พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมที่สวนธรรมศรีปทุม วันที่ 27 พฤศจิกายน 2565
วันนี้เป็นวันดี เป็นวันมงคล ที่พูดเช่นนั้นเพราะว่าวันนี้เรามาได้ร่วมกันทำความดี เราทำความดีเมื่อใดเมื่อนั้นก็เป็นเวลาดี ทำความดีวันไหนวันนั้นก็เป็นวันดี เป็นวันมงคล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปฏิทินหรือเทศกาล
แล้วที่ว่าเราทำความดี ส่วนหนึ่งคือการที่เราได้มาถวายทานที่เรียกว่าสังฆทาน ทานเป็นการทำบุญขั้นพื้นฐานของชาวพุทธ ถ้าจะว่าไปแล้วเป็นการทำความดีขั้นพื้นฐานของมนุษย์เรา เพราะมนุษย์เราจะอยู่กันได้ด้วยดีก็เพราะมีความเอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ มีความเผื่อแผ่ ในทางพุทธศาสนาทานเป็นการบำเพ็ญบุญขั้นต้น
อย่างที่เราทราบการบำเพ็ญบุญมีหลายระดับ ขั้นต้นคือทาน ขั้นกลางคือศีล ขั้นสูงคือภาวนา ทานเป็นเรื่องของการปฏิบัติกับสิ่งของวัตถุทรัพย์สิน ศีลเป็นเรื่องการปฏิบัติด้วยกายด้วยวาจา ภาวนาเป็นการปฏิบัติด้วยใจ ซึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญคือเพื่อให้เกิดปัญญา ความตระหนักรู้ชัดในความจริงหรือสัจธรรมของชีวิต จนถึงขั้นที่ไม่ยึดติดถือมั่นกับสิ่งใด เพราะรู้ว่าไม่มีอะไรที่เที่ยง ไม่มีอะไรที่เป็นสุขไ ม่มีอะไรที่จะยึด เป็นเราเป็นของเราได้เลยแม้แต่น้อย หรือแม้แต่อย่างเดียว
ที่จริงการบำเพ็ญทานหรือการถวายทาน ถ้าเราทำให้ดี วางใจให้ถูกต้อง ก็กลายเป็นการส่งเสริมภาวนา หรือเป็นการภาวนาได้ในตัวของมันเอง เพราะจะว่าไปแล้วทานนี่ วัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งคือเพื่อลดความตระหนี่ อันนี้เป็นประโยชน์ที่ผู้คนอาจจะไม่ค่อยได้ตระหนักเท่าไหร่
เวลาเราพูดถึงทาน เรานึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้รับ ไม่ว่าผู้รับจะเป็นพระสงฆ์องคเจ้า หรือเป็นคนธรรมดา หรือว่าแม้จะเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อย ทานที่เราให้ก็เป็นประโยชน์กับบุคคลหรือท่านเหล่านั้น โดยเฉพาะช่วยบำบัดความทุกข์ยาก หรือช่วยเป็นกำลังให้ท่านสามารถทำความดีได้มากขึ้น
อย่างทานที่ถวายกับพระ ส่วนหนึ่งช่วยบำรุงเลือดเนื้อชีวิตของท่านให้ดำรงคงเพศพรหมจรรย์ หรือว่าบำเพ็ญกรรมฐานบำเพ็ญภาวนาให้เจริญงอกงาม อีกส่วนหนึ่งก็เป็นกำลังให้กับท่านในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น อันนี้เป็นประโยชน์ที่เราเห็นได้ชัด เป็นประโยชน์ที่จับต้องได้ อาหาร ปัจจัย 4 ที่ให้กับใครก็ตาม ประโยชน์เห็นชัดเจนอยู่แล้ว
ในส่วนประโยชน์ที่เกิดขึ้นยังปรากฏกับผู้ให้ด้วย ปรากฏประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้ให้ หรือที่เราเรียกว่าปฏิคาหก ซึ่งคือพวกเราในวันนี้ ก็มีหลายประการ ที่หลายคนนึกถึงคืออายุวรรณะสุขะพละ หรือถ้าขยายไปได้แก่ความมั่งมี หรือการมีโชคมีลาภ ความสำเร็จในกิจการงาน ในการเรียน อันนี้เป็นอานิสงส์หรือประโยชน์ ซึ่งเราจะเรียกคลุมๆก็ได้ว่าประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์ทางโลก ซึ่งเป็นที่หมายปองของผู้คน
แต่ประโยชน์ที่สำคัญกว่านั้นซึ่งเรามักจะมองข้ามไป คือประโยชน์ทางจิตใจ ประโยชน์ทางจิตใจหมายถึงการช่วยทำให้จิตใจผ่องใสเบิกบาน ทีแรกเบิกบานผ่องใสเพราะได้ทำความดีได้ปิติ หลายคนได้ถวาย ทานกับครูบาอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือก็เกิดปิติปราโมทย์ อันนี้เป็นประโยชน์ทางใจ ทำให้เกิดความอิ่มเอิบ เป็นความสุขชนิดหนึ่ง แต่ประโยชน์ที่ลึกไปกว่านั้นคือ มันช่วยขัดเกลากิเลส
อันนี้เป็นวัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งของการถวายทาน คือลดความตระหนี่ ความตระหนี่คือโลภนั่นเอง คือยึดติดถือมั่นในทรัพย์สินในสิ่งของ ถ้าเราให้ทานเป็น ความโลภในใจเราจะน้อยลง ความยึดติดถือมั่นในใจเราก็จะน้อยลง
แต่ถ้าทำไม่ถูก วางใจไม่เป็น ความโลกจะเพิ่มมากขึ้น หรือความยึดติดถือมั่นก็จะเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น ถวายสิบอยากได้ร้อย ถวายร้อยอยากได้พัน อยากถูกหวย อยากได้ถูกลอตเตอรี่ หรือประสบความ สำเร็จในการเล่นการพนัน ถวายทานแล้วก็หวังว่าหุ้นจะขึ้น จะได้ร่ำรวยมากขึ้น อันนี้เรียกว่าไม่ได้ลดความตระหนี่เลย แต่ไปเพิ่มความตระหนี่ เพิ่มความโลภ ซึ่งไม่ใช่เป็นอานิสงส์ที่แท้ของการบำเพ็ญทาน
ถ้าเราให้ทานเป็น มันจะช่วยทำให้เราโลภน้อยลง ยึดติดถือมั่นน้อยลง เพราะขณะที่เราสละของ เราก็สละกิเลสไปด้วย
เวลาเราถวายทานเราไม่ได้คิดถึงว่าเราจะได้โชคได้ลาภอะไร แต่เรามุ่งถึงประโยชน์สุขของผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์องคเจ้า เป็นคนยากไร้ หรือว่าแม้แต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน เรานึกถึงประโยชน์สุขของเขาเป็นหลัก เราไม่ได้ปรารถนาอะไรที่จะเอาเข้าตัวเลย อันนี้ก็ช่วยลดกิเลสช่วยลดความตระหนี่ได้ เพราะในแง่หนึ่งการถวายทานเป็นการลดความยึดติดถือมั่น และช่วยให้เกิดความปล่อยวางมากได้
การปล่อยวางเป็นเรื่องสำคัญ อย่างที่พูดกันเมื่อวานหรือพูดวันแรกว่า คนเรากลัวตายเพราะความยึดติดถือมั่น ที่เป็นอุปสรรคต่อการที่เราจะตายสงบ แล้วไม่ใช่เป็นอุปสรรคต่อการตายสงบอย่างเดียว เป็น อุปสรรคต่อการมีชีวิตที่ผ่องใสเบิกบาน เพราะความทุกข์ของคนเราโดยเฉพาะการทุกข์ใจ ก็ล้วนแต่เกิดจากความยึดติดถือมั่น
ถ้าเรารู้จักปล่อยวางบ้าง ปล่อยวางเป็นอาจิณ ปล่อยวางเป็นนิจโดยที่ไม่ทิ้ง และสุดท้ายเมื่อเราคลายความยึดมั่นในบุคคลซึ่งเป็นที่รักของเรา เมื่อเขาจากไปเราก็จะเสียใจน้อย ไม่ใช่เพราะไม่รักเขา แต่เพราะรู้ว่าไม่มีอะไรที่จะยึดมั่นถือมั่นได้ แล้วเพราะรู้ว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง พบกับพราก เจอกับจาก รักกับเลิก เป็นของคู่กัน เช่นเดียวกันกับมีกับหมด ได้กับเสีย
ฉะนั้นภารกิจของเราอย่างหนึ่งในฐานะที่เป็นชาวพุทธคือ ลดความยึดติดถือมั่นไปเรื่อยๆ หรือรู้จักปล่อยวางให้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราสามารถกระทำได้ในขณะที่เราถวายทาน เริ่มตั้งแต่ถวายทานเราก็ไม่ได้หวังประโยชน์ส่วนตนที่เป็นประโยชน์ของโลก ถ้าจะหวังก็หวังให้กิเลสน้อยลง ตระหนี่ลดลง ความยึดติดถือมั่นน้อยลง นี่เป็นการปล่อยวาง เรียกว่าปล่อยวางในผลแห่งบุญที่ได้ทำ
แต่ผลแห่งบุญที่ได้ทำไม่ใช่มีแค่ลาภยศหรือความมั่งมีอย่างเดียว บางทีเราปรารถนาคำสรรเสริญด้วย หลายคนเวลาถวายทานอยากจะให้คนรับรู้ว่าเราถวายทาน อยากจะให้คนสรรเสริญว่าเราถวายทาน ซึ่ง อาจจะทำให้เกิดความทุกข์ได้ ถ้าเกิดว่าไม่มีคนเห็นไม่มีคนรับรู้หรือว่าไม่มีคนสรรเสริญ หลายคนเวลามาถวายทาน จะต้องพยายามทำทุกอย่างให้คนได้รับรู้ว่าเราได้ถวายทาน ถึงขั้นอยากจะประกาศให้โลกรับรู้ เช่นถวายทานเสร็จต้องมีการถ่ายรูป เพื่ออะไร เพื่อลง Facebook แล้วก็เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าฉันทำความดี
แล้วเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ถวายทานอย่างเดียว ไปปฏิบัติธรรมก็ต้องถ่ายรูป เดินจงกรมก็ต้องถ่ายรูป เพื่ออะไร เพื่อขึ้น Facebook ประกาศให้โลกรู้ว่าฉันมาปฏิบัติธรรม อันนี้กิเลสไม่ได้ลดลงเลย กิเลสเพิ่มขึ้น เพราะว่าปรารถนาความสรรเสริญ เป็นการเพิ่มพูนของอัตตามานะ ทำให้การยึดติดมากขึ้น ไม่ใช่ในทรัพย์สินนะ แต่เป็นตัวกูของกู ซึ่งเป็นอุปสรรคของการตายดี และเป็นตัวขัดขวางของการมีชีวิตที่ผาสุกราบรื่น
แต่ถ้าเวลาเราถวายทาน เราไม่ได้ปรารถนาจะให้คนรับรู้ ไม่ได้ปรารถนาจะให้โลกได้สรรเสริญ พร้อมที่จะทำความดีถวายทานอย่างเงียบๆ ไม่ประกาศให้โลกรู้ ไม่ทิ้งชื่อเอาไว้ อันนี้ช่วยลดความตระหนี่ ลด ความโลภ ลดตัวตนได้ ซึ่งใหม่ๆ จะทำยากเพราะว่าตัวอัตตามันจะไม่ยอม มันต้องการประกาศให้โลกรู้ว่าฉันทำความดี
แล้วตัวอัตตาทำให้หลายคนมีความทุกข์ ไม่ใช่เฉพาะเวลาถวายทานเท่านั้น เวลาทำความดีแล้วไม่มีคนเห็นก็จะมีคนมาตัดพ้อบ่นว่า ทำไมทำดีแล้วไม่มีคนเห็น ทำไมทำดีแล้วไม่มีคนสรรเสริญ หรือบางทีก็พูด ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี อันนี้เพราะว่ายังมีความยึดติดถือมั่นในความดี
ซึ่งขึ้นชื่อว่าความยึดติดถือมั่นแล้ว ไม่ว่ายึดอะไรก็ไม่ดีทั้งนั้น แม้สิ่งที่ทำจะเป็นความดี แต่พอไปยึดเข้าแล้ว มันกลายเป็นโทษ หรือกลายเป็นสิ่งไม่ดีได้ แม้กระทั่งการทำบุญ
เคยมีโยมไปกราบหลวงปู่บุดดา แล้วก็ถวายสังฆทานให้กับหลวงปู่บุดดา หลวงปู่รับเสร็จหลวงปู่ก็ยื่นกระป๋องแป้งให้กับโยมคนนั้น บอกว่าช่วยไปโรยให้หมาตัวหนึ่งในวัดเป็นหมาขี้เรื้อน แล้วท่านก็พูดเพิ่มเติมว่า ไอ้หมาตัวนี้แต่ก่อนมันเคยสร้างวัด แล้วก็หวงวัดมากเลย ใครมาทำให้วัดสกปรกก็จะไม่พอใจ พอกลายเป็นหมามันหวงวัดมากเลย ช่วยเอาแป้งไปพรมให้มันหน่อยเพราะมันกลายเป็นหมาขี้เรื้อนไปแล้ว
โยมคนนั้นฟังแล้วสะดุดใจขึ้นมาเลย หลวงปู่กำลังสอนว่าอะไร หลวงปู่กำลังสอนว่า อย่ายึดติดถือมั่นในผลแห่งบุญ คนที่สร้างวัดแล้วก็ติดยึดในวัดที่สร้างว่าวัดเป็นของกูของกู ตายแล้วก็ไม่ได้ไปดี ตายแล้วก็เป็นหมาเฝ้าวัดแล้วก็เป็นหมาขี้เรื้อนด้วย นี่หลวงปู่ท่านกำลังบอก โยมคนนั้นฟังแล้วได้คิดเลย ว่าเราอย่าไปยึดมั่นเลยในของของเราเลย
หลายคนเป็นอย่างนั้น เวลาถวายอาหารให้หลวงพ่อ เวลาถวายจีวรให้กับหลวงตา ก็จะคอยดูว่าหลวงพ่อฉันอาหารของเราไหม หลวงตาครองจีวรของเราไหม อันนี้เป็นการสะท้อนถึงความยึดมั่นอย่างหนึ่ง ยังปล่อยวางไม่ได้ เพราะถ้าถวายให้ท่านไปแล้วก็เป็นของท่าน ไม่ใช่ของเรา อาหารที่ถวายก็เป็นของท่าน ไม่ใช่อาหารของเรา จีวรที่ถวายก็เป็นจีวรของท่าน ไม่ใช่จีวรของเรา
แต่ให้แล้วก็ยังคิดว่าเป็นของเรา หลายคนจึงไม่พอใจไม่สบายใจ เป็นทุกข์ใจที่หลวงปู่ไม่ครองจีวรของเรา หลวงพ่อไม่ฉันอาหารของเรา ความทุกข์นี้เกิดจากอะไร เกิดจากความทุกข์ว่ายังยึดเป็นของเรา ให้นี่ต้องให้แบบสะเด็ดน้ำ ให้ด้วยมือแต่ใจด้วยอย่าคิดว่าเป็นของเรา อาหารของเราจีวรของเรา
หรือว่าบางคนสร้างวัดก็วัดของเรา หรือว่าวัดของกูวัดของกู เวลาจะตายยังนึกถึงวัดว่าใครจะดูแลวัดของกู หรือว่าไม่พอใจคนที่ทำให้วัดของกูสกปรก จิตสุดท้ายเศร้าหมองเลย แม้จะทำบุญมามากแต่ก็ยังยึดว่าของกูวัดของกู ตายแล้วไม่ได้ไปไหนกลายเป็นหมาเฝ้าวัด อันนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่บุญก็ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้
ผลแห่งความดีก็เหมือนกัน ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เพราะยึดมั่นถือมั่นเมื่อไหร่ ความดีนั้นจะกลายเป็นโทษทันที หลวงพ่อเฟืองท่านเคยพูดว่า ความเห็นของเราแม้จะถูกแต่ถ้ายึดเข้าไว้ก็ผิด อันนี้ท่านกำลังพูดว่า แม้กระทั่งความเห็นหรือทิฐิที่เราคิดว่าดี ยึดเมื่อไหร่มันผิดวันนั้น เพราะมันทำให้เกิดโทษ เกิดความไม่พอใจเวลาคนเห็นต่างจากเรา หรือเวลาคนไม่ทำความดีอย่างที่เราคิด นี่ขนาดความคิดนะ การกระทำก็เหมือนกัน ทำดีแต่ถ้าไปยึดติดก็เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้นต้องฝึก ฝึกจากการให้ทานก็ได้ เวลาเราถวายทานเราฝึกจากการยึดมั่นถือมั่น เริ่มจากการปล่อยวางในทรัพย์ในสิ่งของ ถวายท่านก็เป็นของท่านไปแล้ว ไม่ใช่ของเรา ท่านจะใช้อะไรเป็นเรื่องของท่าน เราไม่ต้องไปใส่ใจเพราะว่าปล่อยวางไปแล้ว
ปล่อยวางในผลแห่งทาน หรือผลแห่งความดีที่ทำ อันนี้ก็สำคัญ ผลแห่งความดีจะได้แก่อะไรเราก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น จะเป็นอายุ วรรณะ สุขะ พละ จะเป็นคำสรรเสริญเยินยอ เราก็ไม่สนใจ ไม่มีก็ไม่เป็นไร ไม่เกิดขึ้นก็ไม่ทุกข์ สิ่งเหล่านี้ต้องฝึก ฝึกปล่อยวางจากการบำเพ็ญทาน
แล้วต่อไปก็ฝึกปล่อยวางจากการทำความดี ทำความดีทำเงียบๆ ไม่มีใครเห็นก็ไม่เป็นไร แล้วก็ไม่อวดด้วย เวลาคนเราทำความดีมีคนชื่นชม เราอดไม่ได้ที่จะอวด แล้วยิ่งสมันนี้มี Facebook มี Twitter เราอด ไม่ได้ที่จะประกาศให้โลกรู้ว่าเราได้ทำความดีอะไรบ้าง หรือถึงไม่มี Facebook ก็อยากจะพูดอยากจะอวดว่าฉันได้ทำอะไรที่ดีบ้าง
ทำความดีนั้นดี แต่พอเราอยากจะอวดมันจะกลายเป็นไม่ดีได้ แต่ว่าใหม่ๆ มันอาจจะอัดอั้นตันใจได้ ทำความดีแล้วไม่ได้อวดไม่ได้โชว์ อึดอัดมาก แต่นั่นแหละคือเป็นแบบฝึกหัด อัตตามันอยากจะประกาศให้โลกรู้ แต่เราไม่ทำตามอัตตา นี่เป็นวิธีฝึกใจให้เอาชนะอัตตาได้ เอาชนะความยึดติดถือมั่นในตัวตน เป็นภาวนาแบบหนึ่ง กลายเป็นการบำเพ็ญบุญขั้นสูงได้ ตราบใดที่เราไม่ได้กระทำกับสิ่งของแต่ว่ากระทำที่ใจของเราด้วย หรือการฝึกใจ
ให้เราฝึกเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ การทำความดี เราไม่ยึดติดในผลแห่งความดีนั้น หรือไม่คาดหวังในผลแห่งความดี ใครจะรู้หรือใครไม่รู้ก็ไม่สนใจ แล้วก็ไม่ขวนขวายที่จะประกาศให้โลกรู้ ไม่ขวนขวาย ที่จะโอ้อวดด้วย แล้วมันจะอัดอั้นตันใจเพราะว่าไม่ได้อวดไม่ได้โชว์ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าใหม่ๆ ก็เป็นอย่างนั้น ทำไปๆ จะสงบจะสบายๆ
แล้วสุดท้ายตัวตนที่เล็กลงก็จะทำให้มีความสุขได้ง่ายขึ้น แล้วเมื่อเรารู้จักปล่อยวางเสียแต่วันนี้ เมื่อถึงวันสุดท้ายของเรา เราก็จะปล่อยวางได้ง่าย แล้วเราก็จะไม่หวั่นกลัวความตาย เพราะว่าไม่กลัวความ พลัดพรากสูญเสีย ที่ไม่กลัวเพราะว่าไม่ได้ยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา เมื่อไม่ยึดว่าอะไรเป็นของเราก็ไม่มีอะไรสูญเสีย เมื่อไม่ยึดว่ามีก็ไม่มีคำว่าหมด เมื่อไม่ยึดสิ่งที่ได้ก็ไม่มีคำว่าเสีย
อันนี้การบำเพ็ญทานของเราวันนี้มีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือเป็นการบำเพ็ญสังฆทานไม่ใช่ทานธรรมดา ซึ่งทางพุทธศาสนาท่านให้ความสำคัญกับการถวายสังฆทานมาก ถือว่าเป็นการบำเพ็ญบุญที่มีอานิสงส์มาก เพราะอะไร เพราะพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับหมู่คณะส่วนรวมมากกว่าตัวบุคคล
การให้ทานโดยเจาะจงบุคคลแม้จะเป็นพระเราไม่เรียกสังฆทาน เราเรียกว่าปาฏิบุคลิกทาน ถ้าถวายโดยเจาะจง แม้แต่เจาะจงเพราะท่านเป็นพระอรหันต์หรือเพราะเป็นพระพุทธเจ้า ทานนั้นก็ยังเป็นปาฏิบุคลิกทาน ไม่ใช่สังฆทาน สังฆทานคือทานที่ถวายกับสงฆ์เป็นหมู่คณะ โดยไม่เจาะจงว่าเป็นใคร
ให้หมู่คณะตกลงกันเองว่าจะมอบของที่เราถวายให้กับใคร ไม่ว่าจะเป็นผ้าป่า ไม่ว่าจะเป็นผ้ากฐิน หรือว่าสังฆทานที่ถวายในวันนี้ ซึ่งอาตมาก็รับในนามของสงฆ์แล้วไปมอบให้กับสงฆ์ในวันต่อไป อันนี้ เป็นการส่งเสริมหมู่คณะ แทนที่จะส่งเสริมตัวบุคคล เพราะพุทธศาสนาอยู่ได้เพราะส่วนรวมเพราะหมู่คณะ ซึ่งเราเรียกว่าบริษัท ซึ่งก็มีภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสกบริษัท อุบาสิกาบริษัท
เฉพาะภิกษุบริษัท ความหมายหนึ่งคือสังฆะหรือสงฆ์ ที่เราถวายสังฆทานคือถวายกับสงฆ์ เพื่อเป็นกำลังให้กับคณะสงฆ์หรือหมู่คณะ ในการบำเพ็ญกิจทำประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ไม่ได้เจาะจงที่บุคคลใด บุคคลหนึ่ง ซึ่งแม้จะเป็นพระพุทธเจ้าก็อยู่ในโลกนี้เพียงแค่ 80 ปีหรือ 100 ปี แต่ถ้าหากว่าเราให้ความสำคัญกับหมู่คณะ หมู่คณะนั้นสามารถจะอยู่ยั่งยืนได้เป็นร้อยเป็นพันปี
พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุแค่ 80 ปี แต่คณะสงฆ์ที่พระองค์สร้างขึ้นมีอายุถึง 2,600 กว่าปีแล้ว พุทธศาสนาถ้าฝากไว้กับตัวบุคคลก็จะสูญไปนานแล้ว แต่พุทธศาสนาฝากไว้กับหมู่คณะกับบริษัท จึงยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้
ฉะนั้นถ้าเราจะอุปถัมภ์พุทธศาสนาก็อุปถัมภ์หมู่คณะ จะเป็นสังฆะบริษัท หรืออุบาสกบริษัทผู้ใฝ่ธรรม อุบาสิกาบริษัทผู้ใฝ่ธรรมก็ดีทั้งนั้น และเดี๋ยวนี้ก็เริ่มมีภิกษุณีบริษัท เป็นการอุดหนุนส่งเสริม เป็นการอุดหนุนบำรุงพุทธศาสนาในระยะยาว
สังฆทานมีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ เป็นการบำเพ็ญบุญให้กับผู้ที่ล่วงลับ อย่างที่เราทำในวันนี้ เราตั้งใจว่าจะอุทิศบุญกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเมื่ออยู่ในปรโลกสัมปรายภพ ไม่มีอะไรจะเกื้อหนุนได้ดีเท่ากับบุญ
ทรัพย์สมบัติที่สร้างที่หามายามที่มีชีวิตอยู่ เอาไปไม่ได้เลยในปรโลก แต่ว่าบุญสามารถจะอุดหนุนให้เกิดสุขในสัมปรายภพได้ แล้วบุญที่อุทิศไปให้ก็เกิดจากการที่ถวายแก่สงฆ์ เปลี่ยนข้าวของหรือที่เราเรียกว่าทานให้เป็นบุญ แล้วบุญก็จะอุทิศให้กับผู้ที่ล่วงลับ อันนี้เป็นวิธีหนึ่งที่จะเยียวยาความเศร้าโศกเมื่อเราสูญเสียคนรัก
ธรรมดาไม่ว่าเราทำดีกับใครทำดีแค่ไหน เมื่อท่านจากไปเราก็ยังรู้สึกว่าเรายังทำดีไม่พอ หรือบางคนอาจจะละเลยในการที่จะทำดีตอบแทนให้กับท่านเหล่านั้น แต่แม้ท่านจากไปแล้วก็ยังไม่สายที่เราจะทำอะไรดีๆให้กับท่าน วิธีหนึ่งก็คือทำบุญถวายสังฆทาน เป็นการเยียวยาความเศร้าโศก แล้วก็อาจช่วยเยียวยาความรู้สึกผิด ที่เกิดขึ้นจากการที่เราอาจจะละเลย ไม่ได้ทำความดีให้กับท่านอย่างเพียงพอ
เพราะฉะนั้นการทำดีให้กับผู้ที่ล่วงลับไม่มีคำว่าสาย แม้ทำไม่ได้หรือไม่ได้ทำในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เมื่อท่านจากไปแล้วก็ยังทำได้อยู่ แม้ท่านจะไปยังสัมปรายภพปรโลกแล้ว เราก็ยังอุทิศบุญให้กับท่าน แล้วสังฆทานเป็นทานที่มีอานิสงส์มาก แล้วก็เป็นทานที่เรานิยมบำเพ็ญกัน โดยเฉพาะเวลาที่สูญเสียคนรักหรือในยามที่คนที่เราเคารพรักจากไป
อนุโมทนาที่ทุกท่านได้มาร่วมกันทำความดีด้วยการบำเพ็ญทานในวันนี้ ขอให้การบำเพ็ญทานของเราเป็นการภาวนาไปด้วยในตัว เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สุขอย่างครบถ้วน ทั้งประโยชน์ทางโลกและประโยชน์ทางธรรม ทั้งประโยชน์ท่านและประโยชน์ตน
ขออ้างอิงคุณพระศรีรัตนตรัย ตลอดจนความดีที่ทุกท่านได้บำเพ็ญในวันนี้ จงเป็นพลวปัจจัยให้ทุกท่านได้เจริญในอายุ วรรณะ สุขะ พละ เพื่อเป็นพลวปัจจัยให้ทำความดี ให้ถึงพร้อมด้วยทานศีลภาวนา ขอ ให้มีสติรักษาใจ ขอให้มีปัญญานำพาชีวิตให้ก้าวข้ามผ่านทุกข์ ประสบสุขด้วยอำนาจแห่งธรรม ไม่ว่าในยามที่มีสุขภาพดีหรือยามที่เจ็บป่วย แม้ป่วยกายแต่ว่าใจผ่องใสเบิกบาน และเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ขอให้พบกับความสุขความสงบเย็น มีพระนิพพานเป็นที่หมายด้วยกันทุกคนเทอญ