พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 16 เมษายน 2566
เทศกาลสงกรานต์ก็จบลงอย่างเป็นทางการเมื่อวาน วันนี้หลายคนก็เจอบรรยากาศหรือความรู้สึกที่ตรงข้ามกับวันสงกรานต์ วันสงกรานต์ให้ความสนุกสนานรื่นเริง อิสระเสรี แต่ตอนนี้หลายคนก็กำลังอยู่บนรถที่กำลังติด เจอกับความเครียด เพราะว่ารถติดแน่นขนัด ความสนุกสนานกลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว
ตอนนี้หลายคนถึงแม้จะไม่เครียดเพราะรถติด แต่ก็อาจจะรู้สึกอาลัยในความสนุกสนานที่เพิ่งผ่านไป อาจจะมีความหงอยเหงามาแทนที่ หรืออาจจะมีความเครียดเพราะว่าพรุ่งนี้ก็ต้องไปทำงานเสียแล้ว ไม่ใช่แค่รถติดแน่นขนัด ไม่รู้ว่าจะถึงบ้านเมื่อไหร่ ถึงบ้านเสร็จก็ต้องเตรียมตัวที่จะไปทำงานในวันรุ่งขึ้น
นี่ก็เป็นธรรมดา ความสนุกกับความหงอยเหงาก็มาด้วยกัน อะไรที่ให้ความสนุกกับเรา มันก็นำมาซึ่งความหงอยเหงา อ้างว้าง เพราะว่าสิ่งที่ให้ความสนุกสนานกับเรา มันไม่เที่ยง อย่างที่มีภาษีจีนว่า งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา จะสนุกสนานในงานเลี้ยงอย่างไร สุดท้ายก็ต้องมีวันยุติ พอเลิกราแล้วก็ต้องเดินหงอยเหงากลับบ้าน มันก็เป็นเช่นนี้แหละ ถ้าเลือกที่จะสนุก เลือกที่จะสนาน ก็ต้องเตรียมใจรับกับความหงอยเหงาหรือว่าความจืดชืด เมื่อสิ่งที่ให้ความสนุกกับเรามันสิ้นสุดหรือยุติลง
พูดถึงความสนุกสนานของวันสงกรานต์ ปีนี้คนก็พูดกันมากว่าสนุกมากเลย เพราะว่าอัดอั้น ไม่ได้สนุกแบบนี้มา 3-4 ปีแล้ว ครั้งสุดท้ายก็โน่น 4 ปีที่แล้ว ปี 62 พอมาถึงปีนี้ก็เลยปล่อยเต็มที่ ปล่อยนี่ก็คือปล่อยตัวให้ทำอะไรอย่างอิสระ สนุกสนานเต็มที่ ที่จริงมันไม่ใช่สนุกเฉพาะปีนี้ มันก็สนุกมาทุกครั้ง ถ้ามีโอกาสได้เล่นสงกรานต์กัน ซึ่งสำหรับหลายคน โดยเฉพาะคนที่มีอายุ ก็อาจจะไม่สบอารมณ์กับเหตุการณ์หรือภาพบางอย่าง เช่น การแต่งตัวที่ไม่เรียบร้อย หรือว่าการสนุกสนานแบบไม่มีขอบเขต
ที่จริงนั่นแหละคือธรรมชาติของสงกรานต์เลย คือไม่มีขอบเขตหรือมีน้อยมาก มันเป็นอย่างนี้มานานแล้ว แต่คนไม่ค่อยได้ตระหนักเท่าไหร่ เพราะไปนึกภาพสงกรานต์ว่าเป็นช่วงแห่งการมีพิธีรีตอง มีระเบียบกฎเกณฑ์ ต้องแต่งตัวเรียบร้อยไปวัด มีการสรงน้ำพระ หรือว่าสรงน้ำรดน้ำผู้ใหญ่ มีการทำบุญ มีพิธีกรรมหลายอย่างที่เข้ามากำหนดพฤติกรรมของผู้คนในช่วงวันสงกรานต์ แต่นั่นเป็นเพียงแค่ด้านเดียวของสงกรานต์
อีกด้านหนึ่งของสงกรานต์คือเทศกาลที่ไม่มีกฎเกณฑ์ เวลารดน้ำพระก็อาจจะมีพิธีรีตอง แต่พอรดน้ำเสร็จ ก็เอาขันน้ำสาดใส่พระเลยก็มี บรรยากาศมันเปลี่ยนแปลงไปฉับพลันเลย แล้วก็ไม่ใช่แค่เอาน้ำสาด บางทีเอาแป้งมาทาหน้าก็มี คนที่เอาแป้งมาทาหน้าก็ไม่ใช่ใครหรอก ก็โยมนั่นแหละ เผลอๆ เป็นผู้หญิงด้วย หลายคนก็ตกใจนะ ทำอย่างนี้ได้อย่างไร เรียกว่าไม่เคารพกฎเกณฑ์อะไรกันเลย
ที่จริงสงกรานต์นี่ จุดเด่นของเทศกาลนี้คือการปล่อยวาง หรือการผ่อนคลาย ผ่อนคลายระเบียบกฎเกณฑ์ ข้อห้ามต่างๆ คนไทยสมัยก่อนมีข้อห้ามมากทีเดียว เช่นข้อห้ามระหว่างผู้หญิงผู้ชาย มีข้อห้ามเยอะ แต่พอถึงวันสงกรานต์ก็ผ่อนคลาย หรือปล่อยวางกันหมดเลย บางทีผู้หญิงก็พาผู้ชายไปขึงพืดก็มี ขึงพืดนี่คือแกล้งนะ ไม่ได้ทำอะไรที่มันเป็นการละเมิดทางเพศที่เสียหาย หลายแห่งหลายที่นิมนต์พระมา ทำบุญ ก็ดูมีระเบียบกฎเกณฑ์ดี มีการไหว้มีการกราบอย่างอ่อนน้อม พอเสร็จแล้วก็มีการอุ้มพระโยนลงคลองก็มี แล้วคนที่อุ้มนี่ไม่ใช่ใคร ก็ผู้หญิง ญาติโยมที่นิมนต์
คนที่ไม่เข้าใจก็ตกใจว่าทำได้อย่างไร แต่มันก็เป็นอย่างนี้มานานทีเดียวแล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยรู้กันเท่าไหร่ ว่ามันเป็นช่วงของการปล่อยวาง หรือผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ บางทีเขาก็อนุญาตให้พระเล่นบันเทิงได้ แข่งเรือ แข่งเกวียน แข่งบั้งไฟ จุดบั้งไฟ ก็เอ้า ปล่อยพระคุณเจ้าสักวัน เขาก็ไม่ถือสาแต่ว่าไม่ให้เกินเลย ไม่ใช่ว่ากินเหล้าได้ ไม่ถึงขนาดนั้น เรียกว่าอนุญาตให้ทำผิดระเบียบกฎเกณฑ์ที่เคยยึดถือกันได้
มันไม่ใช่แค่ระเบียบกฎเกณฑ์อย่างเดียว บางทีแม้กระทั่งความรู้สึกหวงถิ่นหวงที่ อย่างกรุงเทพฯสมัยก่อน คนหนุ่มๆ นี่มีการหวงที่กันมาก หวงเขต อย่างคนที่บางลำพูนี่จะไปยุ่มย่าม ไปจีบผู้หญิงแถว บ้านบาตรนี่ไม่ได้เลย หนุ่มๆ บ้านบาตรนี่ห่วงมาก ถ้าขืนเข้ามาก็โดนตี โดนฝาด แต่วันสงกรานต์นี่ปล่อยเลยนะ อนุญาต เรียกว่าคลายความเป็นปฏิปักษ์ มันทำได้นะ ความโกรธแค้นนี่วางเอาไว้ก่อน หรือว่าความ หวงแหนถิ่น หวงแหนที่ วางเอาไว้ก่อน ไม่มีความยึดว่าเป็นที่ของใคร เพราะฉะนั้นไอ้หนุ่มบางลำภูก็ไปจีบ ไปเล่นสงกรานต์กับผู้หญิงสาวแถวบ้านบาตรก็ได้ ยอมให้วันหนึ่ง หรือยอมให้เทศกาลหนึ่ง
ฉะนั้นนี่เป็นเรื่องธรรมดามากเลย ที่เป็นลักษณะเด่นของสงกรานต์ ที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ ไปเห็นภาพสงกรานต์แต่เฉพาะการสรงน้ำพระ การทำบุญใส่บาตรพระ การแต่งกายด้วยชุดไทย เป็น ระเบียบเรียบร้อย อันนั้นก็ใช่ แต่ว่าเรื่องของการปล่อยวางระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีในสังคม เขาก็มีเหมือนกัน ถามว่าทำไม เขาอธิบายเพื่อเป็นการคลายความเครียด เพราะระเบียบกฎเกณฑ์ถ้าปฏิบัติมากๆ เข้า นานๆ เข้า มันก็เครียดได้ เพราะว่ามันอาจจะสวนทางกับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่เป็นปุถุชน ฉะนั้นเขาก็เลยยอมให้มีการผ่อนคลาย หรือว่าปล่อยวางระเบียบกฎเกณฑ์ เพื่อให้คนคลายความเครียด แล้วพอพ้น เทศกาลก็กลับมาปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กันใหม่ อันนี้มันเป็นสิ่งที่โลกสมัยใหม่ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ แต่ว่าคนไทยสมัยก่อนนี่เขาคุ้นเคยดี เขาก็มีภูมิปัญญาของเขา เพราะเขารู้ว่าการยึดติดถือมั่นมากๆ นี่ มันก็ทำให้เครียดได้ เพราะฉะนั้นก็ปล่อยบ้าง
แต่ที่จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องปล่อยเฉพาะช่วงเทศกาล ถ้าเรารู้จักปล่อย รู้จักวาง มันก็ทำได้ตลอดทั้งปี แต่ไม่ใช่ปล่อยวางระเบียบกฎเกณฑ์ ระเบียบกฎเกณฑ์จะมีก็มีไป แต่ถ้าเรารู้จักปล่อยวางในเรื่องอื่นได้ มันก็คลายความเครียดได้เหมือนกัน โดยเฉพาะสมัยนี้ คนมีความเครียดการทำงานมาก งานนี่มันกลายเป็นเรื่องใหญ่ของชีวิตผู้คน จนบางทีลืมพ่อ ลืมแม่ ลืมลูก หรือว่าลืมกระทั่งสุขภาพตัวเอง ลืมแม้กระทั่ง สิ่งที่สำคัญอย่างอื่นของชีวิต รวมทั้งการพักผ่อน หรือว่าการได้ดูแลบำรุงจิตใจของตัวเอง
แต่ถ้าหากว่าขณะที่เราทำงาน หรือทำกิจอะไรก็ตามในชีวิตประจำวัน รู้จักปล่อยรู้จักวางบ้าง ไม่ต้องไปรอปล่อยวางเอาวันสงกรานต์ แต่ทุกวันที่เราทำงาน เราก็รู้จักปล่อยบ้าง เวลาพูดถึงปล่อยวาง คนก็นึกถึงว่าเป็นเรื่องโลกุตระ เป็นเรื่องที่ยาก ที่จริงถ้าเราไปนึกถึงการปล่อยวางตัวกูของกู มันก็เป็นเรื่องยาก หรือว่าปล่อยวางสิ่งที่เรียกว่าอัตตา ที่โบราณเรียกว่าอัตตวาทุปาทาน หรือไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง มันก็ยาก แต่ว่าการปล่อยวางมันมีหลายระดับ และปุถุชนก็ทำได้
เริ่มจากระดับพื้นๆ ระดับง่ายๆ เช่นเวลาทำงาน เราก็รู้จักปล่อยวางบ้าง ปล่อยวางสิ่งที่ไม่ใช่งานที่กำลังทำอยู่ นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ กำลังทำอะไรอยู่ กำลังรดน้ำต้นไม้ กำลังทำบัญชี เราก็อยู่กับการรดน้ำต้นไม้ อยู่กับการทำบัญชี เรื่องที่ไม่ใช่สิ่งที่กำลังทำอยู่ข้างหน้า ก็วางเอาไว้ก่อน จะเป็นเรื่องลูกเรื่องหลาน จะเป็นเรื่องงานการอย่างอื่น จะมีกี่ 10 อย่างก็ว่าเอาไว้ก่อน อันนี้คือสิ่งที่เราทำได้ รวมทั้งวางสิ่งที่เราเรียกว่า อนาคต อนาคตคืออะไร อนาคตก็อย่างเช่น ความสำเร็จที่มุ่งมาดปรารถนา หรือเป้าหมายที่อยากจะไปให้ถึง ความสำเร็จคือเรื่องอนาคต เป้าหมายหรือยอดที่ต้องการทำให้ถึงเป้า มันก็เป็นอนาคต
แล้วเราก็ฝึกปล่อยวางได้ เหมือนกับเวลาเราเดินทาง จะเดินทางไปเชียงใหม่ จะเดินทางไปลพบุรี หรือจะเข้ากรุงเทพฯ ก็แล้วแต่ เป้าหมายอยู่ตรงนั้น แต่ว่าเวลาเราเดินทาง เราก็วางเป้าหมายไว้ก่อน เพราะถ้าไปจดจ่ออยู่ที่เป้าหมาย มันก็จะเกิดความเครียดขึ้นมา แล้วจะเกิดความรู้สึกว่าเมื่อไหร่จะถึงๆ หลายคนเวลาเดินทางจะเครียดมาก โดยเฉพาะขาไป เพราะมันจดจ่อกับเป้าหมาย หลายคนเหนื่อยเวลาขาไป แต่เวลาขากลับไม่ค่อยเหนื่อย ทำไม เพราะว่าตอนกลับนี่ไม่ค่อยสนใจเป้าหมาย แต่ว่าขาไปสนใจเป้าหมายมาก เพราะมีธุระ อยากจะไปทำให้เสร็จ อยากจะมาปฏิบัติธรรมบ้าง หรือไม่ก็อยากจะไปเที่ยว มันก็เลยจดจ่ออยู่ที่เป้าหมาย ทั้งที่ตัวนี่อยู่แค่ค่อนข้างทาง
อย่างเช่นจะมาชัยภูมิ ตัวอยู่วังน้อย แต่ว่าใจมันจดจ่ออยู่ที่ชัยภูมิแล้ว มันก็เลยเครียด ยิ่งไปเที่ยว คิดจะไปเที่ยวที่เชียงใหม่ คิดจะไปเที่ยวที่ภูเก็ต หมายมั่นปั้นมือ อยากจะไปพบอยู่ที่วิวทิวทัศน์ที่สวยงาม แต่มันไม่ถึงสักที แต่ลืมไปว่าสองข้างทางนี่มันก็มีอะไรดีๆ ให้ชื่นชม ทำไมไปจดจ่ออยู่กับเป้าหมายข้างหน้า โดยที่มองข้ามสิ่งดีๆ ที่มีอยู่รอบตัว
ถ้าเราฝึกปล่อยวาง เป้าหมายเอาไว้ก่อน อยู่กับปัจจุบันให้มากๆ แต่อยู่โดยไม่ยึดติด เพราะว่ายึดติดปัจจุบันก็ทุกข์เหมือนกัน อย่างเช่นเสียงดังที่กระทบหูเรา มันก็เป็นปัจจุบันนะ แต่ถ้าเราไปยึด เราก็เครียด ต้องปล่อยเหมือนกัน แต่ก่อนที่จะปล่อยวางปัจจุบัน ต้องรู้จักปล่อยวางอนาคตก่อน โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการเดินทาง หรือเป้าหมายของงานที่ต้องการไปให้ถึง งานจะใช้เวลาอีก กี่เดือนกว่าจะเสร็จ ก็ให้เป็นเรื่องของอนาคตไป แต่เราสนใจงานที่กำลังทำอยู่ นี่ก็เรียกว่าปล่อยวางแล้วนะ
มันไม่ใช่เป็นเรื่องยาก ปล่อยวางอดีตก็ตาม ปล่อยวางอนาคตก็ตาม ปล่อยวางเป้าหมาย หรือความสำเร็จที่ต้องการก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่ทำได้ ขอเพียงแต่มีสติ เวลาใจมันเผลอแว่บออกไปจากงานที่ทำ ไปอยู่ที่เป้าหมาย หรือไปอยู่ที่จุดหมายปลายทาง ก็ให้หมั่นรู้ตัว แล้วก็ดึงกลับมาอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับงานที่ทำ อยู่กับวิวทิวทัศน์สองข้างทาง หรืออยู่กับผู้คนที่กำลังพูดคุยกับเรา สนทนากับเรา
ต่อไปก็รู้จักปล่อยวางสายตาของผู้คน ผู้คนเขาจะมองเห็นเราอย่างไร เขาจะชื่นชมเราหรือเปล่า หรือเขาจะตำหนิเราไหม ก็ช่าง เราทำอะไร ใจเราก็จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น อย่าเพิ่งไปคิดว่าเขาจะมองเราอย่างไร หลายคนพอไปนึกถึงสายตาของผู้คนที่กำลังจับจองตัวเราอยู่ เกร็งเลยนะ ซึ่งก็เป็นธรรมดา นักฟุตบอลระดับโลกเวลาเตะลูกโทษตรงจุดโทษ หลายคนจะเกร็งแล้วก็ทุกข์มากเลย เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะว่าเตะ ตรงนั้นมันยาก เตะมันไม่ยาก แต่ที่มันยากคือสายตาของผู้ชม ซึ่งไม่ใช่แค่มีเป็นแสนนะ บางทีเป็นหลายสิบล้าน เป็นร้อยล้าน
พอไปแคร์ว่าเขาจะมองเราอย่างไร ถ้าเกิดเราเตะไม่เข้า หรือถ้าเตะไม่เข้าแล้วทีมเราจะแพ้ โอกาสทองจะหลุดมือไป มันเกร็งขึ้นมาเลยนะ พอเกร็งแล้วเครียดตามมานะ คราวนี้แหละ เตะผิดเตะพลาด เห็นอยู่บ่อยๆ อันนี้เพราะอะไร เพราะไปแคร์สายตาของผู้ชม ไปแคร์สายตาของคนอื่น แต่นักฟุตบอลที่เก่งจริงๆ นี่ เวลาเขาจะต้องเตะลูกโทษที่จุดโทษนี่ เขาไม่รับรู้สายตาของผู้คนเลย เรียกว่าทั้งโลกนี่มีเขากับฟุตบอล แล้วก็ประตูที่อยู่ข้างหน้าเท่านั้นแหละ
ฉะนั้นถ้าเราปล่อยวางอย่างนี้ได้ การทำงานไม่ใช่แค่มีความสุขอย่างเดียว แต่ว่าก็จะสำเร็จได้ง่ายด้วย คือมีความสุข คือไม่เครียด ไม่เกร็ง แล้วก็สำเร็จเพราะว่าพอไม่เครียดไม่เกร็ง แถมมีสมาธิ มันก็สามารถ จะใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าเครียดถ้าเกร็งแล้ว ความสามารถที่มีก็หายไปครึ่งหนึ่ง หรือว่าอาจจะมากกว่านั้น จึงเตะผิดเตะถูก เตะออกนอกกรอบบ้าง หรือว่าเตะเข้าซองของประตูบ้าง อันนี้เพราะเกร็ง เพราะว่าไปแคร์สายตาของผู้คน
ศิลปะของการเตะลูกโทษ หรือศิลปะของการเล่นฟุตบอล ก็คือไม่ต้องไปแคร์สายตาของผู้ชม แต่มันไม่ใช่แค่เป็นศิลปะของนักเตะฟุตบอลอย่างเดียว ศิลปะของการทำงานให้ได้ผล และคนทำก็มีความสุข ก็ คือการที่ใจอยู่กับงานด้วยใจเต็มร้อย ไม่พะวงไปถึงเป้าหมายที่อยู่ข้างหน้า ความสำเร็จที่รออยู่ หรือคาดหมาย รวมทั้งสายตาของผู้คนด้วย
นี่มันต้องฝึกนะ มันต้องฝึก เพราะว่าธรรมดานี่มันก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงสายตาของคน แล้วเขาจะมองเราอย่างไร เวลาคนชมก็ดีใจ เวลาคนตำหนิก็เสียใจ นี่เป็นธรรมชาติของปุถุชน แต่ว่าอย่างน้อยถ้าเรารู้จักฝึกจิตให้มีสติ มีสมาธิอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ การที่จะตัดสายตาของผู้คนออกไป มันก็ทำได้ง่ายขึ้น แล้วมันก็ไม่เหลือวิสัยที่จะทำได้
พอทำได้แบบนี้ ต่อไปก็ฝึกให้รู้จักปล่อยรู้จักวางอารมณ์ที่เกิดขึ้น อารมณ์กลัว โกรธ เครียด เกลียด วิตก อันนี้มันเป็นอารมณ์แล้ว มันไม่ใช่แค่ความคิด ความคิดนี่เรารู้ทันมันได้เร็ว ได้ง่ายกว่าอารมณ์ คิดถึงงานที่รออยู่ คิดถึงความสำเร็จข้างหน้า คิดถึงสายตาของผู้คน นี่มันเป็นความคิด แต่ว่าสิ่งที่มันรู้ทันยากกว่าความคิดคืออารมณ์ เวลาเราคิด เราคิดเป็นภาพ เราคิดเป็นคำ แต่อารมณ์นี่มันไม่มีภาพ ไม่มีถ้อยคำ ออกมา มันเป็นความรู้สึก ที่แม้แต่จะบรรยาย บางทีก็บรรยายได้ยาก แต่เรารับรู้ได้ แล้วพอมันรู้สึกแล้วก็เครียด รู้สึกแล้วก็ทุกข์
แต่มันก็ไม่ยากในการที่เราจะรู้ทัน รู้ว่ามันมีอารมณ์พวกนี้อยู่ รู้แล้วต่อไปก็แค่รู้เฉยๆ คือเห็น ไม่เข้าไปเป็น อย่างนี้มันต้องฝึกแล้วล่ะ มันต้องฝึกให้เห็น ไม่เข้าไปเป็น รู้ทันอารมณ์ ไม่ปล่อยให้อารมณ์เข้ามาครอบงำ ถ้าไม่ฝึกนี่มันจะเห็นช้า แล้วมันก็จะถลำเข้าไปในอารมณ์นั้น มันไม่ใช่แค่เครียด มันมีผู้เครียดเกิดขึ้น มันไม่ใช่แค่โกรธ มันมีผู้โกรธเกิดขึ้น นี่เรียกว่าเป็น ไม่ใช่แค่เห็น
ถ้าเราเห็น ไม่เข้าไปเป็น มันก็ปล่อยวางได้ อันนี้ก็เป็นการปล่อยวางที่ยากขึ้นมาอีกหน่อย แต่ว่ามันก็ไม่เหลือวิสัยที่เราจะฝึกได้ ทำงานมันก็ย่อมมีความเครียด ย่อมมีความหงุดหงิด มีความไม่พอใจเกิดขึ้น ธรรมดา เราห้ามไม่ได้ แต่ว่าเรารู้ทันมันได้ พอรู้ทันแล้วมันก็วาง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า แม้มันจะมีในใจ แต่เราไม่เอา มันมีได้แต่ไม่เอา มันเกิดขึ้นได้ แต่ไม่เข้าไปเป็น
ต่อไปเราก็ต้องฝึกปล่อยวางมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปก็ปล่อยวางงาน ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เรียกว่าปล่อยวางตัวกูของกู เวลาทำงาน ยิ่งทำจริงทำจังมากเท่าไหร่ มันก็อดไม่ได้ที่จะยึดว่า เป็นของเรา งานของเรา หรือว่างานนี้เป็นตัวกูด้วยซ้ำ มันก็เป็นธรรมดานะ เพราะอย่าว่าแต่งานเลย ที่นั่งที่เป็นของสาธารณะ ถ้าเกิดเรามานั่งสักพัก แล้วเราออกไปข้างนอกเพื่อจะเข้าห้องน้ำ มันอดไม่ได้ที่จะไป ยึดมั่นถือมั่นว่าที่นั่งของเรา พอกลับมาแล้วมีคนมานั่งที่ตรงนั้น เราไม่พอใจก็มีนะ ไม่พอใจว่ามานั่งที่นั่งของฉันได้อย่างไร
หรือคนที่จอดรถในที่สาธารณะตำแหน่งเดิมอยู่บ่อยๆ เพราะว่ามันมีร่มเงาของต้นไม้ ชอบนะ มาธุระที่นี่ทีไร ก็จะต้องจอดตรงนี้แหละ ตำแหน่งนี้แหละ จอดทุกวันๆ มันก็อดไม่ได้ที่จะยึดว่าเป็นที่จอดรถของเรา ของกู วันไหนปรากฏว่ามีรถคันอื่นมาจอดตรงนั้น ไม่พอใจนะ โกรธ บางทีเขียนข้อความใส่กระดาษไปติดไว้ที่หน้ารถเลยนะ ด่าว่ามาจอดในที่ของคนอื่นทำไม ทำไมไม่ไปจอดที่อื่น
นี่ขนาดสิ่งที่ไม่ใช่ของเรานะ หรือไม่ใช่ทรัพย์สินของเรา เรายังไปยึดว่าเป็นของเราเลย แม้ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับมันเพียงแค่ชั่วไม่กี่นาที หรือแค่ 2-3 ชั่วโมง นับประสาอะไรกับงานการ ทำงานการมันก็อดไม่ได้ที่จะยึดว่าเป็นงานของเรา ซึ่งก็มีข้อดีนะ เพราะคนเราถ้าไม่คิดว่าเป็นงานของเรา มันก็ไม่ค่อยใส่ใจ มันไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ คนที่ไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของงาน เขาก็ทำแบบขอไปที แต่พอยึดว่าเป็นเจ้าของ มันก็ทำแบบยึดมั่นถือมั่น มันก็เครียดขึ้นมาได้
ต้องรู้จักปล่อยบ้างว่างานไม่ใช่ของเรา หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดอยู่เสมอนะ งานหลวงพ่อล้มเหลว แต่ตัวหลวงพ่อไม่ล้มเหลว เพราะอะไร เพราะท่านไม่ยึดว่างานนั้นเป็นตัวท่าน เป็นของท่าน หรือถึงสำเร็จก็ไม่ได้ยึดถือว่าท่านสำเร็จ คนที่ฉลาดรู้ทันกิเลส รู้ทันโทษของความยึดมั่นถือมั่น ก็จะยกผลงานให้เป็นของคนอื่นไป อย่างที่อาจารย์พุทธทาสพูดว่า ยกผลงานเป็นของความว่าง ยกผลงานเป็นของธรรมชาติไป หรือยกผลงานเป็นของหมู่คณะไป ไม่ใช่ของเรา อันนี้ก็ช่วยลดความยึดมั่นถือมั่นได้ รวมไปถึงเวลาได้รับคำชื่นชมสรรเสริญ ได้รางวัล ก็ไม่ยึดว่าเป็นรางวัลของเรา
มีผู้ชายคนหนึ่งได้รางวัลโฆษณา กลับมาถึงบ้านแล้วก็บอกลูกว่า จะทำอย่างไรกับรางวัลนี้ดี ลูกบอก วางมันลงสิพ่อ ที่ให้วางมันลงนี่ไม่ได้แค่วางตัวโล่ตัวเหรียญนะ แต่ให้วางความยึดว่าเป็นของเรา เด็กเขารู้นะ ว่าแม้กระทั่งรางวัลนี่ก็ยึดมาเป็นเราเป็นของเราไม่ได้ เพราะถ้ายึดว่ารางวัลเป็นของเรา ยึดความสำเร็จเป็นของเรา ต่อไปถึงเวลาล้มเหลว ก็อดไม่ได้ที่จะยึดว่าความล้มเหลวเป็นของเรา แล้วก็เครียด แล้วก็ พาลยึดอะไรต่ออะไรเป็นของเราไปหมด ต่อไปหรือว่าทำอยู่แล้ว ลูกของเรา คนรักของเรา ซึ่งพวกนี้เป็นที่มาของความทุกข์ทั้งสิ้น
อันนี้ก็เป็นการปล่อยวางที่เราทำได้ มันมีลำดับขั้นหลายระดับที่เราทำได้ ไม่ใช่ว่าเวลาพูดถึงปล่อยวางแล้ว โอ๊ย มันยาก มันทำไม่ได้ บางอย่างเราทำได้ บางอย่างเราทำได้เลย บางอย่างทำได้ไม่ยาก เราก็ฝึกไป ฝึกกับงาน ฝึกกับชีวิตประจำวัน แล้วต่อไปจะเข้าใจที่อาจารย์พุทธทาสว่า ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง
จิตว่างนี่อาจจะไม่ได้ว่างจากกิเลสทั้งหมด แต่ว่าอย่างน้อยก็ว่างจากอนาคต หรือว่างจากเป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึง หรือว่างจากจุดหมายที่ต้องการบรรลุ อาจจะว่างเป็นบางอย่างบางเรื่องก่อน ต่อไปมันก็จะไปถึงขั้นว่างจากตัวกูของกู หรือว่างจากความยึดมั่นในตัวกูของกู หรือว่างจากกิเลส อันนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องฝึกกันอีกหลายขั้นตอน
แต่อย่างน้อยขณะที่ยังมีกิเลสอยู่ เราก็ยังสามารถที่จะปล่อยวางเรื่องง่ายๆ ได้ ถ้าเราฝึกในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ต้องรอเทศกาลแห่งการปล่อยวาง เพราะเราสามารถที่จะปล่อยได้ ทุกขณะของการทำงาน ของการดำเนินชีวิต ไม่ใช่เฉพาะแค่งานอย่างเดียว เวลาเราอาบน้ำ ถูฟัน เราก็วาง วางอนาคต วางอดีต หรือวางงานนการที่ต้องทำถัดจากนี้ไป ไม่ใช่ว่าอาบน้ำไปก็คิดไปแล้วว่าเดี๋ยวจะทำอะไรต่อ กินข้าวก็คิดแล้ว นะ เดี๋ยวจะทำอะไรต่อ คิดอย่างนี้ตลอดเวลา แล้วสุดท้ายจิตใจก็เต็มไปด้วยความเครียด
ทำอะไรด้วยความลุกลี้ลุกลน รีบๆ ทำ ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ยึดมั่นถือมั่นอะไรต่ออะไรเต็มไปหมด แม้กระทั่งความทุกข์ ความเครียด ความโกรธ ความหงุดหงิด ความขุ่นเคือง ไม่ปล่อยไม่วางเลย ฉะนั้นถ้าเราอยากจะให้ชีวิตของเราสุขสบายมากขึ้น ต้องฝึกนะ ฝึกให้รู้จักปล่อยวางบ้าง แม้จะปล่อยวางไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ปล่อยวางทีละนิดทีละหน่อย มันก็ทำให้ชีวิตนี้ผ่อนคลายมากขึ้น.