แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 9 มีนาคม 2566
มีชายหนุ่มคนหนึ่ง เป็นนักจิตบำบัดที่ประเทศอังกฤษ ภายหลังย้ายมาหรือกลับมาเมืองไทย เพราะว่าอยากจะมาทำเรื่องสุขภาพจิตในเมืองไทย แกเห็นว่าเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่าย ไม่น่าอาย แล้วก็ทำให้ฟรี ที่เขาอยากทำเรื่องนี้เพราะว่า เดี๋ยวนี้ใครที่มีปัญหาด้านจิตใจ จะไปหาจิตแพทย์ใช้เงินใช้ทองมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศคิดเป็นชั่วโมงเลย ในเมืองไทยจิตแพทย์มีไม่มาก ถ้าจะไปหาก็ต้องใช้เงินใช้ทอง
เขาก็อยากจะมาทำเรื่องนี้ อาจจะไม่ได้ทำเป็นประจำ อยากจะมาเป็นจิตอาสา เขาทำยังไงให้คนเข้าถึงง่าย ก็ไปที่สวนสาธารณะ ในกรุงเทพฯ ก็มีพอสมควร เลือกจุดที่สงบๆ หน่อยบนสนามหญ้า แต่ก็พอจะมีคนเดินผ่านไปผ่านมาบ้าง แล้วก็เลือกตรงนั้นเป็นจุดที่เขาเรียกว่า จุดพักใจ จุดพักใจ ปูเสื่อ แล้วเขาก็นั่ง นั่งรอคน มีป้ายตั้งเอาไว้บนสนามหญ้า เขียนว่า "ใครมีอะไรในใจ วันนี้เขื่อนนั่งอยู่ตรงนี้เพื่อรับฟังนะครับ" เขื่อนคือชื่อเล่นของชายหนุ่มคนนี้ แล้วในป้ายก็เขียนบอกว่า ถ้าอยากนั่งนิ่งๆ ด้วยกัน ก็ได้นะครับ
ปรากฏว่ามีคนที่สนใจมานั่งบนเสื่อ แล้วก็มาพูดคุย สิ่งที่เขื่อนเขาตั้งใจทำคือ แค่ฟังเฉยๆ ฟังเฉยๆ เพราะว่าคนที่มีความทุกข์จำนวนไม่น้อยเลย ถ้าเขาได้พูด ได้ระบาย หรือว่าได้เล่าแล้วมีคนฟัง เขาก็จะรู้สึกดีขึ้น ขอเพียงแค่ว่าคนฟัง ฟังกันด้วยความตั้งใจ แล้วก็ไม่ตัดสิน เขาก็มีกติกา แล้วบอกให้ใครๆ รู้ ว่าที่มาคุยมาเล่านี่ จะถือเป็นความลับ จะไม่บอกใคร แล้วให้จบลงตรงนี้ คือคุยเสร็จก็จบ จะไม่มีการไปบอกไปเล่า ไปขยายความต่อ แล้วก็เพื่อทำให้บรรยากาศดูเป็นมิตรหน่อย ก็เตรียมน้ำต้อนรับ มีพัดลมเล็กๆ เพราะว่าสนามหญ้าบางทีก็ร้อน มีพัดลมเล็กๆ คอยปัดเป่าความร้อน พัดลมปัดเป่าความร้อนกาย ส่วนจิตที่ตั้งใจฟังก็ช่วยปัดเป่าความทุกข์ในใจ มีหลายคนสนใจ ทีแรกก็งงๆ ว่าเอ๊ะอะไรนะ แต่พอรู้ว่าเขื่อนเขาเป็นมิตร เขาพร้อมจะฟัง คนที่มาเยือนก็เล่า เล่าเรื่องที่ไม่สบายใจ ความเครียด ความวิตกกังวล ความกลัว
เดี๋ยวนี้มีคนไม่น้อยที่เป็นโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าก็รู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง ไม่กล้าที่จะคุยกับใคร อันนี้เป็นปัญหาคนมีความทุกข์ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้านี่ ไม่อยากจะให้ใครรู้ รู้สึกอาย แต่เขื่อนเขาบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าอาย เขายินดีรับฟัง บางคนก็มาเป็นคู่ เขาอาจจะมีความขัดแย้งกันระหว่างคู่ชีวิต พอได้เล่าได้ระบาย หลายคนก็มีความสุข มีบางคนก็สวมกอดเขื่อนเลย บอกขอบคุณมาก แล้วเขาอดทน นั่งตั้งแต่เช้าจนค่ำ โดยที่ไม่ได้อะไรเลย เรียกว่าเป็นจิตอาสาที่น่าสนใจมาก แล้วก็ทำคนเดียวด้วย
ที่จริงถ้าเขาไปทำมาหาเงิน ด้วยการเป็นนักจิตบำบัดตามโรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็คงได้เงินเยอะ แต่ว่าเขาใส่ใจที่จะสละเวลา มาช่วยเยียวยาความทุกข์ของผู้คน เขาไม่ได้ทำทุกวัน คงจะต้องไปทำอาชีพของตัวในฐานะนักจิตบำบัดที่โรงพยาบาล แต่ว่าก็เป็นคนที่มีน้ำใจ เห็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลก็ได้ เรื่องการเยียวยาจิตใจคน ควรจะเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย แล้วก็ฟรี แล้วสิ่งที่เขาทำก็ไม่มีอะไร เเค่ฟัง ฟังด้วยความตั้งใจ ด้วยความเป็นมิตร แล้วก็ไม่จำเป็นต้องให้คำแนะนำ ไม่ต้องบอก ไม่ต้องสอน แค่ฟังอย่างเดียวก็ช่วยได้เยอะ วิธีนี้ได้ผล ได้ผลดีด้วย
ที่อัฟริกามีประเทศหนึ่ง ประเทศซิมบับเว ชาวบ้านเขามีปัญหา ทั้งชาวเมืองหรือคนในชนบท มีปัญหาความเครียด แล้วโรคที่เป็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ คือโรคซึมเศร้า แต่จิตแพทย์เขามีน้อยมาก บางคนก็ไม่มีเงินจะไปหาหมอไปหานักจิตบำบัด เพราะอยู่ไกล ค่ารถแค่ร้อยสองร้อยก็ไม่มีปัญญาแล้ว
มีจิตแพทย์คนหนึ่งจัดทำโครงการง่ายๆ ชื่อว่า ม้านั่งมิตรภาพ คือให้คุณยายนี่แหละ มานั่งตรงม้านั่ง แล้วก็เปิดโอกาสให้ใครที่มีความทุกข์ ในหมู่บ้านหรือในเมืองนี้ มานั่งด้วย แล้วก็เล่าความทุกข์ คุณยาย คุณย่าก็ทำหน้าที่เพียงแค่ฟังอย่างเดียวเลย แต่ว่าก่อนที่จะมาเป็นจิตอาสา เขามีการอบรมสักหน่อย เพื่อให้เข้าใจถึงสภาพจิตใจของคนที่มีความทุกข์ แล้วคุณย่าคุณยายแกไม่ต้องทำอะไร แกก็ฟังด้วยความใส่ใจ แล้วก็ไม่ได้ให้คำแนะนำอะไร อาจจะถาม เพื่อช่วยให้คนพูดหรือคนที่มีความทุกข์ เข้าใจปัญหาตัวเองดีขึ้น แล้วก็พบว่าหลายคน พบคำตอบด้วยตัวเอง แล้วก็สามารถที่จะบรรเทาความเครียดความทุกข์ได้
ตอนหลังม้านั่งมิตรภาพนี่ แพร่กระจายไปหลายอำเภอ หลายเมือง หลายจังหวัด กระจายไปยังประเทศอื่นด้วยในอัฟริกา มันช่วยลดความทุกข์ของคนได้มากเลย โดยที่ไม่ต้องอาศัยจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด ที่ต้องไปเรียนกัน 3, 4, 5 ปีหลังจากจบมหาวิทยาลัย แต่ว่าอาศัยชาวบ้านที่เขามีทักษะทางด้านการพูดการคุย หรือว่ามีความเป็นมิตร มีใจให้ แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว โดยเฉพาะความมีน้ำใจและความเข้าใจคนทุกข์คนยาก แล้วเรื่องการฟัง จริงๆแล้ว มีอานิสงส์มากเลย ขอเพียงแต่คนฟัง ฟังด้วยความตั้งใจ มีความเป็นมิตร
ที่จริงแม้กระทั่งในบ้าน ครอบครัว ถ้าพ่อแม่ฟังลูก ฟังมากๆ แทนที่จะเอาแต่สั่งแต่สอน หรือว่ายัดเยียดความปรารถนาดีให้ลูก ฟังซะบ้าง ฟังว่าลูกเขามีความทุกข์อย่างไง ฟังโดยไม่ต้องตัดสินว่าดีชั่ว ฟังด้วย ความเห็นอกเห็นใจ แล้วบางทีไม่ต้องแนะนำอะไร หรือฟังแม้กระทั่งเขามีความปรารถนาอะไรในชีวิต เขามีจุดมุ่งหมายอะไร ไม่ใช่ไปยัดเยียดอะไรต่ออะไรให้เขา ด้วยความปรารถนาดีว่า นี่คือชีวิตที่ดีของเขา แต่ว่าสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ ลูกมีอะไรบ้าง บางทีพ่อแม่ไม่รู้เลย พ่อแม่จำนวนมากเดี๋ยวนี้ไม่รู้เลย ว่าลูกมีความปรารถนาอะไรในชีวิต เขาอยากเป็นอะไร พอไม่ได้ฟังกัน แล้วก็มีแต่ยัดเยียด คนที่เป็นทุกข์มากก็คือลูกนั่นแหละ แล้วเดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นพวกวิตกกังวล เป็นพวกซึมเศร้ากันมากมาย เพราะมีความทุกข์แล้วไม่รู้จะระบายกับใคร อับอาย หรือไม่ไว้วางใจ
ฉะนั้นเวลาใครมีความทุกข์อะไร เพียงแค่เราเปิดใจฟังเขา ก็ช่วยเขาได้เยอะเลย.