พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 19 เมษายน 2566
มีเด็กนักเรียนรู้สึกจะอยู่ชั้นประถม กำลังเรียนวิชาเลขคณิต ครูสอนสักพักแล้วก็เรียกนักเรียนคนหนึ่งลุกขึ้น เป็นเด็กผู้หญิงท่าทางเรียบร้อยสุภาพแล้วก็ฉลาด แล้วครูก็ถามนักเรียนคนนี้ว่า ครูให้แอปเปิ้ลเธอ 2 ลูก แล้วต่อมาให้อีก 2 ลูก เธอจะมีแอปเปิ้ลกี่ลูก เด็กตอบว่า 5 ค่ะ แล้วครูก็งง เพราะว่าโจทย์มันง่าย แล้วเด็กคนนี้ฉลาด
ถามใหม่ ครูให้แอปเปิ้ล 2 ลูก แล้วให้เธออีก 2 ลูก ตกลงเธอมีแอปเปิ้ลกี่ลูก เด็กตอบ 5 ค่ะ ครูเริ่มจะไม่พอใจแล้ว อุตส่าห์สอนมาเหนื่อย ทำไมตอบแบบนี้ ถามใหม่ ครูให้แอปเปิ้ลเธอ 2 ลูก แล้วตอนหลังให้อีก 2 ลูก ตกลงเธอมีแอปเปิ้ลกี่ลูก 5 ค่ะเด็กก็ยังยืนยันว่าเป็น 5
ทีนี้ครูถามใหม่ ครูให้ส้มเธอ 2 ลูก แล้วให้เธออีก 2 ลูก ตกลงเธอมีส้มกี่ลูก 4 ค่ะ แล้วครูก็เริ่มยิ้มแล้ว เออ..ค่อยยังชั่ว อ้าวอย่างนั้นกลับไปที่คำถามเดิม ครูให้แอปเปิ้ลเธอ 2 ลูก แล้วให้อีก 2 ลูก ตกลงเธอมีแอปเปิ้ลกี่ลูก 5 ค่ะ ครูชักไม่พอใจแล้ว
มันมีอะไรผิดพลาดหรือเปล่านะ พยายามช่วยเด็ก คราวนี้เอาแอปเปิ้ลมาเลย ครูมาเอาแอเปิ้ลมา 2 ลูกให้เด็กถือ แล้วก็ให้อีก 2 ลูก ให้เด็กถือทั้งสองมือเลย ชัดๆ ขนาดนี้แล้วถามว่า ตกกลงเธอมีแอปเปิ้ลกี่ลูก เด็กตอบ 5 ค่ะ คราวนี้ครูโมโหเลย เห็นชัดๆ สองมือของ เด็กมี 4 ลูก เด็กยังตอบ 5 อีก
ครูรู้สึกว่าเด็กคนนี้ตั้งใจกวน ตั้งใจกวนครู ทีแรกพอให้ส้ม 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ก็บอก 4 แต่พอแอปเปิ้ลให้ 2 ครั้ง กลับบอก 5 ครูโมโหมาก ผิดหวังในตัวเด็กคนนี้ แล้วก็รู้สึกว่าเด็กแกล้งครู เห็นว่าครูนี่โง่หรือไง เพราะว่าเด็กนักเรียนในห้องหัวเราะใหญ่เลย ไม่รู้ว่าหัวเราะเด็กหรือหัวเราะครู
ครูก็เลยหยิกที่แขนของเด็กคนนี้ เด็กก็ปวดก็ร้อง แล้วเด็กก็ยืนยันว่า 5 จริงๆ แล้วเด็กก็เอามือล้วงไปที่กระเป๋า แล้วก็หยิบแอปเปิ้ลมาลูกหนึ่งก็เป็น 5 ครูถามว่า ครูให้แอปเปิ้ลเธอ 2 ลูกแล้วให้เธออีก 2 ลูก ตกลงเธอมีแอปเปิ้ลกี่ลูก เด็กก็พาซื่อเพราะว่ามีอยู่แล้วใน กระเป๋า มีอยู่แล้ว 1 ได้มา 4 ก็ 5 ไง เด็กตอบถูก แต่ครูคิดว่าผิด แล้วก็ลงโทษเด็กไปเรียบร้อยแล้ว
เออ..มันเป็นเรื่องที่น่าคิดนะ ครูถามเด็กว่า ตกลงเธอมีแอปเปิ้ลกี่ลูก เด็กก็ตอบพาซื่อ มีอยู่แล้ว 1 ได้มา 4 ก็ 5 ไง แต่ครูก็คิดแต่เพียงว่า 2 + 2 คือ 4 ฉะนั้นพอเด็กตอบ 5 ก็ไม่พอใจ
ที่จริงถ้าครูลองถามเด็กสักหน่อยว่า ทำไมเธอถึงตอบว่า 5 ครูก็จะรู้คำตอบ เพราะเด็กจะตอบว่าก็หนูมีอยู่แล้ว 1 ไง แต่ครูไม่ถามว่าทำไมจึงตอบว่า 5 เพราะครูเชื่อว่าคำตอบที่ถูกต้องคือ 4 พอเชื่อว่าคำตอบที่ถูกต้องคือ 4 แต่เด็กตอบ 5 ฉะนั้นเด็กนี่ถ้าไม่โง่ก็แกล้ง แกล้งโง่
แต่ถ้าครูลองถามสักหน่อยว่าทำไมเธอตอบว่า 5 เด็กก็อาจจะชี้แจง ครูก็จะเข้าใจ เพราะคำถามของครูถามว่า ตกลงเธอมีแอปเปิ้ลกี่ลูก ถ้าครูถามว่าเด็ก 2 + 2 เป็นเท่าไหร่ เด็กก็ตอบได้ว่าคือ 4 แต่พอครูถามว่าเธอมีแอปเปิ้ลกี่ลูก เด็กก็ตอบพาซื่อว่า 5 เพราะมีอยู่แล้ว 1
เรื่องนี้ยังชี้ให้เห็นว่า โจทย์เลขคณิตหรือคณิตศาสตร์บางครั้งมันไม่ค่อยสอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าไหร่ เพราะโจทย์คณิตศาสตร์ก็พยายามตัดตัวแปรตัวอื่นทิ้ง เวลาถามว่าเด็กมีแอปเปิ้ลกี่ลูก ก็สมมุติเอาไว้หรือทึกทักเอาไว้ก่อนว่าเด็กไม่มีแอปเปิ้ลอยู่ในมือเลย แล้วเวลาครูถามเด็ก โจทย์นี้มันก็มีสมมติฐานอยู่ว่าเด็กไม่มีแอปเปิ้ลอยู่เลย แต่ในความเป็นจริงเด็กมีอยู่ 1 ลูก
โจทย์คณิตศาสตร์มันช่วยทำให้คนมีปัญญา แต่ว่ามันก็เป็นโจทย์ที่ตัดตัวแปรตัวอื่น ทำให้มันง่าย แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะว่ามีตัวแปรเยอะ
อย่างถามว่า สมมติมีโจทย์อยู่ข้อหนึ่ง ผู้ชายคนหนึ่งติดหลอดไฟใช้เวลา 1 นาที ติดหลอดไฟถ้า 2 คนจะใช้เวลาเท่าไหร่ ถ้าตอบแบบบัญญัติไตรยางค์ก็ตอบว่าใช้เวลา 30 วินาที เพราะ 1 คนใช้เวลา 1 นาทีหรือ 60 วินาที ถ้า 2 คนก็เอา 2 หารก็ 30 วินาที แล้วถ้า 10 คนล่ะ 1 คนใช้เวลา 60 วินาทีหรือ 1 นาทีในการติดหลอดไฟ ถ้า 10 คนจะใช้เวลาเท่าไหร่ คำตอบบัญญัติไตรยางค์คือ 6 วินาที
แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น คนหนึ่งใช้เวลาติดหลอดไฟ 1 นาที 2 คนอาจจะใช้เวลา 50 วินาทีก็ได้ เพราะว่าการติดหลอดไฟถ้าจะติดให้สะดวกต้องติดคนเดียว มี 2 คนมาอาจจะทำให้ช่วยได้นิดหน่อย
แล้วถ้าหากว่ามีคน 10 คนมาช่วยกันติดหลอดไฟ อาจจะยิ่งวุ่นวายเข้าไปใหญ่ เพราะติดหลอดไฟต้องติดคนเดียวถึงจะสะดวก แต่ตามบัญญัติไตรยางค์ 10 คนติดหลอดไฟก็ใช้เวลาเพียงแค่ 6 วินาที ถ้าหากว่า 1 คนติดหลอดไฟใช้เวลา 1 นาที
หรือเหมือนกับมีโจทย์ว่า คนคนหนึ่งประกอบเก้าอี้ 1 ตัว ใช้เวลา 1 ชั่วโมง ถ้า 2 คนประกอบเก้าอี้ช่วยกันจะใช้เวลาเท่าไหร่ มันอาจจะไม่ใช่ 30 นาทีก็ได้ มันอาจจะ 40, 50 นาทีก็ได้ หรืออาจจะมากกว่านั้นเพราะว่าทะเลาะกัน
โลกแห่งความเป็นจริงมันซับซ้อน มันไม่ง่ายเหมือนโลกของวิชาเลขคณิตหรือบัญญัติไตรยางค์
กลับมาที่โจทย์ที่ครูถามเด็ก สิ่งที่ครูถามเด็กเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของครู ว่าเด็กไม่มีแอปเปิ้ลอยู่ในมือเลย แต่ว่าเด็กจริงๆ เขามี เพราะฉะนั้นคำตอบของเขาก็เลยตอบไม่เหมือนครู แล้วจะว่าเขาผิดก็ไม่ได้ เพราะว่าตกลงเขามี 5 ลูกจริงๆ
เรื่องนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า บางทีโจทย์คณิตศาสตร์หรือว่าโจทย์ที่เราถามเด็ก ในความเป็นจริงอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้ เพราะความเป็นจริงมีความซับซ้อนมากกว่า จะใช้บัญญัติไตรยางค์ก็ไม่ได้
เหมือนกับที่เรามีประสบการณ์ว่ามีเงิน 10 บาท ได้เงิน 10 บาทมีความสุข สมมุติความสุข 1 ขีด ถ้า 100 บาทความสุขก็เป็นน่าจะเป็น 10 ขีด ถ้า 1,000 บาทความสุขก็น่าจะเป็น 100 ขีด แต่ความเป็นจริง มีมากไม่ได้แปลว่าสุขมากเสมอไป มีมากอาจจะไม่ได้สุขมาก เท่าไหร่ก็ได้
เหมือนคนถูกลอตเตอรี่ได้เงินมาเป็นล้าน แต่ว่าไม่มีความสุขหรอก ตอนได้เงิน 100 บาทมีความสุขกว่าด้วยซ้ำ หรือมีความสุขกว่าถ้าได้ 1,000 บาท แต่พอได้ล้านบาท มันไม่ได้สุขเป็นร้อยเท่าพันเท่าตามบัญญัติไตรยางค์ แล้วบางทีอาจจะสุขเพิ่มขึ้นแค่ 2 เท่า หรืออาจจะทุกข์ก็ได้ เพราะเครียดว่าจัดการกับเงินล้านอย่างไงบ้าง
หมายความว่า มีมากไม่ได้แปลว่าสุขมาก มีมากอาจจะสุขน้อยก็ได้ เพราะว่าที่จริงไม่ได้เป็นไปตามหลักบัญญัติไตรยางค์หรือเลขคณิต.