พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 23 มีนาคม 2566
มีโยมคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่าเธอรู้สึกเหนื่อยล้ามาก เพราะว่าพยายามทำตัวให้ถูกต้อง พยายามทำตัวให้ถูกใจผู้คนที่เกี่ยวข้อง อยากจะให้คนอื่นเขาพอใจหรือว่าโปรดปราน แต่พอทำไปๆ ถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่า ยิ่งทำก็ยิ่งทุกข์ เพราะว่าทำให้คนอื่นถูกอกถูกใจก็จริง แต่ว่ากลับเมินเฉยความต้องการของตัวเอง
พูดง่ายๆ คือว่าทำให้คนอื่นมีความสุข แต่ตัวเองนี่กลับทุกข์ แล้วก็เลยเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้า แล้วก็เลยถามขึ้นมาว่า ทำไมชีวิตฉันจึงพยายามอยากให้คนอื่นรักฉันหรือว่าชอบฉัน ทำไมถึงมีความรู้สึกอย่างนั้น
อาตมาก็เลยตอบไปว่า ลึกๆ นี่ เราก็กลัวคนอื่นเกลียด กลัวคนอื่นไม่ชอบ กลัวใครต่อใครไม่พอใจในตัวเรา ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าลึกๆ ก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของตัวเองเท่าไหร่ ไม่ได้เห็นว่าตัวเองมีคุณค่า มีความสำคัญ ก็เลยอยากจะให้คนอื่นมาช่วยยืนยันว่าเราเป็นคนดี เป็นคนมีคุณค่า
คนเราถ้าหากว่าเห็นคุณค่าของตัวเอง รู้สึกภูมิใจในตัวเอง มั่นใจในความดีหรือคุณค่าของตัวเอง ก็จะไม่เรียกร้อง ไม่ปรารถนาให้ใครมาช่วยยืนยัน ว่ามีคุณค่า ว่ามีความสำคัญ
แต่พอไม่เห็นว่าตัวเองมีตรงนี้ ก็เลยต้องการให้คนอื่นมาช่วยยืนยันค้ำยัน ว่าเธอเป็นคนสำคัญ เธอเป็นคนมีคุณค่า และวิธีที่จะทำให้คนอื่นเขายืนยัน ว่าเรามีคุณค่า เรามีความสำคัญ ก็คือว่าทำให้เขารัก ทำให้ เขาพอใจ ซึ่งถ้าหากว่ามีแค่คนสองคนก็ไม่เท่าไหร่ แต่พอปรารถนาการยืนยันค้ำยันของผู้คนทั้งหลาย โดยเฉพาะเพื่อนฝูงมิตรสหาย มันก็ต้องเกิดความเหนื่อยล้าเป็นธรรมดา เพราะว่าผู้คนต่างๆ นั้นก็มี ความชอบ มีความพอใจไม่เหมือนกัน มีนิสัยใจคอแตกต่างกัน มีรสนิยมแตกต่างกัน ยังไม่ต้องพูดถึงความคิดความเห็น
ฉะนั้นถ้าหากว่าต้องการทำให้คนอื่นเขาโปรดปราน ทำให้เขาพอใจในตัวเรา ด้วยการทำให้ถูกใจเขา มันก็เป็นเรื่องยากมาก นอกจากจะต้องเหนื่อยที่จะต้องทำให้คนอื่นถูกใจ แล้วพอพบว่าบางอย่างเราทำแล้ว อาจจะถูกใจบางคน แต่บางคนไม่ถูกใจ มันก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา คนที่ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง หรือว่าไม่มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง ก็จะต้องคอยแสวงหาการยอมรับจากผู้คนมากมาย และวิธีที่จะทำให้คน ยอมรับก็คือ ทำให้เขาพอใจ ทำให้เขาถูกใจ หรือทำตัวให้เป็นที่น่ารัก เป็นที่รักในสายตาของเขา
ซึ่งบ่อยครั้งก็ลืมความต้องการของตัวเองไป เช่น เวลาไปเที่ยวที่ไหนกับเพื่อนๆ ก็ไม่เคยบอกความต้องการของตัวเองเลยว่าอยากจะไปเที่ยวที่ไหน ตรงไหนที่ดี เพื่อนถามก็บอกว่าแล้วแต่เพื่อน ไปกินอะไรกับเพื่อนๆ ก็ไม่เคยบอกว่าตัวเองอยากกินอะไร เพื่อนถามก็บอกว่าแล้วแต่เพื่อน
สุดท้ายก็ได้ไปเที่ยวในที่ที่ตัวเองก็ไม่ชอบ หรือว่ากินของที่ไม่ได้ถูกใจตัวเองหรือถูกปากตัวเองเท่าไหร่ อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่ปรารถนาการยืนยันค้ำยันจากผู้อื่น ว่าตัวเองมีคุณค่า แล้วสุดท้ายก็อดไม่ได้ที่จะต้องเกิดความรู้สึกแคร์สายตาของคนอื่น ว่าเขาจะมองเราอย่างไร จะไวมากเลยต่อความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของคนอื่น ทำอะไรแล้วคนอื่นเขาไม่พอใจ ก็จะรู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกลังเลใจ เพราะว่าปรารถนาจะให้คนอื่นเขาโปรดปราน
ซึ่งอีกความหมายหนึ่งคือกลัวเขาไม่ชอบ กลัวเขาเกลียด ทั้งๆ ที่การที่เราเป็นตัวของตัวเอง อยากจะไปเที่ยวที่ไหน อยากจะกินอะไร มันก็ไม่ได้ทำให้คนอื่นเขารังเกียจเดียดฉันท์อะไรเราเลย แต่เป็นเพราะ ต้องการตามใจผู้คนไปทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ และตามใจทุกคนด้วย มันก็เลยเหนื่อย ไม่ใช่เหนื่อยเพราะตามใจอย่างเดียว แต่เหนื่อยเพราะว่าลืมความปรารถนาของตัวเอง ตามใจคนอื่น แต่ว่าไม่เคยตามใจตัวเอง แม้ในเรื่องเล็กน้อย มันก็เลยทุกข์
รากเหง้าของความทุกข์ที่ว่านี้ ก็คือการที่ตัวเองไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ไม่มีความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เพราะอะไร ก็เพราะว่าชอบมองเห็นแต่ข้อผิดพลาดของตัวเอง มองเห็นแต่ข้อตำหนิของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือว่าเรื่องที่ดูเหมือนสลักสำคัญ คนประเภทนี้ที่จริงก็มีคุณงามความดีไม่ใช่น้อย แล้วก็มีความสามารถ มีจุดแข็งมากมาย แต่มองไม่เห็น เห็นแต่จุดอ่อน เห็นแต่ข้อตำหนิ เห็นแต่ข้อผิดพลาด ก็เลยรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีคุณค่า
แต่ว่าปุถุชนก็มีสิ่งหนึ่ง ที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าอัตตา พอมีอัตตาหรือความรู้สึกตัวกูขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับทุกคน มันก็ทนไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าตัวกูไม่มีคุณค่า ฉะนั้นจึงต้องพยายามที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวกูนี้มีคุณค่าขึ้นมา มีความสำคัญขึ้นมา
วิธีการหนึ่งก็คือการทำให้ใครต่อใครมาชื่นชมยินดีในตัวฉัน เห็นคุณค่าของตัวฉัน ก็เลยมีอาการที่เรียกว่าแคร์สายตาของคนอื่น อยากจะทำอะไรก็ตามที่ทำให้เขาโปรดปราน ให้เขายินดี ให้เขาชื่นชม ให้เขารัก เพราะคิดว่าด้วยวิธีการอย่างนี้เท่านั้น ที่มันจะทำไปเติมเต็มความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญ ทำให้อีโก้หรือว่าอัตตาได้รับการตอบสนอง ว่าฉันมีคุณค่า
แต่ก็อย่างที่พูด การทำแบบนี้มันก็ทำให้สุดท้ายตัวเองก็เหนื่อยล้า เพราะได้แต่ตามใจคนอื่นไปทุกเรื่อง แต่ว่าลืมสิ่งที่เป็นความสุขของตัวเอง ฉะนั้นถ้าเกิดว่าตราบใดที่ยังมองเห็นแต่ข้อผิดพลาดของตัวเอง เห็นแต่ข้อตำหนิ มันก็คงจะหาความสุขได้ยาก
ถามว่าจะทำอย่างไรถึงจะไม่กลัวคนเกลียด ทำอย่างไรถึงจะไม่แสวงหาความชื่นชมสรรเสริญของผู้คน หรือทำอย่างไรจะไม่แคร์สายตาคนอื่นมาก …ต้องรู้จักมองตัวเองในทางบวกบ้าง หลายคนก็เป็นคนดี เป็นคนที่มีน้ำใจ แต่ว่าไม่เห็นความดีของตัวเลย เพราะว่าชอบมองลบนั่นเอง แต่ถ้าเกิดว่าเริ่มรู้จักมองบวกว่าตัวเองนั้นมีคุณค่าอย่างไร มีสิ่งดีๆ อย่างไร มันก็จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองขึ้นมา เกิดความรู้สึกมั่นใจในคุณค่าของตัวเอง หรือมั่นใจภูมิใจในตัวเอง
ซึ่งอันนี้มันเป็นก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการอยู่แล้ว อัตตาตัวตนมันก็ปรารถนาสิ่งนี้อยู่แล้ว แต่เราไม่ต้องไปให้ใครมายืนยัน เราสามารถที่จะเกิดความรู้สึกภูมิใจในตัวเองได้ โดยเฉพาะถ้าหากว่าเป็นคนที่ ทำความดีมีน้ำอกน้ำใจอยู่แล้ว มันก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม นอกจากการที่จะเห็นความดีของตัวเอง เริ่มรู้จักมองบวกบ้าง พอเห็นคุณค่าเห็นความดีของตัวเอง มีความมั่งใจแล้ว การที่จะไปรอคอยคาดหวังคำยืนยันจากคนอื่น มันก็น้อยลง
คนเราก็มีวิธีการที่จะแสวงหาการยอมรับจากคนรอบข้างหลายวิธีด้วยกัน นอกจากการทำให้คนอื่นถูกใจ หรือการทำให้ตัวเองเป็นที่พอใจของผู้คนแล้ว วิธีหนึ่งที่หลายคนนิยมใช้ก็คือการสร้างภาพ อาจจะ สร้างภาพด้วยการใช้ของหรือสินค้าแบรนด์เนม เดี๋ยวนี้สินค้าแบรนด์เนมเป็นที่ปรารถนาของผู้คนมาก เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างภาพตัวตนให้ดูดี โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ขอให้มีเงินก็แล้ว กัน ใช้ของราคาแพงหลายแสน หรือบางทีเป็นล้าน ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าสะพาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า หรือว่านาฬิกา อะไรก็ตามที่มันแสดงปรากฏต่อคนภายนอก ที่ทำให้คนอื่นเขามองแล้วว่าเราดูดี อันนี้ เป็นวิธีการที่เติมเต็มความรู้สึกว่าฉันมีคุณค่าขึ้นมา
แต่สำหรับคนที่เขาเห็นคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว เพราะว่าเชื่อมั่นในความดีของตัว หรือว่าเห็นว่าตัวเองมีความสามารถอยู่แล้ว เขาจะไม่มีความกระตือรือร้นที่จะไปสร้างภาพด้วยวิธีนี้เลย เพราะว่าพอมีอะไรเป็นแก่นสารอยู่ภายในแล้ว มันไม่จำเป็นต้องไปสร้างภาพด้วยสินค้าแบรนด์เนม หรือว่าด้วยรูปร่างหน้าตา รูปลักษณ์ หรือว่าด้วยสิ่งที่เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ฉาบฉวย เช่น รถเบนซ์ หรือยศศักดิ์อัครฐาน พวกนี้มันเป็นเปลือก ซึ่งมันจะมีความหมายก็เฉพาะสำหรับคนที่ข้างในนี้กลวง ไม่มีคุณค่า หรือไม่รู้สึกเห็นคุณค่าของตัวเอง แต่ถ้าข้างในมีความมั่นอกมั่นใจในความดี ในความสามารถแล้ว มันก็ไม่ต้องการสิ่งภายนอกที่จะมาสร้างภาพตัวตนให้ดูดี
แต่บางคนก็ใช้วิธีอื่น อย่างที่โยมคนนี้แกทำก็คือ การทำอะไรให้ถูกใจผู้คนรอบข้างไปหมด ไม่ว่าจะเป็นคนในบ้าน หรือเพื่อนร่วมงาน สุดท้ายก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะว่าทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะถูกใจคนได้หมด มันก็ต้องมีบ้างที่ไม่พอใจเรา หรือว่าไม่ได้โปรดปรานเรา และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ละเลยความต้องการของตัวเองไป บริการทุกคน แต่ว่าลืมที่จะดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเอง
ฉะนั้นถ้าเกิดว่าหันมาเห็นคุณค่าของตัวเอง ด้วยการรู้จักมองตัวเองในทางบวกบ้าง รวมทั้งฟังเสียงภายในของตัวด้วย บางทีมันมีเสียงภายในดังออกมาว่า อยากจะพักผ่อน อยากจะเป็นตัวของตัวเองบ้าง อยากจะมีชีวิตของตัวเองบ้าง ไม่ใช่ว่าใช้ชีวิตตามแบบคนอื่น หรือว่าใช้ชีวิตสุดแท้แต่คนอื่นจะบงการอย่างไรก็ได้
แล้วคนที่เอาแต่ตามใจคนอื่น มันจะมีเสียงเรียกร้องภายในว่าไม่ไหวแล้วๆ ฉันอยากจะเป็นตัวของตัวเองบ้าง ฉันอยากจะมีชีวิตของตัวเองบ้าง แล้วถ้าเกิดฟังเสียงเรียกร้องแบบนี้ ก็จะทำให้เกิดได้คิดขึ้นมา แล้วก็รู้จักที่จะทำตามความปรารถนาส่วนลึกของตัวเอง
แต่ก่อนคนที่มีปัญหาแบบนี้ ก็มักเป็นเพราะว่าถูกพ่อแม่บงการชีวิตมากเกินไป พ่อแม่กำหนดว่าจะเรียนที่ไหน มีอาชีพอะไร มีใครเป็นคู่ครอง ทั้งที่ตัวเองก็ไม่อยากเรียนหมอ แต่ว่าพ่อแม่ก็ขีดเส้นชีวิตให้แล้ว อยากให้พ่อแม่รัก อยากให้พ่อแม่โปรดปราน เป็นที่รักของพ่อแม่ ก็ทำตาม สุดท้ายเรียนก็เรียนได้ แต่ว่ามันทุกข์ทรมานมาก เพราะไม่ใช่วิชาที่ตัวเองชอบ จะเลือกเรียนแบบที่ตัวเองต้องการ ก็กลัวพ่อแม่ไม่รัก กลัวพ่อแม่ผิดหวัง แล้วสุดท้ายก็มีชีวิตที่ไม่เคยให้ความสุขความพึงพอใจแก่ตัวเองอย่างแท้จริง แม้เป็นหมอก็เป็นหมอด้วยความเครียด แม้จะเป็นที่นับหน้าถือตาของผู้คน สมปรารถนาของพ่อแม่ แต่ว่าลึกๆ เจ้าตัวก็ไม่มีความสุข
แต่บางคนก็ยังสามารถที่จะไหวตัวทัน มีบางคนเรียนหมอนะ แล้วก็เรียนได้ดี แต่ในใจจริงไม่ชอบหมอหรอก แต่ว่าเรียนเพราะตามใจพ่อแม่ แต่พอเรียนจบแล้ว เป็นหมอใช้ทุนได้จนหมดภาระแล้ว ก็หันไป เป็นช่างกล้องอาชีพ บอกว่าที่เป็นหมอนี่เพื่อตามใจพ่อแม่ ตอนนี้จะขอตามใจตัวเองแล้ว คืออยากจะเป็นช่างกล้องอิสระ ช่างกล้องอาชีพ แล้วแกก็มีความสุขนะ ทั้งที่เงินทองก็ไม่ได้มากอะไร แต่ว่าพอทำไปๆ ก็มีชื่อเสียงตามมาเอง เพราะว่าทำด้วยใจรัก
อันนี้ก็เป็นเรื่องของคนที่แม้ว่าทีแรกจะใช้ชีวิตตามแบบของพ่อของแม่ แต่ว่าสุดท้ายก็เลือกที่จะมาใช้ชีวิตของตัวเอง แต่ว่าก็มีจำนวนไม่น้อยนะ ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตตามแบบของพ่อแม่ แต่ใช้ชีวิตตามแบบของเพื่อนๆ สุดแท้แต่ว่าใครเขาจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของตัวเอง แต่ถ้าเกิดว่าเราเริ่มรู้จักฟังเสียงของตัวเอง แล้วเราก็กล้าที่จะบอกได้ว่าเราต้องการอะไร ยิ่งถ้าเกิดเห็นคุณค่าของตัวเอง เพราะว่ารู้จักมองบวก การที่จะเลือกตัดสินใจใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง มันก็เป็นไปได้
แล้วคนเราไม่ว่าจะใช้ชีวิตแบบไหน แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม เรียนเก่ง ได้เกรด 4 ได้เหรียญทอง แต่ว่าไปทำเกษตรไปปลูกผัก อันนี้ก็อาจจะดูเหมือนต่ำต้อยนะ แต่ว่าทำแล้วมีความสุข แล้วในที่สุดถ้าทำจริง มันก็ประสบความสำเร็จได้ สำหรับคนที่จะกล้าทำแบบนี้ได้ เขาต้องกล้านะ กล้าที่จะทวนกระแสสังคม แล้วก็กล้าที่จะทวนกระแสความต้องการหรือความคาดหวังของพ่อแม่ หรือแม้กระทั่งเพื่อนฝูงมิตรสหาย
คนอย่างนี้ก็ต้องเห็นคุณค่าของตัวเองจริง แล้วเชื่อมั่นในตัวเอง แต่ถ้ายังไม่เชื่อมั่นในตัวเอง คอยให้ลู่ตามลม แคร์สายตาคนอื่นผู้คน ตั้งแต่พ่อแม่จนถึงเพื่อนฝูงมิตรสหาย อันนี้มันต้องเริ่มต้นจากการที่จะ ต้องเห็นคุณค่าของตัวเองเสียก่อน เกิดความภูมิใจในตัวเองเสียก่อน แล้วการที่จะเลือกใช้ชีวิตของตัวเองก็จะเป็นไปได้
และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องตระหนักถึงความจริงว่า ในโลกนี้มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกคนจะชอบเราหมด จะโปรดปรานเราทุกคน ถ้าใครที่ปรารถนาให้ทุกคนรักเรา อันนั้นเรียกว่าไม่เข้าใจความจริง ของโลก มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าในโลกนี้มันต้องมีบางคนที่ไม่เข้าใจเรา มีบางคนที่ไม่ได้ชอบเรา อาจจะชังเราเสียด้วยซ้ำ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกคนจะรักเราหมด
คนที่ปรารถนาจะทำตัวเป็นที่รักของทุกคนหรือคนทั้งโลก จะไม่มีทางสมหวัง และจะไม่มีทางมีความสุขเลย แต่ถ้ายอมรับเสียตั้งแต่ต้น มันย่อมมีคนบางคนที่ไม่เข้าใจเรา ไม่ว่าเราจะทำถูกทำดีแค่ไหน ก็มี บางคนที่อาจจะถึงขั้นเกลียดเราด้วยซ้ำ ที่จริงอย่าว่าแต่อะไรเลยนะ บุรุษที่ประเสริฐสุดอย่างพระพุทธเจ้า ก็ยังมีศัตรูมากมาย ยังมีคนที่ไม่ใช่แค่นินทาว่าร้าย แต่ถึงกับใส่ร้าย แล้วก็มุ่งร้ายเอาชีวิตเลยทีเดียว
ฉะนั้นการอยู่ในโลกก็ต้องยอมรับความจริงว่า มันก็ต้องมีคนชอบและคนชัง คนโบราณเขาบอกว่า คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ พื้นหนังนี่มันนิดเดียวเองนะ แต่ผืนเสื่อนี่มันใหญ่ อันนี้เก็หมายความว่า มันธรรมดามาก ที่จะมีคนรักเราไม่มาก แต่จะมีคนชังเสียเยอะ หรืออาจจะหมายความว่า เวลาเขารักเรา เขาก็รักนิดเดียว แต่เวลาเขาชังนี่ เขาชังมาก นี่เป็นธรรมดา ถ้าเราเข้าใจสัจธรรมความจริงแบบนี้ได้ เราก็ จะรู้เลยว่ามันป่วยการที่จะทำให้ทุกคนรักเราหมด แล้วจะเริ่มยอมรับความจริงได้ว่า ไม่ว่าจะทำดีแค่ไหน ทำตัวถูกต้องอย่างไร มันก็ต้องมีคนที่ไม่ชอบเรา คนที่ชังเรา
ซึ่งในแง่หนึ่งถ้าเรารู้จักทำใจแบบนี้ได้ก็จะมีความสุข ที่จริงการฝึกใจ การฝึกตนอย่างหนึ่งทางพุทธศาสนา ก็คือการฝึกให้มีจิตใจที่มั่นคงไม่หวั่นไหว ไม่หวั่นไหวในอะไร ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมอย่างที่เพิ่งสวดมนต์เมื่อสักครู่นี้ จิตของผู้ใดอันโลกธรรมถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไร้ธุลีกิเลส หมายความว่าอย่างไร โลกธรรมนี้ก็หมายความว่า นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี แม้จะมีคนนินทา หรือแม้จะมีคนไม่ชอบ จิตใจก็ไม่หวั่นไหว
แต่ปุถุชนก็ต้องมีความหวั่นไหว เพราะว่ายังมีอัตตาตัวตน พอมีอัตตาตัวตน แล้วปล่อยให้อัตตาตัวตนมาครองใจ มันก็จะเป็นทาสของอัตตา อัตตามันต้องการอะไร อัตตาต้องการคนชม ต้องการความชื่นชมสรรเสริญ ต้องการคนชมว่าเราเก่งเราดี แต่ถ้าหากว่าลองเจอกับคำนินทาว่าร้ายบ้าง ถ้าคนที่ยึดมั่นถือมั่นในอัตตาในตัวกู ก็จะหวั่นไหว แต่ถ้าเราลองมองว่าสิ่งนี้เป็นเครื่องฝึกเรา ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในหน้าตาของตัวเอง
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีความยึดมั่นถือมั่นมากน้อยเพียงใด ก็ดูจากเวลามีคำนินทาว่าร้ายกระทบ หรือว่าเวลามีสายตาของใครบางคน ที่ไม่ได้มองเราด้วยสายตาที่เป็นมิตร แล้วจิตใจเราก็ยังมั่นคงเป็นปกติได้ การที่มีคนไม่ชอบเรา หรือมีคนเขานินทาเรา มันเป็นของดีนะ มันเป็นเครื่องฝึกจิตของเรา ว่าเรามียังมีความยึดติดในตัวตนไหม
คนบางคนที่เขาทำอะไรโดยที่ไม่แคร์สายตาผู้คน แต่จริงๆ เขาแคร์นะ แม้เขาบอกว่าไม่แคร์ เขาทำอะไรตามใจตัวเองโดยที่ไม่แคร์สังคม แต่ถ้ามีใครมาว่าร้ายเขา เขาจะโกรธมากเลย หรือว่ามีใครแค่มามองหน้าเขา เขาก็จะโมโหเลย อันนี้ก็ยังเรียกว่าแคร์ เพราะว่ายังหวั่นไหว ถ้าไม่หวั่นไหวก็คือว่า แม้จะมีคนมองในทางลบ มีคนว่าร้าย จิตใจก็เป็นปกติ ไม่ได้โกรธไม่ได้ชังเขาเลย เขาจะมองลบมองร้ายอย่างไร ก็ไม่ได้เกลียดเขา ไม่ได้รู้สึกลบเป็นการตอบโต้
ซึ่งจะต่างจากคนที่บอกว่าฉันไม่แคร์โลก ฉันไม่สนใจใคร แต่ว่าพอได้ยินเสียงคนมานินทาว่าร้าย โมโหเดือดดาล อันนั้นเรียกว่ายังแคร์อยู่นะ เพราะว่าจิตใจยังหวั่นไหว ถ้าไม่หวั่นไหวอย่างแท้จริงก็คือว่าไม่โกรธเขาเลย เขาจะชังเราอย่างไร เขาจะเข้าใจเราผิดอย่างไร ฉันก็ไม่โกรธ เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่นในหน้าตา หรือว่ายึดมั่นถือมั่นในตัวตนมันน้อยลงมาก
แล้วเราก็ฝึกได้ ฝึกในเรื่องของการคลายความยึดมั่นในตัวตน ด้วยการที่ไปเจอกับบททดสอบ เช่นเห็นคนที่เขาไม่ชอบเรา ทั้งๆ ที่เราก็ทำความดี แต่เขาไม่ชอบเรา ก็เป็นเรื่องของเขา แล้วเราก็ไม่โกรธเขาด้วย
ต่อไปนี่ไม่ใช่แค่คนชังนะ แต่ว่าเวลาทำความดี ก็ไม่ได้แสวงหาคำชื่นชมสรรเสริญจากใคร ทำดีเพราะว่ามันเป็นความดี
แต่แน่นอนว่าการทำความดี บางครั้งหลายคนก็ต้องการคำชื่นชมสรรเสริญ อันนี้เพราะว่ายังอยู่ในอำนาจของอัตตา ที่มันต้องการการพะเน้าพะนอ แต่ถ้าเราต้องการฝึกอัตตา ไม่ยอมตกเป็นทาสของอัตตา ก็ต้องลองฝึกว่าเราจะไม่แสวงหาคำสรรเสริญ ทำดีก็ไม่อวด ได้รางวัลก็ไม่ได้ประกาศ
อันนี้ใหม่ๆ หลายคนจะรู้สึกว่าอัดอั้นตันใจ มีคนชมเราก็อยากประกาศให้โลกรู้ ทำดีก็อยากประกาศให้โลกรู้ อันนี้มันเป็นแรงผลักดันของอัตตาหรือมานะ ที่ต้องการคำชื่นชมหรือสรรเสริญ ครั้นทำดีแล้วไม่มีคนชมก็เป็นทุกข์ ไม่พอใจ โพสต์ข้อความดีๆ แล้วไม่มีคนกดไลก์ ก็มีความรู้สึกกังวล มีความรู้สึกไม่สบายใจ อันนั้นเป็นทุกข์ของอัตตา ซึ่งถ้าหากว่าเราเป็นทาสของอัตตา เราก็จะแสวงหาคำชื่นชมสรรเสริญอยู่ร่ำไป
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนพระนันทิยะ ตรัสสอนพระนันทิยะว่า ผลแห่งความดี ย่อมเป็นพิษแก่ผู้ที่ไม่พิจารณา แล้วหลงใหลเพลิดเพลิน จนประมาทมัวเมา ผลแห่งความดีคืออะไร ก็คือลาภสักการะ ทำความดีแล้วบางทีมีลาภสักการะตามมา แต่ว่านั่นเป็นโทษ ถ้าไปยึดติด เพราะไม่พิจารณา หรือไม่มีสติ มันก็ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ง่าย เพราะพอติดในลาภสักการะะ พอต่อไปไม่ได้ลาภสักการะ ไม่ได้รับคำชื่นชมสรรเสริญก็มีความทุกข์
แต่ถ้าเกิดว่าเรามีสติมีปัญญา ทำความดีแล้วไม่ได้สนใจลาภสักการะ หรือถึงมีถึงเกิดขึ้น เราก็ไม่ยึดติด เพราะใจไม่ได้แสวงหาตั้งแต่ต้น มันก็ยากที่จะตกเป็นทาสของโลกธรรมได้
ฉะนั้น การที่เราพยายามฝึกจิตให้มีความมั่นคง ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ไม่ว่าจะฝ่ายบวกฝ่ายลบนั่น เป็นสิ่งสำคัญมากเลย ที่จะช่วยทำให้เรามีจิตใจที่ปกติ แล้วก็มีความสุขได้ง่าย แต่ถ้าหากว่าเรายังหวั่นไหวในโลกธรรม ใครตำหนิ หรือใครมองเราในทางลบ ก็เป็นทุกข์ ใครชื่นชมก็ปลื้มอกปลื้มใจ แบบนี้ก็เรียกว่ายังตกเป็นทาสของโลกธรรมได้ง่าย แล้วที่จริงก็แสดงว่ายังเป็นตกเป็นทาสของอัตตาตัวตน ซึ่งยากจะทำให้เราเป็นอิสระได้.