แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 30 เมษายน 2566
เมื่อตอนก่อนฉันเช้า ได้พูดถึงเรื่องความแตกต่างของเพื่อนกับคนที่อยู่ใกล้ชิดเรา ความแตกต่างที่ว่านี้ก็มีคนยกตัวอย่างว่าเนี่ย ถ้าคนๆ หนึ่งเกิดสอบได้ขึ้นมา ครูก็จะบอกว่า เนี่ยฉันสอนเขาเองแหละ แม่ก็บอกว่า เพราะว่าฉันเอาใจใส่ในการเรียนของลูก ส่วนพ่อก็บอกว่า เนี่ยเขาเป็นลูกของฉันนะ แต่ถ้าเกิดว่าชายคนนั้นเกิดสอบตกขึ้นมา หรือจะเป็นหญิงก็ได้นะ ครูก็บอกว่า เนี่ยเป็นเพราะเธอไม่ใส่ใจในการเรียน เธอไม่ได้เรื่องเลย ส่วนแม่ก็บอกว่า เนี่ยเป็นเพราะเธอไม่ฟังใครเลย เธอขี้เกียจ ส่วนผู้เป็นพ่อก็บอกว่า เนี่ยเขาเป็นลูกของเธอนะ อันนี้ก็เป็นความแตกต่างนะ
แต่ถ้าเป็นเพื่อนนี่ ในยามที่สอบได้ เพื่อนก็จะบอกว่า เออนะ งั้นเราไปดริงค์กัน เมื่อเกิดสอบตกขึ้นมา เพื่อนคนเดียวกันนั้นก็จะบอกว่า เราไปดริงค์กัน ไปดื่มกัน คืไม่ว่าสอบได้หรือสอบตก ผู้เป็นเพื่อนก็จะเสมอต้นเสมอปลาย สอบได้ก็ไปดื่มกัน สอบตกก็ไปดื่มกัน ขณะที่คนซึ่งเป็นครู เป็นแม่เป็นพ่อนี่ ถ้าเกิดเราสอบได้จะพูดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเกิดเราสอบตกขึ้นมา ก็จะพูดอีกอย่างหนึ่ง อันนี้ก็เป็นการชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างเพื่อนกับคนที่อยู่ใกล้ชิดเรา ไม่ว่าจะเป็นครู เป็นพ่อ เป็นแม่ ซึ่งที่จริงมันก็อาจจะไม่ใช่อย่างนั้นกับทุกคน ที่เขายกตัวอย่างมานี้ มันก็มีน้ำเสียงของการประชดประชันอยู่บ้าง หรือว่ามีการพูดให้เวอร์หรือเกินจริงสักหน่อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้นะว่ามันก็มีเค้าหรือมูลแห่งความจริงอยู่
เวลาคนคนหนึ่งประสบความสำเร็จ ครูก็ดี พ่อแม่ก็ดี ก็จะชื่นชมหรือว่าอ้างเอาความดีความชอบ แต่พอคนๆ หนึ่งสอบตกขึ้นมา ครูก็ดี แม่ก็ดี พ่อก็ดี จำนวนไม่น้อยก็จะตำหนิกล่าวโทษหรือว่าซ้ำเติม ในขณะที่คนที่เป็นเพื่อนนี่ ไม่ว่าสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าสอบได้หรือสอบตก เพื่อนก็เหมือนเดิม ไม่ซ้ำเติม ให้กำลังใจ เข้าอกเข้าใจ หรือว่ายอมรับ
อันนี้ก็คงเป็นเหตุผลหนึ่งนะ ที่คนจำนวนมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นเนี่ย ติดเพื่อนเพราะว่าเพื่อนยอมรับเขาได้ทุกอย่าง ไม่ว่าในยามสุขในยามทุกข์ ในยามดียามร้ายหรือแม้กระทั่งในยามที่ถูกในยามที่ผิด เดี๋ยวนี้วัยรุ่นนี่ติดเพื่อนมาก ฟังเพื่อนมากกว่าพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์ มันก็เพราะเหตุนี้แหละ แต่ว่าเพื่อนที่เป็นอีกแบบหนึ่งก็มีนะ มันไม่ใช่ว่าเพื่อนทุกคนจะเป็นอย่างนั้น เพื่อนที่ชื่นชมเราเวลาเราประสบความสำเร็จ หรือเอาความดีความชอบ ก็มีอยู่ไม่น้อย เวลาเราล้มเหลว เขาก็ซ้ำเติม ตำหนิ กล่าวโทษ ก็มีอยู่นะ แต่ถ้าคนเรามีเพื่อนที่เขายอมรับเราทุกอย่างอย่างที่เราเป็น หรือว่าเสมอต้นเสมอปลาย คงเส้นคงวาไม่ว่าในยามที่เราสุขหรือทุกข์ เจริญหรือเสื่อม ก็ถือว่าโชคดี
เพราะเดี๋ยวนี้มันก็มีคนจำนวนไม่น้อยซึ่งที่จริงไม่ใช่แค่ครูพ่อแม่ แต่ว่าเป็นคนที่อยู่ไกลออกไป ก็มีไม่น้อยที่ยามที่เราทำอะไรถูกใจเขา เป็นไปอย่างที่เขาคาดหวัง เขาก็ชื่นชมสรรเสริญ อยากจะมีส่วนร่วมในความสำเร็จของเรา แต่พอเราทำอะไรไม่ถูกใจเขา หรือไม่เป็นไปอย่างที่เขาคาดหวัง ก็ตำหนิกล่าวโทษ หรือซ้ำเติม หรือตีตัวออกห่าง ที่จริงมันไม่ใช่เฉพาะคนอื่นหรอก ในหัวของเรานี่ มันก็มีเสียงบ่นหรือเสียงชมทำนองนี้เหมือนกัน เวลาเราทำอะไรดีถูกต้องหรือประสบความสำเร็จ มันก็จะมีเสียงชมในหัวของเราว่า เออ เธอเก่งนะ หรือเวลา เราทำความดี มันก็มีเสียงชื่นชมในหัว เออ เธอแน่นะ เธอเป็นคนมีเมตตา ฉันภูมิใจในตัวเธอมาก
แต่พอเราเกิดทำอะไรไม่ดีขึ้นมา เกิดทำผิดทำพลาด ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรืออาจจะไม่ได้ทำ แค่คิดนะ คิดไม่ดี มีความรู้สึกบางอย่างที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ดี มันก็จะมีเสียงในหัวนะ ตำหนิ เสียงในหัวเรานี่ แหละนะ เสียงตำหนิ คิดอย่างนั้นได้ยังไง หรือว่าเธอนี่แย่จริงๆ เลย ทำไมเธอโง่แบบนี้ หรือทำไมมึงโง่แบบนี้ บางทีก็หนักถึงขั้นว่า เนี่ย แกเป็นคนไม่มีคุณค่าอะไรเลย เป็นคนที่ไม่ได้เรื่องเลยสักอย่าง เป็นคนที่ไม่น่ารัก เป็นคนที่ไร้คุณค่า
มันก็มีเสียงอย่างนี้อยู่นะ ไม่ใช่จากนอกตัวหรือจากคนอื่นนะ แต่ว่าเป็นเสียงในหัว ซึ่งหลายคนก็จะรู้สึกแย่เวลามันมีเสียงที่ว่านี้ขึ้นมา โดยเฉพาะเสียงในทางลบ เสียงต่อว่า เสียงกล่าวโทษ เสียงซ้ำเติม บางทีทำผิดก็รู้สึกแย่อยู่แล้วนะ มันก็ยังมีเสียงที่มาโบยตี แกเป็นลูกอกตัญญู แกเป็นลูกที่ไม่ได้เรื่อง แกเป็นศิษย์ที่ไม่เอาไหน ก็เลยรู้สึกแย่เข้าไปใหญ่ รู้สึกผิดแล้วไม่พอ ก็ยังรู้สึกถูกซ้ำเติมด้วยเสียงในหัว หลายคนก็เลยรู้สึกแย่ จิตก็ยิ่งดิ่งลงไปในความทุกข์ความเศร้า หรือการโบยตีตัวเองหนักขึ้น จนรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า
แต่ถ้าเกิดว่ามันมีเสียงในหัวของเราอีกเสียงหนึ่งที่ไม่ได้โจมตี ไม่ได้กล่าวโทษ ไม่ได้ซ้ำเติมเราในเวลาที่เราทำผิดพลาด พลั้งเผลอ หรือเวลาที่เรามีความคิดไม่ดีบางอย่าง เป็นเสียงของความเข้าอกเข้าใจ เหมือนเพื่อน ที่ยอมรับเราทุกอย่างอย่างที่เราเป็น ไม่ว่าจะคิดไม่ดีอย่างไร หรือคิดดีแค่ไหน เขาก็ยังเหมือนเดิม เพื่อนแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องมีในใจของเรา เพื่อนข้างนอกที่เขาเสมอต้นเสมอปลายกับเราไม่ว่าในยามสุขในยามทุกข์ ในยามรุ่งโรจน์หรือรุ่งริ่ง แต่เขาก็ยังเสมอต้นเสมอปลาย ยอมรับเรา อันนี้ถ้าเรามีอยู่รอบตัวก็ถือว่าโชคดี แต่ถึงมีแล้วก็อาจจะยังไม่พอ มันต้องมีเพื่อนภายในด้วย
เพื่อนภายในที่ไม่ใช่ชื่นชมเราหรือว่ายินดีในเวลาที่เราทำดีทำถูก หรือว่าในยามที่เราอัตราพองโต แต่ในยามที่เราทำผิดทำพลาด ในยามที่อัตตาหรือความรู้สึกมันห่อเหี่ยวเพราะว่าทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง หรือว่าล้มเหลวทำงานแล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือไม่ใช่ทำแต่ว่าเพียงแค่คิด ก็ไม่ซ้ำเติม ไม่โบยตี แต่ว่าเข้าใจ ถามว่าจะหาเพื่อนแบบนี้ได้ยังไง จะมีเสียงที่เข้าใจยอมรับเราอย่างที่เราเป็นได้อย่างไร
สิ่งนี้เราสามารถที่จะสร้างขึ้นมา หรือทำให้มีขึ้นได้ในใจของเรา ถ้าเรามีสติเนี่ยนะ สตินี่จะเป็นเพื่อนที่ประเสริฐมากนะ โดยเฉพาะถ้าเป็น สัมมาสติ เพราะว่าสัมมาสติจะมีคุณลักษณะอย่างหนึ่ง ก็คือ การที่ ยอมรับเราอย่างที่เราเป็น ในยามที่มีความคิดใดเกิดขึ้น แม้จะไม่ดี แม้จะมีความรู้สึกบางอย่างที่มันดูน่ารังเกียจในสายตาคนของคนอื่น เช่น ความคิดร้าย ความพยาบาท ความอิจฉา ความเห็นแก่ตัว หรือแม้ กระทั่ง ราคะ โลภะ แต่ว่าสติมันจะมีปฏิกิริยาต่อความคิดและอารมณ์นั้น ด้วยอาการที่เป็นกลาง ไม่ใช่ว่าพอมีความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้นก็มีเสียงด่าตัวเองอยู่ข้างใน
หลายคนเป็นอย่างนั้นนะ พอมีความคิดไม่ดี มันจะมีเสียงด่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองเสียงบ่น อีกแล้วหรือเนี่ย ทำไมเธอคิดร้ายแบบนี้ ทำไมเธอชั่วร้ายแบบนี้ หรือทำไมมึงแย่แบบนี้ แต่ถ้ามันมีเสียงอีกเสียงหนึ่งนะ ที่ไม่วิพากษ์วิจารณ์ไม่บ่น แต่ยอมรับความคิดและทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยใจที่เป็นกลาง สิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้นะถ้าเรามีสติที่เรียกว่า “สัมมาสติ” เพราะว่าสตินี่ นอกจากจะทำให้เรารู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วเนี่ย มันยังมีอีกอย่างหนึ่งนะ ก็คือว่า “รู้ซื่อๆ”
“รู้ซื่อๆ” นี่ก็คือว่า รู้โดยไม่ตัดสินว่าดีหรือชั่ว เป็นความรู้ที่ไม่ยินดีไม่ยินร้าย อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนพูดว่าคิดดีก็ช่างคิดไม่ดีก็ช่าง นี่คือความไม่ยินดีหรือไม่ยินร้าย มันไม่ใช่แค่ว่ามีเสี่ยงชมแล้วก็ไม่ยินดี เพลิดเพลินหลงใหลกับเสียงชมนั้น หรือว่ามีเสียงตำหนิก็ไม่ได้ยินร้าย หรือว่าในยามสุขก็ไม่ได้ยินดีกับความสุขที่เกิดขึ้นในยามทุกข์ก็ไม่ได้ยินร้ายกับความทุกข์ที่เกิดขึ้น เจอสุขเวทนากระทบมาก็ไม่ยินดี เจอทุกขเวทนามากระทบ หรือเกิดขึ้น หรือบีบคั้น ก็ไม่ยินร้าย สัมมาสติมันทำยิ่งกว่านั้นนะ
ก็คือว่าแม้กระทั่งมันมีความคิดบางอย่างเกิดขึ้นในใจ ความคิดไม่ดี ความคิดที่เห็นแก่ตัว หรือเวลาทำผิดทำพลาดขึ้นมาเกิดความรู้สึกผิดขึ้นมา มันก็ไม่ใช่ ซ้ำเติมให้เรารู้สึกย่ำแย่ การรู้ซื่อๆ มันเป็นสิ่งสำคัญ มากที่จะช่วยทำให้ความคิดและอารมณ์อกุศลไม่มาครอบงำจิต เพราะว่าถ้าเรารู้ทันมัน แล้วก็รู้ซื่อๆ เมื่อไร คือไม่ไปผลักไสมัน ไม่กดข่มมัน หรือไม่ปล่อยใจไหลตามมัน มันก็มีอิทธิพลต่อจิตใจเราได้น้อยลง
แต่ขณะเดียวกัน มันก็ช่วยทำให้ใจเราไม่ทุกข์ เราจะทุกข์ก็เฉพาะเมื่อมันมีเสียงซ้ำเติม ธรรมดาคนเรามันก็มีความคิดที่ไม่ดี เป็นธรรมดา ความเห็นแก่ตัว มีอารมณ์ที่เป็นอกุศล แต่ถ้าเกิดว่าเราไม่รู้ทัน หรือถึง รู้ทันแต่ว่าไม่รู้จักการวางใจให้เป็นกลางๆ แบบรู้ซื่อๆ นี่ มันก็จะโบยตีก่นด่าตัวเอง และขณะเดียวกันก็พยายามที่จะไปกดข่มความคิดและอารมณ์นั้น ซึ่งไม่ได้ช่วยให้มันบรรเทาเบาบางลงเลย กลับเป็นการเพิ่ม พลัง หรือต่ออายุให้มัน ยิ่งกดข่มยิ่งผลักไสมันก็ยิ่งมีกำลัง เป็นการให้กำลังกับมัน
ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้จิตใจเป็นทุกข์ เพราะว่าการโบยตีซ้ำเติมตัวเอง โดยเฉพาะถ้ามันเกิดความรู้สึกผิดขึ้นมาว่า เราคิดแบบนั้นอย่างไร เราทำแบบนั้นได้อย่างไร หลายคนไม่รู้จักจัดการกับความรู้สึกตรงนี้ เพราะฉะนั้นก็เลยถูกความรู้สึกผิดมันซ้ำเติมหลอกหลอน และขณะเดียวกัน การก่นด่าซ้ำเติมตัวเองเนี่ย มันก็ยิ่งทำให้เป็นทุกข์หนักขึ้น
บางคนนี่อาจจะเผลอทำไม่ดีกับผู้มีพระคุณ พ่อ แม่ อาจจะด่าว่าท่าน หรือขึ้นเสียงแรงๆ กับท่าน เพราะว่าท่านไม่ได้เชื่อฟังเรา ไม่รู้จักดูแลตัวเองอย่างที่เราแนะนำ หรือบางทีก็อาจจะรำคาญที่ท่านมาจู้จี้ขี้บ่น ก็เลยตวาดไป พอตวาดไปแล้วก็เสียใจ รู้สึกผิด เสร็จแล้วก็มีเสียงซ้ำเติมตัวเอง ซึ่งทำให้แย่
แต่ถ้าเรามีสติ ที่เป็นสัมมาสติ มันก็จะทำให้เรารู้จักรับมือกับความรู้สึกที่ว่านี้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ก็คือว่า แค่รู้ซื่อๆ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับด้วยการวางใจเป็นกลาง แล้วมันไม่ใช่แค่ความรู้สึกผิดอย่างเดียว บางทีมันมีอารมณ์อย่างอื่นขึ้นมา เช่น ความเบื่อ ความรู้สึกว่าว่างเปล่า ความรู้สึกหงอย ความรู้สึกห่อเหี่ยวซึ่งหาสาเหตุไม่ได้
แต่ถ้าเรามีสติรู้ทันมัน ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ นอกจากจะรู้ทันแล้วก็ยังรู้ซื่อๆ ก็คือว่าไม่ไปกดข่มมัน แค่ดูมัน ยอมรับมัน แล้วก็ไม่โบยตีตัวเองด้วยว่า ฉันเป็นอย่างนี้ได้ยังไง ฉันมีความรู้สึกแบบนี้ได้ยังไง ชีวิตฉันมีพร้อมทุกอย่างแล้ว ทำไมฉันยังห่อเหี่ยว ทำไมฉันยังรู้สึกว่างเปล่า หรือว่ารู้สึกไร้คุณค่า
แต่ถ้าเรายอมรับมัน เหมือนกับเพื่อนที่ยอมรับเราทุกอย่างอย่างที่เราเป็น มันก็ช่วยทำให้อารมณ์พวกนี้มันไม่ลุกลาม และช่วยทำให้เราสามารถจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ธรรมดาของใจ เวลามันมีความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้น มีอารมณ์ที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น ถ้าไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว มันก็จะไปผลักไสอารมณ์นั้น ความโกรธก็ดี ความเกลียดก็ดี ความรู้สึกผิดก็ดี แล้วมันก็กดข่มไม่พอ มันก็มีเสียงตำหนิเสียงต่อว่า อันนี้ก็เป็นเพราะความติดดีด้วย
หลายคนติดดี ติดดีก็คือ ไม่ยอมให้หรือยอมรับไม่ได้ที่มีความคิดไม่ดีเกิดขึ้น พอมีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นหรือว่าพอทำผิดทำพลาดก็พยายามปฏิเสธ หรือปฏิเสธไม่พอ ต้องก่นด่า บ่น โบยตีตัวเอง ซึ่งทำให้เป็น ทุกข์มาก บางคนนี่ไม่ได้ทำอะไรผิดพลาดเลย ไม่ได้ขึ้นเสียงพ่อแม่ ต่อว่าพ่อแม่ แต่มันมีเพียงแค่คิดไม่ดีกับท่าน มีหลายคนนี่ทุกข์ทรมานมากเพราะว่ามีความคิดไม่ดีกับท่าน ถึงแม้จะไม่ได้พูดออกไป แค่คิดไม่ดี ก็ทำให้เป็นทุกข์มาก เพราะมันมีเสียงต่อว่าตัวเองอยู่ในใจว่า เธอเป็นคนไม่ดี แกเป็นคนอกตัญญู ไปคิดไม่ดีกับพ่อแม่ได้ยังไง
หรือบางทีมีเสียงจ้วงจาบครูบาอาจารย์ บางทีเสียงจ้วงจาบพระรัตนตรัยก็มีนะ หลายคนเป็นทุกข์มากที่มันมีเสียงอย่างนี้ในหัว แล้วก็ยอมรับที่ตัวเองมีความคิดแบบนี้ไม่ได้ หรือยอมรับไม่ได้ที่มันมีความคิดแบบนี้ในหัวของตัว ก็รู้สึกผิด แล้วก็รู้สึกมีการซ้ำเติมตัวเอง โบยตีตัวเอง จนกระทั่งบางคนอยากจะฆ่าตัวตาย ฉันไม่อยากอยู่แล้วเพราะฉันเลวเหลือเกิน
อันนี้เพราะว่ามันขาดสิ่งที่เรียกว่า “สัมมาสติ” ที่จะช่วยทำให้รับรู้หรือยอมรับความคิดและอารมณ์ต่างๆ ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ไม่ตัดสิน หรือว่าไม่ผลักไส ไม่ไหลตาม เราควรจะมี “สัมมาสติ” ช่วยรักษาใจนะ เพราะไม่อย่างนั้นจะทุกข์มาก สัมมาสติจะเป็นเพื่อนนะ เพื่อนภายในใจ เป็นเพื่อนที่ดีด้วยนะ ที่จะไม่ซ้ำเติมตัวเราในยามที่ทำผิดทำพลาด หรือว่าในยามที่คิดไม่ดี แต่ก็ไม่ใช่ปรนเปรอ หรือว่า ยุยงส่งเสริม เพราะถ้ายุยงส่งเสริมแล้ว มันก็ไม่ใช่ เป็นการรู้ซื่อๆ หรือการวางใจที่เป็นกลาง
มันเป็นความสามารถในการยอมรับตัวเองอย่างที่ตัวเองเป็นได้ แล้วถ้าเรายอมรับตัวเองอย่างที่ตัวเองเป็น แม้ว่าจะมีความไม่ดี มีความผิดพลาดอย่างไร มันก็ทำให้เราสามารถจะเริ่มต้นใหม่ ไม่จมปลักอยู่กับความผิดพลาดในอดีต แล้วมันทำให้พลังฝ่ายบวกสามารถที่จะเติบโตงอกงามขึ้นมาในใจแล้วก็ช่วยทำให้เราทำสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ถูกต้อง ที่พลาดไปแล้วเราก็ไม่ทำอีก หรือไม่ก็สามารถจะแก้ไขให้มันถูกต้องได้ แต่ไม่มาตีอกชกหัว หรือว่าโบยตีตัวเอง
ต้องมีเพื่อนแบบนี้ในใจของเรา ไม่ใช่ว่าจะหวังแต่เพื่อนข้างนอกที่เขายอมรับอย่างที่เราเป็นได้ในทุกกรณี แต่ว่าเราต้องมีเพื่อนในใจ ที่ทำให้เราสามารถจะยอมรับทุกความคิดทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่ปล่อยให้มันมาครอบงำใจ หรือไม่เป็นทุกข์เพราะมัน เพราะจริงๆ แล้วมันก็เป็นธรรมดา
และที่จริงถ้าเรามีสัมมาสติดีพอนะ เราก็สามารถที่จะเปลี่ยนความคิดและอารมณ์ที่ไม่ดีให้กลายเป็นของดีขึ้นมาได้ เพราะมันทำให้เรารู้จักตัวเอง ทำให้เรารู้เท่าทันกิเลส ทำให้เราไม่หลงประมาทตัวเองว่าฉันดีพร้อม ทำให้เรารู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งช่วยทำให้เกิดความระมัดระวังในการไม่ปล่อยใจให้อารมณ์พวกนี้ครอบงำ
เราต้องหานะ หาเพื่อนที่ดีกลางใจของเรา เพื่อนที่ว่านี้ก็คือ “สัมมาสติ” ต้องรู้จักพัฒนาความสามารถในการที่จะยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นในใจด้วยความรู้สึกที่เป็นกลางได้ แล้วสิ่งนี้มันก็จะช่วยทำให้ความรู้สึกลบหรือความคิดลบๆ นอกจากไม่ทำให้เราเป็นทุกข์แล้ว ยังไม่สามารถจะบงการให้เราทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้.