แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 14 เมษายน 2566
ที่นี่เราเน้นหนักเรื่องการเจริญสติ การสอนการบรรยายจะหนักไปในทางการเจริญสตินี่แหละ รวมทั้งการทำความรู้สึกตัวให้เกิดมีขึ้น แต่ก็มีคนเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมมีเท่านี้ การปฏิบัติมีมากกว่านี้ ที่สำคัญก็ คือการรักษาศีล เริ่มจากศีล 5 เป็นเกณฑ์ต่ำสุด แต่ว่าที่นี่เราไม่ได้พูดถึงเรื่องศีล 5 มาก ก็เพราะว่าเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว สอนกันมาตั้งแต่เล็ก แล้วหลายแห่งหลายที่ก็สอนเรื่องนี้แหละ เรื่องความสำคัญของศีล โดยเฉพาะศีล 5 แต่ว่าที่สอนกันไม่มาก ก็คือเรื่องของจิตตภาวนา ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัว หรือการทำกรรมฐาน
อีกอย่างหนึ่งคนที่มาวัด ส่วนใหญ่ก็รู้ดีว่า การรักษาศีลเป็นสิ่งสำคัญ แล้วส่วนใหญ่ก็ดูแลตัวเองในส่วนนี้ดีแล้ว แต่ว่าสิ่งที่ยังทำไม่พอ ก็คือเรื่องของการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัว หรือว่าการบำเพ็ญจิตตภาวนา ที่จริงจะว่าไปแล้ว การที่คนเราจะมั่นคงในศีลได้ มันต้องมีการฝึกจิตกำกับด้วย หรือพูดอีกอย่างคือว่า นอกจากการรักษาศีลแล้ว ก็ต้องมีการต่อยอดด้วย หรือ backup ด้วยการเจริญสติ การทำความรู้สึกตัว ไม่อย่างนั้นการรักษาศีลของเราก็มีโอกาสที่จะบกพร่องได้ง่าย เพราะบ่อยครั้งถึงแม้เราอยากจะรักษาศีลให้ดี ให้ครบถ้วน แต่ถ้าเราไม่รักษาใจ ปล่อยให้กิเลสมันเฟื่องฟู ก็รักษาศีลได้ยาก เช่น ถ้าเกิดเราปล่อยให้ความโลภมันครองใจ เราก็เผลอไปลักขโมย ไปเอาทรัพย์สินของคนอื่นไป
ที่จริงคนที่สนใจเรื่องการทำกรรมฐาน ปกติก็มีความโลภน้อยอยู่แล้ว แต่ก็ประมาทไม่ได้ เคยมีโยมมาสนทนาธรรมกับอาตมากลุ่มหนึ่ง ก่อนกลับ อาตมาก็มอบหนังสือธรรมะให้กับโยมกลุ่มนี้ซึ่งก็มีหลายคน แล้วบอกเขาว่า เอาไปแจกให้เพื่อนๆ ด้วย หนังสือที่ให้ก็มีหลายหัว ก็ให้ไปกันคนละเล่ม ที่เหลือก็เอาไปให้เพื่อนที่ไม่ได้มาด้วย แต่ปรากฏว่าบางคนก็ไม่ได้เอาไปให้เพื่อน เก็บไว้เอง ทั้งที่ตัวเองก็ได้มาแล้ว 1 เล่ม แต่อยากได้อีก อยากได้ 2 เล่ม ก็เลยเก็บไว้เป็นของตัวเอง ไม่แจกให้เพื่อน อย่างนี้ก็ถือว่าทำไม่ถูกนะ เพราะว่ามันควรจะแจกให้เพื่อน ไม่ใช่เก็บไว้เอง
หลายๆ คนแม้ว่าความโลภจะน้อย แต่กิเลสที่มักจะมีมากก็คือความโกรธ ความไม่พอใจ รวมไปถึงความเกลียดด้วย เวลาเจอคนที่ทำตัวไม่น่ารัก เพื่อนร่วมงานที่ชอบเอาเปรียบหรือว่าชอบนินทา หลายคน พอเจอเพื่อนร่วมงานแบบนี้ ก็อดไม่ได้ที่จะตอบโต้ เขานินทาฉัน ฉันก็นินทาเขาบ้าง หรือบางทีอยากจะเอาชนะเขา เห็นเขาชอบปล่อยข่าวลือใส่ร้ายคนนั้นคนนี้ ตัวเองก็เลยทำบ้าง ปล่อยข่าวลือเกี่ยวกับคนนี้แหละ บางทีก็ใส่ร้ายเขา เพื่ออะไร เพื่อเอาชนะเขา เพราะว่าเขาเป็นคนไม่ดี เขารังแกคนอื่นอย่างไร ฉันก็ใช้วิธีเดียวกันจัดการกับเขา
บางทีไม่ใช่แค่นินทา ไม่ใช่ใส่ร้าย บางทีก็ปรักปรำเขาด้วย เพื่อจะให้เขาได้รับการลงโทษ บางทีหนักกว่านั้น ถึงขั้นสร้างหลักฐานเท็จ เพื่อที่จะเอาเขาให้อยู่หมัด หรือทำให้เขาถูกลงโทษให้ได้ หลายคนก็ไม่รู้สึกว่ามันผิดนะ หรือว่าสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว คนไม่ดีก็ต้องจัดการ แม้ว่าจะใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใส่ร้าย ปรักปรำ หรือว่าสร้างหลักฐานเท็จ เพื่อต้องการเอาชนะ แม้ว่าอาจจะบอกตัวเองว่า คนผิด คนไม่ดี สมควรต้องถูกลงโทษ สมควรที่จะถูกกำราบ แต่นั่นก็เป็นข้ออ้างของกิเลส กิเลสตัวที่ต้องการเอาชนะ เพราะว่ามีความโกรธความเกลียด เลยทำให้เผลอผิดศีลได้เหมือนกัน
เหมือนกับตำรวจที่ต้องการจับผู้ร้าย แต่ไม่เจอเขาทำผิดคาหนังคาเขา แต่รู้ว่าเขาไม่ดี ค้ายา ทำอย่างไรจะจับเขาได้ ก็ต้องเอาหลักฐานเท็จมายัดใส่ เช่น เอายามายัดไว้ในกระเป๋าของเขา ในรถของเขา ในบ้านของเขา จะได้มีข้ออ้างในการจับ และหลายคนก็รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมันเป็นผู้ร้ายขายยา แม้จะใช้วิธีที่ไม่ถูกต้องก็สมควรแล้ว เพื่อจะให้เขาถูกจับ แต่เป็นวิธีการที่ผิดกฎหมายนะ เรื่องการยัดยา แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าผิด เพราะมั่นใจว่าคนนี้เป็นผู้ร้าย ถ้าจับคาหนังคาเขาไม่ได้ ก็ต้องสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมา
บางทีคนที่ปรารถนาดี แต่ถ้าไม่ระวังหรือไม่เท่าทันกิเลส ก็อาจจะเผลอทำผิดหรือว่าทำชั่วได้ หรือว่าผิดศีลได้ อันนี้เป็นเพราะว่าไม่รู้ทันกิเลส หลงเชื่อข้ออ้างของกิเลสว่า ทำอย่างนี้ถูกต้องแล้ว คนชั่วคนไม่ดีก็สมควรจะถูกลงโทษ แต่ที่จริง เหตุผลลึกๆ ก็เป็นเพราะความโกรธ ความเกลียด หรือว่าความต้องการเอาชนะ ซึ่งก็เลยผลักให้เราทำผิดศีล
เพราะฉะนั้นคนเราถ้าหากว่าจะมั่นคงในศีลอย่างแท้จริง มันต้องรู้ทันกิเลส ไม่ว่าจะเป็นกิเลส ความโลภ หรือว่าความโกรธ ความเกลียด แล้วการที่เราจะรู้ทันกิเลสได้ ก็ต้องมีการฝึกจิต โดยเฉพาะการมีสติ เพราะสติเป็นเหมือนตาในที่ทำให้เราเห็นกิเลสที่พยายามครอบงำจิตใจ หรือคอยปั่นหัวเรา เพราะฉะนั้นการเจริญสติจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมให้เรามั่นคงอยู่บนหนทางของธรรมะได้ โดยเฉพาะการมีศีล ไม่ใช่เพียงแค่ทำให้เรามั่นคงอยู่บนความดี แต่อาจจะช่วยทำให้เราออกจากทุกข์ได้ง่ายด้วย เพราะความทุกข์ที่รบกวนเรา ส่วนใหญ่ก็เกิดจากความคิดผิด คิดไม่ถูก หรือว่าคิดเรี่ยราด ไม่อยู่กับปัจจุบัน รวมทั้งคิดระแวง และที่สำคัญคือมันมีกิเลสคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง
กิเลสมีหลายระดับ กิเลสที่หยาบก็คือความโลภ ความโกรธ แต่มันมีกิเลสระดับกลาง ละเอียดหน่อย จะเรียกว่าเป็นความหลงก็ได้ คือความหลงว่าฉันเป็นคนดี ฉันเป็นคนมีศีลธรรม ฉันเป็นคนเก่ง กิเลสตัวนี้สามารถที่จะทำให้เรามองไม่เห็นกิเลสอย่างหยาบ มองไม่เห็นความโลภ ความโกรธที่ครอบงำใจ การที่เราจะมีสติรู้เท่าทันกิเลสอย่างหยาบและกิเลสอย่างกลาง ต้องอาศัยการฝึก ฝึกด้วยการมาสังเกต รู้ทันความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจของเรา
ที่เรามาเจริญสติ ก็เพื่อให้เรารู้ทันความคิด เห็นความคิดที่เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ ความคิดที่สร้างความทุกข์ ความยุ่งเหยิง ความวิตกกังวลในจิตใจของเรา ถ้าเราเจริญสติถูก เราก็จะเห็นความคิดที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งๆ แต่ละเรื่องๆ แล้วไม่ปล่อยให้ครอบงำใจ ใหม่ๆ สำหรับคนที่ไม่เคยปฏิบัติ อาจจะใช้วิธีเฝ้าดูจิตใจ แต่ก็ต้องระวังอย่าไปดักจ้อง เพราะถ้าไปดักจ้องก็จะทำให้เราเครียด ดักจ้องบ่อยๆ ดักจ้องนานๆ ก็เครียด แถมยังทำให้เราไม่สามารถจะทำจิตในปัจจุบันขณะได้อย่างถูกต้อง เช่น ขณะที่เราเดินข้ามถนน ขับรถ ถ้าเราเอาแต่จ้องดูใจ ดูความคิด เราอาจจะโดนรถชน หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุได้
เพราะฉะนั้นจะรู้ทันความคิดได้ ท่านก็สอนให้มีสติอยู่กับกายก่อน ทำอะไรก็ให้มีสติรู้กาย แล้วพอมีสติรู้กาย พอใจเผลอหรือผละออกจากกายเข้าไปในความคิด ก็จะมีสติรู้ทันหรือเห็นความคิด พอเราเห็นสติบ่อยๆ เห็นสติได้ไว มันก็จะหลุดจากความคิด หรือทำให้ความคิดสงบลง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือใจที่สงบ แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต่อไปก็ต้องเห็นไปถึงขั้นความคิดที่ไม่ดีด้วย ถ้าเราเจริญสติบ่อยๆ เราจะไม่ใช่ว่าเห็นความคิดโน้นความคิดนี้ คิดถึงงาน นึกถึงลูกนึกถึงหลาน แต่จะเห็นความคิดที่ไม่ดี ความคิดที่เจือไปด้วยความโลภ ความคิดลบคิดร้าย หรือความระแวง ความเห็นแก่ตัว
คนเราถ้ารู้ทันความคิดแล้ว ต้องเห็นต่อไปถึงความคิดที่ไม่ดี ซึ่งบางทีเราอาจคิดว่าเป็นความคิดที่ชั่วร้ายก็ได้ นักปฏิบัติต้องผ่านจุดนี้ ถ้าเจริญสติแล้วเห็นแต่ความคิดทั่วๆ ไป แต่ไม่เห็นความคิดที่เจือด้วยกิเลสหรือความคิดที่ชั่วร้าย แสดงว่าถูกกิเลสอย่างกลางหลอกเอาแล้ว เพราะกิเลสอย่างกลางคือความหลงว่าฉันเป็นคนดี พอหลงว่าเป็นคนดี ก็เลยพยายามไม่ให้เราได้เห็นความคิดที่ไม่ดี ความอิจฉา ความคิดร้าย หรือว่าความเห็นแก่ตัว
หลายๆ คนที่ปฏิบัติและซื่อตรงกับตัวเอง ก็จะพบว่าความคิดที่ไม่ดีมีเยอะเหลือเกิน บางคนก็เลยบอกว่าไม่เคยคิดว่าฉันจะแย่แบบนี้ มีความคิดลบคิดร้ายเกิดขึ้น คิดเอาเปรียบเพื่อน บางทีก็คิดน้อยเนื้อต่ำใจ อิจฉา หรือการบ่นว่าพ่อแม่ผู้มีพระคุณ จะมีความคิดแบบนี้ผุดขึ้นมาซึ่งธรรมดามาก ใหม่ๆ หลายคนจะรู้สึกไม่ค่อยดีว่า ทำไมเรามีความคิดที่ชั่วร้ายเยอะเหลือเกิน แต่มันก็จำเป็นนะ เพราะเป็นขั้นตอนในการที่จะทำให้เราเห็นกิเลสที่อยู่เบื้องหลังความคิดนั้น คนเราถ้าปฏิบัติแล้ว เจริญสติแล้วไม่เห็นกิเลสที่อยู่เบื้องหลังความคิด แม้จะไม่ออกมาเป็นการกระทำ แสดงว่าเรายังไม่เห็นจริงจังเพียงพอ มันต้องเห็นลึกไปถึงกิเลสด้วย เห็นความโลภ เห็นความโกรธ เห็น ความเกลียด เห็นความยึดความอยาก ความหลงตัวว่าฉันดีฉันเก่ง ความอิจฉา ความพยาบาท ความเคืองแค้น เพราะคนเราก็มีกิเลสกันทั้งนั้น
การที่เราเห็นว่าเรามีกิเลสอย่างไร เห็นกิเลสมีประโยชน์ตรงที่ว่าจะทำให้เราไม่หลงตัวลืมต้น ว่าฉันเป็นคนดี ประเสริฐ ฉันดีกว่าคนนั้นคนนี้ เพราะที่จริงแล้วฉันก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆ แล้วจะทำให้เราไม่ประมาทในกิเลส ไม่เผลอให้กิเลสมาครอบงำใจเราได้ง่ายๆ คนที่ไม่เห็นกิเลส จะถูกกิเลสหลอกได้ง่าย แต่ถ้าเห็นกิเลสแล้ว จะไม่ยอมให้กิเลสมาหลอกต่อไป เมื่อปฏิบัติไป มีสติดูใจเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่า แม้กิเลสจะเยอะ แต่กิเลสไม่ใช่เรา แม้จะมีเสียงบ่นเสียงว่าพ่อแม่ผู้มีพระคุณ แต่นั่นไม่ใช่เรา อันนี้สำคัญมากเลยนะ เห็นกิเลสก็จริง แต่ก็เห็นต่อไปว่ากิเลสไม่ใช่เรา เห็นตรงนี้ก็รู้สึกแย่แล้วว่าทำไมฉันเป็นคนเลวแบบนี้ ทำไมมีความคิดชั่วร้ายแบบนี้ ที่จริงไม่ใช่ฉัน กิเลสไม่ใช่ฉัน เราอาจจะยังเอาชนะกิเลสไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถจะรักษาใจไม่ให้กิเลสครองใจ หลวง พ่อชาท่านบอกว่า การปฏิบัติไม่ใช่ให้กิเลสหรือเรา และไม่ใช่ให้เราหรือกิเลส แต่ให้เรารู้จักอยู่กับกิเลสอย่างมีสติ เหมือนน้ำกับใบบัว น้ำกับใบบัวอยู่ด้วยกัน แต่น้ำไม่ซึมเข้าบัวหรือไม่ทำให้ใบบัวเปียก
วันนี้เราเห็นกิเลสมากมาย แต่กิเลสก็ไม่ได้ครองใจเราตลอดเวลา มันมาเป็นครั้งคราว มันจรเข้ามา และแม้มันจรเข้ามา เราก็ไม่เผลอให้มันมาครอบงำใจ แล้วเราก็ไม่ลงโทษตัวเองว่าเป็นคนเลว คนแย่ เพราะ เห็นต่อไปว่ากิเลสไม่ใช่เรา มันเป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมา คนที่ไม่ปฏิบัติก็จะหลงตนว่าฉันเป็นคนดี ประเสริฐ เลิศ แต่พอปฏิบัติเข้า ถ้าปฏิบัติครึ่งๆ กลางๆ ก็จะรู้สึกว่าฉันแย่ๆ เหวี่ยงไปอีกทางหนึ่ง แต่พอปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่งก็จะพบว่า กิเลสพวกนี้ไม่ใช่เรา และต่อไปก็จะเห็นว่า ไม่ใช่แค่กิเลสนะ ความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ความโศก ความเศร้า ความเครียด ที่เราเรียกรวมๆ ว่าความทุกข์ก็ไม่ใช่เราเหมือนกัน มีความทุกข์ แต่ทุกข์ไม่ใช่เรา หรือเห็นว่ามีโกรธก็จริง แต่ว่าไม่เอา ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ว่าไม่เอา ไม่เอาเพราะมีสติรู้ทัน วางมันลงได้
อันนี้จะทำให้การฝึกจิตหรือการรู้จักตนมีความลึกซึ้งมากขึ้น ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูก มันก็จะเห็นแค่เห็นในเรื่องตื้นๆ เห็นแค่ความคิดที่ผุดขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ เห็นแล้วก็วาง เห็นแล้วก็วาง แล้วใจก็สงบ แต่ยังปล่อยให้กิเลสเล่นงานจิตใจเราได้ เพราะไม่เห็น ไม่รู้ทันมัน แต่ถ้าเราดูใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง เราก็จะเห็นกิเลสทั้งระดับกลาง ทั้งระดับหยาบที่เคยก่อกวนหลอกล่อเรา ต้องไม่ให้มันเข้ามามีอิทธิพลครอบงำเราเหมือนก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ทำให้เรามั่นคงอยู่ในศีล ในความถูกต้องได้ดีขึ้น และขณะเดียวกันก็ทำให้มีความทุกข์น้อยลง
ไม่ใช่ว่าไม่มีทุกข์นะ แต่ว่าไม่รู้สึกเข้าไปในความทุกข์นั้น หรือว่ามีความทุกข์แต่ไม่มีผู้ทุกข์ เพราะทุกข์ไม่ใช่เรา มันเลยไปถึงขั้นว่ามันไม่มีเรา ก็เป็นการเห็นอะไรแบบปัญญา ต้องอาศัยสติ ถ้าเราฝึกถูกวิธี หมั่นปฏิบัติโดยเอากายเป็นฐาน เป็นที่ตั้งของจิต เป็นที่ตั้งของสติ ก็จะเห็นเป็นลำดับขั้นไป จนกระทั่งเข้าใจเรื่องรูปเรื่องนาม ไม่หลงยึดในตัวกู ไม่หลงยึดในตัวตน มันก็ทำให้จิตเป็นอิสระมากขึ้น.