พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 15 เมษายน 2566
เวลาเราพูดถึงการปฏิบัติธรรม หรือการปฏิบัติทางจิต หลายคนก็นึกไปถึงการปฏิบัติในรูปแบบ ที่มีเวลาที่แน่นอน อาจจะเป็นตื่นเช้า ก่อนนอน แต่ที่จริงแล้วการปฏิบัติทางจิต ที่เราเรียกว่าการปฏิบัติธรรม มันมีอีกแบบหนึ่ง ก็คือการที่เราประสานมันเข้าไปกับการทำงาน กับการทำกิจต่างๆ
พูดง่ายๆ คือระหว่างที่เราทำกิจอะไรก็ตาม เราก็ทำจิตไปด้วยในตัว การปฏิบัติอย่างหลังนี่ เราก็สามารถจะทำได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องหาเวลาที่พิเศษ หรือว่าแยกต่างหากจากการทำกิจในชีวิตประจำวัน แล้วก็เป็นการปฏิบัติที่มันไม่มีรูปแบบตายตัว อาจจะไม่ได้หมายถึงการเดินจงกรม ไม่ได้หมายถึงการนั่งหลับตา อาจจะกำลังทำกิจต่างๆ อยู่ เช่น อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว ขับรถ แต่ก็เป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว หรือเป็นการปฏิบัติทางจิตไปพร้อมๆ กัน อันนี้คือสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญด้วย
บ่อยครั้งเราลืมการปฏิบัติในความหมายนี้ไป เราไปนึกถึงแต่การปฏิบัติทางจิตที่มันมีรูปแบบที่แน่นอน จะเรียกว่ามีท่วงท่า มีรูปแบบที่ชัดเจนก็ได้ ซึ่งการปฏิบัติแบบนี้ก็ต้องหมายถึงการจัดเวลาให้ ชนิดที่แยกออกไปจากการทำกิจในชีวิตประจำวัน ซึ่งที่จริงก็สำคัญ แต่ว่าก็ให้ตระหนักว่าอันนี้ก็เป็นแค่การซ้อม เพื่อเตรียมความพร้อมให้เราลงสนามจริง
เวลาเราลงสนามจริงก็คือเวลาเราใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ เราทำกิจอะไรก็ตาม เราก็เอาการปฏิบัติทางจิตประสานเข้าไป หรือว่าซ้อนเข้าไปกับการทำกิจต่างๆ โดยเฉพาะการเจริญสติ มันเป็นการปฏิบัติที่ไม่เรียกร้องรูปแบบ ไม่เรียกร้องการจัดเวลาให้ชนิดที่พิเศษ หรือว่าแยกตัวออกจากสังคม หรือว่าแยกตัวออกจากชีวิตประจำวัน
ขณะที่เราอยู่บ้าน ขณะที่เราอยู่ที่ทำงาน อยู่บนท้องถนน เราก็ปฏิบัติธรรมได้ ถ้าหากว่ามันเป็นการเจริญสติ หรือเป็นการปฏิบัติทางจิต เพื่อให้มีความรู้สึกตัวในสิ่งที่เราทำ ฉะนั้นต้องแยกแยะให้ดี และเข้าใจถึงความหมายของการปฏิบัติ ซึ่งมันก็คือการการปฏิบัติทางจิตนั่นแหละ หรือเราเรียกง่ายๆ ว่าการปฏิบัติ
มีโยมมาสนทนาธรรม แล้วก็ปรารภว่าระยะหลังทำงานจนเหนื่อย เลยไม่ค่อยได้ปฏิบัติ อาตมาก็เลยบอกเขาไปว่า ก็เพราะไม่ปฏิบัติสิ จึงทำงานจนเหนื่อย เขาก็นั่งคิดอยู่นานนะ หรืออาจจะงงๆ กับคำตอบ ส่วนใหญ่คิดแบบนี้นะ หรือว่าประสบเหตุการณ์ทำนองนี้ คือว่าทำงานเยอะ แล้วก็ทำงานจนเหนื่อย เลยไม่ได้ปฏิบัติ เช่น อาจจะทำจนค่ำ แล้วก็เลยไม่มีเวลาสำหรับการปฏิบัติ การปฏิบัติที่ว่านี่ เขาหมายถึงการ ปฏิบัติในรูปแบบ จะเป็นการเดินจงกรม จะเป็นการตามลมหายใจก็แล้วแต่ แต่ว่าเขาลืมมองไปอีกแง่หนึ่งว่า ถ้าเขาปฏิบัตินี่ เขาจะไม่เหนื่อยอย่างที่รู้สึก อย่างที่เป็น
ปฏิบัติในความหมายนี้คือปฏิบัติทางจิต คือการเจริญสติหรือการทำความรู้สึกตัว ควบคู่หรือพร้อมๆ ไปกับการทำงาน ในระหว่างที่ทำงานใช้ความคิด ในระหว่างที่มีการประชุม ในระหว่างที่ทำกิจอะไรก็ตาม ถ้าหากว่าเราทำอย่างมีสติ ทำด้วยความรู้สึกตัว มันจะไม่เหนื่อยเท่าไหร่ หรือมันจะเหนื่อยน้อยกว่าที่หลายคนประสบอยู่
เพราะเวลาพูดถึงความเหนื่อย เวลาทำงานส่วนใหญ่มันไม่ได้เหนื่อยเพราะว่างานที่กำลังทำ หรืองานที่ทำอยู่ ตัวภาระของงานที่ทำอยู่อาจจะไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไหร่ แต่มันเหนื่อยตรงที่ใจมันไม่ค่อยได้อยู่กับงาน ไม่ค่อยได้อยู่กับปัจจุบันเท่าไหร่ เช่น ไปอยู่กับเป้าหมาย หรือยอดที่ต้องการทำให้ได้ ซึ่งมันอยู่อีกไกล
หลายคนเพียงแค่คิดว่าอีกตั้งนานกว่าจะเสร็จ มันก็รู้สึกท้อแล้ว รู้สึกเหนื่อยแล้ว เพียงแค่คิดว่าอีกตั้งนานกว่าจะเสร็จ มันก็จะนึกขึ้นมาเลย เมื่อไหร่จะเสร็จๆ แค่คิดแบบนี้มันก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว หรือว่านึกไปถึงงานอีกหลายชิ้นที่รออยู่ 6-7 ชิ้นที่รออยู่ หรือคิดถึงคนที่บ้านที่กำลังเจ็บป่วย นึกถึงลูกที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง คบเพื่อนไม่ดี เป็นห่วงลูก เกิดความเครียดขึ้นมาในระหว่างที่ทำงาน แค่นี้ก็ทำให้เหนื่อยแล้ว
ความเหนื่อยของคนที่ทำงานเวลานี้ มันไม่ใช่เหนื่อยจากการทำงาน เท่ากับเหนื่อยเพราะใจที่ไปวิตกกังวลกับสิ่งต่างๆ ที่ยังมาไม่ถึง กับยอดที่ต้องทำให้ได้ กับผลสำเร็จที่ไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปตามเป้าไหม เจ้านายเขาจะว่าอย่างไร ถ้าเกิดว่างานไม่เป็นไปอย่างใจเขา คนหรือเพื่อนร่วมงานเขาจะมองอย่างไร คิดไปอย่างนี้ก็ทำให้เกิดความเครียด เกิดความวิตกขึ้นมา
แล้วบางทีใจก็ไปจดจ่ออยู่กับเพื่อนที่เขาไม่ค่อยขยันขันแข็งเท่าไหร่ หลายคนไม่ได้เหนื่อยกับงาน เท่ากับเหนื่อยเพราะไปวิตกกังวล หรือไปจ่อมจมอยู่กับเพื่อนที่กินแรง เพื่อนที่เอาเปรียบ เพราะเวลาที่ คิดถึงคนเหล่านั้นก็อดบ่นไม่ได้ เกิดความหงุดหงิด เกิดความขุ่นเคือง พวกนี้มันเป็นความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ทำให้ผู้คนเหนื่อยใจ ซึ่งมันสร้างความทุกข์ให้กับคนทำงาน ยิ่งกว่าความเหนื่อยเพราะทำงาน
บางทีทำงานขุดดิน ทำสวน หรือว่าขนของ หลายคนจะไม่รู้สึกเหนื่อยเท่ากับความเครียด ความวิตกกังวลเกี่ยวกับงานการ เกี่ยวกับเป้าหมายที่ยังไปไม่ถึง แล้วหลายคนก็กลายเป็นว่าแทนที่จะเหนื่อยอย่างเดียว ก็เหนื่อยสองอย่าง คือเหนื่อยทั้งกายเหนื่อยทั้งใจ
มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ 13 ได้ รับคำชวนให้ไปออกรายการพลเมืองเด็ก รายการนี้ก็เป็นของไทยพีบีเอส เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขาก็จะพาเด็กกลุ่มหนึ่ง 3-4 คน บางทีก็ 8-9 คน บางทีก็ 13-14 คน มาร่วมกันทำภารกิจ บางทีก็ให้ไปเลี้ยงม้า แต่ว่ากรณีเด็กกลุ่มนี้ เขาให้ทำภารกิจอย่างหนึ่ง คือขนของขึ้นรถไฟ เขาต้องการดูว่าเด็กมีความร่วมมือกันอย่างไร
รถไฟนี่มีเวลาออกที่แน่นอน เพราะฉะนั้นเด็กก็ต้องช่วยกันขน ผู้หญิงคนหนึ่งกับผู้ชาย 2 คน บังเอิญวันนั้นสมจิตร จงจอหอขึ้นชก สมจิตรเป็นนักมวยเหรียญทองโอลิมปิก แล้วก็มีการถ่ายทอดสดด้วย เด็ก 2 คนช่วยงานอยู่ดีๆ พอถึงเวลาที่จะมีการถ่ายทอดสด ก็ทิ้งงานเลยนะ ไปดูการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ในร้านกาแฟข้างสถานี ปล่อยให้เพื่อนผู้หญิงทำงานคนเดียว
เพื่อนคนนี้ก็ตั้งหน้าตั้งตาขนนะ เพื่อให้ทันเวลา พิธีกรเห็นก็เลยถามว่า หนูคิดอย่างไรที่เพื่อนทิ้งงานให้หนูทำงานคนเดียว เด็กผู้หญิงคนนี้เขาบอกว่า หนูก็เห็นใจเขา เห็นใจเพื่อนสองคนนี้ เพราะเขาเป็นแฟนสมจิตร นานๆ จะได้ดูสมจิตรขึ้นชก หนูไม่สนใจหรอกมวยน่ะ หนูก็เลยทำงานของหนูไปดีกว่า พิธีกรนี้ไม่พอใจคำตอบเท่าไหร่นะ ก็เลยถามแหย่เขา หนูไม่โกรธเหรอ หนูไม่คิดจะด่าว่าเขาเหรอที่เขาทิ้งงานให้หนูทำคนเดียว
เด็กตอบดีนะ เด็กตอบว่าหนูขนของขึ้นรถไฟ หนูก็เหนื่อยอย่างเดียว ถ้าหนูไปโกรธ ไปด่าว่าเขาด้วย หนูก็เหนื่อย 2 อย่าง เหนื่อย 2 อย่างคืออะไร เหนื่อยกายเหนื่อยใจ เด็กคนนี้เขาฉลาดนะ เขารู้ว่าไหนๆ จะต้องเหนื่อยแล้ว ขอให้เหนื่อยอย่างเดียวดีกว่า แต่คนส่วนใหญ่เหนื่อย 2 อย่างนะ ทำงานไปก็บ่นไป ทำงานไปก็ก่นด่าเพื่อนร่วมงาน หรือบางทีก็บ่นเจ้านาย เพราะอย่างนี้จึงทำงานแล้วเหนื่อยกว่าเดิม
แต่ถ้ามีสติ จะเห็นใจที่มันบ่น แล้วก็จะไม่ปล่อยให้ใจมันเอาแต่บ่น จิตนี่จะกลับมาอยู่กับงานที่ทำ กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่ส่งจิตออกนอก ถ้าเราทำงานอย่างมีสติ ใจมันก็จะอยู่กับงาน มันจะไม่เผลอส่งออกนอก ถึงแม้เผลอก็ยังรู้ทัน
แต่เวลาเราทำงาน บ่อยครั้งเราส่งจิตออกนอก ออกไปก่นด่าเพื่อนร่วมงานบ้าง บางทีก็ไปบ่นด่าเสียงดังที่มันรบกวน หรือว่าเจ้านายที่ไม่เป็นธรรม หรือบางทีก็ไปอยู่กับอนาคต อนาคตก็คือเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึง ผลสำเร็จที่คอยอยู่ หรือเป้าที่ต้องการจะไปให้ถึง อันนี้เรียกว่าอนาคต ซึ่งมันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนทำงานแล้วเหนื่อย ทำงานแล้วเครียด ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ถ้ามีสติ ทำงานอย่างมีสติ หรือว่าทำงานไปด้วยปฏิบัติไปด้วย ใจมันจะอยู่กับปัจจุบัน แล้วมันจะไม่เพิ่มทุกข์ให้กับจิตใจของตัว เวลาเหนื่อยก็เหนื่อยแต่กาย แต่ว่าใจไม่เหนื่อย
หรือถ้าหากว่าเราปฏิบัติทางจิตระหว่างที่ทำงานไปด้วย เวลามันมีความเครียดขึ้นมา สติก็ช่วยทำให้เห็นความเครียด แต่ไม่เข้าไปเป็นผู้เครียด คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่ชอบความเครียด แต่ว่าเข้าไปเป็นผู้ เครียดอยู่ตลอดเวลา ไม่ชอบความหงุดหงิด แต่ว่าเข้าไปเป็นผู้หงุดหงิดตลอดเวลา ถ้าหากเจริญสติจะเห็นว่าความเครียดเกิดขึ้น แล้วมันจะไม่เข้าไปยึด หรือไม่ไปผลักไส
คนส่วนใหญ่ไม่รู้หรอกนะว่าเข้าไปยึดความเครียด เข้าไปเป็นผู้เครียด ไปแบกเอาไว้ ก็เลยทำแล้วเหนื่อย ในทางตรงข้ามถ้าหากว่ามีสติเห็นความเครียด เห็นความหงุดหงิด แล้วแค่เห็นเฉยๆ ไม่เข้าไปเป็นผู้เครียด ก็ทำด้วยใจที่ปลอดโปร่งมากขึ้น แล้วก็มีเรี่ยวมีแรง ที่จะทำไปได้เรื่อยๆ
มีอาจารย์เซ็นท่านหนึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น มีชื่อมากในอเมริกา เพราะว่าท่านมีลูกศิษย์ลูกหาเยอะ สมัยสัก 60 ปีที่แล้ว เป็นคนที่สร้างสำนักปฏิบัติแบบเซ็นแห่งแรกในอเมริกา ชื่อชุนริว ซูซูกิ มีลูกศิษย์ลูกหา มีชาว อเมริกันหนุ่มสาวมากมายเลย เพราะว่าคนหนุ่มสาวอเมริกันตอนนั้นเริ่มมาสนใจเรื่องการฝึกจิต ไม่สนใจเรื่องการหาเงิน การมีชื่อเสียงอย่างคนรุ่นพ่อ
มีช่วงหนึ่งท่านชุนริวไปสร้างสำนักที่นอกเมือง คือนอกซานฟรานซิสโก ก็ต้องช่วยกันทำ เพราะว่าค่าก่อสร้างมันแพง ท่านชุนริวตอนนั้นก็อายุ 60 ปีแล้ว คนญี่ปุ่นเวลานั้นตัวเล็ก ตรงข้ามกับลูกศิษย์ของท่าน เป็นอเมริกันหนุ่มสาว ร่างกายแข็งแรงบึกบึน อายุก็เพิ่ง 20 ต้นๆ ช่วงที่ก่อสร้างก็ต้องขนหิน ขนเสา ขนไม้ ต้องทำกันเอง
ปรากฏว่าลูกศิษย์ของท่านทำไปได้ครึ่งวันก็เหนื่อย แต่ว่าท่านชุนเรียวนี่ทำงานทั้งวัน ไม่ใช่แค่ช่วงเช้าอย่างเดียว ช่วงบ่ายก็ทำ ลูกศิษย์นี่ทึ่งมากเลย เพราะว่าอาจารญ์ก็อายุมากแล้ว ตัวเล็ก แต่ขนหิน ขนเสาทั้งวัน ก็เลยถามอาจารย์ว่าอาจารย์ทำได้อย่างไร อาจารย์ตอบว่าก็ผมพักตลอดเวลา ลูกศิษย์นี่งงนะ ก็เห็นอาจารย์ทำงานตลอดทั้งวัน
ที่จริงที่ทำก็คือกายมันทำ แต่ว่าใจพัก กายแบกหิน แต่ว่าใจไม่ได้แบกหินไปด้วย แม้จะมีความเหนื่อย แต่ใจก็ไม่ได้แบกความเหนื่อย หรือไม่ได้ไปยึดว่าความเหนื่อยเป็นกู เป็นของกู ใจไม่ได้ไปนึกถึงว่าเมื่อไหร่จะเสร็จๆ ไม่ไปแบกความคาดหวังว่าจะต้องเสร็จไวๆ
พูดง่ายๆ คือท่านทำงานด้วยใจที่ปล่อยวาง ปล่อยวางแบบนี้ได้ก็ต้องมีสติ เพราะถ้าไม่มีสติมันจะเข้าไปยึด ยึดความเหนื่อยของกายว่าเป็นความเหนื่อยของกู หรือไม่ก็เข้าไปยึดเป้าหมาย ยึดความคาดหวังที่ ถ้ามันไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง เพราะมันยังไม่เสร็จสักที ก็เกิดความเครียด เกิดความกังวล แต่อาจารย์ไม่เลยนะ อาจารย์ทำงานเหนื่อยน้อยกว่าลูกศิษย์ เพราะอะไร เพราะอาจารย์ปฏิบัติ
คนเราถ้าปฏิบัติ มันจะไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไหร่ แต่คนถ้าไม่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติ ก็จะคิดว่าถ้าทำงานเหนื่อยแล้วมันไม่มีเวลาปฏิบัติ เพราะไปคิดว่าการปฏิบัติเป็นเรื่องของรูปแบบ เป็นเรื่องของการแยกตัวออกมา หรือแยกการปฏิบัติออกมาจากการทำงาน ถ้าทำงานเหนื่อยแล้วก็ไม่เวลาให้กับการปฏิบัติ หรือว่าไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงที่จะปฏิบัติแล้ว เพราะว่าล้า
แต่ที่จริงที่ล้าหรือที่เหนื่อยนี่ มันเป็นเพราะว่าวางจิตวางใจไม่ถูกมากกว่า มันไม่ใช่ล้าหรือเหนื่อยเพราะการทำงาน เพราะตัวงานเอง แต่เป็นเพราะใจที่ให้วางไว้ไม่ถูก มันก็เลยแทนที่จะเหนื่อยอย่างเดียว ก็เหนื่อย 2 อย่าง อย่างที่เด็กสาวคนนั้นพูด เราลองสังเกตดูนะ ถ้าเราลองเอาการปฏิบัติมาซ้อน หรือมาประสานกับการทำงาน มันจะเหนื่อยน้อย แล้วมันทำให้เราสามารถที่จะอยู่ หรือเจอกับความยากลำบากได้ดีมากขึ้น
มีฝรั่งคนหนึ่งถูกจับเข้าคุก ทีแรกข้อหาก็ไม่รุนแรง ลักเล็กขโมยน้อย เสพยา แต่ตอนหลังนี่ถูกตัดสินประหารชีวิตเลย เพราะโดนข้อหาว่าไปฆ่าผู้คุม ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ทำ ติดคุกตลอดชีวิต แล้วบางครั้งก็ต้องถูกขังเดี่ยว ทุกข์ทรมานมาก คนเราถ้าหากว่าตัวเองบริสุทธิ์ แต่ว่าต้องถูกลงโทษลงลงทัณฑ์ ขนาดที่เรียกว่าอาจจะต้องตาย หรือถูกประหารชีวิต ไม่รู้ว่าวันไหนจะถูกเขาฆ่าแกง มันทุกข์ทรมานมาก
แต่ตอนหลังเขาเกิดสนใจเรื่องการทำสมาธิขึ้นมา เพราะว่าเครียดมาก ทุกข์มาก แล้วก็มีคนที่มาเยี่ยมเยียนเขา ชวนให้เขาลองทำสมาธิดู ตอนหลังเขาทำแล้วมันช่วยได้เยอะ เขาก็เลยสนใจพุทธศาสนา พอศึกษาพุทธศาสนามากๆ ก็เกิดสมาทานนับถือพุทธศาสนา อาจารย์เขาเป็นรินโปเช นับถือพุทธศาสนาแบบวัชรยาน เขาเป็นคนที่ตั้งใจปฏิบัติมาก อยู่ในคุก ทั้งที่ห้องก็คับแคบ แต่ตื่นเช้าขึ้นมาตี 4 ตี 5 ลุกขึ้นมา สวดมนต์ นั่งสมาธิ เล่นโยคะ แต่ว่าความทุกข์ของเขามันมีมากมายหลายอย่าง รวมทั้งจากผู้คุมด้วย แต่เขาก็สามารถที่จะรักษาใจให้ปกติ ไม่มีความเคียดแค้น
ตอนหลังนักโทษด้วยกันก็รู้ว่าเขามาสนใจพุทธศาสนา ก็มีคนหนึ่งถามเขาว่า อยู่ในคุกอย่างนี้ แกยังจะนับถือพุทธศาสนาอีกหรือ เพราะเขามองว่าอยู่ในคุกนี่มันต้องเหี้ยม ถ้าหากว่าทำตัวหน่อมแน้ม เช่นนับถือพุทธศาสนานี่มันจะไปรอดหรือ เพื่อนก็ถามเขาด้วยความสงสัยว่าอยู่ในคุกแบบนี้ แกนับถือพุทธศาสนาได้อย่างไร มันเข้ากันไม่ได้เลย มันต้องเหี้ยม มันต้องกร้าน แต่จาร์วิสแกตอบดี แกตอบว่าก็เพราะอยู่ในคุกสิ จึงต้องนับถือพุทธ เพราะไม่อย่างนั้นประสาทกินแล้ว หรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะต้องตายไปแล้ว เพราะความทุกข์ทรมาน
เขาก็พบว่าการที่เขานับถือพุทธ หรือที่จริงพูดให้ถูก คือการที่เขาปฏิบัติ การฝึกจิตตามคำสอนของพุทธศาสนา ทำให้เขาสามารถที่จะเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากในคุกได้ ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ไปด้วย เพราะ ว่าการที่อยู่ในคุก แล้วบางทีอยู่ในคุกมืด หรือว่าอยู่ในคุกเดี่ยว โดยที่ไม่รู้ว่าจะมีกำหนดออกเมื่อไหร่ หรือไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ มันทรมานมาก แต่ว่าการที่เขาอาศัยการฝึกสติ การฝึกทางจิต มันทำให้เขาเป็นผู้ เป็นคนได้ เขาถึงบอกว่าก็เพราะอยู่ในคุกสิ จึงต้องนับถือหรือต้องปฏิบัติพุทธศาสนา เพราะไม่อย่างนั้นคงจะบ้าตายไปแล้ว หรือมิเช่นนั้นก็คุ้มคลั่งไปแล้ว
เขาตอบได้น่าสนใจนะ คนเราถ้าหากว่าเราเข้าใจเรื่องการปฏิบัติ แล้วก็ปฏิบัติได้ถูกต้อง อย่าว่าแต่ทำงาน แม้กระทั่งการเผชิญความทุกข์ ความยากลำบาก ก็สามารถที่จะทำให้เราจะผ่านพ้นมันได้ หรืออยู่กับมันด้วยใจที่ไม่ทุกข์ เมื่อทำงานก็ไม่เหนื่อย ไม่ล้ามาก แม้ว่าจะป่วย หรือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากเหมือนนรก ก็สามารถที่จะอยู่กับสถานการณ์อย่างนั้นได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์.