เวลาเราเจออะไรที่ไม่ชอบ กิริยาของคนส่วนใหญ่ก็คือ พยายามต่อสู้ ผลักไส ขัดขืน หรือพยายามเอาชนะ เพราะคิดว่าการทำอย่างนั้นจะทำให้ความทุกข์น้อยลง สาเหตุที่ไม่ชอบก็เพราะว่ามันก่อทุกข์สร้างปัญหาให้ แต่บ่อยครั้งการต่อสู้ขัดขืนผลักไส แทนที่มันจะทำให้ความทุกข์น้อยลง กลับทำให้ความทุกข์เพิ่มขึ้น
บ่อยครั้งเราไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่หยุดต่อสู้ผลักไสขัดขืน หรือเพียงแค่ยอมรับสิ่งที่กิดขึ้น เพียงเท่านี้ความทุกข์ก็ลดลงไปเยอะ บางทีมันลดลงไปถึงขั้นเรารู้สึกแปลกใจขึ้นมาเลย ในหลายกรณีเพียงแค่ทำเช่นนั้นมันก็ทำให้ปัญหาคลี่คลายได้
มีผู้หญิงคนหนึ่ง เธอไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมระยะเวลา 7 วัน เธอไม่เคยเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมมาก่อน แล้วก็ไม้รู้ว่าสถานที่แห่งนี้ คอร์สแห่งนี้เขาปฏิบัติกันอย่างไร แต่เพียงวันแรกก็รู้สึกว่ามันเป็นปัญหา สงสัยว่าเราตัดสินใจผิดหรือเปล่า เพราะเขาให้นั่งทั้งวัน ซึ่งการนั่งทั้งวันสำหรับคนที่ไม่เคย มันก็สร้างความทุกข์ให้อย่างมากเลย
พอถึงวันที่สอง ทุกขเวทนาจากการนั่งนานๆ หลายๆ ชั่วโมงตลอดทั้งวัน ก็สร้างความทุกข์ให้กับผู้หญิงคนนี้มาก พอถึงวันที่สาม ไอ้ความเครียดความปวดความเมื่อยมันก็รุนแรงมากขึ้น เพราะยังต้องนั่งต่อไป หลายชั่วโมงทั้งวัน จนถึงจุดหนึ่งเธอก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว มันปวดเหลือเกิน เวลานั่งแต่ละครั้งก็อยากจะให้มันจบๆ ลงซะที แต่เวลาก็ดูหมือนยืดยาว นั่งไปก็บ่นไปโอดครวญไปว่า “ไม่ไหวแล้ว ปวดเหลือเกินๆ”
จนถึงจุดหนึ่งก็บอกว่า “ฉันไม่ไหวแล้ว นั่งนานกว่านี้ฉันตายแน่” มันมีทั้งปวด ทั้งเกิดโทสะ ทั้งเกิดความหงุดหงิด แล้วยิ่งนั่งไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งทรมานอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน แล้วความรู้สึกนี้มันก็รุนแรงมากขึ้น จนกระทั่งรู้สึกว่าข้อเข่ามันจะแยกจากกัน กระดูกมันจะแยกจากกันเพราะมันต้องนั่งนานๆ รู้สึกว่านั่งต่อไปไม่ไหว ฉันตายแน่ๆ กล้ามเนื้อมันจะฉีกขาดออกจากกันเลยในความรู้สึก นั่งต่อไปฉันไม่ไหวแน่ ฉันไม่ไหว ฉันตายแน่ๆ ฉันตายแน่ๆ จิตใจรุ่มร้อนหมดเลยนะ
แต่มีจุดหนึ่ง จู่ๆ มันก็มีเสียงขึ้นมาในหัวว่า “ตายก็ตายวะ” พอมีเสียงนี้ขึ้นมาในหัว ความรู้สึกของเธอมันโล่งเลยนะ ไอ้ความทุกข์ทรมานทั้งหลาย ทั้งความปวดที่มันทับถมมานี่เหมือนกับละลายหายไปเลย ที่ จริงความปวดความเมื่อยก็ยังมีอยู่นะ แต่มันลดลงไปเยอะเลย ความทุกข์มันหายไปไหน ความทุกข์ก้อนใหญ่ๆ เลย เพียงแค่อุทานขึ้นมาในใจว่าตายก็ตายวะ ความรู้สึกโล่งก็เกิดขึ้นแล้วทำให้เธอนั่งต่อไปได้ ใน ที่สุดก็นั่งปฏิบัติจนจบคอร์สได้ ทั้งๆ ที่วันแรก วันที่สอง หรือกระทั่งวันที่สามบอกว่าไม่ไหวแล้ว ถึงตายทีเดียวในความรู้สึกน่ะ
ความรู้สึกโล่งมันเกิดขึ้นกับเธอหลังจากมีเสียงในหัวว่า ตายก็ตายวะ ตอนนั้นเองที่เธอรู้สึกยอมรับได้ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ทีแรกมันคิดถึงความตายนะว่า โอ้โห หนัก ปฏิบัติวันนี้ฉันตายแน่ มันกลัว ตื่นตระหนก ยิ่งโอดครวญยิ่งคร่ำครวญ มันยิ่งทำให้ความุทกข์เพิ่มพูนขึ้น ความทุกข์ส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดจากความปวดความเมื่อยในทางกาย แต่มันเป็นความทุกข์ใจที่ไม่สามารถจะยอมรับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นได้ เป็นเพราะกลัวว่าถ้าหนักกว่านี้ ทำนานกว่านี้มันจะตายแหงๆ เลย
จริงๆ ก็ไม่ถึงตาย แต่พอเกิดความรู้สึกแบบนี้ คิดแบบนี้ มันก็ตื่นตระหนก แต่ทันทีที่มีเสียงขึ้นมาในใจว่า ตายก็ตายวะ จุดนั้นมันเป็นจุดชี้ขาดเลยนะ เป็นจุดเปลี่ยนเลย เพราะว่ามันทำให้เธอยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ พอยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ การต่อสู้ การผลักไส การขัดขืน การโอดครวญ มันก็ลดลง พอลดลงความทุกข์ใจที่เกิดจากการผลักไสต่อสู้มันก็เลือนหายไปด้วย อันนี้เลยทำให้เธอรู้สึกว่าความรู้สึกโปร่งโล่ง มันเกิดขึ้น เธอไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หากมันจะต้องตายก็ “ตายก็ได้” ไอ้การยอมรับนี่มันทำให้ความทุกข์ทุเลาเบาบางลง
ในสถานการณ์บางอย่าง บางครั้งเราอยู่ในสถานการณ์ที่เหมือนจะทำอะไรไม่ได้ อย่างผู้หญิงคนนี้จะลุกขึ้นก็ไม่ได้ จะเลิกปฏิบัติก็ใช่ที่ มันก็นั่งไปอย่างนั้นแหละ สถานการณ์มันเหมือนกับว่าทำอะไรไม่ได้ นอกจากโอดครวญ แต่ที่จริงแล้วมันมีอย่างหนึ่งที่ทำได้และจะช่วยได้มากก็คือ “ยอมรับ” การยอมรับมันเกิดขึ้นหรือแสดงออกจากการที่มันมีเสียงในใจว่า ตายก็ตายวะ
นี่ก็คล้ายกับผู้หญิงอีกคนหนึ่งนะ เธอไป trekking กับเพื่อน ก็คือเดินเขาที่ประเทศเนปาล มันเป็นจุดที่คนโดยเฉพาะหนุ่มสาวที่ชอบผจญภัยแล้วอยากจะเห็นทิวทัศน์อลังการนิยมเดินขึ้นเขา ไต่ระดับความสูงซึ่งจุดมุ่งหมายสูงสุดจริงๆ ก็คือยอดเขาเอเวอเรสต์ ความสูง 8 กิโลจากระดับน้ำทะเล แต่นักปีนเขามือใหม่ส่วนใหญ่ก็แค่พาตัวเองไปถึงเบสแคมป์ ก็คือค่ายที่อยู่เชิงเขาหิมาลัยหรือเชิงเขาเอเวอรสต์ มันก็ พอแล้วนะ แต่แม้กระนั้นมันก็สูงนะ สูงจากระดับน้ำทะเล 5,000 เมตร แค่ตะเกียกตะกายขึ้นไปก็ยากอยู่แล้ว ยังต้องไปเจอกับอากาศที่เบาบาง บางคนแค่ 4,000 เมตรก็จะแย่แล้ว หรือบางที 3,000 เมตรก็ป่วย เลยนะ อย่างคนที่ไปเมืองลาซา ทิเบต ซึ่งสูงแค่ 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ปรากฏว่าป่วยทั้งวันเลย ไปเที่ยวไหนไม่ได้เลย
แต่ผู้หญิงคนนี้ปีนขึ้นไปจนถึงระดับ 5,000 เมตร แต่พอไปถึงไม่มีโอกาสที่จะชื่นชมในความสำเร็จเลย เพราะป่วย เป็นโรคที่เกิดจากการอยู่บนที่สูงมากเกินไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ขาดออกซิเจนหรือออกซิเจนไม่เพียงพอ หัวใจเต้นเร็ว ปวดหัว อาเจียน แล้วก็หายใจได้ลำบากมาก เป็นแค่ชั่วโมงสองชั่วโมงยังไม่เท่าไหร่นะ อันนี้เป็นยาวหลายชั่วโมง มันตื่นตระหนกตกใจมาก ตอนนั้นมันไม่มีแม้กระทั่งความ สามารถในการจะคิดนึกอะไรเลย หรือแม้กระทั่งการที่จะลุกขึ้นมากินน้ำหรือใช้ชีวิตตามปกติ แต่นอนอย่างเดียว หมดสภาพ แล้วคนเราพอหายใจลำบากแล้วมันทรมานมากเลย
เธอก็พยายามต่อสู้ดิ้นรนนะ แต่กินยายังไงก็ไม่หาย ต่อสู้ยังไงก็ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น นึกถึงความตายขึ้นมายิ่งตื่นตระหนกเข้าไปใหญ่ “ฉันจะเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่นี่หรือ” ยอมรับไม่ได้ที่ตัวเองจะต้องตาย ก็ยิ่ง พยายามดิ้นรนกระเสือกกระสน แต่ยิ่งทำอย่างนั้นก็ยิ่งทำให้อาการแย่ลง หลังจากที่เป็นมาหลายชั่วโมงตลอดคืน แล้วไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น มีแต่แย่ลง ตอนนั้นมันก็มีจุดหนึ่งที่มีเสียงขึ้นมาในใจว่า “ตายก็ตายวะ” เธอบอกว่าพอมีเสียงนี้ขึ้นมา มันหยุดดิ้นเลยนะ มันหยุดกระเสือกกระสน แล้วปรากฏว่าลมหายใจที่มันหายใจได้ลำบากมันก็เริ่มหายใจได้คล่องขึ้น มันเป็นลมหายใจที่แผ่วเบามาก แต่แม้จะแผ่วเบาแต่ก็ทำให้เริ่มมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็สามารถที่จะลุกขึ้นนั่ง แล้วก็เริ่มกินน้ำกินอาหารได้
จุดเปลี่ยนที่สำคัญ ก็คือตอนที่มันมีเสียงขึ้นมาในหัวว่า “ตายก็ตายวะ” เพราะตอนนั้นแปลว่าจิตใจมันยอมรับแล้ว จิตใจมันยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น พอมันยอมรับได้อาการตื่นตระหนกมันก็บรรเทาลง พออาการตื่น ตระหนกบรรเทาลง การดิ้นรนกระเสือกกระสนมันก็ลดลงไปด้วย ความตื่นตระหนกหายไป หัวใจที่เคยเต้นเร็วก็ค่อยๆ ลดระดับการเต้นลง การหายใจก็เริ่มที่จะหายใจได้คล่องขึ้น เพียงแค่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่ามันอาจจะหมายถึงความตาย แต่พอยอมรับว่า “ตายก็ได้วะ” หรือ “ตายก็ตายวะ” ความตื่นตระหนกหายไป ความเครียดมันก็ลดลง การกระเสือกกระสนที่ทำให้อาการแย่ลงมันก็บรรเทาเบาบางไปด้วย สุดท้ายก็มีเรี่ยวมีแรงกลับมา แล้วสามารถที่จะเดินลงเขาได้ในที่สุด
ทั้งสองกรณีก็อยู่ในสถานการณ์ที่ทำอะไรไม่ได้ เพราะเป็นสถานการณ์ที่มันสร้างทุกขเวทนามาก แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ ‘การยอมรับ’ ยอมรับความจริง ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น พอยอมรับได้มันก็ช่วยทำให้ทั้งใจและกายกลับมาดีขึ้น บ่อยครั้งเราคิดว่าต้องต่อสู้ ต้องผลักไส ต้องขัดขืนกับสถานการณ์ที่ทำอะไรไม่ได้แล้ว โดยไม่รู้ว่าการทำอย่างนั้นมันทำให้แย่ลง เพราะการบ่น โวยวาย ตีโพยตีพาย มันก็เหมือนกับการซ้ำเติม
ที่จริงคนเราเวลาเจออุปสรรคเจอปัญหา มันมีคุณธรรมหรือธรรมะหลายอย่างที่มาช่วยเราได้ เช่น ความอดทน ความเพียรพยายาม ความอดทนนี่มันทำให้เราไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ไม่ยอมแพ้ต่อความทุกข์ ไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งล่อเร้าเย้ายวน แล้วยิ่งผสมกับความเพียรก็ยิ่งทำให้เราพยายามที่จะเดินหน้าต่อไป ไม่ย่อท้อต่อปัญหา พยายามต่อสู้เอาชนะปัญหาที่เกิดขึ้น
มองในแง่นี้ การยอมหรือศิโรราบมันเหมือนกับสิ่งตรงข้ามกับคุณธรรมที่ว่าคือ ขันติ ความอดทน ความเพียร แต่ที่จริงแล้วการยอมรับความจริงหรือยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นสิ่งตรงข้ามกับความตื่นตระหนกหรือความตกใจมากกว่า
การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ หรือการโอดตรวญ สิ่งนี้มันไม่ใช่คุณธรรมเลยนะ แต่เป็นตัวที่สร้างปัญหาที่ทำให้ความทุกข์มันรุนแรงมากขึ้น บางสถานการณ์เราก็ต้องใช้ความอดทน บางสถานการณ์เราก็ต้องใช้ความเพียรเพื่อที่จะเดินหน้าต่อไป แต่ในบางครั้งมันไม่มีอะไรดีกว่าการยอมรับความจริง ซึ่งมันไม่ใช่การยอมแพ้นะ
การยอมรับความจริงมันต้องอาศัยความกล้าทีเดียว กล้าที่จะเผชิญกับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น อย่างสองคนนี้พอถึงจุดหนึ่งมันก็มีเสียงในหัวว่า “ตายก็ตายวะ” อันนี้มันไม่ใช่ความขลาดนะ แต่เป็นความกล้า กล้าที่จะยอมรับว่า เออ ตายก็ได้ ที่จริงสถานการณ์มันอาจไม่ถึงตายก็ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์แรก แต่สถานการณ์ที่สองตอนที่หายใจแทบไม่ได้เพราะอยู่บนที่สูง อันนี้มีสิทธิ์ตายนะ แล้วก็มีหลายคนตายมาแล้ว
แต่จำนวนไม่น้อยที่ตายเป็นเพราะพยายามดิ้นรนขัดขืนต่อสู้ เพราะยอมรับความตายไม่ได้ พอนึกถึงความตายมันก็เกิดความตื่นตระหนกตกใจกลัว ยิ่งกระเสือกกระสน ไอ้ที่เคยหายใจรวยรินอยู่แล้ว พอตื่นตระหนกมันก็ต้องการออกซิเจนมากขึ้น ยิ่งทำให้อาการแย่ลง แต่พอยอมรับความตายได้ ใจมันสงบ พอสงบแล้วเพียงแค่ออกซิเจนน้อยนิดร่างกายมันก็พอจะอยู่ได้ ก็ทำให้ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ
การทำอย่างนี้ได้ต้องอาศัยความกล้านะ แล้วต้องอาศัยสติด้วย ซึ่งมันตรงข้ามกับความตื่นตระหนก
มีหลายคนที่เขารอดตายได้ก็เพราะการที่ยอมรับความจริง ยอมรับได้แม้จะต้องตาย อย่างมีผู้หญิงคนหนึ่งเล่าว่าไปเที่ยวเกาะสมุยกับเพื่อน เล่นน้ำอยู่ดีๆ ปรากฏว่า จู่ๆ ก็พบว่าตัวเองถูกคลื่นจากชายฝั่งพัดออกไปสู่ทะเลกว้างมากขึ้น เธอไม่รู้ว่าตอนนั้นเจอคลื่นทะเลดูด คลืนทะเลดูดนี่บางทีมันก็โผล่มาแบบที่ไม่มีใครคาดคิด หรือบางทีมันก็เกิดขึ้นกับสถานที่บางแห่ง สมุยก็ดี ระยองก็ดี หลายคนก็เคยเจอคลื่นทะเลดูด
พอเจอคลื่นซัดออกไปสู่ทะเล เธอก็ตกใจพยายามว่ายเข้าฝั่ง แต่คลื่นมันแรงมาก ว่ายเท่าไหร่ๆ ก็ปรากฏว่าแพ้คลื่น ว่ายจนจะหมดแรงอยู่แล้ว ตอนนั้นคิดว่าตายแน่ เพราะแรงกำลังจะหมดแล้ว แล้วจู่ๆ เธอก็ เกิดรวบรวมสติขึ้นมา แล้วก็คิดในใจว่ายอมตาย ตอนนั้นเตรียมใจพร้อมรับความตายเลย พอเตรียมใจพร้อมรับความตายก็เลิกที่จะว่ายเข้าหาฝั่ง ลอยคอปล่อยให้คลื่นมันซัดไป ตอนนั้นพร้อมตายแล้ว และก็คิด ว่าตายแน่ เธอเล่าว่าตอนนั้นใจมันสงบมากเลย มันไม่มีความตื่นตระหนกอะไรเลย มันสงบ
แต่สักพักก็สังเกตรู้สึกว่ามันมีคลื่นมาซัดตัวเองเข้าหาฝั่ง มีคลื่นผลักตัวเองเข้าหาฝั่ง ก็เลยตั้งสติขึ้นมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น ก็พบว่าตัวเองหลุดจากกระแสคลื่นไปแล้ว เธอก็เลยรวบรวมกำลังว่ายเข้าหาฝั่ง ตอนนั้นก็หมดแรงแล้ว แต่ก็ยังพอมีแรงอยู่บ้าง เพื่อนๆ ที่อยู่บนฝั่งเห็นก็ว่ายน้ำมาพยุงเธอกลับเข้าฝั่ง พอถึงฝั่งแล้วจึงรู้ว่า มันมีคนตายเพราะคลื่นทะเลดูดบริเวณนั้นหลายคนแล้ว ที่ตายเพราะพยายามจะว่ายเข้าหา ฝั่งแต่ทานกระแสคลื่นไม่ได้ แล้วเกิดความตื่นตระหนกตกใจ ก็พยายามว่าย ว่ายแล้วว่ายอีกจนหมดแรง แล้วก็เลยจม
แต่เผอิญเธอไม่ทำอย่างนั้น เธอปล่อยตัวให้ลอยไปตามคลื่น แล้วพอหมดแรงของคลื่น เธอก็สามารถหลุดจากกระแสคลื่นได้ แต่คลื่นก็พาไปไกลเลยนะ ดีที่มีเพื่อนมาช่วยพาเข้าฝั่งได้ เธอไม่รู้ว่าใน สถานการณ์อย่างนี้สิ่งที่ควรทำก็คืออย่าว่ายเข้าฝั่ง แต่ให้ว่ายขนานกับฝั่ง คนที่พยายามว่ายเข้าฝั่งเวลาเจอคลื่นทะเลดูดนี่ตายทุกคนเลย ที่ตายก็เพราะหมดแรง แล้วที่หมดแรงก็เพราะตื่นตระหนก แต่ถ้าว่ายตัด กระแสคลื่นหรือว่ายขนานกับฝั่ง ไม่นานก็จะหลุดจากกระแสคลื่น เพราะกระแสคลื่นมันกว้างไม่เกินสัก 50 เมตรหรือแคบกว่านั้น อันนี้ก็เป็นความรู้ที่คนว่ายน้ำควรจะมี
เมื่อสองเดือนก่อนก็มีคนตายแถวหาดทุ่งวัวแล่น ชุมพร ฟังว่าเป็นเพราะโดนคลื่นทะเลดูด แล้วก็รับมือกับมันไม่เป็น เกิดความตื่นตระหนก แต่ผู้หญิงคนนี้รอดมาได้ทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องคลื่นทะเลดูด ก็เพราะยอมรับ คือยอมรับว่าจะต้องตาย พอยอมรับว่าจะต้องตายก็เลยรอดมาได้
ที่จริงการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี่ มันเป็นเคล็ดลับที่เราควรจะมีนะ เพราะบ่อยครั้งความทุกข์ของคนเรามันเกิดขึ้นจากการที่เรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเจอสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง หรือเหตุการณ์ รวมทั้งทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น พอเจอเข้าแล้วยอมรับไม่ได้ ก็เลยผลักไส ไอ้การผลักไสนี่เป็นตัวที่สร้างความทุกข์
แต่ทันทีที่เรายอมรับได้ความทุกข์ก็จะลดลง เช่นเสียงดังหลายคนก็ไม่ชอบ พอไม่ชอบแล้วเป็นยังไง ใจมันก็เกิดอาการต่อสู้ผลักไส แต่ถ้าเสียงไม่หายก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งหงุดหงิดเข้าไปใหญ่ จนกระทั่งเกิดความโกรธ แล้วส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นก้อนใหญ่เลย คือ การที่ผลักไส ไม่ยอมรับ ไม่ใช่เกิดจากเสียงนะ แต่เกิดจากใจของเราที่ไม่ยอมรับ แต่ทันทีที่ใจยอมรับได้ ความทุกข์มันลดลงไปเยอะเลย
อันนี้ก็รวมถึงความหนาวความร้อน หรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เช่น ความเจ็บ ความปวด ความเมื่อย แม้กระทั่งอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ เช่น ความเครียด ความหงุดหงิด พวกนี้ก็ไม่มีใครชอบนะ แต่เพราะไม่ชอบจึงผลักไส และยิ่งผลักไสมันก็ยิ่งทุกข์ แต่พอยอมรับมันได้ โดยเฉพาะถ้ามีสติ หรือถ้ารู้จักสิ่งที่ครูบาอาจารย์เรียกว่า “รู้ซื่อๆ” แค่รู้ซื่อๆ คือรับรู้เฉยๆ โดยที่ไม่ผลักไส มันก็ช่วยลดความทุกข์ไปได้เยอะ
ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกหรือสิ่งที่เกิดขึ้นภายใน ลองสังเกตดูจะพบว่าความทุกข์มันเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อเราผลักไสมัน เมื่อเราไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่พอเรายอมรับมันได้ความทุกข์ก็ลดลง และถึงตอนนั้นมันก็จะคิดอ่านหาวิธีว่า แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่ถ้าเราเริ่มจากการต่อต้านผลักไสเสียแล้ว บางทีมันคิดอะไรไม่ออกนะ เพราะว่ามันเจอความทุกข์ เจอความหงุดหงิด เจอความโกรธกลุ้มรุมเล่นงาน แล้วบางทีก็ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
แต่สถานการณ์อาจจะดีขึ้นได้ จนรอดพ้นจากวิกฤติได้ เพียงแต่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565