แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 8 ธันวาคม 2565
การจะทำอะไรก็ตาม ครั้งแรกมีความสำคัญมาก เพราะถ้ามีครั้งแรก มันก็มักจะมีครั้งที่สองครั้งที่สาม และมีครั้งที่สี่ครั้งที่ห้าตามมา แต่ถ้าไม่มีครั้งแรก ครั้งที่สองครั้งที่สามก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ มันก็เหมือนกับจำนวนหรือตัวเลขนะ จะเป็นหนึ่งล้านหรือสิบล้านก็ตาม มันต้องเริ่มต้นจากหมายเลขหนึ่ง หรือเริ่มต้นจากหนึ่ง ไม่ใช่เริ่มต้นจากศูนย์ เลขจำนวนมหาศาลแค่ไหนก็ล้วนแต่เริ่มต้นจากเลขหนึ่ง เพราะเมื่อมีหนึ่ง มันก็จะตามมาด้วยสองและสามสี่ห้าไปเรื่อยๆ
ถ้าไม่มีการเริ่มต้นมันก็ไร้ประโยชน์
การทำอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีการเริ่มต้นมันก็ไร้ประโยชน์ ต่อเมื่อมีการเริ่มต้นมันจึงจะเกิดผลตามมา ทีละนิดทีละหน่อยก็ยังดี แต่บ่อยครั้งเราก็จะพบว่า การเริ่มต้นหรือการนับหนึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนก็รู้ว่าการออกกำลังกายหรือการวิ่งเนี่ยเป็นของดี แต่ถ้าไม่มีการเริ่มต้นเลย มันก็ไม่มีการกระทำต่อเนื่องตามมา แต่การที่จะเริ่มต้นมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนเรามักจะมีข้ออ้างต่างๆ นานา อันนี้ก็เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรม หรือการเจริญสติ การทำกรรมฐาน หลายคนก็รู้ว่าดีแต่ไม่ยอมเริ่มต้นสักที แล้วกว่าจะเริ่มต้นทำเป็นครั้งแรกนี่ก็ยากทีเดียวนะในความรู้สึกของหลายๆ คนรวมทั้งพวกเราด้วย มันมักจะมีข้ออ้างต่างๆ นานา ว่ายังไม่ถึงเวลา ยังไม่พร้อม หรือฉันไม่มีความสามารถหรอก แล้วก็ต้องใช้การเคี่ยวเข็ญนะ แต่พอมีครั้งแรกแล้วเราจะพบว่าครั้งที่สองครั้งที่สามมันจะง่ายขึ้น
คนที่ไม่เคยปลีกตัวมาทำกรรมฐานหลายๆ วันที่นี่ กว่าจะมาได้มันก็คิดแล้วคิดอีกหรือบางทีก็เปลี่ยนใจ ตั้งใจว่าจะมาแล้วก็ไม่มาเพราะมีข้ออ้างสารพัด แต่ถ้าเกิดเคี่ยวเข็ญตนเองหรือมีการอธิษฐาน อธิษฐานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดลบันดาล แต่หมายถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือบางที่เราก็เรียกว่าตั้งสัจจะ พอตั้งสัจจะก็ทำให้ต้องทำแล้ว
มันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
พอเริ่มทำเป็นครั้งแรก แม้มันจะลุ่มๆ ดอนๆ ขลุกขลัก แต่เราจะพบว่าครั้งต่อไปมันจะง่ายขึ้น ส่วนหนึ่งก็เพราะเราพบว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือลำบากขนาดนั้น ตอนที่ยังไม่ได้ทำ เอาแต่ตั้งท่าเนี่ย มันมีความวิตก มีความกลัว “ฉันทำไม่ได้ ทำไม่ได้ ลำบาก ไม่ใช่เวลา” แต่พอได้ทำแล้ว เออ เราจะพบว่ามันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
อย่างบางคนไม่กล้านอนในป่าคนเดียว อย่าว่าแต่ป่าช้าเลยนะ แค่นอนกลางกลดในป่าคนเดียวเนี่ย รู้สึกเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก แล้วเอาแต่ตั้งท่าอยู่นั่นแหละ เพื่อนๆ นี่เขาก็ไปกลางกลดในป่าครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ตัวเรานี่ก็รู้ว่ามันดีนะ มันเป็นการท้าทาย เป็นการฝึกทั้งขันติทั้งความกล้า แต่ก็เงอะๆ งะๆ หรือตั้งท่าอยู่นั่นแหละ ครั้นพอตัดใจลองทำดู แม้อาจจะเต็มไปด้วยความกลัวในยามค่ำคืน แต่พอผ่านคืนนั้นไปได้ มันจะมีความมั่นใจมากขึ้น แล้วอย่างที่ว่านะ พอมีครั้งที่หนึ่งแล้วมันก็มีครั้งที่สองตามมา
เริ่มต้นจากเลขหนึ่ง
จะว่าไปแล้ว ครั้งที่หนึ่งนี่มันสำคัญมากทีเดียว เช่นเดียวกับเลขหนึ่ง เป็นเลขที่สำคัญมาก สำคัญกว่าเลขศูนย์ เพราะว่าพอมีหนึ่ง สุดท้ายมันก็จะมีสิบ มีร้อย มีพัน หรือหมื่นแสนตามมา เพราะทุกจำนวนไม่ว่าจะล้าน สิบล้าน ร้อยล้าน พันล้าน ก็ต้องเริ่มต้นจากเลขหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งเลขสองก็อาจจะสำคัญไม่น้อยไปกว่าเลขหนึ่ง เวลาเราทำอะไรแล้วเกิดความผิดพลาดขึ้นมา เราอาจจะมองว่ามันเป็นสิ่งที่แย่ แต่มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า ถัดจากนั้นเราทำอย่างไร เราอาจจะเริ่มต้นด้วยความผิดพลาด หรือมีความผิดพลาดเกิดขึ้นก่อน อันนี้ก็เรียกว่าหนึ่ง แต่มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า สิ่งที่เราทำหลังจากนั้นซึ่งอาจจะเรียกว่าเลขสอง บ่อยครั้งสิ่งที่เราทำหลังจากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นมันสำคัญกว่า
ถัดจากนั้นเราทำอย่างไร
คนเราก็ย่อมทำอะไรเริ่มต้นด้วยความผิดพลาด อันนี้เป็นธรรมดา แต่มันไม่สำคัญเท่ากับว่า หลังจากนั้นหรือถัดจากนั้นเราทำอย่างไร เช่น บางครั้งเราอาจจะเผลอทำสิ่งที่ไม่สมควร เช่น โกหกหรือลักขโมย บางทีก็พ่ายแพ้ต่อกิเลส ผิดศีล อันนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่า หลังจากนั้นเราทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น พอเราทำผิดแล้วเราปกปิด อันนี้กลายเป็นแย่เลย หรือเราทำผิดแล้วเราก็แก้ตัว อ้างโน่นอ้างนี่ไม่ยอมรับผิด หรือทำผิดแล้วเช่นลักขโมยหรือคดโกงทุจริต แล้วเราก็พยายามที่จะปกปิดการกระทำนั้น
บ่อยครั้ง สิ่งที่คนเราทำหลังจากนั้นมันแย่กว่าสิ่งที่ทำครั้งแรกนะ เช่น พอลักขโมยหรือทุจริตแล้วเกิดมีคนรู้ ก็พยายามปิดปากเขา บางทีก็อาจจะใช้วิธีการที่เลวร้าย ซึ่งมันหนักกว่าการทำผิดครั้งแรก บ่อยครั้งการกระทำผิดครั้งที่สองมันเลวร้ายกว่าการทำผิดครั้งแรก เช่น เราไปนินทาว่าร้ายใคร เสร็จแล้วพอเจ้าตัวรู้มาถาม เราก็โกหกปกปิดแทนที่เราจะยอมรับผิด คนเราเมื่อทำผิดแล้ว อันนี้เรียกว่าเริ่มต้นผิด แต่ถ้าหลังจากนั้นเราทำถูก เช่น ยอมรับผิด สิ่งนี้มันดีกว่า
เริ่ม ‘ผิด’ แต่หลังจากนั้นทำ ‘ถูก’
การกระทำถัดจากนั้นมันมักจะสำคัญ แต่คนส่วนใหญ่มักจะไม่ตระหนักนะ พอทำผิดแล้ว การกระทำถัด จากนั้นมันกลับผิดยิ่งกว่า เพราะต้องการปกปิด อันนี้เราก็เห็นได้จากข่าวคราวต่างๆ แต่ถ้าผิดแล้วเราทำถูกตามมา อันนี้ดีกว่า เช่น เรายอมรับผิด ขอโทษขอโพยไป เริ่ม ‘ผิด’ แต่หลังจากนั้นทำ ‘ถูก’ ซึ่งก็ไม่ใช่ เรื่องง่ายนะ เพราะว่าคนเราพอผิดหนึ่งแล้วมันก็มักจะผิดสอง ผิดสองนี่ก็อาจจะเป็นการปกปิดความผิดครั้งแรก แต่ถ้าทำผิดแล้ว ครั้งที่สองเราทำให้มันถูกซะ มันต้องใช้ความกล้านะ แต่มันทำให้อะไรๆ ดีขึ้น
ในทำนองเดียวกันนะ บางครั้งคนเราทำอะไรล้มเหลว การล้มเหลวก็เป็นเรื่องธรรมดา เริ่มต้นทำก็ล้มเหลวเลย แต่สิ่งที่สำคัญเนี่ยอยู่หลังจากนั้น เราทำยังไงกับความล้มเหลว เช่น ถ้าเราเอาแต่ท้อแท้ สิ้นหวัง อันนี้มันยิ่งแย่ แต่ถ้าเกิดล้มเหลวแล้วเราเรียนรู้จากความล้มเหลว หรือเรียนรู้จากความผิดพลาด อันนี้กลายเป็นดีนะ คนเรามักจะเริ่มต้นด้วยความล้มเหลว แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การกระทำหลังจากนั้น เราปล่อยให้ความล้มเหลวมันครอบงำใจ ทำให้เราท้อแท้หมดหวัง หรือว่าเรารู้จักเรียนรู้จากความล้มเหลว อันนี้สำคัญกว่า จึงมีคำพูดว่า “มันมีความล้มเหลวที่ผิด กับความล้มเหลวที่ถูก”
ความล้มเหลวที่ผิดคือ พอล้มเหลวแล้วก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เอาแต่เศร้าโศกเสียใจ หรือว่าล้มเหลวแล้วเราได้ประโยชน์จากมัน เราเรียนรู้จากความล้มเหลว ซึ่งที่จริงมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราเติบโตขึ้นมา คนเราตอนเด็กๆ เป็นทารก เราก็เดินไม่เป็นนะ เราพยายามเดินแล้วเราก็ล้ม แต่เราก็เรียนรู้ทุกครั้งจากการล้มนั้น คือมันช่วยทำให้เรารู้จักลุกแล้วก็ทรงตัวขึ้นมา ที่เราเดินเป็น ก็เพราะเราเรียนรู้จากการที่เราล้มบ่อยๆ เพราะการล้มแต่ละครั้งมันทำให้เราเกิดการเรียนรู้ซึ่งเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่ง คือรู้ว่าจะทรงตัวยังไงไม่ให้ล้ม หรือว่าล้มแล้วก็รู้จักลุก ไม่ใช่ล้มแล้วก็ล้มเลย
แต่บางคนก็เป็นอย่างนั้นนะ พอล้มแล้วก็ไม่ยอมลุก ถามว่าทำไมไม่ลุก ก็เพราะกลัวว่าลุกแล้วจะล้มอีก ก็เลยนอนไปอย่างนั้นแหละไม่ยอมลุก แต่คนบางคนที่มีปัญญา เมื่อล้มแล้วก็พยายามที่จะลุกขึ้นมา แม้ไม่แน่ใจว่าจะล้มอีกหรือเปล่า แต่แม้จะล้มอีกก็เรียนรู้ว่าจะลุกขึ้นมาได้อย่างไร และจะทรงตัวอย่างไรถึงจะไม่ล้มอีก ในแง่นี้หนึ่งไม่สำคัญเท่ากับสองนะ หนึ่งคือล้ม แต่สองคือเรียนรู้จากความล้มเหลว โดยการพยายามที่จะลุกขึ้นมา
หาประโยชน์จากทุกข์
คนเราเวลามีความทุกข์ก็เหมือนกันนะ มันธรรมดาที่ย่อมมีความทุกข์นานาชนิดเกิดขึ้นกับเรา จะห้ามไม่ให้ทุกข์นี่มันยาก แต่สิ่งสำคัญคือว่า หลังจากทุกข์แล้วเราทำอะไร เราทำยังไงกับความทุกข์นั้น เราปล่อยให้ความทุกข์มันพาเราเข้ารกเข้าพงเลยหรือเปล่า ซึ่งก็เกิดขึ้นกับคนจำนวนไม่น้อยนะ เช่น เวลาอกหัก หรือเวลาล้มเหลวในการเรียน ในการทำงาน ก็กลับไปซ้ำเติมตัวเองให้ทุกข์หนักขึ้น เช่น ไปกินเหล้า ไปทำสิ่งที่ไม่ดี เป็นโทษต่อตัวเอง ที่ทำให้ทุกข์หนักขึ้น บางทีก็ถึงกับไปเสพยา
ความทุกข์นี่มันสามารถจะผลักให้หลายคนทำสิ่งที่เลวร้ายหนักขึ้น บางคนเจอความทุกข์ในครอบครัว ถูกกระทำไม่ดีจากพ่อแม่เพราะไม่ได้ให้ความรักการดูแลที่ดีกับลูก หลายคนก็ต่อต้านหรือมีปฏิกิริยาตอบโต้ ด้วยการเป็นคนเกกมะเหรกเกเรไปเลย ที่เรียกว่าประชดสังคม อันนั้นก็น่าเห็นใจนะ แต่เราสามารถจะทำอะไรได้ดีกว่านั้น เช่น พอทุกข์แล้วเราก็เรียนรู้จากความทุกข์ อาศัยความทุกข์นี้ช่วยหล่อหลอมเราให้เข้มแข็ง มีความอดทน หรือเกิดปัญญามากขึ้น อันนี้เรียกว่า หาประโยชน์จากทุกข์
เราอาจจะป้องกันไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เราสามารถที่จะเรียนรู้จากความทุกข์ได้ ทุกข์เกิดขึ้นแล้ว นี่คือหนึ่ง สิ่งสำคัญคือสอง ว่าเราจะปล่อยให้ทุกข์มันพาเราเข้ารกเข้าพง หรือเราจะเรียนรู้จากความทุกข์ หาประโยชน์จากความทุกข์ ในแง่นี้สองสำคัญกว่าหนึ่ง
“เปลี่ยนหลงให้เป็นรู้”
เช่นเดียวกัน เวลาเรามาภาวนา มาเจริญสติ มันก็ธรรมดาที่จะเกิดความหลง หรือเผลอคิดโน่นคิดนี่ อันนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่า หลังจากหลงแล้วเราทำยังไง หลวงพ่อคำเขียนท่านก็พูดอยู่เสมอนะ “เปลี่ยนหลงให้เป็นรู้” หรือใช้ความหลงนั่นแหละเป็นอุปกรณ์ เป็นวัตถุดิบสำหรับการสร้างตัวรู้ขึ้นมา นั่นคือพอหลงแล้วก็รู้ว่าหลง แบบนี้ดีนะ เราห้ามไม่ให้หลงไม่ได้ แต่เราสามารถจะทำอะไรได้ดีกว่านั้น เมื่อมีความหลงเกิดขึ้นก็กลับมารู้ อย่างน้อยก็รู้ว่าหลง ความฟุ้งก็เหมือนกันนะ ความคิดฟุ้งซ่านมันก็ห้ามไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือการกระทำของเราถัดจากนั้น ก็คือรู้ทันความฟุ้ง หรือรู้ทันความคิดที่ฟุ้งหรือเผลอคิด แทนที่จะปล่อยให้ใจมันหลงไปเรื่อยๆ ฟุ้งไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าจากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม จากสามเป็นสี่ คือฟุ้งหนักขึ้น
เป็นเรื่องธรรมดานะ ที่เราจะเริ่มต้นด้วยความหลง ด้วยความฟุ้ง แต่หลังจากนั้นเรากลับมารู้ตัวมากขึ้น คือมีสติมากขึ้น เพราะฉะนั้น หลวงพ่อเทียน หลวงพ่อคำเขียน ท่านก็เลยสอนหรือย้ำว่า มันจะหลงบ้างก็ช่างมัน มันจะฟุ้งบ้างก็ช่างมัน แต่ขอให้รู้ว่าหลง ขอให้รู้ว่าฟุ้งเป็นลำดับถัดมา ยอมเผลอยอมพลาดได้เป็นอันดับแรก แต่ถัดจากนั้นเราก็ใช้ความหลงความเผลอนั้นให้เป็นอุปกรณ์สอนหรือพัฒนาสติความรู้สึกตัวให้กับเรา
อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมากนะ เราเจออะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า หลังจากนั้นเราทำอะไรกับมัน บางคนเจอเคราะห์แต่หาประโยชน์จากเคราะห์นั้น ที่เขาเรียกว่าเปลี่ยนเคราะห์ให้กลายเป็นโชค หรือเจอทุกข์ก็เปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นธรรม อันนี้มันเป็นสิ่งที่ชี้วัดถึงคุณสมบัติของนักปฏิบัติธรรมหรือผู้ที่มีปัญญาว่า แม้มันมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แม้มันจะไม่ดี แม้มันจะเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ อันนั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า เราทำ อย่างไรกับสิ่งนั้น หรือรู้สึกกับมันอย่างไร เช่น เจ็บป่วย แทนที่จะทุกข์แค่กาย ก็ปล่อยใจให้หลงไปกับความทุกข์กายจนกระทั่งทุกข์ใจด้วย อันนี้เรียกว่า ไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากความเจ็บป่วย
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราทุกข์กายหรือเจ็บป่วยแล้วเราหาประโยชน์จากมัน ดูว่าเขากำลังสอนอะไรให้กับเรา กำลังสอนธรรมะ กำลังสอนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างตอนที่หลวงพ่อคำเขียนท่านป่วยรักษา ตัวที่โรงพยาบาลเพราะป่วยด้วยโรคมะเร็ง ท่านก็บอกว่า “ป่วยนี่ก็สบายดีเหมือนกันนะ ไม่ต้องทำอะไร ก็แค่ดูสังขารมันแสดงไตรลักษณ์ออกมาให้เราเห็น เท่านี้ก็พอแล้ว” เราห้ามความป่วยไม่ได้นะ แต่สิ่งที่เราสามารถเลือกได้คือ เราจะทำอย่างไรกับความป่วยที่เกิดขึ้น
บางครั้งเลขสองสำคัญกว่า
บางทีสิ่งที่เกิดขึ้น คือเลขหนึ่งนี่เราห้ามไม่ได้ คุมไม่ได้ แต่เลขสองนี่เราสามารถจะเลือกได้ สามารถจะคุมหรือกำกับได้ ทีแรกหลงแต่ต่อมาก็รู้ ทีแรกฟุ้งแต่ต่อมาก็รู้ทัน ทีแรกทุกข์แต่ต่อมาก็เห็นประโยขน์ จากทุกข์ ทีแรกล้มแต่ต่อมาก็เรียนรู้ที่จะลุกและทรงตัวโดยที่ไม่ล้มง่ายๆ ต่อไป ทีแรกล้มเหลวแต่ต่อมาเราก็เรียนรู้จากความล้มเหลว จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เราทำหลังจากมีความทุกข์ มีความล้มเหลว มีความฟุ้ง มีความหลง มีความเผลอพลาด อาจจะสำคัญกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญตรงนี้ พอเราทุกข์ เริ่มต้นด้วยทุกข์ ต่อมาก็ทุกข์หนักขึ้น ทีแรกล้มเหลวแต่ต่อมาก็ล้มเหลวหนักขึ้น ทีแรกก็หลงแต่ต่อมาก็หลงหนักขึ้น ทีแรกก็ทำผิดแต่ต่อมาก็ทำผิดหนักขึ้น
เพราะฉะนั้น บางครั้งมันไม่ใช่เลขหนึ่งนะที่สำคัญ เลขสองน่ะสำคัญกว่า อย่าปล่อยให้เลขหนึ่งมันมากำหนดการกระทำของเราในลำดับถัดไป แต่เราต้องรู้จักที่จะทำให้มันดีขึ้น และนั่นก็จะเป็นหนทางสู่ ความเจริญงอกงามและการเพิ่มพูนปัญญา ให้เราสามารถอยู่ในโลกที่มันผันผวนแปรปรวนได้ ด้วยใจที่สงบและจิตที่เป็นปกติ