พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 12 มีนาคม 2566
หลายคนมาวัดป่าสุคะโตวันนี้ ด้วยความรู้สึกสบายใจ เพราะว่าจะได้มีโอกาสพักใจเป็นเวลาหลายวัน หลังจากที่ได้ทำงานเหนื่อย แล้วก็เจออะไรต่ออะไรมากมายมาตลอดหลายเดือน หรือบางทีอาจจะต่อเนื่องมาเป็นปีแล้วก็ได้ แต่บางคนก็อาจจะมาด้วยความรู้สึกไม่มั่นใจ โดยเฉพาะคนที่เพิ่งมาครั้งแรก แม้ว่าตอนที่ตัดสินใจมา อาจจะรู้สึกอยากจะได้มาเรียนรู้สิ่งสำคัญของชีวิต จะได้มีโอกาสมาปฏิบัติธรรมเสียที
หลังจากที่ผัดผ่อนมานาน หรือหลังจากที่ไม่มีโอกาสหรือหาโอกาสไม่ได้
แต่พอมาแล้ว ได้มาเห็นสถานที่ แล้วก็ได้มารับรู้ว่าต้องทำอะไร หรือเจออะไรต่อไปในอีก 7 วันข้างหน้า ก็อาจจะรู้สึกกังวลว่าเราจะไหวไหมหนอ ก่อนมาอาจจะไม่ได้คิดอะไร เพราะว่ามันมีอะไรต่ออะไรให้คิด งานการก็ดี เรื่องที่บ้าน เรื่องลูก เรื่องพ่อแม่ ก็เลยไม่ได้คิดใคร่ครวญว่าเมื่อมาปฏิบัติที่วัดป่าสุคะโตแล้ว จะต้องมาเจออะไรบ้าง โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยมาปฏิบัติในลักษณะนี้ อาจจะเคยปฏิบัติสักวันละไม่กี่นาที แล้วบางทีก็ทำได้ไม่ครบอย่างที่ตั้งใจ แม้เวลาก็แค่ 10 นาที 15 นาที ก็เผลอไผไม่ได้ทำอย่างที่ตั้งใจ
แต่นับจากนี้ไป 7 วัน ก็เรียกว่าต้องให้เวลา แล้วก็ทุ่มเทการปฏิบัติอย่างเต็มที่ แทบจะเรียกว่าตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอนเลย หลายคนไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้ก็เกิดความไม่มั่นใจ เกิดความวิตกกังวล ยิ่งเจอกฎระเบียบบางอย่าง เช่น ไม่อนุญาตใช้โทรศัพท์มือถือ หรือว่าไม่ให้พูดคุยกัน ก็ยิ่งวิตกกังวลเข้าไปใหญ่ว่าเราจะไหวไหมหนอ นี่ก็ธรรมดานะ คนเราแม้จะรู้ว่าการปฏิบัติธรรมเป็นของดี แต่ว่าใจหนึ่งก็มีความวิตก โดยเฉพาะคนที่ไม่มีประสบการณ์ทางนี้มามากนัก แล้วตัวกิเลสหรือว่านิสัยความเคยชิน มันก็จะคอยรั้งคอยเหนี่ยว ไม่ให้เรามาปฏิบัติธรรม มาเจริญภาวนา
แต่แม้เราสามารถที่จะเอาชนะมันได้ ตัดสินใจมาแล้ว มันก็ยังคอยหน่วงคอยเหนี่ยว หรือคอยปลุกให้เราเกิดความไม่แน่ใจ เรียกว่าเกิดวิจิกิจฉา เกิดความลังเล บางคนหนมายมั่นปั้นมือจะปฏิบัติให้ได้ครบ 7 วัน แต่พอผ่านไปแค่วันแรก 2 วันแรก กิเลสหรือความเคยชินมันก็หาเหตุผลแล้ว ว่าเรามีเรื่องมีธุระที่จะต้องทำเสียแล้ว ไม่สามารถจะอยู่ต่อได้ มันจะหาเหตุผลต่างๆ มากมาย เพื่อให้เราล้มเลิกความตั้งใจที่จะ มาปฏิบัติให้ครบคอร์ส มันจะมีเสียงยุเสียงแหย่แบบนี้เกิดขึ้นในใจของหลายคน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาอีกเหมือนกัน
แต่ก็อยากจะให้ความมั่นใจกับพวกเราว่า แม้ว่าประสบการณ์ที่นี่ วันนี้แล้วก็ในอีกหลายวันข้างหน้า เราอาจจะไม่คุ้น แต่มันก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่เราจะทำให้ดีได้ หรือทำให้สำเร็จอย่างเราตั้งใจเอาไว้ ไม่มีอะไรที่จะน่ากลัว สถานที่ก็เป็นมิตรกับเรา ไม่ว่าจะเป็นป่า ต้นไม้ สิงสาราสัตว์ แม้จะมีงูเงี้ยวเขี้ยวขออยู่บ้าง ก็ไม่ได้ดุร้าย มีแต่จะหลีกหนีเรา ที่มารบกวนเราก็ไม่ได้หนักหนาสาหัสอะไร เช่นยุง เช่นแมลงพวกนี้ อีกอย่างหนึ่งถ้าเรามีความตั้งใจ ก็จะพาเราผ่านการปฏิบัติมาได้ด้วยดี
แต่ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจว่าเราจะต้องเจออะไรบ้าง อย่างเช่นวันแรก 2 วันแรก หลายคนจะต้องเจอความง่วงเหงาหาวนอน แม้แต่คนที่เคยผ่านการปฏิบัติมาแล้ว แต่พอกลับมาสู่การปฏิบัติแบบนี้อีก อย่า ว่าแต่เป็นการปฏิบัติทั้งวัน ความง่วงหรือที่ภาษาพระเรียกว่าถีนมิทธะ เป็นนิวรณ์ชีวิตหนึ่งจะมารบกวนเราอย่างแน่นอน ยกมือสร้างจังหวะไปได้แค่ 5 นาที 10 นาทีก็ง่วงโงกแล้ว หรือเดินจงกรมได้ไปสัก 10-20 นาที ก็ง่วงเสียแล้ว วันแรกหลายคนจะเป็นแบบนี้
แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมก็ดี วิถีชีวิตหรือการปฏิบัติก็ดี มันทำให้เราอยู่ห่างจากสิ่งเร้าที่เราคุ้นเคย อยู่บ้านมันมีสิ่งเร้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานการ ที่เรียกร้องให้เรา คิดนั่นคิดนี่ คิดอยู่ตลอดเวลา คิดแก้ปัญหา คิดวางแผน แล้วก็มีคนมาพูดมาคุย ยังไม่นับโทรศัพท์มือถือ ที่มันมีทั้งภาพ มีทั้งรูป มีทั้งเสียง มีทั้งข้อความ ชีวิตประจำวันของเรา โดยเฉพาะคนในเมืองทุกวันนี้ มัน เต็มไปด้วยสิ่งเร้า ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนเข้านอน บางทีสิ่งเร้านั้นก็มาในรูปของอาหารที่ถูกปาก เพลงที่ถูกใจ หรือการสนทนาพูดคุยที่ชวนให้ติดตาม แต่พออยู่ตรงนี้ สิ่งเร้าที่ว่ามันก็จะลดน้อยลงไปมาก ใจของ เราพอมันไม่มีสิ่งเร้าที่คุ้นเคย มันจะมีอาการง่วงขึ้นมาเลย
เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าที่เราตื่นทั้งวันนี่ มันเป็นเพราะสิ่งเร้าสารพัดเลย ทั้งรูปรสกลิ่นเสียง ทั้งสีทั้งแสง ทั้งงานการ มันมาเร้าจิตให้ตื่น จนบางคนอาจจะหลับยาก แต่พอมาอยู่ตรงนี้ สิ่งเร้านานาชนิดมันก็ลดน้อยถอยลง พอสิ่งเร้าลดน้อยถอยลง เราจะรู้สึกง่วงเลย
ยิ่งทำหรือปฏิบัติซ้ำๆ ยกมือซ้ำๆ 14 จังหวะ ซ้ำไปซ้ำมา นั่งอยู่ในที่เดิม เดินจงกรมก็กลับไปกลับมา ไม่ได้มีอิริยาบถใหม่ๆ อะไร มันก็จะรู้สึกจำเจ พอจำเจหรือซ้ำซากมันก็จะง่วง ทั้งๆ ที่ก็มีผู้คนมากมายที่ ปฏิบัติร่วมกับเรา แต่ว่ามันไม่เร้าจิตกระตุ้นใจเรามากพอที่จะทำให้เราตื่น ยิ่งบางคนติดกาแฟ พอไม่มีกาแฟมากระตุ้นในระหว่างที่อยู่ที่นี่ มันก็ยิ่งง่วงได้ง่าย
อันนี้มันเป็นบทเรียนบทแรกที่เราจะได้รับรู้ ว่าชีวิตของเราวันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า มันเต็มไปด้วยสิ่งเร้ามากมาย โดยที่เราไม่รู้ตัว มันทำให้เราตื่นตื่นทั้งวัน บางทีตื่นไปถึงกลางดึก แต่พอไม่มีสิ่งเร้าที่ว่าเมื่อไหร่ แม้แต่กลางวันแสกๆ ก็จะง่วง
ที่จริงสิ่งเร้ามันก็มีแต่มันเบาบาง มันไม่สามารถจะสะกิดหรือกระตุ้นจิตของเราให้กระชับกระเฉงเท่าไหร่ เพราะจิตเราด้านเสียแล้ว มันเป็นธรรมชาตินะ เท้าของเรา หนังของเรา อวัยวะของเราตรงไหนก็ตาม ถ้ามันถูกกระทบบ่อยๆ มันจะเริ่มด้าน เช่นฝ่าเท้าของเรามันจะด้าน เพราะมันมีการกระทบกัน พอกระทบมากๆ เข้ามันจะด้าน พอด้านแล้วการรับรู้สิ่งกระทบเบาๆ จะไม่ค่อยรับรู้เท่าไหร่ บางทีเอามือลูบยังไม่รู้สึกเลย เท้าบางคนนี่ด้านมาก
จิตของเราก็เหมือนกัน พอมันถูกกระตุ้นเร้าบ่อยๆ จิตมันก็ด้าน แม้ว่าอยู่ที่นี่มันก็มีสิ่งเร้าอยู่เรื่อยๆ อยู่ตลอด เสียงธรรมชาติ เสียงลม เสียงนก แต่มันไม่มากพอที่จะทำให้จิตเราตื่น เพราะจิตเราด้านเสียแล้ว แต่ว่ามาอยู่ไปนานๆ จิตมันจะค่อยๆ ไวต่อการรับรู้ เสียงเบาๆ ก็ทำให้จิตตื่นได้ พออยู่ไปสัก 2-3 วันความง่วงก็จะค่อยๆ ลดลงแล้ว เราจะเริ่มรู้สึกปรับตัวได้ เพราะฉะนั้นถ้าพรุ่งนี้ง่วง ก็ยังไม่ต้องตื่นตกใจนะ ไม่ไหวแล้วๆ เดี๋ยวทำไปสัก 3-4 วัน มันก็จะเริ่มตื่นขึ้นมา
บทเรียนบทแรกก็คือว่าชีวิตของเรามันถูกกระทบด้วยสิ่งเร้ามาก หรือมีสิ่งเร้ามันกระทบจนกระทั่งทำให้เราตื่น พอเราขาดสิ่งเร้ามันจะง่วง อาตมาเรียกอาการแบบนี้ว่าเหมือนกับอาการลงแดง เป็นการลงแดง ทางผัสสะ ก็คือว่าเมื่อสิ่งเร้าที่มากระทบเราน้อยลง เราก็จะมีอาการง่วงขึ้นมา บางคนก็โหยหาอยากจะได้สิ่งเร้า บางทีบางคนรู้สึกว่ามันเงียบมากไป ตอนอยู่กรุงเทพฯ อยู่ในเมืองนี่เสียงดังเหลือเกิน กรุงเทพฯ มันเสียงดังมากเหลือเกิน แต่พอมาอยู่ที่เงียบๆ แบบนี้ บางทีมันโหยหาเสียงดัง มันโหยหาสิ่งเร้า ทนความเงียบไม่ได้ เจอความเงียบแล้วหูอื้อเลย อันนี้ก็ธรรมดา
แต่บางคนมันไม่ใช่ความง่วง แต่มันจะมีความฟุ้งเกิดขึ้น มันฟุ้งเยอะเลย มันคิดโน่นคิดนี่สารพัดเลย เวลาอยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน ไม่เห็นคิดมากขนาดนี้เลย ที่มันคิดมากหรือที่มันมีความคิดฟุ้งมาก เป็นเพราะ จิตมันไม่มีงานทำ ตอนเราอยู่ที่บ้านอยู่ที่ทำงาน จิตมันมีเรื่องจดจ่อ จะเป็นงานก็ดี จะเป็นข้อความทางโทรศัพท์ก็ดี มันมีสิ่งให้จิตจดจ่อ จะเป็นเพลง จะเป็นหนัง จะเป็นอาหาร พอจิตมันจดจ่อ มันก็สามารถจะอยู่ นิ่งได้ จดจ่อแม้กระทั่งงานการที่กำลังครุ่นคิด แต่พอมาอยู่อย่างนี้ สิ่งที่จะให้จิตจดจ่อก็น้อยลง หรือพูดง่ายๆ คือว่าจิตมันไม่มีงานทำเท่าไหร่ มันก็เลยฟุ้งซ่าน หรือว่าเกิดอาการความคิดกระจัดกระจาย นี่เป็น ธรรมชาติของจิต อันนี้ก็คือบทเรียนหนึ่งที่เราจะได้รู้
แล้วบทเรียนที่ 2 คือว่า จิตถ้ามันไม่มีอะไรให้ทำมันก็จะฟุ้ง แล้วยิ่งมันง่วง หรือยิ่งไม่มีอะไรรับรู้ สิ่งที่เคยรับรู้มา รูปรสกลิ่นเสียงที่เคยได้รับรู้ พอมันมีน้อยลง มันทำท่าจะง่วง มันก็เลยสรรหาความคิดต่างๆ ขึ้นมา เพื่อเป็นการเกิดกระตุ้นเร้าจิต ไม่ให้เหงา ไม่ให้เบื่อ บางทีไม่มีอะไรคิด ถ้าไม่คิดปรุงแต่งเรื่องอนาคต บางทีก็ไปขุดคุ้ยเรื่องอดีตมา เหมือนกับวัว ถ้ามันไม่มีหญ้าอ่อนกิน มันก็จะเคี้ยวเอื้อง เคี้ยวเอื้องก็คือ ขยอกเอาของเก่ามาเคี้ยว ถ้าไม่มีของใหม่ให้เคี้ยว มันก็จะขยอกของเก่ามา อันนี้เรียกว่าเคี้ยวเอื้อง
จิตเราก็เหมือนกัน พอไม่มีอะไรให้ทำ ไม่มีเรื่องจะให้รับรู้ ไม่ได้พูดได้คุยกัน จิตมีรูปรสกลิ่นเสียงเป็นอาหาร หรือพูดอีกอย่างคือมันเสพติดสิ่งเร้า พอไม่มีสิ่งเร้าที่คุ้นเคย มันก็ไปหาสิ่งเร้าอย่างใหม่ สิ่งเร้า อย่างใหม่ก็คือความคิดนั่นแหละ คิดโน่นคิดนี่สารพัด เอาของเก่าขุดคุ้ยของเก่ามาคิด หรือไม่ก็เอาของใหม่มาปรุงแต่ง หลายคนจะพบว่ามันคิดเยอะเหลือเกิน 1 เพราะมันไม่มีงานทำ จิตไม่มีงานทำก็เลยอยู่นิ่ง ไม่เป็น เหมือนกับลิง ลิงถ้าจะให้มันอยู่นิ่งๆ ต้องให้มันทำงาน ถ้ามันไม่ทำงานเมื่อไหร่ มันก็จะโดดไปโนูนโดดไปนี่ นี่คือลักษณะนิสัยของจิต เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งที่เราควรจะรับรู้
มันไม่ใช่สิ่งเสียหาย การที่จิตฟุ้งซ่าน มันให้บทเรียน มันให้ความรู้กับเรา ว่าธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนี้ แล้วนอกจากการที่จิตไม่มีงานทำ แล้วมันก็หางานทำด้วยการคิดนั่นคิดนี่ มันก็ยังอาศัยการคิดนั่นแหละ เป็นการกระตุ้นเร้าให้มันได้ตื่นตัวขึ้นมา
หลายคนจะพบว่าเวลามาปฏิบัติคิดมากเหลือเกิน ธรรมดา แต่หลายคนไม่เข้าใจหรือยอมรับไม่ได้ สิ่งที่จะทำประการต่อมาคือ พยายามไปบังคับจิตไม่ให้คิด พยายามกดข่มความคิด มันคิดมากเหลือเกิน อันนี้แหละคือกับดักที่นักปฏิบัติจำนวนมากมักจะติด แล้วก็ทำให้ไปไหนไม่ได้ แถมเกิดความทุกข์ พอไปห้ามจิตไม่ให้คิด พอไปกดข่มความคิดเข้า ทำไปนานๆ ก็จะเครียด
ทีแรกเครียดเพราะว่าทำไม่สำเร็จ จะห้ามมันอย่างไร มันก็ไม่ยอมหยุดคิด แล้วตอนหลังการพยายามห้ามความคิดนั่นแหละ การพยายามกดข่มความคิดนั่นแหละ ที่จะทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก ทำให้เกิด อาการปวดหัว เกิดอาการทางกายภาพขึ้นมา หลายคนไม่รู้ตัว เวลาไปห้ามไปเบรกความคิด กำลังคิดใจลอย แล้วอยู่ดีๆ พอรู้ว่ามันเผลอคิดไป ไปเบรกไปห้ามมัน ทำอย่างนี้บ่อยๆ จะรู้สึกแน่นหน้าอก เพราะตอน ที่ไปเบรกความคิด หลายคนไม่รู้ตัว ไปกลั้นลมหายใจ พอไปกลั้นลมหายใจบ่อยๆ เข้า มันก็จะรู้สึกหายใจไม่เต็มปอด มันจะเครียด
มันก็เหมือนกับเวลาเราสนเข็ม สนเข็มนี่แทบจะร้อยทั้งร้อยเลยจะกลั้นลมหายใจ เราไม่ค่อยรู้ตัวหรอก แต่เราสนเข็มเราก็สนกัน 5 นาที 10 นาทีอย่างมาก แต่ว่าเวลาเราปฏิบัตินี่เราปฏิบัติทั้งวัน แล้วเรากลั้น ลมหายใจชั่วโมงหนึ่งไม่รู้กี่ครั้ง วันหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครั้ง ทำอย่างนี้ไปหลายวันก็หน้ามืด ปวดหัว แน่นหน้าอก
เวลาพูดถึงการปฏิบัติ หลายคนอย่างแรกที่นึกถึงก็คือการพยายามไปบังคับจิตไม่ให้คิด อันนี้เป็นความเข้าใจที่ติดมากับผู้คน ว่าเวลามาเจริญสติ มาทำสมาธิ หรือมาทำกรรมฐาน คนจะคิดถึงการไปบังคับจิตไม่ให้คิด อันนี้เป็นความเข้าใจที่สร้างปัญหามาก ซึ่งมันก็เป็นอาการสุดโต่งอย่างหนึ่ง ตอนไม่ปฏิบัติก็ปล่อยใจลอย ฟุ้งซ่านไปทุกทิศทุกทาง แต่พอจะมาปฏิบัติเข้า ก็เหวี่ยงไปอีกทาง คือไปห้ามความคิด บังคับ จิตไม่ให้คิด นี่เป็นทางสุดโต่ง 2 ทาง ซึ่งควรเลี่ยง ปล่อยใจให้ลอยก็ไม่ถูก พยายามบังคับจิตไม่ให้คิด มันก็ไม่ใช่
เพราะว่าประการที่สำคัญคือ เราไม่สามารถที่จะห้ามจิตไม่ให้คิดได้เลย แม้แต่จะรู้ว่ามันจะคิดอะไรอีก1 นาทีข้างหน้า เรายังไม่รู้เลย ลองดูนะอีก 1 นาทีข้างหน้า เราจะคิดอะไร เรายังไม่รู้เลย แล้วแม้เราตั้งใจว่าจะไม่คิดอะไรเลยใน 5 นาทีต่อจากนี้ไป ก็ไม่มีใครทำได้ ไม่ทันถึง 5 นาที อ้าวคิดไปแล้ว คิดไปโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นคนที่ตั้งใจจะห้ามความคิด สุดท้ายก็รู้สึกผิดหวัง รู้สึกหงุดหงิด เพราะว่ามันทำไม่ได้ แล้วอาการที่ห้ามความคิด มันก็ทำให้เกิดการแน่นหน้าอก การปวดหัว อย่างที่พูดไป
ลองมาฝึกทางสายกลางดู ก็คือไม่ใช่เผลอ แล้วก็ไม่เพ่ง เผลอปล่อยใจลอยก็ไม่ใช่ บังคับจิตหรือเพ่ง ดักจ้องความคิดก็ไม่ใช่ ทางสายกลางคือว่าแค่รู้ รู้ทัน แต่หลายคนก็จะติดนิสัย หรือติดความเข้าใจว่า มันต้องห้ามความคิด เพราะว่ามีความเข้าใจว่าถ้าไม่คิด จิตจึงจะสงบ หลายๆ คนก็มาเพื่ออยากให้จิตสงบ พออยากให้จิตสงบ มันก็จะคิดเลยว่าจะต้องไม่ให้มีความคิดเกิดขึ้นในใจ จะให้ไม่มีความคิดเกิดขึ้น ทำอย่างไร ก็ต้องห้ามมัน
ฉะนั้นความเข้าใจผิดว่าความสงบเกิดขึ้นได้เมื่อจิตไม่คิด ที่มันเข้าใจผิดเพราะว่าไม่มีทางที่จิตจะไม่คิด แต่ถึงแม้มันคิด เราก็สามารถจะสัมผัสความสงบได้ แทนที่จะบังคับจิตไม่ให้คิด หรือไม่ให้จิตมีความ คิดเลย ลองคิดให้น้อยลงจะดีกว่า แทนที่จะไม่คิดเลย ลองตั้งเป้าว่าคิดให้มันน้อยลง แล้วคิดให้น้อยลงนี่มันอยู่ในวิสัยที่ทำได้ถ้าเรารู้ทันความคิด
การเจริญสติที่นี่ เราไม่ได้ฝึกไม่ให้คิด เราไม่ได้เน้นการห้ามความคิด แล้วไม่สนับสนุนด้วย การห้ามความคิด หลวงพ่อเทียนท่านก็พูดอยู่เสมอว่าอย่าห้ามคิดๆ แต่ให้รู้ทันความคิด ถ้าเรารู้ทันความคิดบ่อยๆ มันจะคิดน้อยลง แล้วพอคิดน้อยลง มันก็จะจะเกิดความสงบตามมาได้ง่ายขึ้น มันอยู่ในวิสัยที่จะทำได้ ดีกว่าการที่จะให้จิตไม่คิดเลย หรือว่าความคิดเป็นศูนย์ อันนี้มันเป็นไปไม่ได้
แล้วที่สำคัญก็คือว่าเราไม่ได้ฝึกให้จิตสงบ ด้วยการไม่คิด ความสงบเป็นแค่ผลพลอยได้ หรือว่าไม่ใช่วัตถุประสงค์หลัก วัตถุประสงค์หลักคือให้มีความรู้สึกตัว ให้มีสติ ขีดเส้นใต้ไว้ให้ดีๆ เราไม่ได้ฝึกเพื่อความสงบ โดยเฉพาะสงบที่เกิดจากการไม่คิดหรือไม่มีความคิด แต่เรามาฝึกเพื่อให้เกิดความรู้สึกตัว ให้มีสติ ให้รู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์
ความคิดแม้เราห้ามมันไม่ได้ แต่เรารู้ทันมันได้ แล้วเพียงแค่รู้ทันมัน ก็ทำให้ความคิดที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ มันทำอะไรจิตใจเราไม่ได้ มันมาครอบงำจิตไม่ได้ เพราะทันทีที่เรารู้ทัน มันก็เจือจางหรือสลายหายไป เพราะทันทีที่เรารู้ทันมัน ก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ความรู้สึกตัวมันเป็นปฏิปักษ์หรือสิ่งตรงข้ามกับความหลง แล้วความหลงนั่นแหละ คือบ่อเกิดของความคิดฟุ้งซ่าน มันเหมือนกับไฟ เปลวไฟมันต้องอาศัยออกซิเจน ความคิดฟุ้งซ่าน หรืออารมณ์ที่เกิดขึ้น ความโกรธ ความเกลียด ความเครียด ความทุกข์ พวกนี้มันเกิดจากความหลง หลงเมื่อไหร่มันก็เกิดขึ้นได้ง่ายมาก
แต่ถ้าเกิดว่ามีความรู้สึกตัวขึ้นมาแทนที่ ก็เหมือนกับไฟที่มันขาดออกซิเจน เมื่อความหลงหมดไป ความคิดปรุงแต่งก็เกิดขึ้นไม่ได้ แต่การที่เราจะรู้ทันความคิดได้ มันต้องเริ่มต้นจากการที่เรามารู้สึกเวลากายเคลื่อนไหวก่อน ก่อนที่เราจะรู้ใจหรือรู้ทันความคิด มันต้องมาฝึกให้รู้กายก่อน รู้กายคือรู้เมื่อกายเคลื่อนไหว หรือรู้สึกเมื่อกายเคลื่อนไหว เราจะรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว ก็ต่อเมื่อใจมันอยู่กับเนื้อกับตัว หรือว่ามีความรู้สึกตัว ถ้าใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว มันก็ไม่เกิดความรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว
ลองสังเกตดูเวลาใจลอย แล้วเราเดินจงกรม ขณะที่เราใจลอย มันจะไม่รู้สึกเลยว่ากำลังเดินอยู่ หรือใจลอยขณะที่กำลังยกมือสร้างจังหวะ ในช่วงขณะนั้นเองจะไม่รู้สึกเลยว่ามือเขยื้อนขยับ เพราะว่าใจมันไปอยู่กับความคิด มันจมหายเข้าไปในโลกแห่งความคิด ตอนนั้นเรียกว่าใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวก็เลยไม่รู้สึกตัว ฉะนั้นจะต้องฝึกให้ใจมาอยู่กับกายก่อน หรือให้ใจมารู้กายก่อน เพราะฉะนั้น ครูบาอาจารย์ท่านก็จะบอกว่าให้มารู้กายก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจความคิด มันจะคิดมากคิดน้อย ช่างมัน อย่าไปคิดทำอะไรกับความคิดนั้น ให้มารู้กายก่อน
แต่ก็นั่นแหละรู้กายไม่ได้แปลว่าเอาใจไปเพ่งที่เท้า ไม่ได้เอาใจไปเพ่งที่มือ ให้มารู้สึกเบาๆ คำว่ารู้กายหมายถึงการรู้ตัวทั่วพร้อม ถ้าเราไปเพ่ง เอาจิตไปเพ่งที่เท้า เอาจิตไปเพ่งที่มือ มันจะรู้ตัวทั่วพร้อมได้ อย่างไร รู้ตัวทั่วพร้อมก็คือใจไม่ได้ไปเพ่ง ไม่ได้ไปจดจ่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย อาจจะต้องถอยออกมาสักหน่อย เหมือนกับถ้าเราไปอยู่ใกล้ เราก็เห็นแค่บางส่วนของร่างกาย ถ้าอยู่ใกล้มากก็อาจจะเห็น แค่มือ อาจจะเห็นแค่เท้า แต่ถ้าเราถอยออกมาหน่อย ก็จะเห็นทั้งตัว ใจที่ไม่ไปแนบแน่นอยู่กับเท้า ไม่แนบแน่นอยู่กับลมหายใจ ไม่แนบแน่นอยู่กับมือ มันก็มีโอกาสที่จะรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้
ถอยออกมาสักหน่อย อย่าไปจดจ่อให้มันแนบแน่นเกินไป แล้วพอเราวางใจถูก มันก็จะเริ่มรู้กาย เดินก็รู้สึกว่าเดิน ยกมือก็รู้สึกว่ายกมือ แล้วต่อไปเวลาเราพลิกมือไปพลิกมือมา ก็รู้สึกว่ามือพลิก แต่ไม่ได้รู้แค่นั้น ถึงเวลากระพริบตา กลืนน้ำลาย มันก็รู้ เพราะใจมันไม่ได้ไปจดจ่ออยู่ที่มือ ถ้าไปจดจ่อที่มือ กระพริบตา กลืนน้ำลาย มันก็ไม่รู้หรอก จะกระพริบตา กลืนน้ำลายรู้ก็ต่อเมื่อมันเกิดด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ฝึก ให้รู้กายก่อน ทำใจสบายๆ แล้วต่อไปมันก็จะรู้ทันความคิด.