พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 12 เมษายน 2566
การเรียนภาคฤดูร้อนก็เพิ่งสิ้นสุดลง เชื่อว่าเณรทุกรูปก็ว่าได้ จะได้เรียรรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากค่ายนี้ ไม่ใช่แค่จากคำสอนคำบรรยายของพระพี่เลี้ยง แต่ที่สำคัญก็คือจากประสบการณ์ ประสบการณ์ที่ได้เจอะเจอด้วยตัวเอง แม้ว่าจะเป็นประสบการณืที่ไม่ถูกใจ เพราะว่าในค่ายนี้มันก็ไม่ได้มีแต่ความสนุกอย่างเดียว ความสนุกมันก็เป็นแค่น้ำจิ้ม ที่ทำให้เณรเขามีความเพลิดเพลิน มีกำลังใจในการเรียนรู้
แต่ว่าน้ำจิ้มมันก็มีประโยชน์เท่านั้นแหละ
สิ่งที่สำคัญก็คือบทเรียน บทเรียนชีวิตซึ่งได้มาจากประสบการณ์ โดยเฉพาะความยากลำบาก ความไม่สมหวัง ความผิดหวัง อารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นบทเรียน เช่น ความอยาก ความกลัว พวกนี้ใหม่ๆ เด็กๆ อาจจะไม่ค่อยได้เห็นคุณค่าเท่าไหร่ หรือมองไม่เห็นว่ามันเป็นบทเรียนยังไง แต่ต่อไปเขาก็จะได้เรียนรู้หลายอย่าง เป็นประสบการณ์ชีวิตที่จะทำให้เขาเติบโตขึ้น
แล้วไม่ใช่แค่สามเณรเท่านั้นที่ได้เรียนรู้จากค่ายนี้ พระพี่เลี้ยงก็เหมือนกันนะ มันก็มีประสบการณ์หลายอย่างในค่ายที่อาจจะไม่ถูกใจ อาจจะมีความผิดพลาด อาจจะมีอุปสรรคความยากลำบาก หรือมีเรื่องกระทบกระทั่งระหว่างกันเพราะความเข้าใจผิด หรือความเห็นไม่ตรงกัน พวกนี้ก็มีประโยชน์นะ เป็นประสบการณ์ที่สอนธรรมได้ อาจจะไม่น้อยไปกว่าการเจริญสติหรือการปฏิบัติในรูปแบบ
ขณะที่พระพี่เลี้ยงนำพาบทเรียนให้กับสามเณร ให้เขาได้เรียนรู้ชีวิตจากค่าย พระพี่เลี้ยงก็ได้เรียนรู้เหมือนกันจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน
การเรียนรู้เนี่ยบ่อยครั้งเราก็เรียนรู้จากสิ่งที่ไม่สมหวัง สิ่งที่ไม่ถูกใจ ความผิดพลาด ความล้มเหลว ความยากลำบาก ความกล้ำกลืนฝืนทน พวกนี้ส่วนหนึ่งมันก็หล่อหลอมให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็ง หรือช่วยลดความเห็นแก่ตัว อีกส่วนหนึ่งมันก็ให้บทเรียนชีวิตกับเรา ซึ่งมีคุณค่าในทางธรรมไม่น้อยไปกว่าธรรมะที่เราได้ยินได้ฟังจากครูบาอาจารย์ หรือจากการอ่านหนังสือ
สำหรับผู้ใฝ่รู้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันเป็นของดีทั้งนั้น เหมือนกับนักสำรวจเส้นทางบนเขา ในป่า หรือเกาะแก่งทั้งหลายทั้งปวงก็ตาม วิสัยของนักสำรวจนี่ไม่ว่าเจออะไรก็เป็นความรู้ เป็นของดีทั้งนั้น เส้นทางบางช่วงก็วิบากลำบาก บางทีก็แห้งแล้ง บางช่วงก็อาจจะมีสัตว์ร้ายงูพิษชุกชุม บางช่วงก็น้ำเชี่ยวกราก บางช่วงก็เหมือนกับทะเลทราย
สำหรับผู้เป็นนักสำรวจเส้นทาง ทุกอย่างที่เจอบนเส้นทางเขาพร้อมน้อมรับ แล้วเขาเอามาเป็นความรู้ ไม่มีนักสำรวจเส้นทางคนไหนที่พอเจอเส้นทางวิบากแล้วเขาจะโวยวายตีโพยตีพาย เพราะหน้าที่ของเขาคือสำรวจหรือค้นพบความจริงตลอดเส้นทาง ไม่ว่ามันจะเป็นความสะดวกสบายหรือความยากลำบาก
ซึ่งต่างจากนักท่องเที่ยว เวลาไปไหนก็ปรารถนาเส้นทางที่มันสบายร่มรื่น เจอเส้นทางวิบากก็บ่น โวยวาย ตีโพยตีพาย หรือเจอทางชันก็ไม่ชอบ บางทีอาจจะคิดว่านี่เราโชคร้าย วิสัยของนักท่องเที่ยวก็ปรารถนาแต่ความสะดวกสบาย ไม่ปรารถนาความลำบาก ต่างจากนักสำรวจนี่เขาพร้อมยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นความรู้ที่จะต้องจดบันทึกเอาไว้
ผู้ที่ดำเนินชีวิตเพื่อศึกษาเรียนรู้ชีวิต ซึ่งที่จริงมันก็คือวิสัยของนักปฏิบัติธรรม ก็เช่นเดียวกันกับผู้สำรวจเส้นทางธรรมชาติ เขาจะไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชังว่า อย่างนี้ดี_เอา อย่างนั้น_ไม่เอา ไม่ชอบเพราะลำบาก เขาจะถือว่าประสบการณ์ชีวิตมันให้ความรู้ มันให้บทเรียน โดยเฉพาะเรียนรู้เรื่องจิตเรื่องใจของตัวเอง หรือได้เห็นปฏิกิริยาของใจ เวลาเจอที่ที่มันสบาย ใจเป็นยังไง เวลาเจอที่ที่ลำบาก ใจเป็นอย่างไร
นักปฏิบัติธรรมก็มีนิสัยของผู้ที่ต้องการเรียนรู้เรื่องชีวิตจิตใจ เพราะฉะนั้นมันมีประสบการณ์อะไรในทางจิตไม่ว่าดีหรือแย่ ก็พร้อมรับและถือเอามาเป็นบทเรียน แต่ถ้าใครที่ใช้ชีวิตหรือปรารถนาความสะดวกสบายจากชีวิต เขาก็จะมีการเลือกที่รักมักที่ชัง จะแสวงหาแต่ความถูกใจ หาแต่ความสะดวก เจออะไรที่ไม่ถูกใจ เจอผู้คนที่ไม่น่ารัก ก็เอาแต่โวยวายหรือเกิดความโกรธความเกลียด มีอาการผลักไส ไม่ได้เรียนรู้เรื่องจิตเรื่องใจเลยว่า มันไม่มีอะไรที่เราจะควบคุมบังคับบัญชาได้
แล้วถ้าเป็นนักปฏิบัติธรรม ก็ย่อมเป็นผู้ที่ใฝ่รู้เรื่องชีวิตโดยเฉพาะเรื่องของจิตใจ ก็พร้อมน้อมรับที่จะเรียนรู้จากสิ่งต่างๆไม่ใช่แค่เรื่องที่เกิดขึ้นกับกายและใจ แต่รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ล้วนแต่เป็นของดี เป็นบทเรียนทั้งนั้น ความสำเร็จก็ดี ความล้มเหลวก็ดี คำสรรเสริญก็ดี คำนินทาก็ดี หรือการได้ทรัพย์ หรือการเสื่อมลาภเสื่อมทรัพย์ ก็ล้วนแต่เป็นของที่มาสอนให้เราได้เรียนรู้ถึงความจริงของชีวิต ว่ามันไม่เที่ยง มันมีขึ้นมีลง
ที่จริง ถ้าเราหมั่นศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตกับใจ สุดท้ายเราก็จะรู้ว่ามันไม่มีอะไรที่มันเที่ยงแท้แน่นอน ทุกอย่างมันก็ผันผวนแปรปรวน ถ้าเราระลึกแล้วตอกย้ำอยู่เสมอว่า มันไม่มีอะไรที่แน่นอน ไม่มีอะไรที่จีรัง มันจะช่วยทำให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น
บางทีเราไม่ต้องเรียนรู้อะไรมากก็ได้ เพียงแต่ตระหนักถึงความไม่เที่ยง เห็นถึงความไม่จีรังยั่งยืนของทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงเวลาที่เจออะไรเพลิดเพลินก็ไม่หลงไหลยินดีกับมันมาก เพราะรู้ว่ามันเป็นของประเดี๋ยวประด๋าวชั่วคราว ถึงเวลาทุกข์ก็ไม่ได้จมอยู่ในความทุกข์ เพราะเขารู้ว่ามันเป็นของชั่วคราวเหมือนกัน
ขณะเดียวกันก็เห็น สัมผัสได้ถึงความสุขจากการที่ได้ทำความดี โดยเฉพาะเมื่อช่วยเหลือให้คนมีความสุข ก็จะพบว่าเราก็พลอยมีความสุขไปด้วย สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่สามารถสอนใจผู้คน สอนใจเราได้ แล้วช่วยน้อมกล่อมเกลาให้เรามีธรรมะ ทั้งในเรื่องการรู้จักทำใจ ไม่ยึดติดถือมั่น แล้วรู้จักทำกิจ ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่น ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบเห็นแก่ตัว
อันนี้เขาเรียกว่ามีธรรมะแล้ว บางคนนี่เขามีธรรมะโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ไม่ได้ฟังพระเทศน์ ไม่ได้เข้าวัด แต่เขาเป็นคนที่มีจิตใจงดงาม แล้วขณะเดียวกันก็รู้จักรักษาใจไม่ให้ทุกข์ เพราะรู้ว่าไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ อาจจะเผลอยึดบางอย่าง แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็รู้ว่ามันไม่เที่ยง
คนจำนวนมากแม้เขาไม่ได้ฟังธรรม เขาไม่ได้บวช เขาไกลวัด แต่เขามีธรรมะโดยไม่รู้ตัวจากการที่ได้สังเกต สังเกตจากประสบการณ์ชีวิต สังเกตจากพฤติกรรมของบุคคล แล้วก็สังเกตจากความเป็นไปในจิตใจของตัว เช่น พอเอาเปรียบคนอื่นแล้ว แม้จะสำเร็จแต่จิตใจมันทุกข์ แต่ในทางตรงข้ามถ้ารู้จักแบ่งปันเอื้อเฟื้อ มันมีความสุข เวลาทำอะไรที่บากที่ลำบากได้สำเร็จ มีความสุข มีความภาคภูมิใจ
แล้วคนที่หมั่นสังเกตในจิตใจของตัวเอง หรือหมั่นสังเกตประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านเข้ามา สุดท้ายเขาก็จะลงเอยด้วยการเป็นคนมีธรรมะโดยอาจจะไม่รู้เนื้อรู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะที่จริงแล้วเส้นทางสู่ธรรมะนี่มันมีความหลากหลายมาก หรือพูดอีกอย่างก็คือ เส้นทางที่ธรรมะจะเข้าสู่จิตใจของผู้คน มันมีความหลากหลายมาก
ไม่ใช่ว่าจะต้องฟังธรรมะเท่านั้นถึงจะมีธรรมะ ไม่ใช่ว่าจะต้องปฏิบัติธรรมในรูปแบบเท่านั้นจึงจะมีธรรมะ ไม่ใช่ว่าต้องนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเท่านั้นจึงจะมีธรรมะ แม้ว่าจะไม่ได้ฟังธรรมเท่าไหร่ แม้ว่าจะไม่ได้ใกล้วัด แม้จะไม่ได้นับถือศาสนา แต่เขาก็อาจจะมีธรรมะโดยไม่รู้ตัว เพราะอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิต อาศัยเรียนรู้ดูจิตดูใจของตนเอง ซึ่งเรื่องนี้มันก็ไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือวิธีการใดวิธีการหนึ่ง
อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมากนะ เพราะเดี๋ยวนี้มีคนมักจะมีคำถามว่า ทำยังไงให้คนรักของตัวมีธรรมะ แล้วมักจะนึกคิดแต่เรื่องของการให้ฟังธรรม การให้มาบวช แต่ที่จริงมันมีหลายวิธีมาก แล้วที่เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่ง ก็คือ เวลาคนรักของตัวเองเกิดความเจ็บป่วยและมีความทุกข์ โดยเฉพาะเมื่อใกล้ตาย มักจะมีคำถามว่า พ่อป่วยหนัก แม่ป่วยหนัก เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ทำยังไงจะให้เขามีธรรมะ
หลายคนมีความทุกข์เพราะพยายามที่จะพูดธรรมะให้กับพ่อแม่ที่ป่วย พยายามเปิดเทปธรรมะให้เขาฟัง เขาไม่สนใจ อยากให้เขาหายทุกข์ อยากให้เขาคลายทุกข์ เพราะบางคนก็กลัวตาย แล้วเวลาเห็นใครกลัวตายก็คิดว่า ถ้าเขาได้ฟังธรรมะ เขาจะหายกลัวตาย ก็เลยพยายามที่จะพูดธรรมะเปิดธรรมะให้เขา แต่พอเขาไม่ฟังก็ยิ่งพยายามยัดเยียด ก็เลยเกิดการปฏิเสธ ผลก็คือเกิดความทุกข์ ทั้งผู้ปรารถนาดีคือลูก แล้วก็ผู้ที่ป่วย
ที่จริง การที่จะทำให้คนใกล้ตายเขาไม่ทุกข์ทรมานเวลาจะตาย หรือกลัวตายน้อยลง มันไม่จำเป็นว่าจะต้องใส่ธรรมะหรือยัดเยียดธรรมะให้เขาอย่างเดียว แล้วที่จริงส่วนใหญ่ก็ไม่สำเร็จนะ เพราะคนที่เขาใกล้ตายเขาป่วยหนัก ปกติส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมด จิตใจก็ห่อเหี่ยว จิตใจเศร้าหมอง มีความกลัดกลุ้ม มีความวิตก สภาวะอารมณ์แบบนี้มันยากที่จะทำให้คนเปิดใจรับธรรมะ
เวลาเราป่วยหนัก หรือถึงแม้ไม่ป่วยหนัก ทั้งที่ป่วยด้วยโรคที่รักษาหายได้ บางทีใจมันไม่อยากจะมารับฟังธรรมะเลย เพราะมันห่อเหี่ยว แล้วสำหรับหลายคน ธรรมะนี่มันกลายเป็นเรื่องที่เหมือนกับลึกลับหรือเข้าใจยาก พอจิตใจห่อเหี่ยวแล้วมันก็ไม่อยากจะเปิดรับธรรมะ ยิ่งเป็นธรรมะที่เกี่ยวกับสัจธรรมความจริง เช่น ความตายเป็นธรรมดาของทุกชีวิต ยิ่งปฏิเสธเข้าไปใหญ่
แต่สิ่งที่น่าคิดก็คือว่า จะช่วยทำให้เขาหายห่อเหี่ยว หายหม่นหมองได้อย่างไร ตรงนี้สำคัญกว่า บางทีไม่ได้ถามนะว่า ที่เขาห่อเหี่ยว ที่เขามีความทุกข์เพราะอะไร เขาอาจจะยังห่วงลูก ห่วงคนรัก ห่วงงานการ ถ้าหากรู้ว่าเขาห่วง ถ้าช่วยให้เขาหายห่วง เขาจะรู้สึกโปร่งเบามากขึ้น แล้วคนเราพอจิตใจสบาย จิตใจผ่อนคลาย การที่จะเปิดรับธรรมะก็เป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่ถ้าจิตใจเครียด จิตใจหม่นหมอง มันก็ยาก
อย่าว่าแต่คนที่ห่างไกลธรรมะมาก่อนเลยนะ แม้กระทั่งคนที่สนใจธรรมะ อ่านมาเยอะฟังมาเยอะ เป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง คิดว่าตัวเองมีธรรมะพอตัว แต่พอป่วยด้วยโรคร้าย ปรากฏว่าธรรมะที่ได้ยินได้ฟังได้เรียนรู้มา มันช่วยอะไรแทบไม่ได้เลย เรียกว่า เอาไม่อยู่ นี่ขนาดคนที่คุ้นเคยกับธรรมะ แต่พอเวลาป่วยหนักๆ ธรรมะที่มีนี่เอามาใช้ไม่ได้เลย เพราะมันเป็นแค่สิ่งที่จำเอา เป็นสิ่งที่แค่จำอยู่ในหัว แต่ใจมันไม่ได้คล้อยตามด้วย หัวสมองกับหัวใจมันไปคนละทาง
คนที่อ่านเยอะฟังเยอะ มันก็แค่รู้จำนะ แต่ถ้าไม่ได้ฝึกใจมันก็ไม่เกิดความรู้จักหรือเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ถึงเวลาก็เอาธรรมะมาใช้ไม่ได้ เอาธรรมะในหัวมาใช้ในการน้อมจิตให้หายกลัว ให้รู้จักปล่อยวาง มันทำไม่ได้ นับประสาอะไรกับคนที่ไม่เคยสนใจธรรมะมาก่อนเลย พอจะตายจะมาเปิดเทปธรรมะให้เขาฟังนี่ เขายิ่งยากที่จะเข้าใจได้ เพราะมันสวนทางกับความเข้าใจ สวนทางกับกิเลส ตอนปกติธรรมดาสุขภาพดี ใจยังไม่น้อมฟังธรรมะเลย แล้วยิ่งตอนจะตาย ตอนที่มีทุกขเวทนาบีบคั้น มีความเครียด กิเลสมันก็แรงกล้า แล้วจะ เปิดใจรับธรรมะได้อย่างไร หรือเอาธรรมะมาใช้ในการน้อมใจให้หายกลัวได้อย่างไร
แต่ถ้าเกิดเราพยายามช่วยทางอื่น ช่วยทำให้เขาคลายกังวล คลายความห่วง พอคลายความห่วงในลูก คลายความอาลัยหรือห่วงในทรัพย์หรืองานการ จิตใจมันเริ่มโปร่งโล่ง การที่จะน้อมฟังธรรมะก็ง่ายขึ้น ฉะนั้นแทนที่จะให้เขาเข้าใจธรรมะ เราเอาตัวช่วยอย่างอื่นมาช่วยเขาจะดีกว่า
เริ่มจากการช่วยทำให้เขาคลายความห่วง คลายความอาลัยในสิ่งต่างๆ ก่อน เพราะคนเราเวลาจะตายมันจะมีอุปสรรคสองอย่าง คือ มันมีความยึดในของรักของหวง ไม่อยากสูญไม่อยากจากพรากจากของรักของหวง นี่เรียกว่าทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งรักที่พอใจ แล้วแถมยังเจอสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจอีกนะ ก็คืออะไร คือความเจ็บปวดและความตาย
คนเราถ้าหากว่าของรักก็ยังห่วง ขณะเดียวกันทุกขเวทนาบีบคั้น มันก็ทำให้เกิดความทุกข์ เกิดความห่อเหี่ยว แต่ถ้าช่วยทำให้เขาคลายความยึดมั่นถือมั่น คลายความห่วง จิตใจก็เริ่มสบาย แล้วช่วยทำให้เขามีจิตใจเป็นกุศลมากขึ้น แล้วทำยังไงนะ ก็พูดถึงสิ่งที่เขาภาคภูมิใจในชีวิต พูดถึงความประทับใจในความดีที่เขาได้มีต่อเรา มีต่อลูกต่อหลาน ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตเขาได้ทำคุณงามความดีมามาก เกิดความภาคภูมิใจในชีวิตที่ผ่านมา เกิดความภาคภูมิใจในความดีที่ได้ทำ มันก็ทำให้เกิดความมั่นใจในปรโลก พอเกิดความมั่นใจในปรโลก ความกลัวตายก็น้อยลง
อีกอย่างหนึ่งพอพูดถึงสิ่งดีๆ ถ้าทำให้เขาภาคภูมิใจ จิตใจมันก็ชื่นบานมากขึ้น มีปีติ มีปราโมทย์ พอมีปีติมีปราโมทย์ การที่จะน้อมรับฟังธรรมะ ยอมรับความจริงของชีวิตคือความตาย มันก็ง่ายขึ้ัน บางคนเขาพอมีความมั่นใจว่าคนรักจะอยู่กับเขาจนนาทีสุดท้าย ความกลัวตายก็จะน้อยลง พอมั่นใจว่าทุกคนที่เขารักจะไม่ทิ้งเขา เขาจะไม่ตายคนเดียว แต่จะมีคนมาส่งเขาด้วย ก็พร้อมที่จะตายมากขึ้น
มีหมอคนหนึ่งเล่าว่า คนไข้ระยะท้ายคนหนึ่งมาอยู่ในการดูเเลของหมอ เขาพยายามพูดให้คนไข้ยอมรับความตาย แต่คนไข้ก็ปฏิเสธ พูดยังไงก็ปฏิเสธ แต่หลังจากที่เขาได้จัดการภารกิจต่างๆ หลายอย่างจนกระทั่งแล้วใจแล้ว ถึงจุดหนึ่งเขาก็บอกหมอเลยว่า ผมพร้อมตายแล้ว หมองงเลย ทีแรกพูดเรื่องความตายนี่ไม่ยอมรับ แต่ตอนนี้ก็บอกว่าพร้อมตาย เพราะอะไร เพราะเขาไม่มีเรื่องที่ต้องห่วงแล้ว ภารกิจต่างๆ ทำเสร็จสิ้นแล้ว จิตใจสบายแล้ว พอจิตใจสบายมันก็ยอมรับความจริง ยอมรับสัจธรรมได้
แล้วหลายคน แม้เราจะไม่ต้องเอาธรรมะใส่ให้เขา หรือเอาธรรมะยัดเยียดให้เขา แต่พอช่วยเขาทางอื่น ช่วยให้เขาปล่อยวางเพราะหมดห่วง และช่วยให้เขาเกิดจิตใจที่เป็นกุศล มีปีติเพราะระลึกถึงความดีที่ได้ทำ ใจมันก็พร้อมที่จะน้อมรับความตายได้ เพราะเส้นทางสู่ธรรมะนั้นมีหลายเส้นทาง เส้นทางที่ธรรมะจะเข้าสู่ใจคนมันก็มีหลายเส้นทาง ไม่ได้มีแค่เส้นทางเดียวคือการสอนธรรมะหรือการให้ฟังธรรมะ การช่วยวิธีอื่นที่ทำให้จิตใจเป็นกุศล จิตใจเกิดความโปร่งโล่ง อันนี้มันก็เป็นการช่วยทำให้เขายอมรับความจริงของชีวิตได้เหมือนกัน เรียกว่าเข้าถึงธรรมะได้โดยที่เราไม่ต้องยัดเยียด
บางคนถ้าเกิดเขามีความรู้สึกอบอุ่นใจ มีความมั่นใจว่า มีสิ่งที่จะมาช่วยน้อมนำให้เขาไปกุศลได้ เขาก็มีความสุขพร้อมจะไป บางคนมีความเชื่อว่าไปแล้วจะได้ไปพบพระพุทธเจ้า ไปแล้วจะได้ไปกราบพระเกศแก้วมณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พอมีความเชื่อเช่นนี้มันก็พร้อมตาย หรือมีความเชื่อว่าไปแล้วฉันจะได้ไปดี เพราะฉันทำความดีมาเยอะ คนเหล่านี้เขาก็พร้อมตายโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปยัดเยียดให้เขา เพราะเขารู้ว่าชีวิตที่ผ่านมามีคุณค่า มั่นใจว่าข้างหน้านี่เป็นทางที่ดี หรือใจได้นึกถึงสิ่งที่เกิดความอบอุ่นใจ
ในสมัยพุทธกาล มีพราหมณ์คนหนึ่งที่ฆ่าสัตว์มาเยอะ ถึงเวลาจะตายมันมีนิมิตที่เป็นอกุศลมาหลอกหลอน มีสัตว์ร้ายมาจะตามล่า กลัวมากเลย เผอิญมีลูกชายเป็นพระ ลูกชายรู้ว่าคติของพ่อนี่จะไปอบายเพราะเห็นแต่ภาพที่เป็นอกุศล ก็พาพ่อไปกราบพระพุทธเจ้า ให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย พอใจน้อมนึกถึงพระรัตนตรัย เกิดความศรัทธาว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะคุ้มครอง ปรากฏว่าภาพสัตว์ร้ายก็หายไป เหลือแต่ภาพเทพธิดา แปลว่าอะไร แปลว่าเกิดคตินิมิตในทางบวก เป็นกุศลแล้ว ถึงตอนนี้ไม่กลัวตายแล้ว พร้อมจะไปแล้ว แล้วพอไปก็ได้ไปสุคติจริงๆ
บางทีไม่ต้องไปสอนธรรมะ ว่าคนเราเกิดมาแล้วต้องตายนะพ่อ ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่จำเป็นต้องสอนนะ แต่น้อมใจให้นึกถึงสิ่งที่เป็นกุศล เช่น พระรัตนตรัยถ้าเขาเชื่อ พอเขานึกแล้ว ถ้าใจเป็นกุศลแล้ว พร้อมไปเอง.