พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์
มีคนเปรียบว่า ชีวิตคือการเดินทาง การเดินทางต้องมีเป้าหมายหรือจุดหมาย เช่นเดียวกับชีวิต ชีวิตถ้าไม่มีจุดหมายมันก็เคว้งคว้าง คนที่ไม่มีจุดหมายในชีวิตจำนวนมากนี่ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ฉะนั้นชีวิตต้องมีจุดหมาย เช่นเดียวกับการเดินทาง การเดินทางถ้าไม่มีจุดหมายก็เรียกว่าระเหเร่ร่อน จึงต้องมีจุดหมาย
แต่ชีวิตต่างจากการเดินทางอย่างหนึ่ง สำหรับการเดินทางจุดหมายและปลายทางคืออันเดียวกัน จุดหมายของการเดินทางในวันนี้ของอาตมา ปลายทางคือเพชรบูรณ์
แต่สำหรับชีวิต จุดหมายกับปลายทางเป็นคนละอัน จุดหมายชีวิตคนส่วนใหญ่วาดไว้สวยงาม แล้วก็อยากจะไปให้ถึง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐี เป็นซีอีโอ เป็นผู้อำนวยการ เป็นปลัดกระทรวง นี่คือจุดหมายชีวิตที่ทุกคนอยากจะไปให้ถึง แต่ปลายทางชีวิตไม่ค่อยมีคนอยากจะไปให้ถึง
ปลายทางชีวิตคืออะไร คือความตาย หลายคนใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อบรรลุไปให้ถึงจุดหมายชีวิต แต่ไม่เคยคิดถึงปลายทางชีวิตว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตาย แล้วก็หลายคนเช่นเดียวกันที่ไปไม่ถึงจุดหมายชีวิตเพราะชีวิตมาถึงปลายทางเสียก่อน
ไม่ว่าเราจะบรรลุถึงจุดหมายชีวิตหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายเราย่อมพบกับปลายทางชีวิตอย่างแน่นอน แต่น้อยคนนักที่จะเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับปลายทางชีวิต เพราะใจจดจ่ออยู่กับการไปให้ถึง บรรลุให้ได้ซึ่งจุดหมายชีวิต ที่สะสมเงินทอง ที่ขยันทำงาน ที่ศึกษาเล่า เรียนกันมามากมายเพื่ออะไร ก็เพื่อบรรลุถึงจุดหมายชีวิตที่ใฝ่ฝัน
จะมีสักชั่วโมง สักวันหนึ่งไหมที่เราจะคิดถึงหรือเตรียมตัวเตรียมใจรับมือกับปลายทางชีวิต แต่อย่างที่อาตมาบอก ไม่ว่าเราจะเตรียมตัวเตรียมใจหรือไม่ สุดท้ายปลายทางของชีวิตย่อมมาถึง จะดีกว่าไหมถ้าหากว่าเราระลึกนึกถึงปลายทางชีวิตไว้บ้างตระหนักว่ามันคือของตาย มันคือความแน่นอนที่เราหนีไม่พ้น
ขณะเดียวกันก็เตรียมตัวเตรียมใจเพื่อรับมือกับมันให้ดีที่สุด เพราะด้วยการทำเช่นนี้เท่านั้น ที่จะทำให้ความตายหรือปลายทางชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป
ความตายไม่น่ากลัว แต่คนจำนวนมากคิดว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวก็เลยไม่พยายามนึกถึงมันเลย ซึ่งนั่นคือความประมาทอย่างยิ่ง เพราะถ้าเราไม่เตรียมตัวเตรียมใจไว้เลย เมื่อถึงคราวที่มันมาถึงเราก็จะตื่นตระหนกตกใจเสียศูนย์ ไปไม่ถูก เสร็จแล้วก็ต้องเจอความทุกข์แสน สาหัสในวาระสุดท้ายของชีวิต
ในทางตรงข้าม หากเราเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้ดี เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตมาถึงเราจะไม่มีความตื่นตระหนก เราจะพร้อมน้อมรับด้วยใจที่สงบ ยิ่งถ้าเราเข้าใจความตายดีพอ เราจะไม่กลัวตายเลย
มีผู้รู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับระยะสุดท้ายของชีวิตของผู้คนจำนวนนับหมื่นเลย เป็นฝรั่งชื่อ อลิซาเบธ คูเปอร์โรส ใครที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องผู้ป่วยระยะท้ายหรือ paliative care ก็ต้องรู้จักแพทย์หญิงคนนี้ื
เธอบอกว่าความตายไม่ใช่อะไรอื่น นั่นก็คือการที่ผีเสื้อทิ้งรังไหม หรือพูดอีกอย่างก็คือความตายเหมือนดักแด้กลายเป็นผีเสื้อ ผีเสื้อเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอิสระ สัญลักษณ์หนึ่งของวงการดูแลแบบประคับประคองคือผีเสื้อ
บางคนก็สงสัยทำไมแผนกที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายหลายแห่งจะมีสัญลักษณ์คือผีเสื้อ เพราะนั่นคือสภาวะของจิตยามที่ทิ้งร่าง เหมือนผีเสื้อที่ทิ้งรังไหมโบยบินสู่อิสระ นี่คือการอุปมาถึงความตายที่งดงามซึ่งก็ไม่ต่างจากคติของพุทธศาสนา
พระอรหันต์ท่านหนึ่งชื่อ พระอธิมุต โจรมาปล้นเพราะคิดว่าท่านมีสมบัติ แต่พอรู้ว่าท่านไม่มีก็จะฆ่าท่าน แต่ท่านไม่กลัวเลย โจรถามทำไมท่านไม่กลัว ท่านก็บอกว่าเราไม่กลัวความตายเหมือนคนที่ไม่กลัวเมื่อจะต้องทิ้งภาระลง คนที่แบกของหนักย่อมยินดีที่จะวางของหนัก ไม่มีใครกลัวที่จะต้องวางภาระ
วางของหนัก นี่คือความหมายหนึ่งของอิสระ อิสรภาพที่เกิดขึ้นเมื่อชีวิตดับไป คนที่เตรียมตัวตาย พร้อมรับความตายอยู่เสมอเมื่อความตายมาถึง นอกจากเขาจะไม่ทุกข์แล้ว กลับมีความสุข
เพื่อนอาตมาคนหนึ่งเป็นมะเร็งระยะท้าย เธอเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ 11 ปีในช่วงสองปีสุดท้ายเธอบอกว่า เป็นช่วงที่เธอมีความสุขมาก ตอนแรกเธอไม่รู้ว่าเธอจะตายเมื่อไหร่ แต่เธอบอกเธอมีความสุขเพราะว่าความตายมันมาเตือนให้เธอปล่อยวางสิ่งต่างๆ แล้วเมื่อเธอ ปล่อยวาง สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร คือความโปร่งโล่งเบาสบายคลายความวิตก เธอยังบอกว่า เธอมีความสุขมากกว่าช่วงเวลาไหนๆ ก่อนหน้านั้น
คุณปู่คนหนึ่งเมื่อถึงระยะท้ายด้วยโรคร้าย ก็เลือกที่จะมาตายที่บ้านแทนที่จะไปยื้อที่โรงพยาบาล ดังนั้นจึงไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ต้องมีสายพะรุงพะรังที่เรียกว่าเฟอร์นิเจอร์ มีโอกาสที่จะได้คุยกับหลานเรื่องชีวิตและความตาย แต่ก็มีหมอมีพยาบาลมาเยี่ยมไข้บรรเทาความปวด
คุณปู่คนนี้พูดให้สัมภาษณ์ 2-3 วันสุดท้ายก่อนตายว่า แม้ร่างกายผมจะเหนื่อยล้า ความคิดจะสับสนอยู่บ้าง แต่ผมก็มีความสุข 2-3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนตายยังรู้สึกตัวก็ยังพูดว่า ผมเป็นคนที่มีความสุขคนหนึ่ง คุณปู่คนนี้ไม่ได้เป็นนักปฏิบัติธรรมอะไร ไม่ใช่พระแต่ก็ไม่มีความทุกข์ สามารถประสบความสุขความสงบเย็นได้เมื่อความตายใกล้มาถึง ก็เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว
สิ่งที่น่ากลัวจริงๆ คือความกลัวตาย ความตายไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวตาย ภาษิตจีนบอกว่า คนกล้าตายครั้งเดียวแต่คนขลาดตายหลายครั้ง คนที่พบว่าตัวเองเป็นโรคร้ายแม้จะเป็นมะเร็งระยะที่หนึ่ง ระยะที่สอง หลายคนตื่นตระหนกตกใจหมดอาลัยตายอยาก เสื้อผ้าหน้าผมไม่สนใจอย่างนี้ก็เหมือนกับตายแล้ว มีแต่ลมหายใจแต่ไม่มีชีวิตชีวาเลย คิดถึงความตายเมื่อไหร่ก็จะห่อเหี่ยวหดหู่ไร้ชีวิตชีวาเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นวันหนึ่งก็เหมือนกับตายหลายครั้ง แล้วกว่าจะตายจริงก็ตายไม่รู้กี่สิบครั้งแล้ว นี่เพราะความกลัวตาย
แต่คนที่เขาเตรียมตัวเตรียมใจไว้ดี เมื่อถึงเวลาที่เขาจะตายเขาก็ไม่ทุกข์ทรมานอย่างน้อยในทางจิตใจ และยิ่งถ้าได้รับการดูแลแบบประคับประคองอย่างดี มีการช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางกาย ก็ช่วยส่งให้เขาไปสู่โลกใหม่ด้วยใจที่สงบ
ทุกวันนี้คนตายมากขึ้นๆ ที่โรงพยาบาล ไม่ใช่ที่บ้านเหมือนเมื่อก่อน อาตมาคิดว่าแม้จะเปลี่ยนมาตายที่โรงพยาบาลมากขึ้น เขาก็มีสิทธิที่จะตายอย่างสงบได้ และนั่นคือสิ่งที่ควรทำด้วย โรงพยาบาลในด้านหนึ่งก็เป็นสถานที่ช่วยรักษาชีวิต และช่วยทำให้คนรอดพ้นจากความตาย แต่นั่นไม่ควรจะเป็นภารกิจประการเดียวของโรงพยาบาล สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เมื่อถึงคราวที่เขาจะต้องตายหรือเมื่อเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจช่วยชีวิตเขาได้ เราควรจะช่วยเขาไปอย่างสงบด้วย
การที่คนไข้จากไปอย่างสงบ ไม่ควรถือว่าเป็นความล้มเหลวของแพทย์ ไม่ควรถือว่าเป็นความล้มเหลวของพยาบาล ถ้าคนไข้ที่เราดูแลอย่างดีเขาสิ้นลม แต่ยังมีแพทย์พยาบาลจำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจว่า ความตายของคนไข้คือความล้มเหลวของเรา
มีแพทย์บางคนเมื่อคนไข้อาการหนักด้วยโรคมะเร็ง เธอก็พยายามที่จะสู้กับโรคมะเร็งอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่คนไข้เข้าสู่ระยะท้ายเธอก็ยังไม่หยุดสู้ ทั้งๆ ที่คนไข้ทุกข์มาก เจ็บปวดมากกับการรักษา หมอนี่ขอเจาะเลือดไปตรวจวันละสามเวลาเพื่อที่จะดูว่าค่าของเลือดดี ขึ้นเรื่อยๆ แต่มันก็ไม่เคยดีขึ้น มีแต่แย่ลง คนไข้ก็ปวด คนไข้บอกว่าคนไข้ถอดใจแล้ว ไม่สู้แล้วเพราะมันทรมานมากสำหรับการรักษาของหมอ แต่หมอไม่ยอมเเพ้
แต่เมื่อถึงเวลาที่คนไข้จะต้องตายแน่ๆ คุณหมอทิ้งคนไข้เลย บอกหมอรุ่นพี่ให้มาช่วยมาดูแลแทนหนูหน่อย หนูไม่ไหวแล้ว เธอทำใจไม่ได้ที่คนไข้จะต้องตายในการดูแลของเธอ เธอทิ้งให้หมอคนอื่นมาช่วยดูแลแทนเลย แล้วจิตใจของเธอก็กราดเกรี้ยว หม่นหมอง อาละวาดใส่นักศึกษาแพทย์ คนไข้คนไหนที่ตัวเองดูแลอาการไม่ดีขึ้น ในเวลาไปราวนด์คนไข้ ก็ระบายความหงุดหงิดใส่นักศึกษาแพทย์ จนกระทั่งเป็นที่เลื่องลือว่า อาจารย์แพทย์คนนี้อารมณ์ดุร้ายมากไม่มีใครอยากเข้าใกล้
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะคุณหมอเห็นว่าความตายของคนไข้ คือความล้มเหลวของตัวเอง เพราะฉะนั้นคนไข้ตายไม่ได้ เพราะถ้าตายก็คือความล้มเหลวของตัว แล้วถ้าจะต้องตายก็ต้องไม่ใช่ตายในมือของเธอ แต่ให้คนอื่นมาดูแลแทน ถ้าเป็นอย่างนี้จะมีความทุกข์ มากเลยนะ เพราะว่าคนไข้ที่เราดูแล มันต้องมีบ้างที่เขาต้องเสียชีวิต ไม่ใช่เพราะความผิดพลาดของเรา ไม่ใช่เพราะเราปล่อยปละละเลย แต่เพราะอาการของโรค แล้วมันเป็นธรรมชาติของชีวิต อายุยืนแค่ไหนสุดท้ายก็ต้องตาย
บางคนอายุยืนถึง 120 ปีก็ตาย สุขภาพดีแค่ไหน สุดท้ายก็ตาย ไม่ตายวันนี้วันไม่ได้แปลว่าเขาจะไม่ตาย วันหน้าเขาอาจจะตายด้วยโรคอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นในเมื่อคนไข้ที่เราดูแลเมื่อถึงจุดหนึ่งเขาอาจจะต้องเสียชีวิต นั่นไม่ใช่ความผิดของเรา แล้วมันอาจจะกลายเป็น สิ่งที่ดีก็ได้ถ้าหากว่าเราช่วยเขาไปอย่างสงบ
ถ้าเราตั้งธงเสียใหม่ว่าแม้เขาตาย เขาจากไปอย่างสงบอันนี้คือความสำเร็จของเรา อาตมาว่าเราในฐานะที่เป็นแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลด้วย ก็มีสิทธิที่จะได้รับความสำเร็จกับคนไข้ทุกคนไม่ว่าเขามีชีวิตอยู่ หรือเขาจากไปก็คือเมื่อเขาจากไป เขาไปอย่างสงบ การตายอย่างสงบนี้เป็นไปได้ มันไม่ได้ขัดแย้งกันเลย นี่คือสิทธิของทุกคนพึงมี
อาตมากับเพื่อนหลายคนทำงานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมาหลายปีมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ความตายอย่างสงบเป็นสิทธิของทุกคน ไม่ใช่เป็นของพระของแม่ชี ของผู้ปฏิบัติธรรมเท่านั้น เด็กเล็ก คนไกลวัดก็มีสิทธิตายอย่างสงบได้ และนี่คือของขวัญล้ำค่าที่เราซึ่งเป็นผู้ ดูแลจะมอบให้กับเขา ไม่ว่าเขาคนนั้นเป็นพ่อเป็นแม่เป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นพี่เป็นน้องเป็นมิตรสหาย หรือเป็นคนไข้ที่อยู่ในการดูแลของเรา
การตายอย่างสงบในทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นการตายดี หลายคนเข้าใจว่าตายดีเป็นคำที่ขัดแย้งกันในตัว เพราะเข้าใจว่าขึ้นชื่อว่าตายแล้วมันย่อมไม่ดี แต่พุทธศาสนามองว่าตายดีนั้นเป็นไปได้และตายดีไม่ได้หมายความว่าไม่เจ็บไม่ปวด ไม่ได้หมายความว่าศพสวย ไม่ได้หมายความว่าตายท่ามกลางคนรัก หรือว่าตายโดยที่ไม่สร้างภาระให้กับลูกหลาน นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่าตายอย่างมีสติ ตายด้วยความรู้ตัว ตายด้วยความสงบ แล้วตายสงบได้อย่างไร
สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการตายดีการตายสงบ ก็คือ 1. ความกลัว 2. ความห่วงและหวง ห่วงลูกหวงทรัพย์ 3. ความรู้สึกผิด 4. ความโกรธ ส่วนความเจ็บปวด อาตมาให้เป็นระดับท้าย
แม้ว่าคนจำนวนมากเวลาถามว่ากลัวตายเพราะอะไร หลายคนก็ว่ากลัวตายเพราะกลัวเจ็บปวด แต่จริงๆ แล้ว เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนตายไม่สงบ มันไม่ใช่ความเจ็บปวดทางกาย แต่มันเป็นความทุกข์ใจที่เกิดจากความกลัว เกิดจากความห่วงหาอาลัย เกิดจากความรู้สึกผิด เกิดจากความโกรธ สี่ประการนี้ต่างหากที่ทำให้คนเราตายดีได้ยาก
เพราะฉะนั้น เมื่อคนไข้คนหนึ่งมาที่โรงพยาบาลแล้วเขาอยู่ในระยะท้าย นอกจากการช่วยเยียวยารักษาร่างกายเขาเพื่อให้หายให้กลับบ้านได้ หรือถ้าหากว่าไม่สามารถเยียวยาเขาให้หาย แต่อย่างน้อยก็ช่วยทำให้เขามีความเจ็บปวดน้อยลง แล้วสิ่งที่ควรช่วยเขายิ่งกว่านั้นคือ ช่วยให้เขาไม่มีความทุกข์ใจรบกวน อาจจะเป็นการเรียกร้องที่มากไป แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่หมอพยาบาลทำได้ แล้วมันไม่ดีกับคนไข้เท่านั้น มันดีกับญาติ แล้วมันดีกับเราด้วย
เรื่องการช่วยผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ มันก็มีหลักอยู่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ตั้งแต่เมื่อ 2600 ปีที่แล้ว พระพุทธเจ้าแนะนำว่าเมื่อมีใครป่วยในระยะท้าย สิ่งที่เราจะช่วยเขาได้ ให้เขาไปสู่สุคติมี 3 ประการคือ 1. น้อมใจเขา ให้นึกถึงสิ่งที่เขาศรัทธา ถ้าเป็นชาวพุทธก็ คือพระรัตนตรัย 2.น้อมใจเขา ให้นึกถึงความดีที่เขาได้ทำ ท่านใช้คำว่า อริยกันตศีล คือศีลที่พระอริยเจ้าสรรเสริญ 3.ช่วยให้เขาปล่อยวาง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง คนรักหรือแม้กระทั่งสวรรค์หรือภพหน้า ที่ใฝ่ฝันอยากจะไปให้ถึง
สามประการนี่อาตมาสรุปย่อๆ ให้เหลือสอง จำง่ายๆคือ 1.นึกถึงพระ 2.ละทุกสิ่ง
นึกถึงพระ พระในที่นี้คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขานับถือ ถ้าเป็นชาวพุทธก็เป็นพระรัตนตรัย ถ้าเป็นชาวคริสต์ก็คือพระเจ้า ถ้าเป็นชาวมุสลิมก็คือพระอัลเลาะห์ ถ้าเป็นคนจีนอาจจะเป็นพระโพธิสัตว์ พระอรหันต์จี้กง เจ้าแม่กวนอิม อีกประการหนึ่งคือการที่เขาได้ทำสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ นอกจากการเยียวยาทางกายแล้วสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือการดูแลจิตใจ ที่จะช่วยทำให้การดูแลความเจ็บปวดทางกายง่ายขึ้นด้วย เพราะใจกับกายมีความสัมพันธ์กัน ถ้าเราจะเยียวยาความเจ็บปวดทางกาย แต่เราละเลยด้านจิตใจก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็ได้
มีผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นมะเร็งเต้านม เธอได้รับการรักษาแบบมาตรฐาน ฉีดคีโม ฉายแสงแต่เธอก็ยังบ่นว่าปวดๆๆ หมอพยาบาลสังเกตเวลาเธอเดินนี่เหมือนคนปกติ วันหนึ่งพยาบาลก็มานั่งคุยด้วย พยาบาลมีงานเยอะแต่ว่าให้เวลาที่จะมาคุยกับเธอ แต่ส่วนใหญ่เธอเป็นคนเป็นฝ่ายพูดเป็นฝ่ายเล่าเป็นฝ่ายระบายมากกว่า
เธอเล่า เธอระบายเป็นชั่วโมง ส่วนใหญ่ก็วนเวียนอยู่สองเรื่อง หรือสองคนคือสามีกับลูกชาย เธอโกรธ เธอน้อยเนื้อต่ำใจที่สองคนนี้ไม่มาอินังขังขอบเธอเลย ไม่มาเยี่ยมเธอเลย ปล่อยเธอ พยาบาลก็ฟังด้วยความใส่ใจ ไม่แทรก ไม่แนะนำ ไม่สั่งสอนแต่ฟังด้วยความใส่ใจ
พอเธอเล่าเธอระบายเสร็จ เธอก็บอกพยาบาลว่าความปวดของเธอลดไปเยอะเลย คนไข้ไม่ได้ยาอะไร แต่การที่พยาบาลฟังเธอเล่า ช่วยทำให้เธอคลายความปวดลงไปได้มาก เพราะอะไร เพราะความปวดก้อนหนึ่งซึ่งเป็นก้อนใหญ่เกิดจากความโกรธ แต่พอเธอได้ระบายความโกรธโดยมีพยาบาลเป็นผู้รับฟัง ความปวดก็ทุเลาลง
คนไข้จำนวนไม่น้อยที่บ่นว่าปวดๆๆ ให้ยาเท่าไรก็ไม่หาย เวลาสาวไปลึกๆ ก็จะพบว่าเขามีปัญหาด้านจิตใจ ถ้าไม่ใช่ความห่วงกังวล ก็เป็นความรู้สึกผิดหรือความโกรธ แล้วถ้าไม่ช่วยเขาตรงนี้ เขาก็ยังปวดอยู่ ให้ยาไปก็ได้ผลชั่วคราว ซึ่งถ้าเราคิดว่าเราอยากจะเยียวยาความปวดทางกาย มันก็หลีกไม่พ้นที่ต้องมาให้ความสำคัญการดูแลจิตใจด้วย ช่วยน้อมใจเขาให้นึกถึงพระแล้วก็ละทุกสิ่ง
คุณยายคนหนึ่งเป็นมะเร็ง แกปวดท้องมาก ปวดที่กระเพาะ หมอให้ยาระงับปวดก็ช่วยได้ไม่เท่าไหร่ ขณะที่คุณยายก็มีอาการปวดแสดงความกระสับกระส่าย มีพยาบาลคนหนึ่งมาเยี่ยม ชื่อเกื้อจิต หนังสือของคุณเกื้อจิต อาตมาก็เอามาแจกชื่อพยาบาลผ่าทางตัน ดีมากเลย
พยาบาลเกื้อจิตอยู่บุรีรัมย์ มาเยี่ยมคนไข้เห็นคนไข้คุณยายคนนี้แสดงความปวด ปกติพยาบาลก็จะถามว่าปวดกี่คะแนน เพนสกอร์เท่าไหร่ แต่ว่าพยาบาลเกื้อจิตถามว่ายาย ชีวิตนี้ทำอะไรแล้วมีความสุขมากที่สุด คุณยายตอบทันทีว่าหล่อพระ พยาบาลชวนคุณยายคุยเลย ถามว่ายายจำได้ไหมวันนั้นยายใส่เสื้อสีอะไร นุ่งผ้าสีอะไร คุณยายจำได้หมดเพราะว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่คุณยายประทับใจมาก เพราะคนอีสานนี่โอกาสที่จะได้หล่อพระนี่ยากนะ ถ้าได้หล่อพระถือว่าเป็นมหากุศล
พยาบาลชวนคุณยายคุยเรื่องหล่อพระ คุยประมาณ 10-20 นาทีได้ คุยจบคุณยายก็พูดขึ้นมาว่าหมอๆ แกเรียกพยาบาลว่าหมอ แปลกนะมันหายปวดไปเยอะเลย พยาบาลไม่ได้ให้ยาระงับปวด แต่ทำไมคุณยายถึงบอกว่ามันหายปวดไปเยอะ
เพราะว่าใจนี่น้อมนึกถึงสิ่งที่ตัวเองศรัทธา อันนี้แหละที่เรียกว่า นึกถึงพระ คนเราเวลาเรานึกถึงอะไร ความปวดก็จะทุเลาลง ส่วนหนึ่งเพราะมันลืมปวด หลายคนถูกยุงกัด แต่ไม่รู้สึกเจ็บเพราะว่ากำลังเล่นโทรศัพท์มือถือหรือว่านั่งหลังขดหลังแข็งทั้งคืน แต่ว่าไม่รู้สึกปวด หลังเลยเพราะใจจดจ่ออยู่กับไพ่ดัมมี่ในมือ นี่เรียกว่าลืมปวด แต่พอเล่นเสร็จปวดเลย
แต่ไม่ใช่แค่นั้น มันไม่ใช่แค่เป็นผลจากความลืมปวดที่คุณยายบอกว่ามันหายปวดไปเยอะ แต่เป็นเพราะว่าใจน้อมนึกถึงสิ่งที่ตัวเองศรัทธา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ศรัทธาทำให้เกิดปราโมทย์ ปราโมทย์คือความเบิกบานใจ ปราโมทย์ทำให้เกิดปีติอิ่มเอิบใจ และปีติทำให้ เกิดปัสสัทธิ ความผ่อนคลายกายและใจ แล้วทำให้เกิดสุข ศรัทธา ปราโมทย์ ปิติ ปัสสัทธิ สุข
พูดง่ายๆ สั้นๆ คือศรัทธาทำให้เกิดสุข แล้วมันไม่ใช่แค่ความสุขใจ เป็นความสุขกายด้วย เพราะว่าเดี๋ยวนี้เขาก็พบว่า คนเราเวลาเกิดศรัทธาหรือสมาธิกับอะไร มันจะมีสารบางตัวหลั่งออกมาจากสมอง เป็นสารสื่อประสาทเช่น โดพามีน เซโรโทนีน เอนโดรฟีน พวกนี้ช่วยบรรเทาปวดหรือพูดอีกอย่าง มันไประงับสัญญาณปวดจากแต่ละอวัยวะไม่ให้ไปถึงสมอง สมองถ้าไม่รับรู้สัญญาณปวดมันก็ไม่รู้สึกปวด
แล้วเวลาเราเกิดศรัทธาในอะไรก็ตาม มันมีสารพวกนี้ออกมามันจึงไม่ใช่เป็นเรื่องอุปาทาน แต่มันเป็นความรู้สึกทางกายด้วยซ้ำ คนที่เขามีต้นทุนในเรื่องศาสนา เรื่องบุญกุศลเขาจะได้เปรียบ ซึ่งเราเป็นผู้ดูแลเราก็สามารถที่จะเอาต้นทุนนี้ออกมาใช้ เขามีศรัทธาในพระรัตนตรัยก็ชวนให้เขาน้อมนึกถึงพระรัตนตรัย น้อมนึกถึงครูบาอาจารย์ที่เขานับถือ
แต่บางคนก็อาจจะห่างวัด ไม่ได้มีความรู้สึกเชื่อมโยงกับศาสนาก็ไม่เป็นไร ให้ลองชวนให้เขานึกถึงความดีที่เขาได้ทำ สิ่งที่เขาภาคภูมิใจที่ทุกคนมีทั้งนั้น
ผู้หญิงคนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายอยู่ที่หาดใหญ่ ช่วงระยะท้ายนี่จะปวดมาก แต่วันหนึ่งมีเพื่อนบ้านมาเยี่ยมอายุก็รุ่นราวคราวเดียวกัน อายุประมาณ 70 ทุกคนมาถึงก็นัดกันร้องเพลงค่าน้ำนม เธอฟังแล้วเธอก็ปลื้มใจมากเลย มีความสุขลืมทุกข์คลายความปวด เพราะอะไร เพราะเธอเป็นคนนำเอาเพลงค่าน้ำนมไปเผยแพร่ที่บ้านเกิดของเธอแถวสุราษฎร์ นาสาร บ้านส้อง
เมื่อ 60 ปีที่แล้ว คนในตำบล ในอำเภอนี้รู้จักเพลงค่าน้ำนมเพราะเธอ การที่เพื่อนบ้านมาร้องเพลง นี่แสดงว่าเพื่อนบ้านยังระลึกถึงความดีที่เธอได้ทำ สิ่งที่เธอภาคภูมิใจเมื่อ 60 ปีก่อน มันแสดงว่าเขายังไม่ลืมความดีที่เธอทำ มันเป็นสิ่งที่เธอภาคภูมิใจ สำหรับเราอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สำหรับเธอเป็นเรื่องใหญ่ พอเพื่อนบ้านร้องเพลงนี้ เกิดความปลาบปลื้ม เกิดความรู้สึกว่าภาคภูมิใจ การที่ได้รู้ว่าชีวิตตัวเองมีความหมาย รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า มันก็ทำให้จิตใจมีความสุข แล้วก็มันช่วยบรรเทาความทุกข์กายได้ ถ้าเธอระลึกถึงความดี แบบนี้จนระยะสุดท้ายเมื่อหมดลม ชาวพุทธเราก็เชื่อว่าเธอไปดี
คำว่านึกถึงพระก็คือ นึกถึงความดีด้วย ไม่จำเป็นว่าต้องชวนเขาสวดมนต์ ไม่จำเป็นว่าต้องให้เขาฟังพระเทศน์ อย่าไปยัดเยียดเรื่องพระเรื่องสวดมนต์เรื่องทำบุญให้เขา ถ้าเขาไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับสิ่งนี้ ก็เอาสิ่งอื่นแทน จะเป็นสิ่งที่เขาสนใจก็ได้
มีเด็กคนหนึ่งชื่อน้องเขียว แกไปป่วยที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์อายุ 5 ขวบเป็นลูคีเมียระยะท้าย แกมีอาการกระสับกระส่าย แม่และยายเห็นแล้วก็ตระหนกตกใจมาก เศร้ามาก ไม่รู้จะทำยังไงเกิดอาการกระสับกระส่าย พยาบาลมาถึง พยาบาลรู้จักเด็กคนนี้เพราะว่าได้ ดูแลมานาน แล้วก็รู้ว่าเด็กชอบอะไรด้วย
พยาบาลบอกเด็กว่าเดี๋ยวพี่จะพาหนูไปซื้ออุลตร้าแมนเอ็กซ์นะ เพราะเธอรู้ว่าเขียวชอบ แล้วก็ชวนไปร้านที่เดอะมอลล์ โคราช พูดนำไปเลยว่า เราไปกันไปที่ร้านที่เดอะมอลล์ ขึ้นไปชั้น 2 ชั้น 3 ไปที่แผนกของเล่น ไปดูอุลตร้าแมน รุ่นต่างๆ พรรณนาบรรยาย เด็กซึ่ง กำลังกระสับกระส่ายพอพูดถึงอุลตร้าแมน แกฉายแสงทันทีเลยนะ อุลตร้าแมนฉายแสงใช่ไหม แกตอบสนองทันทีเลย แล้วเธอก็ชวนซื้ออุลตร้าแมนรุ่นเอ็กซ์ ตอนนี้เด็กสงบแล้ว
เท่านั้นไม่พอพาไปสวนสัตว์ที่โคราช พาต่อไปเยี่ยมหลวงพ่อโตที่สีคิ้ว หลวงพ่อโตใหญ่ที่สุด เพราะว่าพ่อกับแม่เคยพาเขียวไปทำบุญที่นั่น เขียวสงบเลยนะ สงบเพราะว่าได้อุลตร้าแมนเอ็กซ์ ได้ไปเที่ยวสวนสัตว์ ได้เห็นกวางเห็นช้าง แล้วก็ได้ไปกราบ ระลึกนึกถึง หลวงพ่อโต สุดท้ายเขียวไปสงบ พ่อมาทันพอดี ทั้งแม่ทั้งยายยิ้มทั้งน้ำตาเลย น้ำตาคลอเพราะเขียวจากไป ลูกรักหลานรักจากไป แต่ยิ้มเพราะว่าเขาไปสงบ
มันเป็นการเยียวยาญาติที่ดีมากถ้าหากว่าเราช่วยให้คนรักของเขาไปสงบ นี่เป็นวิธีหนึ่ง ไม่ใช่ว่าจะต้องชวนให้นึกถึงพระ นึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างเดียว เขาสนใจอะไร เขารู้สึกคอนเนคกับอะไร เชื่อมโยงกับอะไร ความดีที่เขาภาคภูมิใจก็ชวนให้เขาระลึกนึกถึง นึกถึงพระเสร็จแล้วปล่อยวาง หรือละทุกสิ่งเพราะถ้าไม่ละ มันตายสงบได้ยาก
มีผู้หญิงคนหนึ่งตอนที่อยู่ในระยะท้ายแกก็พูดถึงลูก ห่วงลูกคนเล็ก ลูกคนเล็กเป็นผู้ชายอายุสิบขวบ ห่วงว่าลูกคนสุดท้องจะเจริญรอยตามพี่ชายสองคนซึ่งติดยาและติดคุก เธอพูดถึงลูกคนสุดท้องนี่จนตายแต่ตายังเปิด พยาบาลพยายามปิดเปลือกตาเท่าไหร่ไม่ปิด
รุ่งขึ้นญาติผู้ใหญ่มารับศพเห็นเปลือกตาของเธอเปิด รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น จุดธูปแล้วก็พูดกับคนตายว่า ลูกคนสุดท้องของเธอไม่ต้องห่วงนะฉันจะรับไปเลี้ยงเอง แล้วปิดเปลือกตา น่าอัศจรรย์ว่าคราวนี้ปิดได้ มันแสดงว่า สำหรับคนตาย เขาห่วงลูกจนตายตาไม่หลับ เเต่ก็ยังไม่สายที่จะทำให้เขาไปอย่างสงบได้ ด้วยการให้คำมั่นว่าคนที่เขาห่วงจะได้รับการดูแล
คนไข้หลายคนเขาไม่ยอมตายทั้งที่สัญญาณชีพก็แย่หมดแล้ว อย่างผู้ชายคนหนึ่งตาแกเปิดค้างเลยทั้งที่อวัยวะต่างๆ แย่หมดแล้ว เพราะอยู่ในระยะท้ายเกือบท้ายสุด คนไข้คนนี้อยู่กับภรรยาลำพังกันสองคน ภรรยาซึ่งดูแลมาตลอดบอกกับสามีว่าไม่ต้องห่วงฉันนะ เพราะรู้ว่าสามีรักภรรยามาก แต่ไม่ว่าพูดยังไงคนไข้ก็ยังไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง ตายังค้าง
เธอไปเล่าเรื่องนี้ให้ลูกฟัง ขณะโทรศัพท์คุยกัน ลูกเลยบอกขอคุยกับพ่อหน่อย เอาโทรศัพท์ไปวางไว้ข้างหู แล้วลูกก็บอกพ่อว่า พ่อ ถ้าพ่อเป็นอะไร ไม่ต้องห่วงแม่ หนูจะรับดูแลแม่ให้ แต่ตอนนี้หนูมาเยี่ยมพ่อไม่ได้เพราะหนูไม่สบาย คือลูกสาวแต่งงานแยกบ้านไป แล้วก็ไม่สบายเลยมาเยี่ยมพ่อไม่ได้ แต่รับปากกับพ่อทางโทรศัพท์ว่า ถ้าพ่อเป็นอะไรไปเธอจะรับดูแลแม่ พอพูดจบ คนไข้หลับตา วันสองวันแกก็ไป
บางทีร่างกายมันไม่ไหว แต่ใจยังสู้ ที่ไม่ยอมตาย เพราะอะไร เป็นเพราะยังห่วงอยู่ และนี่คือสิ่งที่ผู้ดูแลช่วยได้ อาจจะแนะนำ ถ้าเป็นหมอเป็นพยาบาลก็อาจจะแนะนำญาติว่าจะคุยอย่างไรให้คนไข้เขาหายห่วง แล้วคนไข้นี่สามารถจะห่วงอะไรได้สารพัดอย่างที่เรานึกไม่ถึง
อย่างคุณลุงคนหนึ่งไปป่วยที่โรงพยาบาลจุฬา แกเป็นคนกำแพงเพชร อยู่ในอาการหนัก กระสับกระส่าย ทีแรกหมอนึกว่าแกปวดก็ให้ยา ระงับปวด แกก็สงบได้แค่ 15 นาที ก็กระสับกระส่ายใหม่ หมอก็ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร ปวดหรือ ก็ให้ยาไปแล้ว แต่หมอที่ดูแลเข้าใจเรื่องของจิตใจผู้ป่วย เดาว่าคนไข้คงจะมีอะไรกังวลอยู่ ก็เลยพยายามคุยกับคนไข้
แต่คนไข้พูดอะไรไม่ค่อยได้เพราะว่าท่ออยู่ในปาก ฟังๆดูว่ามันมีสองพยางค์เหมือนคำว่าเชียงใหม่ ก็เลยถามลูกเขาว่าเชียงใหม่คืออะไร ลูกก็ตอบไม่ได้ แต่บอกว่าพ่อเคยป่วยที่โรงพยาบาลสวนดอก เชียงใหม่ แล้วก็เคยอุทิศร่างกายให้กับโรงพยาบาล หมอเลยเดาว่าสงสัยคนไข้คงไม่สบายใจ ถ้าเกิดว่าตายไปแล้วไม่สามารถจะอุทิศร่างกายให้กับโรงพยาบาลสวนดอกได้อย่างที่ตั้งใจ
หมอก็เลยพูดกับคนไข้เลยว่า คุณลุง ถ้าลุงเป็นอะไรไป จุฬารับจัดการให้นะ คนไข้ก็หายกระสับกระส่าย แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ตายที่จุฬาเพราะแกสามารถฟื้น กลับบ้านได้ แล้วไปเสียชีวิตที่เชียงใหม่ คนไข้รับปากว่าจะอุทิศร่างกายไว้ที่เชียงใหม่แล้วกลัวว่าตายที่จุฬา ถ้าตายที่กรุงเทพก็จะไม่ได้ทำตามสัญญา การกระสับกระส่ายแบบนี้ก็มี คนไข้แบบนี้ เราให้ยาแก้ปวดเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล เพราะมันไม่สามารถที่จะละความกังวลด้านจิตใจได้ พอกังวลแล้วก็จะมีการกระสับกระส่ายขึ้นมา
อาตมาคิดว่าเป็นสิ่งที่หมอและพยาบาลสามารถทำได้ แทนที่จะตีกรอบจำกัดอยู่เพียงแค่การดูแลทางกายให้ยาบรรเทาปวด บางทีลองนึกไปถึงเรื่องการดูแลเยียวยาทางใจ แม้กระทั่งคนไข้ที่เราไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ การดูแลทางใจหรือแม้แต่การยิ้มให้เขามันก็มีความหมาย
มีหนุ่มคนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล หมอก็ดูแลดี จนกระทั่งมาถึงจุดที่คนไข้รักษาไม่ได้ ไม่ตอบสนองต่อการรักษา คือเข้าสู่ระยะท้าย จู่ๆ หมอก็จะเรียกว่าหายไปเลยก็ได้ มาแบบประเดี๋ยวประด๋าว ไม่พูดไม่คุยอะไร เปลี่ยนไปเลยนะท่าที จนกระทั่งคนไข้ตาย
ต่อมาโรงพยาบาลมีการประชุมเอ็มแอนด์เอ็ม ก็เชิญแม่ของผู้ตายมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเคสของของลูก แกก็เลา่ว่า ผู้ตายก่อนที่เขาจะตาย เขาแปลกใจว่าทำไมหมอมีท่าทีเปลี่ยนไป จริงๆ เขาก็ยอมรับได้ว่าเขาจะต้องตาย แต่ว่าถ้าเพียงแต่หมอไม่เหินห่างจากเขา เพียงแค่ยิ้มให้เขาก็พอ เขาก็พอใจแล้ว เขาไม่ได้คาดหวังอะไรว่าหมอจะต้องรักษาให้หาย เขาไม่ได้โทษหมอเลยนะที่รักษาเขาไม่ได้ แต่ทำไมหมอไม่พูดคุยกับเขาเลย ไม่แม้แต่จะยิ้มให้เขา
หมอเจ้าของไข้ก็เลยชี้แจงว่า เขาเองมีคนไข้เยอะ แล้วเขาก็รู้สึกว่าในเมื่อคนไข้คนนี้เขาช่วยไม่ได้ ก็อยากจะเอาเวลาไปช่วยคนไข้คนอื่นที่มีโอกาสจะหาย เป็นเหตุเป็นผลดีนะที่ว่าในเมื่อช่วยคนไข้คนนี้ไม่ได้ก็ควรจะเอาเวลาไปช่วยคนไข้คนอื่น แต่แม่คนไข้ก็บอกว่า ลูกเข้าใจแล้ว ลูกไม่ได้คาดหวังอะไรจากหมอเลยนะ เพียงแค่หมอทักทายแค่ยิ้มให้เขา เท่านี้ก็พอใจแล้ว
หมอไม่เข้าใจว่าแค่ยิ้มให้คนไข้นี่มันมีความหมายกับเขา แล้วหมอไม่ต้องทำหัตถการก็ได้ แต่หมอเข้าใจว่า ตัวเองจะทำอะไรได้ ต้องเป็นเรื่องของหัตถการ ไม่ได้เข้าใจมิติของความรู้สึกว่า เพียงแค่ทักทายคนไข้ เพียงแค่ยิ้มให้เขา ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้นก็พอแล้ว มันมีความหมายกับคนไข้เพราะว่าคนไข้จำนวนไม่น้อยต้องการแค่นี้จริงๆ นะ เพียงแค่นี้ก็มีความหมาย
ผู้ก่อตั้งคณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ วิลเลียม เวลส์ เคยพูดถึงพ่อของเขา พ่อก็เป็นหมอเหมือนกัน เขาบอกว่าพ่อเขาเข้าไปที่วอร์ดคนไข้ คนไข้ทุกคนรู้สึกอาการดีขึ้น เพียงคนไข้เห็นหน้าหมอ คนไข้ก็อาการดีขึ้น หมอไม่ได้ทำอะไรแต่คนไข้เห็นหน้าหมอ เห็นรอยยิ้ม เห็นความมั่นใจ เห็นเมตตา คนไข้รู้สึกดีขึ้นเลย และความศรัทธาด้วย พลานุภาพการรักษาไม่ได้อยู่ที่หัตถการอย่างเดียว มันอยู่ที่ใจ ความอ่อนโยน เมตตา รอยยิ้ม แววตาของหมอด้วย บางทีหมอไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ยิ้มให้คนไข้นี่มันช่วยคนไข้ได้เยอะ หรือแม้กระทั่งอยู่ข้างเตียงเมื่อคนไข้ใกล้ตาย
มีหมอคนหนึ่งเล่าว่า สมัยเป็นหมอชนบทอยู่ที่ห้วยแถลง โคราช ดูแลคนไข้คนหนึ่ง เป็นคุณลุงอายุสักหกสิบได้ แกเป็นมะเร็ง แล้วคุ้นเคยกัน เช้าวันหนึ่งตอนที่ไปราวนด์คนไข้ คนไข้คนนี้บอกว่าหมอ วันนี้หมออย่าไปไหนนะ ปกติหมอคนนี้จะต้องออกพื้นที่ แต่วันนั้น ทั้งวันหมอไม่ไปไหน เพราะแกรู้ว่ากำลังจะมีอะไรเกิดขึ้น ตอนบ่ายลูกของคนไข้ก็มาตามหมอบอกว่า พ่อแย่แล้ว คุณหมอก็ไป ไปนั่งข้างเตียงคนไข้ คนไข้เห็นหมอมา สบายใจ แล้วสุดท้ายก็ไปสงบ
คุณหมอบอก แกภูมิใจมากเลยนะว่า ในโมเม้นท์นั้นแกได้ช่วยคนไข้จากไปอย่างสงบ แล้วก็ภูมิใจที่คนไข้นึกถึงแกในเวลาที่เขากำลังจะจากไป คุณหมอไม่ได้ทำอะไรเลย แค่นั่งเฉยๆ ข้างเตียงคนไข้ที่กำลังจะตาย แต่แค่นี้มันมีความหมาย คุณหมอไม่ต้องทำหัตถการเลยก็ได้ เพราะเมตตา ความเป็นมิตร มันเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยได้
มีเด็กคนหนึ่งอายุ 17 เป็นมะเร็งกระดูก ชีวิตแกน่าสงสารมากเลย แกกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 2 ขวบ พ่อแม่ตายเพราะเอดส์ แล้วยายก็เลี้ยงดูแกมาเลี้ยงแบบลำบากลำเค็ญ เมื่อแกเป็นมะเร็งกระดูกก็อายุสัก 13-14 ก็ไปรักษาที่ รพ มหาราช แต่ว่ารักษาได้ไม่นานแก บอกขอกลับบ้าน แกห่วงยาย เพราะทั้งชีวิตแกมียายคนเดียว ยายก็เก็บขยะ แกอยากไปอยู่ใกล้ยาย อยากไปช่วยยาย แต่แล้วอาการแกก็หนักมากขึ้นจนกระทั่งต้องมารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบ้านเกิดที่บุรีรัมย์
ตอนที่แกอยู่ในระยะท้ายมีคืนหนึ่ง พยาบาลจะมาให้ยาระงับปวด เด็กคนนี้ก็ถามว่าคุณหมอให้อะไรผม ถ้าเป็นยาระงับปวดไม่ต้องนะ ผมไม่ปวด ผมไม่ต้องการ พยาบาลก็เชื่อ แล้วแกก็พูดอีกหน่อยว่า ผมขออย่างหนึ่งได้ไหม เขาขออะไร ขอจับมือจับแขนพยาบาล พยาบาลก็ให้จับนะ แล้วแกจับนานถึงครึ่งชั่วโมง พยาบาลก็เมตตามาก ให้จับโดยที่ไม่ขยับเลย จนกระทั่งเพื่อนพยาบาลด้วยกันถามว่าไม่มีอะไรทำหรือไง ไปให้มันจับอย่างนั้น ต้องไปฉีดยาอีกตั้งเยอะตั้งแยะ แล้วแผลของคนไข้มากมายก็ยังไม่ได้ทำ
คนไข้พอได้ยินก็บอกว่า คุณหมอเท่านี้ก็พอครับ ทั้งชีวิตผมขอเท่านี้ก็พอแล้วครับ แล้วคืนนั้นแกก็ไปอย่างสงบ แกเลือกจับแขนพยาบาลคนนั้น เพราะแกเห็นพยาบาลคนนั้นมีเมตตาดูแลแกมาด้วยความใส่ใจ พยาบาลคนอื่นอาจจะไม่ใส่ใจเท่าพยาบาลคนนี้ และอาตมาคิดว่าแกเป็นคนที่โหยหาความรัก เพราะแกเป็นเด็กกำพร้าอยู่กับยาย แล้วมาถึงวันที่แกจะตาย แกก็คิดว่าถ้าแกได้รับความเมตตา ได้สัมผัสกับคนที่แกรักหรือคนที่รักแก เท่านี้ก็พอใจ นี่เป็นการช่วยคนไข้ไปสงบที่น่าประทับใจ
พยาบาลไม่ได้ทำหัตถการอะไรเลยแต่พยาบาลเข้าใจความรู้สึกของเด็กคนนี้ ว่าเป็นคนเป็นคนที่ต้องการความรัก ต้องการความเมตตาแล้วเมื่อถึงเวลาที่เขาจะตายก็มอบสิ่งนั้นให้เขา ไม่ใช่ต้องทำหัตถการ พยาบาลไม่ได้ใช้ยาแต่ใช้ใจ และสิ่งนี้บางทีพยาบาลไม่เข้าใจ พยาบาลคนอื่นไม่เข้าใจ ไปให้มันจับทำไมตั้งครึ่งชั่วโมงงานอื่นก็มีเยอะแยะ แต่มันมีความหมายสำหรับเด็กคนนี้
อันนี้เป็นตัวอย่างว่าส่วนที่แพทย์พยาบาลทำได้ แม้ว่าจะไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ แม้ไม่สามารถทำหัตถการอะไรได้แล้ว แต่ความเมตตากรุณามันช่วยเยียวยา ช่วยบรรเทาความทุกข์และทำให้เขาไปสงบ
อีกรายหนึ่ง เป็นเด็ก 9 ขวบป่วยลูคีเมียในระยะท้าย สัญญาณชีพแย่หมดแล้วเด็กคนนี้มารักษาตัวระยะท้ายอยู่ที่บ้าน คุณหมอก็มาเยี่ยม ตอนที่คนไข้อยู่ในระยะท้ายแกก็ไม่ค่อยตอบสนองอะไรแล้ว แต่ก็เห็นได้ชัดว่าแกยังไม่ยอมตาย คุณหมอสังเกตเด็กคนนี้ว่าชอบวาดภาพ ภาพที่วาดนั้นมันมีแค่เรื่องเดียวคือ พ่อแม่ลูก มาทีไรก็เห็นแต่ลูกกับแม่ หมอเอะใจเลยถามว่าพ่ออยู่ไหน แม่ของเด็กบอกว่าหย่ากันได้ 2-3 ปีแล้ว หมอบอกว่าไปเรียกพ่อมานะ เพราะภาพมันบอกเลยว่าเด็กเขาต้องการอะไร
ทีแรกแม่ไม่ยอม แต่สุดท้าย พอหมอรบเร้า ก็ไปเรียกอดีตสามีหรือพ่อของเด็กมา พอมาถึง พ่อคุยกับลูก ลูกรับรู้ได้ ลูกลืมตาแล้ว ทำอย่างไร จับมือของพ่อมาวางไว้ที่อกตัวเองข้างหนึ่ง จับมือของแม่มาไว้ที่อกตัวเองอีกข้้างหนึ่ง แล้วก็หลับตา สีหน้ามีความสุข แล้ว วันสองวันแกก็ไป นี่ก็เป็นวิธีการช่วยผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ โดยที่หมอไม่ได้ทำหัตถการอะไรเลย แต่หมอเข้าใจความรู้สึกของเด็ก สิ่งที่หมอทำมีความหมายมากเลย ทั้งกับเด็ก ทั้งกับแม่และพ่อของเขา
อาตมาพูดเพื่อชี้ให้เห็นว่าในการช่วยผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ เป็นอะไรที่มากไปกว่าการบรรเทาความทุกข์หรือว่าการทำอะไรกับร่างกาย แต่มันคือการให้ความใส่ใจต่อจิตใจของผู้ป่วยซึ่งเทาที่อาตมาทราบ หลักสูตรการแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ไม่ได้สอน แต่มันคือสิ่งที่หมอและพยาบาลเรียนรู้จากประสบการณ์จากการรักษาคนไข้
ทั้งหมดที่อาตมาพูด ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์ แต่มันมีความหมายสำหรับผู้ป่วย และอาตมาเชื่อว่า ถ้าเราเห็นว่าโรงพยาบาล หน้าที่หรือภารกิจอย่างหนึ่งคือ การช่วยผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ อาตมาคิดว่ามิตินี้สำคัญ
และสิ่งที่อาตมาอยากจะพูดเพิ่มเติมถึงเรื่องของผู้ดูแล ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะแพทย์ พยาบาล แต่รวมไปถึงญาติ อาจจะเป็นพ่อ อาจจะเป็นแม่ อาจจะเป็นสามี อาจจะเป็นลูก การดูแลคนไข้ทั้งผู้ป่วยระยะท้าย หรือผู้ป่วยหนัก มันเป็นงานที่หนัก แต่ว่ามันต้องอาศัย ทัศนคติที่เกื้อกูลหลายอย่าง เพราะมันจะช่วยคนไข้ได้ แล้วมันจะช่วยผู้ดูแลด้วย อาตมาคิดว่าสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การยอมรับผู้ป่วยอย่างที่เขาเป็น
คนเราเวลาป่วยเขาจะกลายเป็นอีกคน บางทีกลายเป็นคนที่อ่อนแอ กลายเป็นคนงอแง กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ เราไม่เคยเป็นคนป่วยเราไม่รู้สึกหรอก แต่พอเราป่วย เราจะรู้เลยว่าเราเปลี่ยนไปโดยเฉพาะถ้าป่วยหนักหรือป่วยระยะท้าย ยิ่งถ้าป่วยแบบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ด้วยมันกลายเป็นคนละคนเลย ถ้าผู้ดูแลไม่เข้าใจตรงนี้จะทุกข์มาก หรือมิเช่นนั้นก็จะไปสร้างความทุกข์ให้กับผู้ป่วย เช่นเห็นผู้ป่วยงอแงจู้จี้กินอะไรก็ไม่ได้ อยากจะให้ไปซื้อเย็นตาโฟ ซื้อมาแล้วกินนิดเดียวกินคำเดียวก็ไม่เอาแล้ว จะกินข้าวขาหมู ทำไมผู้ป่วยมันเรื่องมากแบบนี้ หงุดหงิด ผู้ดูแลก็ทุกข์นะ ผู้ป่วยก็ทุกข์
แต่อาตมาเชื่อว่า ต้องเข้าใจเขาอย่างที่เขาเป็น ถ้าเราอยากจะช่วยเขา ต้องเข้าใจเขา ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น บางทีเราไปบอกว่าสู้ๆ สิ เข้มแข็งสิ เขาอาจจะนึกในใจแต่ก็ไม่พูดออกมา กูก็เข้มแข็งอยู่แล้ว มึงมาเป็นกูสิจะสู้ๆ กว่านี้ได้ไหม
หรือว่าคนที่โดนฉีดคีโมหรือฉายแสงนี่ เขากลายเป็นคนละคนเลย แล้วคนดูแลก็ไม่เข้าใจ ทำไมอ่อนแอนะ ทำไมเรื่องมากนะ อันนี้คือสิ่งที่ผู้ดูแลต้องเข้าใจ ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น แล้วเข้าใจว่า ตระหนักว่าสิ่งที่คนไข้ต้องการ เขาต้องการคนเข้าใจ เขาไม่ต้องการคนมาสั่งสอน
มีการสอบถามความต้องการหรือความรู้สึกของผู้ป่วยระยะท้ายในอเมริกา เขาบอกว่า สิ่งที่ผู้ป่วยไม่ชอบสูงสุด มี 5 ประการ ประการแรกคือคำแนะนำสั่งสอน สู้ๆ เข้มแข็งสิ ปล่อยวางสิ ประการที่สองคือคำปลอบใจว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวก็หาย ทำไมเขาไม่ชอบ เพราะมัน ไม่ใช่ความจริง เขาก็รู้ ในคน 100 คนมาเยี่ยม จะมี 99 คนก็พูดแบบนี้แหละ ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย ทั้งๆ ที่อยู่ในระยะท้ายแล้ว มันกลายเป็นคำที่กลวง คำแนะนำ สั่งสอน คนไข้เขาไม่ค่อยชอบ สิ่งที่เขาปรารถนาคือความเข้าใจ
อาตมาเคยอบรมคนที่สนใจเรื่องความตาย การตายอย่างสงบ วันสุดท้ายจะให้จับคู่ไปเยี่ยมผู้ป่วย ก็มีคู่หนึ่งไปเยี่ยมผู้ป่วยคนหนึ่งเป็นคุณลุง แกแสดงความปวดออกมา ลูกชายก็อยู่ข้างๆ เตียงก็ไม่ได้พูดอะไร จิตอาสาแนะนำตัวแล้วเห็นคนไข้ปวดมาก คนไข้บอกว่าปวด แกครางออกมาว่าปวด จิตอาสาเลยถามคุณลุงว่า ปวดนี่ปวดอย่างไรคะ คนไข้ชอบมากเลยนะคำถามนี้
ทำไมถึงชอบ แกบอกว่าไม่เคยมีใครถามแกแบบนี้เลย เวลาแกปวดก็มีแต่คนบอกว่าให้อดทนๆ หมอก็พูดแบบนี้ พยาบาลก็พูดแบบนี้ อดทนๆ แต่ไม่เคยมีใครถามเลยว่าที่แกปวด ปวดอย่างไร รู้สึกอย่างไร
อาตมาเชื่อว่านี่คือภาพสะท้อนของคนไข้ ที่เขาต้องการคนเข้าใจเขา เข้าใจว่าทำไมเขาอ่อนแอ เข้าใจว่าทำไมเขาปวด ทำไมเขาห่อเหี่ยว ไม่ใช่ต้องการคำแนะนำสั่งสอน แล้วสิ่งที่ไม่ต้องการมากสุดคือการบังคับ อันนี้ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ผู้ป่วยระยะท้ายไม่ชอบ คือการถูกบังคับ เพราะว่าพอป่วยทีไรมีแต่คนสั่ง มีแต่คนบังคับแม้กระทั่งพนักงานทำความสะอาดก็สั่ง ก็บังคับ
มีเคสหนึ่งน่าสนใจ ผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะท้ายแล้วก็ผ่านการฉายแสงผ่านการฉีดคีโมมา เมื่อออกจากโรงพยาบาลลูกก็พาแม่ซึ่งเป็นผู้ป่วยอายุราว 60-70 ไปเที่ยว ไปเปลี่ยนบรรยากาศ ก็ไปที่เชียงใหม่ กลับจากดอยสุเทพเย็นก็ไปกินอาหาร ไปร้านข้าวต้มปลาที่มีชื่อ สั่งข้าวต้มปลามาให้แม่ แต่แม่ไม่ยอมกินไม่ยอมแตะเลย เอาแต่อุ้มหลานเดินไปรอบๆ โต๊ะ
ลูกเห็นแม่นี่ก็ผอม อุตสาห์สั่งข้าวต้มปลาราคาแพงมาให้ แต่แม่ไม่กินเเลย ก็ต่อว่าแม่ ทำไมแม่กินยากกินเย็นแบบนี้ ทำไมไม่กินข้าวต้มปลา ทำไมแม่ไม่รักษาตัวเอง ทำไมไม่ดูแลตัวเองให้ดี
ตกค่ำ แม่กับลูกนอนห้องเดียวกัน ลูกนอนได้สักพักก็ได้ยินเสียงแม่ร้องไห้ เลยถามว่าแม่เป็นอะไร แม่บอกแม่เสียใจที่ลูกมาว่าแม่ แม่กินข้าวต้มปลาไม่ได้จริงๆ แม่เกลียดข้าวต้มปลาเพราะตอนที่แม่อยู่โรงพยาบาล แม่ฉายแสงนะมันทุกข์ทรมานมากเลย โรงพยาบาลทำ ข้าวต้มให้กินนี่กินไม่ได้เลย แม่เกลียดทุกอย่างที่เป็นของโรงพยาบาล พอมาเจอข้าวต้มปลาแม่เลยกินไม่ลง เพราะนึกถึงความทุกข์ทรมานที่โรงพยาบาล แต่แม่กลับถูกลูกว่า แม่เลยเสียใจ
ปรากฏว่า พอลูกเข้าใจความรู้สึกของแม่ กอดแม่เลย บอกว่าลูกขอโทษ อันนี้แสดงถึงความไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วย ผู้ดูแลถ้าเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วย ตัดสินให้น้อยลง ยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น ก็จะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่น อาตมาคิดว่าสิ่งที่สำคัญคือการรู้จักให้อภัยด้วย
ผู้ดูแลหลายคนเป็นลูก ผู้ป่วยเป็นแม่ ลูกสาวหลายคนไม่ชอบแม่ เสียใจที่แม่รักลูกชายแล้วก็ขุ่นเคืองที่แม่ชอบต่อว่าด่าทอ บางทีรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่แม่รักคนอื่นมากกว่าตัวเอง อย่างมีคนหนึ่งดูแลแม่ที่เป็นอัลไซเมอร์ พยาบาลก็สังเกตเห็นว่าแม่กับลูก ลูกซึ่งเป็นผู้ดูแลแม่ เหินห่างกันมาก ลูกไม่ค่อยพูดคุยกับแม่
ตอนหลังก็เลยทราบจากลูกว่า เธอเป็นลูกคนสุดท้อง แม่ไม่ค่อยรักลูกคนนี้เท่าไหร่เพราะเรียนไม่ค่อยเก่ง แม่รักพี่สาวมากกว่า ส่งเสริมพี่สาวเรียนจบมหาวิทยาลัย แต่เธอเรียนจบแค่ประถม จบแล้วก็ไปทำนา แต่พี่สาวนี้ได้ดิบได้ดี แต่ตัวเธอต้องทำนา พอมีสามีพอจะลืมตาอ้าปากได้แม่ก็มาขอยืมเงินลูกสาวคนสุดท้อง เอาไปส่งเสียเป็นค่าเล่าเรียนให้กับพี่สาว
แต่เวลาแม่ป่วยแม่ก็ไม่รู้ว่าจะพึ่งใคร ต้องมาพึ่งเธอ ให้มาดูแล เธอก็รู้ว่าเป็นหน้าที่ แต่ก็ดูแลเหมือนกับขอไปที เพราะน้อยเนื้อต่ำใจ แล้วก็น้อยเนื้อต่ำใจมากขึ้นในเวลารู้ว่าพี่สาวจะมาเมื่อไหร่ เช่นจะมาเยี่ยมตอน 6 โมงเย็น แม่จะคอยดูนาฬิกาเมื่อไหร่จะ 6 โมงเย็นสักที พอพี่สาวมา แม่กระดี๊กระด๊าดีใจ แต่พอพี่สาวไปแม่ก็หงอย เหมือนจะไม่อยากอยู่ใกล้ตัวเธอเท่าไหร่ ตัวคนที่ดูแลก็มีความทุกข์ เพราะว่ามีความเจ็บช้ำน้ำใจในผู้เป็นแม่
หรือบางทีคนที่ดูแลอาจจะรู้สึกว่าพ่อไม่รักครอบครัวไปมีเมียน้อย พอพ่อป่วยขึ้นมาก็ต้องกลับมาตายรังให้ตัวเองต้องดูแล บางทีโกรธพ่อที่เล่นการพนัน กินเหล้าทำร้ายแม่ แต่เวลาป่วย ตัวเองต้องมาดูแล อาตมาคิดว่า ถ้ายังมีปมแบบนี้มันยาก สิ่งเดียวที่ช่วยได้คือการให้อภัย ในขณะเดียวกันผู้ดูแลก็ต้องการการเยียวยาเหมือนกัน
ตัวอย่างคนที่อาตมาเล่ามาสักครู่ที่น้อยเนื้อต่ำใจ แม่ไม่รักตัวเองเท่าไหร่ ไปรักพี่สาว แต่เวลาป่วยต้องให้ตัวเองมาดูแลแม่ พอเธอเล่าเรื่องนี้ให้พยาบาลฟัง พยาบาลรู้เลยนะว่าคนดูแลต้องการกำลังใจต้องการการเยียวยาด้วย ก็เลยชมว่า หนูเป็นคนที่เสียสละ เข้มแข็ง น่าชื่นชมมาก เสร็จแล้วสวมกอด
พยาบาลสวมกอดผู้ดูแลซึ่งเป็นลูกของผู้ป่วย เธอร้องไห้น้ำตาทะลักทะลายออกมาเลย แล้วเธอก็บอกว่า ไม่เคยมีใครกอดหนูเลย พี่กอดหนูเป็นคนแรก เพราะแม้แต่แม่ก็ไม่เคยกอดหนูเลย เธอร้องไห้ด้วยความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมาก แต่ว่าการกอดของพยาบาลทำให้เธอมีกำลังใจ มันเยียวยาจิตใจ มันเยียวยาความเจ็บปวดของเธอ
คนที่ดูแลต้องการการเยียวยา ต้องการการเอื้อเฟื้อ เพราะเขาเหนื่อยมาก บางคนมีความเหนื่อยสะสมตั้งแต่อดีตแล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจผู้ดูแลด้วย ในขณะที่เราเรียกร้องผู้ดูแลให้เข้าใจคนป่วย ผู้ดูแลก็ต้องการความรัก ต้องการความเข้าใจเหมือนกัน และต้องการกำลังใจเพราะเขาเหนื่อยมาก
แล้วยังเคยพบว่าผู้ดูแลจำเป็นต้องได้รับการพักบ้าง แล้วเวลาพักต้องไม่รู้สึกผิด บางคนก็รู้สึกผิดว่าจะมาพักในขณะที่แม่กำลังป่วย หรือไม่ก็รู้สึกกังวลจะไปเที่ยว ใจก็ไม่ได้พักหรอก เพราะห่วงพ่อห่วงแม่ที่ป่วย รู้สึกผิดที่เรามาเที่ยว แต่ว่าการพักจำเป็นนะ เพราะว่าจะ ทำให้เรามีสายป่านที่ยาวที่จะมีกำลังช่วยดูแลผู้ป่วยต่อไปด้วยคุณภาพที่ดี ไม่ใช่ดูแลเขาด้วยใจที่หงุดหงิด อารมณ์เสีย ซึ่งมีแต่จะส่งต่อความทุกข์ให้กับผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัว
และอีกประการที่สำคัญที่ผู้ดูแลต้องมี ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นคนรัก คนใกล้ชิด คือต้องอยู่กับปัจจุบันอย่าไปอยู่กับอนาคตมาก เคยมีผู้ชายหนึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้แล้วก็มารักษาที่บ้าน ภรรยาเป็นผู้ดูแลเมื่อผู้ป่วยอาการหนัก ภรรยาก็กลุ้มใจเครียดมากเพราะเธอคิดไปข้างหน้าเลยว่า ถ้าสามีตาย ใครจะส่งเสียลูก ลูกจะอยู่อย่างไร และเธอจะอยู่อย่างไร คิดแบบนี้เข้าก็เลยห่อเหี่ยว เครียด กินไม่ได้นอนไม่หลับ ผ่ายผอม แล้วก็เขียนจดหมายมาถามอาตมาว่าควรจะทำอย่างไร
อาตมาก็บอกว่าเห็นใจเธอนะที่ต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะเตือนก็คือ สามีเธอยังไม่ตาย สามียังมีชีวิตอยู่ ขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่มันคือนาทีทอง ใช้เวลาช่วงนี้ให้ดีที่สุดอย่าเพิ่งไปกังวลกับอนาคต เพราะถ้าไปพะวงกับอนาคตก็จะทำให้ห่อเหี่ยว ให้ใส่ใจอยู่กับปัจจุบัน ขณะที่เขาอยู่กับเรา ใช้เวลาช่วงนี้ให้ดีที่สุด ทำความดีให้กับเขารวมทั้งมีความสุขร่วมกัน พยายามนอนให้หลับพักผ่อนให้เพียงพอ
เพราะว่าถ้าคุณมีความสุข ความสุขของคุณก็จะถ่ายเทไปสู่ผู้ป่วย คุณอาจจะช่วยดูแลร่างกายเขาไม่ได้ แต่คุณช่วยดูแลจิตใจเขาได้ด้วยการรักษาใจของตัวให้ดี แล้วถ้าใจดีสุขภาพดีก็ช่วยทำให้คนไข้ก็พลอยได้รับสิ่งดีๆ จากคุณไปด้วย ปรากฏว่าผู้ที่ถามนี่ภายหลังเขาก็ตอบมาว่า เข้าใจที่อาตมาแนะนำ ตอนนี้ก็กลับมาดูแลตัวเอง กลับมากินกลับมาพัก แล้วก็พยายามใช้เวลาที่มีอยู่ให้ดีที่สุด ยิ่งเวลาเหลือน้อยยิ่งต้องเป็นเวลานาทีทอง
ประการสุดท้ายที่อาตมาคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ดูแล คือหากคนที่เรารักเขาถึงระยะท้าย การช่วยให้เขาไปอย่างสงบดีกว่าการยื้อ เพราะแม้จะยื้อและทำให้เขามีลมหายใจยืนยาว แต่เขาอาจทุกข์ทรมานก็ได้ ในขณะที่การไปอย่างสงบอาจทำให้เขาได้พบความสงบในวาระสุดท้าย สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่คนไข้ต้องการจากเรา คือคำยินยอมให้จากไป
อาจารย์พรหม วังโส ท่านเป็นพระชาวอังกฤษ แต่ตอนหลังท่านไปสร้างวัดที่ออสเตรเลีย ท่านมีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อสตีฟ สตีฟป่วยหนักจนกระทั่งไม่รู้สึกตัวไปแล้ว แต่ก็ไม่ตายสักที วันหนึ่งท่านก็เลยไปเยี่ยมสตีฟแต่แทนที่จะคุยกับสตีฟเมื่อไปถึง ท่านคุยกับแฟนสาว ถามประโยคหนึ่งว่า คุณอนุญาตให้สตีฟไปหรือยัง
แฟนสาวได้ยินก็อึ้งเลย แล้วก็นึกขึ้นได้ ก็เลยขึ้นไปบนเตียง แล้วก็กอดสตีฟไว้บอกว่า สตีฟ ฉันอนุญาตให้เธอไปแล้วนะ หลังจากนั้นสองสามวันสตีฟก็ไป คนไข้บางคนเขาไม่ไปนะจนกว่าคนที่เขารักจะให้ไฟเขียวหรือนุญาตให้เขาไป ถ้าสามีเขายังอยู่เขายิ่งทุกข์ทรมาน ยิ่งผู้ดูแลยื้อเขาไว้ หรือไม่ให้ไฟเขียวเขาก็ไม่ยอมไปเหมือนกัน จนกว่าเขาจะได้ไฟเขียว
คุณยายคนหนึ่งมารักษาตัวที่โรงพยาบาล อล้ววันหนึ่งก็หัวใจหยุดเต้น เมื่อปั้มหัวใจขึ้นมาแม้จะสำเร็จแต่ว่าคุณยายก็เหมือนกับไม่รู้สึกตัว คุณยายเป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาก เพื่อนบ้านจึงรักแล้วก็มาเยี่ยมกันเยอะ ทุกคนจะพูดคล้ายๆ กันว่า หายไวๆ นะจะได้กลับไปเล่นไปเที่ยวกัน แต่คุณยายก็ไม่ตอบสนอง
ผ่านไปเป็นเดือน วันหนึ่งลูกชายซึ่งดูแลแม่มาตลอด เช็ดตัวแม่ เห็นแม่น้ำตาไหลเกิดสังหรณ์ใจขึ้นมาก็เลยถามแม่ว่า แม่เหนื่อยไหมแม่ทรมานไหม ถ้าแม่เหนื่อยแม่ทรมานแม้ไปได้เลยนะ เสร็จแล้วก็ชวนแม่สวดมนต์นั่งสมาธิ ซึ่งทำเป็นปกติทุกวันแต่คราวนี้พอทำไปได้สักห้านาที สัญญาณชีพของแม่ก็แบนราบ แม่ไปช่วงจังหวะนั้นพอดี เพราะอะไร เพราะได้ไฟเขียวจากลูกแล้ว แม่เกรงใจนะถ้าไปโดยที่ลูกชายไม่อนุญาต แต่พอลูกชายอนุญาตแล้ว ถ้าแม่เหนื่อยแม่ทรมานแม่ไปได้เลย ไม่ต้องห่วงผม
เพราะฉะนั้นบางทีการอนุญาตให้คนไข้ไป เป็นสิ่งที่คนไข้ปรารถนาก็ได้ ในขณะที่เรายื้อเอาไว้ กลับทำให้เขาต้องทุกข์ทรมานมากขึ้น
สิ่งสำคัญสุดท้ายที่อาตมาอยากจะย้ำคือว่า สำหรับผู้ป่วยระยะท้ายบางทีสิ่งที่เขาต้องการอาจจะไม่ใช่การดูแลทางกาย อาจไม่มากเท่ากับการดูแลทางจิตใจ คุณหมอสุมาลี นิมมานนิตย์ ซึ่งเป็นแพทย์ใหญ่ศิริราชเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต ท่านเสียชีวิตไปสิบกว่าปีแล้ว ท่านเล่าว่าวันหนึ่งมีพยาบาลมาเล่าเคสผู้ป่วยคนหนึ่งอายุ 70 ปี อวัยวะต่างๆ เสียหมดแล้ว รวมทั้งไต ตอนที่มาโรงพยาบาลนี้ก็หมดสภาพไปแล้ว แต่ลูกสาวยังบอกหมอว่าทำเต็มที่เลย ถ้าแม่เป็นอะไร ปั๊ม และแน่นอนแม้ไตวายก็ต้องล้างไตด้วย
คุณหมอสุมาลีพอได้ฟังเคสนี้ ก็ขอคุยกับลูกสาวในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางโรคไตว่า อาการของแม่นี่ แม้ล้างไตไปก็ไม่เกิดประโยชน์ แถมเป็นอันตรายเพราะอวัยวะต่างๆ ตอนนี้แย่หมด แล้วก็พูดต่อไปว่า คุณจะเชื่อเรื่องจิตสุดท้ายหรือไม่ก็ตาม ตอนนี้สิ่งที่แม่ต้องการคือความสงบในจิตใจ ถ้าลูกพูดถึงสิ่งที่ดี เรื่องบุญกุศลที่แม่ได้ทำหรือความสุขที่ได้ทำร่วมกัน เพื่อให้จิตใจแม่เกิดความสงบ แล้วถ้าแม่ไปตอนนั้นก็จะไปดีนะ
คุณหมอสุมาลีพูดจบ ลูกสาวตาเป็นประกายเพราะไม่เคยได้ยินได้ฟังแบบนี้จากหมอ แล้วก็ขอตัวไปหาแม่ ก็คงจะไปทำตามที่คุณหมอแนะนำ แล้วก็คงเห็นว่าแม่มีอาการตอบสนองที่ดีขึ้น ออกมาจากห้องของแม่ ลูกสาวก็พูดกับพยาบาลว่า เข้าใจที่คุณหมอพูดแล้ว ถ้าแม่เป็นอะไรไม่ต้องปั๊มแล้วนะ เข้าใจว่ายังไง เข้าใจว่า สิ่งที่ดีที่สุดของคนไข้ในยามนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องการดูแลทางกาย หรือการแทรกแซงทางกาย แต่ดูแลทางจิตใจ และนี่คือสิ่งที่ลูก สามี ภรรยา พ่อ แม่ สามารถทำได้
ในขณะที่การดูแลทางกายนี่ก็มีแต่หมอและพยาบาลที่ทำได้ แต่เรื่องของจิตใจนี่ญาติสนิทมิตรสหายทำได้ และเป็นสิ่งที่ควรทำด้วย
อาตมาก็ใช้เวลาพอสมควรแล้ว ขอยุติการบรรยายเพียงเท่านี้ เจริญพร.