พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 14 เมษายน 2566
มีหมออาวุโสท่านหนึ่ง ท่านได้เล่าว่ามีเหตุการณ์ 3 อย่าง ที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ประการแรกคือ ตอนที่ท่านเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 4 ระหว่างที่ตรวจคนไข้กับรุ่นพี่นักศึกษาแพทย์ปี 6 รุ่นพี่ก็กำชับให้เก็บปัสสาวะของคนไข้แล้วไปส่งตรวจ แต่ปรากฏว่านักศึกษาปี 4 นี่ลืม วันรุ่งขึ้นอาจารย์แพทย์มาตรวจคนไข้คนนี้ แล้วพอรู้ว่าไม่ได้มีการเก็บปัสสาวะไปตรวจก็ถามว่า “ทำไม ใครลืม” ทีแรกนักศึกษาแพทย์ปี 4 ก็เตรียมตอบไปแล้วว่า ผมลืมครับ
ปรากฏว่ารุ่นพี่ปี 6 กลับออกรับแทน บอกว่า “ขอโทษครับ ผมลืมสั่งนักศึกษาปี 4 ให้เก็บปัสสาวะส่งตรวจ” อาจารย์ก็เลยต่อว่านักศึกษารุ่นพี่คนนั้น อาจารย์ก็เป็นคนที่เรียกว่าดุอยู่แล้วนะ แล้วเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ลืมได้ยังไง ก็ต่อว่านักศึกษาแพทย์รุ่นพี่
ส่วนนักศึกษาแพทย์ปี 4 พอเห็นเหตุการณ์แล้วก็รู้สึกผิดอย่างแรง พออาจารย์ไปแล้วก็ตรงมาเพื่อจะขอโทษรุ่นพี่ เพราะความผิดนี่เป็นของแกเอง ไม่ได้เป็นของรุ่นพี่ แต่รุ่นพี่คนนั้นก็บอกว่า “เฮ้ย ทำอะไรของแกเนี่ย ความผิดของรุ่นน้องก็เป็นความรับผิดชอบของรุ่นพี่ พี่ผิดเอง” นี่เป็นเหตุการณ์ที่รุ่นน้องประทับใจมาก
เหตุการณ์ที่สอง ตอนเป็นแพทย์ intern เรียกว่าแพทย์ฝึกหัด คืนหนึ่งอยู่เวรกับอาจารย์ ขณะที่อยู่ในห้องฉุกเฉิน ก็มีผู้ชายคนหนึ่งเอ็นขาด เลือดเต็มแขนเลย แล้วมายืนคุยกับหมอหน้าห้องผ่าตัด บอกหมอว่า “หมอ ผมไม่มีเงินจ่ายนะครับค่าผ่าตัดเนี่ย”
อาจารย์หมอบอกว่า "ไม่ต้องพูดเรื่องเงิน เอามือมาดูก่อน" แล้วหมอคนนี้ก็รีบพาคนไข้เข้าห้องผ่าตัดเลย แพทย์คนนั้นบอกว่า ตกลงวันนั้นไม่รู้ว่าโรงพยาบาลได้เงินจากคนไข้หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คนไข้ได้รับการผ่าตัด ปลอดภัย
เหตุการณ์ที่สาม ช่วงที่เป็นแพทย์ฝึกหัดมีการไปเยี่ยมคนไข้พร้อมกับอาจารย์ อาจารย์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาก็มาซักประวัติ แล้วตรวจดูร่างกาย เสร็จแล้วพนักงานโรงพยาบาลก็เอาถาดอาหารมาให้คนไข้ เป็นถาดหลุม คนไข้เป็นชาวพม่า แกกินข้าวนิดเดียวแล้วก็ส่งถาดนั้นให้ลูกชายตัวเล็กๆ ลูกชายนี่กินอาหารจนหมดถาดไม่เหลือเลย
ทั้งหมดนี้อาจารย์แพทย์เห็น ก็เลยถามคนไข้ชาวพม่าว่า "ทำไมกินข้าวถาดเดียวกัน 2 คน อิ่มเหรอ" หมอก็ไม่ว่าอะไร แล้วบอกให้แพทย์ฝึกหัด คือคนเล่าเนี่ยช่วยจดออเดอร์แล้วก็สั่งยา หมอก็สั่งยาหลายตัวแล้วปิดท้ายว่า "แล้วเพิ่มอาหารโรงพยาบาลเตียงนี้เป็นมื้อละ ๒ ถาด" แล้วก็วงเล็บว่า “เก็บเงินที่ผม” แพทย์คนนี้นี่ประทับใจมากเลยนะ อาจารย์มีความเมตตากรุณามาก
ทั้งสามเหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ไม่มีสอนในโรงเรียนแพทย์ แต่สอนจากการประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่าง คนหนึ่งเป็นรุ่นพี่ที่พร้อมจะรับผิดชอบแทนรุ่นน้อง ยอมปกป้องรุ่นน้องแม้ว่าจะถูกอาจารย์ด่า ก็ถือว่าเป็นความเสียสละ ไม่หวงแหนหน้าตาเลยนะ ยอมให้อาจารย์ด่า อาจจะเสียคะแนนแต่ทำเพื่อรุ่นน้อง รุ่นน้องยังเด็ก ยังไม่รู้เรื่อง ยังไม่รู้จักรับผิดชอบดี รุ่นพี่ก็ปกป้อง
ส่วนอีกสองเหตุการณ์นี้เรียกว่า หมอมีน้ำใจต่อคนไข้ มีเงินไม่มีเงิน ก็ผ่าก่อน รักษาตัวก่อน แล้วเรื่องเงินเอาไว้ที่หลัง เผลอๆ บางทีหมออาจจะเป็นคนจ่ายเองก็ได้ เหมือนกับกรณีที่สาม ถาดอาหารสองถาด ถาดหนึ่งสำหรับผู้ป่วยซึ่งเป็นแม่ อีกถาดสำหรับลูก หมอคงเห็นสารรูปของเด็กคนนั้นว่าผอม แสดงว่ายากจน ก็เลยสั่งอาหารมาให้ทั้งแม่ทั้งลูก แล้วก็มาเก็บเงินกับหมอ อันนี้ก็เป็นความเมตตา ความมีน้ำใจ ซึ่งประทับใจคุณหมอท่านนี้มาก
คุณหมอท่านนี้ต่อมาก็เป็นหมอใหญ่ที่มีชื่อนะ เคยเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณหมอเกษม วัฒนชัย ซึ่งภายหลังก็เป็นองคมนตรี ตอนนี้ก็เป็นองคมนตรี ถือว่าเป็นปูชนียบุคคลในวงการแพทย์
อย่างที่คุณหมอบอกว่า สามเหตุการณ์นี้เปลี่ยนแปลงชีวิตคุณหมอไปตลอดกาลเลย คนเราเนี่ยเวลาทำความดี เราอาจจะไม่รู้เลยนะว่าความดีของเราเนี่ย มันสามารถที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้ อย่างสามท่านนี้ รุ่นพี่ปี ๖ แล้วก็คุณหมออีกสองคนเนี่ยอาจจะไม่ทราบเลยนะว่า การกระทำของตนมันสามารถจะเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาเด็กๆ คนหนึ่งได้ ซึ่งภายหลังก็กลายเป็นแพทย์ใหญ่ แพทย์อาวุโส
หลายคนเวลาทำความดีแล้วก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่า “ทำดีแล้วไม่มีผล ทำดีแล้วไม่สำเร็จอย่างที่ต้องการ” แต่จริงๆ อาจจะไม่รู้เลยนะว่า ความดีที่ตัวเองทำแม้เพียงเล็กน้อย มันสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตจิตใจของคนบางคนที่เห็นเหตุการณ์ได้
สามเหตุการณ์ที่ว่าไป ก็เป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับเจ้าตัวที่เป็นหมอ ที่เป็นนักศึกษาแพทย์ปี ๖ แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่มันสามารถจะเปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจของนักศึกษาหนุ่มได้ เพราะฉะนั้นเวลาเราทำความดีก็อย่าไปคิดนะว่า “ความดีที่เราทำไม่มีผล”
มันมีผลแต่เราอาจจะไม่รู้ว่า มันสามารถจะไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของใคร ที่เราอาจจะไม่รู้จัก หรือไม่สังเกตก็ได้.