หลายคนเวลายืนอยู่ริมหน้าผาสูงจะรู้สึกกลัว ที่กลัวนี่ไม่ใช่กลัวพลัดตกลงไปข้างล่าง แต่กลัวว่าตัวเองจะกระโจนลงไป มันก็แปลกนะ คนเราก็มีธรรมชาติหรือสัญชาตญาณรักตัวกลัวตาย แล้วทำไมมีความคิด อย่างนั้นขึ้นมา ความคิดว่าตัวเองจะกระโดดลงหน้าผา พอมีความคิดนี้ขึ้นมาก็กลัวเลย เพราะว่ายังไม่อยากตาย แต่ที่มีความคิดอย่างนั้นขึ้นมา เพราะมันเหมือนกับมีเสียงยุ กระโดดลงไปเลยๆ
หลายคนเขาพอ เจอเหตุการณ์แบบนี้ เขาก็เลยกลัวขึ้นมาเลย กลัวว่าจะกระโดดลงไปจริงๆ
เสียงยุแบบนี้จะว่าไปมันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พิเศษหรือประหลาดอะไร เพราะในบางสถานการณ์เราก็จะพบว่ามันมีเสียงเยอะที่แปลกๆ ยุให้ทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ อย่างเช่นบางคนเจอกระเป๋าเงิน หรือว่ากระเป๋า เอกสารซึ่งข้างในมีเงินเป็นแสนเป็นล้าน มันจะมีเสียงยุว่าอย่าไปคืนเจ้าของ หรือว่าอย่าไปแจ้งตำรวจเลย เก็บเอาไว้ดีกว่า คนที่มีเสียงยุแบบนี้ปกติก็เป็นคนที่ไม่ใช่ขโมยขโจรอะไร ก็เป็นคนที่ปกติธรรมดา แต่พอมีทรัพย์จำนวนมากอยู่ต่อหน้า แล้วก็ยิ่งไม่มีคนเห็น แม้ใจหนึ่งก็จะมีความคิดที่จะไปคืนเจ้าของหรือไปแจ้งตำรวจ แต่มันก็จะมีเสียงยุแบบนี้ เก็บไว้เป็นของตัวเองดีกว่า เพราะว่าอย่างไรก็ไม่มีใครรู้หรอก หรือบางคนอาจจะเจอแหวนเพชรสร้อยทองที่มีคนลืมไว้ในห้องน้ำ ความคิดแรกก็อยากจะเอาไปคืนเจ้าของ แต่มันก็จะมีเสียงยุว่าเก็บเข้ากระเป๋าตัวเองดีกว่า
อันนี้ไม่นับถึงคนที่อาจจะดูแลรับผิดชอบเรื่องการเงิน แล้วพอเห็นหรือบังเอิญเกิดเห็นช่องโหว่ ทั้งที่ไม่เคยทุจริตมาก่อน แต่มันก็จะมีเสียงยุว่าเราเอาเงินเขามาดีกว่า ไม่มีใครรู้หรอก ยิ่งคนที่ร้อนเงินอยู่แล้ว เสียงยุนี่มันจะดังมาก แล้วก็ดังระงมเลย มันก็เป็นเสียงเดียวกับเสียงที่ยุให้หลายคนไปเสพยา หรือว่าลองกินเหล้า ทั้งที่ไม่เคย เสียงยุในหัวของนักเรียน วัยรุ่น มันจะดังอยู่ในหัวของหลายคนเลย ลองเสพยาดูสิ เอาหน่อย่นะ แล้วมันก็จะมีเหตุผล มีข้ออ้าง ครั้งเดียวเท่านั้นแหละ ไม่มีใครรู้หรอก หาประสบการณ์ดู จะได้รู้ว่ามันไม่ดีอย่างไรบ้าง มันก็จะมีเสียงหว่านล้อม นอกจากเสียงยุแล้วก็มีเหตุผลหว่านล้อม
บางคนที่มีคู่มีแฟนหรือมีคู่ครองแล้ว บางครั้งมันก็จะมีเสียงยุ น่าจะมีกิ๊กนะ หรือลองนอกใจคู่รักสักครั้งหนึ่ง ทั้งที่อาจจะไม่มีประวัติในทางนี้ แต่ว่าจู่ๆ ก็จะมีเสียงยุเสียงแหย่ คนเราถ้าสังเกตดูมักจะมีเสียงยุทำนองนี้อยู่ ในบางครั้งบางคราว มันเป็นเสียงยุที่ทำให้เราอยากจะลองทำไม่ดี หรือผิดศีล จะเรียกว่ามันเป็นเสียงยุของเจ้าตัวร้ายก็ได้นะ
ในจิตใจของปุถุชน มันจะมีเจ้าตัวร้ายคอยยุคอยแหย่ อันนี้ไม่ต้องพูดถึงคนที่ติดเหล้า ติดการพนันแล้วนะ อันนี้มันไม่ใช่เสียงยุแล้วล่ะ มันเกิดความโลภ มันกลายเป็นความเคยชินเป็นนิสัยไปแล้ว แต่เสียงที่ว่า มักจะเกิดกับคนที่ยังไม่เคย เรียกว่าเป็นคนที่เรียบร้อย ไม่เคยทำสิ่งที่ไม่สมควร แต่มันก็จะมีเสียงยุเสียงแหย่ ลองทำดู หลายๆ คนก็เผลอทำ หรือบางครั้งก็ต้องต่อสู้กับเสียงยุเสียงแหย่นี้
บางทีมันก็ยุแหย่ให้จ้วงจาบครูบาอาจารย์ หรือว่ากล่าวคำจ้วงจาบพระรัตนตรัย บางคนบอกเวลาไหว้พระสวดมนต์ กราบพระพุทธรูปนี้จะมีเสียงยุเสียงแหย่ให้จ้วงจาบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือบางทีไม่ใช่แค่เสียงยุ มันเสียงด่าจริงๆ เลย เสียงจ้วงจาบจริง ๆ รวมถึงยุให้ต่อว่าพ่อแม่ ต่อว่าครูบาอาจารย์
แล้วมันมีเสียงประเภทว่าคอยเสี้ยม เสี้ยมว่าแฟนเรานี่มันจะนอกใจหรือเปล่านะ ดูท่าทางมีพิรุธ ทั้งที่เขาก็อาจจะไม่ได้มีอะไรผิดปกติ แต่มันมีเสียงที่เสี้ยมว่าเขานอกใจเราหรือเปล่า นอกใจเราละมั้ง หรือว่าเสี้ยมว่าเพื่อนร่วมงานเขากำลังหักหลังเรา เขากำลังเลื่อยขาเก้าอี้เรา มันชวนให้เราคิดไปในทางลบทางร้าย ที่ทำให้หวาดระแวงคนนั้นคนนี้ แล้วใครถ้าเผลอเชื่อเสียงยุเสียงแหย่หรือว่าเสียงเสี้ยม มันก็ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากับคู่ครอง กับเพื่อนร่วมงาน เพราะไปคิดจริงจังว่าเขานอกใจบ้าง หรือว่าเขากำลังเลื่อยขาเก้าอี้
บางครั้งก็เป็นเสียงที่ทำให้เราเป็นทุกข์ เพราะว่ามันชวนให้คิดลบคิดร้าย ลูกหรือว่าคนรักกลับบ้านดึกหรือว่าไม่กลับมาบ้านสักที ผิดเวลา มันก็จะคิดลบคิดร้ายเลยว่าเขาไปเที่ยวกับกิ๊กไหม หรือว่าเกิดอุบัติเหตุหรือเปล่า พอคิดแบบนี้เข้ามันก็เกิดความทุกข์ เกิดความร้อนรุ่มขึ้นมา ทั้งที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ในจิตใจของคนเรามันจะมีเสียงยุเสียงแหย่ หรือว่าเสียงที่คอยเสี้ยมให้เกิดความระแวงอยู่เป็นครั้งคราว หรือว่าอาจจะเกิดขึ้นบ่อยๆ อันนี้เรียกว่ามันเป็นผลงานของเจ้าตัวร้ายที่มันซุกซ่อนอยู่ในใจของเรา ซึ่ง บางครั้งก็ทำให้เราเผลอทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดศีลธรรม ถ้าเราหลงเชื่อมัน
หรือบางครั้งก็ฉุดให้ใจเราไปจมอยู่กับความทุกข์ เช่น เวลาคิดลบคิดร้ายว่าลูกเราเขาคบเพื่อนไม่ดีหรือเปล่านี่ กลับบ้านดึกเพราะติดยาไหม หรือว่าเวลาเขาไปสอบ สงสัยสอบไม่ได้ ทั้งที่ยังไม่ทันรู้ผลเลย แต่ว่าพอคิดไปแล้วมันก็ทำให้เกิดความวิตกกังวล เกิดความเครียด อันนี้เรียกว่ามันเป็นเสียงที่ฉุดให้เราลงต่ำ จมอยู่ในความทุกข์ หรือไม่ก็บางทีเป็นเสียงที่คอยซ้ำเติมความทุกข์ให้กับเรา เช่น เวลาเราทำอะไรผิดพลาด ทั้งที่อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่มันก็ยังมีเสียงดังอยู่ในหัว แกมันแย่มาก ทำไมถึงทำอย่างนั้นกับเขา ทำไมถึงปล่อยปละละเลย ทำไมถึงไม่ใส่ใจ บางทีเราก็รู้ว่าเราทำผิด อาจจะทำผิด ทำไม่ดีกับพ่อแม่ ขึ้นเสียงหรือว่าต่อว่าท่าน แล้วท่านก็ไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองอะไร แต่มันก็มีเสียงซ้ำเติมเรา แกมันแย่ แกเป็นลูกทรพี ลูกอกตัญญู อย่างนี้ไม่มีวันเจริญ
วิธีการจัดการกับเสียงในหัวอย่างถูกต้อง
คิดว่าทุกคนก็คงจะเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ เพราะว่าในใจของเรา มันก็อาจจะเรียกว่ามันมีเจ้าตัวร้าย ที่คอยยุแหย่ คอยเสี้ยม คอยทำให้เราเชว คอยซ้ำเติมโบยตีตัวเรา หรือว่าคอยฉุดให้ใจเราจมอยู่ในความทุกข์ แล้วยิ่งบางคนถ้าเกิดว่าจัดการกับเสียงเหล่านี้ไม่ถูกต้อง เช่นคล้อยตามมัน หรือบางทีก็พยายามต่อสู้กับมัน ต่อสู้อย่างไม่ถูกต้องก็จะเกิดเป็นทุกข์นะ เช่น คนที่มีเสียงก่นด่าพ่อแม่อยู่ในหัว เสียงจ้วงจาบพระรัตนตรัย แล้วพยายามที่จะกดข่ม พยายามที่จะปฏิเสธผลักไส ไม่ให้เสียงเหล่านี้เกิดขึ้น แต่ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ ยิ่งผลักไสมันก็ยิ่งต่อต้าน และเสียงที่เกิดขึ้นตามมาก็กลายเป็นเสียงที่กล่าวหาโจมตีตัวเอง ว่าแกมันเลว ไปจ้วงจาบพระรัตนตรัยได้อย่างไร ไปคิดอย่างนั้นก็ครูบาอาจารย์ได้อย่างไร ไปคิดอย่างนั้นกับพ่อไม่ได้อย่างไร หนักเข้าไปใหญ่เลย บางคนถึงกับคิดฆ่าตัวตายเลย ว่าฉันเป็นคนเลว โดยที่หารู้ไม่ว่ามันเป็นเสียงของเจ้าตัวร้ายที่มันคอยสร้างความปั่นป่วนในจิตใจของเรา
เราต้องรู้จักอุบายของเจ้าตัวร้าย แล้วก็รู้จักเท่าทันเสียงยุเสียงแหย่เหล่านี้ แล้วก็เกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง ซึ่งปกติมันก็มักจะเกิดขึ้นในยามที่เราหลง เวลาเราหลงเข้าไปในความคิดหรือว่าหลงเข้าไปในอารมณ์ มันก็จะมีเสียงพวกนี้โผล่ขึ้นมา ทิ่มแทงเรา หรือว่าชวนให้เราเขว หรือว่าหว่านล้อมให้เราทำไม่ดี หรือว่าโบยตีซ้ำเติมตัวเอง แล้วความหลงนี่บ่อยครั้งมันก็เกิดขึ้นในยามที่มีการรับรู้ที่เราเรียกว่าผัสสะ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส หรือเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับเรา แล้วเรารับรู้เหตุการณ์เหล่านั้น พอรับรู้แล้วหรือพอ เกิดผัสสะขึ้นมาแล้ว หรือเกิดการกระทบขึ้นมาแล้ว มันเกิดอารมณ์ เช่น ความกลัว เกิดความอยาก หรือว่าเกิดความยินร้าย หรือแม้กระทั่งยินดี ตอนนั้นแหละที่ความหลงมันจะเข้ามาแทรก
แล้วพอความหลงเข้ามาแล้ว เจ้าตัวร้ายมันก็ได้ช่องเลย ที่มันจะหาทางยุแหย่ เสี้ยม หรือว่าก่อกวนสร้างความปั่นป่วนในจิตใจของเรา มันมีอำนาจเหนือเราก็เพราะเราปล่อยให้ความหลงมาครองใจ
ทุกข์ใจมาจากข้างใน ไม่ใช่ข้างนอก
และความหลงนี่ก็อย่างที่บอก มันมักจะเกิดขึ้นในยามที่เรารับรู้รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส หรือแม้แต่ธรรมารมณ์ ที่เรียกว่าเกิดการกระทบหรือเกิดผัสสะขึ้นมา ที่จริงเมื่อมีการกระทบหรือผัสสะเกิดขึ้น มันไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดอารมณ์ เกิดความดีใจเสียใจ เกิดความยินดียินร้าย หรือว่าเกิดความหลง เราสามารถจะรับรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างมีสติ สติมันสำคัญมากเวลาเกิดการกระทบขึ้นมา แต่ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยจะให้ค่าให้ความสำคัญกับสติเท่าไหร่ พอไปรับรู้อะไร ก็ปล่อยใจไปตามอารมณ์ที่เกิดขึ้นตามมาจากการกระทบนั้น เช่น ดีใจเสียใจ ยินดียินร้าย พอใจไม่พอใจ แล้วมันก็ตามมาด้วยความโกรธ ความกลัว ความโลภ ตรงนี้ก็เปิดช่องให้เจ้าตัวร้ายหรือว่าเสียงยุเสียงแหย่เข้ามา ซึ่งสุดท้ายก็นำมาซึ่งความทุกข์
ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านพูดเตือนสติได้ดีนะ ท่านบอกว่าความสุขหรือความทุกข์ของคนเรา มันเกิดจากการที่เรากระทำถูกหรือกระทำผิดต่อสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ ก็คือเมื่อมีการกระทบ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ถ้าเราทำผิดต่อผัสสะหรือทำไม่ถูก ก็คือเราไม่มีสติ ก็ปล่อยให้อารมณ์เข้ามาครองใจ ปล่อยให้ความหลงเกิดขึ้น แล้วมันก็เลยเปิดช่องให้ไอ้ตัวร้ายหรือว่าเสียงยุเสียงแหย่เสียงเสี้ยมเข้ามา ก่อความปั่นป่วนใน จิตใจของเรา หรือชักนำเราไปในทางที่ผิด หรือฉุดเราลงไปในความทุกข์ดำดิ่งไปเรื่อยๆ
เวลามีความทุกข์ เรามักจะไปโทษสิ่งภายนอกว่ามันไม่ถูกต้อง เช่น รถติดผิดเวลา เขาทำไม่ถูก เขาพูดไม่ดี หรือว่าเสียงพูดคุย เสียงริงโทนมันดังผิดเวลา ผิดที่ ผิดกาลเทศะ คนเราเวลาทุกข์ใจ โกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ ก็มักจะไปโทษสิ่งภายนอกว่ามันไม่ถูก หรือไม่งั้นก็ไปเอาถูกเอาผิดกับสิ่งภายนอก เอาถูกเอาผิดกับอารมณ์ที่มากระทบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ที่จริงแล้วมันเป็นเพราะเราทำไม่ถูกกับผัสสะหรือสิ่งที่มันกระทบต่างหาก ความทุกข์ไม่ได้เกิดจากข้างนอกมันผิด แต่มันเกิดจากการที่เรากระทำผิดต่อผัสสะ หรือว่าเราไม่มีสติเมื่อเกิดผัสสะ หรือพูดรวมๆ คือเราไม่รู้จักรักษาใจให้มันถูกต้อง พอเราไม่รู้จักรักษาใจ
ให้มันถูกต้อง พอเกิดทุกข์ขึ้นมา เกิดความโกรธ เกิดความไม่พอใจขึ้นมา ก็ไปโทษสิ่งภายนอกว่าเป็นเพราะมันไม่ถูกต้อง พูดไม่ถูกต้อง ทำไม่ถูกต้อง แต่ที่จริงแล้วเป็นเพราะว่าเราไม่รักษาใจให้ถูกต้องต่างหาก หรือถ้าพูดให้มันชัดเจนลงไป คือเราไม่รู้จักมีสติเมื่อมันเกิดการกระทบหรือเกิดผัสสะ
ทุกข์เพราะขาดสติ
อย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสว่า ความทุกข์ของคนเรามันเกิดจากการที่เราปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อผัสสะ ไม่ถูกต้องถ้าพูดให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมก็คือ ไม่มีสติเมื่อเกิดผัสสะ เมื่อตากระทบรูป หูได้ยินเสียง ถ้าไม่มีสติก็เกิดความดีใจเสียใจ เกิดความยินดียินร้าย เกิดความโกรธเกิดความหงุดหงิด แล้วมันก็นำมาซึ่งความทุกข์ทันทีหรือไม่ก็เกิดความทุกข์ตามมา เช่น พอเกิดความอยากได้ ติดใจอยากได้ก็ไปลักขโมยเขาหรือไปแย่งชิงเขามา หรือว่าโหยหาอาลัยอยากได้ อันนี้ก็เกิดทุกข์ขึ้นมา
แต่หากว่าเรามีสติ ความหลงหรือว่าการถูกครอบงำด้วยอารมณ์ มันก็เกิดขึ้นได้ยาก แล้วพอเรามีสติมีความรู้สึกตัว มันก็ไม่มีทางที่ตัวร้ายหรือว่าเสียงยุเสียงแหย่มันจะมารบกวนจิตใจเราได้ หรือถึงแม้ว่าเราจะ ไม่มีสติทัน อารมณ์จึงเกิดขึ้น เกิดความยินดีร้าย เกิดความพอใจไม่พอใจ เกิดความหงุดหงิดติดใจขัดใจ แต่ก็ยังไม่สายที่เราจะมีสติ มีสติเห็นอารมณ์ มีสติรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น หรือพอเผลอไปแล้ว หลงไปแล้ว มันมีเสียงยุเสียงแหย่ตามมา เรามีสติก็ไม่ปล่อยใจให้คล้อยตามเสียงยุเสียงแหย่ มันจะหว่านล้อมอย่างไร ใจเราก็ไม่หลงเชื่อ
มันจะยุให้เราลองเล่นยา เราก็ไม่ทำ มันจะยุให้เราทุจริต เราก็ไม่ทำ มันจะยุให้เราโดดลงหน้าผา เราก็ไม่สนใจ มันจะยุให้ไปดูคลิปโป๊ หรือว่าไปมีกิ๊ก มันก็เป็นสักแต่ว่าเสียงยุที่ไม่มีความหมายต่อจิตใจของเรา อันนี้เพราะมีสติรู้ทัน จนแม้กระทั่งมันมีเสียงด่า เสียงจ้วงจาบพระรัตนตรัย ด่าครูบาอาจารย์ เสียงตำหนิต่อว่าติเตียนพ่อแม่ เราก็เห็นมันรู้ทันมัน แต่ก่อนก็คิดแต่จะไปต่อสู้เอาชนะมัน กดข่มผลักไสมัน เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่พอเรามีสติ เรารู้จักวิธีที่จะดูมันเฉยๆ อย่างที่ครูบาอาจารย์เรียกว่ารู้ซื่อๆ มันช่วยได้เยอะนะ คนที่เป็นทุกข์มากเพราะมันมีเสียงด่าพ่อแม่ ตำหนิติเตียนครูบาอาจารย์ หรือจ้วงจาบพระรัตนตรัย ไม่ต้องทำอะไรกับมัน ก็แค่รับรู้แล้วก็ไม่สนใจมัน มันจะโวยมันจะวาย มันจะบ่นอย่างไร มันจะพูดยังไงเราก็ไม่สนใจ ที่ทำอย่างนั้นได้เพราะมีสติ ถ้าไม่มีสติ มันอดไม่ได้ที่จะไปสู้รบตบมือเสียงในหัวของเหล่านั้น และหลายคนก็พบว่าพอไม่สนใจมัน แค่รับรู้แต่ไม่สนใจ สุดท้ายเสียงนั้นก็ค่อยเบาลงไปๆ แล้วก็หายไปในที่สุด แต่ก่อนที่มันจะเบาลงไป มันก็จะหาทางยั่วยุ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เราหันไปสู้รบตบมือกับมัน แต่พอเราไม่สนใจเพราะเรามีสติ ในที่สุดมันก็ค่อยจางหายไป
การรับรู้ธรรมารมณ์ก็เป็นผัสสะชนิดหนึ่ง การกระทบมันไม่ได้กระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายอย่างเดียว แต่มันมีกระทบทางใจ เมื่อใจไปรับรู้ความคิดและอารมณ์ แต่ถ้ามีสติในการรับรู้หรือเมื่อเกิดผัสสะที่ว่า ไอ้ตัวร้ายหรือเสียงยุเสียงแหย่มันก็ไม่สามารถจะมีอิทธิพลต่อจิตใจของเราได้ และนี่เป็นวิธีที่จะทำให้เจ้าตัวร้ายที่มันคอยก่อกวนปั่นป่วน ชวนให้เราทำชั่ว หรือว่าฉุดให้เราอยู่ในความทุกข์ หรือคอยโบยตีซ้ำเติมเรา มันค่อยๆ หมดพิษสงลงไป อันนี้ก็ถือว่าเป็นเพราะเรารู้จักปฏิบัติถูกต้องต่อสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ อย่างที่อาจารย์พุทธทาสพูด ต้องฝึกเอาไว้ ต้องเห็นความสำคัญนะว่าเมื่อเกิดผัสสะ เราจะปฏิบัติให้ถูกต้องได้อย่างไร แล้วการปฏิบัติให้ถูกต้อง ที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ก็คือการมีสติเมื่อเกิดผัสสะ มีสติเมื่อเกิดการกระทบ ต่อไปเมื่อเกิดเหตุร้าย ไม่ว่าจะเป็นเสื่อมลาภเสื่อมยศ มันก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ไม่ได้
อย่างที่เราสวดในมงคลสูตรตอนสุดท้าย ก็บอกว่าเมื่อโลกธรรมถูกต้องแล้วหรือกระทบแล้ว จิตไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไม่มีธุลีกิเลส อันนี้เป็นมงคลสูงสุด ซึ่งเราเริ่มต้นได้ด้วยการมีสติเมื่อเกิดผัสสะ หรือมีสติเมื่อเกิดการกระทบ
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 10 ธันวาคม 2565