พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 6 ธันวาคม 2565
เมื่อ 2-3 วันก่อนได้บังเอิญผ่านลานคนเมืองหน้าศาลาว่าการ กทม. ช่วงนั้นก็เป็นช่วงเช้า เห็นนักวิ่งจำนวนมากออกันอยู่ตรงลานคนเมือง เพราะว่าเขามีรายการวิ่งมาราธอน เข้าใจว่าไปจบตรงที่ลานคนเมือง นักวิ่งก็มีหลายวัยเลยนะ ทั้งหนุ่มทั้งสาว ทั้งวัยกลางคน ผู้สูงวัยก็มีนะ ยังไม่นับคนต่างชาติ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทย
นี่ก็สะท้อนถึงปรากฏการณ์ที่ว่าคนไทยนิยมเล่นกันมากขึ้น โดยเฉพาะการวิ่งระยะทางไกลๆ ไม่ว่าจะเป็นมาราธอน มินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน มาราธอนนี่ก็ 42 กิโลฯ ถ้ามินิก็ 10 กิโลฯ ถ้าฮาล์ฟมาราธอนก็ 21 กิโลฯ และการที่คนเราจะวิ่งมาราธอนหรือวิ่งระยะทางไกลๆ ก็ต้องมีการฝึกฝน
หลายคนก็รักการวิ่งและวิ่งเป็นประจำ วิ่งทุกวันก็มี วิ่งเสาร์อาทิตย์ก็ไม่น้อย และแต่ละคนก็เลือกที่จะวิ่งระยะไกลๆ อาจจะต่ำๆ 5-6 กิโลฯ หรือ 10 กิโลฯ วิ่งเป็นประจำเรียกว่าทุกวันเลยก็มี
เพื่ออะไรนะ หลายคนก็วิ่งสม่ำเสมอเพื่อให้กำลังไม่ตก เพราะว่ามีจุดหมายคือไปวิ่งมาราธอน หรือบางทีก็ตั้งเป้าว่าจะไปวิ่งอัลตร้ามาราธอนก็ 100 กิโลฯ ไม่ใช่ 100 กิโลฯ ธรรมดา มันก็มีเส้นทางวิบาก บางทีก็ต้องขึ้นที่สูงชัน บางทีก็ทางแคบ และวิ่งบางนัด บางเส้นจะวิ่งให้ถึงเส้นชัยหรือจุดหมายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 30 ชั่วโมง ต้องไม่ได้หลับไม่ได้นอน ต้องอดหลับอดนอน ไม่อย่างนั้นไม่สามารถจะทำได้ตามเป้า 30 ชั่วโมง
คนเหล่านี้เขาก็จะต้องมีการวิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยมีเป้าก็คือการวิ่งระยะทางไกลๆ หลายคนก็ไม่ได้มีเป้าว่าจะวิ่งที่นั่นที่นี่ แต่เขาเลือกที่จะวิ่งสม่ำเสมอทุกวัน ถามความคิดของเขานะว่า เขาวิ่งเพื่ออะไร ผู้รู้ก็บอกว่า ส่วนใหญ่คนที่วิ่งซ้อมระยะทางไกลๆ ไม่ว่าจะมีเป้าหมายเพื่อที่จะวิ่งมาราธอน อัลตร้ามาราธอนหรือไม่ 99% ไม่ได้วิ่งเพื่อที่จะทำลายสถิติหรือว่าเพื่อเอาเหรียญ แต่วิ่งเพื่อเอาชนะขีดจำกัดของตัวเอง อันนี้เป็นเป้าหมายสำคัญของนักวิ่งระยะทางไกลๆ หรือว่าผู้ที่พยายามวิ่งอยู่เป็นประจำ
น่าสนใจนะ วิ่งเพื่อที่จะเอาชนะขีดจำกัดของตัวเอง หรือว่าวิ่งเพื่อที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง บางคนก็สงสัยว่าขีดจำกัดของตัวเองก้าวข้ามได้ด้วยหรือ หรือว่าเอาชนะได้ด้วยหรือ อันนี้คือโจทย์ใหญ่ของคนที่เลือกจะวิ่งระยะทางไกลๆ แล้วก็วิ่งสม่ำเสมอ ทั้งๆ ที่มันก็เหนื่อย ทั้งๆ ที่มันก็เรียกว่าลำบากแสนเข็ญ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ท้าทายนักวิ่งจำนวนมาก สู้กับขีดจำกัดของตัวเองหรือก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง และคนเหล่านี้ก็พบว่าขีดจำกัดของตัวเองมันก้าวข้ามได้นะ
หมายความว่า ตอนที่เริ่มวิ่งใหม่ๆ อาจจะวิ่งได้แค่กิโลฯ เดียวก็เหนื่อยแล้ว คนเหล่านี้ก็คิดว่าขีดจำกัดของตัวเองก็คือประมาณกิโลฯ ครึ่ง เพราะว่าวิ่งแค่กิโลฯ เดียวก็เหนื่อยแล้ว บางคนแค่ 300 เมตรก็เหนื่อยแล้ว และก็วิ่งอย่างนี้อยู่หลายวันก็ยังเหนื่อยอยู่นั่นแหละ ก็เลยคิดว่าขีดจำกัดของตัวเองก็คือประมาณ 1 กิโลฯ หรือ 1 กิโลฯ ครึ่ง หลายๆ คนพบว่าพอวิ่งไปเรื่อยๆ และยิ่งพยายามตั้งใจขยับเข้าใกล้ขีดจำกัดมากเท่าไหร่ สุดท้ายก็สามารถจะวิ่งถึงขีดจำกัดของตัวเองได้
สมมุติว่าขีดจำกัดของตัวเองคิดว่าประมาณ 1 กิโลฯ ครึ่ง ตอนแรกก็วิ่งได้ 300 เมตร ตอนหลังก็วิ่งได้เป็น 400 เมตร ค่อยๆ ขยับขึ้นทั้งๆ ที่ 300 เมตรก็เหนื่อยแล้ว แต่ลองวิ่งดู มันก็ไปได้อีก 100 เมตรนะ เป็น 400 เมตร พอวิ่งไปเรื่อยๆ ก็วิ่งได้ 500 เมตร ยิ่งวิ่งก็ยิ่งพบว่า ตัวเองขยับเข้าใกล้ขีดจำกัดได้มากขึ้นเรื่อยๆ
วิ่งไปสักพักก็สามารถจะวิ่งได้ถึงกิโลฯ ครึ่งแล้ว สามารถจะมาถึงขีดจำกัดของตัวเอง หลายๆ คนถ้าเขาทดลองวิ่งอีกสักหน่อย วันนี้วิ่งได้กิโลฯ ครึ่งแล้ว ลองวิ่งอีก 100 เมตรดู มันก็วิ่งได้นะ และสุดท้ายก็พบว่าขีดจำกัดของตัวเองไม่ใช่กิโลฯ ครึ่ง อาจจะเป็น 2 กิโลฯ แล้วพอวิ่งไปเรื่อยๆ ก็พบว่าตัวเองสามารถจะขยับเข้าใกล้ 2 กิโลฯ และพอถึง 2 กิโลฯ ลองขยับอีกหน่อย ลองวิ่งอีกหน่อย มันก็ไปได้เป็น 2 กิโลฯ ครึ่ง
หลายคนพบว่าตัวเองสามารถจะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้แบบนี้ โดยการที่พยายามขยับเข้าหาขีดจำกัดทีละนิดทีละหน่อย ทีละนิดทีละหน่อย พอขยับเข้าหาขีดจำกัดทีละนิดทีละหน่อย ในที่สุดมันก็ถึงขีดจำกัดที่คิดว่าใช่ แต่ถ้าหากว่าไม่ยอมแพ้หรือไม่ยอมยุติเท่านั้น ลองขยับอีกหน่อย ตอนนี้วิ่งไปอีก 500 เมตร มันก็ไปได้นะทั้งๆ ที่เหนื่อยมากทีเดียว เหนื่อยแสนสาหัส แต่พอวันรุ่งขึ้นทำแบบนั้นใหม่ มันก็ไปได้นะ 3 กิโลฯ
จากเดิมที่คิดว่าขีดจำกัดของตัวเอง 1 กิโลฯ ครึ่ง ขีดจำกัดก็ค่อยๆ เขยิบห่างไปเรื่อยๆ เป็น 3 กิโลฯ และบางคนพบว่า พอวิ่งไปเรื่อยๆ ขีดจำกัดของตัวเองไม่ใช่กิโลฯ หรือกิโลฯ ครึ่งแล้ว มันเป็น 10 กิโลฯ
ก็พบว่าขีดจำกัดของตัวเองเขยิบห่างไปเรื่อยๆ ถ้าหากว่าทำความเพียรไม่หยุด ถ้าหากว่าพยายามเขยิบข้อหาขีดจำกัดเรื่อยๆ สุดท้ายขีดจำกัดก็เขยิบห่าง ออกห่างไปเรื่อยๆ และหลายคนพบว่า จากเดิมที่คิดว่ากิโลเมตรนึงก็เหนื่อยแล้ว
ผ่านไปหลายเดือน ปรากฏว่าวิ่งได้ 10 กิโลฯ หรือ 15 กิโลฯ และแม้จะคิดว่าขีดจำกัดของตัวเองคือ 20 กิโลฯ แต่พอพยายามเขยิบเข้าหาขีดจำกัด 20 กิโลฯ นั้น ปรากฏว่าทีละนิดๆ ก็ค่อยๆ เข้าถึง พอถึง 20 กิโลฯ นะ ลองวิ่งไปอีกหน่อย มันก็วิ่งได้ 21 กิโลฯ หลายๆ คนพบว่า เมื่อพยายามเอาชนะขีดจำกัดของตัวเอง สุดท้ายแล้วก็เอาชนะได้ เรียกว่าก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้ แต่ขณะเดียวกันก็จะพบว่าขีดจำกัด จะค่อยๆ เขยิบห่างออกไปเรื่อยๆ เขยิบห่างออกไปเรื่อยๆ การที่ขีดจำกัดถอยหนีหรือเขยิบห่างออกไปเรื่อยๆ เกิดจากความเพียรของนักวิ่งที่ทำไม่หยุดๆ
เพราะฉะนั้นหลายคนจะพบว่าขีดจำกัดของตัวเองไม่ได้คงที่ มันจะเขยิบห่างไปเรื่อยๆ เขยิบห่างไปเรื่อยๆ ถ้าหากว่าทำความเพียรไม่หยุด แล้วก็ไม่ยอมแพ้ตั้งแต่แรก ทั้งๆ ที่มันมาถึงจุดที่เหนื่อยสาหัส แต่ลองใจสู้อีกหน่อย มันไปได้นะ
หลายๆ คนเลยเกิดกำลังใจว่า ฉันก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้ จากคนที่พบว่าขีดจำกัดแค่ 1 กิโลฯ ตอนนี้ขีดจำกัดกลายเป็น 10 กิโลฯ หรือ 20 กิโลฯ ไปแล้ว มันสร้างความภาคภูมิใจนะ และทำให้เชื่อมั่นในอานุภาพของความเพียร
สำหรับคนเหล่านี้ เหรียญรางวัลไม่สำคัญเท่ากับความรู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถจะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้ และก็เห็นขีดจำกัดของตัวเองเขยิบห่างหรือพัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่อยู่กับที่แล้ว จากต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ก็ค่อยๆ เขยิบ จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องที่ชวนให้ท้าทายมากขึ้น หลายคนคิดว่าขีดจำกัดของตัวเองคือ 20 กิโลฯ สุดท้ายพอทำไปๆ มันก้าวข้ามได้ และขีดจำกัดก็อาจจะเป็น 100 กิโลฯ แทน แต่ว่าถ้าไม่ยุติ เพียงเท่านี้ ทำไปเรื่อยๆ ก็อาจจะพบว่าขีดจำกัด 100 กิโลฯ สามารถจะถึงได้ และก้าวข้ามมันได้ในที่สุด
อันนี้คือแรงจูงใจของนักวิ่งจำนวนมาก จากที่เขาเล่ากัน ซึ่งทำให้กลายเป็นสิ่งที่ชวนให้เขารักและเห็นคุณค่าของการวิ่ง เพราะมันไม่เพียงแต่ทำให้ตัวเองเห็นว่า สามารถจะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้ เท่านั้น แต่ยังช่วยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่กับร่างกายอย่างเดียว แต่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจด้วย เข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ แต่ขณะเดียวกันก็อ่อนน้อมถ่อมตัว ไม่คุยโวโอ้อวด นี่เป็น ประสบการณ์ของนักวิ่งหลายคน ซึ่งก็เลยกลายเป็นเสน่ห์ของการวิ่งสำหรับคนจำนวนไม่น้อย
อันที่จริง นี่ก็เป็นแง่คิดหรือบทเรียนสำหรับนักปฏิบัติได้ไม่น้อยเลยนะ เพราะคนที่ปฏิบัติใหม่ๆ หลายคนเพียงแค่เดินจงกรมหรือว่าสร้างจังหวะ บางคนทำได้แค่ 10 นาทีก็ง่วงแล้ว ทำเท่าไหร่ๆ ไม่เกิน 10 นาทีก็ง่วงแล้ว และคิดว่าขีดจำกัดของตัวเองคือ 10 นาที แต่ถ้าหากว่าไม่ยอมแพ้ ทำไปเรื่อยๆ จะพบว่าตัวเองสามารถจะทำได้ถึง 10 นาทีโดยไม่ง่วง และอาจจะพบว่า มันจะง่วงก็ต่อเมื่อทำไป 1 ชั่วโมงหรือ ครึ่งชั่วโมง แต่พอทำไปสักพัก แม้ว่าจะง่วงเมื่อทำได้ 30 นาที แต่ว่าไม่ยอมแพ้ ยังทำไปเรื่อยๆ บางทียกมือโดยที่ไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัวแล้ว แต่ไม่ยอมหยุด ในที่สุดก็จะพบว่า สามารถที่จะทำไปได้นานกว่านั้น 40 นาทีโดยที่ไม่ง่วงแล้ว แต่ว่าทำไปชั่วโมงนึงยังง่วงอยู่นะ แต่ถ้าไม่ยอมแพ้ ทำไปเรื่อยๆ สุดท้ายขีดจำกัด 1 ชั่วโมงก็จะถูกพิชิต คือทำไป 1 ชั่วโมงก็ไม่ง่วง
คนเรามักจะคิดว่าตัวเองไม่สามารถที่จะเอาชนะขีดจำกัดของตัวเองได้ โดยที่ไม่ตระหนักว่าขีดจำกัดไม่ได้คงที่ มันสามารถจะเขยิบห่างหรือพัฒนาไปได้เรื่อยๆ ไม่ใช่แต่ความง่วงอย่างเดียว ความปวดเมื่อยก็ เหมือนกัน บางคนทำไปได้ 1 ชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมง สร้างจังหวะหรือเดินจงกรม เมื่อยเหลือเกิน แล้วบางคนก็คิดว่าไม่ไหวแล้วๆ ฉันทำได้แค่นี้ เกินกว่านี้ไม่ไหวแล้ว
บางคนนั่งแค่ชั่วโมงเดียวก็จะเลิกให้ได้ จะตายให้ได้ แต่ว่าถ้าทำไม่หยุด หรือถ้าไม่ยอมแพ้นะ พยายามนั่งอยู่เรื่อยๆ นั่งอยู่เรื่อยๆ ก็จะพบว่า ในที่สุด นั่ง 1 ชั่วโมงได้ กลายเป็นเรื่องสบาย แต่ถ้าทำไป 2 ชั่วโมงอาจจะปวดเมื่อย แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ แม้จะถึง 2 ชั่วโมง แม้จะมีอาการปวดเมื่อยก็ไม่หยุด สุดท้ายก็สามารถนั่งได้ 2 ชั่วโมงโดยที่ความปวดเมื่อยทำอะไรไม่ได้
นี่เรียกว่าก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้ นักปฏิบัติจำนวนมาก บางทีมักจะคิดว่าตัวเองทำได้เต็มที่ก็เท่านี้แหละ ไม่ใช่แค่เอาชนะความง่วง หรือทนต่อความง่วง หรือทนต่อความปวดเมื่อย บางทีเรื่องความยากลำบากก็เหมือนกันนะ บางคนคิดว่าฉันทำได้เท่านี้แหละ ฉันทนลำบากได้เท่านี้แหละ จะให้มาอยู่วัดนอนพื้นกระดาน หรือว่าจะให้มาตื่นเช้า ฉันทำไม่ได้หรอก ทำได้เท่านี้แหละ
อันที่จริงแล้ว เราทำได้มากกว่านั้น เราทำได้ดีกว่านั้นได้ อย่าไปยอมแพ้สิ่งที่เรียกว่าขีดจำกัดของตัวเอง เพราะมันอาจจะเกิดจากการที่เราอุปาทานไปเอง หรืออาจจะเกิดจากการที่เราไม่ตระหนักว่า เราสามารถที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้ หรือสามารถที่จะทำให้ขีดจำกัดเขยิบห่างออกไปได้เรื่อยๆ
บางคนตอนที่ปฏิบัติเวลากลางคืน ถึงเที่ยงคืนก็ไม่ไหวแล้ว อย่างเช่นเวลามีการปฏิบัติธรรมข้ามคืน เป็นอาจาริยบูชาให้กับหลวงพ่อ แต่บางคนคิดว่า 4 ทุ่มก็ไม่ไหวแล้ว ปฏิบัติ 4 ทุ่มคือขีดจำกัดของตัวฉัน แต่พอลองทำด้วยความตั้งใจ ไม่คิดที่จะยอมแพ้ตั้งแต่แรก ก็จะพบว่า ปฏิบัติถึง 4 ทุ่มก็ไม่ยากนะ แต่คงทำได้ไม่ถึงเที่ยงคืนหรอก แต่ว่าลองทำดูๆ หรือว่าทำอยู่เรื่อยๆ ก็จะพบว่า ทำถึงเที่ยงคืนก็ได้นะ หรือว่าทำเลยกว่านั้นก็ได้ อันนี้เรียกว่าก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง อันนี้เรียกว่าขีดจำกัดของตัวเองก็เริ่มเขยิบห่างไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็สามารถที่จะปฏิบัติธรรมข้ามคืนได้ และก็เลยรู้ว่าฉันก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้
เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติก็ไม่ควรยอมแพ้กับสิ่งที่เรียกว่าขีดจำกัดของตัวเอง บทเรียนของนักวิ่งจำนวนมากก็พบว่า คนเราเอาชนะขีดจำกัดได้หรือก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้ พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าคนเราไม่มีขีดจำกัดนะ ปุถุชนก็มีขีดจำกัด ร่างกายของเราก็มีขีดจำกัด แต่ขีดจำกัดของเราสามารถที่จะเขยิบห่างจากจุดเดิมได้ หรือสามารถที่จะพัฒนาจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 จาก 4 เป็น 8 ได้ ไม่ใช่ว่าจะอยู่แค่ 1 หรือต่ำเตี้ยเรี่ยดินแค่นั้น เราสามารถทำได้มากกว่านั้น
เราอาจจะไม่สามารถเอาชนะขีดจำกัดของตัวเองได้ในที่สุด แต่ก็ให้รู้ว่าขีดจำกัดที่เราคิดว่ามีในตอนนี้ จริงๆ อาจจะไม่ใช่ขีดจำกัดที่แท้จริง มันเป็นขีดจำกัดของคนเราที่ยังไม่ได้พัฒนา ที่ยังไม่ได้ทำความเพียรเต็มที่
แต่ในเวลาเดียวกัน ในขณะที่สมรรถนะของคนเราสามารถจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ไปเรื่อยๆ ไม่ย่ำอยู่กับที่หรือว่าติดอยู่กับขีดจำกัดของตัวเอง มีอีกสิ่งหนึ่งที่คล้ายๆ กันนะ อาจจะเรียกว่าเพดานแห่งความสุขก็ได้ เพดานแห่งความสุขของคนเราก็เหมือนกับขีดจำกัด คือมันไม่คงที่ เราอาจจะพบว่าสมัยเราเด็กๆ กินขนมอย่างเช่นกล้วยแขกก็อร่อยแล้ว อร่อยเต็มที่ก็กล้วยแขกนี่แหละนะ แต่พอเรากินบ่อยๆ กินบ่อยๆ กินกล้วย แขกก็ยังไม่ใช่อร่อยเต็มที่แล้ว ต้องกินอย่างอื่นเราถึงจะรู้สึกว่ามีความสุขเต็มที่ ระดับขั้นหรือเพดานความสุขของคนเราจะค่อยๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ
สมัยก่อน หนุ่มๆ สาวๆ แค่ได้ฟังเพลงจากวิทยุระบบ AM ก็รู้สึกว่าไพเราะแล้ว แต่พอฟังไปเรื่อยๆ ฟังเอเอ็มไม่ไพเราะแล้ว มันต้องฟัง FM เพราะว่าเสียงใสกว่า แต่ก่อนฟังเอเอ็ม ฟังเพลงลูกทุ่งก็มีความสุขแล้ว แต่ฟังไปนานๆ รู้สึกเฉยๆ มันต้องฟังเอฟเอ็ม ตอนหลังฟังเอฟเอ็มไปนานๆ ก็รู้สึกว่าเพลงเสียงยังไม่ใส่เท่าไหร่ ต้องฟังระบบดิจิทัล ถ้าเพลงเป็นระบบดิจิทัลเสียงจะดีกว่า จะคมชัดกว่า จะให้ความไพเราะ ให้ความสุขมากกว่า
แล้วพอฟังดิจิตอลไปนานๆ มันชักจะไม่ไพเราะแล้ว ต้องฟังที่เยี่ยมกว่านั้น ก็เลยดิ้นรนแสวงหาเครื่องเสียงที่ดีกว่านั้น นี่จึงเป็นเหตุที่ใครบางคน จากเดิมที่แค่ฟังวิทยุทรานซิสเตอร์ก็มีความสุขแล้ว ตอนหลังต้องไปหาซื้อเครื่องเสียงราคาเป็นแสน เฉพาะลำโพงก็หลายหมื่น หรือบางทีเครื่องเป็นล้าน ฟังแล้วถึงจะได้รับรสชาติ ได้ความไพเราะ นี่เป็นเพราะอะไร เพราะเพดานแห่งความสุขของคนเราเขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ สูงขึ้นไปเรื่อยๆ
หรือเหมือนกับคนเรา แต่ก่อนได้เงิน 100 บาทก็มีความสุขแล้ว สุดยอดแล้ว ตอนเราเด็กๆ ได้แต๊ะเอีย 100 บาท สุดยอดแล้ว แต่พอเรามีอายุ โตขึ้นหน่อยๆ ได้ 100 ก็เฉยๆ แล้ว จะดีใจมีความสุขต้องได้พันนึง แต่พอได้พันนึงหลายๆ ครั้ง พอได้อีกก็เฉยๆ แล้ว มันต้องได้หมื่นถึงจะมีความสุข นี่คือเหตุผลว่าทำไมเศรษฐีเงินล้านเขาถึงหาเงินไม่หยุดหย่อน เพราะว่าเงินล้านไม่ทำให้เขามีความสุขเหมือนตอนที่ได้ ใหม่ๆ มันต้องสิบล้าน ร้อยล้านถึงจะมีความสุข นี่ก็เรียกว่าเพดานแห่งความสุขของคนเราก็เขยิบไปเรื่อยๆ ซึ่งก็ทำให้คนเราหาความสุขได้ยาก และ ไม่รู้จักคำว่าสันโดษหรือพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้
นี่คือสิ่งที่เราต้องรู้เท่าทัน และถ้าเราไม่รู้เท่าทัน เราจะมีความเบื่อง่าย เพราะว่าสิ่งที่เคยให้ความสุขกับเรา แต่พอเราเสพบ่อยๆ มาถึงวันนี้เราเฉยๆ แล้ว เพราะเพดานแห่งความสุขมันเขยิบขึ้นไป และถ้าเราวิ่งไล่ตามเพื่อที่จะไปให้ถึงเพดานแห่งความสุข เราจะกลายเป็นคนที่ไม่รู้จักพอ และเร่งหาสิ่งเสพอยู่เรื่อยไป เป็นเศรษฐีได้เงินล้านก็ไม่พอใจ ต้องได้เงินสิบล้าน ได้เงินสิบล้านก็ยังไม่พอใจ ไม่มีความสุข ต้องได้ ร้อยล้าน ได้ร้อยล้านสุดท้ายก็ไม่มีความสุข ต้องได้พันล้าน พอได้ไปสักพักก็ไม่มีความสุขแล้ว เพราะเพดานแห่งความสุขเขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ
ดังนั้นเราต้องระวัง มันจะดีกว่าถ้าเราพยายามที่จะพัฒนาขีดจำกัดของตัวเองในทางที่เป็นเรื่องคุณธรรมความดี อย่างที่พูดตอนต้น การที่เรามีความเพียรในการปฏิบัติธรรม อดทนต่อสิ่งยากลำบาก นี่เป็นสิ่งที่ ดีที่เราต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราวิ่งไล่ล่าหาความสุข เพราะว่าเพดานแห่งความสุขของเราเขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน เราแย่นะ เราต้องกลับมาถามตัวเราเองว่า เราไม่จำเป็นต้องแสวงหาความสุขจาก สิ่งเสพ จากเงินที่มี จากเสียงที่ได้ยิน รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสที่น่าไพเราะก็ได้ เรามีความสามารถที่จะมีความสุขจากการได้ทำความดี มีความสุขจากการที่ได้เอาชนะหรือก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง
พวกนักวิ่งหลายคนพอเขาสามารถจะก้าวข้ามหรือเอาชนะขีดจำกัดของตัวเองได้ หลายคนพบว่ามีความสุขได้ง่าย ไม่ต้องแสวงหาเงินทองชื่อเสียง อยู่ง่ายๆ ก็มีความสุข เพราะว่าความสุขจากการเอาชนะขีดจำกัดของตัวเองได้ ก็สามารถจะมาหล่อเลี้ยงชดเชยความสุขจากสิ่งเสพ ถึงตอนนั้นก็ไม่ต้องไปวิ่งไล่ล่าเพื่อให้ไปถึงเพดานแห่งความสุขก็ได้
แต่คนเราถึงไม่ใช่นักวิ่ง ถ้าเราปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา ถ้าเราได้พบความสงบซึ่งเกิดจากสติ จากความรู้สึกตัว ก็สามารถจะมาหล่อเลี้ยงจิตใจเรา ทำให้จิตใจเราไม่ต้องไปแสวงหาความสุขจากสิ่งเสพ และมาพบกับความเบื่อที่เพดานแห่งความสุขเขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ จนไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้
ปัญหานี้จะหมดไป ถ้าหากว่าเราสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้ในเรื่องของสมาธิภาวนา