พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 21 มีนาคม 2566
ไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ ฟรีๆ อันนี้จะว่าไปก็เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่ง สำหรับการใช้ชีวิตในโลกนี้ มันไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ ฟรีๆ จริงๆ เลยนะ อะไรที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งของ เช่น อาหาร โทรศัพท์ รถยนต์ เสื้อผ้า อันนี้เดี๋ยวนี้จะได้มาก็ต้องจ่ายเงินหรือเสียเงิน แต่จริงๆ แล้วแม้จะได้มาเปล่าๆ ฟรีๆ มันก็ไม่ใช่ว่าฟรีจริง เพราะว่าเราอาจจะต้องเสียเวลากับมัน
คำว่าเปล่าๆ ฟรีๆ นี่มันไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องเสียเงินเสียทอง อาจจะเสียอย่างอื่น แถมยังเสียเวลา หรือว่าต้องเอาความเพียรเข้าแลก อาจต้องเจอความยากลำบาก ต้องยอมสละหรือเสียความสะดวกสบายไป อย่างเช่นความรู้ เราจะได้มาอย่างน้อยก็ต้องยอมเสียเวลา ในการอ่านตำรับตำราในการอ่านหนังสือ หรือในการฟังผู้รู้
แล้วยิ่งถ้าเป็นความรู้ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน หรือเป็นความรู้ใหม่ เป็นความรู้ชั้น 1 ไม่ใช่ความรู้แบบมือสอง second hand ความรู้ชั้น 2 แค่อ่านหนังสืออย่างเดียวก็ไม่พอ แค่เสียเวลาก็ยังไม่พอ อาจจะต้องมีอะไรหลายอย่าง เช่นเสียความสะดวกสบาย อาจจะต้องเจอความยากลำบาก
มีฝรั่งอเมริกันคนหนึ่ง แกชื่อจัสติน ชมิดท์ เป็นคนที่สนใจเรื่องแมลงมาก เรียกว่าเป็นนักกีฏวิทยา กีฏวิทยาคือศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องแมลง แล้วแมลงที่แกสนใจตั้งแต่เล็กจนแก่ ส่วนใหญ่เป็นแมลงที่มันมีพิษ สามารถต่อยได้ เช่น มด ผึ้ง ต่อ แตน แต่เขาก็ไม่กลัวว่ามันจะต่อย
ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว จะหาความรู้ที่เกี่ยวกับแมลงเหล่านี้ มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกต่อย เช่น อยากจะรู้ว่ามันมีพฤติกรรมอย่างไรในการหากิน ในการหาคู่ มันมีนิสัยใจคออย่างไร เขาก็สนใจแมลงเหล่านี้ อุตส่าห์ดั้นด้นไปศึกษาทำความรู้จักกับแมลงต่างๆ ไม่ใช่แค่ใกล้ๆ บ้านเกิด แต่ว่าเรียกว่าไปผจญภัยไปเสี่ยงอันตรายในป่าในเขาในถิ่นทุรกันดาร
ที่ไหนว่ามีแมลงแปลกๆ ที่ไม่เคยรู้จัก เขาก็ไป มดบางชนิดอยู่ในรู บางทีเขาก็ต้องแหย่มัน เอานิ้วเอามือแหย่หรือล้วงเข้าไป เพื่อจะได้ศึกษาพฤติกรรมของมัน แล้วทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของมัน แล้วความรู้ที่เขาได้มาเกี่ยวกับแมลงแต่ละชนิดนี่ มันไม่ใช่แค่ต้องยอมเสียสละความสะดวกสบาย ต้องไปตกระกำลำบากในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย แต่ยังต้องเจอกับการถูกแมลงเหล่านี้ต่อย
แล้วแมลงบางชนิดก็ต่อยหนักเสียด้วย แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ ยอมเจ็บเพื่อที่จะได้มีความรู้เกี่ยวกับแมลงเหล่านี้ เขาบอกเขาโดนแมลงชนิดต่างๆ ต่อยรวมแล้วเกือบ 150 ชนิด ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ที่ศึกษาอย่างจริงจัง แต่เขาก็ไม่ย่อท้อ ก็ทำให้เขาได้ความรู้มากมายเกี่ยวกับแมลงเหล่านี้แต่ละชนิดๆ เรียกว่าเกือบจะทั่วโลกเลยก็ว่าได้
แล้วเขาก็ได้ความรู้ว่า แมลงที่หากินแบบโดดๆ มันจะมีพิษหรือมีฤทธิ์จากการต่อย เบากว่าแมลงที่อยู่กันเป็นกลุ่มเป็นสังคมอย่างพวกผึ้ง ทำไมเป็นอย่างนั้น เขาก็บอกว่ามันเป็นเพราะแมลงที่มันอยู่กันเป็นก ลุ่มเป็นสังคม มันมีหมู่คณะมากมายที่ต้องปกป้องต้องรักษา ต้องช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นพิษของมันจึงต้องแรง แล้วแมลงที่อยู่เป็นกลุ่มก็มักจะเป็นที่หมายปองของศัตรูจำนวนมาก อาจจะเป็นหมี อาจจะเป็นลิงอะไรพวกนี้ เป็นที่หมายปองมากกว่า เพราะฉะนั้นจะปกป้องหมู่คณะหรือรังของมันได้ ก็ต้องมีพิษที่แรง ต่อยหนัก
แล้วเขายังพบอีกว่าความเจ็บป่วยจากการถูกต่อย หรือที่เกิดจากพิษของแมลงเหล่านี้ ความเจ็บปวดนี่ไม่เท่าไหร่ แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือพิษของมัน สัตว์บางชนิดต่อยหนัก เจ็บแต่ว่าพิษนี่ไม่เท่าไหร่ แมลงบางชนิดต่อยเจ็บไม่เท่าไหร่ แต่พิษนี่อาจจะถึงตายได้ เพราะมันทำให้ระบบประสาทของสัตว์ที่ถูกต่อยเป็นอัมพาต อาจจะถึงกับหยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้นไปเลย
ถามว่าเขารู้ได้อย่างไรว่าความเจ็บปวดไม่น่ากลัวเท่ากับพิษของมัน เขารู้จากประสบการณ์ของตัวเอง คือต้องยอมให้มันต่อย ยอมให้มันต่อยก็รู้ว่าบางชนิดนี่ต่อยหนัก แต่มันไม่เป็นอะไรเลย แต่บางชนิดต่อยไม่หนัก แต่ว่าอาการนี่ก็เพียบเลย ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เกิดจากประสบการณ์ของตัวเอง เป็นความรู้ชั้นหนึ่ง กว่าจะได้ความรู้มาเกี่ยวกับแมลงแต่ละชนิดๆ ก็ต้องยอมเจ็บ ไม่ใช่แค่ยอมลำบาก ยอมเสียเวลาอย่างเดียว
อันนี้ก็เรียกว่าเขาก็เป็นคนที่เสียสละคนหนึ่ง ความรู้ที่เขาได้พบ ซึ่งเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับมนุษยชาติ มันเป็นความรู้ที่เกิดจากการยอมเจ็บยอมปวด จะว่าไปก็เพราะเขารักความรู้ อยากจะแสวงหาความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อโลก โดยเฉพาะเกี่ยวกับแมลง ทำให้เขายอมเจ็บ อดทนต่อความเจ็บปวดได้
แต่สิ่งที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือว่า พอศึกษาไปหาความรู้มากขึ้นๆ ๆ เขาพบว่ามีอย่างหนึ่งที่คนเราน่าจะรู้ก็คือว่าแมลงแต่ละชนิดที่ต่อย มันสร้างความเจ็บปวดมากน้อยแค่ไหน เขาเลยเกิดความคิดขึ้นมา ทำดัชนี ความเจ็บปวดจากการถูกแมลงต่อย ดัชนีนี้ก็มีตั้งแต่ 0-4 เรียกว่าคะแนนก็แล้วกัน ระดับที่ต่อยหนักๆ แรงๆ ก็ให้ไปเลย 4 ถ้าต่อยเบาๆ อย่างเช่นมดแดงกัด อาจจะไม่ถึง 1 อาจจะแค่ 0.5 อาจจะ 0.2 ผึ้งนี่เขาให้ ไปเลย 2 คือกลางๆ
ถามว่าจะทำดัชนีนี้ได้อย่างไร ดัชนีให้คะแนนว่าแมลงแต่ละชนิด มันทำให้เจ็บปวดมากน้อยแค่ไหน ดัชนีนี้จะทำได้ก็ต้องให้แมลงพวกนี้มันต่อยเอา เขาก็มุ่งมั่นมากที่จะทำดัชนีที่ว่า แล้วสุดท้ายก็ทำสำเร็จ ดัชนีเกี่ยวกับความเจ็บปวดที่เกิดจากการถูกต่อยโดยแมลงเกือบ 80 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นมด ผึ้ง ต่อ แตน หรืออาจจะรวมถึงแมงมุมด้วย
แล้วดัชนีนี้เขาจะทำให้สำเร็จครบถ้วนได้ ต้องไปให้แมลงพวกนี้ต่อย เขาก็เลยแสวงหาดั้นด้นไปให้แมลงต่อย ทำให้มันต่อย จะได้รู้ว่าควรจะให้คะแนนเท่าไหร่ จากเดิมที่การถูกต่อยมันเป็นเรื่องจำเป็นที่หนีไม่พ้นถ้าจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับแมลง แล้วตอนหลังมันไม่ใช่เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้น เป็นเรื่องที่เขาแสวงหาหรือเข้าหาเลย คือหาเรื่องให้มันต่อย
แล้วไม่ใช่แค่รู้ว่าแมลงชนิดใดต่อยหนักแค่ไหนใน 0- 4 หรือว่า 0.5 เท่านั้น เขาอยากจะรู้ด้วยว่าความเจ็บปวดมันเป็นแบบไหน ปวดจี๊ดๆ หรือปวดร้อนๆ หรือว่าปวดแบบเหมือนกับไฟฟ้าช็อต เขาก็ต้องให้มันต่อย แล้วก็คอยสังเกตความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น และบันทึกเอาไว้ มันกลายเป็นวิชาการ ในเรื่องของการยอมให้แมลงนี้มันต่อย
ความเจ็บปวดมันกลายเป็นสิ่งที่เขาแสวงหา เพื่อจะได้มีความรู้ว่ามันปวดมากน้อยแค่ไหน แล้วมันมีอาการอย่างไร คนก็หาว่าเขาบ้าหรือเป็นพวกมาโซคิส ก็คือพวกที่ชอบทำร้ายตัวเองแล้วมีความสุข เขาบอกเขาไม่ใช่ เขาแค่อยากจะหาความรู้ หรือสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับแมลงต่างๆ ให้มากที่สุด
และองค์ความรู้อันหนึ่งที่มันเป็นประโยชน์ต่อโลก คือดัชนีความเจ็บปวดที่เกิดจากการถูกต่อย คนจะได้ระมัดระวังเวลาไปเกี่ยวข้องกับแมลงชนิดนี้ ถ้าคะแนนความปวดมันเป็น 4 ยิ่งต้องอยู่ห่างๆ อย่าไปเข้าใกล้มัน หรือว่าถ้าบางชนิดมันก็แค่ 0.5 หรือ 1 ก็ไปเกี่ยวข้องกับมันได้ เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติในสายตาของเขา เขาก็เลยไม่ใช่แค่ยอมเจ็บ หรืออดทนต่อความปวด แต่แสวงหาเลย ดั้นด้นไปให้มันต่อยแล้วก็ศึกษา
พวกเราที่โดนแมลงต่อย เราก็คงรู้ว่ามันเจ็บ แล้วเราคงอยากจะเลี่ยง แม้จะเป็นผึ้ง แม้จะเป็นต่อแตน แล้วพอโดนต่อยจะรู้สึกปวด ถามว่าเขาปวดเหมือนเราไหม จัสติน ชมิดท์นี่ เขาก็ปวดเหมือนเรา แต่เขาไม่ทุกข์เพราะมันปวดเท่าเรา แต่อาจจะไม่ทุกข์เท่าเรา เพราะอะไร เพราะเขาเห็นประโยชน์ของมัน
พอเขาเห็นว่าความปวดนี้ให้ความรู้กับเขา แล้วก็เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ เป็นประโยชน์ในทางวิชาการ เขาก็เลยไม่ทุกข์มาก ทั้งที่เขาก็ปวดเท่าเราหรือปวดมากกว่าเรา แต่ว่าเขาทุกข์น้อยกว่า สิ่งที่ทำให้เขาทุกข์น้อยกว่ามันคืออะไร คือการเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาทำ เห็นคุณค่าของความเจ็บปวด เห็นประโยชน์ของความปวดที่ได้รับ เพราะมันทำให้เขาได้ความรู้ แล้วก็นำไปถ่ายทอดให้เป็นประโยชน์กับผู้คน
มีคนจำนวนไม่น้อยที่เรียกว่าเสียสละ ยอมปวด ยอมเสี่ยงอันตราย ยอมเจ็บ เพราะอะไร เพราะเขารู้ว่ามันมีประโยชน์ เขาเป็นผู้ใฝ่รู้ อยากจะได้ความรู้ ก็เลยต้องยอมเสี่ยงอันตราย
อย่างที่เคยเล่า แพทย์หนุ่มชาวเยอรมันคนหนึ่งเมื่อ 100 ปีที่แล้ว สมัยนั้นความรู้เรื่องหัวใจเรามีน้อยมาก แต่เวอเนอร์ ฟอสมานน์ เขาสงสัยว่าคนเราสามารถจะเข้าถึงหัวใจได้ โดยที่ไม่ต้องผ่าอกได้ไหม เขาก็ ทดลองเอาสายสวนเสียบเข้าไปในเส้นเลือดที่แขน แล้วก็ดันไปเรื่อยๆ ดันไปเรื่อยๆ จนถึงไหล่ ถึงไหล่แล้วเขายังไม่พอใจ เขาดันไปอีกๆ ตามเส้นเลือด เพราะเส้นเลือดทุกเส้นส่วนใหญ่มันก็มีจุดหมายคือ หัวใจ เขาก็ดันสายสวนไปจนกระทั่งสุดท้ายมันไปกระทบหัวใจ
เขาดีใจมากเลย ที่พบความรู้ว่าเราสามารถจะเข้าถึงหัวใจได้ ผ่านเส้นเลือดที่แขนหรือที่ขาเขาก็รู้ต่อมาว่าอะไรที่มากระทบหัวใจ มันไม่ทำให้หัวใจหยุดเต้น
เสี่ยงอันตรายนะ เพราะไม่รู้เลยว่าเอาจริงๆ แล้วจะตายหรือเปล่า หัวใจจะหยุดเต้นไหม แต่อยากจะลอง อยากจะรู้ ไม่ใช่เพราะความอยากรู้อยากเห็น แต่ว่ามันเป็นเพราะความใฝ่รู้ เพราะมันเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์
คนเราพอรู้ว่าทำอะไรอยู่ แล้วทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจจะต้องเจ็บต้องปวด แต่ว่าความเจ็บปวดก็ไม่ได้ทำให้เกิดความทุกข์มาก เพราะว่าเห็นประโยชน์ของมัน ว่าทำให้ได้ความรู้อะไรบางอย่าง ความเจ็บปวดบางอย่างก็อาจจะเป็นผลข้างเคียงจากการแสวงหาความรู้ อย่างฟอสมานน์เขายอมเจ็บเพื่อที่จะรู้ว่าอะไรที่กระทบหัวใจ แล้วไม่ทำให้หัวใจหยุดเต้น
แต่บางอย่างมันเป็นความเจ็บปวดที่ตั้งใจที่จะเจอเลย เพื่อจะได้มีความรู้ว่าเจ็บป่วยนี่มันรุนแรงแค่ไหน เมื่อโดนแมลงต่อย แต่ละชนิดๆ แล้วมันมีผลต่อร่างกายอย่างไร มันมีลักษณะอย่างไร ร้อนหรือว่าปรี๊ด นี่ก็เป็นเรื่องของความใฝ่รู้ ที่ทำให้ยอมเจ็บยอมปวด หรือบางทีก็ถึงกับเข้าหาความเจ็บปวดเลย หรือจะเรียกว่ายอมทุกข์หรือเข้าหาความทุกข์ก็ได้
ที่จริงไม่ใช่เฉพาะเรื่องความรู้ในทางโลก ความรู้ในทางธรรม หรือความรู้ในสัจธรรม ถึงที่สุดแล้วมันก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเรียนรู้จากความทุกข์ หลวงพ่อกงมาท่านพูดไว้น่าสนใจ ท่านบอกไว้ว่า ถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ต้องเข้าหาทุกข์ ถ้ากลัวทุกข์ก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ได้ นี่มันเป็นสัจธรรมทีเดียว แล้วก็เป็นข้อคิดที่ดีมากสำหรับคนที่ปรารถนาการพ้นทุกข์
ชาวพุทธจำนวนมากที่มาสนใจธรรมะ ก็ล้วนแต่บอกว่าอยากพ้นทุกข์ๆ แต่พอเวลาเจอทุกข์เข้าจริงๆ ก็หนี เจอทุกข์เข้าจริงๆ ก็บ่นโวยวายตีโพยตีพาย ที่จริงมันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ถ้าอยากพ้นทุกข์ก็ต้องกล้าเขาหาทุกข์ เพราะว่าเราจะพ้นทุกข์ได้ เราต้องรู้จักทุกข์ แล้วเราจะรู้จักทุกข์ได้อย่างไร ถ้าเราไม่เจอทุกข์ด้วยตัวเอง
แล้วเมื่อเราเจอทุกข์ด้วยตัวเอง เราก็จะรู้ว่าที่ทุกข์มันเป็นเพราะความหลงเข้าไปยึดในตัวทุกข์ หรือพูดง่ายๆ คือว่ามันเข้าไปเป็นทุกข์ แต่ถ้าเจอทุกข์แล้วไม่เข้าไปเป็น แต่ว่ารู้เฉยๆ หรือว่าเห็นทุกข์แทน มันไม่ทุกข์นะ เจอทุกข์แต่ว่าไม่เป็นทุกข์ เพราะว่าเห็นทุกข์ หรือว่าเพราะรู้ทุกข์
อันนี้เรียกว่าเป็นความจริงอย่างหนึ่งที่จะรอฟังจากครูบาอาจารย์อย่างเดียวไม่พอ มันต้องเข้าไปเจอเองด้วย แล้วก็จะได้รู้ว่า เจอทุกข์แต่ไม่เป็นทุกข์ มันก็ทำได้ ถ้าหากว่ารู้ทุกข์หรือว่าเห็นทุกข์
ที่จริงพระพุทธเจ้าก็สอนอริยสัจข้อแรกคือทุกข์ เป็นสิ่งที่ควรรู้ หรือบางทีก็ใช้คำว่ากำหนดรู้ กำหนดรู้นี่บางทีก็แปลไปผิดๆ มันมาจากภาษาบาลีว่าปริญญา ปริญญาคือรู้ทั่วถึง ไม่ใช่ไปจ้องไปเพ่ง ถ้าเรารู้ทั่วถึง ด้วยปัญญา หรืออย่างน้อยรู้เห็นมันเพราะมีสติ เราก็จะพบว่ามันต่างจากการเป็นทุกข์ ที่ทุกข์กันทุกวันนี้ก็เพราะว่าเข้าไปเป็นทุกข์ มากกว่าที่จะรู้ทุกข์หรือเห็นทุกข์ แล้วความรู้แบบนี้มันเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากว่าไม่เจอทุกข์เสียเอง
ฉะนั้นถ้าอยากจะพ้นทุกข์ ก็ต้องพร้อมที่จะไปเจอทุกข์ หลายคนทั้งๆ ที่บอกว่าอยากจะพ้นทุกข์ๆ แต่พอเจออะไรที่ไม่ถูกใจก็โวยวายตีโพยตีพาย หรือพยายามหนีสิ่งที่ไม่ถูกใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้คน การกระทำหรือคำพูดบางอย่าง หรือว่าเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจ พยายามหนีพยายามเลี่ยง
เวลาทำบุญก็ตั้งจิตว่าขออย่าได้เจอสิ่งเหล่านี้ อย่าได้เจอทุกข์ อย่าได้เจอความสูญเสีย อย่าได้เจอความพลัดพราก อย่าได้เจอความล้มเหลว คำถามคือว่าถ้าไม่เจอแล้วมันจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร จะพ้นทุกข์ได้มันต้องเจอสิ่งเหล่านี้ แล้วก็เรียนรู้ที่จะยกจิตให้พ้น ไม่ถูกมันครอบงำ หรือว่าสามารถที่จะเห็นมัน เห็นทุกข์ รู้ทุกข์ แต่ว่าไม่เป็นทุกข์
ถ้าเราคิดแต่จะหนีทุกข์ ไปที่ไหนก็อยากจะอยู่ที่ที่มันสบาย แล้วก็บอกว่าอยากพ้นทุกข์ๆ แต่ว่าคิดแต่จะไปหาที่สบาย ที่ไหนที่เจอคนไม่ถูกใจ เจอเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจ ก็เอาแต่จะหนีหรือว่าผลักไส อันนี้มันก็ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์ได้ เพราะว่าไม่ยอมที่จะเรียนรู้จากทุกข์
ที่จริงเวลาที่อยู่สุขสบาย ผู้ที่ใฝ่การพ้นทุกข์ท่านก็จะเดินหน้าไปแสวงหาทุกข์เลย อยู่วัดสบายก็ออกไปธุดงค์ ไปเจอกับสัตว์ร้าย หรือไม่ก็ไปเจอกับความทุกข์ยากลำบาก แต่เราไม่ต้องออกไปเข้าป่าก็ได้ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าทุกข์มันก็มาหาเราอยู่แล้ว สิ่งสำคัญก็คือว่าเมื่อมันเกิดขึ้น หรือว่ามันมาถึงเรา เราก็อย่าเอาแต่บ่นโวยวายตีโพยตีพายหรือผลักไส แต่เรียนรู้ที่จะศึกษามัน แล้วใช้มันให้เป็นประโยชน์ในการฝึกตนให้รู้ทุกข์ เห็นทุกข์ ถ้าหากอยู่สุขสบายมากไป บางทีก็ต้องเข้าหาทุกข์ อันนี้เป็นวิสัยของชาวพุทธ
ธรรมยาตรา เคยมีปีหนึ่ง มีคำขวัญว่า ศิษย์มีครู กล้าสู้ทุกข์ เป็นคำขวัญที่มีขึ้นในปีที่หลวงพ่อคำเขียนท่านมรณภาพ ศิษย์มีครู ครูที่ว่านี้ไม่ใช่แค่หลวงพ่อคำเขียน หรือหลวงพ่อเทียน แต่รวมไปถึงพระพุทธเจ้าด้วย ถ้าเรานับถือพระพุทธเจ้าเป็นครู ก็ต้องกล้าสู้ทุกข์ ไม่ใช่คอยแต่จะหลบทุกข์ หรือหาแต่ความสะดวกสบาย เข้าหาแต่สิ่งที่ถูกใจ หนีสิ่งที่ไม่ถูกใจ เจอสิ่งที่ไม่ถูกใจก็โวยวายตีโพยตีพาย คร่ำครวญ อันนั้นไม่ใช่วิสัยของศิษย์มีครู หรือไม่ใช่วิสัยของผู้ที่ต้องการพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
ถ้าจะพ้นทุกข์อย่างแท้จริงก็อย่างที่หลวงพ่อกงมาบอก ก็ต้องกล้าเข้าหาทุกข์ เพราะถ้ากลัวทุกข์ก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ได้ และสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เราอยู่กับทุกข์ได้ หรือเผชิญกับความทุกข์ได้ ก็คือเห็นว่ามันมีประโยชน์ เจ็บป่วยก็มีประโยชน์ มันทำให้เราได้เห็นอนิจจังของสังขาร อย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านพูดเสมอว่า ความเจ็บป่วยมันสอนให้เราฉลาด ฉลาดในเรื่องของสังขาร ให้เห็นว่าสังขารนี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน นี่เป็นความรู้ที่ชาวพุทธเราควรจะเข้าถึง
ที่จริงชาวพุทธก็เหมือนนักวิทยาศาสตร์ คือเป็นผู้ใฝ่รู้ แต่ไม่ใช่รู้ทางโลก ใฝ่รู้ในทางธรรม ซึ่งก็ต้องพร้อมที่จะเจอทุกข์ เพราะทุกข์เท่านั้นแหละที่สามารถจะทำให้เรามีความรู้ในทางธรรมได้อย่างแท้จริง จนถึงขั้นพ้นทุกข์ได้
เพราะเหตุนี้หลวงพ่อคำเขียนท่านจึงพูดแล้วเขียนในช่วงท้ายๆ ชีวิตว่า เห็นทุกข์ก็พ้นทุกข์ จะเห็นทุกข์ได้ต้องเจอทุกข์เสียก่อน ถ้าเอาแต่หลบหรือหนีทุกข์ มันจะเห็นทุกข์อย่างได้ และถ้าไม่เห็นทุกข์ ไม่รู้ทุกข์ มันจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร.