พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 2 ธันวาคม 2565
คนเราเวลาสุขสบาย หรือมีชีวิตที่ราบรื่น ประสบความเจริญก้าวหน้าในการงาน ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้เห็นความสำคัญหรือคิดถึงธรรมะเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็จะให้ความสำคัญกับเรื่องของเงินทอง การงาน สถานภาพ อาจจะรวมถึงเพื่อนพ้อง เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีชีวิตที่ผาสุก มีการงานที่เจริญก้าวหน้า ถ้าจะคิดอะไรนอกเหนือจากนั้นก็คิดถึงการเที่ยว ความสนุกสนาน เพื่อเติมความสุขหรือสีสันให้กับ ชีวิต
อันนี้ก็เป็นธรรมดานะ คนที่มีความสุขมีชีวิตราบรื่น เวลาจะชวนให้มาสนใจธรรมะ เขาจะไม่ค่อยสนใจ เพราะถือว่าเป็นส่วนเกิน แต่ก็มีบ้างนะ คนที่แม้ว่าชึวิตจะราบรื่นปกติสุข แต่ก็สนใจธรรมะ แต่ก็มักจะเข้าใจว่าตัวเองรู้มาพอแล้ว ธรรมะที่ตัวเองเรียนรู้มานี่มันพอแล้ว ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้น ไม่ได้คิดที่จะฝึกฝนให้ธรรมะนี่ไม่ใช่แค่อยู่ในหัว ไม่ใช่แค่เป็นสิ่งที่รู้จำ แต่ซึมซับเข้าไปในจิตใจ อยู่กับเนื้อกับตัว
พอไม่ได้สนใจที่จะฝึกฝนจริงจัง ถึงเวลาที่ชีวิตเกิดวิกฤติ พลัดพรากจากคนรักของรัก หรือประสบกับสิ่งที่ไม่ได้รักเช่นเจ็บป่วย จำนวนไม่น้อยก็เรียกว่าเสียศูนย์ไปเลย ธรรมะที่รู้ ธรรมะที่ได้ยินได้ฟังนี่ เอามาช่วยแก้ปัญหาหรือความทุกข์ของตัวเองแทบไม่ได้เลย
อย่างเช่น รู้ว่าชีวิตมันก็ไม่เที่ยง อะไรก็ไม่แน่นอน ร่างกายไม่ใช่ของเรา อะไรๆ ก็ไม่ใช่ของเรา อันนี้คือสิ่งที่รู้มา ได้ยินมาจากครูบาอาจารย์หรือจากการอ่าน ก็คิดว่าเข้าใจแล้วคิดว่าเท่านี้ก็พอแล้ว แต่พอสูญ เสียคนรักของรัก หรือพอเจอความเจ็บป่วยเข้าก็เอาตัวแทบไม่รอด เพราะจมอยู่กับความทุกข์ทรมาน
มีหมอใหญ่คนหนึ่ง เป็นคนที่มีความรู้ธรรมะพอสมควร เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อท่านหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมาก หมอคนนี้ก็ได้ฟังธรรมะจากหลงพ่อท่านนี้อยู่เป็นครั้งคราว ก็คิดว่าตัวเองรู้ธรรมะมาพอแล้ว สิ่งที่รู้ มานี้พอจะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่แล้ววันหนึ่งพอเกิดป่วยด้วยโรคมะเร็งในช่วงหลังเกษียณ แล้วต่อมาโรคก็ลุกลามรุนแรงจนกระทั่งเกิดทุกขเวทนา ปรากฏว่าธรรมะที่คิดว่ารู้เนี่ยไม่สามารถช่วยตัวเองให้หายทุกข์ ได้เลย เรียกว่าเอาไม่อยู่นะ ธรรมะที่ตัวเองเรียนรู้มาก็เอาไม่อยู่ ก็เจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก ถึงตอนนั้นจึงรู้ว่านี่เป็นเพราะเรายังไม่ได้ฝึกจริงจัง
ในใจก็อาจจะคิดว่า รู้งี้จะฝึกตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้ป่วย เสร็จแล้วธรรมะที่รู้มา ที่ได้ยินมา ที่ได้ฟังมาจากหลวงพ่อ ก็ไม่สามารถที่จะช่วยให้ตัวเองหายจากความทุกข์ทรมานได้เลย
อันนี้ก็เป็นประสบการณ์ของหลายคนนะ คนที่เข้าวัดบางคนก็เอาแต่ทำบุญ ถวายสังฆทาน ทอดผ้าป่า แต่ไม่ได้สนใจที่จะเปิดใจฟังธรรมะ หรือบางคนก็สนใจฟังธรรมะ แล้วขยันฟังด้วย บางทีก็ไม่ได้ฟังอย่าง เดียวแต่อ่านด้วยนะ แล้วคิดว่าที่ได้รู้ที่ได้ยินได้ฟังมานั้นพอแล้ว ไม่ได้คิดที่จะขวนขวายปฏิบัติ อย่าว่าแต่เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย เพียงแค่คนรักล้มหายตายจากไป เช่น สามีภรรยาหรือลูก ก็เรียกว่าเสียศูนย์ไปเลย ตอนนั้นแหละนะหลายคนจะตระหนักว่าธรรมะนี่มันสำคัญมาก เป็นเพราะหลงลืมหรือละเลยธรรมะ แล้วไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมาเจอกับความสูญเสียหรือวิกฤตแบบนี้ ก็เลยเอาตัวไม่รอด เอาตัวไม่รอดนี่ หมายความว่าถูกทุกข์ท่วมทับ
หรือบางคนก็อย่างที่บอกนะ รู้ธรรมะ อ่านธรรมะ ฟังธรรมะมา แล้วก็ประมาท คิดว่าที่เรารู้มาได้ยินมามันพอแล้ว มันพอที่จะพาเอาตัวรอดได้ ลืมไปว่าเวลาเราเจอทุกข์ เจอความสูญเสีย เจอความเจ็บป่วยเนี่ย มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ คนหลายคนหรือส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ ตอนสุขภาพดีก็เป็นแบบหนึ่ง พอป่วยนี่กลายเป็นคนละคนเลย หรือเวลาสูญเสียก็เหมือนกันนะ พอสูญเสียคนรักนี่กลายเป็นอีกคนหนึ่งไปเลย ถึง ตอนนั้นคิดอะไรไม่ออกเลย ธรรมะที่เรียนรู้มาเอามาใช้การไม่ได้เลย ไม่ใช่เพราะว่าธรรมะไม่มีประโยชน์นะ แต่เป็นเพราะใจมันไม่สามารถจะซึมซาบ หรือเข้าใจธรรมะอย่างลึกซึ้งชนิดที่เรียกว่า สามารถพาจิตใจ ออกจากความทุกข์ได้
คนเราไม่ค่อยตระหนักนะ พอเราเจอวิกฤติ เจอปัญหา เจอความเจ็บป่วย เจอความสูญเสีย อารมณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความเศร้าโศก หรือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นคือเวทนาเนี่ย มันทำให้เรากลายเป็นอีกคน หนึ่งไปเลย เราจะไม่ใช่คนเดิมแล้ว ที่เคยรู้ธรรมะมาหรือที่เคยมีความรู้ฉะฉาน คิดอะไรได้ทะลุปรุโปร่ง มีกำลังใจมีความเข้มแข็ง พอมาเจอวิกฤติแบบนี้ก็กลายเป็นอีกคนไปเลย นึกอะไรไม่ออก มืดแปดด้าน แล้วแถมจิตใจห่อเหี่ยวทำอะไรไม่ถูก
อันนี้เพราะอะไรนะ เพราะว่าไม่ได้ฝึกมา ไม่ได้ฝึกใจ ไม่ได้เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ ในการที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ ไปคิดว่าเรามีความรู้พอ เรามีความสามารถพอที่จะจัดการกับปัญหาได้ ลืมไปว่าพอถึงตอนนั้นเราเองจะกลายเป็นอีกคนนึงไปแล้ว ไม่ใช่เป็นคนที่ฉลาด เป็นคนที่เข้มแข็ง แต่กลายเป็นคนที่อ่อนแอ ห่อเหี่ยว นึกอะไรไม่ออก เพราะฉะนั้นก็เลยเอาตัวไม่ค่อยรอด
แต่ถ้าหากเรามีธรรมะ ไม่ว่าจะเป็นปัญญา สติ สมาธิ ก็ทำให้เราสามารถที่จะรับมือกับความทุกข์ที่เกิดขึ้น และสามารถประคองใจไม่ให้ถลำเข้าไปในความทุกข์ หรือถูกความหลงครอบงำจนกระทั่งกลายเป็นอีกคนนึงซึ่งไม่เคยนึกว่าเราจะเป็นอย่างนี้ได้
ฉะนั้นเพียงแค่รู้ธรรมะอย่างเดียวไม่พอ มันต้องฝึกด้วย ต้องฝึกที่ใจ ฝึกให้ใจมันเปลี่ยน หรือฝึกให้มีคุณสมบัติหรือคุณธรรมที่ช่วยกำกับใจ รักษาใจ
ทีนี้พอพูดถึงการฝึกหรือการปฏิบัติเนี่ย หลายคนแม้จะเห็นความสำคัญ แต่พอลองทำไปได้สักนิดสักหน่อย หลายคนก็จะพูดว่า “มันยาก มันยาก” อย่างพวกเราซึ่งเริ่มมาปฏิบัติตั้งแต่เมื่อวาน ก็คงมีหลายคนที่มี ความรู้สึกแบบนี้ “มันยาก ทำไมมันยากแบบนี้”
ที่มันยาก ไม่ใช่เพราะว่าธรรมะเป็นของยากนะ แต่ที่ยากเป็นเพราะมันเป็นของใหม่ เป็นเพราะเรายังไม่เคยปฏิบัติ ไม่เคยฝึกแบบนี้มาก่อน ของใหม่นี่เวลาลงไม้ลงมือมันยากเสมอ อย่างพวกเราอายุ 40-50 ส่วนใหญ่ถ้าจะให้วิ่งแค่ 200 เมตรนี่ก็ไม่ไหวแล้ว หลายคนพอวิ่งวันแรก 200 เมตรนี่ไม่ไหวเลย วิ่งวันที่สองก็ยังไม่ไหวนะ แล้วเราก็จะบ่นแล้วว่า “มันไม่ไหวหรอกนะจะให้วิ่งกิโลนึงเนี่ย มันยาก เพราะวิ่งแค่ 200 เมตรนี่ฉันก็จะตายให้ได้แล้ว”
แต่ถ้าเราลองวิ่งทุกวันๆ ต่อเนื่องกัน อย่าว่าแต่ 200 เมตร 300 เมตรเลยนะ 5 กิโลนี่เราก็จะทำได้ไม่ยาก เพราะอะไร เพราะว่าเราทำทุกวัน ที่มันยากก็เพราะเราไม่เคยทำ แต่พอเราทำทุกวันๆ ไอ้ที่บอกว่า 300 เมตรมันยาก มันกลายเป็นง่ายซะแล้ว บางคนสุดท้ายก็สามารถวิ่งมาราธอนได้ หรือวิ่งมินิมาราธอนได้ บางคนก็ไปถึงขั้นอุลตรามาราธอนเลยนะ 100 กิโล จากเดิมที่แค่ 300 เมตรวิ่งวันแรกก็ไม่ไหวแล้ว จะขาดใจให้ได้
ไม่ต้องวิ่งก็ได้นะ แค่เรียนภาษานี่นะ ถ้าเกิดเราเรียนภาษาจีน แค่เขียนตัวอักษรหลายคนก็จะบ่นว่ามันยาก มันยากเพราะว่ามันเป็นของใหม่ เพราะเราไม่เคย แต่ถ้าเคยเสียแล้วมันกลายเป็นง่าย ก.ไก่ ข.ไข่ ของเราเนี่ย เราเขียนง่ายมาก แต่ให้ฝรั่งมาเขียน ก.ไก่ ข.ไข่ ก็จะบ่นว่ามันยาก แล้วเราก็รู้ว่ามันยากไม่ใช่เป็นเพราะว่า ก.ไก่ ข.ไข่ เป็นเรื่องยาก แต่เพราะมันเป็นของใหม่ เป็นเพราะไม่เคย
อีกส่วนหนึ่งที่หลายคนบอกว่ายาก เป็นเพราะว่าไปคาดหวังในสิ่งที่มันเป็นไปได้ยากอยู่แล้ว เช่น เวลามาภาวนา ตั้งความหวังว่าจะให้จิตมันสงบ แต่ภาวนาหรือทำสมาธิมาเป็นอาทิตย์แล้วมันก็ยังไม่สงบสักที มันฟุ้งอยู่นั่นแหละ ก็เลยเกิดความท้อ เกิดความผิดหวัง ไม่นับความหงุดหงิด อันนี้เป็นเพราะเราไปตั้งความหวังกับสิ่งที่มันเป็นไปได้ยาก เพราะจิตของเราก็เช่นเดียวกับจิตของหลายๆ คน มันมีธรรมชาติที่ชอบ คิดชอบปรุงอยู่แล้ว มันมีธรรมชาติที่ชอบวิ่งไปวิ่งมาโลดแล่น เป็นเพราะเราไปตั้งความหวังว่าปฏิบัติมาแล้วจิตมันต้องนิ่ง จิตมันต้องไม่คิด นั่นคือสิ่งที่มันสวนทางกับธรรมชาติของจิต
ที่จริงแล้ว ไอ้การที่จิตมันฟุ้งหรือจิตมันคิดโน่นคิดนี่ มันไม่ใช่ปัญหานะ ที่เป็นปัญหาคือ ‘ใจที่ไม่ชอบความคิดฟุ้งซ่าน’ ความคิดฟุ้งหรือความคิดที่ไม่ได้เชื้อเชิญเนี่ยไม่ใช่ปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาคือการไม่ชอบ ความคิดที่ฟุ้ง หรือความต้องการให้จิตมันหยุดคิด พอต้องการให้จิตมันหยุดคิด ต้องการให้จิตมันนิ่ง ก็เลยไม่ชอบที่มันวิ่งไปวิ่งมาหรือที่เราเรียกว่าฟุ้ง
ต้องจับประเด็นตรงนี้ให้ได้นะ มันเป็นเพราะใจที่ไม่ชอบความฟุ้งต่างหาก เหมือนกับเวลาเสียงดังแล้วเราหงุดหงิด เราก็มักจะโทษว่าเป็นเพราะเสียงดัง แต่ที่จริงเป็นเพราะใจเราไม่ชอบเสียงนั้นต่างหาก เสียงมันอยู่ข้างนอกนะ มันไม่สามารถจะทำให้เราหงุดหงิดได้ ตราบใดที่ใจเรารู้สึกเฉยๆ กับเสียงนั้นหรือชอบเสียงนั้น เสียงจะดังแค่ไหนแต่ถ้าใจเราชอบมันก็ไม่หงุดหงิด หรือเสียงเบาถ้าใจไม่ชอบนี่มันจะหงุดหงิดเลย
มีโยมคนหนึ่งมาปฏิบัติที่วัดแห่งหนึ่ง แกมาค้างคืนที่วัดประมาณ 3-4 คืน พอนอนคืนแรกแล้ววันรุ่งขึ้นเจ้าอาวาสก็ถามว่า “เป็นไง นอนหลับได้มั้ย” โยมคนนั้นก็บอกว่า “หลับไม่ค่อยได้เลยครับหลวงพ่อ โดย เฉพาะช่วงก่อนเที่ยงคืน” “ทำไมล่ะ” “มันมีเสียงห่านร้อง ห่านร้องดังมาก ผมเลยนอนไม่หลับ แต่ตอนหลังหลับได้” หลวงพ่อถามว่า “ทำไมถึงหลับได้” โยมคนนั้นก็บอกว่าเผอิญเอาโทรศัพท์มือถือมาด้วย แล้ว ในโทรศัพท์ก็โหลดคำบรรยายธรรมะของหลวงพ่อหลวงตาหลายท่าน ก็เลยเอาหูฟังเสียบหูแล้วเปิดคำบรรยายธรรมะจากโทรศัพท์มือถือ สุดท้ายก็เลยหลับได้จนสว่าง
คำถามคือว่า ระหว่างเสียงห่านกับเสียงบรรยายธรรมะจากโทรศัพท์มือถือเนี่ย อะไรดังกว่ากัน เสียงห่านดังก็จริงนะ แต่มันก็ดังไม่เท่ากับเสียงจากโทรศัพท์มือถือ เพราะว่าเอาหูฟังเนี่ยใส่หูเลย เสียงครูบาอจารย์นี่ดังกว่าเสียงห่าน แต่ทำไมฟังเสียงครูบาอาจารย์แล้วหลับ แต่พอได้ยินเสียงห่านแล้วไม่หลับ มันไม่ใช่เพราะความดังหรอก แต่เป็นเพราะว่าใจไม่ชอบเสียงห่าน มันก็เลยรำคาญ แต่ว่าใจชอบฟังหรือชอบ เสียงบรรยายของครูบาอาจารย์ ถึงแม้มันจะดังกว่าเสียงห่านแต่ก็หลับ เพราะจิตมันเพลิน
กลายเป็นว่าที่นอนไม่หลับนี่ไม่เกี่ยวกับเรื่องความดังหรือไม่ดัง แต่ที่นอนไม่หลับเพราะไม่ชอบเสียงที่มากระทบหูคือเสียงห่าน ต้นเหตุหรือสาเหตุของความหงุดหงิดไม่ได้อยู่ที่เสียง แต่อยู่ที่ความไม่พอใจ
ฉันใดก็ฉันนั้น ความคิดที่ผุดขึ้นมาตลอดเวลาที่เราปฏิบัติเนี่ย จริงๆ มันไม่ใช่ปัญหาหรอกนะ แต่ปัญหาคือเราไม่ชอบความคิดเหล่านั้น เราอยากให้มันหยุดคิด อยากให้จิตมันสงบ แต่พอมันไม่สงบ พอมันมี ความคิด เราก็เลยเป็นทุกข์เพราะเราไม่ชอบ แต่พอเราปรับใจเสียใหม่ รู้สึกเฉยๆ กับมัน หรือตั้งความคาดหวังเสียใหม่ว่า จะมีความคิดหรือไม่มีก็ไม่เป็นไร มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ คือไม่รู้สึกลบต่อความคิดนั้น
เราลองวางจิตวางใจแบบนี้ดู แล้วการปฏิบัติเนี่ย ถ้าเราปฏิบัติถูกมันจะทำให้เราเปลี่ยนทัศนคติหรือมุมมอง จากเดิมที่เห็นว่าเหตุแห่งทุกข์อยู่ข้างนอกคือเสียงดัง หรือต่อไปก็อาจจะหมายถึงการกระทำหรือคำ พูดของผู้คน ดินฟ้าอากาศ แต่พอเรามาปฏิบัติ พอเรามาพิจารณาสังเกตใจของเราจะพบว่า เหตุแห่งทุกข์ที่แท้นี่มันอยู่ในใจเรา ความรู้สึกลบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่ารูปเสียงกลิ่นรสที่มากระทบ หรือความคิดที่เกิดขึ้นมาในใจ ตรงนั้นไม่ใช่ปัญหา สาเหตุแห่งปัญหาหรือสมุทัยคือความรู้สึกลบต่อสิ่งนั้น
ถ้าเราเห็นตรงนี้มันจะเปลี่ยนมุมมองของเราว่า เหตุแห่งทุกข์มันไม่ใช่อยู่ข้างนอก มันอยู่ที่ใจเรา แล้วขณะเดียวกันมันก็จะเป็นการปรับใจเราด้วยนะ เมื่อเรารู้ว่าเป็นเพราะความรู้สึกลบต่อเสียง หรือต่อความคิดที่ไม่ได้เชื้อเชิญนี่มันเป็นเหตุแห่งทุกข์ เราก็ปรับ ถ้าไม่อยากทุกข์ก็ปรับซะ ปรับใจให้รู้สึกเฉยๆ กับมัน เมื่อเห็นมันก็แค่ดูหรือรับรู้เฉยๆ อันนี้แหละที่ครูบาอาจารย์ว่า “รู้ซื่อๆ” เมื่อมีความคิดหรืออารมณ์ใดเกิดขึ้นก็ สักแต่ว่ารู้ รู้เฉยๆ รู้ด้วยใจที่เป็นกลาง รู้โดยที่ไม่ต้องมีความชอบหรือความชังผสมเข้าไปด้วย โดยเฉพาะความรู้สึกชังหรือความรู้สึกเป็นลบต่อความคิดที่เกิดขึ้น
การปฏิบัติอย่างที่เราปฏิบัติที่นี่ ที่หลวงพ่อเทียนท่านสอน ท่านไม่ได้สอนให้เราพยายามควบคุมจิตไม่ให้คิด แต่ท่านสอนให้เรารู้ทันความคิด โดยในกระบวนการฝึกก็อนุญาตให้มันคิดได้ หลายคนจะไม่ยอมนะ จะไม่อนุญาตให้มันคิดเพราะไม่ชอบ ต้องเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่นะ คืออนุญาตให้มันคิดได้ อย่าไปห้ามมัน ท่านสอนท่านย้ำเลยนะ “อย่าไปห้ามคิด” ท่านพูดว่า “ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้” หมายถึงว่ายิ่่งเผลอคิดหรือยิ่ง คิดฟุ้งซ่านก็ยิ่งรู้ รู้นี่คือรู้ทันความคิดหรือเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา อันนี้คือสิ่งที่หลายคนอาจจะไม่เคยคาดคิดมาก่อนนะ เพราะเรามาด้วยความคิดที่ว่า จะมาตะปบความคิด จะมากดข่มจิตให้หยุดคิด เพราะรู้สึกว่า ความคิดนี่เป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบ
ความคิดนี่มันไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบนะ มันไม่ได้ทำลายความสงบในจิตใจ แต่การไม่ชอบความคิดที่ฟุ้งซ่านต่างหาก ที่มันทำให้ใจไม่สงบ มันทำให้เกิดความหงุดหงิด มันทำให้เกิดความไม่พอใจ มันจะคิดเท่าไหร่ถ้าเราแค่รู้ซื่อๆ ใจมันก็ไม่ว้าวุ่นนะ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเข้าใจเช่นนี้ การปฏิบัติมันจะไม่ใช่เรื่องยากแล้วล่ะ เพราะเราไม่ได้คาดหวังว่ามันต้องไม่คิด คิดได้แต่ให้รู้ทันความคิด
หลวงปู่ดุลย์ท่านพูดเลยว่า ความคิดนี่มันห้ามไม่ได้นะ เหมือนกับลมหายใจ เราปฏิบัติเนี่ยเราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อห้ามคิดหรือเพื่อให้ความคิดมันดับ เอาแค่ว่ารู้ทันเวลามันมีความคิดนึกเกิดขึ้น เท่านี้ก็พอ อันนี้ท่านพูดเลยนะ เอาแค่ว่ารู้ทันเวลาจิตมันคิดนึก เท่านี้ก็พอ “อย่าฝันทั้งๆ ที่หลับ” คือ อย่าหลงคิดโดยไม่รู้ตัว นี่เป็นคำแนะนำการปฏิบัติที่ดีนะ ประการแรกคืออย่าไปคาดหวังว่าปฏิบัติแล้วมันต้องไม่คิด มันคิดได้ มันมีอารมณ์เกิดขึ้นได้เมื่อเกิดการกระทบ แต่ขอให้รู้ทันความคิดนึกนั้นก็พอ เท่านี้ก็พอแล้ว
แล้วการรู้ทันความคิดนึก มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองนะ มันเหมือนกับเวลาเราลืมอะไรสักอย่างแล้วเราเกิดนึกขึ้นมาได้ เช่น เรากำลังทำงานอยู่ แล้วสักพักก็นึกขึ้นมาได้ว่าต้มน้ำเอาไว้เป็นชั่วโมงแล้ว หรือกำลัง ทำงานเพลินๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่ามีนัดกับเพื่อนอีกสิบห้านาทีข้างหน้า ความระลึกนึกขึ้นมาได้นี่ถามว่าตั้งใจหรือเปล่า ไม่ได้ตั้งใจเลย มันนึกขึ้นมาได้เอง
การปฏิบัติที่นี่ก็เหมือนกันนะ ทีแรกใจก็ลอยคิดไปโน่นคิดไปนี่ บางทีคิดไปสิบเรื่องแล้วจู่ๆ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า นี่เรากำลังเดินอยู่นะ เกิดความรู้ตัวขึ้นมาทันทีเลยว่าเรากำลังเดินอยู่ ก่อนหน้านั้นลืมไปเลยว่ากำลัง เดิน เพราะมันคิดไป เหมือนกับว่าไหลไปสู่อดีต ลอยไปอนาคต บางครั้งใจก็ไปที่บ้าน ใจก็ไปที่ทำงาน เสร็จแล้วจู่ๆ มันนึกขึ้นมาได้ว่านี่เรากำลังอยู่ที่วัด กำลังเดินจงกรมอยู่ อันนี้เรียกว่านึกขึ้นมาได้ มันเกิดขึ้น เอง การปฏิบัติก็คือการเปิดโอกาสให้มันคิดหรือนึกขึ้นมาได้แบบนี้บ่อยๆ ให้มันเกิดโมเมนต์แบบนี้ขึ้นมาบ่อยๆ
ใหม่ๆ กว่ามันจะนึกขึ้นมาได้ว่ากำลังเดินอยู่ก็คิดไปแล้ว 10 เรื่อง แต่ต่อไปพอคิดไปได้ 9 เรื่องมันก็นึกขึ้นมาได้ แล้วต่อไปคิดไปได้แค่ 7-8 เรื่องก็นึกขึ้นมาได้ จะเร่งให้มันนึกระลึกขึ้นมาได้ไวๆ ก็ยากนะ เพราะอย่างที่บอกมันเกิดขึ้นเอง สิ่งที่เราทำคือเปิดโอกาสให้ความระลึกนึกขึ้นมาได้นี่เกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วมันก็จะเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น เร็วขึ้น
เราต้องยอมที่จะเปิดโอกาส สร้างโอกาสให้ความคิดนึกหรือระลึกนึกขึ้นมาได้นี่เกิดขึ้นบ่อยๆ มันไม่ใช่เป็นความคิดนึกที่เราจงใจนะ ไม่เหมือนเวลาเราระลึกนึกขึ้นมาว่าเมื่อเช้ากินข้าวกับอะไร หรือเมื่อวานนี้ อาตมาพูดเรื่องอะไร บางทีต้องตั้งใจนึกนะ มันถึงจะนึกออก แต่การระลึกนึกขึ้นมาได้ระหว่างที่ปฏิบัติ ระหว่างเดินจงกรมสร้างจังหวะ มันเป็นความระลึกนึกได้อีกประเภทหนึ่งเลยนะ มันไม่ได้เกิดมาจากความ ตั้งใจ แต่มันเกิดขึ้นเอง ภาษาพระเขาเรียก “อสังขาริกัง” มันเกิดขึ้นมาเอง สิ่งที่เราทำคือเปิดโอกาสให้ความระลึกนึกขึ้นมาได้เนี่ยเกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดขึ้นบ่อยๆ จนกระทั่งมันเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น เร็วขึ้น
เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา แล้วมันต้องอดทนนะกับความเบื่อ กับความง่วงเหงาหาวนอน ที่หลายคนบอกว่าปฏิบัติแล้วยาก ส่วนหนึ่งเป็นพราะมันง่วง ส่วนหนึ่งเพราะมันน่าเบื่อ แต่ถ้าหากเราอดทนทำไปเรื่อยๆ มันก็จะระลึกนึกขึ้นมาได้ไว แล้วจะพบเลยว่าความระลึกนึกขึ้นมาได้แบบนี้ มันทำให้ใจสงบได้เร็ว มันเป็นความสงบไม่ใช่เพราะไม่คิดนะ แต่สงบเพราะรู้ทันความคิด ซึ่งอันนี้เป็นงานของสติ
แล้วถ้าเราทำบ่อยๆ สติเราจะมีกำลัง จนกระทั่งเราสามารถที่จะปล่อยวางความคิดนึกและอารณ์ต่างๆ ได้เร็วขึ้น แล้วช่องว่างที่ปราศจากอารมณ์หรือไม่ถูกอารมณ์รบกวน ที่เราเรียกว่าความสงบ มันก็จะต่อเนื่อง แล้วเราก็จะรู้สึกได้ถึงความสงบ ไม่ใช่สงบเพราะไม่คิด แต่สงบเพราะรู้ทันความคิด
อันนี้แหละคือสิ่งที่เราพึงคาดหวังจากการมาปฏิบัติที่นี่ รวมทั้งจากการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเราด้วย