พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 13 มีนาคม 2566
มีหลายคนที่ได้ดูแลแม่หรือพ่อที่แก่ชรา ซึ่งจะว่าไปก็เป็นโชคนะ ที่ได้ตอบแทนบุญคุณของท่าน แต่หลายคนก็จะรู้สึกเป็นทุกข์มาก เพราะอะไร เพราะพ่อหรือแม่ชอบบ่น บางทีก็บ่นเรื่องเกี่ยวกับเรื่อง เหตุการณ์ในอดีต หรือคนนั้นคนนี้ บางทีก็บ่นถึงลูกหรือถึงคู่ครองของตัว แล้วก็พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ พูดอยู่กับเรื่องเดิมนี่แหละ ผู้ที่เป็นลูกก็รู้สึกรำคาญ
หลายคนก็ไม่อยากกลับไปบ้านไปเยี่ยมพ่อหรือเยี่ยมแม่เลย เพราะไม่อยากฟังเรื่องเดิมๆ เรื่องซ้ำๆ
แต่คนที่มีประสบการณ์เหล่านี้ หากได้มาลองเดินจงกรมสร้างจังหวะ เป็นชั่วโมงเป็นวันๆ หลายคนอาจจะพบเลยว่า มีเสียงบ่นในหัวของตัวเอง อาจจะไม่ใช่เรื่องเดียวกับที่พ่อหรือแม่บ่น แต่มันก็บ่นแล้วบ่นอีกเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ เดินมาชั่วโมงก็บ่นนั่นบนนี่ หรือบ่นเรื่องเดิมๆ วิพากษ์วิจาร์ณต่างๆ นานา เดินทั้งวันก็ยิ่งได้ยินเสียงบ่นเหล่านี้มากขึ้น
ตอนที่ยังไม่ได้มาปฏิบัติก็ยังไม่เห็น หรืออาจจะบ่นแบบนี้แต่ไม่เห็น แต่พอมาลองปฏิบัติเริ่มเห็นเลย ไอ้เรานี่ก็พร่ำบ่นเหมือนกัน แล้วหลายครั้งก็บ่นเรื่องเดิมๆ อาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือเพื่อนบ้านที่รั้วติดกัน มันบ่นในใจ ไม่ถึงกับพูดออกมาอย่างพ่อหรือแม่ที่เราไปดูแล แต่ก็ทำให้เห็นตัวเองว่า โอ้เรานี่ จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ต่างจากแม่หรือพ่อเลย หาว่าแม่ขี้บ่นพ่อขี้บ่น แต่เรานั้นก็บ่นไม่น้อยเหมือนกัน
ถ้าไม่เดินจงกรมอาจจะไม่ได้สังเกต ถ้าไม่ได้มาปฏิบัติอาจจะไม่ได้เห็นหรือได้ยินเสียงบ่นเหล่านี้ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ทำให้เราเข้าใจพ่อแม่ได้มากขึ้น ที่เคยว่าท่านอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็เป็นเหมือนกัน เพียงแต่เราไม่รู้ตัว แล้วเพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้แก่ เพราะพอเราแก่เราก็คงไม่ใช่แค่บ่นในใจ แต่ว่าก็อาจจะบ่นออกมาเป็นคำพูดให้คนที่ดูแลหรืออาจจะลูกเราให้ได้ยิน
นี่คือประสบการณ์หนึ่งที่หลายคนพบในระหว่างที่มาปฏิบัติ ในลักษณะนี้ แต่ก็ไม่ใช่มีแค่นี้ มันจะยังมีความคิดหรือว่าเสียงอะไรต่างๆ ในหัว ที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยสังเกตมาก่อน บางทีก็มีความคิดแบบเจ้าคิดเจ้าแค้น หรือความคิดอยากจะทำร้ายคนนั้นคนนี้ ไม่ใช่ด้วยการกระทำแต่ด้วยคำพูด บางทีก็มีความคิดที่เห็นแก่ตัวผุดขึ้นมา มีความคิดสารพัด แม้กระทั่งการจ้วงจาบ คำจ้วงจาบครูบาอาจารย์ หรือแม้กระทั่งพระรัตนตรัย
ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองมาเดินจงกรมหรือมาสร้างจังหวะหรือมาปฏิบัตินี่ ความคิดแบบนี้ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ผุดได้โผล่ เพราะใจเราไปจดจ่ออยู่กับเรื่องงานเรื่องการ หรือมิฉะนั้นก็ไปรับรู้กับสิ่งที่มันน่าเพลิดเพลิน หนังที่สนุก เพลงที่เพราะ อาหารที่อร่อย มันเลยไม่มีช่องว่างหรือโอกาสที่เสียงบ่นในใจ ความคิดลบคิดร้าย จะผุดโผล่ขึ้นมา แล้วมันก็ไม่ได้ผุดโผล่ขึ้นมาแค่ครั้งสองครั้งด้วย มันมาเป็นขบวนเลย
ถึงตอนนั้นแหละที่เราจะได้รู้จักตัวเราเอง ว่าจริงๆ เราก็ไม่ได้วิเศษดีไปกว่าคนอื่น เราเองไม่ได้ต่างจากพ่อแม่ที่เรารู้สึกว่าท่านชอบจู้จี้ขี้บ่น แล้วความคิดต่างๆ เหล่านี้ที่มันผุดขึ้นมา โดยที่หลายเรื่องหลายราวก็ไม่ได้น่ารักเลย เราจะทำยังไง บางคนคิดว่าจะทำยังไงไม่ให้มันเกิดขึ้น ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นเลย เพราะทำให้ฉันรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง รู้สึกว่าฉันไม่ใช่เป็นนางฟ้าหรือเทพบุตรเหมือนเมื่อก่อน หรือเป็น พระเอกเหมือนเมื่อก่อน จะทำยังไงไม่ให้ความคิดเหล่านั้นออกมา
ถ้าถามอาตมา อาตมาบอกว่าไม่ต้องทำอะไร เปิดโอกาสให้มันผุดให้มันโผล่ เราต้องอนุญาตให้ความคิดเหล่านี้ แม้มันจะไม่ดี มันโผล่ขึ้นมา ดีกว่าไปเก็บกดมันเอาไว้ การที่เราอนุญาตให้ความคิดเหล่านี้มันโผล่ขึ้นมานี่ จริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรที่เราจะทำได้ดีกว่านี้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แล้วไม่ใช่ความคิดที่ไม่ดีไม่น่ารัก แม้กระทั่งความคิดฟุ้งซ่านต่างๆ นานา สัพเพเหระ ที่ไม่ได้เป็นสาระอะไรเลย มันก็ผุดมัน ก็โผล่ เรียกว่าอีรุงตุงนังเลย ระหว่างที่เราปฏิบัติ
หลายคนก็เป็นทุกข์ว่าทำไมมันฟุ้งแบบนี้ ตอนไม่ปฏิบัติไม่เห็นเป็นอย่างนี้เลย พอปฏิบัติมีความคิดแบบนี้ฟุ้งไปหมดแล้ว จะทำยังไงดี ไม่ต้องทำอะไรหรอก ยอมให้มันผุดยอมให้มันโผล่ เพราะเราไม่สามารถไปบังคับมันได้ ไม่สามารถห้ามไม่ให้มันผุดโผล่ขึ้นมาได้
เหมือนกับเราเลี้ยงเด็กอ่อน คนที่เป็นพ่อเป็นแม่คงจะรู้ บางครั้งเด็กทารกก็ร้อง กลางค่ำกลางคืนก็ร้อง ดูเหมือนไม่มีเหตุผล ที่จริงมันมีสาเหตุนะ เวลาเด็กอ่อนเขาร้องเราจะบังคับเขาให้หยุดร้องได้ไหม บาง คนจะพยายามบังคับลูกให้หยุดร้อง เพราะไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะว่าร้องไม่เป็นเวล่ำไม่เป็นเวลา
แต่ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเป็นธรรมชาติของเขา ถ้าขืนไปบังคับเขา เผลอๆ ไปบีบขอคอเขาก็มี หรือไม่ก็ไปเอาหมอนไปอุดปากเขาก็มี มันก็มีนะคนที่ต้องการบังคับลูก บังคับเด็กไม่ให้ร้อง แต่พอบังคับไม่ได้ห้ามไม่ได้ ก็เลยใช้วิธีที่ว่าด้วยความลืมตัว เราห้ามลูกไม่ให้ร้องไม่ได้ เราบังคับเขาให้หยุดร้องไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติของเขา
ฉันใดก็ฉันนั้น เราบังคับให้จิตให้หยุดคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไม่ได้ หรือจะบังคับให้คิดแต่เรื่องดีๆ หรือบังคับให้เขาหยุดคิด มันก็ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเป็นธรรมชาติของเขา ธรรมชาติของจิตที่ยังไม่ได้ถูกฝึกฝนมาดีพอ ฉะนั้นเราก็ต้องยอม ยอมเปิดโอกาสหรืออนุญาตให้ความคิดต่างๆ นานา โผล่ขึ้นมาได้
นี่เป็นเรื่องยากสำหรับหลายคนที่มาปฏิบัติ เพราะเวลามาปฏิบัติ ตั้งท่าจะบังคับจิตให้มันเป็นไปอย่างที่ตัวเองต้องการ บังคับจิตยังไง บังคับจิตให้มันหยุดคิด ซึ่งเราก็จะล้มเหลว เหมือนกับที่เราไปบังคับเด็ก ให้หยุดร้องไม่ได้ จิตของเราบางทีมันก็เหมือนกับเด็กอ่อนแหละ เด็กแบเบาะ
เราควรรู้จักอ่อนโยนกับเด็กทารกหรือลูกของเราอย่างไร เราก็ควรจะอ่อนโยนกับจิตของเราอย่างนั้น ในความหมายที่ว่า ไม่ไปบังคับเขา ในสิ่งที่สวนทางกับธรรมชาติของเขา
มันเป็นธรรมดาที่จิตจะคิดโน่นคิดนี่ รวมทั้งมีอารมณ์ต่างๆ นานาชนิด เราไม่ควรห้าม เพราะ หนึ่ง มันห้ามไม่ได้ เหมือนกับห้ามไฟไม่ให้มีควันก็ห้ามไม่ได้ ห้ามเด็กทารกให้หยุดร้องหรือไม่ให้ร้องเลยก็ห้ามไม่ได้ เราก็ห้ามจิตไม่ให้ฟุ้งไม่ได้เหมือนกัน
แล้วนอกจากเราห้ามไม่ได้แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่เราไม่ควรห้ามก็คือ มันมีประโยชน์ มันมีประโยชน์ ความคิดฟุ้งปรุงแต่งต่างๆ นานา มันมีประโยชน์ มีประโยชน์ยังไง มีประโยชน์ตรงที่ว่ามันเหมือนกับการฝึกหัด ให้เรารู้ทันความคิดและอารมณ์ จะรู้ทันความคิด จะรู้ทันความโกรธ จะรู้ทันความหงุดหงิดได้ ก็ต้องยอมให้ความคิดเกิดขึ้น ให้ความโกรธให้ความหงุดหงิดมันเกิดขึ้น
ถ้าไม่ยอมให้มันเกิดขึ้น จะบังคับให้มันเงียบนิ่งสงบ แล้วเราจะฝึกใจให้รู้ทันได้อย่างไร สติก็ไม่มีเครื่องฝึกซ้อม ก็เหมือนกับช่างซ่อมรถยนต์ ถ้าช่างซ่อมรถยนต์เจอแต่รถที่ไม่เสียเลย รถทุกคันดีหมด แล้วช่างซ่อมจะมีประสบการณ์มีความรู้ได้ยังไง ช่างซ่อมรถยนต์จะมีความรู้ได้ก็ต้องเจอรถที่มีปัญหาต่างๆ นานา เพราะรถเหล่านั้นแหละที่จะมาฝึก เป็นแบบฝึกหัดให้ช่างซ่อมมีประสบการณ์
เป็นหมอรักษาโรค แต่ไม่เคยเจอคนที่ป่วยเป็นโรคเลย ทุกคนสุขภาพดีหมด แข็งแรง แล้วหมอจะมีประสบการณ์จากไหน ทำไมหมอ นักเรียนแพทย์ ต้องไปราวด์ตามเตียงผู้ป่วย ป่วยทั้งนั้นแหละ ก็เพราะความป่วยของคนไข้นั่นแหละ ที่จะมาเป็นแบบฝึกหัดให้กับนักศึกษาแพทย์ แล้วบางทีต้องไปแสวงหาคนป่วยโรคแปลกๆ คนคนไหนที่ป่วยด้วยโรคแปลกๆ ที่ไม่ค่อยได้เกิดขึ้น จะมีนักศึกษาแพทย์ไปมุ่งกันใหญ่
ความเจ็บป่วยของคนไข้ก็เป็นแบบฝึกหัดที่ดีของแพทย์ แต่บางครั้งความทุกข์หรือความไม่ราบรื่นในใจของเรา ก็เป็นแบบฝึกหัดที่ดีสำหรับเราเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นการที่เรามีความคิดฟุ้งซ่าน มีอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นระหว่างที่ปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เลวร้าย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ควรผิดหวัง แต่มันก็น่าผิดหวังหรอกสำหรับคนที่มาเพื่อจะแสวงหาความสงบ แต่ถ้าไม่ได้คิด ที่จะมาฝึกจิตเพื่อความสงบ แต่ฝึกจิตเพื่อให้มีสติมีสัมปชัญญะ มีปัญญา การที่มีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นมันกลับเป็นเรื่องดี
หลวงพ่อเทียนท่านก็ย้ำอยู่เสมอว่า “อย่าไปห้ามคิด เพราะยิ่งคิดก็ยิ่งรู้” คิดในที่นี้หมายถึง เผลอคิด หลงคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ รู้ว่าเผลอ รู้ว่าหลง รู้ทันความคิด มันมีประโยชน์ ฉะนั้นเราต้องยอมต้องอนุญาตให้ใจคิดโน่นคิดนี่ไปได้ จะทำอย่างนั้นได้ต้องรู้จักอ่อนโยน อ่อนโยนต่อใจ อ่อนโยนต่อจิต ไม่คิดจะไปควบคุมบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาของเรา
หรือพูดอีกอย่างคือ รู้จักให้อิสระกับใจ ให้ใจเป็นอย่างที่เขาเป็น หน้าที่เราคือยอมรับ ยอมที่เขาอย่างที่เขาเป็น แล้วขณะเดียวกันก็หาประโยชน์จากการที่ใจเป็นอย่างนั้น คือมารู้ทัน เวลาใจมันเผลอใจมันฟุ้ง ต้องวางใจแบบนี้ เพราะว่าหลายคนวางใจไม่ถูกต้อง คิดจะไปบังคับควบคุมจิต พยายามกดข่มจิต อันนี้เรียกว่าจะลงเอยด้วยความผิดหวังและความล้มเหลว
ใจมันจะไป ไหลไปไหน ไม่เป็นไร แต่ขอให้มันกลับมาก็แล้วกัน ใหม่ๆ มันก็ไปไกล กว่าจะกลับมาก็นาน คิดไป 10 เรื่องถึงจะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว แต่พอเราทำไปๆ ทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ มันจะกลับมาเร็วขึ้น พูดง่ายๆ คือ ไปไม่ว่า แต่ว่าให้กลับมาไวๆ
หลวงพ่อคำเขียนท่านก็พูดอยู่เสมอว่า นักปฏิบัติเก่งอยู่ตรงที่มันกลับมา หรือว่าจิตเก่งตรงที่ให้จิตมันกลับมา” อย่าไปวัดว่ามันไปมากน้อย มันจะไปเยอะไม่เป็นไร แต่ขอให้กลับมาไวๆ ก็แล้วกัน มันจะไป บ่อยอย่างไงไม่เป็นไร ขอให้กลับมาไวๆ ก็แล้วกัน แล้วอะไรที่ทำให้มันกลับมา คือสติ สติที่เห็น รู้ทันความคิด
ฉะนั้นเราจะฝึกสติให้เก่ง ให้รวดเร็วฉับไว้ ให้ฉลาด เราก็ต้องให้อิสระกับใจในการคิด ให้อิสระกับมันในการที่ให้เป็นอย่างที่มันเป็น คำว่าอิสระไม่ได้หมายความว่าปล่อยไปเลยนะ แต่หมายถึงว่าไม่บังคับ ถ้ามันจะไปก็ไม่ว่า แต่ว่าให้กลับมาไวๆ ถ้ากลับมาไวเท่าไหร่ก็ถือว่าเก่ง หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า มันเก่งตรงที่กลับมา คือกลับมาไวๆ
แล้วนอกจากรู้ทันความคิดแล้ว นอกจากการปล่อยอิสระให้กับใจในการคิด คือมันจะคิดอะไรก็แล้วแต่ ให้หมั่นหรือขยันรู้ทัน รู้ว่ามันคิด รู้ว่ามันเผลอ แต่เป็นการรู้ที่มีลักษณะพิเศษ คือ รู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ ไม่ใช่รู้ แล้วไปกดข่มมัน ไม่ไปกดข่มอารมณ์ ไม่ไปกดข่มความคิด อันนี้ก็เป็นความอ่อนโยนอีกชนิดหนึ่ง
อ่อนโยนข้อแรกคือไม่ไปบังคับจิต สอง ไม่กดข่มความคิดและอารมณ์ ไม่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับมัน
พูดง่ายๆ คือวางใจเป็นกลางความคิดและอารมณ์ อันนี้เป็นเรื่องที่หลายคนที่ไม่คุ้นเคย เพราะว่าตั้งถ้าจะไปตะปบ ตั้งถ้าจะไปบี้ความคิดและอารมณ์ เพราะเห็นว่ามันเป็นตัวทำให้ใจไม่สงบ ความไม่สงบใน ความเข้าใจของเขาคือความไม่คิด ไม่คิดก็ดีเหมือนกันคือมันสงบ แต่ถ้ามันคิดเมื่อไหร่หลายคนจะไปไม่เป็น เพราะไม่เคยฝึกที่จะรับมือกับความคิด ไม่เคยฝึกที่จะรับมือกับอารมณ์ เช่น ความไม่พอใจ ความ หงุดหงิด พอไม่ได้ฝึกเมื่อมันเกิดขึ้นไปไม่เป็น ไปไม่เป็นคือถูกมันครอบงำ ตกอยู่ในอำนาจของมัน
ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดามาก หลายคนที่มาปฏิบัติตอนอยู่ในคอร์สก็สงบดี แต่พอกลับบ้านนี่หงุดหงิดหัวเสีย ระบายอารมณ์ใส่ลูก ระบายอารมณ์ใส่สามี มีหลายบ้านมีหลายครอบครัวเขาพูดเลย เวลาแม่ กลับจากคอร์สปฏิบัตินี่เตรียมตัวเลยนะ งานเข้า เพราะแม่กลับมาก็จะบ่น แม่กลับมาก็จะว่านู่นว่านี่
จนคนเขาสงสัย ทำไมกลับจากคอร์สจึงหงุดหงิดง่ายเหลือเกิน ผู้ชายนี่ตอนไม่ได้ไปคอร์สก็แค่ว่าลูก พอกลับมาเทศน์ลูกเลย เทศน์ยาว นี่เพราะอะไร เพราะไปติดสงบ ติดสงบ มันก็ดีมีสงบแล้วใจมันมีความสุข แต่สงบแล้วไม่มีความคิดหรือมีความคิดน้อยๆ มันมีปัญหาคือว่า พอมันมาหรือพอมันเกิดขึ้น หลายคนไม่ได้ฝึกมาเลยที่จะรับมือกับมัน เพราะเอาแต่กดข่มเอาไว้ พอมันเกิดขึ้นก็ทำใจไม่ถูก วางใจไม่เป็น ถูก มันครอบงำ ทำให้หัวเสีย ทำให้หงุดหงิด
แต่จะดีกว่าถ้าหากว่าเราได้ฝึกในการที่จะรับมือ แล้ววิธีที่จะฝึกที่จะรับมือกับพวกความคิดและอารมณ์เหล่านี้ คือให้รู้เฉยๆ รู้โดยที่ไม่ไปทำอะไรกับมัน ซึ่งมันก็เป็นวิธีที่ง่ายด้วยโดยไม่ต้องทำอะไร เราไม่ต้อง ไปบังคับอะไร เหมือนกับเราดูถนน ดูรถที่แล่นผ่านถนนข้างหน้าเรา รถมันจะกี่คันกี่คันก็เป็นเรื่องของมัน เราก็แค่ดู ไม่เข้าไปขวางรถ รถคันนี้ไม่ชอบหยุดมันซะเลย รถคันนี้ชอบกระโดดขึ้นรถเลย ไม่ใช่ ไม่ทำ อย่างนั้น แค่ดูเฉยๆ
แล้วการให้โอกาสกับจิตในการคิด หรือให้โอกาสกับจิตในการที่มันจะคิดหรือปรุงแต่ง อันนี้เป็นเรื่องที่เราต้องฝึกเหมือนกัน แล้วไม่เพียงเท่านั้น ก็ต้องฝึกใจให้รู้จักซื่อๆ ด้วย แต่ก็อย่างที่บอก ก่อนที่เราจะมา ถึงตรงนี้ได้ ก็ต้องฝึกใจให้อยู่กับกาย ให้มารู้กายก่อน อย่าเพิ่งไปคิดที่จะรู้ทันความคิด ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ให้รู้เวลามันเคลื่อนไหว
แล้วครูบาอาจารย์ท่านก็จะสอนว่า เวลาปฏิบัติอย่าอยู่นิ่งๆ ให้ขยับ ถ้าไม่เดินจงกรมไม่สร้างจังหวะก็พลิกมือไปพลิกมือมา เพราะอะไร เพราะว่าการทำอย่างนั้นจะเป็นการหางานให้กับจิตทำ เพราะถ้าจิตไม่มี งานทำมันจะฟุ้ง ต้องหางานให้จิตทำ เหมือนกับลิง ถ้าไม่ให้ลิงทำนั่นทำนี่ มันก็จะกระโดดไปกระโดดมา ต้องหางานให้จิตทำ
ขณะเดียวกันมันก็เป็นตัวชี้วัดด้วยว่า ใจเราอยู่กับตัวหรือเปล่า เพราะเวลาเราพลิกมือไปพลิกมือมา หรือเวลาเรายกมือสร้างจังหวะเดินจงกรม ถ้าใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว เราจะรู้สึกว่ามือขยับเท้าเขยื้อน หรือมือ พลิกไปพลิกมา อันนี้ก็รู้กาย ถ้าจิตอยู่กับเนื้อกับตัว มันจะรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว
ในแง่หนึ่งความรู้สึกว่ากายเคลื่อนไหวหรือรู้กาย ก็เป็นตัวชี้วัดว่า ตอนนี้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว หรือรู้สึกตัว เมื่อใดที่ไม่รู้สึกว่ากายเคลื่อนไหวแสดงว่าใจลอยแล้ว อันนี้ก็เป็นตัวชี้วัดตัวบ่งชี้ว่าตอนนี้เราไม่รู้ตัว เพราะเราไม่รู้สึกตัวแล้ว เวลาเดิน เวลาพลิกมือไปพลิกมือมา หรือเวลายกมือสร้างจังหวะ
แต่ความรู้กายหรือรู้สึกที่กายมันไม่ได้เป็นตัวชีวัดหรือตัวบ่งชี้ว่าเรารู้เนื้อรู้ตัวอย่างเดียว ยังสามารถตัวช่วยให้เราได้รู้สึกตัวได้เร็วขึ้นด้วย เวลาเดินจงกรมใจลอย มันจะมีจุดหนึ่ง ที่เรารู้สึกว่าตัวขยับเท้าเขยือน ความรู้สึกทางกายนี่แหละ ที่มันจะไปเรียกใจที่ลอยไหลไปให้กลับมา อยู่กับปัจจุบัน อยู่กับเนื้อกับตัว
คล้ายๆ กับเวลาเราใจลอย แล้วก็มีคนมาแตะมือเรามีคนมาแตะแขนเรา ทันทีกับที่เรารู้สึกว่ามีคนมาแตะแขนแตะไหล่แตะมือเรา เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันเลย ที่ใจลอยนี่มันหายไปเลย มันกลับมารู้เนื้อรู้ตัว เพราะสัมผัสทางกายมันเหมือนกับสิ่งที่ไปเรียกจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว
เพียงแต่เรามาปฏิบัติที่นี่ เราไม่ต้องรอให้เพื่อนมาสัมผัสกายเรา แค่ความรู้สึกทางกายที่เกิดขึ้น จากการเดิน จากการยกมือสร้างจังหวะ จากการพลิกมือไปพลิกมือมา เหมือนกับตัวสะกิดให้จิตที่ฟุ้งกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว พูดง่ายๆ คือเป็นตัวช่วย ความรู้กายเป็นตัวช่วยให้จิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ทำให้สติทำงานได้ดีขึ้น
เพราะฉะนั้นเราก็มารู้กายไปก่อน แต่ก็รู้แบบเบาๆ ให้ถือว่ากายเป็นที่ตั้งของใจ เป็นที่ตั้งนะ บางคนทำให้กลายเป็นคุกของใจ คือบังคับจิตให้อยู่กับกาย การบังคับจิตให้อยู่กับกายก็ทำให้กายกลายเป็นคุกของใจ แล้วพอจิตรู้สึกว่ากายเป็นคุก มันจะหาทางแหก คือจะหาเรื่องคิดนู่นคิดนี่
แต่ถ้าหากว่าเราไม่บังคับจิตให้อยู่กับกาย แต่ชักชวนให้เขาอยู่กับกาย จิตก็จะรู้สึกว่ากายเป็นบ้าน บ้านคือที่ที่มีอิสระที่จะอยู่หรือจะไปก็ได้ ต่างจากคุก คุกคือที่ที่เราถูกห้ามไม่ให้ออกไปไหน พยายามทำกายให้เป็นบ้านของใจ ไม่ใช่ทำให้กายเป็นคุกของใจ ซึ่งหมายความว่า ต้องให้อิสระกับใจในการที่จะไปก็ได้ แต่เราก็จะชวนให้เขากลับมา
กลับมาสู่ประเด็นที่พูดไว้ตั้งแต่ตอนต้น ให้รู้จักอ่อนโยนต่อจิต แล้วก็ให้อิสระกับใจ อันนี้อาจจะเป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะไม่เคยนึก แต่ให้เข้าใจว่าให้อิสระนี่คือการไม่บังคับ แต่ไม่ใช่ปล่อยใจไปตะพึดตะพือ เราก็ต้องรู้จักชวนให้เขากลับมา กลับมาที่กาย กลับมารู้เนื้อรู้ตัว กลับมารู้สึกตัว อันนี้แหละคือสิ่งที่ถ้าเราฝึกสม่ำเสมอ เราจะรู้ตัวได้ไวขึ้น เราจะมีสติได้เร็วขึ้น แล้วเราก็จะฟุ้งน้อยลง แล้วก็มีความสงบมากขึ้น เป็นความสงบเพราะรู้ ไม่ใช่สงบเพราะไม่รู้.