พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 22 มีนาคม 2566
เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว มีรายงานชิ้นหนึ่งออกมา ก็น่าสนใจ เป็นรายงานที่ชื่อว่า ความสุขของประชากรโลก เขาไปสอบถามความเห็นของคนทั่วโลก 138 ประเทศ เกือบแสนคน เฉลี่ยแล้วประเทศหนึ่ง 800 คนได้โดยเฉลี่ย ถามคนทุกเพศทุกวัย ทุกฐานะทางเศรษฐกิจ
แล้วได้ข้อสรุปอันหนึ่งที่น่าสนใจ แล้วก็อาจจะเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอยู่บ้าง เขาบอกว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ความสุขของคนทั้งโลกไม่ได้ลดลงไป เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านั้น คือรายงานนี้เขาทำทุก 3 ปี แล้วเขาพบว่า ช่วงที่เกิดโควิดแพร่ระบาดตลอด 3 ปี คนทั้งโลกโดยภาพรวมแล้ว มีความสุขพอๆ กับ 3 ปีก่อนหน้านั้น คือช่วงที่ยังไม่เกิดโควิด
มันน่าแปลกนะ เพราะว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีโควิดแพร่ระบาดทั่วโลก ชีวิตเปลี่ยนไปมาก คนล้มตายไปก็ไม่น้อย ที่เจ็บป่วยก็เยอะ แล้วก็ที่ทำมาหากินฝืดเคืองก็มากมาย แต่ทำไมคนถึงรู้สึกว่า มีความสุขในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ พอๆ กับช่วงที่ก่อนที่จะเกิดโควิด เขาพบว่า จริงอยู่มันก็มีความทุกข์เพิ่มขึ้นในบางด้าน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีความสุขบางอย่างที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน พอหักกลบลบหนี้แล้วก็ เอาเป็นว่า เลยไม่ต่างจากช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ คือช่วงที่ยังไม่เกิดโควิด
ความสุขอะไรที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดโควิดนี่ เขาบอกว่า ความสุขที่เกิดจาก หนึ่ง การที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ผู้คนได้ช่วยเหลือกันมากมายทีเดียว โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้า เช่น บริจาคเงิน หรือว่าไปเป็นจิตอาสา หรือว่าช่วยเหลือคนที่ไม่รู้จัก ที่กำลังเจ็บป่วยอยู่ แล้วเขาพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในลักษณะนี้ มีมากกว่าช่วงก่อนที่จะเกิดโควิดซะอีก
แล้วนอกจากการช่วยเหลือกันแล้ว เขาพบว่า ผู้คนเขาตระหนักว่า เขามีคนที่เขาพอจะพึ่งพาอาศัยได้ ช่วงที่เกิดความยากลำบาก เกิดโรคระบาด มีการล็อคดาวน์ คนตกงาน อันนี้ก็สร้างความทุกข์ให้กับผู้คน แต่คนก็รู้สึกดีขึ้นเมื่อเชื่อว่ามีคนที่ตนเองพึ่งพาอาศัยได้ 80% ของคนที่เข้าไปสอบถามเขาบอกว่า รู้ว่าจะมีคนที่จะให้ความช่วยเหลือได้ หรือว่าให้กำลังใจ ก็ทำให้ความทุกข์ลดลงไป รู้สึกมีกำลังใจขึ้นมา
และประการที่สามคือว่า ในช่วงโควิดนี่ ผู้คนหันมาสนใจคนที่อยู่ใกล้เคียง หันมาสนใจเพื่อนบ้าน จากเดิมที่เอาแต่ทำมาหากิน หรือว่าเก็บตัว ช่วงที่ล็อกดาวน์ต้องทำงานที่บ้าน หลายคนก็หันมาใส่ใจกับเพื่อนเก่าๆ รวมทั้งเพื่อนที่อยู่รอบตัว คงเพราะมีเวลาว่างเยอะ ก็เลยมีการติดต่อพูดคุยกับญาติ กับมิตร กับเพื่อนร่วมงาน กับเพื่อนบ้าน เรียกว่ามีการสร้างหรือฟื้นฟูสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น ก็เลยทำให้คนมีความสุข ทั้งๆ ที่โรคก็แพร่ระบาดเยอะ ทั้งๆ ที่การทำงานก็ยากลำบาก
แล้วเขาพบว่า คนที่มีอายุมาก โดยเฉลี่ยแล้วจะมีความสุขในช่วงโควิด มากกว่าคนที่อายุยังไม่มาก อายุมากก็หมายถึงว่าตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป คงเป็นเพราะว่าได้มีโอกาสกระชับความสัมพันธ์ ได้รู้จักผู้คน หรือว่าได้ติดต่อคนต่างๆ ที่เคยรู้จัก เพื่อนที่เคยเรียนด้วยกัน ก่อนหน้านี้ไม่สนใจเพราะว่าเอาแต่ทำงาน แต่พอทำงานไม่ค่อยได้ ต้องทำงานที่บ้าน ก็เลยหันมาให้ความสำคัญกับกับญาติสนิทมิตรสหาย คนที่เคยรู้จัก สิ่งนี้ก็เป็นตัวเพิ่มความสุขให้กับผู้คนได้
เคยพูดไปแล้วว่า ความสัมพันธ์ที่กระชับแน่น ไม่ว่าในครอบครัว ในชุมชน ช่วยทำให้คนเรามีอายุยืน เพราะว่ามันทำให้มีความสุข ทำให้มีความรู้สึกอบอุ่น อันนี้ก็เลยเป็นเหตุผลหรือสาเหตุ ที่ทำให้ผู้คนทั้งโลกในภาพรวมเขารู้สึกว่ามีความสุขพอๆ กับช่วงที่ยังไม่เกิดโควิด
ทั้งๆ ที่ช่วงที่เกิดโควิดเราเรียกว่าเกิดวิกฤตเลย เเต่ว่าเป็นวิกฤตบางด้าน วิกฤตด้านสุขภาพ วิกฤตด้านเศรษฐกิจ แต่ว่าบางเรื่อง เป็นโอกาสที่ทำให้คนเราได้พบกับที่มาแห่งความสุข ที่เราอาจจะมองข้ามไป นั่นคือ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งผู้รับและผู้ให้ แล้วการที่ได้มีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น
แล้วเขาก็ยังพบว่า เวลาที่ให้แต่ละคนพูดถึงความรู้สึกทางลบหรือทางบวกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่จะให้ความรู้สึกหรือบอกความรู้สึกที่เป็นบวกมากกว่า เช่น หัวเราะมากขึ้น แล้วก็มีความกระตือรือร้น มีความสนุกสนาน คะแนนตรงนี้มากเป็น 2 เท่า ของความรู้สึกในทางลบ
ความรู้สึกในทางลบคือ ความวิตกกังวล ความเศร้า ความโกรธ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก็มีความรู้สึกแบบนี้เยอะ เศร้า โกรธ วิตก แต่ว่าความรู้สึกทางบวกมีมากกว่าเป็น 2 เท่าในภาพรวมในภาพเฉลี่ย ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลก
แต่ที่คนมีความรู้สึกแบบนี้ได้ก็เพราะว่า ได้ทำความดี ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แล้วก็ได้กระชับความสัมพันธ์ ได้กลับมาพูดคุย ให้เวลากับคนในครอบครัว คนใกล้ตัว เพื่อนบ้าน อันนี้ก็เป็นข้อสรุปที่น่าสนใจมาก
รายงานชิ้นนี้มันน่าสนใจตรงที่ว่า เขาวัดความสุขประชากรโลกทุก 3 ปี แล้วก็อาศัยตัวชี้วัดที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจ แต่รวมถึงเรื่องสุขภาพอนามัย เรื่องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สายสัมพันธ์ทางสังคม แล้วก็การมีสิทธิเสรีภาพ ว่ามีมากน้อยเพียงใด
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าสุขภาพอาจจะไม่ค่อยดี เศรษฐกิจอาจจะตกสะเก็ด แต่ว่ามีคะแนนจากส่วนอื่นมาช่วยด้วย โดยเฉพาะเรื่องสายสัมพันธ์ทางสังคม แล้วการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อันนี้ก็เป็นข้อคิดที่ดีว่า คน เราแม้ว่าจะเกิดวิกฤตอย่างไง แต่ว่าถ้าช่วยเหลือกัน ไม่ทิ้งกัน ทุกคนรู้สึกว่ามีคนที่จะพึ่งพาอาศัยได้ ก็ทำให้พอที่จะมีความหวัง มีกำลังใจ
รายงานชิ้นนี้เขายังมีการจัดอันดับความสุขของประเทศต่างๆ ประเทศที่มีความสุขมากที่สุดก็อย่างที่รู้กัน ฟินแลนด์ ติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ถามว่าเมืองไทยอยู่ในอันดับไหน เท่าที่จำได้ก็อันดับที่ 58 ครึ่งๆ ค่าคะแนนความสุขก็ประมาณ 5 เศษๆ คือความสุขมีคะแนนตั้งแต่ 1-10 ฟินแลนด์ได้ 7 กว่าๆ สุขมากที่สุด ส่วนของไทยเราก็ 5 กว่าๆ อันดับที่ 58 ถ้าจำไม่ผิด นี่เป็นข้อมูลที่น่าจะมีประโยชน์สำหรับพวกเรา.