พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 13 เมษายน 2566
ไม่ว่าเราทำอะไรก็ตาม สิ่งที่ทำนั้นมันไม่ใช่แค่ถูกเราทำเท่านั้น แต่มันยังสามารถจะส่งผลกระทำต่อเราได้ หรือจะเรียกว่าสิ่งนั้นมันกลับมาปรุงแต่งตัวเรา มันเป็นเช่นนี้เสมอนะ เราไม่เคยเป็นฝ่ายทำอยู่ฝ่ายเดียว แต่ยังถูกกระทำด้วย จะบวกหรือลบ จะดีหรือร้าย จะกุศลหรืออกุศลก็แล้วแต่ แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา
ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลากินอาหาร เราเป็นคนเลือกว่าจะกินอะไร กินอย่างไร จะกินเท่าไร แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เรากิน มันก็ส่งผลกลับมาที่ตัวเรา เช่น อาจจะทำให้เรามีสุขภาพดี แข็งแรง หรืออาจจะทำให้เราเจ็บป่วย ง่ายที่จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ทีแรกเราเป็นคนเลือกว่าจะสูบบุหรี่อะไร แต่พอสูบแล้ว บุหรี่มันก็ส่งผลต่อสุขภาพของเรา เช่น ส่งผลต่อปอด ส่งผลต่อหัวใจ
เวลาเราถางทาง ไม่ว่าจะถางด้วยพร้าหรือว่าถางด้วยรถ หรือเครื่องมืออะไรก็แล้วแต่ ทีแรกเราเป็นฝ่ายกำหนดว่าจะให้ทางตัดไปทางไหน จะตรงหรือว่าจะเลี้ยว หรือจะโค้ง เราเป็นคนกำหนดทั้งนั้นแหละ แต่พอทางนั้นเสร็จแล้ว มันก็มากำหนดเรา ทางนี้มันก็จะเป็นตัวพาเราไปสู่จุดหมายใดก็แล้วแต่ อย่างที่เราเรียกว่าเดินตามทางไป หรือว่าทางมันพาเราไป
การที่ทางมันพาเราไปก็คือการที่ทางมันกระทำต่อเรา ซึ่งเราในที่นี้ก็อาจจะเป็นผู้ที่กำหนดเส้นทางว่าจะให้ทางทันไปไหน แต่สุดท้ายทางมันก็เป็นฝ่ายนำเราไป คนเราพอมองเห็นทาง ก็เลือกที่จะไปทางสายที่ใหญ่หรือว่าทางที่ไปสะดวก บางทีทางมันพาเราหลงก็มี เพราะว่ามันเป็นทางที่ไปง่าย เราสร้างทาง แล้วทางก็มากำหนดเรา มาปรุงแต่งตัวเรา
เช่นเดียวกับบ้าน ทีแรกเราออกแบบบ้าน จะให้บ้านขนาดใหญ่แค่ไหน ทาสีอะไร กว้างยาวแค่ไหน โปร่งโล่งหรือทึบ แต่พอเราสร้างเสร็จ มันก็มาส่งผลต่อตัวเรา ถ้าเราออกแบบดี อยู่ก็สบาย โปร่งโล่ง ถ้าเราออกแบบไม่ดี ก็รู้สึกอึดอัดคับแคบ บางคนทาบ้านสีแดง ก็ดูสวยดี แต่สีนั้นก็มาปรุงแต่งจิตใจของเราผู้อาศัย ต่างจากสีขาวซึ่งอยู่แล้วก็สบายใจกว่าบ้านหรือห้องที่ทาสีแดง
ฉะนั้นไม่ว่าเราทำอะไร สิ่งที่เราทำนี่มันไม่เคยอยู่ลอยๆ มันไม่เคยเป็นสิ่งที่ถูกทำอย่างเดียว แต่ว่ามันก็เป็นฝ่ายกระทำ หรือปรุงแต่งตัวเราด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น อาหาร บ้าน เส้นทางถนน สิ่งที่เป็นนามธรรมก็เช่น ความดี ความชั่ว เราทำความดี แล้วความดีนั้นก็ปรุงแต่งชีวิตจิตใจของเรา อาจจะทำให้เรามีความสุข มีความภาคภูมิใจ หรือว่าได้รับคำยกย่องสรรเสริญ
ในทางตรงข้ามถ้าเราทำความชั่ว ความชั่วมันไม่ใช่แค่ถูกเราปรุง ถูกเราแต่งอย่างเดียว มันก็กลับมาปรุงแต่งเราด้วย ทำให้เรามีความเดือดเนื้อร้อนใจ หรือถ้าหากว่าความชั่วนั้นเป็นการไปเบียดเบียนผู้อื่น เป็นการลักขโมย ก็อาจจะทำให้เราจิตใจของเราหยาบกระด้าง ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ตอนทำใหม่ๆ ก็อาจจะลังเลใจ เพราะยังมีความรู้สึกว่าอะไรดี อะไรควรอะไรไม่ควร มันอาจจะยังมีการลังเล ไม่มั่นใจ หรือว่ามี ความละอายบาป หิริ หรือโอตัปปะ ความกลัวบาป
แต่พอทำไปๆ ความยับยั้งชั่งใจมันก็ค่อยๆ เลือนหายไป บาปที่ทำถ้าทำเป็นอาจิณ มันก็ปรุงแต่งทำให้จิตใจหยาบกระด้าง เห็นแก่ตัวมากขึ้น หรือว่าจิตใจโหดร้าย เห็นคนเป็นผักเป็นปลา ถ้าหากว่าการกระทำนั้นมันคือการทำร้ายผู้คน ทีแรกเราก็เป็นคนเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำ หรือว่าจะทำด้วยวิธีการใด แต่สุดท้ายสิ่งนั้นมันก็กลับมาปรุงแต่ง มีอิทธิพลต่อตัวเรา
ความคิดก็เหมือนกัน ทีแรกเราเป็นคนปรุงแต่งความคิด ความคิดมันไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ มันก็ต้องมีเจตนา แล้วก็มีการปรุงแต่งความคิดขึ้นมา จะคิดดี คิดไม่ดีก็แล้วแต่ แต่พอคิดขึ้นมาแล้ว ความคิดนั้นก็กลับมาส่งผลต่อเรา ถ้าคิดดีจิตใจก็เป็นกุศล ถ้าคิดไม่ดีจิตใจก็รุ่มร้อน หมองหม่น หรือว่าเกิดความทุกข์ขึ้นมา
แล้วมันไม่ใช่แค่นั้น พอคิดบ่อยๆ คิดซ้ำๆ ความคิดนั้นก็อาจจะกลายมาเป็นนายเราได้ ทีแรกเราก็คิดลบ คิดระแวง แต่พอคิดบ่อยๆ ระแวงบ่อยๆ มันก็กลายเป็นคนที่นิสัยคิดลบ คิดระแวง กลายมาเป็นนายเราก็มี ทีแรกเราเป็นฝ่ายปรุงแต่งความคิด ต่อไปความคิดก็มาปรุงแต่งตัวเรา ถึงขั้นมาเป็นนายเรา เห็นอะไรก็คิดในทางลบในทางร้ายตลอดหรือสม่ำเสมอ
อารมณ์ก็เหมือนกัน อารมณ์ทีแรกเราก็เป็นฝ่ายปรุงแต่งอารมณ์ ปรุงแต่งอย่างไร ปรุงแต่งโดยเริ่มจากความคิดก่อน พอคิดถึงความดีของใคร มันก็เกิดความรู้สึกอบอุ่น เกิดความรู้สึกขอบคุณ หรือว่าพูดง่ายๆ คือเกิดความสุข เกิดความพอใจ แต่ถ้าคิดถึงการกระทำที่ไม่ดีของเขา นึกถึงการที่เขาเบียดเบียน รังเกียจหรือว่ารังแกเรา มันก็เกิดความขุ่นมัว เกิดความขัดเคือง เกิดความไม่พอใจ แล้วก็อาจจะกลายเป็นความโกรธ แล้วอารมณ์พวกนี้ก็กลับมาส่งผลต่อตัวเราอีกที อาจทำให้จิตใจรุ่มร้อน นอนไม่หลับ หรือมีผลต่อสุขภาพกาย ความดันขึ้น ถ้าหากว่าทำเป็นอาจิณ
และเช่นเดียวกันนิสัยใจคอของคนเรา มันไม่ใช่ว่าพอเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะมีนิสัยอย่างนั้นอย่างนี้ นิสัยของเราแต่ละคน มันก็เกิดจากการปรุงแต่งของเราเอง เราค่อยๆ ปรุงแต่งนิสัยขึ้นมาทีละนิดๆ แล้วพอมันก่อตัวขึ้นมาจนแข็งแรง กลายเป็นบุคลิกของเรา ทีนี้มันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งแล้ว มันก็กลายมาปรุงแต่งเราอีกที กลายมาเป็นนายเรา
อย่างเช่นคนที่นิสัยจู้จี้ขี้บ่น ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เขาจะเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น นิสัยนี้มันก่อตัวมาทีละนิดๆ ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ อาจจะเป็นการหล่อหลอมเลี้ยงดูของครอบครัว หรือว่าบรรยากาศรอบตัว สิ่งที่เรียนรู้ ผ่านประสบการณ์ตรงบ้าง ประสบการณ์ที่คนอื่นแบ่งปัน มาเล่าให้ฟังบ้าง แล้วพอมันลงรากปักฐานในจิตใจเรา คราวนี้มันก็กลายเป็นนายเราเลย มาปรุงแต่งเรา ไปไหนก็บ่น เจอใครก็จู้จี้ โดยเฉพาะคนที่เขา มีอายุน้อยกว่า มีฐานะต่ำกว่า ก็ไปยุ่งย่าม ไปบ่น ไปควบคุม ไปทำอะไรให้เขารำคาญ แล้วคนเหล่านี้พออายุมากขึ้นๆ ก็เรียกว่าห้ามใจไม่ได้ จะบ่นอยู่เรื่อย ไปที่ไหนก็บ่น โดยที่ไม่รู้ตัวเลย
คนช่างโกรธก็เหมือนกัน คนที่มีนิสัยขี้โกรธนี่ มันก็ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นมาแล้วจะกลายเป็นคนขี้โกรธ แต่ว่ามันเกิดจากการปรุงแต่ง สะสมนิสัยนี้ขึ้นมาทีละน้อยๆ จนกระทั่งมันก่อรูปก่อร่าง ฝังตัวแน่น คราวนี้มันก็กลายเป็นนายเราแล้ว ไปที่ไหนก็แสดงความหงุดหงิด ไม่พอใจ ต่อว่าตำหนิ
บางทีอายุมาก ไปอยู่บ้านลูกคนไหนเขาก็รำคาญ เพราะว่าเอาแต่บ่น เอาแต่โวยวาย อยู่บ้านลูกคนโตไม่ได้ ก็ไปอยู่บ้านลูกคนที่ 2 ก็เหมือนเดิม ไปอยู่บ้านลูกคนที่ 3 เขาก็รำคาญ จนกระทั่งแม้ไปอยู่บ้านพักคนชรา ก็ไม่มีใครอยากจะสุงสิงด้วย มีคนแบบนี้เยอะเลยนะ เรียกว่าไปที่ไหนคนก็ระอา โดยเฉพาะเมื่ออายุมาก และเจ้าตัวก็ไม่รู้ตัว แล้วถึงจะรู้บ้าง แต่ก็หักห้ามใจไม่ได้
บางคนเวลาป่วย ก็อดแสดงโทสะใส่ใครต่อใครไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นหมอ จะเป็นพยาบาล ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง ยิ่งพออายุมากก็ดี หรือพอเจ็บป่วยก็ดี สิ่งที่จะช่วยยับยั้งชั่งใจ ไม่ให้ทำตามอารมณ์ มันก็อ่อนลงไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งถูกอารมณ์นั้นครอบงำ กำกับชีวิตจิตใจของตัว อันนี้คือเหตุผลว่าทำไมคนจำนวนไม่น้อย เขายังเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไปที่ไหนก็ไม่มีใครต้อนรับ ไปที่ไหนคนก็ระอา เพราะว่ามันคุมตัวเองไม่ได้
ความหลงนี่ก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าคนเราจะเกิดมาพร้อมกับความหลง ชนิดที่เรียกว่าครอบงำจิตใจ คนเราก็มีความหลงอยู่บ้าง เช่นเดียวกับความรู้เนื้อรู้ตัว แต่ถ้าหากว่าปล่อยใจไปตามอารมณ์ ปล่อยใจไปตามความคิด ไม่รู้จักทักท้วง ความคิดและอารมณ์มันก็เข้ามาครอบงำจนไม่รู้เนื้อรู้ตัว ตอนนี้แหละความหลงก็จะรุนแรงมากขึ้น แล้วพอหลงแล้ว ความทุกข์มันก็ตามมา รากเหง้าของความทุกข์ แท้จริงแล้วมันก็ไม่ใช่อะไร มันก็คือความหลง
ทีแรกก็หลงคิดก่อน หลงเข้าไปในความคิด คิดเรี่ยราด คิดสะเปะสะปะ เสร็จแล้วมันก็ไปข้องแวะติดขัดกับความคิดที่มันทำให้เป็นทุกข์ เช่น ไปคิดถึงเรื่องราวในอดีตที่เจ็บปวด ไปคิดถึงความผิดพลาดที่ผ่านมาแล้ว แล้วพอคิดเรื่องแบบนี้ มันก็เกิดความโกรธบ้าง เกิดความเสียใจบ้าง เรียกว่าเกิดอารมณ์ตามมา แล้วก็จมอยู่ในอารมณ์นั้น เรียกว่าหลงเข้าไปในอารมณ์ อันนี้ก็เรียกว่าเกิดทุกข์ขึ้นมาเลย
คนเราลองสังเกตดู ความทุกข์ใจมันเกิดเพราะความคิดทั้งนั้นแหละ ความคิดที่มันถูกปรุงแต่งด้วยความหลง ด้วยความไม่รู้เนื้อรู้ตัว แล้วมันก็กลับมาปรุงแต่งเราอีกทีหนึ่ง คือทำให้เป็นทุกข์ ทำให้จมอยู่ใน อารมณ์ แล้วคนเราพอทุกข์แล้ว มันก็ยิ่งหลงหนักขึ้น คนที่โกรธก็จะคิดแต่เรื่องราวที่ทำให้โกรธมากขึ้น มันก็เจาะจงที่จะคิดถึงความไม่ดีของคนนั้นคนนี้ แล้วมันไม่ใช่แค่คิดถึงคนนั้นคนเดียว บางทีก็ขุดคุ้ยความ ไม่ดีของเพื่อนเขา ของพ่อแม่เขา ของวงศาคณาญาติของเขา ขุดคุ้ยขึ้นมา อะไรที่เป็นตัวขุดคุ้ย ก็คือความคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งแค้น ยิ่งแค้นก็ยิ่งคิด
เหมือนกับคนที่เศร้า เศร้าเพราะชอบคิดถึงเรื่องความทุกข์ในอดีต ไม่ได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ หรือจากญาติมิตร เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ พอน้อยเนื้อต่ำใจ มันก็ยิ่งไปขุดคุ้ยเรื่องที่ทำให้สมเพช เวทนาตัวเอง ทำให้รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตาหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีแนวโน้มที่จะคิดไปอย่างนั้นอยู่แล้ว ก็เลยยิ่งรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่อาภัพโชค
เรื่องดีๆ ประสบการณ์ดีๆ ที่มี ที่ได้รับ เช่น ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ความอบอุ่นของคนรอบข้าง ก็มีอยู่ก็ได้รับอยู่ แต่เลือกที่จะไม่มอง เลือกที่จะมองแต่เรื่องที่ไม่ดี การกระทำที่ไม่ดี ความไม่มีน้ำใจของคนนั้นคนนี้ มันก็ยิ่งทำให้เกิดความทุกข์มากขึ้น
แล้วมันเชื่อมโยงกันมากนะ หลงกับทุกข์ เป็นเพราะหลงจึงทุกข์ และเป็นเพราะทุกข์จึงหลง แต่ถ้าหากว่าเราพยายามที่จะกลับมารู้สึกตัว เวลาเผลอคิด ก็ไม่ปล่อยให้มันคิดไปตะพึดตะพือ แต่กลับมารู้ทันความคิดบ้าง ถ้าเราฝึกให้หมั่นมารู้ทันความคิด หรือกลับมารู้สึกตัว ทีแรกอาจจะทำได้กะปริบกะปรอย แต่พอพยายามทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ด้วยการมาฝึกเจริญสติ
มาสร้างความรู้สึกตัว ก็ช่วยทำให้หลุดจากวงจรของความทุกข์ได้ หรือทำให้วงจรความทุกข์มันเบาบาง วงจรที่ว่าคือหลงจึงทุกข์ และทุกข์จึงหลง หรือว่าหลงจึงคิด คิดจึงทุกข์ ทุกข์จึงหลง หลงจึงคิด คิดจึงทุกข์ อันนี้เป็นวงจรที่เราทำเป็นนิสัย จนกระทั่งมันแข็งแรง
แต่ว่าเราสามารถสร้างนิสัยใหม่ได้ นิสัยที่มีสติรู้ทันความคิด ทักท้วงความคิด หรือว่ารู้ทันอารมณ์ ไม่ปล่อยใจหลงไปตามอารมณ์ หรือไม่ทำอะไรไปตามอารมณ์ ใหม่ๆ มันก็ทำได้ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ถ้าเราทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ นิสัยใหม่ก็เกิดขึ้น นิสัยเดิมคือนิสัยที่พาใจจมอยู่ในทุกข์ แต่นิสัยใหม่เราก็สามารถสร้างขึ้นได้ นิสัยที่จะพาใจเราออกจากทุกข์ ไม่ซ้ำเติมตัวเองด้วยความทุกข์ ซึ่งก็ต้องใช้ความอดทน เพราะว่าทำใหม่ๆ มันก็จะไหลไปสู่ความหลง แล้วพลัดไปสู่ความทุกข์
อย่างคนที่มาเจริญสติ ทำความรู้สึกตัวที่วัดนี่ ใหม่ๆ หลายคนก็จะบอกเลยว่ามีแต่คิดฟุ้งปรุงแต่ง ตั้งใจจะรู้สึกตัว แต่เดี๋ยวมันก็เผลอคิดไปเสียแล้ว เผลอหลงไปเสียแล้ว ทำไปชั่วโมงหนึ่ง อาจจะรู้สึกตัวแค่ไม่กี่นาที ที่เหลือโดนความหลงมันเอาไปกินหมด อันนี้เพราะนิสัยที่มันหนักไปทางหลง
หลวงพ่อคำเขียนท่านใช้คำว่า ความหลงมันมีน้ำหนัก มันก็เลยดึงจิตไปในทางนั้น แต่ว่าถ้าเราไม่ท้อ เราทำ พยายามฝึกไปเรื่อย ให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัว จากเดิมมีสติแค่ 2-3 นาทีใน 1 ชั่วโมง ตอนหลัง มันจะเริ่มมากขึ้นเป็น 4-5 นาที 6-7 นาที แต่ก่อนคิดไปแล้ว 7-8 เรื่องหรือ 10 เรื่อง ถึงค่อยมารู้ว่าเผลอคิดไป แต่พอทำไปๆ คิดไป 5-6 เรื่อง ก็เริ่มรู้สึกตัว เริ่มรู้ทันความคิด หรือกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ทำอย่างนี้ได้เพราะมันทำบ่อยๆ สร้างสติ และสติที่เราสร้างนี่มันมีวันสูญเปล่าเลย มันก็กลับมาปรุงแต่งให้เรามีความรู้สึกตัวมากขึ้น
แล้วก็อย่างที่บอก มันก็ต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน เหมือนกับสายน้ำ เราต้องการเปลี่ยนทิศทางของน้ำ ไม่ให้มันไหลไปทางเดิม เราก็ต้องขุดคลองใหม่ หรือขุดทางน้ำใหม่ ตอนที่ขุดทางน้ำใหม่ น้ำมันก็ยังไม่ไปทางใหม่ มันก็ยังไปทางเก่า เพราะทางน้ำใหม่มันยังแคบ มันยังเล็ก มันยังตื้น แต่พอเราขุดไปเรื่อยๆ ขยายทางใหม่ให้มันกว้าง ให้มันลึก คราวนี้น้ำก็จะเริ่มไปทางใหม่ แล้วถ้าเราทำไม่หยุด ทำไม่เลิก ต่อไปน้ำก็จะไหลไปทางใหม่ ทางเก่ามันก็จะมีน้ำน้อยลง
นิสัยก็เหมือนกัน นิสัยใหม่ นิสัยที่ขยันรู้สึกตัว ขยันมีสติ มันต้องใช้เวลา กว่าที่มันจะมาทดแทนนิสัยเก่า นิสัยชอบหลง นิสัยชอบจมอยู่ในความทุกข์ มันไม่ใช่ว่าจะมาสร้างนิสัยใหม่ทดแทนนิสัยเก่าได้ง่ายๆ เพราะว่านิสัยเก่านี่เหมือนกับน้ำ ที่ไหลในทางที่กว้างและลึกมานานแล้ว จะสร้างทางน้ำสายใหม่ ที่จะพาน้ำไปสู่ทางใหม่ ไม่ไหลไปสู่ทางเก่า มันต้องใช้เวลา
แต่ว่าถ้าขยันทำ ขยันฝึก มันก็จะได้ผลที่คุ้มค่า เพราะมันจะรู้สึกตัวมากขึ้นเรื่อยๆ มีความรู้สึกตัวมากขึ้น มีความหลงน้อยลง แล้วต่อไปก็จะเกิดกำลังใจเกิดความมั่นใจ ในการที่จะฝึกสติให้มากขึ้น มันก็ต้องทำแบบนี้แหละ คือทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ จากเดิมหลงแล้วก็เลยทุกข์ ต่อไปมันเปลี่ยนเป็นสุขเพราะรู้สึกตัว ความทุกข์มันเกิดเพราะหลง
แต่ถ้าหากว่าความหลงน้อยลง มีความรู้สึกตัวมากขึ้น ความสุขมันก็จะมาแทนที่ ให้ความรู้สึกตัวมาแทนความหลงเมื่อไหร่ ความสุขมันก็จะมาแทนความทุกข์ มันเป็นสุขแบบเรียบๆ แต่ว่าปลอดโปร่ง ทำให้ใจเป็นอิสระ ไม่เหมือนสุขจากความสนุกสนาน จากการเสพ แล้วถ้าเราสัมผัสกับความสุขเพราะรู้สึกตัวมากขึ้น มันก็จะเกิดเรี่ยวแรง เกิดกำลังใจ
เราก็จะพบว่าสตินี่ทีแรกเราเป็นฝ่ายรักษา เป็นฝ่ายสร้างสติ แต่ทำไปๆ สติจะมารักษาเรา สิ่งที่เราทำคือการเจริญสติ สติมันไม่ได้เกิดจากเราอย่างเดียว หรือเกิดจากการกระทำของเราอย่างเดียว มันกลับมาปรุงแต่งทำให้ใจเราปลอดโปร่ง ผ่องใส แล้วคลายทุกข์ได้ด้วย.