พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 21 มีนาคม 2566
คนเราเวลารู้สึกเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็นเพราะโรคภัยไข้เจ็บ หรือเพราะผลข้างเคียงจากการรักษา ส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นเรื่องของกายล้วนๆ ที่จริงความเจ็บปวดแม้จะเกิดขึ้นกับกาย แต่ความรู้สึก รู้สึกเจ็บปวดนี่มันก็เป็นเรื่องของใจด้วย อันนี้คนมักจะมองไม่เห็น ไปคิดว่าเป็นเรื่องของกายล้วนๆ
คนเราเวลาเจ็บปวด เราก็ย่อมคาดหวังยา แล้วเชื่อมั่นว่ายาจะช่วยบรรเทาปวดได้ โดยเฉพาะถ้าปวดหนักๆ ก็อยากได้ยาแรงๆ เช่นมอร์ฟีน มีคนหนึ่งเป็นมะเร็ง แล้วก็ปวดมาก หมอก็ให้มอร์ฟีน แต่ว่าให้ได้แค่ทุก 3 ชั่วโมง เพราะว่าถ้าให้มากกว่านั้นมันจะไปกดการหายใจ
แต่ว่าพอให้ยาไปแค่ชั่วโมงกว่าๆ ผู้ชายคนนั้นก็บ่นว่าปวดมากปวดเหลือเกิน อยากได้ยา ตอนนั้นหมอก็ไม่อยู่ แล้วพยาบาลทุกคนก็รู้ว่าจะให้มอร์ฟีนตอนนั้นไม่ได้ ต้องรอให้ครบ 3 ชั่วโมงก่อน แต่พวกผู้ชายคนนั้นก็ร้องปวดด้วยความทุกข์ทรมานมาก
พยาบาลคนหนึ่งทนไม่ไหวก็เลยไปให้ยา พอให้ปุ๊ปชายคนนั้นก็รู้สึกสบายขึ้นมาเลย ไม่ร้องครวญครางต่อไป แล้วก็หลับได้อย่างสบาย เพื่อนพยาบาลก็ไปต่อว่าพยาบาลคนนั้น ว่าไปให้มอร์ฟีนได้ยังไง ต้องให้หมอสั่ง ให้ทุก 3 ชั่วโมง พยาบาลคนนั้นก็บอกว่า เปล่า ไม่ได้ให้มอร์ฟีน ให้ยาบำรุงหัวใจ
ให้ยาบำรุงหัวใจไม่ใช่มอร์ฟีนนะ แต่คนไข้เข้าใจว่าได้รับมอร์ฟีน ก็เลยรู้สึกสบายใจ หายปวดเลย หายปวดได้อย่างไง ทั้งๆ ที่ไม่ได้มอร์ฟีน หายปวดเพราะใจคิดว่าได้รับแล้ว มีความเชื่อมั่นในมอร์ฟีนว่าจะช่วยบรรเทาปวดได้ พอคิดว่าพยาบาลให้มอร์ฟีนก็เลยสบายใจ พอสบายใจก็เลยหายปวด
แล้วสิ่งนี้มันน่าสนใจ คือคนไข้หลายคนแม้จะปวดมากๆ แล้วหมอให้มอร์ฟีน แต่หมอไม่ได้บอกว่าที่ให้นี่เป็นมอร์ฟีนหรือยาระงับปวด ปรากฏว่าความเจ็บปวดทุเลาลงช้ามาก ผลมันจะไม่ดี ถ้าหากว่าคนไข้ไม่รู้ว่ายาที่ได้รับนี้คือมอร์ฟีน
แต่ถ้าบอกคนไข้ว่ากำลังให้มอร์ฟีน คนไข้ก็จะรู้สึกดีขึ้นอย่างรวดเร็ว อันนี้ก็แสดงว่าให้ยาอย่างเดียวไม่พอ คนไข้ต้องรู้ด้วย หรือคนไข้ต้องเชื่อว่าที่ให้นี่เป็นของดี ให้ยาระงับปวดแต่ไม่บอกคนไข้ว่ากำลังให้มอร์ฟีน ฤทธิ์ยาก็จะให้ผลช้าให้ผลไม่ดีเท่ากับการที่คนไข้รู้ว่าได้รับมอร์ฟีน หรือเข้าใจว่าได้รับมอร์ฟีน
ฉะนั้นความคาดหวังหรือความรับรู้ของคนไข้ก็สำคัญ พอรับรู้แล้วใจก็สบาย พอใจสบายก็ทำให้ความเจ็บปวดทุเลาลง อย่าไปคิดว่าความเจ็บปวดทุเลาลงเป็นเพราะฤทธิ์ยาอย่างเดียว แต่เป็นเพราะความเชื่อ ความคิดของคนเราด้วย คือเรื่องของจิตใจนั่นแหละ
มีการทดลองเวลาถอนฟันคุด ฟันคุดนี่เป็นฟันกรามแต่มันไม่มีประโยชน์ ถอนฟันคุดคนไข้จะปวดมาก แล้วเขาก็มีวิธีบรรเทาปวด โดยการใช้อัลตร้าซาวด์คอยไปนวดแถวกรามบริเวณใกล้ๆ กับที่ถอนฟันคุด คนไข้จะรู้สึกดีขึ้นเลย ดีขึ้นมาก
แต่ตอนหลังเวลาถอน แล้วเขาเอาเครื่องอัลตร้ามานวดก็จริง แต่ไม่ได้เปิดเครื่อง ยังไม่ได้เปิดเครื่อง แต่คนไข้ก็รู้สึกเหมือนกันว่ามันดีขึ้น แปลว่าอะไร แปลว่าความรู้สึกว่าดีขึ้นหรือบรรเทาความปวดลดลง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับที่เครื่องอัลตร้าซาวด์อย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับจิตใจของคนไข้ด้วย
เวลาให้ยาก็เหมือนกัน เขาพบว่ายานี่ไม่ใช่ยาระงับปวดอย่างเดียว แต่ว่ายาที่เกี่ยวกับการรักษาโรคด้วย ถ้าหากว่าให้ยาที่มีสี แล้วก็มีเหลี่ยม จะให้ผลดีกว่ายาเม็ดขาวๆ แล้วก็ไม่มีเหลี่ยม แล้วเขาพบว่ายาที่ให้ที่มีสีแดงๆ จะให้ผลเร็วกว่ายาเม็ดขาวๆ แล้วทำไมสีของยามันสำคัญ เพราะคนไข้เขารู้สึกว่ายาสีแดงๆ จะดีกว่ายาเม็ดขาวๆ
แล้วถ้าให้ยาแพงๆ บอกคนไข้ว่านี่ยาราคาเป็นร้อยนะ มันจะให้ผลได้ดีได้เร็วกว่ายาที่หมอบอกว่ามันราคาไม่กี่บาท เพราะคนธรรมดาก็เข้าใจว่ายาแพงๆ ก็ต้องดีกว่า ให้ผลดีว่ายาราคาถูกๆ
แล้วเคยมีการทดลองว่า หมอที่ให้ยาบอกแล้วบอกคนไข้ว่า ยานี่มันแรงมาก จับด้วยมือเปล่าไม่ได้ ต้องใช้คีมคีบ ต้องใช้คีมคีบยาก่อนที่จะให้คนไข้ โดยบอกว่ายามันแรงจับมือเปล่าไม่ได้ ต้องใช้คีมคีบ ปรากฎว่าคนไข้พอได้กินยานี้แล้วมันดีขึ้นเลย ทั้งๆ ที่ถ้าเราใช้สามัญสำนึก เราก็รู้ว่าหมอนี่เขาหลอก ยาที่ไหนมันแรงจนกระทั่งจับด้วยมือเปล่าไม่ได้
แต่คนไข้เขามีความเชื่อว่ายาแบบนี้มันแรง ต้องใช้คีมคีบ เพราะฉะนั้นมันจะให้ผลเร็ว พอคิดว่ามันให้ผลเร็ว มันก็ให้ผลเร็วจริงๆ ให้ผลเร็วมากกว่ายาที่ให้คนไข้ด้วยมือเปล่า ทั้งที่เป็นยาตัวเดียวกัน แต่ให้ด้วยมือเปล่ากับให้ด้วยการจับคีมคีบไม่เหมือนกัน แล้วนี่ก็เป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นเลยว่า เป็นเรื่องของความรู้สึกมาก
แล้วเดี๋ยวนี้มีการรักษาชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากในช่วงระยะหล้ง คือการรักษาโรคข้อเข่า โรคข้อเข่าเสื่อม เดี๋ยวนี้เป็นกันมากคนแก่ แล้ววิธีที่เขาเริ่มมานิยมกันคือ การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง แล้วคนไข้รู้สึกดีขึ้นเลยจำนวนมาก
อันนี้หมอเขาอยากจะทดลองว่า การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องได้ผลดีจริงหรือเปล่า เลยมีการทดลองกับคนไข้กลุ่มหนึ่ง มีการผ่า ผ่าเป็นผ่าเล็กๆ แล้วก็ทำทุกอย่างเหมือนปกติ เว้นแต่ว่าไม่ได้ส่องกล้อง ไม่ได้ส่องกล้อง เสร็จแล้วก็เย็บ แล้วก็ติดตามอาการ ปรากฏว่าให้ผลดีไม่ต่างจากคนไข้ที่มีการส่องกล้อง
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือว่า คนไข้ที่ได้รับการผ่าด้วยการส่องกล้อง จำนวนที่หรือสัดส่วนที่มีความรู้สึกว่าดี มันหายปวดไปเยอะเลย เข่าก็ดีขึ้น ตัวเลขไม่ได้มากไปกว่าคนไข้ที่ผ่าก็จริงแต่ไม่ได้ส่องกล้อง
มันก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า จริงๆ แล้วที่คนไข้รู้สึกดีขึ้น เป็นเพราะการรักษาด้วยเทคโนโลยีล้ำยุค หรือว่าเป็นเพราะจิตใจของคนไข้ที่รู้สึกว่า ได้รับการรักษาด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าการรักษาดีจริง ทำไมคนไข้ที่เขาไม่ได้รับการส่องกล้อง แต่เข้าใจว่ากำลังได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้จึงรู้สึกดีขึ้น แสดงว่าเป็นเรื่องของใจล้วนๆ หรือเรื่องของใจมากทีเดียว ความคิดความเข้าใจความคาดหวัง ก็มีผลต่อความรู้สึกทางกายของคนเรา
ฉะนั้นจึงบอกว่า ความเจ็บปวดไม่ได้เป็นเรื่องของกายล้วนๆ เป็นเรื่องของใจด้วย ถ้าใจดีใจสบาย มีความเชื่อมั่นในการรักษา มีความเข้าใจว่าได้รับการรักษาแล้ว จะรู้สึกดีขึ้น แต่ถ้าใจไม่ดีใจไม่สบาย เพราะ รู้สึกว่ายังไม่ได้รับการรักษา หรืออาจจะมีโรคหรืออาจจะมีปัญหาอื่นเข้ามา เช่น มีความโกรธ ความเกลียด ความวิตกกังวล พวกนี้จะทำให้ความเจ็บปวดรุนแรงมากขึ้น
อย่างที่โบราณเขาว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว นี่สำคัญนะ จิตเป็นนายจริงๆ ถ้าจิตรู้สึกว่าสบาย ได้รับการรักษา ใจก็คล้อยตามไปด้วย.