วันนี้เป็นวันดี ที่ว่าเป็นวันดีไม่ใช่เป็นเพราะว่าเป็นวันพระ แต่เป็นเพราะว่าพวกเราได้มาร่วมกันทำความดี ทำสิ่งที่เป็นมงคล นั่นคือการฟังธรรม การฟังธรรมตามกาล พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นมงคลสูงสุดประการหนึ่ง และฟังธรรมก็ไม่จำเป็นว่าต้องฟังจากพระเท่านั้น ฟังจากผู้รู้ผู้มีปัญญาที่ให้ข้อคิดเตือนใจ มันก็เป็นธรรมะได้เหมือนกัน
พอเป็นวันดีวันมงคลแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่เราย่อมปรารถนา ย่อมมีความคาดหวังว่าวันนี้จะเป็นไปอย่างราบรื่น ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการงาน การเดินทาง การพบปะผู้คนก็จะเป็นไปได้อย่างสะดวก เป็นไปอย่างที่คาดหวัง แต่ความจริงก็มีอยู่ว่า สิ่งที่ไม่เป็นไปดั่งใจ ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง มันก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา สามารถจะเกิดขึ้นได้ทุกวัน แม้กระทั่งวันนี้ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้วันนี้กลายเป็นวันที่ไม่ดีไปได้ วันนี้ยังสามารถเป็นวันที่ดีได้ แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจ ไม่เป็นไปดั่งใจ หรือว่ามีอุปสรรค ทำให้เกิดความขรุขระขึ้นมา อะไรจะเกิดขึ้นกับเรา แม้จะไม่สมหวัง แม้จะไม่เป็นไปดั่งใจ แต่มันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้
สิ่งที่ทางพระเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ไม่น่าพอใจ รวมทั้งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราไม่ชอบ ไม่ถูกใจเรา มันสามารถจะกลายเป็นสิ่งที่ดีได้ อยู่ที่ว่าเราจะมองมันอย่างไร หรือว่าจะปฏิบัติกับมันอย่างไร
คุณแม่คนหนึ่ง มีลูกชายอายุ 3 ขวบ วันหนึ่งคุณแม่ให้ลูกชายวัย 3 ขวบเปิดตู้เย็น ไปหยิบขวดนมมาวางไว้บนโต๊ะอาหาร แต่ว่าขวดใส่นมเป็นขวดใหญ่ มือของเด็กยังเป็นมือน้อยๆ พอเด็กชายหยิบขวดนม ปรากฏว่าหยิบจับไม่ถนัด ขวดนมก็ตกจากมือ นมก็หกนองพื้นเลย ยังดีที่ขวดนมไม่แตก เด็กเห็นก็ใจเสียเลย สักพักแม่เดินเข้ามาเพราะว่าได้ยินเสียงอะไรบางอย่าง
พอแม่เห็นนมหกเลอะเทอะนองพื้น แทนที่แม่จะตกใจ แทนที่แม่จะไม่พอใจ แล้วก็ตำหนิลูก สั่งสอนลูก หรือว่าเทศนาอบรม หรือลงโทษลูก แม่กลับบอกว่า โอ้โฮ ไม่เคยเห็นทะเลสีขาวนองพื้นเลย ไม่เป็นไรนะ ไหนๆ หนูก็ทำนมหกแล้ว เรามาสนุกกับทะเลสีขาวดีกว่า แล้วก็ชวนลูกลองสัมผัสกับน้ำนมที่นองพื้น เด็กก็เล่นกับนมที่นองพื้นอย่างมีความสุขสนุกสนาน
สักพักแม่ก็มานั่งอยู่ข้างๆ ลูก แล้วก็บอกลูกว่า ลูกรู้ไหม เมื่อลูกทำของหก ลูกก็ต้องรู้จักทำความสะอาดนะ เรามาช่วยกันทำความสะอาดกันดีไหม ลูกอยากจะทำความสะอาดยังไง ใช้ผ้าเช็ด หรือใช้ม็อบ ลูกบอกใช้ม็อบดีกว่า แม่ก็ให้ลูกไปหยิบม็อบมา แล้วก็กวาดทำความสะอาด จนกระทั่งเป็นระเบียบเรียบร้อยเหมือนเดิม ช่วยกันทั้งแม่ทั้งลูก ลูกก็สนุกกับการกวาด เช็ด ทำความสะอาดพื้น
แล้วแม่ก็พูดกับลูกว่า รู้ไหมที่ลูกทำนมหก มันเป็นเพราะว่าขวดนมเป็นขวดใหญ่ แต่มือหนูเป็นมือเล็กๆ หนูไปจับขวดนมตรงกลางขวด จับไม่ถนัด มันก็เลยหลุดจากมือ ตอนนี้เรามาลองดูซิว่า ทำอย่างไรถึงจะจับขวดนมได้โดยที่ไม่หลุดจากมือ เดี๋ยวแม่จะเอาขวดนมขวดเดิมนี่แหละ แล้วไปทีหลังบ้านกัน แม่ก็เติมน้ำเปล่าลงในขวดนมขวดนี้แหละ ลูกลองจับลองถือดูนะว่า ลูกจะทำอย่างไรมันถึงจะไม่หลุดจากมือ
เด็กก็ลองทำดู เด็กก็พบว่า ถ้าจับตรงคอขวด มันก็จะกระชับมือ ไม่หลุดจากมือง่ายๆ เด็กค้นพบแล้ว ถ้าจะจับขวดนมจากตู้เย็น จะทำอย่างไรให้ไม่หลุดจากมือ น้ำนมก็ไม่นองพื้น เด็กคนนี้ภายหลังกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง
เขาบอกว่าเหตุการณ์วันนั้น วันที่เขาทำขวดนมหลุดจากมือ เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญมากเลย เพราะว่าแม้มันจะเป็นความผิดพลาด แต่แม่ก็ทำให้เขาเห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องเสียหาย มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัว แม่สอนให้เขารู้จักหาบทเรียน ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นั้น แล้วทำให้เขารู้จักใคร่ครวญ ไม่ใช่แค่ระมัดระวัง แต่รู้จักไตร่ตรอง หาหนทางแก้ไขความผิดพลาด
ถ้าเราลองสังเกตสิ่งที่คุณแม่ท่านนี้ทำ มันน่าสนใจมาก ทำให้ลูกได้เรียนรู้หลายประการ
ข้อ 1. คือว่า คุณแม่รู้จักสอนให้ลูกหาประโยชน์จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น น้ำนมมันนองพื้นแล้ว แต่ว่าแม่ก็ชวนให้ลูกลองเล่นสนุกกับน้ำนมดู เหมือนกับเป็นทะเลสีขาว มันเลอะเทอะก็จริง แต่ว่ามันก็เป็นของเล่นได้เหมือนกัน นี่เรียกว่าหาประโยชน์จากความผิดพลาด
2. แม่สอนลูกว่า เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ลูกต้องรับผิดชอบ รับผิดชอบอย่างไร น้ำนมมันหกเลอะเทอะพื้นแล้ว ก็ต้องทำความสะอาด แทนที่แม่จะทำให้ลูก แม่กลับแนะนำว่า ให้ลูกได้ลงมือทำความสะอาดที่เกิดจากการทำขวดนมหก
และ 3. แม่ได้สอนลูกว่า ความผิดพลาดมันเกิดขึ้นจากอะไร เกิดขึ้นตรงไหน เช่น ที่หนูจับขวดนมแล้วมันหลุดมือเพราะไปจับกลางขวด นี่คือสาเหตุแห่งความผิดพลาด ข้อ 4. แม่สอนลูกว่า ทำอย่างไรเราจะแก้ไขความผิดพลาดได้ ก็คือแทนที่จะมาจับกลางขวด ก็จับตรงคอขวด มันเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจเด็กชายมาก เพราะว่าสิ่งที่แม่ทำคือ แม่สอนให้เด็กได้เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ความผิดพลาดนี้ไม่มีใครชอบ แต่ว่าแม่ก็สามารถที่จะใช้ความผิดพลาดที่เกิดจากลูก ที่เกิดจากความไม่รู้ของลูกให้เป็นประโยชน์ ทำให้ลูกเกิดความรู้ ทำให้ลูกเกิดประสบการณ์ ทำให้ลูกเกิดความเข้าใจ และสิ่งที่น่าสนใจคือ แม่ไม่ได้บอกคำตอบให้ลูก แต่แม่ให้ลูกคิดเอง เช่น ตอนทำความสะอาด แม่ก็ถามลูกว่า จะทำความสะอาดอย่างไร จะใช้ผ้าหรือจะใช้ม็อบ ลูกบอกใช้ม็อบครับ
แล้วตอนที่ให้ลูกลองค้นหาวิธีการที่จะถือขวดนมโดยที่ไม่หล่นจากมือ คำตอบนี่แม่รู้อยู่แล้ว แต่แม่ไม่บอก แม่ก็ให้ลูกลองทำดู ทำอย่างไร เอาน้ำเปล่าใส่ในขวดนม แล้วลองถือดู จับตรงไหนถือตรงไหน มันจึงจะกระชับ ไม่หลุดจากมือ แล้วเด็กก็พบว่า ก็จับตรงคอขวด มันก็จะกระชับแน่น เพราะมือเด็กยังน้อยๆ อยู่
อันนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่เด็กได้เรียนรู้ และทำให้เขากลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อ อันนี้ก็ต้องถือว่าเป็นปัญญาของผู้เป็นแม่ ที่รู้จักหาบทเรียนมาสอนลูก เป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นประสบการณ์ที่ไม่มีใครอยากจะให้เกิด แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว แทนที่จะบ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย
ลองนึกว่าถ้าแม่โวยวาย ตีโพยตีพายใส่ลูกหรือลงโทษลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร ลูกจะไม่กล้าทำอะไรผิดเลย ลูกจะไม่กล้าไปหยิบขวดนมจากตู้เย็นอีกเลย แล้วลูกจะกลัวความผิดพลาด คนเราพอกลัวความผิดพลาด เราจะพยายามหลีกหนีการทำอะไรทุกอย่างที่มันเสี่ยงต่อความผิดพลาด ซึ่งในโลกนี้ไม่มี ทำอะไรทุกอย่าง มันย่อมมีโอกาสที่จะผิดพลาด
คนเราถ้ากลัวความผิดพลาดแล้ว มันก็จะหลีกเลี่ยง กลายเป็นคนไม่กล้าทำอะไรเลย แล้วชีวิตที่ไม่กล้าทำอะไรเลยเพราะกลัวความเสี่ยง เป็นชีวิตที่เสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะว่ามีโอกาสที่จะล้มเหลว มีโอกาสที่จะไม่สามารถค้นพบศักยภาพในตัวเองได้
จะว่าไปแล้ว สิ่งที่แม่สอนลูกทั้ง 4 ประการ ไม่ใช่เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับลูกสำหรับเด็กเท่านั้น มันเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับคนทุกคน รวมทั้งผู้ที่เป็นพ่อแม่ด้วย เพราะว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ แล้วถ้าเราขยายจากความผิดพลาด กลายเป็นความทุกข์ หรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เราก็จะพบว่า การรู้จักหาประโยชน์จากความทุกข์ จากเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา มันเป็นสิ่งสำคัญ ทำงานแล้วล้มเหลว ก็
ไม่ใช่สิ่งเสียหาย มันมีประโยชน์ ทุกครั้งที่ล้มเหลว ทุกครั้งที่ไม่ประสบผล ถ้าเรารู้จักหาประโยชน์จากมัน เราจะได้ความรู้ เราจะได้ประสบการณ์
โธมัส เอดิสัน ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของอเมริกา เมื่อ 100 ปีที่แล้ว เราคงทราบดีอยู่แล้วว่า เขาเป็นผู้ที่ประดิษฐ์หลอดไฟเป็นคนแรกในโลก แต่ก่อนหลอดไฟมันจะให้แสงสว่างได้ก็เพราะว่ามันมีไส้ที่มีความต้านทานต่อไฟฟ้าสูง ปล่อยไฟฟ้าเข้าไปแล้ว มันมีแรงต้านทานสูง ก็จะสว่างเรือง เกิดแสงสว่างขึ้น คำถามคือจะใช้อะไรเป็นไส้หลอดไฟ
เอดิสันใช้เวลานานมากในการที่จะหาวัสดุที่จะมาทำเป็นหลอดไฟฟ้า เขาล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เขาไม่เคยท้อ เขาบอกว่าผมไม่เคยล้มเหลว ผมแค่พบ 1,000 วิธีการที่มันไม่เวิร์ก เขาพูดดีนะ บอกว่าผมไม่เคยล้มเหลว ผมแค่พบวิธีการที่มันไม่เวิร์กนับร้อยนับพันครั้ง เขาได้ความรู้ทุกครั้งที่ทำไม่สำเร็จ อันนี้เรียกว่ารู้จักหาประโยชน์จากความล้มเหลว คือได้ความรู้ ได้บทเรียน ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์
มีคนหนึ่งพูดไว้ดี คนนี้ก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังเหมือนกัน ซึ่งตอนหลังเขาก็ค้นพบสาเหตุแห่งการเกิดโรค เขาบอกว่าคนเราเวลาล้ม ก่อนที่จะลุกขึ้นมา ให้หยิบอะไรขึ้นมาสักอย่าง อย่าลุกขึ้นมาเปล่าๆ บางคนล้มแล้วไม่ยอมลุก แต่บางคนล้มแล้วก็ลุก แต่จะดีต้องหยิบอะไรขึ้นมาติดมือบ้าง อย่าล้มฟรีๆ พูดง่ายๆ คนเราถ้ารู้จักหาประโยชน์จากความทุกข์ จากสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ หรือที่ทางพระเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ พระพุทธเจ้าสรรเสริญว่าเป็นบัณฑิต
พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพระนันทิยะ แล้วพระนนทิยาก็มาเล่าให้พระองคุลิมาลฟังว่า พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ว่า บุคคลผู้รู้จักหาประโยชน์จากอนิฏฐารมณ์ พระตถาคตสรรเสริญว่าเป็นบัณฑิต อนิฏฐารมณ์คือ รูป รส กลิ่น เสียง ที่ไม่น่าพอใจ รวมทั้งการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ หรือความไม่ประสบความสำเร็จ ที่เราเรียกว่าความล้มเหลว พวกนี้มันมีประโยชน์ ไม่ใช่แค่งานที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ให้ความรู้กับเราอย่างที่เอดิสันพูดขึ้นมา
คำต่อว่าด่าทอมีประโยชน์ อย่างที่เศรษฐีคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเมืองโบราณ คุณเล็ก วิริยะพันธ์ เคยพูดไว้ว่า วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล แปลว่าอะไร แปลว่าวันไหนถูกตำหนิ วันนั้นเป็นมงคล คนธรรมดาไม่อยากถูกตำหนิ วันไหนถูกตำหนิวันนั้นเป็นอัปมงคล โกรธ โมโห ไม่พอใจ แต่คุณเล็กรู้จักหาประโยชน์กับคำตำหนิ คำตำหนิสอนให้รู้ว่าเรามีอะไรที่ผิดพลาด เรามีอะไรที่ควรแก้ไข และนี่แหละคือมงคล
ถ้าเรารู้จักหาประโยชน์จากความทุกข์ เราจะไม่มีคำว่าขาดทุน เงินหาย เราจะไม่มัวแต่จมอยู่กับความเสียใจ กับความโมโห แต่เราจะได้บทเรียนว่าเราต้องระมัดระวัง เราต้องไม่ประมาท รวมทั้งได้เห็นสัจธรรมว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย แม้เราจะดูแลมันอย่างดีอย่างไร บางทีก็น้ำท่วม บางทีก็ไฟไหม้ ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย นี่คือสัจธรรมขั้นสูงเรื่องอนัตตาเลยทีเดียว
เวลาเจ็บป่วย เราจะได้ประโยชน์จากความเจ็บป่วยอย่างไร ความเจ็บป่วยมาสอนมาเตือนให้เรารู้จักใช้ชีวิตให้สมดุล รู้จักพักผ่อน อย่าหักโหม รู้จักปล่อยวางบ้าง รวมทั้งทำให้เราเห็นสัจธรรมขั้นสูงว่า ร่างกายนี้มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
อาจารย์พุทธทาสบอกว่า ป่วยทุกครั้งก็ให้ฉลาดทุกที เพราะความเจ็บปวดมันเตือนให้เราฉลาดในเรื่องของสังขาร ว่าสังขารไม่ใช่ของเรา สังขารเป็นตัวทุกข์ มันแสดงทุกข์ให้เราเห็นอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าเราจะสังเกตหรือไม่ แม้ยามที่เราปกติ ไม่ได้แปลว่าเราไม่ป่วยข้างใน มันมีความเจ็บความป่วยอยู่ เพียงแต่ว่ามันไม่แสดงอาการ แต่บางคนกว่าจะรู้ว่าป่วยก็พบว่าเป็นมะเร็งขั้นที่ 3 เข้าไปแล้ว แต่ว่าตอนที่ยังไม่ป่วย หรือรู้สึกว่ายังไม่ป่วย ที่จริงข้างในมันมีอาการ มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นแล้ว
ให้เรารู้จักหาประโยชน์จากความทุกข์ จากเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ สอนลูกสอนหลานแล้วก็สอนเรา มีผู้ชายคนหนึ่งขับรถ ปกติเวลาขับรถ แกก็จะมุ่งหน้า ตั้งหน้าตั้งตาขับรถไปถึงจุดหมาย โดยที่ไม่สนใจลูกที่นั่งอยู่เบาะหลัง แต่วันหนึ่งรถติด พ่อเลยหันมาคุยกับลูก แล้วถามลูกประโยคหนึ่งว่า รถติดมีข้อดีอย่างไรบ้าง ใครๆ ก็รู้ว่ารถติดไม่ดี แล้วข้อดีล่ะมีไหม พ่อถามลูก ลูกก็ตอบว่ารถติดก็ดีสิครับ ทำให้พ่อหันมา คุยกับลูก เพราะถ้ารถไม่ติด พ่อก็ไม่สนใจลูกเลย พ่อมองแต่ถนนหรือมุ่งแต่จุดหมายปลายทางข้างหน้าอย่างเดียว แต่พอรถติด พ่อก็เลยหันมาคุยกับลูก นี่คือข้อดี ซึ่งเราสามารถสอนลูกได้
เหมือนกับแม่คนที่ทำให้ลูกเห็นว่า ขวดนมตกมันก็มีข้อดี ก็คือว่านมหกเลอะพื้นก็ทำให้เป็นทะเลสีขาว ให้ลูกได้เล่นสนุกเหมือนกัน ประการต่อมาแม่สอนให้ลูกรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ความผิดพลาดของใคร ความผิดพลาดของลูก อันนี้อาตมาคิดว่าสำคัญเหมือนกัน การสอนลูก บทเรียนขั้นสำคัญบทแรกๆ เลย คือให้รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อมีความผิดพลาด เมื่อทำน้ำหก ลูกก็ต้องรู้จักทำความสะอาดด้วยตัวเอง
แม้แต่การกระทำที่เป็นสามัญ ลูกก็ควรจะรับผิดชอบ เช่น ตื่นนอนขึ้นมา ต้องรู้จักเก็บที่นอน ไม่ใช่ปล่อยให้ยับยู่ยี่หรือว่าเลอะเทอะ กินข้าวจานไม่สะอาด จานสกปรก ลูกก็ต้องรู้จักล้างด้วยตัวเองบ้าง เพราะว่าความสกปรกมันเกิดจากลูก นี่เป็นบทเรียนพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็ก ซึ่งจะมีความหมายต่อชีวิตของเขาในภายภาคหน้า
แล้วบางที เด็กก็จะมีเหตุผลว่าจะล้างจานไปทำไม เดี๋ยวก็สกปรกอีก จะเก็บที่นอนไปทำไม เดี๋ยวก็ยับยู่ยี่ใหม่ อันนี้อาจจะบอกกับลูกว่า ก็เหมือนกับถูฟัน เราถูฟันแล้ว เดี๋ยวปากก็ไม่สะอาดอีก เราก็ต้องถูใหม่ ไม่ใช่เราไม่ถูเลย เพราะคิดหรือให้เหตุผลว่าเดี๋ยวมันก็ไม่สะอาดอีก ทำไมเราต้องอาบน้ำทุกวัน ทั้งที่อาบน้ำเสร็จแล้ว เดี๋ยวตอนเย็นร่างกายก็สกปรกใหม่ แต่เราก็ต้องอาบ แล้วเราควรอาบ อันนี้เป็นเหตุผล ที่เราควรจะบอกหรือชี้แจงให้ลูกฟัง ไม่เช่นนั้นลูกก็จะบอกว่า ล้างไปทำไม เก็บที่นอนไปทำไม เดี๋ยวก็ยับยู่ยี่ใหม่
อาตมาคิดว่านี่เป็นเรื่องสำคัญ คือการที่เรารู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง เมื่อเด็กไม่ทำการบ้าน ถูกครูลงโทษ พ่อแม่ก็ควรจะให้ลูกยอมรับการลงโทษของครู ไม่ใช่ไปปกป้องลูกด้วยการโกหกว่า ลูกไม่สบาย ลูกก็เลยไม่ได้ทำการบ้าน การทำอย่างนี้มันเป็นการสอนให้เด็กไม่รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตัว เพราะต่อไปเด็กก็จะทุจริตในห้องสอบ แล้วคิดว่าเดี๋ยวพ่อแม่จะมาช่วยปกป้อง และการที่คนเราจะรับผิดชอบต่อการทำงานของตัวเองได้ จะต้องเริ่มจากการใส่ใจหรือคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ
อาตมาเคยไปบรรยายที่สถานที่ราชการแห่งหนึ่ง ก่อนไปบรรยายก็ไปเข้าห้องน้ำ ไปเจอคุณป้าที่เป็นพนักงานทำความสะอาด แกบ่นว่าคนที่ไปถ่ายหนักในห้องน้ำ ทำไมหลายคนไม่ยอมกดชักโครกเลย มันน่าคิดนะ คนที่ไปใช้ห้องน้ำคงไม่ใช่เด็กแล้ว เป็นผู้ใหญ่ แต่ทำไมในเมื่อตัวเองถ่ายทุกข์แล้ว จึงไม่กดชักโครกเลย แสดงว่าเขาไม่ได้หันมาดูหรือไม่สนใจว่า การกระทำของตัวเองเกิดผลอะไรตามมา
หรือเกิดผลอะไรขึ้น เพียงแค่สบายใจ พอสบายใจแล้วก็พอ ไม่ได้ใส่ใจว่ามันเกิดผลอะไรขึ้นมา หรือเกิดผลอะไรตามมา ซึ่งอาตมาคิดว่านิสัยเหล่านี้คงไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น คงจะเกิดขึ้นตั้งแต่เล็กแล้ว คือการเลี้ยงดู ถ้าคนเราไม่ใส่ใจกับผลกระทบที่เกิดขึ้นหรือผลที่จะตามมา ไม่ว่ากับตนเองหรือผู้อื่นแล้ว มันน่ากลัวนะ
เด็กวัยรุ่นหลายคนที่ไปฆ่าคนตายหรือกระทำชำเราผู้หญิง เพราะว่าพรรคพวกหรือแก๊งพาไป หลายคนพอถูกจับได้ แล้วถูกลงโทษ ถูกตัดสินให้อยู่ในเรือนจำก็ดี หรืออยู่ในสถานบำบัดของเยาวชน อย่างบ้านกาญจนาภิเษกก็ดี มีคนถามว่าไม่เคยคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเหยื่อของตัว กับพ่อแม่ของเขา หรือผลที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองเลยหรือ เด็กหลายคนบอกว่าไม่เคยคิดเลย มันแค่ทำไปตามอารมณ์ สะใจก็ พอแล้ว หรือว่าได้บำบัดความอยากก็พอแล้ว แต่ไม่เคยคิดถึงผลที่จะเกิดขึ้น หรือผลที่ตามมา ทั้งกับผู้อื่น กับเหยื่อ กับญาติของเขา หรือแม้กระทั่งกับตัวเอง
ไม่น่าเชื่อว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำอะไรโดยไม่คิดถึงผลกระทบเลย แต่อาตมาคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนทุกวันนี้มาก เพราะว่าการหล่อหลอม การเลี้ยงดู แล้วคนเราถ้าหากว่าทำอะไรโดยคำนึงถึงแต่ความสบายใจ แล้วไม่สนใจต่อผลกระทบที่ตามมา มันนำไปสู่ปัญหาหลายอย่าง
คนที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ดื่มน้ำเสร็จก็โยนขวดน้ำลงข้างทาง หรือว่าลงถนน ขับรถ นั่งรถ ก็เปิดหน้าต่าง แล้วก็ทิ้งขยะออกทางหน้าต่างรถ พวกนี้ก็อยู่ในประเภทเดียวกัน คือว่า คำนึงถึงแต่ความสบายใจของตัว แต่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา แล้วเดี๋ยวนี้แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย ก็มีขยะที่ถูกทิ้งตามท้องถนน สนามหญ้า แม้กระทั่งในห้องน้ำหรือในห้องเรียน
แล้วคนที่ทิ้งก็คงไม่ใช่ใครหรอก เป็นนักศึกษา ทำไมถึงทำอย่างนั้น ก็เพราะว่าสนใจแต่ความสบายใจ ความสะดวกของตัว แต่ไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมากับสถานที่ กับผู้คน แล้วต่อไปความคิดแบบนี้ก็ส่งผลเสียกลับมาที่ตัวเอง หลายคนติดเหล้า ติดยา ติดเกม ติดการพนัน ติดเกมออนไลน์ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นโทษต่อตัวเอง ต่อสุขภาพตัวเอง เขาไม่รู้หรือว่ามันเป็นโทษ หลายคนไม่รู้นะ หลายคนไม่สนใจ เพราะสนใจแต่ว่าตอบสนองความพึงพอใจส่วนตัวเท่านั้น ทำอะไรแล้วสบายใจ ทำอะไรแล้วมีความสุข เท่านี้พอ ส่วนมันจะมีผลกระทบอะไรตามมา ไม่ใช่กับคนอื่นเท่านั้น กับตัวเองก็ไม่สนใจ
อันนี้รวมไปถึงการกินด้วย กินโดยคำนึงแต่ความเอร็ดอร่อย กินตามใจปาก เสร็จแล้วเกิดโรค เกิดโรคเบาหวาน เกิดไตวาย เกิดโรคหัวใจ บางคนอายุไม่เท่าไหร่ก็อ้วนเกินพิกัดมาก อันนี้ก็เหมือนกัน คือว่า ทำอะไรโดยที่ไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา แม้กระทั่งผลที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ใช่ระยะยาวอย่างเดียว บางทีก็ระยะสั้น
เพราะฉะนั้นการที่พ่อแม่สอนลูก อย่างที่คุณแม่คนที่ว่าสอนลูกให้รับผิดชอบต่อการทำของตัวเอง เมื่อทำนมหกก็ต้องเช็ดทำความสะอาด แม้จะเป็นเด็กอายุ 3 ขวบ แต่ว่าก็ควรที่จะได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้แล้ว อยู่ในวิสัยที่จะเรียนรู้ได้ แล้วถ้าหากว่า เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง เขาจะเข้าใจว่าทำไมคนเราควรจะทำความดี ทำไมคนเราควรจะใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทำไมคนเราจึงควรช่วยเหลือผู้อื่น อย่างน้อยๆก็ไม่เอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทุจริต เพราะว่ารู้ว่าการทำสิ่งไม่ดี ส่งผลกระทบอะไรตามมา
แล้วคนเราถ้ารับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ใส่ใจต่อการกระทำที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของตัวเอง การที่เขาจะเข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ก็จะเข้าใจง่าย เพราะกฎแห่งกรรมก็คือการที่คนเราถ้าปรารถนาความสุข ก็ต้องทำความดี ถ้าหากไม่ทำความดี ทำความชั่ว สุดท้ายใครที่รับกรรม ก็คือตัวเรานั่นเองต้องรับวิบากกรรม ถ้าไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ต่อไปก็ต้องเจอวิบากที่เกิดจากการทำที่ไม่ถูกต้อง ที่เป็นบาป
บทเรียนที่ 3 ก็สำคัญที่แม่สอนลูกว่า เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เราควรจะรู้ว่ามันเกิดจากอะไร สาวหาสาเหตุ แม่สอนลูกว่าที่ทำขวดนมตกเพราะลูกจับไม่ถูกที่ ไปจับที่กลางขวด และถ้าจะให้ขวดนมไม่ตก จะทำอย่างไร ก็ให้รู้จักจับให้ถูกที่ ก็คือรู้จักแก้ทุกข์ รู้จักแก้ไขความผิดพลาด คนเราถ้าหากว่าเรารู้จักวิเคราะห์ ใคร่ครวญถึงความผิดพลาดว่าเกิดขึ้นจากอะไร แล้วเราจะแก้ไขมันอย่างไร การที่เราจะใช้ชีวิตให้ ถูกต้องดีงาม ก็จะเป็นไปได้ง่าย แล้วมีความสุขด้วย
ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องของอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 ก็คือเมื่อเจอทุกข์แล้ว ต้องหาเหตุแห่งทุกข์ แล้วจะต้องรู้จักปฏิบัติ กระทำการเพื่อขจัดเหตุแห่งทุกข์ อันจะนำไปถึงความสุขหรือความไร้ทุกข์ ความทุกข์บางอย่างมันแก้ไขได้ ด้วยการลงมือกระทำ สร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ถูกต้อง แต่มีความทุกข์บางอย่างที่มันไปจัดการกับสิ่งภายนอกไม่ได้ มันต้องมาจัดการที่ตัวเอง อันนั้นคือความทุกข์ใจ เวลามีความทุกข์ใจ เรา ต้องรู้ว่าเหตุแห่งทุกข์เกิดจากอะไร คนจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่า เหตุแห่งความทุกข์ใจอยู่ที่ไหน หลายคนไปโทษสิ่งภายนอก แต่สิ่งภายนอกไม่ใช่เป็นเหตุแห่งความทุกข์ใจอย่างแท้จริง
มีผู้ชายคนหนึ่งไปปฏิบัติธรรมที่สำนักหนึ่ง คืนแรกผ่านไป รุ่งขึ้นเจ้าสำนักก็ถามว่า เมื่อคืนนอนหลับไหม? แกตอบว่า ช่วงแรกๆ ผมนอนไม่หลับเลย.. ทำไมล่ะ? ห่านมันร้องเสียงดัง ผมนอนไม่หลับเลย.. แล้วหลังจากนั้นหลับได้บ้างไหม? แกบอกว่าหลังจากนั้นผมก็หลับได้ครับ.. ทำไมถึงหลับได้? ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่า ในโทรศัพท์มือถือได้อัดคำบรรยายธรรมะของครูบาอาจารย์หลายท่าน พอผมนอนไม่หลับ ผม ก็เลยฟังธรรมของครูบาอาจารย์เหล่านั้น โดยเอาหูฟังมาเสียบใส่หูแล้วก็ฟังคำบรรยายของครูบาอาจารย์จากโทรศัพท์มือถือ จนหลับไปถึงเช้า..
อาจารย์ก็ถามว่า ระหว่างเสียงห่านกับเสียงธรรมะจากโทรศัพท์มือถือ อะไรดังกว่ากัน? เสียงธรรมะจากโทรศัพท์มือถือดังกว่าครับ.. อ้าว แล้วทำไมคุณหลับได้! แปลว่าความดังไม่ใช่ปัญหา เสียงห่านมันดังน้อยกว่าเสียงบรรยายของครูบาอาจารย์ทางโทรศัพท์มือถือ แต่ทำไมนอนไม่หลับ เพราะรำคาญ ทำไมถึงรำคาญ เพราะใจไม่ชอบเสียงห่าน ใจไม่ชอบเสียงห่าน จึง นอนไม่หลับ แต่ว่าใจชอบคำบรรยายของครูบาอาจารย์ มันเลยหลับ แปลว่าอะไร แปลว่าความหงุดหงิดความไม่พอใจ ไม่ได้เกิดจากความดังของเสียงห่าน แต่มันเกิดจากความไม่พอใจในเสียงห่าน ตรงนี้คือ เหตุแห่งความทุกข์ เหตุแห่งความหงุดหงิด เหตุแห่งการนอนไม่หลับ ไม่ใช่เสียงห่าน แต่เกิดจากความไม่พอใจเสียงห่าน ความรู้สึกลบต่อเสียงห่าน และความรู้สึกลบอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจเรา เหตุแห่งทุกข์แทบจะร้อยทั้งร้อย มันอยู่ที่ใจเรา
พระพุทธเจ้าตรัสว่า มือที่ไม่มีแผล เมื่อจับต้องยาพิษก็ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้ามือมีแผลเมื่อไหร่ จับต้องยาพิษ จึงจะเกิดอันตราย อันนี้เป็นอุปมาอุปไมย ยาพิษไม่ใช่ปัญหาหรืออันตราย แต่ว่าสิ่งที่ทำให้เกิดอันตรายคือมือที่มีแผล ปัจจัยภายนอกไม่น่ากลัวเท่าปัจจัยภายใน
ยาพิษเป็นอุปมาอุปไมย หมายถึงความเจ็บ ความป่วย ความสูญเสีย หรือเสียงต่อว่าด่าทอก็ได้ สิ่งเหล่านี้มันไม่ทำให้ใจเป็นทุกข์ ถ้าใจเราไม่มีแผล หรือใจเราไม่มีข้อบกพร่อง แต่ถ้าใจเราไม่มีธรรมะมาช่วยรักษา เรามีความรู้สึกลบ ความทุกข์จึงจะเกิดขึ้น ถ้าเราพิจารณาดูดีๆ ไม่มีอะไรหรือใครทำให้เราทุกข์ ทำให้เราโกรธได้ หากว่าใจเราไม่ไปร่วมมือ หรือไม่เออออห่อหมกด้วย ตรงนี้สำคัญนะ ใจเรานี่แหละเหตุ แห่งทุกข์ โดยเฉพาะความทุกข์ใจ สาวไปจริงๆ มันอยู่ที่ใจของเรา เหตุร้ายเกิดขึ้นถ้าใจเราไม่ไปร่วมมือด้วย มันก็ไม่เกิดความทุกข์
เมื่อสัก 2 เดือนก่อน มีข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งก็คือว่า ขณะที่จราจรคับคั่งมากในกรุงเทพฯ ปรากฏว่าจู่ๆ รถเบนซ์คันหนึ่งโดนชนท้าย รถอะไรที่ชนท้าย รถซาเล้ง คนขับซาเล้งเป็นชายชรา ตาแกคงไม่ดี รถเบนซ์ราคาหลายสิบล้าน ถูกชนท้าย เจ้าของลงมาดูท้ายรถ ก็เห็นท้ายรถบุบบี้ แต่สุดท้ายเจ้าของรถไม่เอาเรื่องซาเล้ง กลับไปขึ้นรถ แล้วขับรถไปเลย เขาไม่เอาเรื่อง
ก็กลายเป็นข่าวเพราะบังเอิญมีคนได้ถ่ายคลิปเหตุการณ์นั้นพอดี แล้วก็เอาไปโพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ก ชมเจ้าของรถเบนซ์มากที่ไม่เอาเรื่องรถซาเล้ง ถามว่าทำไมถึงไม่เอาเรื่องซาเล้ง ก็เพราะเจ้าของรถไม่ถือ ไม่ถือนี่หมายถึงว่าไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่นในรถว่าเป็นเรา เป็นของเรา ถ้าเจ้าของรถถือ เขาก็จะโกรธจะเอาเรื่องเจ้าของซาเล้งนั้น รถถูกกระทบแต่ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องทุกข์เสมอไป เราต้องโกรธเสมอไป อยู่ที่ว่าเราถือหรือไม่ ไม่ใช่ว่าพอรถถูกชนแล้วเราจะโกรธทันที ไม่ใช่ มันอยู่ที่ใจของเราว่า เราถือไหม เรายึดมั่นถือมั่นในรถคันนี้ไหม หรือเรายึดถือในเรื่องของตัวกูของกูมากแค่ไหน
ก็เหมือนกับเรากำลังซื้อผลไม้จากร้านข้างทาง อยู่ดีๆ มีคนมาชนเราจนเซ นาทีแรกวินาทีแรกเราโกรธ แต่พอเราหันกลับไป เกือบจะด่าแล้ว ปรากฏว่าเราชะงักทันที เพราะคนที่มาชนเราเป็นคนตาบอด ทำไมเราไม่โกรธทำไมเราหายโกรธ เพราะเราไม่ถือ บางทีเขาอาจจะเป็นคนเมาก็ได้ที่มาชนเรา หรืออาจจะเป็นคนบ้าก็ได้ที่มาด่าเรา พอเรารู้ว่าเขาเป็นคนบ้า เป็นคนเมา ด่าเรา เราไม่โกรธ เพราะเราไม่ถือ
อันนี้แสดงว่าความโกรธก็ดี ความทุกข์ก็ดี เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะมีคนมาด่าเรา ไม่ใช่เพราะมีคนมาชนเราหรือไม่ แต่เป็นเพราะว่าเราถือหรือไม่ เหตุแห่งทุกข์อยู่ตรงนี้ คนมีความทุกข์มากเพราะความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกู แต่ว่ามองไม่เห็น ไปโทษคนนั้นคนนี้ว่า เขาว่าเรา เขารังแกเรา หรือว่าเขามาทำของของเราให้เสียหาย
พระพุทธเจ้าเปรียบคนบางชนิดว่าเหมือนกับหมาหรือสุนัขขี้เรื้อน ผิวมันเป็นแผล หนังมันมีเชื้อโรค มันไปนอนใต้ต้นไม้ มันคัน มันก็โทษต้นไม้ว่าทำให้มันคัน มันไปนอนในถ้ำ มันคัน มันก็โทษถ้ำว่าไม่สะอาด ทำให้มันคัน มันไปนอนในศาลา มันคัน มันก็โทษศาลา มันก็เลยย้ายไปนอนใต้ถุนกุฏิพระ มันก็คันอีก แล้วมันก็โทษสถานที่นั้นสถานที่นี้ว่าล้วนแต่ไม่เข้าท่าทั้งนั้น แต่ที่จริงมันลืมมองตัวเองว่าที่คันเพราะผิวมันมีแผล
ความทุกข์ของคนเราหรือว่าความทุกข์ใจไม่ได้เกิดจากสิ่งภายนอก ไม่ได้เกิดจากคนนั้นคนนี้ เท่ากับเกิดที่ใจของเราเกิดจากความยึดมั่นถือมั่น ยึดถือในหน้าตา หรือคาดหวังในความสำเร็จ หรือยึดถือว่านี่เป็นของเรา ของเรา ถ้าหากว่าเราถือให้น้อยลง ปล่อยวางให้มากขึ้น เราจะทุกข์น้อยลง
ถึงเวลาเจ็บป่วย เราก็ป่วยแต่กายแต่ใจไม่ป่วย เพราะเราไม่ได้ยึดว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา ของหายเราก็จะทุกข์น้อยลง เพราะเราไม่ได้ยึดว่าของนี้เป็นเรา เป็นของเรา รถถูกชนถูกเฉี่ยวก็ไม่ได้ทุกข์ ไม่ได้โกรธมาก แต่ถ้าคิดว่า
รถเป็นเรา เป็นของเราเมื่อไหร่ อย่าว่าแต่ชนเลย แค่เฉี่ยวเบาๆ ก็ยังโกรธ แล้วเราก็ไปโทษคนที่เฉี่ยวว่าเป็นเหตุให้ทุกข์ ที่จริงไม่ใช่ เป็นเพราะใจที่มันยึดถือ
ตรงนี้แหละที่เราควรจะมองให้เห็นว่า สาเหตุแห่งความทุกข์อยู่ที่ไหนแน่ อยู่ที่ข้างนอกหรืออยู่ที่ใจ แล้วเมื่อเรารู้ว่าเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ใจแล้ว เราก็แก้ที่ใจ ปรับใจให้ถูกต้อง ปล่อยวางให้มากขึ้น ยึดมั่นถือมั่นให้น้อยลง แล้วไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่นเฉพาะสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา เช่นรถ เช่นบ้าน ทรัพย์สินเงินทอง หรือคนรัก หรือหน้าตา สิ่งที่ทำความทุกข์ให้กับเรา เราก็ต้องรู้จักปล่อยรู้จักวาง
แต่แปลกนะคนเรา แม้กระทั่งสิ่งที่ทำความทุกข์ให้กับเรา เราก็ยังไปยึด เช่น ความโกรธ ความเครียด ความวิตกกังวล ความเจ็บความปวด ผู้คนแทบจะร้อยทั้งร้อยยึดในสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆ ที่มันไม่ดีเลย แต่ทำไมมันยึด ก็เพราะหลงเพราะลืมตัว ปวดตรงไหนใจก็จะไปจดจ่อตรงนั้น ตรงที่ไม่ปวดไม่สนใจ เวลาโกรธก็จะจมอยู่ในความโกรธ จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ
ความโกรธมันน่ายึดถือที่ไหน ความปวดมันน่ายึดถือที่ไหน แต่เราไปยึดมันเพราะอะไร เพราะความหลงเพราะความลืมตัว อย่าไปโทษความโกรธ อย่าไปโทษความทุกข์ เพราะมันเป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้น ตามเหตุตามปัจจัย แต่ถามตัวเราเองว่าเราไปยึดมันทำไม เมื่อรู้เช่นนี้แล้วก็ต้องแก้ แก้ด้วยการมีสติ มีความรู้สึกตัว รู้ทันความทุกข์ รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น และถึงตอนนั้น เราจะเริ่มรู้จักการวาง แล้วพอเราเริ่มรู้จัก วางสิ่งที่ทำความทุกข์ให้กับเราได้ ต่อไปสิ่งที่ให้ความสุขกับเราได้ เราก็วางได้ คลายความยึดมั่นในตัวกูของกู ก็ทำให้ใจเป็นสุขได้
นี่คือสิ่งที่เราควรจะใคร่ครวญจากประสบการณ์ จากเหตุร้ายที่เกิดขึ้น จากความทุกข์ที่ปรากฏ ถ้าเป็นเช่นนี้ มันก็จะทำให้เราได้กำไร เราจะไม่มัวแต่จมอยู่ในความทุกข์ แต่ว่าหาประโยชน์จากมันให้ได้ อย่าง น้อยก็รู้ว่าเราทุกข์เพราะอะไร อะไรคือสมุทัย แล้วก็แก้กันที่ตรงนั้น.
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 โรงเรียนทอสี