แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 9 เมษายน 2566
เวลาพูดถึงการปฏิบัติธรรม หลายคนก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก บางคนก็ถือว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ หรือว่าอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องสูงส่ง ที่ยกผู้ปฏิบัติให้พิเศษกว่าคนอื่น และเดี๋ยวนี้พอพูดถึงการปฏิบัติธรรม หลายคนก็นึกไปถึงว่าจะต้องหาเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมถูกต้องคู่ควรกับการปฏิบัติ เช่น นุ่งขาวห่มขาว ถ้ามาปฏิบัติแล้วไม่ได้นุ่งขาวห่มขาวก็ดูกระไรอยู่
นุ่งขาวห่มขาวแล้วไม่พอ บางทีก็ต้องขวนขวายหารองเท้าที่มันเข้ากับเสื้อผ้า ก็กลายเป็นเรื่องของการประดิษฐ์ประดอยปรุงแต่ง หรือว่าทำให้เรื่องที่ควรจะเรียบง่าย กลายเป็นเรื่องยาก พอหารองเท้าแล้วมาสวมใส่ให้เข้ากับชุดขาวแล้ว ต่อไปก็ต้องคิดถึงเรื่องของกระเป๋า กระเป๋าถือมันก็ต้องขาวเหมือนกัน แล้วก็ต้องดูดี ให้คู่ควรกับภาพนักปฏิบัติ
บางทีมันก็เลยกลายเป็นความปรุงแต่งเกินเลย แล้วทีหลังก็ต้องคิดถึงเรื่องของการหาอาสนะมาให้เข้ากับเสื้อ มันจะได้รู้สึกว่า นี่ฉันเป็นนักปฏิบัตินะ บางทีมันก็เลยมีกระพี้ต่างๆ พอกขึ้นมา ก็ทำให้หลายคนเลยรู้สึกว่าการปฏิบัติเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก เป็นเรื่องพิเศษที่แยกออกไปจากชีวิตประจำวัน ยิ่งพอมีคนพูดว่าปฏิบัติแล้วเห็นสีเห็นแสง ก็กลายเป็นเรื่องวิเศษมหัศจรรย์ขึ้นมา
ที่จริงการปฏิบัติมันไม่ใช่อย่างนั้น มีศิษย์คนหนึ่งบวชใหม่ก็ไปหาอาจารย์ เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในด้านการปฏิบัติที่เมืองจีนเมื่อสัก 300-400 ปีก่อน อาจารย์นี่ก็มีชื่อเสียงมาก คนก็นับถือ สำนักท่านก็เลยมีคนมาปฏิบัติเยอะ แล้วมีพระหนุ่มเข้ามาคารวะอาจารย์ท่านนี้ แล้วก็บอกว่า โปรดแนะนำการปฏิบัติให้กับกระผมด้วย ท่านก็ถามว่ากินข้าวหรือยัง กินแล้วครับ อย่างนั้นก็ไปล้างจาน การล้างจานนี้ก็เป็นการปฏิบัตินะ
พระใหม่อยากจะให้อาจารย์แนะนำการปฏิบัติ อาจารย์ก็ทำตามที่พระใหม่ต้องการ คือเมื่อกินข้าวแล้วก็ต้องไปล้างจาน คือการทำหน้าที่ให้มันถูกต้อง การทำหน้าที่ให้ถูกต้องนี่ก็เป็นการปฏิบัติ แต่ที่จริงมัน ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่หรือว่าทำกิจอย่างเดียว มันคลุมไปถึงการทำจิตด้วย แต่ต้องเริ่มต้นจากการทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นการกินข้าว เป็นการล้างจาน หรือเป็นการทำงาน กวาดบ้าน กวาดบ้านเสร็จก็ต้องวางไม้กวาดให้เป็นที่ นี่ก็คือการปฏิบัติ
ธรรมะนี่ ท่านอาจารย์พุทธทาสให้ความหมายหนึ่งว่าคือการทำหน้าที่ หน้าที่ทั้งต่อรูปต่อร่างกาย หน้าที่ต่อนามคือจิตใจ หน้าที่ต่อรูปคือดูแลรูป ดูแลร่างกายให้มันดี ไม่ให้เจ็บไม่ให้ป่วย เมื่อหิวก็กิน เมื่อกระหายน้ำก็ดื่ม เมื่อปวดท้องก็เข้าห้องน้ำ นี่ก็คือการปฏิบัติธรรม ถ้าหากว่าเราทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ซึ่งก็ขยายความไปถึงสิ่งที่ไม่เป็นคุณต่อร่างกาย ก็อย่าไปแตะต้อง อะไรที่เป็นโทษต่อร่างกาย ก็อย่าไปข้องแวะ เช่น เหล้า บุหรี่ อันนี้มันก็เป็นข้อปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำว่า ทำหน้าที่ต่อร่างกายให้ถูกต้อง
หน้าที่ต่อจิตใจก็เหมือนกัน หน้าที่ต่อจิตใจก็คืออย่าไปเพิ่มทุกข์ สร้างทุกข์ให้กับจิตใจ แต่เดี๋ยวนี้เราไปสร้างทุกข์ให้กับใจมากมาย ไปหมกมุ่นครุ่นคิดกับอดีตที่เจ็บปวด ไปหมกมุ่นกังวลกับภาพอนาคตที่เลวร้าย น่าเป็นห่วง ทั้งๆ ที่ยังมาไม่ถึง บางทีก็เกิดความระแวงคนนั้นคนนี้ ทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ก็คิดลบคิดร้ายไปล่วงหน้าแล้ว อันนี้เรียกว่าเป็นการเติมทุกข์ให้ใจ มันก็ไม่ใช่เป็นการทำหน้าที่ต่อใจ อย่างถูกต้อง หรือว่ามีความโกรธ มีความเกลียดเกิดขึ้น ก็ปล่อยให้มันเผารนใจ กรีดแทงใจ แทนที่จะรู้จักขจัดปัดเป่าออกไป
เวลาเราถืออะไรหนักๆ เราก็อยากจะทิ้ง อยากจะวาง
เดี๋ยวนี้อย่าว่าแต่ของหนักเลย แม้จะเป็นของเบาๆ เช่นขวดน้ำเปล่า ตอนที่น้ำยังอยู่ในขวดนี่ก็จับอย่างทะนุถนอมเหลือเกิน แต่พอดื่มน้ำหมด เหลือแต่ขวดเปล่า หลายคนก็ทิ้งเลย ลงข้างทาง สองข้างทางมายังวัดป่าสุคะโตนี่จะมีขวดน้ำเปล่า หรือว่ากล่องน้ำผลไม้ที่คนทิ้งแล้วเรี่ยราดอยู่สองข้างทาง ส่วนใหญ่คนก็โยนทิ้งตอนที่อยู่บนรถ เช่น รถประจำทางหรือว่ารถเก๋ง
ทำไมถึงโยนทิ้ง เพราะไม่อยากถือเอาไว้ ถือแล้วมันเมื่อย ทั้งๆ ที่สิ่งที่ควรทำก็คือว่ารอสักหน่อย พอเจอถังขยะแล้วค่อยทิ้ง แต่คนส่วนใหญ่ไม่ทำอย่างนั้น คำว่าส่วนใหญ่นี่ส่วนใหญ่จริงๆ นะ คือพอมีขยะอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นขวดเปล่า กล่องเปล่า มันกลายเป็นขยะไปแล้ว เพราะว่าน้ำก็ดื่มหมดแล้ว ทิ้งเลย เพราะอะไร เพราะมันเมื่อยถ้าถือเอาไว้
แต่ใจไม่อย่างนั้นเลยนะ เวลามีขยะ สิ่งที่เป็นพิษเป็นอันตรายต่อจิตใจ ใจนี่มันกลับหวงแหน สิ่งนั้นคืออะไร คือความโกรธ เวลาโกรธใครนี่มันหวงแหนความโกรธเหลือเกิน เพียงแค่ให้อภัย ความโกรธก็หายไปแล้ว แต่ไม่ยอมให้อภัย เพราะว่ากลัวความโกรธมันจะเลือนหายไป บางคนกลัวลืมโกรธนะ กลัวว่าโกรธไปนานๆ แล้วจะลืม ก็ต้องย้ำแค้น ย้ำใจ ย้ำเตือนให้ระลึกถึงความไม่ดีของคนๆ นี้หรือของคนๆ นั้น จะได้โกรธต่อไป
เศร้าก็เหมือนกัน เศร้านี่มันก็บีบคั้นใจ แต่บางคนกลัวว่าความเศร้าจะเลือนหายไป หวงแหนความเศร้าเหลือเกิน ฉะนั้นต้องย้ำเตือนต่ออายุความเศร้า เวลาความเศร้ามันจะเลือนหาย ก็ต้องหาทางกระตุ้นให้ มันเศร้าต่อ เช่น คนที่เศร้าเพราะอกหัก ถ้าปล่อยเวลาผ่านไปมันก็คลายความเศร้า แต่บางคนนี่กลัวว่าความเศร้ามันจะหาย ก็เลยต้องย้ำให้เศร้าเรื่อยไป เช่น เปิดเพลงเศร้าๆ คนเวลาเศร้าโดยเฉพาะเศร้าผิดหวังในความรัก ทำไมชอบฟังเพลงเศร้า แทนที่จะฟังเพลงที่มันกระตุ้นใจให้ฮึกเหิม กระตือรือร้น สนุกสนาน แจ่มใสเบิกบาน กลับอยากฟังเพลงเศร้า ที่ทำให้ใจห่อเหี่ยวมากขึ้น เพราะอะไร เพราะว่ามันหวงแหนความเศร้า ไม่อยากให้ความเศร้ามันเลือนหายไป
ทั้งที่ควรจะรีบทิ้ง เหมือนกับที่มือของเรามันก็อยากจะทิ้งขยะทันที แม้ว่ามันจะเป็นสองข้างทาง หรือว่าในที่สาธารณะ บางทีก็เป็นสวนสาธารณะ บางทีก็เป็นอุทยานแห่งชาติ ก็ทิ้งเลย ไม่อยากถือเอาไว้ แม้แต่นาทีเดียวหรือวินาทีเดียว แต่สิ่งที่เป็นขยะของใจ ขยะอารมณ์นี่หวงแหนเหลือเกิน อันนี้เรียกว่าไม่ทำหน้าที่ให้ถูกต้องต่อจิตใจ เป็นการไม่รักตัวเอง อันนี้เรียกว่าไม่ใช่ปฏิบัติธรรม
ปฏิบัติธรรมก็คือว่าไม่เติม ทุกข์ให้ใจ มันมีทุกข์อะไรอยู่ในใจก็ต้องรีบสละ รีบปล่อยรีบวาง แล้วขณะเดียวกันก็ไม่หาทุกข์มาใส่ตัว โดยเฉพาะขยะอารมณ์
แต่เดี๋ยวนี้เราชอบเพิ่มทุกข์ให้กับใจเหลือเกิน ไม่ใช่แค่ปล่อยใจให้ไปจมอยู่กับเรื่องราวในอดีต หรือไปหมกมุ่นกังวลกับเรื่องที่ยังมาไม่ถึง แต่ว่าปรุงแต่งไปในทางลบทางร้าย นึกถึงปัญหา นึกถึงอุปสรรคที่จะตามมา นึกถึงการกระทำของใครบางคน ทั้งที่ยังไม่เกิดแต่ระแวงเอาไว้ก่อนแล้ว หรือมิเช่นนั้นก็ไปเปิดใจรับรู้สิ่งที่ทำให้ใจเป็นทุกข์
เดี๋ยวนี้ตัวสร้างทุกข์ให้กับใจที่สำคัญคือโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะเวลาเปิดใช้หรือเล่นโซเชียลมีเดีย อันนี้แหละเป็นตัวเพิ่มทุกข์ให้กับใจเลย ทั้งความหงุดหงิด ทั้งความเครียด ทั้งความเกลียด ทั้งความโกรธ รวมทั้งความอยาก ความวิตก ยิ่งใช้ยิ่งเสพ ก็ยิ่งเครียดยิ่งทุกข์ แต่ก็วางไม่ได้ เพราะว่ามันหลง หรือว่ามันหวงแหนความทุกข์ที่มันเกาะกุมใจ ยังไม่นับพวกเกมออนไลน์ที่ทำให้เครียดหนัก
ใหม่ๆ อาจจะมีความสุข ตื่นเต้น อันนี้คือเหตุผลที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อย แม้จะไม่ได้ติดเกมออนไลน์ แต่ก็ไปติดเรื่องการเมืองเพราะว่าเวลาสนใจเรื่องการเมือง แล้วมันมีข้อมูลข่าวสารข้อความที่ทำให้เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ เกิดความเครียด ยิ่งเครียด ยิ่งไม่พอใจเท่าไหร่ ยิ่งสลัดมันไม่ได้ ยิ่งดูก็ยิ่งเครียด แต่ไม่ดูก็ไม่ได้ เพราะว่ามันขาดสิ่งเร้าใจ
โดยเฉพาะคนที่วันๆ ไม่มีอะไรทำเช่นคนแก่ รู้สึกชีวิตมันเปล่าเปลี่ยว โดดเดี่ยว รู้สึกว่าอ้างว้าง แต่ก่อนมีงานทำ มีอะไรที่มันตื่นเต้น แต่เดี๋ยวนี้พอเกษียณแล้ว อยู่บ้านไม่มีอะไรทำ ชีวิตมันจืดชืดก็เลยต้องหา อะไรที่กระตุ้นให้มันเกิดความตื่นเต้นเร้าใจ เลือดลมสูบฉีด และสิ่งหนึ่งที่มันช่วยก็คือเรื่องการเมืองนี่แหละ บางคนนี่ดูข่าวดูช่องการเมืองเป็นวันๆ เลย ดูไปก็บ่นไป ดูไปก็ด่าไป เพราะว่ามันเป็นข่าวของฝ่ายที่ตัวเองไม่ชอบ แต่ก็ไม่ยอมเลิกดู เพราะถ้าเลิกเมื่อไหร่ มันจะห่อเหี่ยว มันจะไม่มีชีวิตชีวา มันจะไม่มีสิ่งเร้าใจ
เดี๋ยวนี้คนเสพติดสิ่งเร้ามาก เสพติดรสชาติของความทุกข์ ความเครียด ความเกลียด ความโกรธ อันนี้เรียกว่าไม่ทำหน้าที่ต่อจิตใจ แต่ถ้าเราทำหน้าที่ให้ดีนั่นคือการปฏิบัติธรรม เริ่มต้นจากหน้าที่ที่เราทำในชีวิตประจำวัน จะเป็นงานการอะไรก็แล้วแต่ อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม กินข้าวเสร็จก็ไปล้างจาน นั่นคือการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าทำอย่างถูกต้อง ทำด้วยความใส่ใจ ล้างจานด้วยความใส่ใจ วางจานเป็นที่ วางช้อนเป็นที่ อันนี้เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม
ซึ่งไม่ใช่ง่ายเพราะจะทำอย่างนี้ได้มันต้องมีสติ จึงจะทำได้ถูกต้อง พอไม่มีสติ เพราะว่าล้างจานไปก็คุยไปด้วย หรือว่าบางทีล้างจานไปก็ดูโทรศัพท์มือถือไป มัน ก็วางจานวางช้อนไม่เป็นที่ หรือจานไม่สะอาดเพียงพอ อันนี้จะเรียกว่าการปฏิบัติธรรมได้อย่างไร มันไม่ใช่
แต่ ปฏิบัติธรรมมันต้องใส่ใจ แล้วเมื่อเราใส่ใจนั่นแหละ เราก็ทำอะไรได้ถูกต้อง
ที่จริงการปฏิบัติธรรมมันก็ไม่ได้เรื่องยุ่งอย่างอะไร มีอาจารย์ท่านหนึ่งที่เมืองจีนเหมือนกัน ท่านก็แนะนำการปฏิบัติธรรมให้กับลูกศิษย์ หรือมีใครขอคำแนะนำ ท่านก็บอก เวลาแต่งตัวก็ให้สวมเสื้อผ้า เวลาจะเดินทางก็ก้าวเดิน เวลาเหนื่อยก็พัก นี่ก็คือการปฏิบัติธรรมแล้ว ทำอย่างถูกต้อง ทำอย่างถูกลำดับ แต่แน่นอนจะทำได้ถูกต้องมันก็ต้องมีสติ มีความรู้สึกตัว
มีอาจารย์ชื่อดังท่านหนึ่ง ท่านเป็นอาจารย์ของสำนักเซ็นแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 300-500 ปีก่อน ท่านกำลังแสดงธรรมอยู่ ก็มีพระอีกสำนักหนึ่งอีกนิกายหนึ่งไม่พอใจ ต้องการท้าทาย ต้องการอวดว่า สำนักฉันดีกว่า ก็เลยบอกว่า ท่านรู้ไหมอาจารย์ของเรา ท่านมีความสามารถพิเศษหลายอย่าง เช่น เวลาท่านจะวาดรูป ท่านก็ยืนถือพู่กันอยู่ที่ฝั่งหนึ่ง แล้วก็ให้ลูกศิษย์ถือกระดาษเปล่าอยู่ที่อีกฝั่งหนึ่ง แล้วท่านก็วาดภาพลงในกระดาษแผ่นนั้นผ่านอากาศ อาจารย์ของเราทำได้อย่างนั้น ท่านทำได้หรือเปล่า
อาจารย์ผู้นั้นก็ตอบว่า เรื่องแบบนี้เราไม่ทำหรอก สำหรับเราปาฏิหาริย์ก็คือว่า เมื่อหิวก็กิน เมื่อกระหายน้ำก็ดื่ม นี่แหละปาฏิหาริย์ ซึ่งการปฏิบัติธรรมมันก็หนีไม่พ้นเรื่องนี้ เมื่อหิวก็กิน เมื่อกระหายก็ดื่ม หรือ เหมือนที่อาจารย์อีกท่านหนึ่งบอกเมื่อสักครู่ เมื่อจะแต่งตัวก็สวมเสื้อผ้า เมื่อเหนื่อยก็พัก ปฏิบัติธรรมมาทั้งหมดก็เพื่อสิ่งนี้แหละ ฟังดูก็ทำให้มันไม่ค่อยน่าสนใจนะ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นสิ่งสำคัญเลยทีเดียว เพราะว่ามันไม่ใช่แค่กินหรือดื่มอย่างที่เราเข้าใจ แต่ว่ามันเป็นการกินด้วยความรู้สึกตัว ดื่มด้วยความรู้สึกตัว เป็นการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง คือทำกิจและทำจิต
กิจก็คือการทำงาน ขณะเดียวกันก็ทำจิต คือมีสติ มีความรู้สึกตัวตามไปด้วย
ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เวลากินก็ไม่รู้ว่ากิน เวลาดื่มก็ไม่รู้ว่าดื่ม เพราะใจลอย ยิ่งเดี๋ยวนี้แล้ว กินไปก็ดูโทรศัพท์ไป ดื่มไปก็คุยไป ไม่รู้ตัวว่ากิน ไม่รู้ตัวว่าดื่ม คือไม่มีความรู้สึกตัว ทำอะไรด้วยความรู้สึกตัว มันก็เป็นการปฏิบัติธรรม แต่คนเห็นว่ามันเป็นเรื่องง่ายๆ เรื่องพื้นฐานเกินไป มันไม่หวือหวา ไม่เร้าใจ มันไม่มีความน่าตื่นเต้น แต่นี่แหละคือพื้นฐานของการปฏิบัติ
พระพุทธเจ้าก็ตรัส ทำอะไรก็ทำด้วยความรู้สึกตัว เวลาเดินไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลัง เวลามองไปข้างหน้า เหลียวซ้ายแลขวาก็ทำด้วยความรู้สึกตัว มีความรู้สึกตัวเวลาสะพายบาตร คาดสังฆาฏิ ห่มจีวร หรือถ้าเป็นชาวบ้านก็คือมีความรู้สึกตัวเวลาสวมเสื้อใส่ผ้า มีความรู้สึกตัวเวลากินดื่มเคี้ยวลิ้ม เวลาอุจจาระปัสสาวะ
แล้วพวกเราทำได้ไหม ความรู้สึกตัวเวลาทำกิจเหล่านี้ แม้กระทั่งเวลายืน เดิน นั่ง หลับก็รู้สึกตัว นี่คือการปฏิบัติธรรม มันไม่จำเป็นต้องไปหาเสื้อขาว กางเกงขาว หรือว่าผ้านุ่งขาว รองเท้าขาว ถ้าเป็นผู้หญิง หรือถ้าเป็นผู้ชายก็ต้องมีอะไรต่ออะไรมากมาย มันทำได้ทุกที่
การปฏิบัติธรรมคือการคืนสู่ความปกติธรรมดา ความรู้สึกตัวนี่คือความธรรมดาของจิต แต่ว่าเดี๋ยวนี้เราคลาดเคลื่อนออกจากความปกติความธรรมดา ทำอะไรด้วยความหลงปรุงแต่ง
ที่จริงความปกติธรรมดา ยังรวมไปถึงการรับรู้สิ่งต่างๆ โดยไม่ปรุงแต่ง เห็นอย่างที่มันเป็น เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยรู้นะ ว่าเราไม่ได้รับรู้อะไรอย่างที่มันเป็นเท่าไหร่ เราปรุงแต่งตลอดเวลาเลย ถ้าไม่ปรุงแต่งก็ หมายความว่าสักแต่ว่าได้เห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น เวลาได้กลิ่นก็ไม่ได้ปรุงแต่งว่าเหม็น ไม่ได้ปรุงแต่งว่าหอม เวลากินอะไรก็ไม่ปรุงแต่งว่าอร่อยหรือไม่อร่อย เวลาฟังเสียงได้ยินอะไร ก็ไม่ได้ปรุง แต่งว่ามันดัง ระบบกวนโสตประสาท หรือว่าไพเราะ เห็นอะไรก็ไม่ได้ปรุงแต่งว่าสวยหรือว่าน่าเกลียด งามหรือไม่งาม มันเห็นเป็นกลางๆ เราทำได้ไหม
การคืนสู่ความปกติคือการไม่ปรุงแต่ง ซึ่งส่วนใหญ่ทำได้ยาก เพราะอดไม่ได้ที่จะปรุงแต่ง มีเสียงดังเข้ามาก็ไม่ชอบแล้ว ทุกข์แล้ว เพราะปรุงแต่งว่ามันดัง แต่บางทีเสียงไม่ดัง แต่ว่ามันไม่ถูกกาละเทศะ เราก็ไม่ชอบ เช่นมีเสียงริงโทนดังมาตอนนี้ เสียงริงโทนี่ก็เพราะนะ แต่ว่าพอเราให้ค่า ตีความว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็เลยไม่พอใจ ทั้งโทรศัพท์และเจ้าของโทรศัพท์นั้น
เราปรุงแต่งมากมาย เวลาเรามองว่าคนนี้เป็นคนไทย คนนั้นเป็นคนลาว คนนี้เป็นอีสาน คนนี้เป็นคนใต้ คนนี้เป็นฝรั่ง คนนี้เป็นโรฮิงญา คนนี้เป็นมอญ คนนี้เป็นเขมร อันนี้ปรุงแต่งแล้วล่ะ ปรุงแต่งว่าคนนี้คนรวย คนนี้คนจน อันนี้รู้ไหมว่าปรุงแต่ง เพราะที่จริงแล้วทุกคนก็คือมนุษย์ แต่เราไปปรุงแต่งว่าเป็นไทย เป็นพม่า ที่จริงแม้กระทั่งมนุษย์นี่ก็ปรุงแต่งนะ หรือภาษาธรรมะเขาเรียกว่าสมมุติ
เพราะจริงๆ แล้วพอเราปรุงแต่งว่าเป็นมนุษย์ มันก็เกิดความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์ ทั้งที่มนุษย์กับสัตว์ประกอบด้วยขันธ์ 5 มีรูปมีนามเหมือนกัน เช่นเดียวกัน เวลาเห็นคนนี้ แล้วบอกคนนี้นายก. เห็นคนนั้นนางข. นี่ก็ปรุงแต่ง มันเป็นการปรุงซ้อน รูปและนามหรือขันธ์ 5 เวลาเรามองเห็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ต้นไม้ มนุษย์ คนไทย ฝรั่ง นี่ปรุงแต่งทั้งนั้นแหละ ถ้าเราจะมองให้เข้าถึงความเป็นปกติธรรมดา ก็คือไม่ปรุงแต่ง เพิกถอนความปรุงแต่งออกไป มันก็จะเหลือแค่ขันธ์ 5 หรือรูปนาม
พอพูดอย่างนี้เข้า ก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แล้วนะเรื่องปกติธรรมดา หลายเรื่องเราไม่ได้ปรุงแต่ง แต่บางทีมันก็มีการปิดบัง ไม่ให้เราเห็นความจริงที่เป็นปกติธรรมดา ปรุงแต่งก็อย่างหนึ่ง ปกปิดให้เราไม่เห็นความจริงก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่น เห็นว่ามันเที่ยง เห็นว่ามันสุข เห็นว่ามันเป็นตัวตน พวกนี้มันก็ปกปิดความจริงว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยง สิ่งต่างๆ ล้วนเป็นทุกข์ แล้วก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
อย่างมีคนโบราณเขาบอกว่า มองเสื้อไม่เห็นผ้า มองตุ๊กตาไม่เห็นยาง สมมุติว่าเสื้อมันก็เลยบังให้เราไม่เห็นผ้า สมมุติว่าตุ๊กตาก็เลยทำให้เราไม่เห็นยาง สมมุติว่านายก. นายข. ก็ทำให้ไม่เห็นรูปนาม การที่จะคืนสู่ความปกติธรรมดา มันจึงไม่ใช่เรื่องที่ดูง่ายๆ หรือกระจอกๆ
แต่ว่าให้เราเริ่มต้นจากการที่เราทำอะไรด้วยความรู้สึกตัว กลับมาสู่ความรู้สึกตัว ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ทำหน้าที่ด้วยความใส่ใจอย่างมีสติ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม ที่มันจะพาเราจากความปกติ ธรรมดาที่ดูสามัญ จนกระทั่งไปสู่ความปกติธรรมดาที่เราไม่นึกว่ามันมี เพราะว่าถูกบดบังไปด้วยอวิชชา บดบังไปด้วยความหลง โดยเฉพาะปรุงแต่งจนเรียกว่าหลายชั้น พอกพูนจนไม่เห็นความจริง ที่มันซ่อนอยู่เบื้องหลังความปรุงแต่ง
เราก็ปฏิบัติไป จนกระทั่งถอนความปรุงแต่ง ถอนออกไปทีละชั้นๆ จนกระทั่งเห็นความจริงที่มันไม่มีการปรุงแต่ง หรือว่ามองทะลุทะลวง จนกระทั่งอวิชชาไม่อาจจะบดบังได้ ถึงตรงนั้นแหละนะที่เราจะรู้ว่าการปฏิบัติธรรมนี่มันคืออะไร.