พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 9 มีนาคม 2566
อาตมารู้จักโยมคนหนึ่งชื่อประเวศ อายุก็ไล่ๆ กับอาตมา คุณประเวศเป็นคนที่ศรัทธาในพุทธศาสนามากแล้วก็ใฝ่ในการทำบุญ แล้วการทำบุญที่คุณประเวศทำมาตลอดสิบกว่าปี ซึ่งหาคนทำอย่างนั้นไม่ค่อยได้ ก็คือการอุปัฎฐากพระแล้วก็แม่ชีชาวต่างชาติ
โดยเน้นเรื่องการรับส่ง เพราะว่าเวลาพระหรือแม่ชีชาวต่างชาติมาเมืองไทยก็ดี มากรุงเทพก็ดี ก็จะมีปัญหาเรื่องการรับการส่ง ไปไม่ถูกว่าจะไปไหน คุณประเวศก็รับอาสามารับพระหรือแม่ชีจากต่างประเทศ บางทีก็ไปรับที่ดอนเมืองบ้าง ที่สุวรรณภูมิบ้าง แล้วก็พาไปสำนักที่เขาเกื้อกูลต่อพระภิกษุสงฆ์และแม่ชี บางทีพระต่างชาติจะมากรุงเทพ คุณประเวศก็ช่วยขับรถมารับไปส่ง
พระต่างชาติที่สุคะโตนี้ก็หลายท่านได้รับความเอื้อเฟื้อจากคุณประเวศ เช่นท่านอุปสรรตะตอนที่ท่านอุปสรรตะมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อนไม่รู้จักใครเลย แต่มีคนแนะนำให้ติดต่อคุณประเวศ คุณประเวศก็เข้ามารับที่สนามบิน แล้วตอนหลังก็พามาส่งที่สุคะโต เวลาท่านอุปสรรตะจะเข้ากรุงเทพบางทีคุณประเวศก็ขับรถมารับ มารับที่นี่แล้วก็พาเข้ากรุงเทพไปโรงพยาบาลมั่ง หรือไม่ก็ติดต่อหน่วยราชการ บ้าง ถึงเวลาจะกลับ คุณประเวศก็ขับรถพามาส่ง
อาตมาก็เคยได้รับบริการจากคุณประเวศอาสามารับมาส่งช่วงที่โควิดระบาด แล้วการสัญจรด้วยเครื่องบิน ด้วยรถทัวร์มันไม่สะดวก มีความเสี่ยง แล้วคุณประเวศเมื่อเร็วๆ นี้ก็เล่าว่าไปรับพระชาวเยอรมันซึ่ง เดินทางจากภูเก็ตมาลงดอนเมือง แล้ววันรุ่งขึ้นก็จะต่อไปไต้หวัน คุณประเวศไม่รู้จักพระรูปนี้หรอกนะแต่ว่ามีคนติดต่อก็เลยไปรับที่ดอนเมือง ก็เลยมีการสนทนาพูดคุยกันก็ทราบว่า พระชาวเยอรมันท่านนี้ซึ่ง อายุสี่สิบสองปีบวชมาแล้วสิบสองพรรษา ก็อยู่ในสำนักของพระป่าสายธรรมยุต
พระเยอรมันนี่ท่านก็เล่าว่า ตั้งแต่บวชมาใหม่ๆ เลยนะครูบาอาจารย์ก็พาธุดงค์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวเยอรมันซึ่งเพิ่งมาเมืองไทยเป็นครั้งแรก ข้าวปลาอาหารก็ไม่คุ้นเคย การธุดงค์ก็เป็นเรื่องที่อย่าว่าแต่ฝรั่งเลย คนไทยก็รู้สึกลำบากแต่ครูบาอาจารย์ก็พาท่านธุดงค์เป็นประจำ จนกระทั่งท่านเห็นคุณค่าของการธุดงค์ ตอนหลังก็ธุดงค์เองเลยนะ หรือไม่ก็ไปกับเพื่อนชาวต่างชาติ มีทั้งธุดงค์ในเมืองไทยจาก เหนือจดใต้ หรือว่าธุดงค์ตามชายแดน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีป่าเขาหนาแน่น
มีคราวหนึ่งก็หลงเข้าไปในเขตพม่าซึ่งก็มีการสู้รบกันแล้วก็มีความหวาดระแวงกันมาก ทหารพม่าก็มาจับตัวท่านไป แต่พอรู้ว่าเป็นพระที่บวชในเมืองไทยก็พามาส่งที่ชายแดน แล้วท่านบอกว่า การไปธุดงค์นี่ ก็ทั้งที่ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรฉัน แล้วก็จะมีฉันหรือไม่ ฉันพอหรือเปล่า แต่ว่ามันก็ให้บทเรียนที่ดี ได้ฝึกที่จะอยู่กับความยากลำบาก รวมทั้งได้เรียนรู้ที่จะรับมือกับความกลัว ความไม่ปลอดภัยที่เกิดจากคน หรือที่จะเกิดจากสิงห์สาราสัตว์
ความทุกข์เหล่านี้ก็สอนท่าน ไม่ใช่เพียงแต่มีความอดทน แต่ฝึกใจให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดติดในความสะดวกสบาย รวมทั้งให้รู้จักวางใจรับมือกับความกลัว หรือว่าความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ใช่เฉพาะความยากลำบากจากภายนอก
แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านประทับใจ ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกับพระชาวต่างชาติที่มาบวชเมืองไทยคือว่า เมืองไทยนี่นะเหมือนกับเป็นแดนสวรรค์เลยสำหรับพระชาวต่างชาติ เพราะว่าคนไทยมีน้ำจิตน้ำใจมาก มีความ ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อโดยเฉพาะเมื่อเห็นพระก็พร้อมจะอุปัฏฐากดูแล เวลาเดินธุดงค์ไปไหนหรือไปบิณฑบาตที่ไหนไม่ต้องห่วงเลยนะว่าจะไม่มีอะไรขบฉัน ญาติโยมที่รู้ก็จะเอาอาหารมาถวาย
เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเจอความยากลำบากอย่างไร แต่ว่าอย่างน้อยก็รู้ว่า หรือแน่ใจว่าจะมีอาหารขบฉัน รวมทั้งมีที่พัก แต่ท่านก็คิดว่า สิ่งหนึ่งที่ท่านอยากจะเรียนรู้ ก็คือว่าเรียนรู้ที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนบ้าง เพราะว่าอยู่เมืองไทยแม้จะธุดงค์ตามป่าเขา แต่ว่าก็ยังมีความสะดวกสบาย มีความมั่นใจว่าญาติโยมจะอุปัฏฐากดูแล ก็เลยอยากจะไปเรียนรู้กับการเผชิญกับความไม่แน่นอน ก็เลยอยากจะไปธุดงค์หรือว่า ไปจาริกในประเทศที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา หรือไม่ได้นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท
ท่านบอกเคยจาริกธุดงค์ไปที่ประเทศบ้านเกิดคือเยอรมัน แต่ตอนนี้ก็อยากจะจาริกธุดงค์ไปยังประเทศที่นับถือพุทธแต่เป็นมหายาน ก็เลยเลือกที่จะไปไต้หวัน คุณประเวศก็เลยถามว่า พรุ่งนี้เมื่อบินไปไต้หวันมีใครมารับหรือเปล่า บอกไม่มี ไม่รู้จักใครเลยที่นั่น แล้วทำไง ก็พอถึงสนามบินก็เริ่มจาริกธุดงค์เลย ไม่รู้จักใครก็ดีเหมือนกันนะ เพราะว่าจะได้เจอกับความไม่แน่นอนบ้าง
และได้เรียนรู้ถึงสัจธรรมที่ว่าไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืนหรือแน่นอนไม่รู้ว่าจะได้มีอาหารขบฉันหรือเปล่า แล้วท่านก็เคร่งนะ ไปต่างประเทศนี่ไม่ได้พกเงินไปเลย ท่านไม่มีพวกเครดิตการ์ดอะไรทั้งสิ้น ไปไต้หวันนี่ไม่รู้จักใคร ไม่มีใครมารับแล้วก็ไม่พกเงิน เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้าแท้ๆ เรียกว่าต้องการไปเผชิญกับความไม่แน่นอน
ท่านบอกอยู่เมืองไทยมันสบาย ขนาดท่านใช้ชีวิตแบบพระป่า เมืองไทยน่ะสบายอยากจะไปเจอกับความไม่สบายความไม่สะดวกบ้าง เมืองไทยมีความแน่นอนหลายอย่าง แต่ว่าไต้หวันนี่ไม่รู้เลยนะว่าจะมีอะไรกินหรือเปล่าในวันนี้ แต่ว่านี่แหละเป็นบทเรียนที่จะฝึกจิตฝึกใจ
ได้ฟังที่ท่านเล่าก็น่านับถือนะ คือท่านเข้าใจจุดมุ่งหมายของการบวชว่าเพื่อฝึกฝนตน การฝึกฝนตนส่วนหนึ่งก็คือ นอกจากการรู้จักเผชิญความยากลำบาก ยังรวมไปถึงการที่พร้อมจะออกจากที่ที่สะดวกสบาย ออกจากที่ที่มีความแน่นอนไปสู่ที่ที่ไม่แน่นอน แล้วก็ไม่รู้ว่าจะสะดวกสบายหรือเปล่า เรียกว่าเป็นการเข้าหาทุกข์เลยนะ
แค่การเผชิญกับทุกข์ที่มีอยู่ อันนี้มันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่พอสามารถที่จะพบกับความสุขสบายแล้วก็ยังอยากจะไปเรียนรู้เผชิญกับความทุกข์ข้างหน้า อันนี้แสดงว่าเป้าหมายของท่านนี่ชัดเจนนะ คือการ บวชก็ดีหรือการมีชีวิตก็ดี คือเพื่อฝึกฝนตน คนเราจะฝึกฝนตนได้ก็ต้องเจอกับความยากลำบากเจออุปสรรค เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะให้บทเรียนรวมทั้งสอนจิตสอนใจ
คนเราก็ไม่น้อยมีชีวิตเพื่อปรนเปรอตน อันนี้เป็นวิสัยของชาวโลกเลยนะ ชาวโลกมีชีวิตก็เพื่อปรนเปรอตน ไปที่ไหนก็อยากจะหาสิ่งปรนเปรอตน เพราะอะไร เพราะว่าต้องการความสะดวกสบาย เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามแสวงหาอะไรก็ตามมาปรนเปรอตน อาจจะเริ่มจากสิ่งจากหยาบๆ เช่น รสกลิ่นเสียงสัมผัสที่น่าพอใจ อาหารที่อร่อยเพลงที่เพราะที่อยู่ที่สะดวกสบาย อากาศที่เย็นสบาย เรียกว่าปรนเปรอตนด้วยกามคุณ 5
แต่ว่าคนที่มีปัญญาหน่อยนะก็จะพบว่า การปรนเปรอตนด้วยกามคุณ 5 มีแต่จะทำให้ชีวิตมีแต่ความทุกข์ อย่างที่พูดไปแล้วเมื่อวานว่ามันก็สุขชั่วคราว แต่ว่าทำให้เกิดทุกข์ยาวนาน ก็เข้าหาสิ่งอื่นที่มันประณีตกว่า แต่ว่าก็วัตถุประสงค์ก็คล้ายๆ กันคือเพื่อความสบาย
ปรนเปรอตนสำหรับบางคนก็คือการไปหาที่ที่มันสบาย ที่ๆ มันสะดวกถึงแม้ว่าจะไม่มีกามคุณ 5 ที่พรั่งพร้อม แต่ว่าก็อยากจะได้ความสะดวกสบาย ที่ดีหน่อยก็คือหาความสงบ ไปอยู่ในที่ที่มันสงบ แต่ทั้งหมดนี้ จะว่าไปก็เป็นการปรนเปรอตนอย่างหนึ่งนะ เพราะว่าจุดหมายคือเพื่อความสบาย อันนี้พอมีอะไรที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกไม่สบายขึ้นมา หรือเกิดความยากลำบากขึ้นมา ก็จะเกิดความทุกข์ เพราะว่า ติดในความสบาย ก็จะพยายามขจัดสิ่งเหล่านั้นออกไป
อะไรที่ไม่ถูกใจก็อยากจะจัดการให้มันหายไปจากชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์สิ่งของเหตุการณ์ อันนี้เป็นวิสัยของชาวโลกต้องการแสวงหาสิ่งที่ถูกใจ เพราะชีวิตมุ่งที่การปรนเปรอตน แต่ว่าสำหรับผู้ใฝ่ธรรมในชีวิตนี่เป็นไปเพื่อการฝึกฝนตน
เพื่อฝึกฝนตนก็หมายความว่าพร้อมที่จะเผชิญกับความยากลำบาก เวลาเจอความยากลำบาก เจอคนสัตว์สิ่งของที่ไม่ถูกใจก็ไม่โวยวาย ไม่ตีโพยตีพาย แทนที่จะมุ่งขจัดสิ่งเหล่านั้นให้ออกไปจากชีวิต หรือให้มันพ้นหูพ้นตา ก็กลับมองว่า เราจะอาศัยมันมาช่วยในการฝึกฝนตนได้อย่างไร เริ่มต้นตั้งแต่การฝึกใจไม่ให้ทุกข์เมื่อเผชิญสิ่งนั้น หรือสามารถอยู่กับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์
ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนลมหนาว ผู้คนที่ไม่น่ารักอาหารที่ไม่อร่อยไม่ถูกใจ หรืองานการที่มากมาย สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกใจผู้คนที่ปรารถนาความสะดวกสบาย ผู้ที่ปรารถนาการปรนเปรอตนก็จะ พยายามที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ให้หมดไปจากชีวิต แต่ว่าผู้ที่เน้นเรื่องการฝึกฝนตน
นอกจากจะฝึกใจให้อยู่กับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์แล้ว ยังมุ่งที่จะหาประโยชน์จากมันด้วย คืออาศัยความทุกข์อาศัยความยากลำบากมาเป็นเครื่องฝึกให้เห็นความจริง ว่า สัจธรรมความจริงเป็นอย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้น เวลารู้สึกว่าอยู่ที่ใดที่เคยยากลำบากแต่พออยู่ไปๆ จนกระทั่งปรับตัวได้กลายเป็นสบายก็จะไม่พอใจเท่านี้ แต่ว่ายังคิดต่อไปว่า เราจะเดินหน้า หรือจะเข้าไปหาความทุกข์ได้อย่างไร เพื่อให้ความ ทุกข์มาสอนตนให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับทุกขเวทนาได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ หรือว่าใช้ความทุกข์นั้นมาสอนใจ
อย่างเช่นคนที่เจอความเจ็บความป่วย ทีแรกก็อยู่กับความป่วยทางกายด้วยใจที่ไม่ทุกข์ แต่ต่อมาก็รู้จักหาประโยชน์จากความเจ็บป่วย คือเรียนรู้ว่าความเจ็บป่วยเขาสอนอะไร
อย่างที่อาจารย์พุทธทาสบอกว่า ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาดในสังขาร ให้เห็นว่าสังขารคือตัวทุกข์ ยึดมั่นถือมั่นกับมันไม่ได้ หรือว่าให้เห็นว่า สังขารไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราเลย อันนี้คือการเขยิบจากการที่อยู่กับความเจ็บป่วยด้วยใจที่ไม่ทุกข์ มาเป็นการหาประโยชน์จากความเจ็บป่วย ให้มันสอนธรรม
หลวงพ่อคำเขียนพูด ตอนที่ท่านป่วยครั้งแรกเพราะโรคมะเร็งอยู่โรงพยาบาลนานทีเดียว ท่านก็บอกว่า อยู่โรงพยาบาลนี่สบายเลยนะมีคนทำทุกอย่างให้หมด มีแต่นอนอยู่บนเตียง ที่เหลือมีคนทำให้หมดเลย ท่านบอกไม่ต้องทำอะไรแล้วที่เหลือก็แค่ให้แค่ดูไตรลักษณ์มันโชว์ให้เราเห็น
ไตรลักษณ์คือ อนิจจังทุกขังอนัตตา มันโชว์ให้เราเห็น ไม่ต้องทำอะไรแค่ดูสังขารมันแสดงไตรลักษณ์ให้เราเห็น อันนี้ก็เรียกว่าหาประโยชน์จากความเจ็บป่วย หรือหาประโยชน์จากความทุกข์ เพราะฉะนั้นในยามที่ชีวิตมันสบายแล้วก็จะไม่พอใจเท่านั้น แต่ว่าขยับไปหาความทุกข์ เพื่อที่จะให้ความทุกข์สอนจิตใจ อันนี้เป็นวิสัยของผู้ใฝ่ธรรม คือมุ่งฝึกฝนตน
เวลาเดินธรรมยาตรา หลายคนก็สงสัย ถามว่าทำไมต้องทำให้มันยากลำบาก ทำไมไม่ขับรถนั่งรถไปตามหมู่บ้านต่างๆ ทำไมต้องเดิน เหตุผลหนึ่งก็คือ การเดินนี่มันเป็นการพาเราเข้าสู่ความยากลำบาก นั่ง รถมันสบาย ในสมัยนี้คนเราก็เชิดชูความสบาย ก็เลยไม่เห็นประโยชน์ของความยากลำบาก
แต่ที่จริงความยากลำบากมาสอนเรา สอนเราให้ไม่เพียงแต่มีความอดทน ให้รู้จักอยู่ง่ายกินง่าย แล้วก็เห็นคุณค่าของร่มเงา เวลาแดดมันแรงเวลานั่งรถยังไม่เห็นคุณค่าของร่มเงาจากต้นไม้ แต่เวลาเดินด้วยเท้ามันจะซาบซึ้งใจมากเวลาเห็นร่มเงาต้นไม้ จะรักต้นไม้ขึ้นมาก หรือช่วยฝึกให้อยู่ง่ายกินง่าย
แต่บางคนก็คิดว่า มันต้องยากลำบากกว่านั้น แทนที่จะเดินด้วยรองเท้าก็ถอดรองเท้าเดินเท้าเปล่า แทนที่จะหาอะไรคลุมหัวก็ไม่ต้องมีอะไรคลุมหัว อันนี้ไม่ใช่เพื่อทรมานตนนะ แต่เพื่อที่จะเรียนรู้ว่าเวลาเท้า เหยียบหินเกิดทุกขเวทนาขึ้น เพราะความเจ็บ หรือเพราะความร้อนทำยังไงนะใจจึงไม่ทุกข์ไปกับกาย หรือเวลาหัวโดนแดดเผาทำยังไงมันจะร้อนเฉพาะกายแต่ใจสงบเย็น ก็ใช้ความทุกข์นั้นเป็นโอกาสในการฝึกฝนตน
สำหรับคนที่มุ่งปรนเปรอตนนี่ก็จะไม่เข้าใจนะ ทำไมต้องมาทำอย่างนั้น แต่สำหรับคนที่ชีวิตนี้เป็นไปเพื่อการฝึกฝนตนก็จะเดินหน้าเข้าหาความยากลำบาก เดินหน้าเข้าหาความทุกข์ อันนี้มันเป็นความแตกต่าง วิสัยชาวโลกเขาก็เน้นเรื่องการปรนเปรอตน มีอะไรที่ไม่ถูกใจก็พยายามกำจัดออกไป ผลักไสให้มันออกไปห่างๆ เรียกว่าให้พ้นหูพ้นตา ใครทำตัวไม่น่ารักก็ต้องการผลักไสออกไป แดดร้อนก็จัดการเปลี่ยน ให้มันกลายเป็นลมที่เย็นสบาย
หลายคนเวลามาวัดบางทีแม้จะมาบวชแล้วก็ตาม แต่บางทีก็ยังคิดแบบฆราวาส คือพอเจออะไรที่ไม่ถูกใจก็อยากจะผลักไสออกไป ขณะเดียวกันก็บ่นโวยวายตีโพยตีพายไม่พอใจ อันนี้เพราะมาด้วยใจที่มา ด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการปรนเปรอตน เพียงแต่ว่าแทนที่จะปรนเปรอตนด้วยกามคุณ ก็ปรนเปรอตนด้วยความสงบความสบาย พออะไรที่มันทำให้ใจไม่สงบ อะไรที่มันทำให้ไม่สบายก็ไม่พอใจ แล้วก็พยายามที่จะจัดการหรือว่าผลักไสมันออกไป
แต่ถ้ามาวัดเพราะต้องการฝึกฝนตนจะมีท่าทีหรือความรู้สึกอีกแบบหนึ่งคือ ไม่บ่นไม่โวยวาย ถือว่าเขามาเพื่อฝึกฝนเรา เขามาเพื่อสอนเราให้ได้เรียนรู้ที่จะรักษาใจให้เป็นปกติได้อย่างไรแม้จะเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจ แทนที่จะกำจัดสิ่งที่ไม่ถูกใจออกไป ก็หันมาเน้นที่การปรับใจให้ถูกต้อง
อย่างที่พูดไว้เมื่อสองวันก่อน การที่คนเราจะทำให้มันมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกใจ มีผู้คนทุกคนรอบตัวเราที่ถูกใจเรานี่มันเป็นไปไม่ได้ อาจจะเป็นไปได้ชั่วครู่ชั่วยาม แต่ว่ามันไม่สามารถจะเป็นไปได้นาน แต่ว่าวิสัยชาวโลกก็ต้องพยายามกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกไป อะไรที่ไม่ถูกใจก็กำจัดออกไป ไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์สิ่งของเหตุการณ์
แต่ว่าคนที่มุ่งฝึกฝนตน เขาจะเรียนรู้ที่จะปรับใจตัวเองให้ถูกต้อง ไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ให้ถูกใจ แต่มุ่งปรับใจให้ถูกต้อง ถูกต้องคืออะไรก็คือว่าใจเป็นปกติไม่ทุกข์ไม่กังวลไม่โกรธไม่เครียดไม่เกลียดไม่รู้สึกเป็นลบ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ แต่เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายมันจึงเป็นเรื่องที่ต้องฝึก พอฝึกไปๆ ก็ทำได้ สิ่งที่ไม่ถูกใจแม้จะมีอยู่รอบตัวแต่ว่าก็สามารถปรับใจให้ถูกต้อง ก็ไม่ทุกข์
เพราะฉะนั้น พอเจออะไรที่ไม่ถูกใจอยู่รอบตัว ก็ไม่ได้บ่นโวยวายตีโพยตีพาย แต่ว่าเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ทีแรกเพื่อฝึกใจไม่ให้ทุกข์ เพื่อปรับใจให้ถูกต้อง ต่อไปก็หาประโยชน์จากมัน เอามาเป็นเครื่องสอนใจให้เข้าใจสัจธรรมความจริงว่า มันไม่มีอะไรที่เราจะควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างแท้จริง
ต่อไปถ้าถึงเวลาที่จะเจริญสติทำสมาธิหรือทำกรรมฐาน ก็ไม่ได้ปรารถนาว่าจะต้องมีความคิดหรืออารมณ์ที่ถูกใจเกิดขึ้น มันจะมีความฟุ้ง มันจะมีความโกรธ มันจะมีความหงุดหงิดเกิดขึ้น ก็ไม่ได้ฮึดฮัด ขัดเคือง แต่ว่าเรียนรู้ที่จะรับมือกับมันอย่างไรด้วยใจที่ไม่ทุกข์ หรือใช้มันมาสอนใจ คือฝึกใจให้รู้จักรู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ มันจะมามากมายเพียงใดเราก็แค่รู้เฉยๆ คือวางใจเป็นกลางไม่ใช่ว่าโวยวายหรือหงุดหงิดเสียใจว่า ทำไมฟุ้งเยอะเหลือเกิน ทำไมมีความคิดลบเยอะเหลือเกิน อยากจะกำจัดความคิดเหล่านั้นออกไป อันนี้ก็แสดงว่ายังอยู่ในความคิดที่จะปฏิบัติเพื่อปรนเปรอตน ด้วยความคิดและอารมณ์ที่น่าพึงพอใจ หรือที่ถูกใจ
คนที่มุ่งฝึกฝนตนเขาจะไม่เป็นทุกข์กับเหตุการณ์หรืออารมณ์ความคิดเหล่านั้นเลย เพราะมองว่ามันมาฝึกเรา อย่างที่หลวงพ่อเทียนท่านบอกว่า คิดมากมันก็ดีนะเพราะคิดมากมันก็ทำให้รู้ ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ ยิ่งคิดก็คือหมายความว่ายิ่งฟุ้งซ่านก็ยิ่งรู้ตัว รู้ทันความคิดมากขึ้น
บางทีเราลองถามตัวเองนะว่า ที่เรามาวัดนี้เพื่อฝึกฝนตนหรือเพื่อปรนเปรอตน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ปรนเปรอตนด้วยกามคุณ 5 รูปรสกลิ่นเสียงที่น่าพอใจเราแต่เราอยากจะปรนเปรอตนด้วยความสะดวกความ สบายความสงบ พออะไรที่มันไม่สงบ อะไรที่มันไม่ถูกใจก็ฮึดฮัดขัดเคืองไม่พอใจ มีความโกรธเคืองขึ้นมา อันนี้เรียกว่าก็ยังอยู่ในในวิสัย หรือในวิธีการคิดแบบชาวโลก เพราะว่าพอคิดแบบนี้เข้า หรือเริ่มรู้สึก แบบนี้เข้าก็คิดแต่จะกำจัดสิ่งที่ไม่ถูกใจออกไปจากชีวิตให้มันพ้นหูพ้นตาเรา
แต่ผู้ที่มุ่งฝึกฝนตน จะไม่บ่นไม่โวยวาย อะไรที่ไม่สงบ อะไรที่มันหาความแน่นอนไม่ได้กลับมองว่าเป็นดี เหมือนกับพระเยอรมันที่เห็นว่ามาเมืองไทยมันสบายต้องไปที่อื่นที่มันลำบากมั่ง ต้องไปหาที่ที่มัน ยากลำบาก ที่ที่มันไม่แน่ไม่นอน ที่มันทำให้วิตกกังวล เพราะนั่นแหละจะเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกฝนตนได้อย่างดี.