พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แม้มันจะเป็นเหตุการณ์ที่เราไม่ปรารถนา ไม่ประสงค์ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันก็เป็นโอกาสที่ทางพระเขาเรียกว่า หาประโยชน์จากมัน ถ้าเราไม่รู้จักหาประโยชน์จากมัน เราก็จะขาดทุน สิ่งที่แย่ๆ สิ่งที่เราไม่ประสงค์ ไม่ใช่ว่ามันจะมีข้อเสียไปเสียหมด มันก็มีข้อดี
คำถามก็คือว่า มันมีข้อดีอย่างไร ข้อเสียเนี่ยเราก็รู้อยู่แล้ว การที่เราต้องรอ การที่เรารู้สึกอึดอัด หรือกังวล แต่ถ้าเราไม่รู้จักหาประโยชน์จากมัน เราก็ขาดทุนล้วนๆ เลย
ชีวิตเราแต่ละวัน แต่ละปี ก็จะมีเหตุการณ์ที่เราไม่ประสงค์เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ โดยที่เราควบคุมบังคับไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้จักใคร่ครวญหาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็จะลงเอยด้วยการคร่ำครวญ ทำไมมันถึงเกิดขึ้น? ทำไมถึงต้องเป็นฉัน? ทำไมเป็นอย่างนี้? แบบนี้เรียกว่าขาดทุน
เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือเราได้ประโยชน์จากมันอย่างไรบ้าง อาตมาคิดว่าอย่างหนึ่งที่เราได้เรียนรู้ก็คือ มันไม่มีอะไรที่แน่นอน อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ แม้จะวางแผนไว้ดี อย่างเช่นวันนี้ อาตมาก็ตั้งใจว่า ถ้าออกเดินทางล่วงหน้าสักชั่วโมงครึ่งน่าจะถึง ปรากฏว่าไม่ใช่แล้ว มันต้องสองชั่วโมง เพราะการจราจรในกรุงเทพฯ มันหาความแน่นอนอะไรไม่ได้
ประการที่สอง สิ่งที่อาตมาคิดว่าเราจะได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้คือ มันได้ฝึกใจเรา เพราะถ้าเราไม่ใช้โอกาสนี้ฝึกใจเรา เราก็อาจจะลงเอยด้วยความทุกข์เหมือนกัน ด้วยความหงุดหงิด
ฝึกใจเราอย่างไร ฝึกใจเราได้หลายอย่างเลยนะ ฝึกใจเราให้รู้จักยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะถ้าเราไม่ยอมรับ เราก็จะเป็นทุกข์ จิตมันจะมีอาการผลักไส ลองสังเกตดู เวลาครึ่งชั่วโมงหรือสี่สิบนาทีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ฟังหรือผู้จัด มันมีอะไรเกิดขึ้นในใจเรา มีความกังวล มีความหงุดหงิด มีความไม่สบายใจ ตรงนี้ถามว่าเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะความคาดหวัง แล้วไม่ใช่ความคาดหวังธรรมดานะ เราไปยึดติดกับความคาดหวัง
พอเราไปยึดติดกับความคาดหวัง อะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปดังใจคาดหวัง เราจะหงุดหงิดเลย เราจะทุกข์ แล้วถ้าเรามองไม่เป็น เราจะคิดว่าสิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับเรา ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา อาจจะเป็นการกระทำหรือคำพูดของใครบางคน
แต่ที่จริงมันไม่ใช่นะ หลายคนเจอรถติดแต่จิตเขาไม่ตก มีเพื่อนอาตมาคนหนึ่งเรียกแท็กซี่เพื่อไปวัดพระแก้ว นัดกับพี่สาวไว้ จะไปทำบุญที่นั่น แล้วเช้าวันนั้นรถมันติดมากคล้ายๆ กับวันนี้เลย แล้วรถก็ ขยับเขยื้อนช้ามาก เขาเองเลยเวลานัดกับพี่สาวไปแล้ว ก็ติดต่อโทรบอกพี่สาวว่าให้รอหน่อย เดี่ยวอีกสัก 15 นาทีคงถึง แต่ 15 นาทีผ่านไปก็ยังไม่ถึง ไปไม่ไกลเลย เขาหงุดหงิด เขารุ่มร้อน แต่ก็สังเกตคนขับ แท็กซี่ไม่มีอาการที่ว่าเลย กลับรู้สึกสบายๆ แถมเปิดเพลงจากวิทยุฟังแล้วก็ร้องเพลงคลอตามขณะที่รถติด
เขาก็แปลกใจนะ เพื่อนอาตมาที่เป็นผู้โดยสารเขาแปลกใจว่า ทำไมโชเฟอร์จึงไม่มีอาการหงุดหงิดเลย เพราะที่จริงโชเฟอร์ควรจะหงุดหงิดด้วย เพราะแท็กซี่เขาก็ต้องการทำเวลาเหมือนกัน ถามพี่ไม่ หงุดหงิดเลยเหรอ บอกผมไม่หงุดหงิดหรอกครับ เพราะหงุดหงิดไปก็ไม่ได้ทำให้รถมันติดน้อยลง หรือทำให้รถถึงที่หมายเร็วขึ้น
แล้วแกก็พูดอีกประโยคหนึ่งว่า อยู่กรุงเทพฯ มันก็ต้องยอมรับล่ะนะว่ารถติดมันธรรมดา แกบอกว่าแกเคยทำงานกินเงินเดือนบริษัทแล้วมันไม่มีอิสระ ก็เลยลาออกมาขับรถแท็กซี่ แกบอกว่าคนเราเนี่ย เวลาจะ เปลี่ยนอาชีพหรือจะทำอาชีพอะไร มันก็ต้องคิดนะว่าจะเจออะไรบ้าง ผมเลือกขับแท็กซี่ ผมก็รู้ว่าต้องเจอรถติด แล้วผมก็ยอมรับมันได้ เพราะฉะนั้นผมไม่หงุดหงิดอะไรเลย เพราะอะไร เพราะยอมรับตั้งแต่แรก แล้วว่า ขับรถในกรุงเทพฯ เนี่ยรถติดเป็นธรรมดา
คนหนึ่งหงุดหงิดเพราะรถติด อีกคนหนึ่งจิตไม่ตกเลยเพราะเขายอมรับ แล้วอาจจะเป็นเพราะเขาไม่ได้มีความคาดหวังว่ามันจะต้องถึงที่หมายตามกำหนด เพราะอะไรๆ ก็ไม่แน่นอน
บางทีเราไม่ได้ตระหนักนะว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจเรา ไม่ได้เกิดจากสิ่งอื่นนอกตัวเรา แต่เกิดเพราะความยึดติดในความคาดหวังของเราเอง
มีผู้หญิงคนหนึ่ง เธอมีความทุกข์เสียใจเพราะชายที่เธอรัก เธอรู้สึกว่าเขาไม่ค่อยเอื้อเฟื้อเธอเท่าไหร่ เธอขอให้เขาช่วยงานอะไร เขาก็ช่วยแบบไม่ได้เต็มที่ เธอก็เสียใจ โกรธ ต่อว่าเขา แต่เขาก็ไม่ได้ตอบโต้นะ
มาวันหนึ่งเธอกำลังเลี้ยงแมว เธอมีแมวตัวหนึ่ง เป็นแมวที่เธอเก็บมาจากข้างถนน แล้วมันก็มีบาดแผล เธอก็เยียวยารักษามัน แต่บ่อยครั้งมันก็ชอบข่วน แล้วบางทีก็กัดเธอ เพราะเป็นแมวที่ค่อนข้างจะก้าวร้าว อาจจะเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีมา แต่เธอก็ไม่เคยโกรธแมวตัวนี้เลยเพราะเธอรักมัน แต่มีช่วงหนึ่งที่เธอฉุกคิดว่า เอ๊ะ ฉันก็รักผู้ชายคนนี้นะ แต่ทำไมฉันโกรธเขา ในเมื่อเขาทำอะไรไม่ถูกใจฉัน แต่แมวตัว นี้มันกัดมันข่วนฉัน ฉันไม่โกรธเลย แล้วเธอก็พบว่าสาเหตุก็คือ ความคาดหวัง เธอไม่คาดหวังอะไรกับแมวตัวนี้ แต่เป็นเพราะเธอคาดหวังกับผู้ชายคนนั้น พอเขาไม่เป็นไปอย่างที่เธอคาดหวัง เธอก็เลยทุกข์ เธอก็เลยโกรธ
เธอเลยพบว่า จริงๆ แล้วความทุกข์ของเธอ มันไม่ใช่เป็นเพราะการกระทำหรือคำพูดของเขาหรือของใคร แต่มันเป็นเพราะความคาดหวัง ถ้าเธอไม่คาดหวังอย่างที่เธอไม่คาดหวังแมวตัวนั้น มันกัดมันข่วนเธอ เธอก็ไม่ทุกข์ ไม่โกรธ แต่เพราะเธอคาดหวังชายคนนั้น พอเขาไม่เป็นไปอย่างที่เธอคาดหวัง เธอเลยโกรธ เลยทุกข์ ตรงนี้คือการเรียนรู้ที่สำคัญของโยมคนนั้น พูดอีกอย่างหนึ่งแบบพุทธก็คือ เธอพบว่าสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจเรา มันไม่ได้อยู่ที่การกระทำของคนอื่น
อาตมาคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญทีเดียวที่เราจะต้องมองให้เห็นว่า เมื่อเวลาเราทุกข์โดยเฉพาะทุกข์ใจ ลองดูสาเหตุว่ามันเกิดจากอะไร มันไม่ใช่การกระทำของคนอื่น มันไม่ใช่เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา แต่เป็นเพราะอะไรบางอย่างในใจเราเช่น ความยึดติด แล้วความยึดติดที่สำคัญโดยเฉพาะความยึดติดกับคนที่เรารัก คือ ความคาดหวัง
อาจารย์คนหนึ่ง มีลูกชายเรียนเก่ง สอบแพทย์ได้ลำดับต้นๆ แล้วก็เรียนดีมาตลอดจนกระทั่งปี 4 วันหนึ่งลูกชายก็มาบอกพ่อว่า ผมไม่ไหวแล้วนะ ผมเรียนต่อไม่ไหวแล้ว ผมไม่ชอบรักษาคนไข้ ผมทนเห็น เลือดเห็นหนองไม่ได้ ผมจะขอลาออก เพราะผมอยากจะเป็นนักวิเคราะห์การเงิน แล้วลูกชายก็ลาออกจริงๆ นะ เรียนแพทย์ปี 4 อีกสองปีก็จะจบ ลาออกเพื่อจะไปเรียนไฟแนนซ์
ผู้เป็นพ่อนี่เสียศูนย์ไปเลยนะ ผิดหวัง นอนไม่หลับกระสับกระส่าย รู้สึกเป็นทุกข์มากเลย จนกระทั่งแทบไม่เป็นผู้เป็นคน ขนาดนี้เลยนะ เพราะผิดหวังในตัวลูก ทุ่มเทในตัวลูกมาก อุทิศเสียสละเพื่อลูก แต่ลูกกลับทำอย่างนี้
แล้ววันหนึ่งอาจารย์ท่านนี้ก็ได้ฟังคำบรรยายของอาตมา ที่ตอนหนึ่งบอกว่า คนเราเนี่ยได้เท่าไหร่ ถ้าไม่พอใจมันก็ทุกข์ ได้ร้อยล้าน ถ้าไม่พอใจ ไม่รู้จักพอ ก็ยังทุกข์ ขณะที่คนหาเช้ากินค่ำได้วันละ 300-400 เขาพอใจ เขาก็มีความสุข มันไม่ได้อยู่ที่ว่าได้มากหรือได้น้อย มันอยู่ที่ใจ
แล้วอาจารย์ท่านนี้ก็นึกไปถึงพี่ชายที่เป็นแพทย์ใหญ่ มีลูกซึ่งพิการแต่กำเนิด นอนติดเตียง ผู้เป็นพ่อเสียใจมาก กลัดกลุ้มจนกระทั่งตอนหลังต้องพึ่งเหล้า แล้วกินเหล้าจนติด กลายเป็นโรคสุราเรื้อรังแล้วก็ ตายเพราะเหล้า อาจารย์มานึกถึงพี่ชายแล้วก็รู้สึกว่า เรานี่โชคดีนะ เราไม่ได้มีลูกที่ป่วยติดเตียง ลูกเราก็เป็นคนดี ไม่ได้เกกมะเหรกเกเรติดยาอะไร แล้วที่จริงลูกก็รู้ว่าตัวเองใฝ่ฝันอะไร ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เป็น สิ่งที่พ่อควรจะสนับสนุน แต่ทำไมจึงมาทุกข์ที่ลูกเลือกวิถีทางของเขา แล้วพ่อก็เลยพบว่า เป็นเพราะไปยึดติดกับความคาดหวังของตัวเอง
แล้วก็ได้คิดว่า เป็นเพราะเราไปยึดในตัวกูของกูมากไป จนลูกต้องเป็นไปตามความคาดหวังของกู พอลูกไม่เป็นไปตามความคาดหวังก็เลยทุกข์ ผิดหวังจนกระทั่งไม่เป็นผู้เป็นคน มันเป็นที่ตัวพ่อที่ไปยึดติด กับความคาดหวัง อยากจะให้ลูกเป็นไปดังใจตัว พอได้คิดแบบนี้ แกเล่าว่าหายทุกข์เลย แล้วรู้สึกว่าที่ลูกเราเลือกแบบนี้มันก็ดีแล้ว ตัวผู้เป็นพ่อก็กลับมากินได้ กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
อันนี้เห็นเลยนะว่า ความทุกข์ของอาจารย์คนนี้มันไม่ได้เกิดจากการกระทำของลูก แต่มันเกิดจากความยึดติดในความคาดหวังของตัว แล้วอาตมาคิดว่าตรงนี้คือบทเรียนสำคัญ ซึ่งอาตมาคิดว่าเราสามารถเรียนรู้ได้จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์
ถ้าเราไม่คิดจะเรียนรู้จากมัน เราใช้แต่ความรู้สึก เราจะขาดทุน รถติดจิตก็ตก ลูกไม่เป็นไปดั่งใจก็เสียศูนย์ แต่ถ้าเกิดว่ารู้จักใคร่่ครวญหาประโยชน์จากมัน เราจะได้กำไร ทุกอย่างเลยนะ
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านเล่าสมัยที่ท่านหนุ่ม ไปจำพรรษาอยู่ที่อุบล วันหนึ่งท่านไปบิณฑบาตรแถวตัวเมืองอุบล ก็เห็นโยมผู้หญิงคนหนึ่งยืนรอใส่บาตรกับลูกชายอายุประมาณ 5 ขวบ ท่านก็เดินไปรับบาตร พอเดินใกล้ถึง เด็กชายคนนั้นพูดโพล่งขึ้นมาเลยนะว่า “มึงบ่แม่นพระดอก” แปลว่ามึงไม่ใช่พระหรอก
พูดต่อหน้าหลวงพ่อพุธ พอท่านได้ยินทีแรกฉุนเลย เพราะไม่เคยมีใครพูดอย่างนี้กับท่าน แต่สักพักท่านได้สติขึ้นมา เห็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ มันก็มีเสียงหนึ่งดังขึ้นมาว่า “เออจริงของมัน เราไม่ใช่พระหรอก เพราะถ้าเราเป็นพระเราต้องไม่โกรธ” พอนึกได้เช่นนี้ ความโกรธหายไปเลย แล้วท่านก็เดินไปรับบาตรจากโยมคนนั้นด้วยอาการปกติ ไม่ได้โกรธโยมที่ไม่ได้สอนลูก ไม่ได้โกรธเด็กที่พูดจาอย่างนั้นกับท่าน
ตอนหลังท่านบอกว่าเด็กคนนี้คืออาจารย์ของท่าน เด็กที่พูดจาหยาบกับท่านนี่คืออาจารย์ของท่าน เพราะทำให้ท่านเห็นว่าเรายังมีความยึดติดในตัวกูอยู่ ยังมีกิเลสอยู่จึงโกรธเด็กคนนั้น
นี่เรียกว่าท่านได้ประโยน์จากการถูกด่า ประโยชน์ตรงนั้นคือได้เห็นตัวเอง เราชาวพุทธถ้าหากสนใจใฝ่ฝึกฝนพัฒนาตน การได้รู้จักหรือเห็นตัวเองเป็นทรัพย์นะ เป็นบทเรียนที่สำคัญมากเลย แต่ถ้าเราปรารถนา คำชื่นชมสรรเสริญจากผู้คน เราจะกลายเป็นคนที่ทุกข์ง่าย ใครไม่ชมเรา เราก็ทุกข์ แม้แต่ใครที่ชมแล้วไม่ชมบ่อย เราก็ทุกข์ แต่ถ้าเรามุ่งที่จะขัดเกลาจิตใจตนเอง เราก็จะกลับมองว่าคนที่เขาว่าเรานี่ เขาเป็น อาจารย์เรา เขามาฝึกให้เรามีสติ รู้ทันความโกรธ รวมทั้งฝึกลดละกิเลส
ที่วัดของหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล มีแม่ชีคนหนึ่งชื่อเเม่ชีสา เป็นแม่ชีที่อุปัฏฐากพระเฌรดีมาก แล้วก็ปฏิบัติดีด้วย วันหนึ่งหลวงปู่ขาวเรียกพระที่เป็นลูกศิษย์มาสองรูป เรียกมาทำไม เรียกมาให้ไปว่าให้ไปด่าแม่ชีสา ทั้งสองรูปนี้ก็งงนะ แต่ครูบาอาจารย์สั่งก็ไป ไม่มีคำถาม ทั้งสองท่าน ท่านหนึ่งภายหลังก็คือหลวงปู่จวน ก็ไปที่กุฏิแม่ชีสา เรียกแม่ชีสาออกมา พอแม่ชีสาออกมาทั้งสองท่านก็รุมด่าเลย แต่ที่จริงผลัดกันด่ามากกว่า เพราะเรื่องแบบนี้ท่านไม่ค่อยคล่อง ต้องช่วยกัน
แม่ชีสาทีแรกก็งงนะ พอตั้งสติได้ก็พนมมือฟังด้วยอาการสงบ เมื่อพระสองรูปด่าว่าจนไม่รู้จะว่าอะไรแล้วก็หยุด แม่ชีสาก็พูดขึ้นมาว่า “ท่านอาจารย์ด่าว่าดิฉันหมดแล้วเหรอ ดิฉันฟังแล้วซาบซึ้งใจเหลือเกิน ที่พูดมานี่เป็นธรรมะทั้งนั้นเลย คราวหน้านิมนต์มาด่าว่าใหม่นะ กิเลสมันจะได้หมดซะที”
ท่านไม่ได้โกรธเลย แล้วไม่ได้น้อยใจเลยนะว่า ทำไมครูบาอาจารย์มาว่าเรา เราอุตส่าห์ทำดี ทำไมท่านไม่เห็นความดีของเรา แล้วเกิดแม่ชีคนอื่นในวัดรู้ว่าครูบาอาจารย์มาด่าว่าเรา เราจะเอาหน้าไปซุกไว้ที่ไหน ไม่มีทั้งความโกรธทั้งความน้อยใจ กลับมีความยินดี เพราะอะไร เพราะทั้งสองท่านมาให้การบ้านกับท่าน คำด่าว่าก็คือสิ่งที่จะมาใช้ในการลดละกิเลส ขูดกิเลสหรือความยึดติดในอัตตาให้หมดไป
คนที่มีปัญญา ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นกับตน แม้จะเป็นอนิฏฐารมณ์ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่ไม่น่าพอใจ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกต่อว่าด่าทอ แทนที่จะปล่อยใจให้ทุกข์ กลับรู้จักหาประโยชน์จากมัน เป็น ประโยชน์ในทางธรรม เป็นประโยชน์ในการฝึกตน เป็นประโยชน์ในการที่จะได้เห็นว่า รากเหง้าแห่งความทุกข์หรือสมุทัยคืออะไร
แล้วสำคัญมากถ้าเราตระหนักว่า รากเหง้าของความทุกข์อยู่ที่ใจเรา ไม่ใช่ที่คนอื่น ไม่ได้อยู่ที่แดดร้อน อากาศหนาว ฝนตก รถติด การกระทำคำพูดของใคร แต่อยู่ที่ใจของเรา คนด่าเราถ้าเราไปยึดติดถือมั่น เราก็ทุกข์ แต่บ่อยครั้งมีคนมาว่าเรา ทำไมเราไม่ทุกข์ อย่างเช่นบางทีอาจจะมีผู้ชายมาตะโกนด่าเราบนถนน แต่หลายคนไม่โกรธนะ เพราะอะไร เพราะเห็นว่าคนนั้นเป็นคนบ้า เป็นคนเมา
เวลาคนบ้าคนเมามาว่าเรา เราไม่โกรธเพราะอะไร เพราะเราไม่ถือ โยมอาจจะเคยนะ กำลังดูสินค้าตรงแผงข้างถนน ยืนดูเพลินๆ ก็มีคนเดินมาชนข้างหลังจนเซถลา ทีแรกก็โกรธนะ เหลียวไปกะจะด่าซะหน่อยด้วยความโกรธ ปรากฏว่าเขาเป็นคนตาบอด พอตาบอดก็เลยเดินมาชนเรา เกิดอะไรขึ้นกับเรานะ ความโกรธหายไป เพราะอะไร เพราะไม่ถือ
เห็นได้ว่าใครทำอะไรกับเรา มันไม่ได้ทำให้เราโกรธหรอก มันอยู่ที่ว่าเราถือหรือเปล่า เราถือหรือยึด เราก็โกรธ ถ้าเราไม่ถือเราไม่ยึด เราก็ไม่โกรธ ฉะนั้นสมุทัยของความทุกข์มันอยู่ที่ใจเรา โดยเฉพาะความทุกข์ใจ
อาตมาได้พูดถึงว่า เวลาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ให้เรารู้จักหาประโยชน์จากมันให้ได้ อย่าไปขาดทุน แต่ก่อนที่จะถึงตรงนั้นต้องรู้จักรักษาใจไม่ให้ทุกข์ก่อน เมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นหรือเหตุการณ์ไม่พึง ประสงค์เกิดขึ้น อย่างแรกที่เราควรทำถ้าเรารักตัวเอง คือรักษาใจไม่ให้ทุกข์ เวลารถติดจิตไม่ตก เวลาเสียเงินก็เสียแต่เงิน แต่ใจไม่เสีย เวลาป่วย ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย เวลางานมีอุปสรรคล้มเหลว ล้มเหลวแต่งาน แต่ใจไม่ล้มเหลว
หลวงพ่อของอาตมา หลวงพ่อคำเขียน ท่านเป็นพระที่ทำงานด้านกรรมฐานแล้วก็ด้านการรักษาป่า ท่านบอกว่าที่ท่านรักษาป่า มันไม่ค่อยสำเร็จเลยนะ ป่าก็ถูกไฟไหม้ ท่านก็ยอมรับนะว่า งานรักษาป่าของ ท่านล้มเหลว แต่หลวงพ่อไม่ล้มเหลวนะ ท่านพูดอย่างนี้ “งานล้มเหลว แต่หลวงพ่อไม่ล้มเหลว”
เช่นเดียวกันนะ เอาง่ายๆ เวลารถติดนะ เสียเวลา แค่นี้มันก็มากพอแล้ว อย่าปล่อยให้เสียใจ หรือใจเสีย หรือเสียอารมณ์ด้วย อาตมาว่าเราต้องทำให้ได้อย่างนี้ก่อน เสียเวลาเพราะรถติดแต่ใจไม่เสีย จะทำ อย่างนั้นได้ยังไงนะ ก็ต้องมีสติ เวลามันเกิดความหงุดหงิด เกิดความเสียใจ มีสติเห็น รู้ทันความหงุดหงิด รู้ทันความเสียใจ ถ้ามีสติรู้ทันมันก็ช่วยได้เยอะแล้วนะ แค่เห็น หลวงพ่อคำเขียนท่านใช้คำว่า “เห็น อย่าเข้าไปเป็น”
ธรรมชาติของใจ ธรรมชาติของอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เราไม่ต้องทำอะไรกับมันนะ แค่รู้ทันมันก็พอ ความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น เรารู้ทันมัน มันก็จะดับไป ความหงุดหงิดเกิดขึ้น รู้ทันมัน มันก็หายไป ความโกรธ เกิดขึ้น รู้ทันมัน มันก็ดับไป ไม่ต้องไปกดข่มมัน แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ทันนะ ก็ปล่อยใจให้มันครอบ ให้มันครอบงำ ให้มันเผาผลาญใจ ให้มันบีบคั้นใจ นี่เราทุกข์เพราะเหตุนี้ เราทุกข์เพราะเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น เรา ไม่รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ โกรธ เกลียด เครียด เศร้า ห่อเหี่ยว มันเลยครอบงำใจ
คุณไม่ต้องไปต่อสู้ผลักไสกับมัน แล้วก็รักษาใจอย่าไปคล้อยตามหรือปล่อยให้มันครอบงำ แค่รู้ทันมัน เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่ดูลย์นี่ท่านเป็นศิษย์รุ่นแรกของหลวงปู่มั่น มีคนถามท่านว่า “ทำ ยังไงจะตัดความโกรธให้ขาดได้” อันนี้คงเป็นคำถามของหลายคน อาจจะเปลี่ยนจากความโกรธเป็นความเครียดหรือความเศร้าก็ได้
หลวงปู่ท่านตอบว่า “ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทันมัน เมื่อรู้ทันมัน มันก็ดับไปเอง” สำคัญมากนะ รู้ทันมันได้เพราะอะไร เพราะมีสติ ถ้าเรามีสติ เห็นอารมณ์เกิดขึ้น แค่นั้นแหละมันก็จะค่อยๆ เลือนหายไป เพราะมันเหมือนกับไฟที่ต้องการออกซิเจน เราจะดับไฟ เราเพียงแต่ไม่ให้ออกซิเจนกับมัน มันก็ดับไปเอง อารมณ์พวกนี้มันเกิดขึ้นเมื่อเราหลง เมื่อเราลืมตัว แต่พอเรามีสติ เรารู้สึกตัวขึ้นมา มันก็หาย
การเฝ้าดูนี่มันช่วยนะ การเห็น อย่าว่าแต่นักปฏิบัติเลยนะ เพื่อนอาตมาเล่าว่า ตอนที่ลูกสาวอายุ 12 ซึ่งตอนนี้ก็ 20 ปีมาแล้วนะ วันหนึ่งลูกสาวกลับมาจากโรงเรียน ลูกสาวบอกว่าอยากได้ของเล่น ไปเห็นที่ ร้านตอนที่เดินกลับบ้าน อยากได้มากเลย “อะไรเหรอ” แม่ถาม มันเป็นไมโครโฟนนะ พอกดแล้วมันมีเสียงเพลง สมัยนั้นยังไม่มีสมาร์ทโฟน สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือสำหรับเด็กอายุ 12 ได้ของเล่นแบบนี้ มันก็หรูแล้วนะ กดแล้วมันร้องเพลง เจ้าตัวก็ร้องเพลงเป็นเสียงเพลง แม่ถามว่าเท่าไหร่ “400” สำหรับครอบครัวที่บ้านนี้ 400 ถือว่าแพง
ปกติแม่เจอเหตุการณ์แบบนี้ก็จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง คือ หนึ่งตามใจลูก สองขัดใจลูก ตามใจลูกคือซื้อให้ ขัดใจลูกคือไม่ซื้อให้ แต่แม่คนนี้ฉลาด รู้ว่าเด็กอยากได้มากก็เลยบอกลูกว่า ถ้าหนู อยากได้นะ แม่ก็จะให้แต่มีเงื่อนไขสองข้อ หนึ่ง แม่จะหักค่าขนมหนูวันละครึ่ง 10 วัน สอง ทุกวันก่อนที่ลูกจะกลับมาบ้าน ให้ลูกไปที่ร้านของเล่นนั้น ดูของเล่นชิ้นนั้น แล้วให้ลองสังเกตความอยากไปด้วย
ปรากฏว่าเด็กดีใจ ยินดี โอเค แล้วก็ทำตามที่รับปาก ทุกเย็นก่อนกลับบ้าน เด็กก็จะไปที่ร้าน แล้วดูของ แล้วก็ทำตามที่แม่บอกคือ สังเกตความรู้สึกความอยาก ทำไปได้สามวัน วันที่สี่กลับมาบ้านบอกแม่ว่า “หนูไม่เอาแล้ว ของเล่นนี่” “อ้าวทำไมล่ะ” “หนูเบื่อแล้ว เอาเงิน 400 บาทไปทำอย่างอื่นดีกว่า” ความอยากของเด็กนี่หายไปเลย เพราะอะไร เพราะแม่แนะนำให้ลูกมาสังเกตความอยาก เด็กไม่รู้หรอกนะว่า การ สังเกตความอยากก็คือการใช้สติเข้ามาดู แม่สอนให้ลูกมีสติรับรู้ความอยากที่เกิดขึ้น แล้วธรรมชาติของอารมณ์ พอมันถูกรู้ถูกเห็นด้วยสติ มันก็จะค่อยๆ ฝ่อไป
อันนี้ก็คือวิธีหนึ่งในการที่จะช่วยรักษาใจไม่ให้ทุกข์ เวลาเจอกับรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่ไม่น่าพอใจ หรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ดูใจของเรา หรือมิฉะนั้นก็ยอมรับมันอย่างที่พูดไป
มีผู้หญิงคนหนึ่ง อายุ 30 ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ วันหนึ่งพบว่าตัวเองเป็นมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ แล้วก็เป็นชนิดที่มักจะเกิดขึ้นกับคนแก่หรือคนที่สูบบุหรี่ เธอไม่เคยสูบบุหรี่เลย แล้วเธอก็เพิ่งอายุ 30 ตอนที่เธอพบว่าเป็นมะเร็ง ใหม่ๆ นี่เธอโกรธ เธอเกรี้ยว เธอเหวี่ยง
เธอวีนทั้งหมอแล้วก็คนที่บ้าน เหวี่ยงวีนใส่หมอว่าทำไมหมอเพิ่งมาบอก บอกช้าไป แต่ที่เหวี่ยงวีนใส่แม่ก็คงเพราะว่าเกิดความทุกข์ เกิดความไม่พอใจ ว่าทำไมถึงต้องเป็นฉัน แต่ตอนหลังเธอก็เริ่มสนใจ เรื่องการทำสมาธิ การเจริญสติ ก็เลยไปเข้าคอร์ส แล้วคงจะเห็นอะไรบางอย่างในใจ เธอเห็นอะไร เธอบอกว่าที่เธอทุกข์เพราะใจมันไม่ยอมรับ พอใจเธอยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ความทุกข์ใจมันเบาเลย
เธอพูดไว้น่าสนใจว่า มะเร็งมันไม่ทำให้รอยยิ้มหายไป ความทุกข์ใจต่างหากที่มันทำ แล้วที่ทุกข์ใจเพราะอะไร เพราะไม่ยอมรับ เธอพูดไว้ประโยคหรือสองประโยคน่าสนใจมากนะ เธอบอกว่า “ความจริงบางครั้งก็โหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงต่างหากที่โหดร้ายกว่า เพราะมันเหมือนคุกที่ขังใจเราเอาไว้” พอเธอทำใจยอมรับได้ โรคยังไม่หายนะ โรคก็ยังลุกลาม แต่ใจหรือความทุกข์ใจมันลดลง
อันนี้คือวิธีการรักษาใจไม่ให้ทุกข์ แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวนะ ปัญญานี่ก็ช่วยได้นะ ปัญญาคือความเข้าใจความจริง เข้าใจว่ามันไม่เที่ยง เข้าใจว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตน หรือยึดเป็นเราเป็นของเราได้ คนเราทุกข์เพราะความยึดติด ตอนแรกอาตมาก็พูดถึงการยึดติดในความคาดหวัง แต่ยึดติดที่อาตมาพูดนี่คือ ยึดติดในความเป็นเรา เป็นของเรา
อะไรที่เราคิดว่าเป็นของเรา พอมันสูญไปมันหายไปนี่ทุกข์มากเลย แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันก็ช่วยคลายทุกข์ได้ ตอนปี 54 เราทราบกันดีว่าเกิดน้ำท่วมใหญ่ ผู้คนนับล้านสูญทรัพย์ เสียข้าวของ หลายคนก็สิ้นเนื้อประดาตัว
มีผู้หญิงคนหนึ่งก็เจอเหตุการณ์เจอความสูญเสียเหมือนกัน ทีแรกเธอก็ทุกข์ แต่ตอนหลังเธอก็ทำใจได้ เพราะได้ตระหนักว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย ทุกอย่างนี่มันอยู่กับเราเพียงแค่ชั่วคราว เราเป็น เจ้าของมันแค่ประเดี๋ยวประด๋าว แล้ววันหนึ่งน้ำท่วม ไฟไหม้ ก็เผาผลาญพรากสิ่งเหล่านี้ไปจากตัวเธอ
พอเธอเห็นตรงนี้ เธอไม่ทุกข์แล้ว ทรัพย์เสียไปแต่ใจไม่เสีย เพราะไม่ได้ยึดในทรัพย์นั้น เพราะมันกลายเป็นอดีตไปแล้ว เมื่อเราเสียทรัพย์แล้วเรายังทุกข์ด้วยความเสียใจ ด้วยความคับแค้น เพราะเรายังยึดสิ่งนั้นอยู่ ความยึดติดนี่มันทำให้เราทุกข์ แล้วมันจะเผาผลาญใจเรา แต่พอเราวางมันได้ ใจก็หายทุกข์
ผู้ชายคนหนึ่งชื่อดำริ อายุแค่สามสิบกว่า เป็นช่างไฟ วันหนึ่งปรากฏว่าเกิดอุบัติเหตุสายไฟฟ้าแรงสูงมาพาดถูกต้นขา ปรากฏว่าต้องตัดขาทั้งสองข้างทิ้ง กลายเป็นคนพิการ หลังจากนั้นไม่นานภรรยาก็ทิ้งเขาไป มันเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดนะ เสียขาแล้วเสียภรรยา
ก็มีคนถามว่าคุณรู้สึกยังไงที่ภรรยาทิ้งคุณไป ดำริก็ตอบว่า “ผมไม่รู้สึกอะไรหรอกครับ ขนาดขาสองข้างมันยังไม่อยู่กับผมเลย แล้วจะให้เมียมาอยู่กับผมได้อย่างไร” แกไม่ทุกข์นะ เพราะแกเห็นสัจธรรมความ จริงว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นของเราเลย แล้วเห็นจากอะไรนะ เห็นจากขาสองข้างที่เสียไป ขาที่มันอยู่กับเราหรือเขามาตั้งแต่ก่อนเกิด คือตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ วันดีคืนดีก็ต้องสละหรือทิ้งไป เพราะถ้าไม่ยอมสละ ไม่ ยอมตัดขา ก็อาจจะติดเชื้อในกระแสโลหิตเสียชีวิต
แต่การที่ต้องเสียขาก็ทำให้ได้เห็นว่า ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย แล้วพอเห็นเช่นนี้ ถึงเวลาที่ภรรยาทิ้งไปเขาก็ไม่ทุกข์ จะว่าไปเนี่ยกรณีของคุณดำริก็ชี้ให้เห็นว่า คนเราก็หาประโยชน์จากทุกข์ได้เหมือนกันนะ ไม่ใช่แค่เป็นตัวอย่างของการรักษาใจไม่ให้ทุกข์ แต่การที่เขาเสียขามันก็ทำให้เขาเห็นสัจธรรม อันนี้ก็เรียกว่าได้ประโยชน์จากการสูญเสีย เสียขาแต่ได้ปัญญา เหมือนกับที่ผู้หญิงคนนั้นเสียทรัพย์แต่ได้ปัญญาหรือได้ธรรมะว่า “ไม่มีอะไรที่เป็นของเรา”
แล้วปัญญาตรงนี้ มันจะช่วยรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้แม้มีความสูญเสีย เวลาป่วยก็ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย เวลาเสียก็เสียแต่ทรัพย์ ใจไม่เสีย หรือนอกจากรักษาใจไม่ให้ทุกข์ยามเจ็บป่วยแล้ว ก็อาจจะเห็นสัจธรรมจากความเจ็บป่วยด้วยว่า ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเลย
อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า “ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาด” ฉลาดในเรื่องของสังขารว่ามันไม่เที่ยง ว่ามันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ท่านก็เตือนนะว่า ป่วยทุกครั้งก็ให้ฉลาดทุกครั้ง ฉลาดในเรื่องของสัจธรรม เรื่องของสังขาร อันนี้ก็เรียกว่าหาประโยชน์จากทุกข์
แล้วเมื่อมีสติ ปัญญา หรือการรู้จักยอมรับความจริง มันเป็นภูมิคุ้มใจ หรือภูมิคุ้มกันรักษาใจที่ดีมาก ร่างกายเราที่ไม่เจ็บไม่ป่วย ไม่ใช่เพราะไม่มีเชื้อโรค เชื้อโรคมันกระจายไปทั่ว ไม่ใช่โควิด มันมีเชื้อมากมายที่เข้าสู่ร่างกายเรา ทางจมูกบ้าง ทางผิวหนังบ้าง แต่ทำไมเราไม่ป่วย เพราะเรามีภูมิคุ้มกันรักษาร่างกาย เชื้อโรคเข้ามาเจอภูมิคุ้มกันในร่างกายเรา ถ้าไม่ถูกทำลายก็ถูกจำกัดไม่ให้อาละวาด
อย่างโยมหลายคน ถ้าป่วยจริงๆ ก็อาจจะพบเชื้อวัณโรค ประมาณ 1 ใน 3 ของคนในโลกมีเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกาย แต่ทำไมไม่ป่วย ส่วนใหญ่ไม่ป่วยนะ เพราะอะไร เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายเอาอยู่ เชื้อมันก็เลยไม่ลามจนป่วย ที่เราไม่ป่วยไม่ใช่เพราะไม่มีเชื้อโรค แต่เพราะมีภูมิคุ้มกันรักษาร่างกายเราไว้ฉันใด ถ้าเราจะปกติสุขได้ ไม่ใช่เพราะไม่เจอความทุกข์ แต่เป็นเพราะว่าเจอทุกข์แล้วเรามีภูมิคุ้มกันรักษาใจไม่ให้ใจทุกข์
เชื้อโรคเป็นธรรมดา มีอยู่ทุกหนแห่ง ความทุกข์ก็เป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นกับเราได้ตลอดทั้งชีวิต ความทุกข์ในที่นี้ก็คือ ความพลัดพรากสูญเสีย ความเจ็บความป่วย อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ามีสองอย่างใหญ่ๆ คือ ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก และพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความทุกข์ของคนเราก็ทำนองนี้ สองประการนี้แหละเป็นส่วนใหญ่
ประสบกับสิ่งที่ไม่ดี ความร้อน ความหนาว ความหิว ความเจ็บ ความป่วย คำต่อว่าด่าทอ หรือพลัดพรากจากสิ่งที่ดี สิ่งที่ให้ความสุข เช่น เงินทอง ชื่อเสียง การงาน หน้าตา คนรัก แต่เมื่อเจอแล้วใจไม่ทุกข์ได้นะ เพราะอะไร เพราะมีภูมิคุ้มกันรักษาใจ
ไม่ใช่ว่าชีวิตเราจะราบรื่น ชีวิตเราไม่ราบรื่นไปตลอดเหมือนถนนแปดเลนหรอก แต่จิตใจเรายังสามารถปกติได้ ไม่ทุกข์ก็เพราะมีภูมิค้มกันรักษาใจ แม้เจ็บป่วย ใจก็ไม่ทุกข์ เพราะรู้ว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา หรือเพราะเห็นสัจธรรมตั้งแต่แรกว่า มันไม่มีเรา
หลวงปู่บุดดา ท่านเคยไปผ่านิ่วออก สมัยก่อนมันไม่มีอุลตร้าซาวด์ ผ่าเสร็จท่านก็บอกหมอว่าค่อยยังชั่วแล้ว ไม่เป็นไรแล้ว คือท่านจะออกจากโรงพยาบาล หมอพยาบาลก็แปลกใจ เพราะคนที่ผ่ามาน้อยกว่าท่านก็ยังบ่นว่าปวดว่าเจ็บ ก็เลยถามหลวงปู่ว่า หลวงปู่ไม่เจ็บเหรอ หลวงปู่บอก “เจ็บสิ ทำไมไม่เจ็บ ร่างกายหลวงปู่ก็เหมือนกับคนทั่วไปนั่นแหละ แต่ใจไม่ได้เจ็บไปกับกายด้วย อย่าเอามาปนกัน”
เจ็บแต่กาย ใจไม่ทุกข์ เพราะอะไร เพราะท่านเห็นสัจธรรมว่า มันไม่มีเรา มันไม่มีผู้ทุกข์ มันมีแต่กายทุกข์ แต่มันไม่มีเราผู้ทุกข์ ถ้าเกิดความสำคัญมั่นหมายว่าเราเมื่อไหร่เนี่ย พอกายทุกข์ ไอ้กูทุกข์ก็จะเกิดขึ้นทันที พอกูทุกข์ ใจก็ทุกข์ด้วย แต่ท่านเห็นว่ามันไม่มีกู มันมีแต่รูปกับนาม มีแต่กายกับใจ เพราะฉะนั้นถ้ากายทุกข์ก็ทุกข์ไป แต่ใจไม่ทุกข์ด้วย อันนี้ก็เรียกว่าภูมิคุ้มใจ
ปัญญาที่เห็นว่ามันไม่มีเรา ไม่มีของเรา กายไม่ใช่เรา ใจก็ไม่ใช่เรา เห็นกายทุกข์มันก็ไม่มีกูทุกข์ อันนี้คือปัญญาที่รักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้ ซึ่งปัญญาแบบนี้จะเกิดขึ้นได้เราต้องรู้จักหาประโยชน์เวลาเจอความพลัดพรากผิดหวัง เจอความเจ็บป่วยแล้วก็พิจารณาให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งอื่น
เราไม่มีทางหนีเชื้อโรคพ้นนะ จีนเขาเคยคิดว่าเขาจะสามารถรักษาประเทศให้ปลอดจากโควิดได้ จึงเกิดนโยบายที่เรียกว่า Zero-Covid Policy คือโควิดเป็นศูนย์ นโยบายที่ทำให้โควิดเป็นศูนย์คือไม่มีเชื้อ ใครที่ติดเชื้อก็แยกออกมา หรือเมืองไหนที่มีเชื้อระบาดก็ปิดเมืองเลย ล็อกดาวน์ ใครติดเชื้อนอกจากแยกเอาตัวคนนั้นออกไปแล้ว ญาติพี่น้องคนใกล้ชิดก็ต้องแยกด้วย เราก็เคยทำแบบนี้มาอยู่พักหนึ่ง แต่สุดท้ายเราพบว่าไม่มีทางจะทำได้ไปนานๆ
จีนยืนหยัดนโยบายนี้มาสามปีแล้ว Zero-Covid Policy แต่สุดท้ายก็พบว่าไม่มีทางที่จะทำให้โควิดเป็นศูนย์ได้ มันเหลือทางเดียวคือ ทำยังไงจะอยู่กับโควิด จะอยู่กับโควิดได้ด้วยความปกติสุข มันต้องสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ถ้ามีภูมิคุ้มกันในร่างกายเพียงพอ ก็อยู่กับโควิดได้ โควิดทำอะไรไม่ได้
ฉันใดก็ฉันนั้น ความทุกข์นี่เราหนีไม่พ้นนะ เราเกิดมา เรามีสุขแล้วก็เจอทุกข์ ไม่ใช่ว่าเราจะเอาสุขแต่ไม่เอาทุกข์ ยังไงต้องเจอทุกข์ เราต้องอยู่กับความทุกข์ เพราะทุกข์มันอยู่ไปทั่ว แม้กระทั่งในร่างกายเราก็มีทุกข์ พระพุทธเจ้าบอกว่า “เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว”
เราหนีทุกข์ไม่พ้น แต่เราอยู่กับทุกข์ได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ตามไปด้วย เพราะเรามีภูมิคุ้มกันรักษาใจ ซึ่งเรียกง่ายๆ สั้นๆ ว่าธรรมะ หรือถ้าจะแยกแยะก็คือ สติ สมาธิ ปัญญา ความรู้สึกตัว ฉะนั้นก็พยายามสร้างนะ สร้างขึ้นด้วยการฝึกจากชีวิตจริง จากของจริง จากความทุกข์ จากรถติด จากความผิดหวัง จากความเจ็บป่วย จากเจ้านายที่ไม่น่ารัก จากลูกน้องที่ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง แล้วเราจะพบว่าทั้งหมดนี่เขามาสอน ให้เราสร้างภูมิคุ้มกันในจิตใจ เหมือนกับภูมิคุ้มกันในร่างกายจะเกิดขึ้นได้ต้องเจอเชื้อโรค อาจจะเป็นการฉีดวัคซีนเข้าไป หรือเจอเชื้อโรคตามถนนหนทาง
จะมีภูมิคุ้มกันร่างกายได้ ทางเดียวคือต้องเจอเชื้อโรค เด็กที่เจอเชื้อโรคมาตั้งแต่เล็กก็จะมีภูมิคุ้มกันที่ดี แล้วตัวหนึ่งที่น่าสนใจ เดี๋ยวนี้เด็กเป็นลูคีเมียกันเยอะ เขาพบว่าเด็กในช่วงแรกเกิดปีสองปี ถ้าเลี้ยงอยู่ ในที่ที่รวมกัน จะมีโอกาสเป็นโรคลูคีเมียน้อยกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงดูแยกออกมา เพราะเวลาอยู่ด้วยกันเด็กจะได้เจอกับเชื้อโรค เพราะเด็กคนอื่นก็อาจจะไอบ้าง อาจจะจามบ้าง อาจจะมีเชื้อนู่นเชื้อนี่บินกระจายว่อนอยู่ในศูนย์เด็ก เด็กที่เติบโตมาในวัยเยาว์ตั้งแต่ขวบสองขวบ ที่โตมาในบรรยากาศแบบนี้ โอกาสที่จะเป็นลูคีเมียน้อยกว่าเด็กที่ถูกแยกออกมาเลี้ยงดูแบบทะนุถนอมไม่ให้เจอเชื้อโรค
เช่นกัน เด็กที่เจ็บป่วยเป็นไข้เพราะเล่นน้ำคลอง หรือเจอเชื้อโรคในดินในทราย พวกนี้จะเป็นหืดเป็นหอบน้อยกว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงดูแบบอนามัยจัด เดี๋ยวนี้เขาพบว่าเด็กที่เป็นโรคมือเท้าปากเยอะมาก เด็กที่ เป็นโรคภูมิแพ้มีเยอะมาก ไม่นับเด็กที่เป็นลูคีเมีย ซึ่งเขาก็สันนิษฐานว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าเด็กที่เป็นโรคเหล่านี้ไม่ค่อยเจอเชื้อโรคเท่าไหร่ เพราะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อนามัยจัด ปลอดเชื้อ แต่เด็กที่เจอ เชื้อโรคตั้งแต่เล็กเขาจะมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งทำให้สามารถจะรักษาร่างกายไม่ให้เป็นโรคที่แรงๆ เช่น โรคหอบหืดหรือลูคีเมียได้
เช่นเดียวกันนะ คนเราจะมีภูมิคุ้มกันรักษาใจ หรือมีภูมิคุ้มกันความทุกข์ คุณต้องเจอทุกข์อยู่บ้าง หรือเจอทุกข์บ่อยๆ ใจมันจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ภูมิคุ้มกันความทุกข์ ภูมิคุ้มกันรักษาใจ ฉะนั้นอย่าไปหนีทุกข์นะ เจอทุกข์บ้าง แล้วเรียนรู้จากทุกข์.