พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 30 เมษายน 2566
มีคนหนึ่งเขาพูดถึงความแตกต่างระหว่างเพื่อนกับคนที่อยู่ใกล้ชิดเรา เมื่อนักเรียนคนหนึ่งตอบได้ ครูก็บอกว่า “ฉันสอนเขาเองแหละ” ส่วนแม่ก็บอกว่า “เป็นเพราะฉันเอาใจใส่ในการเรียนของลูก” พ่อก็บอกว่า “ก็เป็นลูกของฉันเองแหละ” ส่วนเพื่อนบอกว่า “ถ้างั้นเราไปดื่มกัน ไป drink กัน”
แต่ถ้าเกิดนักเรียนคนนั้นสอบตก ครูก็จะพูดว่า “แกไม่ใส่ใจในการเรียนเลย เอาดีอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง” ส่วนแม่ก็จะบอกว่า “เวลาสอนเนี่ยเธอไม่ฟังเลย เธอเป็นเด็กขี้เกียจ” ส่วนพ่อก็จะบอกว่า “เขาเป็นลูกของเธอ” คือลูกของแม่ ไม่ใช่ลูกของฉัน ส่วนเพื่อนก็จะบอกว่า “งั้นเราไป drink กัน” คือไม่ว่าจะสอบได้หรือสอบตก เพื่อนก็เหมือนเดิมนะ คือชวนไปดื่มกัน
ไอ้การไปดื่มนี่อาจจะไม่ดีนะ แต่สำหรับคนหนุ่ม หรือเดี๋ยวนี้อาจจะรวมถึงคนสาวด้วย วัยรุ่นนะพูดง่ายๆ เวลาสอบตก เพื่อนไม่ซ้ำเติม เพื่อนให้กำลังใจ ขณะที่ครู แม่ พ่อ ต่อว่าซ้ำเติม อันนี้คือความแตกต่าง ระหว่างเพื่อนกับคนอื่นๆ ในชีวิตของเรา อันนี้ก็เป็นความเห็นของคนๆหนึ่ง ซึ่งก็น่าสนใจ และอาจจะเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่า ทำไมวัยรุ่นคนหนุ่มสาวเขาถึงติดเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ หรือเขาฟังเพื่อนมากกว่าฟังครู ฟังพ่อแม่
ส่วนหนึ่งก็เพราะเวลาผิดพลาด เวลาเจอความทุกข์ เวลาสอบตก เพื่อนไม่ตำหนิ เพื่อนไม่ซ้ำเติม กลับให้กำลังใจ ขณะที่คนอื่นๆ เวลาสอบได้ เขาก็ต่างอวดว่าเป็นความสำเร็จของฉัน เป็นเพราะฝีมือของฉัน แต่พอเด็กสอบไม่ได้ สอบตก แต่ละคนก็ซ้ำเติมเลย
ในความจริงจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่าในชีวิตของเรา ก็อีกเรื่องหนึ่งนะ แต่สำหรับคนส่วนใหญ่หรือคนจำนวนมาก อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะวัยรุ่นเขาผูกพันกับเพื่อนมาก เพราะเพื่อนมีความเข้าอกเข้าใจ เพื่อนมีความเห็นอกเห็นใจ ไม่ซ้ำเติม
อันนี้ก็เป็นแง่คิดสำหรับคนที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นพ่อเป็นแม่ ว่าถ้าเราเป็นอย่างเรื่องที่เล่า มันก็อาจจะเป็นเรื่องที่อธิบายได้ว่า ทำไมเวลาเขามีความทุกข์ เขาจึงไม่ค่อยมาหาครู หรือไม่ค่อยมาหาพ่อหรือแม้ในเวลาที่เขามีความสุข เขาสุขสบายดี เขาก็เหินห่างจากครู เหินห่างจากพ่อแม่ แต่ติดเพื่อนมากกว่า รวมทั้งฟังเพื่อนด้วย
ที่จริงมันไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นคนหนุ่มสาวนะ คนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็เหมือนกัน เรื่องนี้ทำให้นึกถึงอีกเรื่องหนึ่งขึ้นมาคือ มีผู้ชายคนหนึ่ง ภรรยาก็ชวนไปฟังธรรมที่วัดแห่งหนึ่ง ขณะที่หลวงพ่อกำลังแสดงธรรมอยู่ โทรศัพท์ของชายคนนี้ก็ดังขึ้นมากลางศาลาเลย หลวงพ่อหยุดบรรยายเลยนะ แล้วก็พูดต่อว่าชายคนนั้นว่า “ทำไมไม่ปิดโทรศัพท์ ไม่รู้เหรอว่าวัดนี้เขาให้ปิดโทรศัพท์มือถือเวลาฟังธรรม เวลามาทำบุญ”
เท่านี้ไม่พอ คนที่อยู่ในศาลาก็หันมามองชายคนนี้ สีหน้าหรือแววตานี่มันเป็นสีหน้าของการตำหนิ ไม่พอใจ เท่านั้นไม่พอนะขณะที่นั่งรถกลับ ภรรยาก็ต่อว่าเขาอีก “ทำไมเธอมาวัดนี่ไม่รู้ระเบียบหรือไง ทำไมไม่ปิดโทรศัพท์ ทำอย่างนี้เสียหน้าฉันหมดนะ”
ชายคนนั้นเรียกว่า เย็นวันนั้นก็เลยเครียดเลยนะ พอเครียดแล้วทำยังไง ก็เลยแวะไปที่ผับบาร์ ปกติก็ไม่ค่อยไปนะ แต่ว่าตอนนี้เครียดมาก ก็คงไปหาเหล้ามาย้อมใจ ขณะที่กำลังดื่มเหล้าอยู่คนเดียว บวกกับ ด้วยความเครียด ด้วยความกังวล ใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวเพราะถูกตำหนิมาทั้งวัน ก็เลยเผลอทำแก้วเหล้าตก แก้วนี่แตก เหล้านองพื้นเลย เสียงดังไปทั้งผับ
คนก็หันมามอง ทีแรกก็คิดว่าคนรอบข้างนี่จะมาตำหนิเขา แต่ปรากฏว่าหลายคนก็บอกว่า “ไม่เป็นไร ผิดพลาดกันได้” ขณะเดียวกันพนักงานในผับก็ตรงเข้ามาเลย ทีแรกก็นึกว่าจะมาต่อว่าเขาแล้ว เปล่านะ มาช่วยเช็ดถูพื้นที่มันมีเหล้านอง เก็บเศษแก้ว คนอื่นที่อยู่ใกล้ๆ ก็ช่วยกันเก็บเศษแก้วด้วย แล้วก็พูดกับเขาว่า “ไม่เป็นไรๆ มันผิดพลาดกันได้”
เท่านั้นไม่พอนะ สักพักผู้จัดการก็มาบอกว่า “เดี๋ยวเติมเหล้าให้ใหม่นะ ไอ้ที่แตกไปนี่ไม่คิดเงิน” แกปลื้มมากเลยนะ นึกว่าจะถูกต่อว่า นึกว่าจะถูกซ้ำเติม ปรากฏว่ามีแต่คนมาให้กำลังใจ มีแต่คนมาปลอบ นับแต่นั้นมาชายคนนั้นก็ไปเที่ยวผับบาร์แห่งนั้นเป็นประจำเลย แต่ก่อนไม่ค่อยไปนะ แต่ว่าติดใจที่มีแต่คนเห็นอกเห็นใจ มีแต่คนให้กำลังใจ ส่วนวัดนี่เขาไม่ไปอีกเลยนะ
เรื่องนี้มันก็ให้ข้อคิดที่ดีนะว่า ทำไมบางคนเขาถึงติดใจในการไปสถานที่ที่เราเรียกว่า อโคจรสถาน สถานเริงรมย์ การกินเหล้ามันไม่ดีนะ ในแง่ชาวพุทธเราก็ถือว่าเป็นอบายมุขอย่างหนึ่ง แต่คนจำนวนมาก ทำไมเขาเลือกที่จะไปกินเหล้า หรือไปสถานที่อย่างนั้นมากกว่าที่จะไปวัด ทั้งที่วัดก็มีอะไรดีหลายอย่าง ธรรมะก็ดี
สิ่งหนึ่งที่มันดึงดูดใจของคนจำนวนมากคือ ผับบาร์ ซึ่งมันเต็มไปด้วยผู้คนที่พร้อมจะเห็นอกเห็นใจ เข้าอกเข้าใจ ไม่ซ้ำเติม ก็เป็นเสน่ห์ที่ชวนให้คนหลายคนจมอยู่ในอบายมุขมากขึ้น
ขณะที่วัดมีสิ่งดีๆ มากมายแต่คนไม่สนใจ เพราะคนในวัด ไม่ว่าจะเป็นพระ ไม่ว่าจะเป็นสาธุชน เขาอาจจะเรียกว่าชอบตำหนิ ชอบกล่าวโทษ เวลาใครทำผิดอะไรก็ตำหนิ หรือบางทีซ้ำเติม เพราะยึดมั่นถือมั่นในความถูกต้องมาก เพราะฉะนั้นผิดพลาดอะไรก็เลยเจอคำตำหนิ
ที่จริงคำตำหนิมันก็ไม่ได้เสียหายอะไรนะ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้ายอะไร แต่คำส่วนใหญ่หรือคนจำนวนมาก เขาจะรู้สึกพึงพอใจกับการที่ได้รับความเห็นอกเห็นใจ ได้รับความเข้าอกเข้าใจ เวลาผิดพลาดอะไรก็ไม่ซ้ำเติม นี่แหละก็คือเสน่ห์ของเพื่อนที่ดึงดูดใจ ไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาว แต่กับคนจำนวนมาก ทั้งที่การดึงดูดใจนั้น มันอาจชวนให้เขาทำในสิ่งที่แย่ลงก็ได้
แต่ว่าอันนี้ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์นะ ซึ่งถ้าเกิดพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ หรือแม้กระทั่งพระเราเข้าใจตรงนี้ เวลาใครทำอะไรผิดพลาด เราก็ไม่คิดแต่จะไปต่อว่าซ้ำเติมตะพึดตะพือ แต่เข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ไม่ซ้ำเติม มันก็สามารถที่จะเป็นแรงดึงดูด โน้มน้าว เชิญชวนให้เขาหันมาสนใจการเข้าวัด การปฏิบัติธรรม หรือมาพบเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตรที่ปรารถนาดีกับเขา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ครู บาอาจารย์.