คนเราเวลามีความปรกติสุข สุขสบาย จำนวนไม่น้อยก็เห็นความสำคัญของธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นสติ สมาธิ ปัญญา เมตตากรุณา แล้วก็อยากจะให้ธรรมะเหล่านั้นเจริญงอกงามในตน แต่ถ้าหากว่าถูกอารมณ์ครอบงำ โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นอกุศล เช่น ความโกรธ ความเศร้า ความหดหู่ห่อเหี่ยว หลายคนลืมธรรมะไปเลยนะ หรือว่าไม่สนใจที่จะนำธรรมะนี้มาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตน โดยเฉพาะปัญหาด้านจิตใจ หลายคนก็เห็นว่าสติมีประโยชน์มีคุณค่า แต่พอมีความโกรธเกิดขึ้นก็จมอยู่ในความโกรธเลย ไม่คิดที่จะเรียกสติกลับมาเลย อันนี้รวมถึงความทุกข์ ความเศร้าโศกด้วย ตอนที่ไม่เกิดอารมณ์ที่ว่าครอบงำ ก็สนใจธรรมะเห็นคุณค่าของสติ แต่พอถูกความโกรธก็ดี ความทุกข์ ความเศร้าโศกก็ดีครอบงำ ไม่คิดที่จะนำธรรมะมาใช้แก้ปัญหาจิตใจ หรือที่สำคัญก็คือว่าไม่คิดที่จะเรียกสติกลับมา
พอลืมตัวก็ลืมธรรมะ
คนจำนวนไม่น้อยก็คิดแต่จะทำตามอารมณ์ หรือปล่อยใจให้โจมดิ่งอยู่ในอารมณ์นั้น เช่น เวลาโกรธก็ปล่อยใจให้จมอยู่ในความโกรธ คิดถึงแต่เหตุการณ์ การกระทำคำพูด หรือบุคคลที่ทำให้เกิดความโกรธ แล้วก็คิดหมุนวนอยู่กับสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่ยิ่งคิดมันก็ยิ่งทำให้โกรธแค้นมากขึ้น ในทำนองเดียวกันเวลามีความเศร้าโศกเสียใจสูญเสียเพราะความพลัดพราก หรือเพราะอกหัก ใจก็ปล่อยให้จมดิ่งอยู่ในความเศร้าโศกนั้น ไม่คิดที่จะเรียกสติกลับมา มีแต่จะปล่อยใจให้จมอยู่กับความเศร้า คิดถึงแต่เหตุการณ์ที่ทำให้เศร้า แล้วก็คิดวนไปวนมาแต่กับเหตุการณ์นั้น เรื่องราวเหล่านั้น
นอกจากจะไม่พยายามเรียกสติกลับมาเพื่อให้หลุดจากความเศร้า แล้วบางทียังกลับซ้ำเติมหรือเพิ่มความเศร้าให้มากขึ้น อย่างหลายคนเวลาเศร้า เมื่อจะฟังเพลงก็เลือกที่จะฟังเพลงเศร้าๆ ทั้งๆ ที่น่าจะฟังเพลง ที่ทำให้เกิดความสดชื่นแจ่มใส แต่ตรงข้ามคนที่เศร้าก็ดี หดหู่ห่อเหี่ยวก็ดี จำนวนไม่น้อยเลยเวลาฟังเพลง ฟังแต่เพลงเศร้าๆ เพลงของคนอกหัก คนที่ผิดหวังในความรัก หรือคนที่ประสบกับความอาภัพอับจนในชีวิต ที่เป็นเช่นนี้เหตุผลสำคัญก็เพราะว่าตอนนั้นขาดสติไปเสียแล้ว หรือว่าไม่มีสติรักษาใจ พอไม่มีสติก็ลืมตัว แล้วพอลืมตัวมันก็ลืมธรรมะ ธรรมะที่ร่ำเรียนมา ธรรมะที่ได้ยินได้ฟังมา หรือที่ได้ลองปฏิบัติดูบ้าง ทั้งที่รู้ว่ามีประโยชน์ แต่ว่าประโยชน์นั้นมันเห็นเฉพาะตอนที่จิตใจราบรื่นเป็นปกติ จะว่าไปเพราะตอนนั้นมีสติ พอมีสติก็ทำให้คิดนึกไปในทางที่เป็นกุศลหรือเห็นคุณค่าของธรรมะ แต่พอถูกอารมณ์ครอบงำ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า ความหดหู่ห่อเหี่ยว ตอนนั้นแสดงว่าขาดสติไปแล้ว
พอขาดสติไปแล้วหรือว่าสติบกพร่อง การที่จะเห็นคุณค่าของธรรมะ หรือแม้แต่เห็นคุณค่าของสติก็มีน้อย มีแต่จะปล่อยใจให้จมอยู่กับอารมณ์หรือทำตามอารมณ์นั้น เช่น เวลาโกรธความโกรธมันสั่งให้ด่า เราก็ทำตามมัน ด่า ความโกรธมันสั่งให้ทำลายข้าวของ เราก็ทำ ทั้งๆ ที่ตอนที่ไม่ได้โกรธหรือว่าไม่ได้ตกอยู่ในอารมณ์นั้น กลับมองว่าการโวยวายใส่คนอื่น หรือว่าการทำลายข้าวของ หรือแม้แต่ทำร้ายผู้คน เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรทำ หรือบางคนไม่คิดว่าฉันจะทำได้ แต่พอโกรธขึ้นมา อะไรที่ไม่คิดจะทำได้ มันก็ทำได้หมดเลย จนหลายคนก็รู้สึกแปลกใจว่าฉันทำได้อย่างไร ไม่คิดว่าจะทำได้เลย อันนี้หลังจากที่สร่างจากอารมณ์ หรือว่าสติกลับมาแล้ว
แต่ตอนที่สติมันหายไปหรือว่าเสียสติ เพราะถูกอารมณ์ครอบงำ มันคิดแต่จะทำตามอารมณ์ แล้วไม่คิดที่จะเรียกสติกลับมาเลย มีแต่จะปล่อยใจให้จมอยู่ในอารมณ์นั้น หรือว่าหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับเรื่องราว เหล่านั้น ที่ทำให้โกรธ ที่ทำให้เศร้า ที่ทำให้ห่อเหี่ยวท้อแท้ หรือว่ากลับทำยิ่งกว่านั้นก็คือเพิ่มเติมอารมณ์นั้นให้มารุนแรงขึ้น อย่างที่ยกตัวอย่าง พอเศร้า พอห่อเหี่ยวขึ้นมา ก็ฟังแต่เพลงเศร้าๆ ซึ่งมันทำให้แย่ลง หรือเวลาโกรธมันก็คิดแต่จะนึกถึงเรื่องราวที่ทำให้โกรธมากขึ้น อาจจะไปขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่ดีของคนคนนั้น ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ทำให้เราโกรธตอนนั้นเลย แต่ว่าใจมันก็จะไปขุดคุ้ยเรื่องราวที่ ไม่ดีของคนคนนั้น หรือบางทีก็ไปคิดเรื่องอื่นที่มันทำให้โกรธมากขึ้น เช่น ไปนึกถึงดินฟ้าอากาศ ไปนึกถึงเพื่อนร่วมงาน ไปนึกถึงรัฐบาลการเมือง ไปโน่นเลยนะ เตลิดไปขุดคุ้ย ไปจมปลักอยู่กับเรื่องราวแย่ๆ ที่มันมีแต่จะสุมเพลิงแห่งความโกรธให้รุนแรงขึ้น อันนี้เรียกว่าเป็นเพราะขาดสติ มันก็เลยไม่คิดที่จะนึกถึงธรรมะ หรือว่าคำสอนของครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือ ที่จะมาใช้แก้
เสียสติแต่ก็ไม่ชอบที่มีคนเตือนสติ
แล้วบางทีนอกจากที่จะไม่คิดที่จะเรียกสติกลับมาแล้ว บางทีคนเตือนสติกลับโกรธนะ ในยามที่เศร้า ในยามที่โกรธ ใครมาเตือนสตินี่กลับยิ่งโกรธหรือยิ่งไม่พอใจหนักขึ้น ทั้งๆ ที่ตอนที่ไม่โกรธ ไม่เศร้านะ เห็นคุณค่าของสติ แล้วบางทีก็อาจจะแนะนำเพื่อนๆ ให้ช่วยเตือนสติตัวด้วยนะ ถ้า ฉันเกิดโกรธหรือฉันเกิดอารมณ์ย่ำแย่ ตกต่ำย่ำแย่ขึ้นมา ช่วยเตือนด้วยนะ แต่พอถึงเวลาเพื่อนเตือนจริงๆ โกรธเลย โดยที่บ่อยครั้งความโกรธนั้นก็ไม่มีเหตุไม่มีผลอะไรเลย
คุณหมออมราท่านเล่าว่ามีเพื่อนคนหนึ่งที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนประถมมัธยม ผ่านไป 30 ปีหรือ 30 กว่าปีก็มีงานเลี้ยงรุ่นของเพื่อนร่วมชั้น ก็มีเพื่อนเก่าๆ ที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน มาร่วมงานเลี้ยงด้วย คุณหมอบอกมีเพื่อนคนหนึ่งสมมุติชื่อสมศรีแล้วกัน สมศรีนี่ก็ได้พูดคุยกับเพื่อนหลายๆ คนที่ไม่ได้เจอกันมานาน แล้วก็ได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเธอไปอยู่อเมริกาตั้ง 30 กว่าปี หลังจากที่เรียนมัธยมจบก็ไป เรียนต่อที่อเมริกา แล้วก็ทำงานแต่งงานที่นั่น แล้วพอเลี้ยงรุ่นก็มาร่วมงานเลี้ยง สมศรีก็ดีใจที่เจอเพื่อนคนนี้ ที่ไม่ได้พบกันมา 30 ปีได้
คุยไปคุยมาก็นึกขึ้นมาได้ว่าตอนที่เรียนมัธยม ก่อนที่เพื่อนคนนี้จะไปอเมริกา สมศรีเคยมีเรื่องโกรธเคืองกับเพื่อนคนนี้ พอเธอจำได้ว่าเคยโกรธเพื่อนคนนี้ ที่คุยกันดีๆ นี่เปลี่ยนไปเลยนะ กลายเป็นหน้าบึ้ง แล้วก็พูดจาเสียดสี เพื่อนก็สงสัยว่าทำไมท่าทีของสมศรีเปลี่ยนไป ถามเหตุผล สมศรีก็บอกว่าจำไม่ได้แล้วนะ ทะเลาะกันเรื่องอะไร แต่รู้แต่ว่าตอนนั้นฉันโกรธเธอมาก แล้วตอนนี้ฉันนึกได้แล้ว ฉันก็เลยขอโกรธ เธอต่อไป เพื่อนนี่งงเลยนะ เพื่อนก็ถามว่าบอกมาสิว่าโกรธฉันเรื่องอะไรคราวนั้นน่ะ ถ้าฉันผิดจะได้ขอโทษ สมศรีก็บอกว่าจำไม่ได้แล้วล่ะ รู้แต่ว่าฉันโกรธเธอ ถึงกับไม่พูดกันเลยตอนนั้น ตอนนี้ฉันก็จะขอโกรธเธอต่อไป ก็เริ่มมีปากเสียงกัน
คุณหมออมราเห็นก็เลยพยายามส่งสัญญาณเตือน ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะว่าก่อนหน้านี้สมศรีเคยไปปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์สิงห์ทองหนึ่งเดือน แกก็รู้สึกว่าจิตใจสงบมากเลย แต่ก็รู้ว่าตัวเองเป็นคนเจ้าอารมณ์ ขี้โมโห ก่อนที่จะเข้ากรุงเทพฯกลับไปทำงานต่อ ก็บอกคุณหมออมราว่า ถ้าหากเห็นว่าฉันโกรธนะ ช่วยเตือนด้วยนะ คุณหมออมราจำได้
เพราะฉะนั้นพอเกิดเหตุการณ์ที่สมศรีไม่พอใจเพื่อนที่กลับจากอเมริกา โดยที่สมศรีเองก็จำไม่ได้ว่าโกรธเรื่องอะไร รู้แต่ว่าเคยโกรธ จึงขอโกรธต่อไป คุณหมออมราก็พยายามขยิบตาเพื่อส่งสัญญาณว่านี่เธอโกรธแล้วนะ แต่ว่าสมศรีก็ไม่สนใจ ยังพูดต่อว่าเพื่อน คุณหมอมราเห็นว่าเพื่อนนี่ชักโกรธใหญ่แล้ว ก็เลยไปสะกิด แต่สมศรี กลับโมโหเลย บอกว่ามาเตือนฉันทำไม ใครว่าฉันเป็นคนเจ้าอารมณ์มาก ก็ไม่ต้องมาคบกับฉันก็ได้ ไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับฉันก็ได้ ไปโน่นเลย
หลายคนที่บอกว่าหรือคิดว่าตัวเองสนใจธรรมะ หรือเห็นคุณค่าของสติ แต่พอโกรธเข้าไปแล้ว อย่าว่าแต่การเรียกสติกลับมาสู่ใจของตนเลย แม้กระทั่งมีคนมาเตือนสติยังไม่ชอบเลย เพราะตอนนั้นความหลง มันครอบงำแล้ว สติไม่เหลือแล้ว หรือเหลือน้อยมาก พอความหลงมันครอบงำ ก็จะนึกคิดแต่ในทางลบทางร้าย หรือในทางที่แย่ๆ มันคิดแต่ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้อารมณ์อกุศลนั้นอยู่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ถ้าโกรธ ก็ขอให้โกรธต่อไป ถ้าทุกข์ก็ขอให้ทุกข์ต่อไป และทุกข์หนักขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นใครมาเตือนสตินี่จะไม่ชอบ
ตัวหลง - ตัวสติ คือ ศัตรูกัน
ที่จริงเวลาคนโกรธหรือคนมีความทุกข์ บางครั้งการเตือนสติตรงๆ นี่มันก็อาจจะไม่ช่วย เพราะว่าตัวหลงหรือตัวกิเลสมันไม่ชอบอยู่แล้วที่ใครมาเตือนสติเพราะมันเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ตัวหลงกับตัวสติมันเป็นปฏิปักษ์กัน พอตัวหลงมันครอบงำจิตใจใคร มันไม่สนใจ มันไม่ชอบให้ใครมาเตือนสติ แม้แต่คนที่เป็นนักปฏิบัติธรรม เห็นเลยนะ หลายคนเวลาเกิดความหงุดหงิดไม่พอใจอะไรขึ้นมา มีเพื่อนมาเตือน นี่เธอโกรธแล้วนะ หลายคนจะไม่พอใจเพื่อนเลย ฉันไม่ได้โกรธๆ ยังปฏิเสธ เพื่อนบอกว่าเธออารมณ์ไม่ดีแล้วนะ คนนั้นกลับบอกว่า อารมณ์ไม่ดีได้อย่างไร มาว่าฉันได้อย่างไร เธอดีกว่าฉันแค่ไหน ระบายความโกรธใส่เพื่อนเลย
ก็เหมือนกับสมศรี ที่พอคุณหมอมราเตือน เตือนอย่างแผ่วเบา เตือนยังสุภาพก็กลับโกรธ เพราะตัวหลงมันชอบให้ใครมาขวางมัน ใครที่มาขวาง มันก็จะหาทางเล่นงาน เพื่อที่ตัวหลงจะได้ครองจิตครองใจของสมศรี หรือของใครต่อใครต่อไป ฉะนั้นเจอเหตุการณ์แบบนี้บางทีก็ต้องใช้อุบาย
อุบายเตือนสติ
มีพนักงานหญิง 2 คนในบริษัทแห่งหนึ่งทะเลาะกัน มีปากเสียงกันอย่างรุนแรง เจ้านายเห็นเข้าก็เลยเข้าไปถามว่า ทะเลาะกันเรื่องอะไร บอกหน่อยสิ ปรากฏว่า 2 คนนั้นกลับแย่งกันพูด แล้วก็ชี้หน้าด่ากัน ฟังไม่รู้เรื่องเลย เจ้านายทำอย่างไรถ้าไปบอกว่าเธอสองคนนี่เป็นผู้ใหญ่แล้ว คุยกันให้รู้เรื่องหน่อยสิ สองคนนั้นก็อาจจะโกรธเจ้านาย แล้วก็หันมาเล่นงานเจ้านายแทน หรือถ้าไปบอกว่าพวกเธอเสียสติแล้วนะ มีสติหน่อยสิ พูดแบบนี้เข้าไปนะ สองคนนั้นก็คงระบายความโกรธมาใส่เจ้านาย
เจ้านายคนนี้แกฉลาด เข้าใจคน แกเลยบอกว่าไม่ต้องแย่งกันพูด เดี๋ยวผมจะให้คุณทั้งสองคนได้พูด แต่ว่าอยากจะให้คนที่หน้าตาขี้เหร่พูดก่อน เท่านี้แหละหยุดเลยนะ ทั้งสองคน เพราะว่าไม่อยากเป็นคนขี้เหร่ ถ้าพูดก่อนก็เป็นคนขี้เหร่ กิเลสพอมันเจอคำพูดของเจ้านายแบบนี้ มันชะงักเลย เพราะว่ามันไม่อยากจะเป็นฝ่ายยอมรับว่าฉันขี้เหร่ ถ้าฉันพูดก่อนฉันก็ขี้เหร่สิ ก็เลยหยุด อีกคนหนึ่งก็ไม่ยอมพูดต่อเหมือนกัน เพราะถ้าพูดต่อหรือพูดเป็นคนแรก ก็แสดงว่ายอมรับว่าฉันเป็นคนขี้เหร่
แล้วบางทีตัวหลงหรือตัวกิเลส ถ้าพูดกับมัน ถ้าเตือนสติดีๆ นี่ก็อาจจะไม่ฟัง แต่ถ้าหากว่ามาเตือนด้วยคำพูดที่ไม่ถูกใจกิเลส มันก็ชะงักได้เหมือนกัน แล้วผลที่ตามมาคือสติกลับมาเลยนะ สองคนนี้พอเจ้านายทักแบบนี้ว่า ใครที่ขี้เหร่พูดก่อน ได้สติขึ้นมาเลย แล้วพอได้สติก็รู้เลย ที่ทำไปเมื่อกี้นี่มันแย่ แต่ตอนที่จมอยู่ในอารมณ์ ไม่คิดที่จะเรียกสติกลับมาเลย มีแต่จะปล่อยใจให้ทำตามอารมณ์ หรือจมดิ่งอยู่ในอารมณ์นั้น ใครเตือนยิ่งโกรธเข้าไปใหญ่ หรือยิ่งไม่พอใจเข้าไปใหญ่ แต่ว่าพอเจอคำพูดแบบนี้ ได้สติกลับมาเลย แล้วพอได้สติก็รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร
วิธีเรียกสติด้วยตัวเอง
แต่ว่าคนเราถ้าจะรอให้มีสติเมื่อมีใครมาทัก เมื่อมีใครมาบอก มันคงไม่พอ มันต้องรู้จักเรียกสติกลับมาด้วยตัวเอง ใหม่ๆ กว่าจะมีสติ มันก็หลงจมเข้าไปในอารมณ์อยู่พักใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า ทั้งที่เตือนตนว่าถ้าฉันโกรธเมื่อไหร่ ฉันจะกลับมามีสตินะ อย่างบางคนรู้ว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ ก็ตั้งใจว่าถ้าโกรธเมื่อไหร่จะกลับมาตามลมหายใจ หรือกลับมาอยู่กับพุทโธ แต่พอถึงเวลาโกรธจริงๆ มันลืมไปหมดเลยที่ตั้งใจจะทำอะไร พุทโธก็ลืม ลมหายใจก็ลืม มันจะไม่ลืมได้อย่างไร เพราะขนาดตัวนี้ยังลืม คือลืมตัว เพราะฉะนั้นอย่างอื่นนี่ก็ลืมไปได้ไม่ยาก ต่อเมื่ออารมณ์มันเบาบางลงแล้วจึงนึกขึ้นมาได้ พอโกรธมันลุเลาเบาบางจึงนึกขึ้นมาได้ นี่เราไม่ได้ทำอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ แต่ว่าเจอแบบนี้ไม่ต้องท้อนะ ก็ขอให้ตั้งใจไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่ากว่าจะมีสติกลับมามันก็ล่วงเลยไปมากแล้ว หรือว่าปล่อยใจไปตามอารมณ์ หรือว่าก่อความเสียหายหายไปไม่น้อยแล้ว
แต่ถ้าว่าเราตั้งใจไม่ท้อไม่ถอยต่อไปมันจะได้สติเร็วเข้า ใหม่ๆ ก็ได้สติหลังจากที่โวยวายระบายด่าทอไปเรียบร้อยแล้ว แต่ต่อมามันก็จะเริ่มมีสติระหว่างที่กำลังขุ่นมัวอยู่ ขณะที่ด่าทอก็เริ่มมีสติกลับมา กลับมาอยู่กับลมหายใจ กลับมาอยู่กับพุทโธ แต่ว่าก็อาจจะอยู่ไม่ได้นาน แล้วก็หลุดไปตามอารมณ์ แต่ถ้าหากว่ายังทำไปเรื่อยๆ มันจะรู้ไวขึ้น มีสติเร็วขึ้น จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งยังไม่ทันจะพูดอะไรเลย ยังไม่ทันจะ โวยวายอะไรเลย ก็หักห้ามคำพูด หักห้ามใจได้ กลับมาอยู่กับลมหายใจ กลับมาอยู่กับพุทโธ แล้วต่อไปทำไปเรื่อยๆ มันก็จะเริ่มมีสติ เริ่มอยู่กับลมหายใจ เริ่มอยู่กับพุทโธ ทันทีที่เริ่มเกิดความไม่พอใจ คือจะรู้ตัวเร็วเข้า จะกลับมาอยู่กับพุทโธ กลับมาอยู่กับลมหายใจได้เร็วเข้าเรื่อยๆ
อันนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แล้วก็ต้องใช้ประสบการณ์ แล้วก็ต้องมีความตั้งใจ ความตั้งใจเป็นสิ่งสำคัญ เวลาเราเดินจงกรม เวลาเรามาสร้างจังหวะ ที่นี่หรือที่ไหนก็ตาม คนที่ทำใหม่ๆ จะพบว่าใจมันลอย มันฟุ้งไปไกลเหลือเกิน กว่าจะรู้เนื้อรู้ตัว ก็เดินกลับไปกลับมาหลายรอบแล้ว ถึงค่อยมารู้เนื้อรู้ตัว หรือคิดไป 10 เรื่องแล้วถึงค่อยมารู้เนื้อรู้ตัว หรือค่อยมารู้ว่ากำลังเดินอยู่ แต่พอเราทำไปเรื่อยๆ ด้วยความตั้งใจว่าเราจะรู้ตัวให้เร็วขึ้น เวลาเดินเราก็จะรู้สึกตัว เวลายกมือเราก็จะรู้สึกตัว พอทำไปเรื่อยๆ จะพบว่าความรู้ตัวจะเกิดเร็วขึ้น สติจะกลับมาได้ไวขึ้น ใจที่มันไหลไปจะกลับมาได้เร็วขึ้น อันนี้เพราะมีความตั้งใจที่จะทำ แต่ความตั้งใจนั้นต้องไม่มากเกินไป จนกลายเป็นเครียด ถ้าเครียดถึงขนาดดักจ้องความคิด ดักจ้องดูจิตไม่ให้มันคิด มันคิดเมื่อไหร่ก็ตะปบมัน อันนี้ไม่ได้แล้ว ให้ทำสบายๆ แต่ว่ามีความตั้งใจที่จะทำไปเรื่อยๆ
ความตั้งใจมันจะช่วยให้เรารู้เนื้อรู้ตัวเร็วขึ้น จิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวได้ไวขึ้น หรือสติเกิดได้เร็วขึ้น จะไปเร่งมันก็ไม่ได้เพราะถ้าไปเร่งก็จะกลายเป็นไปเพ่ง สุดท้ายก็เครียด เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา แต่ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ ด้วยความตั้งใจว่าเราจะทำไม่หยุด ทำไม่เลิก ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น แต่ว่าจะทำไปเรื่อยๆ มันจะช้ามันจะเร็วก็ช่างมัน แต่ก็ทำไม่หยุด ความตั้งใจนี่แหละจะช่วยทำให้เรารู้เนื้อรู้ตัวได้เร็ว มีสติกลับมาได้เร็วขึ้น
และเช่นเดียวกันเวลาเราจะรับมือกับอารมณ์ สำหรับคนที่เป็นคนเจ้าอารมณ์ สำหรับคนที่เป็นคนชอบเศร้า ชอบจมดิ่งอยู่กับความห่อเหี่ยว เมื่อเราตั้งใจที่จะกลับมามีสติ หรือเรียกสติกลับมา มันก็จะใช้เวลาหน่อย แต่ว่าก็อย่าท้อถอย แต่ใหม่ๆ พอขาดสติแล้วเพราะจมอยู่ในอารมณ์ มันลืมทุกอย่างเลย ลืมธรรมะ ลืมคำสอนของครูบาอาจารย์ ลืมความตั้งใจว่าจะอยู่กับพุทโธ หรือว่าจะมารู้สึกตัว แต่ว่าพอเราทำไปเรื่อยๆ พอเราตั้งใจที่จะเอาธรรมะ เอาสติกลับมา ตั้งใจที่จะเรียกสติกลับมา มันก็จะค่อยๆ นึกถึงสติ นึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ นึกถึงความตั้งใจที่จะทำ หรือเรียกสติกลับมา และทีละน้อยๆ เราก็จะมีสติไวขึ้น รับมือกับอารมณ์ที่ผลัดกันเวียนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความเศร้าโศก ความหงุดหงิด ความห่อเหี่ยว มันเป็นเรื่องของการทำซ้ำๆ ปฏิบัติบ่อยๆ โดยที่ไม่ท้อถอย
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 9 ธันวาคม 2565