แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 25 มีนาคม 2566
อาตมารู้จักผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เป็นผู้ใหญ่ที่อาตมาเคารพนับถือหนึ่ง เมื่อสัก 40 กว่าปีก่อน ท่านเป็นอาจารย์ที่คณะศึกษาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ท่านเป็นคนหนุ่มที่มีความรู้มีความสามารถทางวิชาการ แล้วตั้งใจสอน ลูกศิษย์ลูกหาก็เคารพนับถือ และท่านก็ไม่เล่นพรรคเล่นพวก
มีปีหนึ่งคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ลาออก ตำแหน่งคณบดีก็เลยว่าง ก็มีเพื่อนๆ อาจารย์ชวนท่านไปเป็นคณบดี คณะกรรมการสรรหาก็เคยทาบทามท่าน แต่ท่านก็ปฏิเสธเพราะว่าไม่ชอบเรื่องการบริหาร จนกระทั่งต่อมาประธานคณะกรรมการสรรหาก็มาติดต่อท่านเป็นส่วนตัว ชักชวนท่านให้รับการทาบทาม ท่านก็เลยลังเล จึงไปปรึกษาผู้ใหญ่ 2 ท่านที่ท่านเคารพนับถือมาก ถามว่า ผมควรรับเป็นคณบดีหรือเปล่า
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งก็ให้ความเห็นว่า คุณมาทำงานบริหารคงจะเสียเวลาเปล่าๆ เพราะว่าวันๆ ก็เอาแต่ประชุม เป็นคณบดีก็เสียเวลาไปกับการประชุมมาก ไม่ค่อยทำอะไรที่เป็นประโยชน์เท่าไหร่ ทำงานวิชาการเป็นประโยชน์กว่าเยอะ สรุปว่าไม่ควรรับเป็นคณะบดี อีกท่านหนึ่งก็บอกว่า คุณเป็นคนที่พูดอะไรตรงไปตรงมา ไม่ชอบเป็นคนที่จะเอาอกเอาใจใคร เล่นการเมืองก็ไม่เป็น ไม่เหมาะที่จะเป็นคณบดี แล้วท่านก็ใจก็โน้มไปทางนั้นอยู่แล้ว
แต่บังเอิญมีวันหนึ่งท่านไปพบอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อาจารย์ป๋วยเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ท่านนี้ก็คุ้นเคยกับอาจารย์ป๋วย ก็เลยถามคำถามเดียวกันว่า ผมควรจะรับเป็นคณบดีหรือเปล่า อาจารย์ป๋วยบอกว่า คุณถามผิดแล้ว คุณไม่ควรถามว่าจะรับเป็นคณะบดีหรือไม่ แต่ควรถามตัวเองมากกว่า ว่าคุณอยากทำประโยชน์อะไรให้กับคณะศึกษาศาสตร์ แล้วสิ่งที่คุณอยากทำต้องเป็นคณบดีหรือเปล่า ถ้าไม่ต้องเป็นคณบดี คำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้ว คือไม่ต้องเป็น แต่ถ้าสิ่งที่คุณอยากทำต้องอาศัยการเป็นคณบดี คำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าควรจะรับเป็นคณบดี ไม่จำเป็นต้องมาถามผม
อาจารย์ท่านนั้นบอกว่าเป็นคำตอบที่ไม่คาดคิดมาก่อน แล้วก็ทำให้ท่านต้องพิจารณาอย่างจริงจัง แล้วก็ชมว่าอาจารย์ป๋วยมีความคิดที่หลักแหลมมาก ตอนหลังท่านก็นำไปพิจารณา ก็ตกลงรับการทาบทามเป็นคณะบดี แล้วก็ได้รับเลือกเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ แต่ว่าท่านก็เป็นได้แค่ปีครึ่งก็ลาออก เพราะไม่สามารถจะทำประโยชน์ได้อย่างที่ตั้งใจ
แต่สุดท้ายภายหลัง ทั้งที่ท่านไม่ได้แสวงหาตำแหน่งอะไรเลย สุดท้ายท่านก็ได้รับเลือกเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะเกษียณ อาจารย์ท่านนี้คือ อาจารย์อุทัย ดุลยเกษมที่ท่านพูดถึงอาจารย์ป๋วย ท่านเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ
เพราะคนเราบางครั้นเมื่อมีใครมาปรึกษา สิ่งสำคัญไม่ใช่อยู่ที่การให้คำตอบ แต่อยู่ที่การให้ข้อคิด
อาจารย์ป๋วยก็ไม่ได้ให้คำตอบแก่อาจารย์อุทัย แต่ให้ ข้อคิด ซึ่งข้อคิดนี่บางทีมีประโยชน์มากกว่าคำตอบชัดๆ เพราะมันทำให้เจ้าตัวใคร่ครวญอย่างจริงจัง ซึ่งในที่สุดก็พบคำตอบด้วยเอง หรือว่าพบทางออกที่ดีกว่า
สมัยที่หลวงพ่อคำเขียนยังมีชีวิตอยู่ มีโยมคนหนึ่งมาปฏิบัติเจริญสติ ทำไปได้ 2-3 วัน หลวงพ่อก็ไปเยี่ยม ไปสอบถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง โยมคนนั้นก็บอกว่า ไม่ไหวเลยหลวงพ่อ หนูเครียดมากเหลือเกิน ทำอย่างไงดี หลวงพ่อแทนที่จะบอกว่าควรทำอย่างไร ท่านบอกว่า ยังถามไม่ถูกนะ เป็นนักปฏิบัติแล้ว ลองถามใหม่ เธอคนนั้นก็คิดสักพัก ทบทวนสิ่งที่หลวงพ่อเคยสอน แล้วก็บอกว่า หลวงพ่อหนูเห็นหนูเครียด
มันต่างกันมากเหลือนะ ระหว่างหนูเครียดเหลือเกิน กับหนูเห็นหนูเครียด
ทีแรกเธอเป็นทุกข์มากเพราะว่าเครียด หรือว่าเป็นผู้เครียด อยากจะขอคำแนะนำจากหลวงพ่อ แต่หลวงพ่อไม่ได้แนะนำอะไรเลย เพียง แต่พูดให้คิด ว่าที่ถามยังถามไม่ถูก ถามใหม่ แล้วเธอก็พบว่า จริงๆ แล้วเธอวางใจไม่ถูก เวลามีความเครียดก็เข้าไปเป็นผู้เครียด แต่ที่ถูกคือ เห็นความเครียด แล้วพอเธอบอกว่า หนูเห็นมันเครียด ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปเลย ตอนที่บอกว่าหนูเครียด หนูเครียด ความรู้สึกมันแย่
แต่พอมาตอบใหม่ หนูเห็นมันเครียด ความรู้สึกมันดีขึ้น มันรู้วิธีหรือท่าทีในการปฏิบัติต่อความเครียด คือ ไม่เข้าไป “เป็น” แต่ว่า “เห็น” จะว่าเป็นการค้นพบด้วยตัวเองก็ได้ พบว่า เอ๊ะเราทำไม่ถูกนะ เราเข้าไป เป็น แต่ที่จริงควรจะ เห็น มากกว่า แล้วหลวงพ่อคำเขียนไม่ได้ให้คำตอบว่าควรทำอย่างไง แต่ว่าให้ข้อคิด หรือพูดให้คิด
แล้วการให้ข้อคิดนี่ บางครั้งไม่มีอะไรดีกว่าการตั้งคำถาม ถ้าตั้งคำถามถูก มันช่วยได้เยอะเลย แล้วมันมีประโยชน์กว่าการให้คำตอบอีก
อาจารย์ป๋วยบอกอาจารย์อุทัยว่า ที่คุณถามผม คุณถามผิดนะ ถามผิดอย่างไร
ข้อแรกคือ ถามผิดคน ที่จริงควรจะถามตัวเองมากกว่า
และสอง ถามผิดประเด็น ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าควรรับหรือไม่รับเป็นคณบดี แต่ควรถามว่า เราอยากจะทำประโยชน์อะไรให้กับคณะศึกษาศาสตร์ แล้วสิ่งที่เราอยากทำต้องเป็นคณบดีหรือเปล่า ถ้าไม่ต้องเป็น คำตอบก็ชัดอยู่แล้ว แต่ถ้าสิ่งที่อยากทำต้องอาศัยการเป็นคณะบดี คำตอบก็ชัดเจนอีกเหมือนกัน
เจ้าตัวถามแล้วก็ตอบเองได้ ดีกว่าคนอื่นให้คำตอบ ฉะนั้นการให้ข้อคิด ไม่จำเป็นต้องตอบตรงๆ แต่ว่าการตั้งคำถาม จะชวนให้คนได้ขบคิดพิจารณาใคร่ครวญได้ดีกว่า อาจารย์ท่านนี้ท่านก็พบคำตอบเลยว่าควรมาเป็นคณบดีหรือเปล่า หลังจากที่ได้ข้อคิดจากอาจารย์ป่วยแล้วมาใคร่ครวญ
คนเรามักคิดว่า คำตอบสำคัญกว่าคำถาม แต่ที่จริง คำถามสำคัญกว่าคำตอบ ถ้าถามถูก ถามดีๆ ทำให้คนเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้เลย
ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ หลังจากที่จำพรรษาอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันงพรรษาแรก ออกพรรษาท่านก็เสด็จไปที่กรุลราชคฤห์ กลางทางก็พำนักอยู่ที่ไร่ฝ้าย เผอิญเวลานั้นใกล้ๆ กัน มีชายหนุ่ม 30 คนพากันไปสำเริงสำราญ โดยแต่ละคนก็มีผู้หญิงไปด้วย ทั้งหมดนี้ก็อาจจะเป็นคู่รัก แต่มีชายหนุ่มคนหนึ่งไม่มีก็เลยไปจ้างนางคณิกามาเป็นคู่
แล้วระหว่างที่มานพแล้วก็ผู้หญิงกำลังเล่นน้ำกันสนุกสนาน นางคณิกาก็ใช้จังหวะนั้นแหละ เอาเครื่องประดับทรัพย์สินของมานพ 30 คน แล้วก็หนีไป ของมีค่าทั้งนั้น เช่น แหวนธำมรงค์แล้วก็กำไล มานพ 30 คนพอรู้ว่าทรัพย์มีค่าถูกขโมยไป ก็ตามหานางคณิกาคนนั้นเลย พากันออกเดินทางเดินตาม ก็ไปพบพระพุทธเจ้า พระองค์กำลังประทับอยู่ใต้ต้นไม้ เลยถามพระองค์ว่า เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาแถวนี้ไหม
พระพุทธเจ้าแทนที่จะตอบว่าเห็นหรือไม่เห็น ถามว่า การแสวงหาผู้หญิงกับการแสวงหาตัวเอง อะไรที่ดีกว่ากัน ปรากฏว่าทั้ง 30 คนชะงักเลย เพราะว่าเป็นคำถามที่ทำให้ฉุกคิดขึ้นมา แล้วก็น่าสนใจด้วย แสวงหาตัวเองมีด้วยหรือ ก็เลยมานั่งสนทนากับพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าก็เลยได้โอกาสแสดงธรรม อนุปุพพิกถา ตามมาด้วยอริสัจ 4 ปรากฏว่าทั้ง 30 คนก็มีดวงตาเห็นธรรม ได้เป็นพระโสดาบันเลย เป็นเพียงเพราะคำถามว่า การแสวงหาผู้หญิงกับการแสวงหาตัวเอง อะไรที่ดีกว่ากัน
ถ้าพระองค์ตอบ ไม่ว่าจะตอบทางไหน อาจจะไม่เกิดผลที่เป็นความเปลี่ยนแปลงในใจของ 30 คนก็ได้ เช่น ถ้าตอบว่าเราไม่เห็นผู้หญิงคนนั้น หรือว่าเราเห็น มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร หรือถ้าพระองค์ตอบตรงๆ ว่ามาสนใจมาฟังธรรมกันดีกว่า ตอบตรงๆ แบบนี้ 30 คนจะสนใจหรือ ก็ไม่สนใจ แต่พอถามประโยคนี้ขึ้นมา ทั้ง 30 คนก็สะกิดใจเลย
เพราะฉะนั้นบางครั้ง คำถามสำคัญกว่าคำตอบ โดยเฉพาะถ้าเราต้องการให้คนได้ฉุกคิดขึ้นมา แล้วคำถามถ้าจะให้ดีเราต้องรู้จักถามตัวเองด้วย ถ้าเรารู้จักถามตัวเองจะทำให้เกิดความฉุกคิด หรือได้สติขึ้นมา เพราะมันนำไปสู่การใคร่ครวญ
อย่างทางขึ้นบันไดหอไตรจะมีป้ายเขียนว่า ฉันมาทำอะไรที่นี่ หรือว่าฉันมาที่นี่ทำไม อันนี้ถ้าเราไม่เพียงแต่เดินผ่าน แต่ว่าเราเอามาถามตัวเราเองว่า ฉันมาที่นี่ทำไม บางทีทำให้ได้คิดนะ ถ้าเราตั้งใจถามจริงๆ แล้วก็ตอบตรงๆ เช่น บางคนอาจจะบอกว่า ฉันมาที่นี่เพื่อแสวงหาความสบาย ไม่ว่าจะเป็นสบายทางกาย เช่น ได้ที่พักผ่อนได้กุฏิที่พักที่สบาย หรือว่าสบายเพราะว่า มีคนที่ดีกับเรา รู้ใจเรา พูดดีกับเรา หรือสบายเพราะว่าไม่มีสิ่งรบกวน บางทีเราอาจจะพบว่ามันไม่ใช่เป็นเหตุผลที่ถูกต้องก็ได้
แต่ถ้าเราตอบว่า เรามาที่นี่เพื่อมาฝึกฝนตน มันจะทำให้เรารู้ว่า เราควรจะมีท่าทีอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ เพราะถ้าเกิดว่ามาที่นี่เพื่อหาความสบาย พอเจอความไม่สบายขึ้น กุฏิก็ไม่ดี บางทีก็ไม่มีไฟ หรือว่าช่วงหน้าหนาวไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น ก็เป็นทุกข์ หรือว่ามาที่นี่แล้วไม่สุขสบายเพราะว่าผู้คนไม่น่ารัก คนนี้ก็ช่างบ่น คนนี้ก็ช่างนินทา ก็จะเกิดความอึดอัดขัดเคือง
แต่ถ้าเกิดว่าตอบตัวเองว่าฉันมาที่นี่เพื่อฝึกฝนตน ความไม่สะดวกสบายทั้งหลายมันกลับกลายเป็นของดี ไม่มีไฟก็ลองอยู่อาศัยแสงเทียน หรือว่าคนรอบตัวเขาทำตัวไม่น่ารัก เขาพูดไม่ถูกใจ ก็มาฝึกในการปรับใจของเราให้มันถูกซะ เขาทำไม่ถูกเป็นเรื่องของเขา แต่เราจะมาฝึกใจของเราให้มันถูกต้อง เขาจะขี้บ่นชอบนินทาอย่างไร ใจฉันก็ไม่หวั่นไหว เพราะว่าฉันมาที่นี่เพื่อฝึกฝนตนเอง
แต่ถ้าเราไม่ถามตัวเราแบบนี้บางทีมันจะเผลอ เผลอแสวงหาความสุขสบาย พออาหารไม่ถูกใจก็บ่นโวยวายตีโพยตีพาย พอมีบางคนทำตัวน่าระอาก็เกิดความหงุดหงิดฉุนเฉียว กลายเป็นว่ามาแล้วมีความทุกข์ แล้วคนที่มาที่นี่เพื่อมาหาความสบาย สุดท้ายก็ลงเอยด้วยความทุกข์ เพราะว่าจะเจอแต่สิ่งที่ไม่ถูกใจ อาจจะไม่สบายทางกายบ้าง หรือไม่สะดวกสบายในทางสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าเกิดว่ามาเพื่อฝึกฝนตน มันก็อาศัยสิ่งเหล่านี้ที่ไม่ถูกใจนี่แหละ มาเป็นเครื่องฝึกฝนให้มีสติ เพื่อรักษาใจไม่ให้กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง ไม่ให้ความหงุดหงิดมาครองใจ
หรือว่าเพื่อมาฝึกจิต ให้เกิดปัญญาเห็นความจริงว่า มันก็เป็นอย่างนี้เอง ที่ไหนที่ไหนก็แบบนี้แหละ แค่นี้ยังทนไม่ได้ แล้วต่อไปเจอทุกที่หนักกว่านี้จะทนได้อย่างไง คนที่ไม่ถูกใจ ทำตัวน่าระอา บางทีเราก็เห็นเขาแค่ครั้งคราว ไม่ได้เห็นทุกวัน แต่ต่อไปเราเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจ ที่มันตามติดตัวเราไปตลอดเวลา เราจะทำอย่างไร เช่นความเจ็บป่วย ทุกขเวทนาที่มันรบกวนร่างกายตลอดเวลา ทำให้จิตใจหงุดหงิด สิ่งที่มากระทบเราเพียงแค่ครั้งคราวเรายังเอาตัวไม่รอด แล้วสิ่งที่มันตามติดเราไปตลอดเวลา เราจะรับมือกับมันได้อย่างไง
แล้วคนที่เขาคิดเรื่องการฝึกฝนตน มาที่นี่เพื่อฝึกฝนตน เขาก็จะไม่หวั่นไหวกับความไม่สะดวกความไม่สบาย หรือว่าความไม่ถูกอกถูกใจ มันสำคัญมากที่เราจะถามตัวเองว่ามาที่นี่ทำไม บางทีเราไม่ได้ถามตัวเองเท่าไหร่ ก็เลยปล่อยใจไปตามความเคยชิน คือว่ามาแสวงหาความสะดวกสบาย เพียงแต่ว่าอาจจะไม่ใช่ความสบายอย่างชาวโลกทั่วๆ ไปที่มีวัตถุสิ่งเสพ แต่ว่าเป็นสบายในแง่สิ่งที่ ว่ามีแต่สิ่งที่ถูกใจ กับผู้คนที่ถูกใจ การกระทำคำพูดที่ถูกใจ หรือว่าคนที่ยิ้มให้ มีน้ำใจ อันนี้ก็เป็นความสบายอีกแบบหนึ่งที่หลายคนแสวงหา แต่พอไม่ได้มาก็เกิดความทุกข์เพราะผิดหวัง ซึ่งตรงข้ามกับคนที่มา เพื่อฝึกฝนตน เขาก็พร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ แล้วเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์
การถามตัวเอง ถ้าเราทำถูกมันช่วยได้เยอะเลย ช่วยทำให้ได้สติขึ้นมา
อย่างเวลาเดินทางเจอรถติด หลายคนก็จะบ่นในใจ ทำไมรถมันติดเยอะอย่างนี้ หรือว่าช่วงนี้อากาศร้อน ทำไมมันร้อนอย่างนี้ ที่จริงถามผิด ต้องถามว่า รถติดแล้วทำไมจิตต้องตกด้วย หรือว่ารถติดทำไมเราต้องหงุดหงิดด้วย อากาศร้อนทำไมเราต้องปล่อยใจให้ร้อนด้วย ถ้าถามแบบนี้มันได้คิดขึ้นมาเลย ว่าเราจะบ่นโวยวายตีโพยตีพายไปทำไม แต่ถ้าถามไม่ถูกจะยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่เลย ทำไมรถมันติดอย่างนี้ วันเสาร์วันหยุดแท้ๆ ถนนมันน่าจะโล่ง ทำไมติดแบบนี้
ต้องถามใหม่ว่า รถติดทำไมต้องหงุดหงิดด้วย แค่นี้เอง ทำไมอากาศร้อน อันนี้ถามไม่ถูก แต่ถามว่า อากาศร้อนแล้วทำไมใจเราต้องเป็นทุกข์ด้วย อันนี้ทำให้เราได้คิดขึ้นมาเลยว่า จะบ่นโวยวายกับสิ่งภายนอกทำไม เรามาปรับใจของเราดีกว่า รถติดแต่ว่าใจไม่หงุดหงิด มันทำได้ อากาศร้อนมันร้อนจะตายแต่ใจไม่ร้อนนี่ทำได้
ทำไมเขาพูดอย่างนี้กับเรา ทำไมเขาทำอย่างนี้กับเรา ถามแบบนี้ก็ชวนให้เป็นทุกข์เปล่าๆ แต่ถ้าเราถามว่า เขาพูดแค่นี้ทำไมเราต้องเป็นทุกข์ด้วย พูดแค่นี้ทำไมเราปล่อยเราวางไม่ได้ มันก็ทำให้ได้สติขึ้นมา โดยเฉพาะถ้าเราเป็นนักปฏิบัติ ถ้าไม่ใช่นักปฏิบัติก็แล้วไปก็แบบชาวโลก แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติแล้วถามแบบนั้นก็แสดงว่ายังไม่ก้าวหน้า
ถ้าเป็นนักปฏิบัติเราต้องถามว่า เขาพูดอย่างนี้เขาทำอย่างนี้ ทำไมเราต้องหงุดหงิดด้วย ทำไมเราต้องไปถือสาด้วย ทำไมเขาไม่เข้าใจฉัน ทำไมเขาไม่เข้าใจฉัน อันนี้ถามไม่ถูก เราต้องถามใหม่ว่า แล้วเราเข้าใจเขาแล้วหรือ เราจะเรียกร้องให้เขาเข้าใจเรา แล้วเราเข้าใจเขาหรือเปล่า แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะถามคำถามแรก ทำไมเขาไม่เข้าใจฉัน
แต่ถ้าเราเป็นนักปฏิบัติที่รู้จักมองตน เราก็จะถามว่า แล้วฉันล่ะเข้าใจเขาแล้วหรือ ถ้าเราหันมาถามแบบนี้บ้าง มันจะได้คำตอบเลย คำตอบคือว่า
ต้องมาจัดการที่ใจของเรา เพราะสุขหรือทุกข์ก็อยู่ที่ใจของเรา
เพราะฉะนั้นอย่ามัวไปหาคำตอบอยู่กับคนอื่น หรือว่าอย่ามัวตั้งคำถามผิด ตั้งคำถามให้ถูก แล้วเราก็จะพบคำตอบหรือทางออก ซึ่งที่แท้ก็อยู่ที่ใจของเรานั่นแหละ
ท่านติชนัทฮันห์ ท่านเขียนประโยคสั้นๆ ประโยคหนึ่ง น่าสนใจมาก เป็นภาษาอังกฤษว่า
Way out is in ทางออกอยู่ที่ข้างใน ทางออกอยู่ที่ข้างใน ในอะไร ในใจเรา
ทางออกจากทุกข์ ทางออกจากปัญหา อยู่ที่ใจเรา ไม่ใช่อยู่ที่ข้างนอก ถ้าเราถามไม่ถูกถามไม่เป็น ก็จะเห็นแต่มองแต่หาทางออกจากภายนอก แต่ถ้าถามถูกก็จะพบว่า ทางออกอยู่ที่ใจเรานั่นแหละ.