พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวันที่ 5 มีนาคม 2566 ณ วัดดาวเรือง บ้านช่อระกา จังหวัดชัยภูมิ
คำว่านวัตกรรม เดี๋ยวนี้ก็เป็นคำที่คนใช้กันเยอะ แล้วก็เป็นแนวคิดที่ผู้คนเสาะแสวงหา ใครๆ หรือทุกวงการก็พูดถึงนวัตกรรม ที่จริงคำว่านวัตกรรมนี้มันก็เป็นนวัตกรรมชิ้นหนึ่ง เพราะเมื่อยี่สิบปีที่แล้วเท่าที่จำได้ ไม่เคยได้ยินคำว่านวัตกรรม มีคำที่ใกล้เคียงก็คือคำว่าสร้างสรรค์ หรือมิฉะนั้นก็ นวโกวาทไปเลย
ตอนหลังเริ่มมีคนพูดถึงนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งก็แปลมาจากภาษาฝรั่งว่า innovation คำว่านวัตกรรมโดยตัวมันเองก็เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งนะ เพราะมันเป็นคำที่เพิ่งคิดค้นกันขึ้นมา แล้วก็มีเสน่ห์ซะด้วย เพราะอย่างที่ว่าทุกวงการก็พูดถึงนวัตกรรม จะอยู่รอดได้นี่ต้องมีนวัตกรรม
นวัตกรรมหมายความว่าอย่างไรนะ พูดง่ายๆ ก็คือหมายถึงการสร้างสรรค์ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ เดิมไม่มีนะ แล้วก็สร้างขึ้นมาให้มันมี ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่านอกกรอบ หรือนอกกระแส
นวัตกรรม มันสำคัญอย่างไร มันสำคัญตรงที่ว่า สิ่งต่างๆ มันไม่มีความหยุด มันไม่มีความนิ่ง ทุกอย่างนี่มันมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา อะไรที่นิ่งนานๆ มันก็คงเหมือนน้ำ น้ำที่นิ่งนานๆ มันก็เป็นน้ำเน่า น้ำที่มันไม่เน่าเพราะมันไหลเรื่อย มันมีการเคลื่อนไหว
ที่คนพูดถึงนวัตกรรมก็เพราะว่า อะไรก็ตามถ้าหากมันอยู่กับที่ มันก็จะลงร่อง แล้วมันก็อาจจะค่อยๆ สูญเสียสาระ เหลือแต่รูปแบบ สิ่งต่างๆ ที่เราเห็นมันอยู่คงที่เช่นประเพณี ประเพณีมากมายที่อยู่มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ดูเหมือนมันหยุดนิ่ง เพราะคนก็ตั้งใจที่จะแช่แข็ง
คนเราพออายุมากขึ้น เราก็ไม่ค่อยชอบเห็นความเปลี่ยนแปลง เขาเรียกว่ามีความรู้สึกแบบอนุรักษ์นิยม ก็มีแนวโน้มจะรักษาประเพณีให้มันคงที่เอาไว้
แล้วเราก็พอใจที่ประเพณีมันยังคงอยู่ แต่ที่จริงประเพณีที่เราเห็นนี่มันไม่คงที่ ที่เราเห็นนี่คือรูปแบบ แต่สาระมันแปรเปลี่ยนไปโดยที่บางทีก็ไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น ประเพณีทอดผ้าป่า ทอดผ้าป่าเราก็รู้อยู่แล้ว ว่าผ้าป่าคือสิ่งสำคัญของประเพณีนี้ ถ้าวันใดเราไม่มีการทอดผ้าป่า ประเพณีนี้ยุติ คนทั้งประเทศก็คงจะเสียใจหรือโกรธแค้นว่า ทำไมถึงไม่สืบต่อประเพณีนี้
แต่การที่ประเพณีนี้ยังสืบทอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ เราก็เกิดความพอใจ แต่เราเคยสังเกตไหมว่าประเพณีนี้มันแปรเปลี่ยนไป จนบางทีผิดเพี้ยน เพราะผ้าป่าเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องสำคัญแล้ว อะไรนี่สำคัญในประเพณีนี้ เวลาเราทอดผ้าป่าอะไรที่สำคัญที่สุด มันไม่ใช่ผ้า มันคือเงิน ผ้านี้บางทีไม่มีด้วยซ้ำ หลายคนหลายเจ้ามาที่วัดป่าสุคะตะโตบ้าง วัดป่ามหาวันบ้าง บอกมาทอดผ้าป่า แต่ไม่มีผ้าซักผืน มีแต่เงิน บางที ก็ไม่ได้เอาเงินมาด้วยซ้ำ เอาเช็คมา แล้วเราก็เรียกว่านี่คือการทอดผ้าป่า
ดูเหมือนว่ามันคงที่คงตัว แต่ที่จริงมันมีความแปรเปลี่ยนเกิดขึ้น คือเหลือแต่รูปแบบ แต่เนื้อหาสูญสลายหายไป ตรงนี้แหละที่ทำให้นวัตกรรมนี่มันสำคัญ เพราะว่ามันคือการพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
ความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา มันไม่ใช่แค่เวลาเปลี่ยนไปนะ แต่สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไปด้วย และบุคคลหรือสถาบันเช่นวัด จะอยู่ได้มันก็ต้องปรับเปลี่ยน แต่ไม่ใช่ปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด อันนั้นมันไม่ใช่ความหมาย วัดเราหรือคณะสงฆ์ ถ้าปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด อันนั้นมันไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ปรับเปลี่ยนเพื่อจะได้ทำหน้าที่อย่างสมสมัย ไม่ใช่อย่างทันสมัย
ทันสมัยกับสมสมัยไม่เหมือนกัน ปรับเปลี่ยนบทบาท ปรับเปลี่ยนรูปแบบ ปรับเปลี่ยนกิจกรรม เพื่อให้สมสมัย เพื่อจะได้ทำหน้าที่ที่เคยมีอยู่ให้มันเกิดประโยชน์สร้างสรรค์ต่อไป เหมาะกับผู้คนที่มีความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนกับคนเมื่อร้อยปีที่แล้ว หรือเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว
ที่จริง พระพุทธศาสนาสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ได้ แล้วก็มีความหมายกับผู้คน ก็เพราะมีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง อันที่จริงแล้วเมื่อพระพุทธเจ้าทรงสถาปนนาคณะสงฆ์ขึ้นมา อันนี้ถือเป็นนวัตกรรม พวกเรารู้หรือเปล่า การที่มีคณะสงฆ์เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนานี่ถือเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญเลยทีเดียว
เพราะสมัยก่อนมันไม่มีชุมชนของนักบวช พราหมณ์ก็ไม่มีนักบวช บางลัทธิมีนักบวช เช่น ลัทธิเชนหรือพวกปริพาชก แต่เขาก็ไม่มีชุมชนในลักษณะสังฆะหรือสงฆ์อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสถาปนา นักบวช จำนวนไม่น้อยก็เที่ยวจาริกไปแต่ผู้เดียว เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ตอนที่พระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาก็บำเพ็ญคนเดียว เรียกว่าตัวใครตัวมัน เหมือนกับที่นักบวชพวกสาธุ ในอินเดียทุกวันนี้จำนวนมาก หรือพวกโยคีชีไพรก็ยังปฏิบัติ
แต่พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าคณะสงฆ์เป็นสิ่งสำคัญ การที่พระแม้จะมุ่งปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มุ่งเข้าถึงอิสรภาพในทางใจคือความพ้นทุกข์ ก็ยังควรที่จะมีชุมชนเพื่อส่งเสริมการประพฤติปฏิบัติธรรมให้เจริญงอกงาม ชุมชนที่ว่านี้เป็นชุมชนแห่งกัลยาณมิตร
เราคงทราบดีแล้วที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์” พรหมจรรย์หรือชีวิตอันประเสริฐจะเจริญงอกงามได้ต้องมีกัลยาณมิตรช่วยสนับสนุน แล้วกัลยาณมิตรจะหาจากไหน ก็หาจากชุมชนสงฆ์นี่แหละ ที่เรียกว่าสังฆะ
อันนี้ถือเป็นนวัตกรรม เป็นของแปลกใหม่เมื่อ 2,600 ปีที่แล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตั้งชุมชนสงฆ์ขึ้นมาแบบนี้ ภายหลังลัทธิพราหมณ์หรือฮินดูก็ทำตาม ก็เลยเกิดมีกลุ่มนักบวชที่อยู่กันเป็นชุมชน ที่จริงแม้ กระทั่งมีเพศนักบวชที่อยู่กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก็มีมาหลังพุทธกาล อันนี้หมายถึงทางลัทธิฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์
พราหมณ์หรือฮินดูนี่เขาก็เจริญหรือลอกแบบพุทธศาสนาหลายอย่างเพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสร้างขึ้นมา มันเป็นนวัตกรรมที่มันได้ผล ไม่ใช่แค่ชุมชนสงฆ์เท่านั้นที่เป็นนวัตกรรมเมื่อ 2,600 ปีที่แล้ว การรวบรวมคำสอนที่ภายหลังเราเรียกว่าพระไตรปิฎก อันนี้ก็เป็นนวัตกรรม เพราะว่ากลุ่มหรือลัทธิจำนวนมากในสมัยพุทธกาล จะเรียกว่าแทบทั้งหมดเลยไม่มีความคิดที่จะรวบรวมคำสอนของศาสดา
อย่างพวกปริพาชก เมื่อศาสดาล้มหายตายจากไป ลูกศิษย์ลูกหาก็ทะเลาะเบาะแว้งกัน อ้างว่าคำสอนของครูบาอาจารย์เป็นอย่างนี้ ครูบาอาจารย์เป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ทำให้คณะสงฆ์ตั้งแต่สมัยพุทธกาล เช่น พระสารีบุตร หรือพระจุนทะ เห็นว่าจะต้องมีการรวบรวมร้อยกรองคำสอนของพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นหมวดเป็นหมู่ เรียกว่าสังคีติ
การรวบรวมคำสอนก็เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เป็นที่มาของพระไตรปิฎก แล้วพระไตรปิฎกที่มีการจดจารึกเป็นอักษรในช่วง 3 ศตวรรษต่อมาก็เป็นนวัตกรรม เพราะไม่เคยมีมาก่อน แต่ก่อนก็ใช้วิธีการท่องจำแล้วถ่ายทอดกันด้วยคำพูดที่เรียกว่า มุขปาฐะ
จะเห็นได้ว่าในพุทธศาสนามีนวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งทำให้พุทธศาสนาดำรงคงอยู่ได้อย่างมีสาระ คำสอนก็ไม่สูญหาย ขณะเดียวกันก็มีผู้ที่สืบทอดคำสอนด้วยการปฏิบัติให้เห็นผลจริงจัง นั่น คือพระสงฆ์ แล้วยังมีนวัตกรรมต่อมาคือ การสร้างสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสงฆ์กับญาติโยมที่เราเรียกว่า พุทธบริษัท
พระพุทธเจ้าก็ทรงวางหลักเกณฑ์หรือแบบแผนเอาไว้ว่า สงฆ์อยู่ได้ด้วยการอุปถัมภ์ของญาติโยม ที่เราเรียกว่า อุบาสกบริษัท อุบาสิกาบริษัท ต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน พระพึ่งพาอาหารปัจจัยสี่จากญาติโยม ส่วมญาติโยมก็พึ่งพาคำสอนรวมทั้งแบบอย่างทางด้านชีวิตอันประเสริฐจากพระสงฆ์ ฝ่ายหนึ่งเกื้อกูลอาหารกาย อีกฝ่ายหนึ่งก็เกื้อกูลอาหารใจ นี่ก็เป็นแบบแผนที่เป็นนวัตกรรม จึงมีธรรมเนียมพระบิณฑบาต พระบิณฑบาตจากญาติโยมเป็นประจำ ญาติโยมก็มาฟังธรรมสม่ำเสมอ การฟังธรรมตามกาลเป็นมงคลอันสูงสุดประการหนึ่ง
แล้วไม่ใช่แค่เฉพาะในสมัยพุทธกาล หลังจากนั้นต่อมาก็มีการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มากมาย ยกตัวอย่างง่ายๆ บุญผะเหวด (บุญพระเวส) ก็เป็นนวัตกรรม แล้วก็เจาะจงเด่นชัดในเมืองไทยและประเทศใกล้เคียง บุญพระเวสนี่ไม่มีในสมัยพุทธกาล แต่ชาวพุทธไทยที่เป็นบรรพบุรุษของเรา ท่านคิดค้นขึ้นมาเพื่อน้อมนำญาติโยมให้มาใกล้ชิดกับสิ่งที่เป็นอุดมคติของพุทธศาสนา ไม่ใช่แค่นิพพาน แต่รวมถึงการบำเพ็ญบารมี ที่สำคัญประหารหนึ่งคือ ทานมัย หรือทานบารมี
บุญพระเวสนี่ก็เอาเรื่องของพระเวสสันดรขึ้นมา เพื่อชักนำให้ผู้คนได้ซาบซึ้งศรัทธาในอานิสงส์และพลานุภาพของทานบารมี ในฐานะสิ่งที่เป็นสิ่งที่จะมาเข้าสู่พระนิพพานได้ เอาอุดมคติสูงสุดของพุทธศาสนาเข้ามาสู่ชีวิตจิตใจของผู้คนทั้งหลาย ซึ่งยังหาเช้ากินค่ำแล้วก็ยังอยู่ในโลก ให้เห็นว่านิพพานเป็นสิ่งสำคัญ และสิ่งที่จะช่วยให้เข้าถึงได้ก็คือทาน เป็นการให้ทานชนิดที่เรียกว่าไม่ใช่เพื่อเอา แต่เป็นการให้เพื่อสละจริงๆ
แล้วไม่ใช่ให้เฉพาะเงินทอง แม้กระทั่งอวัยวะหรือแม้กระทั่งลูกเมีย ซึ่งเป็นของรักของหวงของมนุษย์ปุถุชนก็พร้อมที่จะสละ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการไม่ยึดติดถือมั่น เพราะเมื่อเราจะเข้าถึงนิพพานได้ก็ต้องละความยึดติดถือมั่นในของเรา ในตัวเรา เพราะจริงๆ แล้วลูกก็ไม่ใช่ของเรา เมียก็ไม่ใช่ของเรา อวัยวะร่างกายก็ไม่ใช่ของเรา อย่าว่าแต่ทรัพย์สมบัติเลย นี่คือการให้ทานอันสูงสุด คือการสละซึ่งความยึดมั่นถือมั่น
อุดมคติสูงสุดแบบนี้ มันเข้าถึงยาก แต่คนสมัยก่อนก็สร้างสรรค์ประเพณีบุญผะเหวดขึ้นมา เพื่อให้คนปุถุชนได้เข้าใจและเกิดศรัทธาปสาทะที่จะบำเพ็ญบุญบารมี เริ่มต้นจากทานบารมีเพื่อเข้าถึงพระนิพพาน แล้วก็ยังเป็นการเชิญชวนด้วยอุบายที่เรียกว่ากุศโลบาย ไม่ใช่โดยการเทศน์ แต่ด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย ซึ่งชวนให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ
บุญพระเวสเป็นงานบุญที่สนุก แม้สาระจะลึกซึ้ง แต่เป็นงานบุญที่สนุก คือสนุกในความรู้สึกของคนสมัยก่อน คนสมัยนี้ไม่สนุกด้วยแล้ว แต่คนสมัยก่อนเขาสนุกจริงๆ เพราะสมัยนั้นมันไม่มีวิทยุโทรทัศน์ มันไม่มีหนัง ไม่มีเทปเพลง จะหาความบันเทิงสุดยอดประจำปีที่เทียบเท่างานบุญพระเวสนี่ สมัยก่อนไม่มี
มันสนุกทั้งในเรื่องของความบันเทิง สนุกทั้งการที่ได้ทำอะไรร่วมกัน เช่น การวาดภาพ การทำธง การประดับประดาศาลาโบสถ์ เอาศิลปะทั้งหลายที่มีในชุมชนมาแปรรูปให้กลายเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ แม้แต่การเทศน์ของพระก็ไม่น่าเบื่อ โดยเฉพาะเทศน์กัณฑ์ชูชกที่สนุกมากเลย แต่มันไม่สนุกสำหรับคนสมัยนี้แล้ว อาตมาไปฟังก็ไม่สนุกเลย แต่คนสมัยก่อนสนุกมากนะกัณฑ์ชูชกนี่ พอถึงกัณฑ์มัทรีนี่ก็ร้องไห้เลยทีเดียว
ล้วนเป็นนวัตกรรมทั้งนั้น แต่ถามว่ามันใช้ได้ไหมสำหรับยุคนี้ พอถึงยุคนี้มันไม่ใช่นวัตกรรมแล้ว บางทีสำหรับคนรุ่นใหม่เขาก็มองว่าเป็นประเพณีที่มันทะเล่อทะล่าล้าสมัย แต่ถ้าหากชุมชนชาวพุทธเราหรือตามชนบท หรือแม้กระทั่งในเมืองยังวนเวียนอยู่กับเรื่องแค่นี้หรือเรื่องแบบนี้เท่านั้น มันก็ไม่สามารถที่จะดึงดูดคนสมัยใหม่หรือคนรุ่นใหม่ได้
นี่คือเหตุผลที่จำเป็นจะต้องมีนวัตกรรมที่สามารถจะน้อมนำผู้คนรุ่นใหม่ ให้มาเข้าใกล้เข้าถึงอุดมคติสุงสุดของพุทธศสานา โดยมีสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่ทุกวันนี้เราไม่มีนวัตกรรมแบบนี้เลย เราก็ยังติดยึดอยู่กับบุญพระเวสอยู่ ซึ่งมันก็ดึงดูดได้เฉพาะคนรุ่นเก่ารุ่นแก่ ก็เหมือนกับการเทศน์ เดี๋ยวนี้ก็มีแต่คนเฒ่าคนแก่ที่มาฟัง ซึ่งนับวันก็ล้มหายตายจากไปทีละคนสองคน
ที่อาตมาพูดมาทั้งหมดเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า พุทธศาสนาเราอยู่ได้เพราะการที่มีนวัตกรรม หรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอไม่ได้ขาด ที่จริงแม้กระทั่งประเพณีบวชพระเมื่ออายุครบ 20 ก็เป็นนวัตกรรมเพราะสมัยก่อนหรือในประเทศอื่น บวชคือบวชตลอดชีวิต แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะต้องบวชเมื่อไหร่
แต่ประเพณีบวชของไทยเรา ถึงอายุ 20 ก็บวช บวชเสร็จก็มีโอกาสได้สึก ถ้าเป็นพม่า ลังกา บวชแล้วไม่สึก แต่ของเรานี่บวชแล้วอนุญาตให้สึกได้ แต่ก็มีประเพณีว่าครบ 20 แล้วควรจะบวช จะได้เป็นคนสุก บวชเพื่ออะไร เพื่อมาเรียน เรียนอะไร เรียนตั้งแต่วิชาทางโลก ไม่ใช่แค่เรียนทางธรรม จะได้มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นผู้นำครอบครัว ต่อเมื่อบวชแล้วจึงจะแต่งงานได้ เป็นหัวหน้าครอบครัวได้
รู้หรือเปล่าว่า อันนี้คือนวัตกรรมที่พิเศษของสังคมไทย ที่ไม่มีในประเทศอย่างพม่าหรือลังกา เพราะถ้าบวชแล้วหมายถึงบวชตลอดชีวิต ใครสึกมานี่ก็ถือว่าไม่รู้จะอยู่ที่ไหน ต้องย้ายไปที่อื่นเพราะเป็นที่รังเกียจ ถ้ามันจะเปลี่ยนแปลงไปก็เพิ่งเมื่อเร็วๆ นี้นี่แหละ
อย่างที่บอกไว้แล้วว่า นวัตกรรมหรือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าเราไม่ทำอะไรเลย อยู่กับที่ ความเปลี่ยนแปลงของโลกมันก็จะทำให้เกิดปัญหา เกิดผลกระทบต่อชุมชนชาวพุทธ หรือไม่เว้นแม้กระทั่งชุมชนสงฆ์ ตัวอย่างเช่น เดี๋ยวนี้พฤติกรรมของชาวบ้านก็เปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะในเมือง เข้าวัดน้อยลง
แต่ก่อนเข้าวัดเพื่อมาทำบุญ ใส่บาตรบ้างล่ะ ถวายสังฆทานบ้างล่ะ แต่เดี๋ยวนี้นี่ไม่ต้องมาเองก็ได้แล้วนะ โอนเงินทางธนาคาร โอนเงินออนไลน์ แล้วเดี๋ยวนี้ก็มีคนรับจ้างมาถวายสังฆทานแทนได้ ไม่ต้องมาเอง แม้กระทั่งใส่บาตรนี่ ไม่ต้องใส่บาตรเอง มีคนรับจ้างใส่บาตรให้ ติดต่อทางโทรศัพท์มือถือ โอนเงินให้แล้วเขาไปใส่บาตรแทนให้ ไปถวายสังฆทานแทนให้ แล้วเขาก็ส่งรายงานส่งภาพกลับมาให้เราร่วมอนุโมทนา
นี่คือความเปลี่ยนแปลง เป็นนวัตกรรมแบบหนึ่ง แต่มันอาจจะไม่ได้ประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับญาติโยมเท่าไหร่ หลายคนเดี๋ยวนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมาฟังธรรมแล้วก็ได้ เพราะสามารถจะดูทาง youtube สามารถจะดุที่บ้านผ่านการแสดงการถ่ายทอดไลฟ์สด นี่ก็เป็นนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างญาติโยม
แต่ที่จริงมันมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้วที่ทำให้ญาติโยมกับพระนี่เหินห่างกัน ห่างไกลจากแบบแผนที่พระพุทธเจ้าเคยสร้างสรรค์เอาไว้ คือพระกับโยมอยู่ใกล้ชิด เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เพราะว่าเดี๋ยวนี้พระหรือวัดก็ตอบโจทย์ชาวบ้านได้น้อยลงทุกที
สมัยก่อน สงห์หรือชุมชนสงฆ์มีความสำคัญใกล้ชิดกับญาติโยม วัดกับบ้านมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน เพราะวัดสามารถตอบโจทย์ของชาวบ้านได้มากมาย แม้พระพุทธเจ้าจะมอบหมายชุมชนสงฆ์ให้เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลญาติโยมในทางธรรม แต่เมื่อเวลาผ่านไป พระสงฆ์ก็ทำอะไรมากกว่านั้น โดยเฉพาะในเมืองไทยเห็นได้ชัด วัดไม่ได้เพียงแต่สอนธรรมะกับญาติโยม แต่ยังเอื้อเฟื้อประโยชน์ด้านอื่นกับญาติโยม อย่างที่ เราก็คงทราบดีว่าสมัยก่อนวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน การศึกษาก็ดี การสาธารณสุขก็ดี ความบันเทิงก็ดี ความมรู้เรื่องการทำมาหากินก็ดี หาได้จากวัด
พระท่านไม่ได้สอนแต่เรื่องของธรรมะที่นำผู้คนไปสู่ความพ้นทุกข์ แต่ท่านยังสอนเรื่องของความรู้ทางโลก อ่านออกเขียนได้ สมัยก่อนจะอ่านออกเขียนได้ ก็มาอ่านออกเขียนได้ที่วัด ความรู้ด้านสมุนไพรก็มาหาได้จากที่วัด เจ็บป่วยอะไรก็มาหาหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านก็รักษาให้ด้วยสมุนไพร ด้วยความรู้ที่มี วิชาทางโลก ศิลปะทางโลกก็มาเรียกจากวัด ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป การหล่อพระ แม้แต่สมัยก่อนจะเรียน ชกมวย ก็มาเรียนที่วัดเพราะว่าหลวงพ่อเคยเป็นนักมวย
ความรู้ทางโลกบรรดามี เท่าที่มีในยุคสมัยนี่หาได้จากวัด แม้กระทั่งในวังต้องการพระ ต้องการช่างที่จะมาหล่อพระ ในสมัยหนึ่ง สมัย ร.4 ร.3 ก็ต้องมาขอนิมนต์พระไปช่วยทำงานนี้ให้ วัดมหาธาตุนี่มีคำกล่าวว่า “ในวังมีความรู้ มีทักษะด้านศิลปะด้านใด วัดมหาธาตุก็มีเหมือนกัน” อันนี้ก็เป็นนวัตกรรม
ในเมื่อชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง พระก็ทำหน้าที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูล ไม่ใช่แค่ทางธรรม แต่ทางโลกด้วย ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพระกับโยม วัดกับบ้านแน่นแฟ้น และก็มีพระเป็นแกน ความแน่นแฟ้นนี่ไม่ใช่ว่าแน่นแฟ้นเพื่อดึงพระไปสู่ทางโลก และอันที่จริงแล้วความแน่นฟ้นในความสัมพันธ์ เป็นการชักนำให้ญาติโยมเข้าสู่ธรรม อย่างน้อยๆ ก็มีศีลมีธรรม แม้จะยังไม่ถึงขั้นเข้าถึงปรมัตถธรรมก็ตาม
แต่พอมันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในบ้านเมือง ราชการก็สร้างโรงเรียนขึ้นมา คนก็ไม่จำเป็นต้องมาเรียนที่วัด ก็ไปเข้าโรงเรียน อยากจะรู้หนังสือก็ไม่ต้องมาวัด ไม่ต้องมาเป็นเด็กวัด แต่ไปเข้าโรงเรียน แต่ก่อนเรียนแค่ ป.4 เดี๋ยวนี้เรียนถึง ม.6
สมัยก่อนนี่ ชาวบ้านที่ยากจนส่งลูกไปโรงเรียนไม่ได้ ก็มาเรียนที่วัดเป็นสามเณร ก็เป็นโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้วเพราะการศึกษาของรัฐเข้าถึงทุกหมู่บ้าน เพราะฉะนั้นอยากให้ลูกมาเรียนหนังสือ ก็ไม่ต้องมาเป็นเณรแล้ว ก็มาเรียนในโรงเรียนเลยจนจบ ม.6 อันนี้คือเหตุผลว่าทำไมเณรในเมืองไทยตอนนี้มีน้อยลงไปเรื่อยๆ น้อยลงมากเลยเพราะการศึกษาในทางโลกหรือของรัฐเขาเข้าถึงทุกหัวระแหง
ไม่ใช่โรงเรียนอย่างเดียว พอมีโรงพยาบาลแล้วคนเจ็บคนป่วยก็ไม่ต้องมาวัดให้หลวงตารักษา ก็ไปเข้าโรงพยาบาล แต่ก่อนความบันเทิงก็มีที่วัด บุญพระเวสนี่เป็นแหล่ง เป็นโอกาสแห่งความบันเทิงอย่างหนึ่ง สมัยก่อนบางทีที่วัดก็มีลิเก งานวัดก็เป็นงานบันเทิง มีดนตรี มีมหรสพ แต่เดี๋ยวนี้จะหาความบันเทิงก็ไม่ต้องมาวัดแล้ว เพราะมันมีโรงหนัง เดี๋ยวนี้ยิ่งกว่าโรงหนังเสียอีก มีคอนเสิร์ต มีการแสดงมากมาย ล้วนแล้วแต่อยู่นอกวัด อย่างอื่นอีกมากมาย ศิลปะต่างๆ ก็ไปอยู่นอกวัด
ในแง่หนึ่งภาระหน้าที่ของพระก็น้อยลง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็คือ การตอบโจทย์ของวัดให้กับชาวบ้านก็น้อยลงไปด้วย ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่าทำไมคนเข้าวัดน้อยลง แล้วยิ่งตอนหลังคณะสงฆ์จำกัดบทบาทให้พระทำแต่เรื่องพิธีกรรม เรื่องอื่นไม่ต้องสนใจ วัดก็เลยตีกรอบตัวเองอยู่แต่เรื่องพิธีกรรม
ที่จริงหน้าที่อื่นก็มี การสอนญาติโยม แต่อันนี้ก็เป็นปัญหาอีกเรื่องหนึ่งคือ พระเอง การศึกษาคณะสงฆ์ก็อ่อนแอ พระไม่มีความรู้แม้กระทั่งในทางปริยัติธรรม ความรู้ในทางโลก พระก็อ่อนกว่าญาติโยม แถมความรู้ในทางปริยัติธรรมพระก็มีน้อยลง เพราะการศึกษาคณะสงฆ์อ่อนแอกะปลกกะเปลี้ย
เดี๋ยวนี้ญาติโยมมีความรู้ทางธรรมมากกว่าพระด้วยซ้ำ เพราะเข้าถึงได้ทางอินเทอร์เน็ต เข้าถึงได้ทางหนังสือหนังหา หนังสือธรรมะที่ขายดี ใครอ่าน ไม่ใช่พระซื้อหรือพระอ่าน ญาติโยมซื้อแล้วเขาอ่าน เขาก็มีความรู้ จำนวนไม่น้อยนี่มากกว่าพระ พระแม้กระทั่งในวัดในกรุงเทพฯ บางทีไม่กล้าเทศน์สอนญาติโยม
อาตมาเคยไปช่วยจัดงานศพให้กับเพื่อนที่สูญเสียแม่ ครอบครัวเขาก็มาทำบุญให้กับวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่เพื่อให้การทำบุญนั้นมีความหมายก็นิมนต์ให้พระเทศน์ เมื่อญาติโยมทำบุญเลี้ยงพระเสร็จ ปรากฏว่าพระที่เราติดต่อซึ่งเป็นมหา ไม่กล้าเทศน์ เพราะไม่มั่นใจว่าความรู้ที่ตัวเองมีพอไหมสำหรับญาติโยม เพราะลึกๆ ก็รู้ว่าญาติโยมมีความรู้มากกว่า จบปริญญา หรือมีความรู้ทางโลกมากกว่า
อันนี้คือเหตุผลว่า ทำไมพระจำนวนไม่น้อยพยายามที่จะไปเรียนเอาปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ แต่ก็น่าเสียดายที่ความรู้ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์มอบให้ มันก็เทียบไม่ได้กับความรู้จากมหาวิทยาลัยทางโลกที่ญาติโยมส่วนใหญ่เขาได้เรียนกัน
ทีนี้พอพระมีความรู้ทางธรรมน้อย ความรู้ทางโลกก็ไม่มาก ก็เลยจำกัดบทบาทตัวเองอยู่กับเรื่องพิธีกรรม แล้วพิธีกรรมที่สำคัญคืองานศพ เดี๋ยวนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ญาติโยมส่วนใหญ่หรือประชาชนทั่วไปจะเข้าวัดจริงๆ ก็เพราะเมื่อมีงานศพ หรือเมื่อประสบเคราะห์กรรม สูญเสียคนรัก อยากจะมาสะเดาะเคราะห์ แต่ถ้าชีวิตเป็นปกติแล้วก็ไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องเข้าวัด นอกจากมางานศพของคนที่ตัวเองรู้จักหรือคนที่ตัวเองรัก
เดี๋ยวนี้วัดจำนวนมากก็มีบทบาทเพียงแค่นั้นโดยเฉพาะวัดในเมือง สิ่งสำคัญก็คือว่าจะช่วยหาที่จอดรถให้พอเพียงกับผู้ที่มางานศพได้อย่างไร มีแต่การสวดแต่ไม่มีการเทศน์ ไม่มีการสอนธรรมะ ซึ่งต่อไปก็น่าเป็นห่วงว่าเมืองไทย พุทธศาสนาไทย จะเจริญตามรอยญี่ปุ่นหรือเปล่า
ญึ่ปุ่นตอนนี้ วัดในพุทธศาสนาแทบจะทั้งนั้นเลยมีบทบาทเพียงแค่การทำพิธีศพ คนญี่ปุ่นเวลาตายก็มาตั้งศพแล้วทำบุญกันที่วัด ถ้าแต่งงานก็ไปโบสถ์คริสต์ แต่ถ้าตายก็มาวัดพุทธ พระอยู่ได้เพราะเงินจาก ค่าทำศพ รวมทั้งจากการสวดเมื่อครบปีของคนตาย คนญี่ปุ่นจริงจังมากเมื่อคนตายครบปี ครบสามปี ครบห้าปี ครบเจ็ดปี ก็จะต้องทำพิธี แล้วคนญี่ปุ่น ศพหรืออัฐิกระดูกเอาไว้ที่วัด เพราะฉะนั้นจะมาทำบุญอัฐิก็ต้องมาที่วัด
พระก็อยู่ได้เพราะเงินทำบุญจากงานศพ หรือที่เกี่ยวข้องกับคนตาย เวลาจะเขียนชื่อให้กับผู้ที่ล่วงลับ พระก็จะคิดค่าเปลี่ยนชื่อเป็นหมื่น เขียนใส่ป้าย คนที่ญี่ปุ่นเวลาตายเขาจะเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นชื่อในปรโลก ให้พระตั้งชื่อ แล้วเขียนใส่ป้าย แค่นี้ได้มาหลายหมื่นแล้ว เป็นรายได้ดีมาก แล้วพระก็อยู่ได้เพราะเหตุนี้แหละ จนกระทั่งมีคนพูดว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งพิธีศพ นี่คือญี่ปุ่น
คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องการทำพิธีศพ หรือการทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย พระจึงมีบทบาทสำคัญ แต่พระในญี่ปุ่นก็ลดน้อยถอยลงไปทุกที เพราะคนไม่ศรัทธา แล้วทำยังไงถึงจะให้มีพระอยู่ประจำวัดเพื่อทำพิธีศพ ก็เลยอนุญาตให้พระมีครอบครัวได้ เพราะถ้าพระมีครอบครัวมีลูก พอพ่อตาย ลูกก็มาเป็นเจ้าอาวาสแทน ก็ทำพิธีประกอบพิธีกรรมต่อไปได้ คือพระจะมีเมียหรือไม่มีเมีย ไม่สำคัญ ขอให้มีผู้มาประกอบพิธีจัดงานศพ แล้วทำบุญอุทิศให้กับผู้ตาย เท่านี้เขาก็พอใจแล้ว
เมืองไทยอาจจะไปถึงจุดนั้นก็ได้ เพราะเดี๋ยวนี้หลายวัดพยายามหาพระมาอยู่วัด โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา พระจะกินเหล้าบ้างก็ได้ไม่เป็นไร ขอให้มีพระอยู่เฝ้าวัด จะได้มาประกอบพิธีกรรมให้กับชาวบ้าน เพราะสำหรับชาวบ้านแล้วพิธีกรรมเป็นเรื่องใหญ่ ธรรมะหรือวินัยเป็นเรื่องเล็ก นี่ก็คือความเปลี่ยนแปลงที่คนเมื่อร้อยปีก่อนอาจจะนึกไม่ถึง
เราชาวพุทธ วัดจะทำอย่างไร ถ้าเราไม่มีนวัตกรรม หรือไม่มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่มีการปรับตัว ต่อไปเมืองไทยก็คงเหลือแต่รูปแบบในด้านพุทธศาสนา วัดก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากกับญาติโยม กับผู้คน เพราะ หนึ่ง พฤติกรรมของญาติโยมก็เปลี่ยนไป ความศรัทธาในพระสงฆ์ก็ลดน้อยลง
สอง
พระก็มีบทบาทน้อยลงต่อชีวิตของผู้คน ต่อญาติโยม นอกจากเรื่องพิธีกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าไม่มีความสามารถที่จะทำอะไรได้มากไปกว่านั้น อีกส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ไม่ได้เห็นคุณค่าหรือเกิดศรัทธาปสาทะในการประพฤติปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงเห็นพระจำนวนไม่น้อยก็ใช้ชีวิตไม่ต่างจากญาติโยม ไม่ต่างจากชาวโลก ชาวโลกหลงใหลในกามสุขอย่างไร พระจำนวนไม่น้อยก็หลงใหลในกามสุขอย่าง นั้น ชาวโลกสนใจเงินทองเพียงใด พระจำนวนไม่น้อยก็สนใจเงินทองอย่างนั้น
ขณะที่ชาวโลกสนใจเรื่องชื่อเสียงเกียรติยศ พระจำนวนไม่น้อยก็สนใจเรื่องสมณศักดิ์ วิ่งไล่ล่าเพื่อจะได้ไต่เต้าเอาดีทางคณะสงฆ์ เพื่อจะได้มีสมณศักดิ์สูงๆ แบบนี้มันก็ยิ่งทำให้ญาติโยมคลายความศรัทธาในพระ ส่วนวัดเองก็มีบทบาทน้อยลง เหลือแต่สถานที่ประกอบพิธีกรรม แม้ว่าจะมีวัดจำนวนไม่น้อยที่มีหลวงพ่อ หลวงตา หลวงปู่ ที่ขยันขันแข็งเป็นที่เคารพศรัทธา แต่ก็ไม่มีความแน่นอนเลยว่า ถ้าท่าน มรณภาพไป วัดของท่านจะยังคงบทบาทหรือสถานภาพอย่างที่หลวงพ่อ หลวงตา หลวงปู่ท่านนั้นได้เคยประคองเอาไว้หรือเปล่า
แล้วมันมีความจำเป็นมาก ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนบทบาทของวัด และบทบาทของพระสงฆ์ซึ่งจะว่าไปแล้ว การปรับเปลี่ยนมันไม่ใช่ปรับเปลี่ยนโดยขอให้ได้ชื่อว่าปรับเปลี่ยน แต่ที่จริงมันคือการปรับเปลี่ยนหรือสร้างนวัตกรรมเพื่อกลับคืน กลับมาสู่สาระเดิมๆ ที่มีความหมายต่อชีวิตของผู้คน
สาระที่ว่าคือ การชวนให้ผู้คนได้กลับเข้ามาหาธรรมะ แล้วธรรมะที่ว่ามันไม่ได้ต้องเป็นธรรมะขั้นสูงเลย เริ่มจากธรรมะขั้นพื้นฐาน คือการทำความดี การทำความดีนั้นเราเรียกว่าบุญ ความดีหรือบุญขั้นพื้นฐานนี้คืออะไร ตรงนี้ถ้าเราจับหลักให้มั่น ก็จะทำให้การสร้างสรรค์สิ่งใหม่มันมีทิศมีทาง
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านพูดว่า การทำบุญพื้นฐานก็คือ การที่ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงการมีชุมชนสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี คนที่สนใจพุทธศาสนาคงทราบดีอยู่แล้วว่า เวลาพูดถึงประโยชน์ มี 3 ประการ ประโยชน์พื้นฐานท่านเรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ เรียกว่าประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์ตาเห็น ก็คือเรื่องของสุขภาพ เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องของ ครอบครัว เรื่องของความสัมพันธ์ การมีงานที่ดี มีความสัมพันธ์ที่อบอุ่น เป็นต้น
ความสำเร็จของพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระสงฆ์ไทยในอดีต ก็คือการทำให้ผู้คนได้เข้าถึงประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์ตาเห็น เป็นการทำให้บุญพื้นฐานได้เกิดขึ้นจริงๆ คือการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งก็เริ่มต้นจากการมีอาหารการกินที่ไม่ขาดแคลน มีสุขภาพดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ตรงนี้ชาวพุทธไทยสมัยก่อนเห็นความสำคัญ
อย่างที่อาตมาเคยเล่า พระสมัยก่อนเวลาท่านเทศน์ นอกจากท่านเทศน์เรื่องพระเวสสันดรแล้ว ท่านจะพูดถึงเรื่องราวของคนคนหนึ่งชื่อ มฆมาณพ เป็นเรื่องเล่าในสมัยพุทธกาลหรือเป็นเรื่องเล่าที่มีมาก่อนหน้านั้น ที่ว่าเป็นคนที่ขวนขวายในการทำประโยชน์ให้กับชุมชน เริ่มต้นจากการทำลานหมู่บ้านให้สะอาด ให้ผู้คนได้มาใช้สอย ต่อไปก็ทำลานกลางบ้านให้สะอาดหมดจด เห็นแล้วสบายหูสบายตา
ตอนหลังก็ทำทางเดินทำถนนหนทางให้เรียบร้อย เอาจอบเอาเสียมไปทำทางที่มันเคยรก ให้มันสัญจรได้สะดวกสบาย ตอนหลังก็มีคนมาร่วมกันทำมากขึ้น ก็ขยายจากการทำความสะอาดถนนหนทาง มาเป็นการก่อสร้างศาลาที่พักคนเดินทาง สร้างสะพาน ทำสวน ขุดบ่อน้ำให้ผู้คนได้ใช้สอย ทำสิ่งแวดล้อมให้ร่มรื่น ท่านใช้คำว่ารมณีย์
ตอนหลังก็ชักชวนชาวบ้านให้มาร่วมมือกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันกัน รวมทั้งไม่เอาเปรียบเบียดเบียนกัน ด้วยการถือศีลห้า แล้วตอนหลังก็ชวนกันทำประโยชน์ให้กับชุมชนมากมาย อันนี้คือความหมายของคำว่า บุญพื้นฐาน ก็คือการช่วยทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ทำให้สิ่งแวดล้อมร่มรื่น เป็นการทำประโยชน์ในทางรูปธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ทางโลก แต่ก็น้อมใจให้ผู้คนเข้าหาธรรมะ คือ พอผู้คนใส่ใจส่วนรวม มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็ให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกัน แล้วก็ถือศีลห้า
ตอนหลัง มฆมาณพและเพื่อนซึ่งมีทั้งหมด 32 คน รวมทั้งมฆมาณพเป็น 33 พอตายก็ได้เป็นพระอินทร์ที่ดาวดึงส์ ก็คือสวรรค์ที่มีพระอินทร์อยู่และพวกรวมทั้งหมด 33 อันนี้เขาเรียกว่าเป็นกำเนิดหรือตำนาน ของพระอินทร์ ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นอุดมคติของชาวพุทธว่า การทำความดี เราต้องเริ่มต้นจากการทำความดีหรือการทำบุญขั้นพื้นฐาน คือช่วยกันทำชุมชนให้ดี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกัน มีถนนหนทาง มีบ่อน้ำ มีสถานที่ที่ร่มรื่น และแน่นอนก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่อัตคัดขัดสน
และก่อนที่คนเราจะมีศีลมีธรรมได้ มันก็ต้องเริ่มต้นจากการมีความเป็นอยู่ที่ดี แทนที่เราจะเน้นแต่การเทศน์ การสอนให้คนมีศีลธรรม ซึ่งก็สำคัญ แต่ถ้าพระเราทำอย่างอื่นด้วย เช่น การชักชวนชาวบ้านให้มาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หรือการที่พระเป็นผู้นำในการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น มันก็เป็นการส่งเสริมศีลธรรมไปด้วยในตัว
มีพระสูตรหนึ่งชื่อ กูฏทันตสูตร เป็นเรื่องของเมืองหนึ่งซึ่งมีโจรผู้ร้ายเยอะแยะ พระราชาก็ปรึกษาพราหมณ์ปุโรหิตว่า ทำยังไงถึงจะให้โจรน้อยลง พระราชาเสนอว่า จับมาทรมานหรือเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงมากขึ้นจะดีไหม พราหมณ์ปุโรหิตบอกว่า ทำเช่นนั้นมีแต่ทำให้โจรมากขึ้น แล้วต่อไปโจรอาจจะโหดร้ายมากขึ้น อาจถึงขั้นฆ่าเจ้าทุกข์ตาย หรือฆ่าพยานหลักฐาน เพราะกลัวจะถูกจับถูกลงโทษอย่างรุนแรง
พราหมณ์ก็เสนอว่า ให้พระราชาแบ่งปันทรัพย์ มอบทรัพย์ให้เป็นทุนสำหรับการทำมาหากินของพ่อค้าแม่ค้า ส่วนเกษตรกรก็หาเมล็ดพันธุ์ไปให้เพื่อทำการปลูก ส่วนข้าราชการก็ให้เงินเดือนให้เบี้ยหวัด ถ้าทำเช่นนี้ได้ ต่อไปโจรผู้ร้ายจะน้อยลง คนจะอยู่ในศีลในธรรมมากขึ้น
พระราชาทำตาม ปรากฏว่าโจรผู้ร้ายน้อยลง การขโมยมีน้อยลง ชาวบ้านอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องปิดประตูบ้าน มีความสุขแม้กระทั่งเด็กน้อยก็ฟ้อนอยู่บนอกของแม่ หมายความว่ามีความสุข คนมีศีลธรรมเพราะไม่อัตคัดขาดแคลน เมื่อมีความเป็นอยู่ที่ดี ก็นำไปสู่การมีศีลมีธรรม
อันนี้ก็คล้ายๆ กับเรื่องของมฆมาณพ ที่พอเป็นหัวเรี่ยวหัวเเรงในการปรับปรุงชุมชนให้มีสภาพดีขึ้น ให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น แล้วก็ไม่ได้ทำคนเดียว ชวนคนอื่นมาร่วมทำด้วย จนเกิดคำว่า บุญยกร คือผู้ที่ร่วมทำความดี ผู้ที่ร่วมทำบุญ
แล้วทำบุญที่ว่านี่ ไม่ได้มาใส่บาตรหรือถวายสังฆทานเลย แต่เป็นการช่วยเหลือชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี แล้วค่อยนำไปสู่การแนะนำให้คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกัน อยู่ในศีลในธรรม ประพฤติศีลห้า ก็ทำให้ชุมชนนั้นกลายเป็นชุมชนที่ผาสุก
อันนี้แหละคือความหมายของคำว่า บุญพื้นฐาน ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ท่านได้กล่าวไว้ แล้วท่านก็เห็นว่านี่คือสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับชุมชนวิถีพุทธ ซึ่งเริ่มต้นจากพระสงฆ์เป็นผู้นำ เป็นผู้ขับเคลื่อน แล้วถ้าทางฝ่ายคฤหัสถ์หรือฝ่ายบ้านมีผู้นำในทางนี้ มันก็ช่วยทำให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างวัดกับบ้าน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและกระชับแน่นระหว่างวัดกับบ้าน พระกับโยม และแน่นอน มันต้องมีความริเริ่มสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ
เมื่อ 40 ปีก่อน หลวงพ่อคำเขียนท่านก็เป็นผู้นำในการพาชาวบ้านทำสหกรณ์ข้าว คือเอาข้าวราคาถูกมาขายแก่ชาวบ้านโดยที่ไม่ต้องลงไปในเมือง ไปซื้อข้าวราคาแพง หรือไปซื้อข้าวบนหลังเขาซึ่งมันมีราคาแพง เพราะต้องคิดค่าขนส่ง ค่าขนส่งที่ว่าก็ไม่เชิง เป็นค่าแบกมากกว่า เพราะต้องแบกข้าวจากข้างล่างขึ้นมาบนเขาเพราะมันไม่มีถนน ข้าวบนเขาจึงราคาแพง ชาวบ้านก็ซื้อลำบาก ก็เลยมีสหกรณ์ข้าว เอา ข้าวถูกๆ ซื้อมาทีละเยอะๆจากชัยภูมิ เพราะมันมีถนนหนทาง เอามาขายแก่ชาวบ้านที่ยากจน
แต่ตอนหลังก็มีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่นที่จ.ตราด ท่านอาจารย์สุบิน ปณีโต ทำสัจจะสะสมทรัพย์ ชักชวนชาวบ้านมาสะสมเงินกันทุกเดือน 10 บาท 20 บาทก็แล้วแต่ แต่ขอให้ทำทุกเดือนเพราะตั้งสัจจะเอาไว้ เงินเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็เป็นเหมือนธนาคารที่เจ้าของสามารถจะเบิกไปใช้ในวันข้างหน้าได้ แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเงินสำหรับเป็นทุนให้คนที่เขาเดือดร้อน
เพราะสมัยก่อนเวลาลูกหลานเจ็บป่วยขึ้นมามันต้องใช้เงินเยอะ ตอนนั้นยังไม่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือถึงมีมันก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ต้องไปเยี่ยม ต้องมีค่าเดินทาง ต้องมีค่าอาหารไปเยี่ยมคนป่วย ก็ สามารถจะกู้ยืมเงินได้ด้วยดอกเบี้ยราคาต่ำ แต่จะกู้ยืมเงินได้ต้องอาศัยความเห็นพ้องต้องกันของชุมชน มันก็ส่งเสริมความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ความเห็นอกเห้นใจกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน คือเชื่อใจว่าเขาเอาเงินไปแล้ว เขาจะคืน เขาจะไม่เบี้ยว
อันนี้ก็อยู่ในข่ายของการทำบุญพื้นฐาน ก็คือการส่งเสริมให้ชาวบ้านเขาเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน หรือเป็นการทำเพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งมันจะช่วยส่งเสริมให้เขาเข้าถึงบุญขั้นสูง
บุญขั้นสูงคืออะไร นอกจากขั้นต้นคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ และขั้นกลางคือ สัมปรายิกัตถะ คือความสุขทางใจที่เกิดจากศรัทธา จากจาคะ จากทาน จากปัญญา พูดง่ายๆ คือเป็นความสุขที่ใจที่เกิดจากการทำความดี คนเรานี่จะพัฒนาหรือเข้าถึงความสุขที่สูงขึ้นไปได้ มันต้องเริ่มจากสุขหรือประโยชน์ขั้นพื้นฐาน หรือประโยชน์ตาเห็น ก็คือเรื่องของการมีสุขภาพดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่อัตคัดฝืดเคือง มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ก็ทำให้คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน แล้วก็นำไปสู่การเสียสละ ไม่ใช่แค่เสียสละด้วยทานหรือด้วยสิ่งของ แต่เสียสละด้วยกำลัง แล้วต่อไปก็นำไปสู่การสละซึ่งตัณหาอุปาทาน สละซึ่งความเห็นแก่ตัวหรือกิเลส ซึ่งจะนำไปสู่ประโยชน์ขั้นสูงคือ ปรมัตถะ
ที่อาตมาพูดมาทั้งหมดก็เป็นนวัตกรรมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาถึงวันนี้เราก็ต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไป เราต้องทำให้วัดมีความหมายต่อชีวิตผู้คน ทำให้พุทธศาสนามีความหมายต่อชีวิตของผู้คน แต่เราก็ไม่ทิ้งหลักเดิมคือการสร้างความกระชับแน่น ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับบ้าน ระหว่างพระกับญาติโยม ซึ่งก็หมายถึงการรู้จักตอบโจทย์ของชาวบ้าน ใส่ใจกับความทุกข์ความเดือดร้อนของชุมชน โดยมีพระเป็นผู้นำ
สิ่งที่วัดดาวเรืองทำ อาตมาว่าก็เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งคือ การพยายามที่จะสร้างความตื่นตัว สร้างความมีชีวิตชีวาให้เกิดขึ้นกับชุมชน กับชาวบ้าน แทนที่จะอยู่แบบหงอยๆ เหงาๆ เหมือนกับชุมชนหรือหมู่บ้านทั้งหลาย ก็พยายามดึงเอาภูมิปัญญาของชาวบ้านที่มีอยู่มาทำให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผ้า เรื่องยา เรื่องอาหาร หรือวัฒนธรรมอื่นๆ
เพราะถ้าเราเห็นว่าวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาที่เรามีมาแต่ดั้งแต่เดิม มันมีความหมาย มันไม่ใช่เป็นของเก่าที่ต้องอนุรักษ์ไว้ แต่มันเป็นสิ่งที่มีความหมายในปัจจุบัน อย่างน้อยๆ ก็สามารถจะทำให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจกัน เกิดความร่วมมือกัน มันก็เกิดความมีชีวิตชีวาขึ้น
แต่ก่อน ชาวบ้านก็มีชีวิตชีวาจากการมาร่วมกันทำบุญผะเหวด แต่อย่างที่อาตมาว่า บุญผะเหวดมันอาจจะเป็นนวัตกรรมเมื่อ 400-500 ปีที่แล้ว ที่ได้ผลมาจนกระทั่งเมื่อ 100 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้มันเริ่มหมด ความหมายแล้ว เราก็ต้องสร้างนวัตกรรมอย่างใหม่ อาจจะเป็นเรื่องของการสร้างเทศกาลงานบูญแบบใหม่ขึ้นมา การทำกิจกรรมอย่างที่ทำอยู่มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดการตื่นตัวขึ้นมาในชุมชน เอาความรู้ที่มีมาแปรให้เป็นรายได้ แล้วเอารายได้ที่มีมาแปรให้เป็นบุญ มันก็ทำให้เกิดประโยชน์สร้างสรรค์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะญาติโยม
แต่ละที่แต่ละแห่ง ก็สามารถคิดค้นนวัตกรรมที่สอดคล้องกับทรัพยากรของชุมชน ซึ่งก็แตกต่างกันไป ดาวเรืองเป็นชุมชนเก่าแก่ มีวัฒนธรรมที่สะสมกันมานาน มีภูมิปัญญามากมายที่ไม่ควรเป็นเรื่องของอดีต แต่ควรจะนำมาทำให้มันมีชีวิต มีความหมายต่อชีวิตของผู้คน เพียงแค่การรื้อฟื้นขึ้นมาแล้วทำให้เป็นรายได้ขึ้นมา เช่น เอาสมุนไพรที่มีอยู่ เอาความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่มีอยู่มาแปรเป็นยา แล้วจากยามา เป็นรายได้ จากรายได้มาช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์อื่นๆ ต่อไป อันนี้เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่น่าอนุโมทนา
แต่แน่นอน ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เราควรจะทำได้เพื่อตอบโจทย์ของชุมชน โดยโจทย์หนึ่งที่ต่อไปต้องคิดกันให้มากคือ คนแก่ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้สังคมไทยเป็นสังคมสูงวัย เป็นสังคมคนแก่ มีคนแก่จำนวนมากขึ้น 15-20 เปอร์เซ็นต์ของประชากร บ้านดาวเรืองก็อาจจะมีคนแก่จำนวนไม่น้อยทีเดียว ทำอย่างไรวัดจะสามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้
เพราะคนแก่ในปัจจุบันน่าสงสาร ไม่เหมือนคนแก่สมัยก่อน คนแก่สมัยก่อนอยู่ท่ามกลางลูกหลาน ลูกหลานเคารพนบนอบ มาเรียนรู้ภูมิปัญญา มาเรียนรู้การทำมาหากินจากคนเฒ่าคนแก่ แต่เดี๋ยวนี้คนหนุ่มคนสาวไม่สนใจความรู้ภูมิปัญญาของคนเฒ่าคนแก่แล้ว เพราะมันไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเขา คนแก่ต่างหากที่ต้องไปเรียนรู้จากลูกหลาน เรียนรู้การใช้โทรศัพท์มือถือ เรียนรู้การใช้ facebook มันกลับกันไปซะแล้ว
แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ คนแก่เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีลูกหลานห้อมล้อมแล้ว ลูกหลานเขาก็ไปอยู่เมือง คนแก่จำนวนไม่น้อยนี่หงอยเหงา ดีหน่อยถ้าหากมีหลานหรือเหลนให้เลี้ยง ก็ไม่รู้สึกว่างเปล่า แต่จำนวนไม่น้อยก็รู้สึกว่างเปล่าโดยเฉพาะคนแก่ในเมือง คนแก่ในหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองนี่ไร้คุณค่า ฉะนั้นการทำให้คนแก่ในหมู่บ้านในชุมชนเขารู้สึกมีชีวิตมีวา รู้สึกมีความหมาย นี้เป็นสิ่งสำคัญมากเลยที่วัดจะสามารถช่วยเหลือชุมชนได้
และต่อไปต้องไปคิดต่อว่า เมื่อคนแก่เจ็บป่วย เราจะทำอย่างไร เดี๋ยวนี้ใครเจ็บป่วยก็ไปโรงพยาบาล แต่โรงพยาบาลก็อาจจะไม่ใช่เป็นที่ที่เหมาะ อาจจะอยู่ได้ชั่วคราว โดยเฉพาะถ้าเจ็บป่วยแบบอาการหนักอยู่ในระยะท้าย หลายคนก็รู้ว่าการไปตายที่โรงพยาบาลมันไม่ใช่เป็นการตายที่ดี หลายคนก็อยากจะตายที่บ้าน ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่บ้าน แต่อยู่ที่บ้านก็ไม่มีใครดูแล
จะเป็นไปได้ไหม ถ้าหากจะมีชาวบ้านช่วยกันดูแล โดยพระเป็นผู้นำในการชักชวนให้ชาวบ้านจัดระเบียบ ให้ชาวบ้านได้มาช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน ตอนนี้มันมีชุมชนชนิดหนึ่งที่เขาเรียกว่า “ชุมชนกรุณา” เป็นแนวคิดว่าเวลาคนเจ็บคนป่วยอยู่ในระยะท้าย แทนที่จะพึ่งแต่หมอ แทนที่จะพึ่งแต่โรงพยาบาล ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นคำตอบที่ดี
เพราะอยู่โรงพยาบาลบางครั้งก็ลงเอยด้วยการถูกยื้อ สร้างความทุกข์ทรมาน แล้วก็หงอยเหงา เพราะอยู่ห่างไกลจากญาติโยมหรือลูกหลาน แต่ถ้าจะมาขอป่วยที่บ้าน ป่วยที่บ้านได้ก็ต้องมีคนมาช่วยกันดูแล ถ้าไม่มีลูกหลานก็เป็นเพื่อนบ้านด้วยกัน ทั้งสาวหรือหนุ่ม รวมทั้งแก่ด้วย
ถ้าหากว่ามีชุมชนกรุณาเกิดขึ้น โดยมีการนำของวัดดาวเรือง มันก็ช่วยทำให้คนที่อยู่ในระยะท้ายเขาจากไปอย่างสงบได้ ในระหว่างที่ป่วยก็ไม่ได้ทุกข์ทรมาน เมื่อถึงเวลาตายก็ตายอย่างสงบ นี่ก็อาจจจะเป็นสิ่งที่ช่วยตอบโจทย์ของสังคมยุคปัจจุบันได้ คือการรับมือกับผู้สูงวัยหรือคนแก่คนเฒ่าซึ่งมีจำนวนมากขึ้น แล้วไม่ได้มีจำนวนมากขึ้นอย่างเดียวนะ อยู่แบบหงอยเหงามากขึ้น เจ็บป่วยด้วยความทุกข์ทรมานมากขึ้น
ถ้าหากช่วยบรรเทาความทุกข์เหล่านี้ได้ ทั้งในยามที่มีชีวิตอยู่และในยามที่เจ็บป่วย แล้วถึงเวลาตายก็ตายอย่างสงบ มันก็จะมีคุณูปการมาก แต่นอกจากคนแก่แล้ว อย่าลืมคนหนุ่มสาว เพราะคนหนุ่มสาวเป็นกำลังสำคัญ ไม่ใช่ของบ้านเมืองอย่างเดียว เป็นกำลังสำคัญของพระศาสนาด้วย นอกจากเราจะมีนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับคนแก่ เป็นมิตรกับผู้สูงวัยแล้ว เราอย่าลืมนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับคนหนุ่มสาว
ทำยังไงจะให้คนหนุ่มสาวเขามาสนใจพุทธศาสนา มาสนใจกิจกรรมในวัดมากขึ้น มาเป็นกำลังสำคัญของวัด อาจจะถึงขั้นมาบวชเณรหรือบวชพระเพื่อเป็นทายาท เป็นการสืบต่อทายาทให้กับพุทธศาสนา อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไม่เช่นนั้น ไม่ใช่บ้านเท่านั้นที่เป็นชุมชนของคนแก่ ต่อไปวัดก็จะเป็นชุมชนของคนแก่ มีแต่วัดหลวงตาเต็มไปหมด วัดหลวงตาคือวัดที่มีแต่คนแก่ ซึ่งจำนวนไม่น้อยก็มาบวชเมื่อ แก่ ไม่ใช่มาบวชเมื่อหนุ่มเพราะศรัทธาในพุทธศาสนา แต่มาบวชเมื่อแก่เพราะว่าไปไหนไม่รอด หรือไม่มีคนดูแลก็มาอยู่วัด
แล้วจำนวนไม่น้อยแม้เป็นพระแล้ว พอแก่ก็ไปลงเอยที่โรงพยาบาลอยู่เหมือนกัน เพราะวัดหรือพระไม่ดูแล หรือไม่มีกำลังจะดูแล เดี๋ยวนี้หลวงตาหลวงปู่หลายรูป ตอนที่สุขภาพดีก็เป็นเจ้าคณะอำเภอ เป็นพระราชาคณะ เป็นเจ้าอาวาส แต่พอเวลาป่วยหนักก็ไปลงเอยที่โรงพยาบาล แล้วก็ตายที่นั่นโดยที่ไม่มีใครดูแล แม้แต่พระก็ไม่ดูแล เพราะในแง่หนึ่งพระในวัดก็มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว หรือพระที่มีอยู่ก็ไม่ใส่ใจ ไม่เอื้ออาทร หรือมิฉะนั้นก็มีแต่พระแก่ๆ กันทั้งนั้นในวัด
เราก็ต้องคิดนะว่า ถ้าเราไม่มีนวัตกรรมอะไรที่จะเป็นมิตรกับคนหนุ่มสาว ชนิดที่จะดึงคนหนุ่มสาวเข้ามาวัด หรือมาสนใจพุทธศาสนา ต่อไปวัดก็จะค่อยๆ เรียวลงไปเรื่อยๆ หรือค่อยๆ โดดเดี่ยว
ถ้าวัดแต่ละวัดมีกิจกรรมเหมือนวัดดาวเรือง แต่ไม่จำเป็นต้องมาเน้นที่เรื่องอาหาร ผ้า ยา หรือข้าว แต่มีกิจกรรมอย่างอื่นที่เหมาะกับบริบทหรือเหมาะกับต้นทุนของชุมชน ก็เชื่อว่าจะทำให้วัดนี้ความหมายกับ ผู้คน และทำให้ผู้คนได้รับอานิสงส์ของพุทธศาสนามากขึ้น อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องช่วยกันคิด
แต่แน่นอนนะ สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ เดี๋ยวนี้คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยเขามีปัญหาด้านจิตใจมาก เกิดวิกฤติด้านจิตใจ จำนวนไม่น้อยถึงกับเป็นโรคซึมเศร้า น่าสงสารมากเดี๋ยวนี้เป็นกันเยอะเลย วิกฤติด้านจิตใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทย เป็นโจทย์ใหญ่ของชุมชนจำนวนไม่น้อย ซึ่งวัดก็ควรจะมีบทบาท อาจไม่ถึงขั้นไปช่วยเหลือผู้ที่ซึมเศร้า แต่อย่างน้อยก็มีคำตอบให้กับคนที่มีความทุกข์ด้านจิตใจ
เรื่องการปฏิบัติธรรม เรื่องการภาวนานี่ก็สำคัญเหมือนกัน นอกเหนือจากการช่วยเหลือผู้คนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ข้าว ผ้า ยา อาหารไม่ขาดแคลน สามารถแปลงเป็นตัวเงินได้ เพิ่มรายได้ให้กับตัวเองได้แล้ว เรื่องการช่วยบรรเทาความทุกข์ความเครียดในจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญ
นั่นหมายความว่าพระก็ต้องมีความรู้ มีทักษะในเรื่องของการภาวนา หรือที่จริงก็คือสามารถน้อมนำการปฏิบัติให้เข้ามาเป็นชีวิตจิตใจของพระ จนกระทั่งเข้าถึงความสงบเย็น ไม่ใช่มีแต่ความรู้ด้านปริยัติธรรมเท่านั้น แต่สามารถเอาความรู้ทางธรรมมาปฏิบัติจนกระทั่งเข้าถึงความสงบเย็น เรียกว่า แม้จะพูดไม่เก่งแต่สามารถทำให้ดูหรือให้เห็น เย็นให้สัมผัสได้
แล้วยิ่งถ้าสามารถที่จะสอนธรรมะได้ด้วยตัวเอง หรือมีหมู่คณะมาช่วยกันสอน ก็จะเป็นคุณูปการอย่างยิ่ง ซึ่งก็ต้องอาศัยนวัตกรรมเหมือนกัน เพราะถ้าจะใช้วิธีการสอนแบบเดิมๆ อาจจะไม่ได้ผล ต้องมีวิธีใหม่ๆ เพื่อให้คนหนุ่มสาวได้เข้าใจการปฏิบัติ
เดี๋ยวนี้เขาก็มีเวลาน้อย บางทีแม้แต่การปฏิบัติแค่ 3 นาทีก็มีความหมายแล้ว ทำยังไงเราจึงจะแนะนำให้เขาทำเพียงแค่ 3 นาทีเป็นการชิมลอง ซึ่งทำได้ ปฏิบัติแค่ 3 นาที หลายคนทำทุกวันเห็นผลเลย เพราะเป็นวิธีการที่มันสอดคล้องกับจริตนิสัยของเขา ไม่ใช่เอาแต่นั่งหลับตา ตามลมหายใจ ดูท้องพองยุบเท่านั้น มันต้องมีอะไรที่มากกว่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องของนวัตกรรม ที่ชุมชนวิถีพุทธจำเป็นต้องมี.