พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 20 เมษายน 2566
สิ่งหนึ่งที่เรียกว่าผู้คนทั้งหลายปรารถนา คือการมีอายุยืน ด้วยเหตุนี้พร 4 ประการที่ชาวพุทธจำนวนมากอยากจะให้บังเกิดขึ้นกับตัวเอง ข้อแรกคืออายุ อายุในที่นี้หมายถึงการมีอายุยืน
เวลาถึงวันเกิดเราก็อยากจะได้ยินคำอวยพรขอให้มีอายุยืนถึง 100 ปี หรือถ้าอวยพรให้มันสอดคล้องจองกันหน่อยก็ให้อายุยืนหมื่นปี แล้วคนส่วนใหญ่ก็อยากจะมีอายุยืน 100 ปี หรือว่าอาจจะไปถึง 120 ปี แต่ส่วนใหญ่ที่อยากจะมีอายุยืนอย่างนั้นก็เป็นคนหนุ่มคนสาวคนวัยกลางคน ถ้าเป็นคนแกจริงๆ คิดว่ามีน้อยที่อยากจะมีอายุยืนไปถึง 100 ปี
มีคุณยายคนหนึ่งอายุ 100 ปี ในช่วงท้ายๆ ของชีวิตท่าน เวลาลูกหลานเหลนมาอวยพรขอให้ท่านมีอายุยืน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลานเหลน ท่านก็มักจะออกตัวว่า ไม่ไหวแล้วลูกหลานเอ้ย ยายเผลอรับพรให้อายุยืนมาจนเพลิน มีอายุยืนจนถึง 90 จึงรู้ว่าพลาดไปเสียแล้ว ไม่ไหวแล้วลูกหลานเอ้ย เกินจากนี้ไปมันก็มีแต่ทุกข์อย่างเดียว เกินจากนี้คือเกินจาก 90 หรือว่าอายุยืนไปถึงร้อย
คุณยายนี่พออายุถึง 90 กว่าแล้วก็รู้ว่าการมีอายุยืนมันไม่ใช่พรเท่าไหร่ เพราะว่าไม่ได้ทำให้เป็นสุขอย่างแท้จริง พอแก่ตัวมีอายุยืนปานนั้นจึงรู้ว่า การมีอายุยืนซึ่งความหมายหนึ่งก็คือความแก่ชรา มันก็คือความทุกข์นั่นเอง ท่านถึงบอกว่าเผลอรับพรให้อายุยืนจนถึงอายุ 90 จึงรู้ว่าพลาดไปเสียแล้ว คนที่มีอายุยืนจริงๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดว่าการมีอายุยืนเป็นของดีเท่าไหร่
แล้วคนที่คิดว่าการมีอายุยืนเป็นของดี โดยเฉพาะการมีอายุยืนถึงร้อย เรียกว่าส่วนใหญ่หรือจะร้อยทั้งร้อยก็เป็นคนหนุ่มคนสาว คนวัยกลางคน หรือว่ายังห่างไกลจากความแก่ชรา ห่างไกลจากอายุ 100 ปี
ที่จริงที่ผู้คนโดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวอยากจะมีอายุยืน เหตุผลหนึ่งก็เพราะกลัวตาย ยังไม่อยากตาย อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อ อยากจะมีชีวิตยืนยาว แต่ก็อาจจะไม่ได้คิดว่าการมีชีวิตกินยาวก็ต้องแลกมาด้วยความแก่ชรา หรือว่ามันต้องลงเอยด้วยความแก่ชรา แต่แม้กระนั้นเมื่อไม่ได้คิดจริงจัง แต่เพราะความกลัวตายก็เลยอยากจะมีอายุยืน
แต่เมื่อเร็วๆ นี้เขามีการสอบถามความเห็นของคนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง 1,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ชายครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่ก็สอบถามคนอายุวัย 20-70 คำถามคือว่า อยากจะมีอายุยืนถึง 100 ปีไหม ปรากฏว่าส่วนใหญ่เลยบอกไม่อยาก ผู้ชาย 72% บอกว่าไม่อยากมีอายุยืนถึง 100 ปี ส่วนผู้หญิงถึง 84% ก็บอกไม่อยากอายุยืนถึง 100 ปี
เป็นข้อสรุปที่เรียกว่าเป็นที่แปลกใจ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ก็อยากจะมีอายุยืนนับร้อยปีทั้งนั้น แต่คนญี่ปุ่น 70-80% บอกไม่อยาก ถามว่าทำไมไม่อยาก เขาตอบว่า เพราะไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน ของคนอื่น
ที่จริงเหตุผลคงจะมีมากกว่านั้น เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีคนอายุยืนนับร้อยเป็นจำนวนมาก เกือบแสนคนตอนนี้ เพราะฉะนั้นการที่เห็นคนแก่อายุยืนถึงร้อยปีไม่ใช่เป็นเรื่องยากสำหรับคนญี่ปุ่น แล้วคงเห็นว่าพอแก่ปานนั้นแล้วมันไม่ได้เป็นภาพที่น่าดูเลย เพราะพอแก่ถึงร้อยปี ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่นอนติดเตียง หรือไม่ก็เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย
ที่จริงเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายก็ทำให้นอนติดเตียงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง ไตวาย แล้วที่สำคัญคือโรคความจำเสื่อมโดยเฉพาะอัลไซเมอร์ เดี๋ยวนี้เป็นภาพที่เห็นเยอะมาก ในญี่ปุ่นคนอายุยืนถึงร้อยปีเขาไม่ได้มีชีวิตชีวากระฉับกระเฉงเลย นอนอยู่บนเตียงไม่รู้เนื้อรู้ตัว ยิ่งถ้าเกิดว่าเป็นอัลไซเมอร์ด้วยแล้วนี่เป็นที่สมเพชเวทนาของคนที่ดูแลมาก
นี่คือภาพของคนอายุร้อยปีที่คนญี่ปุ่นจำนวนมากรับรู้ว่า พออายุยืนขนาดนั้นแล้วมันทุกข์ทรมาน ยังไม่นับประเภทว่าอยู่อย่างโดดเดี่ยวแล้วก็ต้องกลายเป็นภาระของลูกหลาน บางทีไม่มีลูกหลานดูแลด้วยซ้ำ ต้องไปอยู่ในสถานบริการของรัฐ บ้านพักคนชรา
แล้วก็อย่างหนึ่งที่เห็นคือว่า คนแก่ก็ไม่ได้เป็นที่เคารพนับถือเหมือนอย่างในอดีตเท่าไหร่ อันนี้เป็นภาพที่เห็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่เฉพาะในญี่ปุ่น ซึ่งมันต่างจากภาพของคนแก่คนชราอายุร้อยปีในอดีต
ในอดีตคนแก่อายุยืนถึงร้อยปีถึงแม้จะมีน้อย แต่ว่าจำนวนมากไปไหนมาไหนได้ ช่วยตัวเองได้ ความจำไม่เลอะเลือน แล้วก็ถูกห้อมล้อมด้วยลูกหลานเหลน จะเรีย กว่าเป็นภาพที่เห็นเมื่อ 100 ปี หรือ 60-70 ปีที่ผ่านมาในสังคมญี่ปุ่น
ที่คนแก่อายุถึงร้อยปีแล้วยังกระชับกระเฉง สาเหตุสำคัญเลยคือ เป็นผู้ที่มียีนดี ยีนดีทำให้แข็งแรง หัวใจก็ยังแข็งแรง ปอดก็ยังแข็งแรง เดินเหินไปไหนมาไหนได้ บางทีก็ปลูกผักทำสวน พวกนี้ที่อยู่รอดมาได้ถึงร้อยปีเพราะว่ายีนดี ส่วนที่ยีนไม่ดีก็ตายไปก่อนหน้านั้นแล้ว
แต่สมัยนี้แม้จะยีนไม่ดีก็สามารถจะอยู่ได้ถึง 90 หรือ 100 ปี เพราะอะไร เพราะว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีทางด้านสาธารณสุข ถึงแม้ร่างกายจะอ่อนแอ บางคนพิการตั้งแต่เล็กแต่ว่าได้รับการดูแลจนกระทั่งอยู่ได้ถึง 100 ปี แต่เนื่องจากยีนไม่ดี เพราะฉะนั้นปอดหัวใจสมองพอถึง 100 ปีมันก็เสื่อม แล้วก็ลงเอยด้วยการเป็นคนป่วยนอนอยู่โรงพยาบาล
อีกอย่างหนึ่งคือว่า คนทุกวันนี้ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับคนแก่สมัยก่อนออกกำลังกายมาตลอดชีวิต ทำนาทำสวนทำไร่ แล้วก็อาหารที่กินก็เป็นอาหารที่ถูกสุขลักษณะ น้ำตาลไม่มาก เนื้อก็น้อย ส่วนใหญ่กินผัก ก็เลยอายุยืนแล้วก็สุขภาพดีด้วย
ต่างจากคนสมัยนี้ อายุยืนก็จริงแต่ถึงแม้จะอายุยืนแต่สุขภาพไม่ดี ไม่ใช่แค่ยีนไม่ดีอย่างเดียวแต่ว่าวิถึชีวิตไม่เกื้อกูลด้วย เพราะว่าอาหารที่กินเป็นอาหารที่อร่อยถูกปากก็จริง แต่ว่าน้ำตาลเยอะ ไขมันมาก เดี๋ยวนี้กินเนื้อกันเยอะมาก แถมไม่ออกกำลังกายด้วย
เพราะฉะนั้นถึงแม้เทคโนโลยีทางการแพทย์จะช่วยทำให้อยู่ได้ถึง 100 ปี แต่ว่าหมดสภาพไปแล้วเมื่อถึงตอนนั้นเพราะร่างกายไม่แข็งแรง อันนี้เป็นภาพที่คนสมัยนี้เห็นคนแก่อายุถึง 100 ปี เมื่อดูแล้วเรียกว่าไม่ค่อยอยากจะเจริญรอยตาม ยิ่งเห็นเขาอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ได้อยู่ท่ามกลางลูกหลานเหลนเครือญาติอย่างคนแก่สมัยก่อน เลยไม่ค่อยอยากจะมีชีวิตยืนไปถึง 100 ปีเท่าไหร่
ยิ่งระยะหลังมีค่านิยมที่ไม่ค่อยชื่นชมหรือว่าสนับสนุนคนแก่ด้วย สังคมสมัยนี้เป็นสังคมที่เชิดชูความหนุ่มสาว แล้วก็รังเกียจความแก่ชรา เห็นว่าพอแก่ชราแล้วก็หมดคุณภาพ ไปเที่ยวไหนก็ไม่ได้ จะเสพสุขอย่างแต่ก่อนก็ไม่ได้
แล้วสังคมทุกวันนี้เป็นสังคมที่รังเกียจความแก่ชรา เห็นได้เลยสินค้าที่โฆษณากัน ที่ขายดีก็เป็นสินค้าที่ทำให้ดูหนุ่มดูสาวดูกระฉับกระเฉง ยาย้อมผมขายดีมากเพราะว่าถ้าผมหงอกก็ดูไม่ดี เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียกว่าผมหงอกแล้ว เขาเรียกว่าผมขาว ถ้าบอกใครว่าเธอผม หงอก มันเหมือนดูถูกเหมือนกับต่อว่าเลย ต้องใช้คำสุภาพต้องเรียกว่าผมขาว ผมขาวก็ต้องย้อมถ้าไม่ย้อมก็ดูไม่ดี ยังไม่ต้องพูดถึงหนังที่เหี่ยวตกกระ จะรู้สึกอับอายมาก
เพราะฉะนั้นต้องทำให้ดูหนุ่มสาว ไม่ให้มีริ้วรอยของความแก่ เดี๋ยวนี้บางคนแค่ 40 ก็รู้สึกว่าแก่แล้ว แต่ก่อนนี้เรียกใครว่าป้าเรียกใครว่าลุงมันกลายเป็นคำยกย่อง แต่เดี๋ยวนี้ห้ามเรียกว่าป้าเรียกลุง ให้เรียกว่าพี่ เรียกว่าน้าก็ยังไม่ได้เลย ต้องเรียกว่าพี่ ใครได้ยินแล้วเออสบายใจเพราะแสดงว่ายังไม่แก่
สังคมแบบนี้เป็นสังคมที่รังเกียจความแก่ มีความรู้สึกลบต่อความแก่ แล้วตัวคนแก่เองก็รู้สึกแย่ไม่ดีต่อตัวเองด้วย เมื่อพบว่าตัวเองแก่ แล้วก็แปลกคนเราพอมีความรู้สึกลบต่อความแก่แล้ว ความเสื่อมความชรามันมาถึงเร็วแล้วก็รุนแรงด้วย
อย่างที่อเมริกา มหาวิทยาลัยเยลเขาพบว่า คนที่อายุ 40 ถ้าคนไหนมีทัศนคติไม่ดีต่อคนแก่ ว่าคนแก่นี่เงอะงะ เป็นภาระต่อผู้อื่น ทำอะไรก็ไม่ไหว คนที่คิดแบบนี้ 25 ปีผ่านไป มีโอกาสที่จะเป็นมากกว่าคนที่เขารู้สึกบวกต่อความแก่ ว่าเออความแก่นี่ดีนะ แสดงว่ามีวุฒิภาวะ มีประสบการณ์มาก
แล้วคนที่ยิ่งรู้สึกลบต่อความแก่เท่าไหร่ในขณะที่เป็นวัยกลางคน พอถึงเวลาแก่ตัวจริงๆ ร่างกายมันแย่ลง อัลไซเมอร์ก็ถามหา มีโอกาสเป็นมากกว่า ยังไม่นับโรคหัวใจ เพราะโรคหัวใจนี่เขาก็พบว่าคนที่รู้สึกลบต่อความแก่ สมมุติอายุ 40 พออายุ 80 หรือ 40 ปีผ่านไป มีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่รู้สึกบวกต่อความแก่ชรา แล้วเดี๋ยวนี้คนก็รู้สึกลบต่อความแก่ความชราทั้งนั้นแหละอย่างที่พูด
เพราะฉะนั้นพอถึงเวลาแก่จริงๆ ร่างกายก็เลยไม่ค่อยแข็งแรง เต็มไปด้วยโรคภัย อันนี้คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงเห็นคนแก่จำนวนมากยิ่งอายุถึง 100 อยู่ในสภาพที่เรียกว่าไม่ค่อยเชิญชวนให้คนอยากจะแก่อยากจะชราเลย
แต่คนเดี๋ยวนี้ก็ตกอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในด้านหนึ่งก็ไม่อยากตาย แต่ขณะเดียวกันก็กลัวแก่ ถ้าไม่ตายก็ต้องแก่อย่างเดียวแหละ ไม่อยากตายก็จริงแต่ว่าไม่อยากอายุยืน เพราะว่าอายุยืนคือความแก่ ที่จริงคนเราถ้าหากว่าเราเข้าใจ เข้าใจเรื่องชีวิตเพียงพอ เข้าใจธรรมดาของชีวิต ความแก่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวน่าวิตกเลย
ที่จริงแม้แก่แล้วก็สามารถที่จะมีชีวิตผาสุกอย่างมีคุณภาพก็ได้ เพราะคนแก่จำนวนมากถ้าหากว่าเขามีชีวิตที่ดี รวมไปถึงการดำเนินชีวิตที่ถูกสุขลักษณะ โดยเฉพาะการมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้คน มีครอบครัวที่อบอุ่น ให้ความสำคัญกับคนที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นคนรักลูกหลานเพื่อนบ้าน คนเหล่านี้เขาพบว่าเมื่อแก่แล้วจะมีความสุข แล้วก็มีสุขภาพดี แล้วก็มีอายุยืนด้วย
อันนี้เคยพูดไปแล้วว่าการวิจัยของหลายแห่ง รวมทั้งของฮาร์เชวาร์ด ซึ่งเขาติดตามคนอย่างต่อเนื่องมา 80 ปี เขาพบเลยว่า ปัจจัยสำคัญตัวเดียวที่ทำให้คนมีอายุยืนยาว แล้วมีสุขภาพดี มีความสุข สิ่งนั้นคือการมีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ใช่ความสัมพันธ์กับครอบครัวอย่างเดียว แต่รวมถึงลูกหลาน รวมถึงผู้คนด้วย
แต่ก็อย่างว่าแหละ ความสัมพันธ์กับผู้คนก็เป็นเรื่องที่ไม่เที่ยง เพราะว่าคนที่เรารักคนที่เราผูกพัน แม้จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลมาโดยตลอด แต่ถึงวันหนึ่งเขาก็ต้องล้มหายตายจากไป เพราะฉะนั้นนอกจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีที่อบอุ่นกับคนรอบข้าง การที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเอง มีความรู้สึกที่สามารถจะรักตัวเองได้อย่างแท้จริง หรือว่ารู้จักอยู่กับตัวเองให้ได้ นี่ก็สำคัญมาก
คนเราถ้าหากว่าเราไม่เรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเองเลย ถึงเวลาอย่าว่าแก่ชราเลย ถึงเวลาเจ็บป่วยขึ้นมา นอนติดเตียงก็ดี หรือแม้กระทั่งไม่ป่วยแต่ว่าไม่สามารถจะไปพบปะผู้คนได้ อย่างช่วงโควิดที่ผ่านมา 3 ปี หรือ 2 ปี ช่วงที่ล็อกดาวน์กันอย่างเข้มข้น หลายคนทุกข์ทั้งที่ไม่เจ็บไม่ป่วยอะไรเลย ทั้งที่มีกิน จะดูหนังฟังเพลงอย่างไรก็ได้ แต่มันเครียดเพราะว่าไม่ได้ไปเจอะไปเจอผู้เจอคน ต้องอยู่กับตัวเอง หรืออาจจะอยู่กับคนรอบข้างแค่ไม่กี่คน จะรู้สึกเบื่อ
คนเราถ้ารู้จักเรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเองให้ได้ ถึงเวลาแก่ชรา ถึงเวลาเจ็บป่วยก็ไม่ทุกข์ทรมานมาก ยิ่งถ้าเกิดรู้ว่าอยู่ไปเพื่ออะไร หรือค้นพบเป้าหมายของชีวิต
คนจำนวนไม่น้อยพอเกษียณแล้วมันเคว้ง เพราะว่าไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม เที่ยวก็แล้ว มีเที่ยวที่ไหนก็ไปหมดเลย เที่ยวกับเพื่อนก็ไป เที่ยวคนเดียวก็ไป แต่แล้วพอเมื่อไหร่กลับมาอยู่บ้านก็เค้วง เพราะรู้สึกว่าชีวิตไม่มีเป้าหมาย ตื่นเช้าขึ้นมาไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม
อย่าว่าแต่คนแก่เลย คนหนุ่มคนสาวถ้าตื่นขึ้นมาแล้วไม่รู้ว่าจะทำอะไรหรืออยู่ไปทำไม อย่างที่เด็กเคยเล่า เด็กวัยรุ่นป่วยด้วยโรคร้ายแล้วก็ไม่รู้จะอยู่ได้นานแค่ไหน เวลาตื่นเช้าขึ้นมาไม่พบจุดหมายในการดำเนินชีวิตเลย รู้สึกแย่ห่อเหี๋ยว คิดถึงการฆ่าตัวตาย
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ตื่นขึ้นมาแล้วรู้ว่าวันนี้จะทำอะไร อยู่ไปเพื่ออะไร หรือพบจุดหมายของการมีชีวิตแม้เพียงวันเดียว ก็ทำให้การมีชีวิตของวันนั้นมีคุณค่า อย่างเด็กที่เขาพบว่า ตื่นขึ้นมาแล้วฉันจะไปเป็นจิตอาสา ช่วยส่งเคราะห์คนที่มาเยี่ยมโรงพยาบาล เป็นจิตอาสา ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคนต่างจังหวัดที่มาโรงพยาบาล เพียงแค่รู้ว่าวันนี้จะทำอะไร ชีวิตนี้มีจุดมุ่งหมายอะไร หรือพบจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิตแม้เพียงวันนี้ก็ทำให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาได้
คนเราก็เหมือนกัน ยิ่งแก่ชราก็ยิ่งจำเป็นต้องค้นหาให้พบว่าอยู่ไปเพื่ออะไร ยิ่งถ้าคนที่สนใจการปฏิบัติธรรม แม้ว่าจะป่วยแม้ว่าจะชรานอนติดเตียง แต่ว่าอย่างน้อยก็รู้ว่า เรามีชีวิตเพื่อขัดเกลากิเลสตัวเอง เพื่อให้กิเลสเบาบาง เพื่อให้ค้นพบสัจธรรมความจริงของชีวิต เพื่อเรียนรู้จากความแก่ เรียนรู้จากความป่วยความชรา อันนี้ก็เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของผู้ใฝ่ธรรม
การมีลมหายใจแต่ละวันๆ จะไม่มีความทุกข์ทรมาน เพราะว่ายังเป็นโอกาสได้เรียนรู้จากรูปจากนาม จากกายและใจ เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็ยังเรียกว่าเป็นผู้ที่ต้องศึกษาเรื่อยไป แล้วเป็นสิ่งที่เราจะต้องศึกษาตลอดชีวิตไปเลยก็ได้ ศึกษาเรื่องรูปเรื่องนาม เรื่องกายเรื่องใจ ให้เข้าใจสัจธรรมความจริงของชีวิต
หรือถึงแม้จะยังมองไปไม่ได้ไกลขนาดนั้น ก็รู้ว่าเราจะฝึกจิตฝึกใจ ให้จิตอยู่เหนือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะมันเป็นโจทย์ใหญ่เลยเวลาแก่เวลาเจ็บเวลาป่วย มันมีทุกขเวทนาที่มาบีบคั้นกาย บีบคั้นกายไม่พอเผลอเมื่อไหร่มันก็บีบคั้นใจ อันนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ว่า ทำยังไงจะยกจิตให้อยู่เหนือทุกขเวทนาได้
ที่จริงตอนแก่ชรามีกิจหลายอย่างที่ต้องทำ เรื่องหนึ่งคือการปล่อยวาง ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ที่เคยรักเคยหวงแหนเคยทุ่มเท ปล่อยวางสิ่งที่เคยมีหรือกำลังมี สิ่งที่เคยเป็นหรือกำลังเป็น
แต่ปล่อยวางไม่พอ ปล่อยวางสิ่งที่รักสิ่งที่ห่วงก็เรื่องหนึ่ง แต่ว่าการรับมือสิ่งที่ไม่รักคือทุกขเวทนาก็เป็นงานใหญ่งานหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดหมายของชีวิตอย่างหนึ่งสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ เราจะอยู่กับมันได้อย่างไร อยู่กับทุกขเวทนาได้โดยที่ใจไม่ทุกข์
ในขณะที่ปล่อยวางสิ่งที่รักลูกหลานหรือว่างานการก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่บางคนแม้ว่าจะปล่อยวางสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ว่าไม่รู้วิธีที่จะรับมือกับทุกขเวทนา ซึ่งที่จริงแล้วก็อาศัยการปล่อยวางเหมือนกัน คือมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็เห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นมัน ไม่ยึดเวทนาว่าเป็นเรา เป็นของเรา เห็นว่าเวทนาคือเวทนา ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เช่นเดียวกันเห็นว่า กายนี้คือกาย ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา
อย่างที่เขาว่า เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต ความหมายหนึ่งคือ เห็นกายว่าเป็นกาย ไม่ใช่กายเป็นเราเป็นของเรา เห็นเวทนาว่าเป็นเวทนา ไม่ใช่เวทนาเป็นเราเป็นของเรา เห็นจิตว่าเป็นจิต ไม่ใช่ว่าเป็นเราเป็นของเรา ซึ่งก็นำไปสู่การปล่อยวาง
อันนี้ก็เป็นการบ้าน ที่ถึงแม้จะไม่ใช่เป็นคนแก่ไม่ใช่เป็นคนเจ็บคนป่วยก็ต้องใส่ใจ หลายคนอาจจะคิดว่าตัวเองยังไม่แก่ แต่ยังคิดว่าความแก่อีกนาน แต่ว่าความเจ็บความป่วยหรือทุกขเวทนา มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ทั้งนั้นแหละ คนหนุ่มคนสาวก็เจ็บป่วยได้ ยังไม่นับถึงความพลัดพรากสูญเสีย
ที่จริงพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว ความแก่มันไม่ได้อยู่ในไหนหรอก มันอยู่ในความหนุ่มสาวนี่แหละ ความเจ็บไข้ก็อยู่ในความไม่มีโรค ถึงแม้ว่าเราไม่มีโรคก็ไม่ได้แปลว่าไม่เจ็บไข้ ความเจ็บไข้ก็อยู่ในความไม่มีโรค ถึงแม้ว่าเราจะยังเป็นหนุ่มเป็นสาว พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ความแก่ก็อยู่ในความหนุ่มความสาวนั่นแหละ รวมทั้งความตายก็มีอยู่ในความมีชีวิต
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะยังหนุ่มยังสาวก็ไม่ใช่ห่างไกลกับความแก่ ถึงแม้จะไม่ป่วยก็ไม่ได้แปลว่ายังห่างไกลกับความเจ็บความป่วย ถึงแม้จะยังมีชีวิตก็ไม่ได้แปลว่ายังห่างไกลจากความตาย ความแก่ก็ดี ความเจ็บป่วยก็ดี ความตายก็ดี มันอยู่กับเราอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะ มองเห็นหรือเปล่า.