พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 7 ธันวาคม 2565
มีธรรมะหมวดหนึ่งชื่อว่าธรรมที่มีอุปการะมาก คำนี้ ธรรมที่มีอุปการะมาก ท่านว่ามีแค่ 2 คือสติและสัมปชัญญะ สติถือว่าเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของสติมากเท่าไหร่ หรือว่าไม่คิดว่าสติจะเป็นธรรมที่มีอุปการะมากต่อตนเองอย่างไร เพราะคิดว่าสติมันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว มีอยู่มาตั้งแต่เกิด หรือบางคนก็คิดว่าสติมันก็เพียงแค่ทำให้เราเป็นผู้เป็นคนได้เท่านั้น
อย่างเช่นคนที่หมดสติหรือขาดสติ ก็คือคนที่อาจจะสลบหรือว่าเป็นลม แล้วก็คิดว่าคนที่มีสติหรือว่าไม่หมดสติ มันก็คือคนทั่วไป แล้วก็เลยคิดว่าสติมันก็มีคุณค่าเท่านี้แหละ ตราบใดที่เรามีสติ เราก็รู้เนื้อรู้ตัว แต่ว่าความสามารถอย่างอื่นนั้น มันไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของสติ เพียงแค่ฉันไม่สลบไม่ไสล หรือว่าไม่มึนเมา แค่นี้ก็ถือว่าฉันมีสติแล้ว
ที่จริงสติมันให้อะไรกับเรามากกว่านั้น มันไม่ใช่เพียงแค่ว่าทำให้เรารู้เนื้อรู้ตัว ในความหมายที่ว่าไม่สลบไสล หรือว่าไม่สะลึมสะลือ ไม่ละเมอ คุณค่าของสติมากกว่านั้นเยอะ แต่พอเราเห็นสติว่ามีคุณค่าเพียงเท่านี้ เราก็เลยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ฉันมีอยู่แล้ว แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้น ถ้าอยากจะมีความสุข อยากจะมีความเจริญ ก็ต้องหาสิ่งอื่นมาเพิ่มเติม
แต่จริง ๆ ที่เราเข้าใจกันมันก็ยังเป็นแค่พื้นฐานของสติ แต่ว่าจริง ๆ แล้วสติทำอะไร หรือให้อะไรกับเราได้มากกว่านั้น ที่จริงการที่เราใช้ชีวิตประจำวันได้ ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมาจนเข้านอน เราได้อาศัยสติมากทีเดียวเลย ไม่ใช่แค่ว่าสติมันช่วยให้เราไม่สลบไสล ไม่เป็นบ้า หรือว่าไม่วิกลจริต หรือเราพูดง่ายๆ คือไม่เพียงแค่ทำให้เราเป็นผู้เป็นคนได้เท่านั้น แต่มันยังสามารถทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขด้วย
เพราะว่าหน้าที่อย่างหนึ่งของสติคือความระลึกได้ เราทำงานทำการอะไร เราก็ต้องอาศัยความระลึกได้ จดจำสิ่งต่างๆ แค่จะไปทำงาน หรือว่าทำกับข้าว หรือว่าเกี่ยวข้องกับผู้คน ตั้งแต่คนที่ใกล้ตัวที่สุด คือ คนในบ้าน ลูก คนรัก พ่อแม่ ก็ต้องอาศัยสติความระลึกได้ ระลึกได้ว่าเขาทำอะไร เขาเป็นใคร ถ้าขาดสติเมื่อไหร่ คือจำไม่ได้ว่าเขาเป็นใคร อันนี้ก็แย่แล้วนะ
คนที่เป็นโรคความจำเสื่อม อันนี้เรียกว่าสติเขาพร่อง แล้วพอเราเห็นคนที่ความจำเสื่อมากๆ เราก็จะตระหนักเลยนะ สตินี่มันสำคัญ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่วิกลจริต ถึงแม้ว่าเขาจะไม่เป็นบ้า ถึงแม้ว่าเขาจะไม่สลบไสล แต่ถ้าเขาสติพร่อง มันก็ใช้ชีวิตลำบาก ยิ่งคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ด้วยแล้ว จะเรียกว่าเป็นผู้เป็นคนก็คงไม่ได้ เพราะเขาจำตัวเองไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เรื่องราวในอดีต ไม่ใช่ของคนอื่นอย่างเดียว เรื่องราว ในอดีตของตัวเองก็จำไม่ได้ จำใครต่อใครไม่ได้เลย ก็กลายเป็นภาระให้กับผู้อื่น ไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข
แต่พอเราระลึกได้ ถ้าเรามีความระลึกได้ เราก็สามารถจะใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นปกติสุขได้ รวมทั้งการทำหน้าที่ต่อคนรอบข้าง เป็นพ่อเป็นแม่ ลูกหลาน คู่ครอง คนรัก หรือมิตรสหายเพื่อนฝูง รวมทั้งการ ทำงานทำการ เอาวิชาความรู้ที่เรียนมา เอามาใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความรู้พื้นฐาน ความรู้ขั้นสูง เรียนรู้มาแล้วจะเอามาใช้ได้ ต้องอาศัยสติไปดึงเอาความรู้นั้นออกมา
แต่เท่านั้นไม่พอ นอกจากความระลึกได้แล้ว สติยังช่วยทำให้เราสามารถจะจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ต่อเนื่อง หน้าที่ของสติอันหนึ่งคือหน้าที่กำกับจิตเอาไว้กับอารมณ์ อารมณ์ในที่นี้หมายถึงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในหัว เราจะทำอะไร ถ้าจิตใจเรามันไม่อยู่กับสิ่งนั้น ฟังคำบรรยาย แต่ว่าใจมันไม่ได้อยู่กับเสียงที่ได้ยิน อันนี้ก็ฟังไม่รู้เรื่อง แล้วก็ไม่ได้ประโยชน์จากการมานั่งอยู่ที่นี่
ฉะนั้นการที่เราจะฟังรู้เรื่องได้ ต้องอาศัยสติเพื่อกำกับจิตให้มาอยู่กับเสียง ให้มารับรู้เสียง แล้วก็เข้าใจสิ่งที่ได้ยิน หน้าที่กำกับจิตให้อยู่กับอารมณ์ ให้อยู่กับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือความคิด ที่เรียกว่าธรรมารมณ์ เป็นงานอีกงานหนึ่งของสติเลย รวมถึงการที่เหนี่ยวอารมณ์มาอยู่กับจิต อารมณ์ในที่นี้อาจจะเป็นข้อมูลข่าวสาร ความทรงจำ ความรู้ที่ได้ยินได้ร่ำเรียนมา ไปดึงมันเอามาจากหัวสมอง มาสู่การรับรู้ของจิต อันนี้ที่เราเรียกว่าระลึกได้
ระลึกถึงวิชาความรู้ที่ได้มา ระลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้ผ่านพ้นไป ระลึกได้ว่าเขาพูดอะไรเมื่อวาน หรือว่าระลึกถึงการกระทำและคำพูดของคนรอบข้างได้ อันนี้ก็ต้องอาศัยการดึงข้อมูลข่าวสาร หรือเราเรียกว่าอารมณ์ ในความหมายที่กว้าง มาสู่การรับรู้ของจิต อันนี้เรียกว่าเหนี่ยวอารมณ์ หรือดึงอารมณ์มาสู่การรับรู้ของจิต หรือเวลาเราทำงานทำการ อ่านหนังสือ ฟังคำบรรยาย เราก็ต้องอาศัยการกำกับจิตให้อยู่กับสิ่งที่ได้ยิน หรือตัวอักษรที่อ่าน อันนี้ก็เป็นงานสติ เราเรียกว่าเป็นงานกำกับจิตให้อยู่กับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส รวมทั้งธรรมารมณ์
แต่ว่ามันก็มีลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะถ้าเป็นสัมมาสติ มันจะเป็นตัวทำให้จิตมารับรู้อยู่กับอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน กำลังทำอะไรอยู่ กำลังฟังคำบรรยาย กำลังอ่านหนังสือ เสียงที่ได้ยิน ข้อมูลที่กำลังอ่าน เราก็ ถือว่าเป็นอารมณ์ในปัจจุบัน สติก็ทำหน้าที่กำกับจิตให้อยู่กับอารมณ์นั้น ซึ่งถ้ากำกับได้นานๆ ก็เกิดเป็นสมาธิ แต่ถ้าไม่มีสติมัน ก็วอกแวกไป ฟังคำบรรยายก็ไม่รู้เรื่อง เพราะจิตมันลอยไปอยู่กับเรื่องราวในอดีต หรือไปไหลเลื่อนอยู่กับเรื่องราวในอนาคต อ่านหนังสือหนังหาก็อ่านไม่รู้เรื่อง เพราะใจมันลอยไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่กับข้อความที่อ่าน ไม่ว่าจะเป็นในหนังสือหรือในโทรศัพท์
ฉะนั้นจะทำอะไรก็ทำไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นล้างจาน ทำกับข้าว หรือแม้แต่อาบน้ำถูฟัน บางทีใส่เสื้อผ้า ใส่เสื้อนุ่งกางเกง ถ้าใจไม่อยู่กับสิ่งที่กำลังทำคือใจลอย บางทีก็ลืมรูดซิปนะ ลืมรูดซิป เพราะอะไร เพราะใจมันไปอยู่กับเรื่องที่เป็นอดีตบ้าง เหตุการณ์ที่ผ่านไปเมื่อวาน หรือว่านึกถึงกำหนดนัดหมายที่จะทำในตอนเช้า ในตอนสาย ใจไม่ได้อยู่กับการแต่งเนื้อแต่งตัว ก็เลยลืมรูดซิป อันนี้เรียกว่าจิต มันไม่ได้อยู่กับการกระทำที่เป็นปัจจุบัน และการกระทำที่เป็นปัจจุบันนี่ ถ้าทำไปมันก็ทำให้เกิดสมาธิ
ท่านก็เปรียบเหมือนกับว่า วัวถ้าปล่อยไว้เฉยๆ มันก็จะเดินไปโน่นเดินไปนี่ ถ้าอยากจะให้วัวมันอยู่นิ่งๆ ก็ผูกมันเอาไว้กับเสา มันก็จะเดินวนรอบๆ เสา ไปไหนไกลไม่ได้ มันเดินวนไปสักพัก มันก็จะเริ่มหยุด แล้วก็ไม่ไปไหนแล้ว จะนั่งหรือนอนอยู่ตรงนั้นแหละ วัวนี้ท่านก็เปรียบเหมือนจิต ส่วนเชือกนี่ก็เปรียบเหมือนสติ ส่วนเสาหรือหลักก็เปรียบเหมือนกับสิ่งที่จิตจดจ่อหรือรับรู้ หรือกำลังทำงานอยู่ ที่เราเรียกว่าอารมณ์ จะเป็นงานที่กำลังทำ จะเป็นเสียงที่กำลังได้ยิน จะเป็นข้อความที่กำลังอ่าน อันนี้ก็เปรียบเหมือนกับเสาหรือหลัก ซึ่งจิตนี่มันจะอยู่ตรงนั้นได้ เพราะว่ามีสติมากำกับ เหมือนเชือกที่ผูกวัวเอาไว้ให้อยู่กับหลัก
ความหมายของสติในแง่นี้คือเป็นตัวกำกับจิตให้อยู่กับอารมณ์ แล้วก็เป็นอารมณ์ในปัจจุบัน ไม่ใช่ไหลลอยไปกับอดีต แต่ว่าการคิดถึงเรื่องราวในอดีต ถ้าคิดแบบตั้งใจ มันก็ได้เหมือนกัน เช่นเรานึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไปในรอบปี แล้วเราก็อยากจะใคร่ครวญว่า ปีที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรที่สำเร็จบ้าง ทำอะไรที่บกพร่อง หรือว่าไม่สำเร็จที่ควรแก้ไขบ้าง มีการประเมินชีวิตที่ผ่านมา อันนี้เป็นการคิดถึงเรื่องราวในอดีตด้วยความตั้งใจ ด้วยความปรารถนาที่จะใคร่ครวญ อันนี้ก็ถือว่าเป็นปัจจุบันนะ หรือเราวางแผนว่าจะทำอะไรในช่วงเดือนหน้า 2 เดือนหน้า แม้ว่าจะเป็นเรื่องอนาคต แต่ถ้าเราคิดถึงมันอย่างตั้งใจ ก็ถือว่าเป็นปัจจุบัน
และการที่เราจะคิดใคร่ครวญอย่างเป็นเรื่องเป็นราวได้ ก็ต้องอาศัยสติ เพราะถ้าไม่มีสติมันก็คิดวอกแวก คิดวกวนจับจด คนที่จิตวอกแวก วกวน จับจด เป็นเพราะสติเขาอ่อน ลักษณะของสตินอกจากมันมาช่วยกำกับจิตให้อยู่กับอารมณ์ในปัจจุบันแล้ว สิ่งสำคัญก็คือว่ามันเป็นการรับรู้ด้วยความตั้งใจ ถ้ารับรู้ด้วยความไม่ตั้งใจนี่ก็ไม่เกี่ยวกับสติ อย่างเช่นกำลังฟังคำบรรยายอยู่นี่ อยู่ๆ มีเสียงหมาเห่า จิตมันก็แว่บไปจดจ่อที่เสียงหมาเห่าโดยไม่ตั้งใจ หรือบางทีเราก็เรียกว่าโดยไม่รู้ตัว อาการอย่างนั้นมันไม่ใช่เป็นงานของสติ มันต้องเกิดจากความตั้งใจ ถ้าไปสนใจ ไปรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่ทันตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ อันนั้นไม่ใช่สติ
ซึ่งเราก็อาจจะประสบบ่อยๆ เดินจงกรม สร้างจังหวะ แล้วเดี๋ยวแทนที่จะรับรู้อยู่กับการเคลื่อนของกาย แทนที่จะรู้สึกตัวขณะที่ขยับมือหรือว่าขยับเท่า หรือขณะที่กำลังเดิน ใจมันไปจดจ่ออยู่กับเรื่องราวในอดีต เหตุการณ์ต่างๆ ที่เพิ่งผ่านไป บางทีบางเรื่องไม่อยากคิด มันก็เผลอคิด อาการเผลอนี่ก็คือไม่มีสติแล้ว เผลอคิด หรือเผลอไปฟังโดยไม่ได้ตั้งใจ ก็ไม่ใช่สติ สติอย่างที่บอก มันเป็นเครื่องกำกับจิตให้อยู่กับอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันด้วยความตั้งใจ ถ้าไปรับรู้โดยไม่ตั้งใจ เราเรียกเผลอ ก็คือไม่มีสติ
แล้วพอรับรู้แล้ว นอกจากเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจแล้ว มันยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นสัมมาสติ ก็คือมันจะรับรู้ด้วยใจที่เป็นกลาง ไม่ตัดสินว่าดีหรือชั่ว หรือว่าไม่เกิดความยินดียินร้าย อย่างที่ครูบา อาจารย์ท่านเรียกว่าให้มันเกิดอาการที่ว่ารู้ซื่อๆ ถ้ายินดียินร้ายนี่ไม่ใช่นะ เช่น มีเสียงเห่ามากระทบหู ขณะที่กำลังฟังคำบรรยาย ใจก็ไปอยู่ที่เสียงนั้น เสียงหมาเห่า แล้วเกิดความไม่พอใจขึ้นมา หรือบางทีเสียงก็ เกิดขึ้นในศาลานี้ เป็นเสียงโทรศัพท์มือถือ เสียงริงโทน จิตขณะที่กำลังฟังคำบรรยายอยู่ ก็หันไปจดจ่ออยู่ที่เสียงโทรศัพท์ เสียงริงโทน โดยไม่ตั้งใจ แล้วเกิดความรู้สึกไม่พอใจขึ้นมา อย่างนี้ไม่เรียกว่าเป็น อาการของสติ ไม่ใช่เป็นอาการของสัมมาสติเลย
เพราะ1.มันไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ ถึงแม้มันเป็นอารมณ์ปัจจุบัน มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่เรารับรู้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เผลอไป แล้วก็มีการปรุงแต่ง มีการตัดสิน มีการให้ค่า จนเกิดความไม่พอใจ เกิด ความยินร้ายขึ้นมา อันนี้ไม่ใช่ ถ้าเป็นสัมมาสตินี่ รับรู้ด้วยความตั้งใจในอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน แล้วก็ไม่ตัดสิน ไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดความยินดียินร้าย แค่รู้ซื่อๆ รู้เฉยๆ รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง
แต่นอกจากการที่สติจะทำหน้าที่ระลึกได้ และช่วยกำกับจิตให้อยู่กับอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน โดยไม่เกิดความยินดีร้ายแล้วนี่ สิ่งหนึ่งที่สัมมาสติจะช่วยเราได้อีกประการหนึ่งก็คือ การที่ทำให้เราเห็น เห็นอารมณ์ และความคิดที่เกิดขึ้น รวมทั้งเห็นสิ่งที่เป็นกิเลส โลภะ โทสะ ที่เกิดขึ้นด้วย และตรงนี้เป็นความพิเศษของสติเลย เป็นความพิเศษของสัมมาสติก็ว่าได้ ถ้าไม่เห็นตรงนี้มันก็ยังไม่เรียกว่าสัมมาสติได้ครบถ้วน
การที่คนเราจะมีสติอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเกิดสมาธิ เรายังไม่เรียกว่ากระทำด้วยอาการของสัมมาสติ เพราะว่าอาการแบบนี้โจรผู้ร้ายก็มี นักย่องเบาที่เปิดเซฟ เขาก็มีสตินะ ในการที่จะกำกับจิตให้อยู่กับการเปิดเซฟ อาศัยความระลึกได้ว่าเซฟนี้มันต้องหมุนซ้ายไปกี่จังหวะ หมุนขวาไปกี่จังหวะ อาศัยทั้งความระลึกได้ อาศัยทางการกำกับจิตให้อยู่กับงานที่ทำ โดยที่จิตไม่วอกแวก มือปืนที่คอยซุ่มยิงคน อาจจะเพราะ ถูกว่าจ้างมา หรือเพราะเป็นศัตรูคู่ปรปักษ์ คนเหล่านี้เขาก็มีสติ เขาใช้สติเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่มีสติ ใจวอกแวก มันก็ทำงานไม่สำเร็จ สติช่วยกำกับจิตให้อยู่กับเป้าหมายที่อยู่ข้างหน้า แล้วก็ต้องจดจ่ออย่างมี สมาธิ สมาธิที่ว่านี่ก็เกิดจากสติ มันเป็นตัวกำกับจิตให้อยู่กับอารมณ์ หรืออยู่กับเป้าหมายที่มุ่งหมาย แต่มันยังไม่เรียกเป็นสัมมาสติ มันเป็นแค่สติธรรมดา
เพราะถ้าเป็นสัมมาสติมันจะต้องทำให้เห็น เห็นอารมณ์หรือความคิดที่มันเกิดขึ้น โดยเฉพาะตัวกิเลส เช่น โจรที่กำลังเปิดตู้เซฟ เขาทำด้วยโลภะ ทำด้วยความโลภ ถ้าเปิดเซฟโดยที่ไม่มีสติเห็นความโลภที่เกิดขึ้นในใจ หรือว่าถ้าเอาปืนจ่อเพื่อที่จะมุ่งทำร้ายใคร แม้ว่าใจจะมีสมาธิอยู่กับเป้าที่อยู่ข้างหน้า แต่ถ้าหากว่าไม่มีสติเห็นความโกรธ เห็นพยาบาทที่เกิดขึ้น เห็นความเครียดแค้นที่เกิดขึ้นในใจ อันนี้มันก็ไม่ใช่สัมมาสติ มันเป็นสติธรรมดา แล้วในแง่นี้ผู้ร้าย มือปืน นักย่องเบา เขาก็มีสตินะ แต่ว่านั่นไม่ใช่สัมมาสติ
สัมมาสติมันจะทำให้เราเห็นความโลภ ความหลงที่เกิดขึ้น หรือตัวกิเลสที่มันอยู่เบื้องหลังการกระทำ แล้วถ้าเห็นแล้วมันก็จะไม่ยอมให้กิเลสเหล่านั้นมาครอบงำจิต จนกระทั่งทำชั่วได้ ไม่ว่าจะเป็นลักขโมย ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายใคร พูดอีกอย่างหนึ่งคือว่า ถ้าคนที่มีสติในระดับที่เป็นสัมมาสติอย่างแท้จริง ก็จะไม่ทำชั่ว
ในแง่หนึ่งนอกจากจะเห็นความโกรธ หรือความโลภที่เกิดขึ้นแล้ว ยังระลึกได้ถึงคำสอนหรือธรรมะ อาจจะเป็นความสอนของครูบาอาจารย์ หรือธรรมะของพระพุทธเจ้าก็ได้ พอระลึกได้มันก็ไม่กล้าทำชั่ว เพราะรู้ว่าสิ่งที่กำลังทำมันไม่ถูกต้อง ฉะนั้นคนที่มีสัมมาสติเขาจะไม่ทำชั่ว เขาจะได้ยินเสียงเตือน หรือว่าเขาจะรับรู้เสียงเตือน จากครูบาอาจารย์ หรือจากพระพุทธเจ้า และนอกจากได้รับรู้เสียงเตือนแล้ว หรือว่า ได้ระลึกถึงคำสอน หรือพระธรรมแล้ว สัมมาสติยังช่วยทำให้เห็นความจริงของกายและใจด้วย
เวลาเราทำการทำงานอย่างมีสติ โดยเป็นสติระดับสัมมาสติ ถึงจุดหนึ่งมันจะไม่มีผู้กระทำ มันมีแต่การกระทำ มันมีแต่กายกับใจ มีแต่รูปกับนาม เมื่อเดินอย่างมีสติ มันจะเห็นว่าเป็นรูปที่เดิน ไม่ใช่เราเดิน เมื่อมีความคิดหรือความโกรธเกิดขึ้น ก็เห็นว่าเป็นความคิดหรือความโกรธที่เกิดขึ้นในใจ แต่ไม่ใช่เราคิด ไม่ใช่เราโกรธ มันจะเห็นความจริงของกายและใจ หรือเห็นกายและใจตามที่เป็นจริง ซึ่งก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ที่ให้เราเห็นกายและใจตามที่เป็นจริง
และถ้าเห็นกายและใจตามที่เป็นจริง ก็จะเห็นลึกไปถึงความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน หรือว่าไตรลักษณ์ ที่เกิดขึ้นกับกายและใจ หรือที่แสดงตัวอยู่กับกายและใจ อันนี้คือสัจธรรมซึ่งเรา สามารถจะรับรู้หรือเห็นได้ด้วยสัมมาสติ ฉะนั้นที่ท่านหลวงพ่อชาท่านพูดว่า ผู้ใดมีสติทุกเวลา ผู้นั้นย่อมได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นความจริงนะ ถ้าเรามีสติระดับที่เป็นสัมมาสติ ในด้านหนึ่ง มันก็จะไม่เผลอทำชั่ว แม้จะมีโลภะ โทสะเกิดขึ้น ก็มีความระลึกได้ถึงพระธรรมคำสอน ที่ท่านเตือนสติเอาไว้ หรือว่ายิ่งกว่านั้นคือได้เห็นความจริงของกายและใจ การที่เห็นความจริงของกายและใจก็เหมือนกับว่ากำลังเห็นธรรมะ กำลังได้ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ระดับจริยธรรม แต่เป็นระดับสัจธรรม
ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจการทำงานของสัมมาสติ หรือคุณสมบัติของสัมมาสติ เราจะพบว่ามันมีความสำคัญต่อชีวิตของเรามากที่เดียว เพียงแค่ไม่สลบไสล ไม่ละเมอ อันนั้นยังไม่พอ อันนั้นยังไม่ใช่เป็นเพราะ อานุภาพของสติ แต่ถ้าหากว่าเราสามารถจะดำรงชีวิตอย่างสงบเย็น ไม่ถูกกิเลสครอบงำ อีกทั้งยังดำเนินชีวิตโดยที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวกูของกู ไม่ยึดในความสำคัญมั่นหมายว่าตัวกู มันก็ทำให้ชีวิตนี้โปร่งเบา สงบเย็นได้ เพราะฉะนั้นที่ว่าสติเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก มันจึงเป็นคำที่มีความหมายตามตัวอักษรเลยทีเดียว ไม่ใช่เป็นแค่การพูดชนิดที่เป็นการให้ความสำคัญเกินเลยของสติ แต่ที่จริงแล้วเป็นธรรมที่มีอุปการะมากจริงๆ