พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2566 จัดโดยมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช
พวกเราซึ่งเป็นบุคลากรทางด้านสาธารณสุข หน้าที่หลักๆ ของเราก็คือ การช่วยรักษาชีวิตของผู้คนในยามที่เจ็บป่วย แต่ว่าคนเรา ไม่ว่าจะมีชีวิตยืนยาวแค่ไหน และไม่ว่าจะรอดพ้นจากความเจ็บป่วยกี่ครั้งกี่ คราวก็ตามสุดท้ายก็ต้องตายกันทุกคน ในขณะที่เราช่วยชีวิตของเขาเอาไว้ เราก็ไม่ได้เพียงแต่ว่าทำให้เขามีลมหายใจที่ยืนยาวขึ้น หรือว่ามีอวัยวะครบ 32
เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่เราก็ยังปรารถนาจะให้เขามี คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่มีจำนวนอายุที่ยืนยาว แต่คุณภาพของชีวิตก็สำคัญ
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกวันนี้ แม้วิทยาการนานาชนิดจะทำให้คนมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นเหมือนอย่างที่เราทราบดี แต่มันมีตัวเลขที่น่าสนใจอย่างหนึ่งนะ ก็คือว่า ยุคสมัยใหม่นี่ 1 ปีที่เรามีอายุยืนยาวขึ้น แค่ 10 เดือนเท่านั้นเองที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี อีก 2 เดือนนี่ไม่ค่อยดี คือ เจ็บป่วย
อย่างที่เราเห็นนี่เดี๋ยวนี้คนอายุ 70 อาจจะยืนยาวกว่าสมัยรุ่นพ่อ แต่ว่า 70 ของเขา 80 ของเขานี่ หลายเดือนเลยนะเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวานโรคหัวใจโรคไตวายโรคมะเร็ง ซึ่งหลายคนก็อาจจะบอกว่าอยากตาย อยากตาย ไม่อยากอยู่ เพราะว่าแม้ว่าชีวิตของเขาจะยืนยาวกว่ารุ่นพ่อเพราะเทคโนโลยี แต่คุณภาพชีวิตไม่ได้ดีขึ้นเลย ไม่งั้นหลายคนไม่บอกหรอกว่าอยากตาย
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายบุคลากรทางการแพทย์นะ ว่าทำยังไงเนี่ยเมื่อเรา prolong life แล้วเนี่ย เราจะทำให้ชีวิตของเขามันมีคุณภาพที่ดีขึ้นด้วย 1 ปีที่ยืนยาว อย่างน้อยมันควรจะ 11 เดือนหรือ 11 เดือนครึ่งที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่ 2 เดือนหรือ 3 เดือนที่แย่ลง แต่ไม่ว่าเราจะยืดอายุเขาเพียงใดนะ อย่างที่อาตมาบอก สุดท้ายเขาก็ต้องตาย นี่คือความจริงที่เราต้องยอมรับ
เพราะฉะนั้นบุคลากรทางการแพทย์นี่ จะคิดแต่เรื่องการรักษาชีวิตเขาให้อยู่รอดอย่างเดียวไม่พอ เพราะสุดท้ายเขาก็ต้องตาย สิ่งที่แพทย์หลายคนพยายามทำก็คือ อย่างน้อยก็ไม่ให้ตายในมือฉัน ไปตายในมือหมอคนอื่นก็ได้ แต่อย่าตายในมือฉัน เพราะรับไม่ได้ ฉะนั้นมันก็เลยเกิดการยื้อนะ ยื้อชีวิตของผู้ป่วยเอาไว้ ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นการ Prolong Death
ที่เป็นเช่นนี้เพราะเรามองว่าความตายเป็นสิ่งที่เลวร้าย ไม่ใช่เฉพาะสำหรับผู้ป่วย แต่เป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับเราซึ่งเป็นผู้รักษา เพราะแพทย์จำนวนไม่น้อยนี่มองว่าความตายของคนไข้ในมือตน คือความล้มเหลวในทางวิชาชีพ ซึ่งมันเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดมาก เพราะเท่ากับเป็นการปฏิเสธว่าคนเราตายไม่ได้
ในเมื่อคนเราทุกคนต้องตาย แม้กระทั่งหมอผู้รักษา ในที่สุดก็ต้องตาย ทำอย่างไรแทนที่เราจะคิดแต่ว่าให้เขาอยู่ ให้เขารอดพ้นจากความตาย ทำอย่างไร ในเมื่อหากว่าเขาจะต้องตาย เขาจะตายโดยมีคุณภาพการตายที่ดี อันนี้เป็นโจทย์ที่เดี๋ยวนี้การแพทย์รุ่นใหม่เขาเริ่มยอมรับมากขึ้น สมัยก่อนการแพทย์ยุคใหม่นี่จะไม่ยอมรับเรื่องความตาย เพราะความตายนี้ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์เลย มีแต่ว่าสอนทำยังไงจะให้มีชีวิตอยู่รอด เขาจะสอนเรื่องความตายก็เฉพาะพวก Pathologist
การยอมรับเรื่องความตายของผู้ป่วย อาตมาว่าเป็นสิ่งที่แพทย์ทุกคนควรจะทำใจยอมรับให้ได้ว่าเป็นธรรมดา เพราะไม่งั้นจะมีปัญหามากเลยนะ มีหมอคนหนึ่งเป็นหมอทางด้านรักษามะเร็งลูคีเมีย แล้วบังเอิญพ่อและแม่นี่ก็ตายเพราะลูคีเมีย คุณหมอท่านนี้ก็เลยตั้งธงเลยนะว่าจะต้องสู้กับลูคีเมียให้ได้
แล้วคนไข้คนไหนที่เป็นลูคีเมีย คือเป็นหมอเด็กด้วยนะ เด็กคนไหนเป็นลูคีเมียนี่ แกจะสู้ เจาะเลือดวันละ 3 ครั้ง ทั้งๆ ที่คนไข้ไม่ได้มีอาการที่แย่นะ เจาะเลือดวันละ 3 ครั้งเพื่อจะได้ดูวี่แววว่าการรักษาของเธอเนี่ยจะช่วยทำให้คนไข้ดีขึ้น คนไข้ก็ไม่ไหว จนกระทั่งคนไข้หลายคนขอยอมแพ้แล้ว เพราะคุณหมอเนี่ยยื้อเต็มที่เลย แต่คุณหมอบอกไม่ยอม จะสู้ คนไข้ยอมแล้วนะ คนไข้ไม่ไหวแล้ว เพราะการรักษาของคุณหมอนี่มันสร้างความทุกข์ยิ่งกว่าตัวโรค
แต่พอคุณหมอรู้ว่าสู้ไม่ไหวนี่ คุณหมอทิ้งเลยนะ ทิ้งคนไข้คนนั้นเลย แล้วไปบอกรุ่นพี่ว่า พี่ช่วยมาดูแลเคสนี้หน่อย หนูไม่ไหวแล้ว เธอไม่ไหวเนี่ย ในแง่ที่ว่ายอมรับไม่ได้ว่าคนไข้ของเธอกำลังจะตาย แล้ว ถ้าคนไข้ของเธอกำลังจะตาย เธอจะหงุดหงิดมาก เวลาพานักศึกษาแพทย์มาราวด์เธอจะโวยวายใส่นักศึกษาแพทย์ จนกระทั่งนักศึกษาแพทย์เนี่ยขยาดมากเลย อารมณ์เสียหงุดหงิด เป็นที่รู้กันเลยนะว่าไม่อยากเข้าใกล้คุณหมอคนนี้ ซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์ด้วย เธอเครียดนะ
เธอเครียดเพราะยอมรับความตายของคนไข้ของตัวเองไม่ได้ ถ้าคนไข้ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่รอด ก็จะสู้ เพราะฉะนั้นในทัศนะของคุณหมอท่านนี้เนี่ย เธอไม่ได้สนใจเลยนะว่าคนไข้เป็นอย่างไร ก็สนใจว่า คนไข้คือสนามรบในการสู้กับลูคีเมีย อันนี้เป็นปฏิกิริยาของหมอที่ยอมรับความตายของคนไข้ไม่ได้ และคนไข้ก็ทุกข์เพราะการยื้อของคุณหมอ แล้วคุณหมอก็ทุกข์ที่คนไข้ของตัวเองต้องตาย เพราะนั่นคือความ พ่ายแพ้ในทางวิชาชีพ และนักศึกษาแพทย์ก็ทุกข์ เพราะคุณหมออารมณ์เสียหงุดหงิดใส่ แล้วรุ่นพี่ก็ทุกข์ เพราะว่าต้องมารับเคสซึ่งตัวเองแทบจะไม่มีพื้นฐานมาก่อนเลย
แต่ถ้าเรามองว่าความตายของคนไข้ไม่ใช่เป็นความล้มเหลวของแพทย์เสมอไปหากว่าเขาตายดี การตายดีนี่เป็นไปได้นะ ถึงแม้ว่ามันจะประกอบไปด้วยคำที่ดูเหมือนขัดแย้งกันนะ Good Death หรือตายดี ในทัศนะหลายคนเนี่ย Death มันไม่ good แล้ว Death มันคือ bad ตายนี่ไม่มีดี ตายคือเลว แต่ว่าในทางพุทธศาสนาและในหลายศาสนา หรือแม้กระทั่งในทางมนุษยธรรมนี่นะ การตายดีนี่เป็นไปได้ และทุกคน มีสิทธิ์ตายดีด้วย
ตายดีในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าหลับตายไปเลยเท่านั้น แต่แม้จะป่วยยืดเยื้อเรื้อรังมาเป็นเดือน อย่างน้อยนี่เขาไม่ได้ทุกข์ทรมานมาก เขาอาจจะเจ็บป่วยในทางกาย แต่ว่าใจนี่มีความสงบ ไม่ทุกข์ทรมานเท่าไร เพราะยอมรับความตายของตัวได้ แล้วถึงเวลาตาย moment ที่ตาย ก็ไม่ได้มีอาการกระสับกระส่ายทุรนทุราย
และในทางพุทธศาสนาเชื่อว่าตายดี รวมไปถึงว่าหมดลมแล้วไปสู่สุคติ แต่ถึงแม้ว่าคนสมัยใหม่อาจจะไม่เชื่อว่าตายแล้วยังมีการไปต่อ อย่างน้อยนี่ก่อนตายนะ เขามีความสงบเย็น ไม่ทุรนทุราย ซึ่งอาตมาว่า เป็นไปได้ เพื่อนอาตมาเป็นมะเร็งเต้านมอยู่ 11 ปี และเธอก็เลือกที่จะไม่รับการรักษาแบบสมัยใหม่ ใช้ธรรมชาติบำบัดเพราะไม่อยากจะทุกข์ทรมานจากกระบวนการรักษา ผ่าตัด ฉายแสง ฉีดคีโม เธอไม่ปรารถนาความทุกข์จากกระบวนการรักษา เธอใช้ธรรมชาติบำบัด
2 ปีสุดท้ายนี่ เธอบอกกับคนใกล้ชิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เธอมีความสุขมาก สุขกว่าตอนที่เธอยังไม่ป่วยอีก เพราะว่าเธอได้ปล่อยวางอะไรต่ออะไรมากมาย ความตายมันมาสอนให้เธอปล่อยวาง เพราะถ้าไม่ ปล่อยวางจะทุกข์มาก และความตายมาทำให้เห็นความไม่เที่ยงของชีวิต ความไม่เที่ยงของทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยยึดถือ เพราะฉะนั้นจะยึดถือไปทำไม ก็ปล่อย พอปล่อยแล้วใจก็สบาย
มีคุณลุงคนหนึ่ง คุณปู่ดีกว่านะอายุ 80 กว่า แกป่วยด้วยโรคร้ายนะ มะเร็ง แล้วแกปฏิเสธที่จะไปยื้อในโรงพยาบาล เพราะไม่อยากไปทรมานในห้องไอซียู ก็ขอมาใช้ชีวิตระยะสุดท้ายที่บ้าน แกเป็นฝรั่งชาวอเมริกัน มีหมอมีพยาบาลมาเยี่ยมบ้าน เวลาปวดก็ให้มอร์ฟีนให้ยาระงับปวด แล้วคุณปู่มีความสุขมากเพราะว่าแกอยู่บ้านที่แกคุ้นเคย แล้วก็ได้คุยกับหลาน คุยเรื่องชีวิต คุยเรื่องความตายให้เด็กเข้าใจความตายว่ามันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว
สองสามวันสุดท้ายก่อนเสียชีวิต คุณปู่แกก็พูดว่า ถึงแม้ผมจะไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ถึงแม้ว่าจิตใจผมจะสับสนอยู่บ้าง แต่ผมมีความสุขนะ วันสุดท้ายนี่ ก่อนตาย 2-3 ชั่วโมงแกก็ยังพูดอีกนะว่าผมเป็นคนที่มีความสุขคนหนึ่งนะ อันนี้มันแสดงให้เห็นว่าระยะสุดท้ายของคนเรา แม้กระทั่งใกล้จะตาย มันไม่จำเป็นจะต้องลงเอยด้วยความทุกข์ทรมานก็ได้ อาจจะมีความเจ็บปวดในทางกาย ความล้าในทางกาย แต่ว่าใจไม่ทุกข์และในทางพุทธศาสนา เราเชื่อว่าตายสงบเป็นไปได้
ที่จริงมันไม่ได้เป็นแค่ความเชื่อทางพุทธศาสนา มันคือความจริงที่แพทย์หลายคนประสบ หลายคนตายสงบ ตายโดยไม่ทุกข์ทรมาน อาตมากับเพื่อนๆ ที่ทำงานช่วยผู้ป่วยระยะท้ายมามีความเห็นตรงกัน อย่างหนึ่งว่า ความตายอย่างสงบเป็นสิทธิของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะของพระ ของแม่ชี ของคนใกล้วัด คนไกลวัด ฆราวาสก็มีสิทธิ์ตายสงบได้ ไม่ว่าจะตายด้วยโรคอะไร แม้จะเป็นเด็ก ก็มีสิทธิ์ตายสงบได้
เพราะฉะนั้น แทนที่จะยื้อชีวิตของผู้คนจนกระทั่งประสบความทุกข์ทรมานเพราะกระบวนการยื้อ มันจะดีกว่าไหม ถ้าหากว่าคนไข้อยู่ในระยะท้ายแล้ว เราช่วยประคองเขาให้เขาผ่านช่วงวิกฤตที่เลวร้ายไปได้โดยไม่ทุกข์ทรมานมาก แล้วพบความสงบในวาระสุดท้าย ในเมื่อจะตายก็ตายอย่างมีคุณภาพได้ไหม แทนที่จะยื้อให้อยู่อย่างไร้คุณภาพ มีเพียงแค่ลมหายใจที่ยืนยาว หรือมีหัวใจที่ยังเต้นอยู่เท่านั้นเอง
ซึ่งมันชี้ให้เห็นว่า คนไข้ที่ถูกยื้อแบบนี้โดยเฉพาะในห้อง ICU เมื่อถึงเวลาตาย มันไม่ใช่คนไข้ที่ป่วยทุกข์ทรมานอย่างเดียว ญาติก็ทุกข์ทรมาน ในอเมริกามันมีตัวเลขที่น่าสนใจบอกว่า ญาติของผู้ป่วยที่ตายในห้อง ICU หลังจากการยื้อสุดชีวิตแล้ว หลังจากที่คนป่วยตายไปแล้ว 6 เดือน มีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้า 3 เท่าของญาติผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองใน Hospice แล้วเสียชีวิตที่นั่น
ญาติทำไมจึงมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มากถ้าคนรักของตัวเองตายหลังจากยื้อสุดชีวิต เพราะเขาเห็นความทุกข์ทรมานของคนไข้ แล้วเขาอาจจะรู้สึกผิดว่าฉันไม่น่าพาเขามาทรมานแบบนี้เลย หรือเขาอาจจะรู้สึกแย่ที่ไม่ได้เตรียมใจรับความตายของคนรัก เพราะคิดว่าเขาจะรอดจากการยื้อชีวิต เพราะในกระบวนการยื้อชีวิต มันไม่ได้การเตรียมใจผู้ป่วยและญาติเลยว่าสุดท้ายความตายอาจจะเกิดขึ้นได้
ในขณะที่ในกระบวนการดูแลแบบประคับประคอง โดยเฉพาะใน Hospice มันมีการเตรียมใจผู้ป่วยและญาติแล้วว่า สุดท้ายก็ต้องตาย แต่ว่าให้เตรียมพร้อมก่อนตาย ด้วยการไม่ใช่แค่ให้การดูแลทางการแพทย์ ลดความทุกข์ทรมานทางกาย ให้ยาระงับปวด หรือถ้าหากท้องผูกก็ช่วยจัดการแก้ปัญหา ถ้าอาเจียนถ้าเบื่ออาหารก็ช่วยเยียวยาบรรเทาตามอาการ ไม่ใช่แค่นั้น แต่มีการดูแลเยียวยาทางจิตใจ เขามี ภารกิจอะไรที่คั่งค้างก็ช่วยกันทำให้เสร็จ เขามีความปรารถนาอะไรก่อนตาย ก็ช่วยให้เขาได้รับการบรรลุ เขาห่วงเขาอาลัยอะไร ก็ช่วยให้เขาปล่อย ช่วยให้เขาวาง
นี่คือกระบวนการเตรียมใจนอกเหนือจากการดูแลทางกายเพื่อทำให้การตายอย่างสงบ หรือการตายอย่างมีคุณภาพนี้เป็นไปได้ อาตมาว่าประการหลังสำคัญ นอกจากการดูแลทางกายเพื่อลดความทุกข์ ทรมานของผู้ป่วยระยะท้ายแล้ว การดูแลทางใจก็สำคัญ ซึ่งไม่ควรจะเป็นหน้าที่ของพระของแม่ชี หมอและพยาบาลก็ทำได้ และบางอย่างมันมันไม่ต้องใช้หัตถการเลย
มีหมอท่านหนึ่งที่โคราชท่านเล่าว่า สมัยที่เป็นหมอชนบทที่แถวโคราชที่ห้วยแถลง ก็ดูแลผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งเป็นมะเร็งปอด จนคุ้นเคย แล้ววันหนึ่งคนไข้ก็บอกคุณหมอว่า คุณหมอวันนี้อย่าไปไหน ปกติคุณหมอนี่บางวันตอนบ่ายๆ จะออกพื้นที่ ไปธุระ หรือบางทีก็ไปตรวจคนไข้ พอคนไข้บอกเช่นนี้ คุณหมอก็ทำตัวให้ว่าง อยู่แต่ในโรงพยาบาลไม่ไปไหน ตอนบ่ายลูกชายแกมาตามบอกว่าพ่ออยากให้คุณหมอไปหา เพราะพ่อไม่ไหวแล้ว ไปถึงคนไข้กำลังจะเสียชีวิต แต่คนไข้นี่พอเห็นหมอ แกก็รู้สึกสบายใจ แล้วไม่นานแกก็เสียชีวิต
คุณหมอท่านนั้นบอกว่านี่มันเป็นความภูมิใจในชีวิตมากเลยนะ ที่เมื่อคนไข้จะตาย แกนึกถึงคุณหมอ อยากให้มาเป็นเพื่อนในวาระสุดท้าย และการมาเป็นเพื่อนของผู้ป่วย มันมีความหมายของต่อคนไข้มาก คือรู้สึกอบอุ่น รู้สึกไม่โดดเดี่ยว เป็นกำลังใจ คุณหมอท่านนั้นไม่ได้ทำหัตถการเลย แค่ไปอยู่ใกล้ๆ ในยามที่เขาจะเสียชีวิต แต่แค่นั้นก็มีความหมายแล้ว ช่วยให้คนไข้ไปดี
มีวัยรุ่นคนหนึ่งอายุราว 17 แกเป็นคนที่น่าสงสารมาก แกเสียพ่อเสียแม่ตั้งแต่แกยังเล็ก พ่อเป็นเอดส์ตาย แม่ตายด้วยโรคอะไรไม่ทราบ ก็อยู่กับยายมาตลอดตั้งแต่เล็ก ยายก็หาเช้ากินค่ำ แกก็ช่วยยายขายของบ้าง ช่วยยายทำงาน แต่ตอนหลังแกเป็นมะเร็งนะ พอมะเร็งมันลาม หมอก็ส่งไปรักษาตัวที่โคราช โรงพยาบาลมหาราช แกอยู่บุรีรัมย์ แต่แกไปไม่นานแกก็กลับบอกว่าเป็นห่วงยาย อยากจะช่วยยายทำงาน แกปฏิเสธการรักษาเพราะว่าแกห่วงยาย
แต่สุดท้ายโรคแกลามมากขึ้น สุดท้ายก็มาใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ยายเวลาเยี่ยมก็ไม่ค่อยมีอะไรกินนะ เด็กก็ให้อาหารที่แกมีให้ยายกิน ยากจนมาก วันที่แกจะตาย พยาบาลก็มาให้ยาระงับปวด แกซึ่งพอรู้สึกตัวอยู่บ้าง แกก็ถามว่า คุณหมอ แกเรียกพยาบาลว่าคุณหมอ คุณหมอนั่นอะไรครับ พยาบาลบอกว่ายาระงับปวด เด็กบอกว่าคุณหมอไม่ต้องหรอกครับ ผมไม่ต้องการแล้ว ผมไม่ค่อยปวดแล้ว
แล้วสักพักแกก็บอกว่าผมขออะไรอย่างหนึ่งได้ไหมครับ พยาบาลถามว่าอะไร ผมขอจับแขนคุณหมอ พยาบาลก็ดี ให้แกจับแขน แล้วแกจับอย่างนั้นครึ่งชั่วโมง จนกระทั่งเพื่อนพยาบาลมาเห็น ก็พูดกับ พยาบาลคนนั้นว่า ไม่มีอะไรทำหรือไง คนไข้ยังไม่ได้ฉีดยา ยังไม่ได้ทำแผลอีกตั้งเยอะแยะ ว่างงานหรือไง พอเด็กคนนั้นได้ยินก็เลยบอกว่า คุณหมอครับผมไม่รบกวนแล้วครับ ผมต้องการแค่นี้แหละครับ แล้ว แกก็ปล่อยมือจากแขนพยาบาล คืนนั้นแกก็ไป
แกจับแขนพยาบาลเพราะอะไร เพราะแกเห็นพยาบาลคนนี้มีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อ มีความเมตตากรุณา ไม่เหมือนกับพยาบาลคนอื่น แล้วชีวิตแกนี่ขาดความรัก แกไม่มีพ่อไม่มีแม่ ยากจน คนเรามันโหย หาความรักความเมตตา และความปรารถนาสุดท้ายของเด็กคนนี้ก็คือ ได้รับความเอื้อเฟื้อ ได้รับความเมตตาจากพยาบาลด้วยการสัมผัส พยาบาลก็เข้าใจ พยาบาลจึงยืนให้คนไข้จับแขน พยาบาลเนี่ยอยากจะ ให้คนไข้เขาไปอย่างสงบ แล้วรู้ว่าในส่วนลึกของเด็กเนี่ยเขาพร่องความรัก เขาต้องการ การสัมผัสมันเป็นการที่เขาจะได้รับความรัก และนี่ทำให้เขาตายดี เพราะเขาได้รับสิ่งที่เขาโหยหามาตลอดชีวิต คือความรักความใส่ใจ และพยาบาลคนนั้นมีให้
แต่พยาบาลคนอื่นไม่เข้าใจ ไปคิดว่าพยาบาลก็ทำหน้าที่แค่ทำแผล ฉีดยา ทำหัตถการ คิดว่าคนไข้ต้องการแค่การดูแลทางกาย เปล่าเลย คนไข้เขาต้องการการเยียวยาทางจิตใจ และบางครั้งสิ่งนี้สำคัญมาก เพราะมันทำให้เขาตายอย่างสงบได้ มันไม่ใช่มอร์ฟีน มันไม่ใช่ยาระงับปวด มันไม่ใช่หัตถการ เช่นเดียวกับคุณหมอที่ห้วยแถลง แกก็เข้าใจว่าแกช่วยให้คนไข้รอดชีวิตไม่ได้ แต่อย่างน้อยแกช่วยให้คนไข้ ไปสงบได้ด้วยการไปอยู่เป็นเพื่อน แค่นั้นเอง แต่เรื่องนี้บางทีบุคลากรการแพทย์ไม่เข้าใจ
มีหนุ่มคนหนึ่งเป็นมะเร็ง หมอที่ดูแล ก็ดีมากนะ เอาใจใส่ แต่พอเด็กคนนี้อยู่ในระยะท้าย แล้วท้ายมากๆ คุณหมอคนนั้นหายไปเลย จนเด็กเสียชีวิต ต่อมาโรงพยาบาล ก็จัดการประชุม m&m ก็มีการเชิญแม่ของเด็กที่ตายไปร่วมประชุมด้วย และมีการพูดถึงเคสนี้ แม่ของผู้ตายซึ่งอยู่ในการประชุมนี่ก็ให้ความเห็น หลังจากที่ได้รับการเชื้อเชิญ
แม่ของผู้ตายเล่าว่า เด็กนี่ก็ขอบคุณคุณหมอนะ ที่ช่วยดูแล แต่ลูกของตัวเองไม่เข้าใจว่าทำไมเวลาตัวเองอยู่ในระยะท้าย คุณหมอหายไปเลย ก็ไม่เชิงหาย มาแบบผ่านๆ แป๊บๆ ลูกแกไม่เข้าใจว่าทำไมคุณหมอเปลี่ยนไป เหินห่าง หมอคนนั้นอยู่ในที่ประชุมด้วยก็อธิบายว่า ผมมีเคสคนไข้ที่ป่วยหนักเยอะ ในเมื่อผมเห็นว่าเคสนี้ตายแน่ ช่วยไม่ได้ ผมก็อยากจะเอาเวลาที่มีอยู่น้อย ไปช่วยเคสอื่นที่มีโอกาสจะหาย ฟังดูมีเหตุผลไหม มีเหตุผล
แต่แม่ของผู้ป่วยบอกว่า อันนี้ลูกตัวเองเข้าใจ แต่ว่าลูกตัวเองไม่ได้ต้องการอะไรมาก ต้องการแค่คุณหมอมาทักแล้วก็ยิ้มให้เท่านั้นแหละ แค่นี้เอง แต่คุณหมอไม่เข้าใจไงว่าแค่นั้นแหละมันมีความหมายต่อเด็ก เพราะคุณหมอเข้าใจว่าหน้าที่ของตัวเอง คือการทำหัตถการ คือช่วยชีวิต แต่ไม่ได้คิดว่าทำยังไง ถ้าเด็กจะตายเนี่ย เขาจะตายอย่างสงบได้
ถ้าเห็นว่าเมื่อจะต้องตาย ตายอย่างสงบ ตายอย่างมีคุณภาพ จะเห็นเลยนะว่าการไปทักทายผู้ป่วย ไปยิ้มให้เขา แค่นั้นมีความหมายแล้ว เหมือนกับที่ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง เขาพอใจก็เพียงแค่หมอมานั่งเป็นเพื่อนก่อนตาย แค่นั้นเอง หรือเหมือนกับเด็กคนนั้นที่แค่จับแขนพยาบาลเนี่ยก่อนตาย เขาก็พอใจแล้วไปสงบ
เรื่องของมิติด้านจิตใจเนี่ยสำคัญ บางทีและนี่คือเรื่องที่คุณหมอไม่ว่าจะหมอสมัยใหม่ แผนปัจจุบันหรือแผนไทย รวมทั้งพยาบาล ควรจะเข้าใจว่า
1 เมื่อคนกำลังจะตาย เราสามารถช่วยให้เขาตายอย่างมีคุณภาพได้
2 การตายอย่างสงบเป็นไปได้ และ
3 การตายอย่างสงบเนี่ยแพทย์และพยาบาลช่วยได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยหัตถการเลยก็ได้ แต่ถ้ามีเหัตถการด้วยก็ยิ่งดี ช่วยบรรเทาความปวดทางกาย แต่ถ้าไม่มี หรือถ้าอยู่ในวิสัยที่มันทำไม่ได้แล้ว การ เยียวยา การให้กำลังใจ การตอบสนองความปรารถนาทางจิตใจก็มีความหมายมาก
และนี่คือสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคลากรทางสาธารณสุขควรจะทราบว่า เราสามารถจะทำอะไรได้มากกว่าที่โรงเรียนแพทย์สอน สองเคสแรกที่อาตมาเล่านี่โรงเรียนแทบไม่ได้สอนนะ แต่เขาเรียนรู้จากประสบการณ์ จากชีวิตจริง อาตมามีตัวอย่างแบบนี้อีกเยอะเลยที่จะมาเล่านะว่าการที่แพทย์ไม่ได้ได้ทำหัตถการเลย แค่อยู่เป็นเพื่อนเนี่ยนะ ว่ามันช่วยเยียวยาคนไข้ได้มากเลย
อีกเคสหนึ่ง คนไข้เป็นมะเร็งเต้านม ได้รับการดูแลฉายแสง ฉีดคีโม ตามมาตรฐาน ครบคอร์สหมดทุกอย่าง แต่คนไข้ก็บอกปวดมากๆ แต่หมอกับพยาบาลสังเกตนะว่าเวลาแกเดินเหมือนคนปกติเลย ไม่มีร่องรอยของความปวดเลย วันหนึ่งพยาบาลก็มานั่งคุยกับคนไข้ด้วย ใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่คนไข้เนี่ยพูดฝ่ายเดียว และสิ่งที่พูดก็วนเวียนอยู่กับ 2 คน คือ สามีและลูกชาย เพราะสองคนนี้ไม่อีนังขังขอบเธอเลย ไม่มาเยี่ยม ไม่มาใส่ใจ เธอโกรธ เธอน้อยใจ เธอก็เล่า ระบายๆๆๆ กลับไปกลับมา พยาบาลก็นั่งฟังอย่างสงบด้วยความเข้าใจ ไม่แสดงอาการหงุดหงิด ไม่สอน ไม่แทรก จนกระทั่งคนไข้เนี่ยพูดจบแล้ว
ปรากฎว่าความเจ็บปวดของคนไข้มันหายไปเยอะเลย คนไข้รู้สึกว่าความเจ็บปวดบรรเทาลง เพราะอะไร เพราะความเจ็บปวดก้อนใหญ่ของคนไข้นี่มันคือความโกรธ มันเกิดจากความโกรธ โกรธสามี โกรธลูกผู้ชาย แต่พอความโกรธบรรเทา หลังจากได้ระบายให้พยาบาลฟัง ความปวดก็ทุเลาลง ความปวดของคนไข้ทุเลาโดยที่พยาบาลไม่ได้ให้มอร์ฟีน ไม่ได้ให้หัตถการเลย แค่เป็นเพือนแล้วก็ฟัง
อาตมาเชื่อว่าถ้าหากคนไข้คนนี้ เมื่อถึงระยะท้ายถ้าเกิดรักษามะเร็งไม่ได้แล้ว ถ้าแกยังมีความโกรธแบบนี้อยู่ แกจะตายไม่ดีหรอก ทุกข์ทรมานก่อนตาย ่แล้วตายแบบไม่สวยอ่ะ ตายอาจจะไปทุคติก็ได้ในความเชื่อทางพุทธศาสนา แต่ถ้ามีพยาบาลแบบนี้อยู่ อาตมาเชื่อว่าคนไข้คนนี้ แม้จะตายเขาก็จะตายดี และก่อนตายเขาจะไม่ทุกข์ทรมานมาก เพราะเขามีพยาบาล เขามีเพื่อนที่เข้าใจ
อาตมาคิดว่าเรื่องการเรียนรู้เรื่องการตายดีการตายสงบเป็นสิ่งสำคัญสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ถึงแม้เราไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ มันก็สำคัญสำหรับเรา เพราะเราเป็นมนุษย์ เรามีคนรัก เรามีลูกเรามี พ่อแม่ เรามีปู่ย่าตายาย ซึ่งสักวันก็ต้องตาย และเราเองก็ต้องตาย แต่ถ้าเรารู้เคล็ดลับการตายดี เราช่วยให้เขาไปสงบได้ ไม่ทรมานในขณะที่อยู่ในระยะท้าย และถึงเวลาที่เราต้องมาเจอแบบนี้บ้าง เพราะมันคือ สิ่งที่เราหนีไม่พ้น เราก็จะสามารถประคับประคองใจของตัวเราให้ไปดีได้.