายๆ กับนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์หลายคนที่ประสบความสำเร็จ หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานมามากมาย อย่างเอดิสัน ที่เคยเล่าไว้แล้ว เขาเป็นคนที่ผลิตหลอดไฟเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นมันเป็นประดิษฐกรรมที่ยิ่งใหญ่ แล้วก็เปลี่ยนโลกมาก แต่กว่าเขาจะทำสำเร็จ เขาผ่านความล้มเหลวมากมายหลายครั้ง โดยเฉพาะการหาวัสดุที่จะทำเป็นไส้หลอดไฟ ที่สามารถจะต้านทานไฟฟ้า มีแรงต้านไฟฟ้าและสามารถจะให้แสงสว่าง เพราะแต่ก่อนหลอดไฟต้องอาศัยแรงต้าน จนกระทั่งไส้นี่มันแดง และสว่างเรืองให้ความสว่าง
เอดิสันก็ทดลองหาวัสดุที่จะทำเป็นไส้ เรียกว่านับครั้งไม่ถ้วน แล้วก็ล้มเหลว แต่เขาบอกว่าเขาไม่เคยล้มเหลว ผมไม่เคยล้มเหลว ผมแค่รู้ 10,000 วิธีที่มันไม่เวิร์ค นี่เป็นทัศนคติที่น่าชื่นชมมากนะ คนเราพอเจอความล้มเหลว หรือทำไม่สำเร็จแล้วก็จะท้อแท้ แต่ว่าสำหรับคนอย่างเอดิสัน เขากลับดีใจ เพราะเขาได้ความรู้ ความรู้ใหม่ ความรู้ว่าอย่างนี้มันไม่เวิร์ค วัสดุแบบนี้มันใช้ไม่ได้ แค่นี้ก็เป็นความรู้ที่สำคัญแล้ว
คนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์หรือคนที่เป็นนักประดิษฐ์ ถ้าเขามีท่าทีแบบนี้ เขาก็จะไม่กลัวความล้มเหลว เพราะว่าเขารู้จักหาประโยชน์จากความล้มเหลว ว่าความล้มเหลวหรืออุปสรรคมันให้ประโยชน์อะไรกับเขาบ้าง และที่จริงเราทุกคนก็ควรจะมีทัศนคติแบบนี้ ก็คือว่าไม่มองว่าความล้มเหลวนี่เป็นสิ่งที่แย่ รู้จักหาประโยชน์จากความล้มเหลว หรือว่าอะไรที่มันแย่ๆ ในสายตาของผู้คน แต่ว่าเรารู้จักมอง โดยเฉพาะถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นมันให้ความรู้กับเรา
เคยเล่าแล้วนะ นักกีฏวิทยาฝรั่งอเมริกันคนหนึ่ง ที่เวลาเขาถูกผึ้งต่อย ถูกแตนต่อย ถูกมดกัด เขาไม่ได้เสียอกเสียใจ เขาไม่ได้โมโหโกรธาเลย เขากลับยินดี เพราะเขาได้ความรู้ว่าแมลงชนิดนี้มันต่อยเจ็บแค่ไหน แล้วก็เอาความรู้นี้ไปทำสเกลหรือผังคะแนน ว่าแมลงชนิดใดเจ็บกี่คะแนน 1 คะแนน, 2 คะแนน, 3 คะแนน, 4 คะแนน เป็นสเกลที่มีประโยชน์มากในทางวิชาการ และในการเรียนรู้เกี่ยวกับแมลงต่างๆ ที่มีพิษ เจ็บแต่ได้ความรู้ เขาก็พอใจ อันนี้ก็ควรเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติธรรมควรจะมีนะ ทัศนคติแบบนี้
เวลาเรามีความทุกข์ หรือเจออุปสรรคแต่ละครั้ง เราไม่โมโห ไม่เสียใจ แต่เรายินดีที่เราได้ความรู้ มันเป็นประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม
ท่านอาจารย์สุรินทร์ก็เล่าอยู่เสมอ ว่าท่านได้เรียนรู้อะไรมากมายเลย จากปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการถ่ายวีดีโอบันทึกเสียงธรรม บางทีก็มีเสียงแทรก บางทีก็มีปัญหาหลายอย่าง แต่ก็ได้เรียนรู้จากปัญหา รู้จักเปลี่ยนประสบการณ์ให้กลายเป็นความรู้ ท่านบอกประสบการณ์แต่ละอย่างให้ความรู้ และประสบการณ์ที่ว่านี่ส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหา เสียงไม่ดี ไฟดับ หรือว่าโปรแกรมมีปัญหา ต้องไปปลุกปล้ำกับมัน คนที่วางใจไม่เป็นก็จะทุกข์ ก็จะโมโห ก็จะหงุดหงิด แต่ว่าคนที่วางใจเป็น เขาก็จะได้ความรู้ ได้ทักษะ เขาก็มีประสบการณ์มากขึ้น เรียกว่ารู้จักเปลี่ยนอุปสรรค เปลี่ยนความล้มเหลวให้กลายเป็นความรู้
แล้วมันไม่ใช่แค่อุปสรรคหรือความล้มเหลวนะ สิ่งที่เราเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ หรือว่าโลกธรรมฝ่ายลบก็เหมือนกัน คนมักจะพอใจกับการได้ลาภได้ยศ คำสรรเสริญ หรือว่าสุข แต่ที่จริงการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ หรือว่าคำนินทา มันก็มีประโยชน์ มีประโยชน์ตรงที่ทำให้เราได้ฝึกใจ ฝึกใจที่จะอยู่เหนือความทุกข์เหล่านี้ ถ้าเรามองดีๆ ความทุกข์นี่มันเป็นครูนะ เป็นครูที่ดุ ครูนี่จะกระหน่ำ จะตีเรา จนกว่าเราจะเรียนรู้บทเรียนที่ครูสอน ถ้าเราไม่เรียนรู้จากบทเรียนที่ครูสอน ครูก็จะตีเราอยู่เรื่อย จนกว่าเราจะฉลาดขึ้น เวลาเราเจอความพลัดพรากความสูญเสีย คนส่วนใหญ่ก็ทุกข์ แล้วก็จะทุกข์เรื่อยไปจนกว่าจะได้บทเรียนจากเหตุการณ์นั้น เหตุการณ์นั้นเข้ามาสอน สอนเราอย่างไร สอนให้รู้ว่าอย่าไปยึดติดถือมั่นกับสิ่งต่างๆ มาก เพราะทุกอย่างไม่เที่ยง
ถ้าเราไม่เรียนรู้จากเหตุการณ์เหล่านี้ เราก็จะทุกข์เรื่อยไป สูญเสียของรัก ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ก็จะทุกข์เรื่อยไป และต่อไปก็จะสูญเสียคนรัก ถ้าไม่รู้จักเรียนรู้หรือซึมซับรับบทเรียนจากเหตุการณ์เหล่านั้น เหมือนกับที่เราซึมซับรับบทเรียนจากครูที่ดุ เราก็จะทุกข์เรื่อยไป แต่พอเราได้เรียนรู้ ได้บทเรียนจากเหตุการณ์เหล่านั้น เราก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป
อันนี้ไม่ใช่เฉพาะความสูญเสีย พลัดพราก จากคนรัก ของรัก รวมไปถึงการประสบกับสิ่งที่ไม่รักด้วย คำต่อว่าด่าทอ หรือว่าความเจ็บความป่วย ความแก่ความชรา พวกนี้เหมือนครูที่จะโบยตีเรา จนกว่าเราจะ เรียนรู้จากครูว่า มันไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้เลย หรือว่าเป็นเพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นกับบางสิ่งบางอย่าง เช่น หน้าตา เราจึงทุกข์เพราะการถูกต่อว่าด่าทอ หรือเป็นเพราะเรายึดติดถือมั่นในสังขาร เราจึงทุกข์เพราะความเจ็บความป่วย
พระพุทธเจ้าสอนว่าทุกข์นี่มีคุณนะ ถ้าหากว่าเรารู้จักกำหนดรู้ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสหรือที่ครูบาอาจารย์สอนว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรู้หรือสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ คำว่ารู้ ในที่นี้ใช้คำว่าปริญญา แล้วเวลาเจอทุกข์แต่ละครั้ง ถ้าเรารู้จักเรียนรู้จากความทุกข์ ก็ถือว่าเราได้กำไร แต่คนเราส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอยากจะเรียนรู้จากความทุกข์ เพราะอยากจะได้รับแต่ความสุข พอเจอทุกข์ก็บ่น โวยวาย ตีโพยตีพาย คร่ำครวญ แต่ถ้ารู้จักมองว่าทุกข์มันสอนอะไรเรา มันให้บทเรียนอะไรเรา
เช่นเดียวกัน เวลาเราเจริญสติ เวลาเราทำกรรมฐาน แล้วมันมีความหลง มันมีความฟุ้ง หลายคนไม่ชอบนะ ที่จริงความหลงนี่มันก็มีคุณ คุณอย่างแรกคือมันมาเป็นเครื่องฝึกใจให้มีสติรู้ทัน ไม่ว่าหลงนั้นมันจะมาในรูปไหน เช่น ความฟุ้งซ่าน ความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า ความเบื่อ พวกนี้ก็ล้วนแต่เป็นความหลงทั้งนั้น เวลามันเกิดขึ้นแต่ละครั้ง มันมาเป็นแบบฝึกหัดให้เรา เพื่อจะมีสติรู้ทัน และต่อไปไม่ใช่แค่รู้ทันเฉยๆ เรียนรู้ที่จะรู้ซื่อๆ คือรู้แล้วไม่ผลักไส รู้แล้วไม่ไปกดข่ม รู้ซื่อๆ คือรู้โดยที่ไม่ผลักไสและไม่ไหลตาม รู้โดยที่ไม่ไปทำอะไรกับมัน ไม่ปล่อยให้มันครองใจ รู้ซื่อๆ นี่ มันไม่มีใครจะทำได้ จนกว่าจะได้เจอกับความหลง แล้วก็ได้เรียนรู้จากการฝึก เรียนรู้จากมัน มันเป็นโจทย์ เหมือนกับนักมวยที่จะเก่งได้ก็ต้องมีคู่ซ้อม ถ้าคู่ซ้อมไม่ได้เรื่อง นักมวยคนนั้นก็ไม่เก่ง ต้องได้คู่ซ้อมที่เก่ง
แต่มันไม่ใช่เพียงแค่ฝึกทักษะ ความหลงไม่เพียงแค่ฝึกทักษะ ให้เรามีความว่องไวในการรู้ทัน แล้วก็รู้ว่าคำว่ารู้ซื่อๆ นี่มันหมายความว่าอย่างไร แต่มันยังให้ความรู้กับเรา ว่าความหลงนี่แต่ละอย่างๆ มันมีสภาวะเป็นอย่างไร ฟุ้งซ่านสภาวะเป็นอย่างไร โกรธสภาวะเป็นอย่างไร เกลียดสภาวะเป็นอย่างไร แล้วไม่ใช่แค่รู้สภาวะ แต่รู้ถึงลักษณะ ที่เรียกว่าไตรลักษณ์ รู้ว่ามันไม่เที่ยง รู้ว่ามันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันมาเพื่อให้เรารู้
แต่นักปฏิบัติหลายคนพอเจออารมณ์พวกนี้ ก็หงุดหงิดหัวเสีย รู้สึกล้มเหลว ว่าทำไมฉันทำแล้วมันฟุ้งเหลือเกิน อันนี้ก็เรียกว่าขาดนิสัยใฝ่รู้ นักปฏิบัติต้องมีนิสัยใฝ่รู้ รู้จักหาความรู้จากทุกสิ่ง เปลี่ยนทุก ประสบการณ์ให้กลายเป็นความรู้ เหมือนกับพวกสเปซเอ็กซ์ ที่เขาเปลี่ยนความล้มเหลวทุกอย่างให้กลายเป็นความรู้มหาศาลที่จะนำไปใช้ในการทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อทำความฝันให้เป็นจริง
อันนั้นเขาเรียกว่าความรู้ทางโลก ความรู้เพื่อจุดมุ่งหมายทางโลก แต่ว่าความรู้มันก็สามารถจะเป็นประโยชน์ในทางธรรมได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นความรู้จากประสบการณ์ที่เป็นลบ เรียกว่าอนิฏฐารมณ์ หรือว่า โลกธรรมฝ่ายลบหรือว่าความทุกข์ พวกนี้มันให้ความรู้กับเรา เป็นความรู้ในทางธรรม ซึ่งสามารถจะช่วยทำให้เรายกจิตให้เป็นอิสระจากความทุกข์ได้
ถ้าเราไม่รู้จักทุกข์ ไม่เรียนรู้จากทุกข์ เราจะเป็นอิสระจากความทุกข์ยากได้อย่างไร
เราจะเป็นอิสระจากความทุกข์ได้ เราก็ต้องรู้จักทุกข์ แล้วเราจะต้องรู้จักทุกข์ได้อย่างถ่องแท้ ก็ต้องเจอทุกข์ซะก่อน ถ้ากลัวทุกข์ก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ได้ ก็เหมือนกับคนที่อยากประสบความสำเร็จ ก็ต้องยอมที่จะเจอความล้มเหลว แล้วเมื่อเจอความล้มเหลว ก็เปลี่ยนความล้มเหลวให้กลายเป็นความรู้ แล้วความรู้นี่แหละก็จะนำไปสู่ ความสำเร็จ ความทุกข์ก็เหมือนกัน เจอทุกข์แล้วเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความรู้ ความรู้ในทุกข์ และความรู้ในทุกข์นั้น มันจะพาให้เราเป็นอิสระจากความทุกข์ได้.