พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565
ร่างกายคนเราก็ต้องการอาหาร อาหารที่ดี ดีในที่นี้ไม่ได้แปลว่าแพง แต่หมายถึงมีคุณภาพ เป็นอาหารที่สมดุล เหมาะกับร่างกาย มันก็ช่วยทำให้ร่างกายมีสุขภาพดี แต่นอกจากการรู้จักเติมอาหารให้กายแล้ว เราต้องรู้จักเติมความสุขให้ใจด้วย เพราะว่าใจก็ต้องการความสุข เหมือนกับอาหารที่จำเป็นสำหรับร่างกาย
คนเราต้องรู้จักเติมสุขให้ใจ ไม่ใช่แค่หาอาหารใส่ท้องเท่านั้น แต่เวลาพูดถึงการเติมสุขให้ใจ เราก็มักนึกถึงการกิน การดื่ม การเที่ยว การเล่น การช็อป หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การเสพ ดูหนังฟังเพล งกินอาหารอร่อย สุขอย่างนั้นมันก็ยังไม่ดีต่อจิตใจเท่ากับสุขที่เกิดจากการทำความดี และการทำความดีอย่างหนึ่งที่ช่วยเติมสุขให้ใจ ก็คือ การรู้จักแบ่งปัน ความมีน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถ้าเรารู้จักทำ หรือทำบ่อยๆ ก็จะทำให้จิตใจมีความสุข
นอกจากเติมสุขให้ใจแล้ว มันยังช่วยลดทุกข์ให้ใจด้วยนะ เขาพบว่าคนที่เป็นจิตอาสานี่ ถ้าทำเป็นอาจิณ ทำเป็นกิจวัตร ทำบ่อยๆ มันช่วยลดความเครียดได้ และยิ่งกว่านั้นก็คือ ลดความซึมเศร้า
เดี๋ยวนี้คนเครียดเยอะ คนซึมเศร้าก็มาก จนล้มป่วย แต่ถ้าหากว่าได้ลองออกไปช่วยเหลือผู้อื่น อย่างที่เขาเรียกกันว่าเป็นจิตอาสานี่ ความเครียดลดลง อาจจะเป็นเพราะว่ามีความสุขมากขึ้นจากการที่ได้ไปช่วย คนที่เขาทุกข์ยาก และเห็นเขายิ้ม เห็นเขารู้สึกดีขึ้น หรือไปเห็นคนอื่นเขาทุกข์เขาลำบากกว่าเรา มันก็ทำให้ความสุขของเราเล็กน้อยลง
เช่นเดียวกัน พอมีความสุขจากการช่วยผู้อื่นแล้ว อาการซึมเศร้ามันก็ค่อยบรรเทาลง เพราะว่าเหมือนกับน้ำดี มันก็ค่อยๆ เข้าไปไล่น้ำเสียออกไป น้ำเสียถ้าเราสูบออกไปนี่มันเหนื่อย แต่ถ้าเราปล่อยน้ำดีเข้าไป มันช่วยทำให้น้ำเสียเจือจางลง
นอกจากการเป็นจิตอาสา หรือการมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่นแล้ว การรู้จักให้ทาน หรือการแบ่งปันนำสิ่งที่เรามีไปช่วยเหลือผู้อื่น ที่ทางพุทธเราเรียกว่า “ทาน” หรือ “การให้ทาน” มันก็ช่วยนะ แล้วก็ไม่ได้ ช่วยในการลดความทุกข์ในจิตใจอย่างเดียว มันช่วยลดความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกายด้วย พูดง่ายๆ ก็คือ มันทำให้สุขภาพดี ไม่ใช่แค่สุขภาพจิต แต่รวมไปถึงสุขภาพกายด้วย
เขาพบว่าคนที่มีความดันสูงนี่ ถ้าลองออกไปทำความดี เอาแค่ว่าเอาเงินที่มี หรือที่ได้รับไปแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่น มันก็ช่วยลดความดันได้ เขาทำการทดลองศึกษา เอากลุ่มคนที่มีความดันสูงมา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้เงิน 40 ดอลลาร์ ก็พันกว่าบาท ให้เอาไปทำอะไรก็ได้เพื่อตัวเอง กินเที่ยวก็ได้ อีกกลุ่มหนึ่งก็ได้เงินเท่ากันคือ 40 ดอลลาร์ แต่ให้เอาเงินก้อนนี้ไปช่วยเหลือคนอื่น แล้วเขาก็ติดตามผล
6 อาทิตย์ต่อมาก็พบว่ากลุ่มที่ 2 ซึ่งเอาเงินที่มีอยู่ไปแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่นนี่ ความดันลดลง ไม่ได้กินยานะความดันลดลง ซึ่งก็เชื่อว่าเป็นผลที่เกิดจากการแบ่งปัน นอกจากความดันลดลงแล้ว อาการอย่างอื่นก็ช่วยได้เยอะ เช่น ความเจ็บปวดก็บรรเทาลงด้วย การที่คนเราทำความดีด้วยการแบ่งปันนี่ แม้เพียงแค่เจตนาหรือความตั้งใจอย่างเดียวก็ช่วยได้เยอะแล้ว
ฝรั่งเขามีการศึกษา แล้วก็มีผลที่เป็นรูปธรรม บางทีก็มีการทดลองแบบที่เรียกว่าเห็นผลได้ชัดเจน เช่น เอาคนกลุ่มหนึ่งมาทดลองด้วยการตั้งใจว่าจะบริจาคเงินให้กับเด็กกำพร้า เสร็จแล้วก็ให้ทดลองด้วยการปล่อยไฟฟ้าช็อต ปรากฏว่าคนที่ตั้งใจว่าจะเอาเงินไปช่วยเหลือผู้อื่น หรือเด็กกำพร้าจะรู้สึกเจ็บหรือปวดน้อยกว่าคนทั่วไป
หรือคนที่ไม่ได้มีความคิดความตั้งใจที่จะไปช่วยเหลือเด็กกำพร้าด้วยการบริจาคเงิน ทดลองกันแบบเห็นผลเลยนะคือให้ไฟฟ้าช็อต แต่ไฟฟ้าก็ไม่ได้แรงอะไรนะ แต่ว่าแม้จะเป็นไฟฟ้าที่อ่อนๆ แต่มันก็เจ็บ คนที่ตั้งใจว่าจะทำความดีด้วยการช่วยเหลือเด็กกำพร้านี่ จะรู้สึกปวดรู้สึกเจ็บน้อยกว่า
เขาก็อธิบายว่าคนเรานี้ แม้เพียงแค่ตั้งใจจะทำความดี หรืออยากจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยิ่งได้ลงมือทำด้วยแล้ วมันก็มีผลต่อสมอง มันคงทำให้เกิดสารบางตัวที่เรียกว่า “สารสื่อประสาท” ที่ไปบล็อกสัญญาณความเจ็บปวด ความเจ็บปวดนี่ ถ้ามันปวดที่แขนที่ขา มันก็จะมีสัญญาณส่งความเจ็บปวดไปที่สมอง แต่ถ้าสัญญาณนั้นมันถูกสกัดกั้น สมองไม่ได้รับสัญญาณนั้น ก็ไม่รู้สึกปวดหรือปวดน้อยลง
อันนี้เขาก็เชื่อว่านี่เป็นเพราะความตั้งใจอยากจะทำความดีมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มันก็มีผลทางกายภาพ ทำให้เจ็บปวดน้อยลง ซึ่งก็คงไม่ได้หมายถึงความปวดจากการโดนไฟฟ้าช็อตอย่างเดียว แต่บางทีมีโรคภัยไข้เจ็บแล้วมันเจ็บมันปวด แต่ถ้าลองไปทำอะไรเพื่อผู้อื่น ความรู้สึกดีใจ ความรู้สึกสุขใจ มันก็คงช่วยความให้ความปวดทุเลาบรรเทาลงด้วย
มีตัวอย่างของคนที่พอได้นึกถึงสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ นึกถึงการทำความดี นึกถึงการแบ่งปันทั้งในอดีต หรือที่จะทำในอนาคต มันก็ช่วยทำให้ความปวดทุเลาลงโดยที่ไม่ต้องกินยาระงับปวด นอกนั้นก็ยังพบว่าคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นี่ก็มีความสุขได้ง่ายขึ้น มีความสุขใจ มีความสุขกาย อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วว่า “ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข”
เมื่อเราทำความดีด้วยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ด้วยความมีน้ำใจ โดยเฉพาะทำความดีโดยที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนจากความดีนั้น เช่น ไม่ได้ปรารถนาจะให้เขาตอบแทนเรา หรือไม่ได้ปรารถนาจะให้คนอื่นเขายกย่องสรรเสริญเรา และเป็นการทำความดี การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับคนแปลกหน้า คนที่เราไม่คุ้นเคย คนที่เราไม่รู้จัก คนที่เราพบเห็นบนท้องถนน เช่น การพาคนแก่หรือคนตาบอดเดินข้ามถนน หรือการช่วยถือของให้กับคนแก่ที่เราไม่รู้จัก หรือการยกที่นั่งให้กับคนพิการ คนแก่ หรือผู้หญิงท้อง
พวกนี้ก็เป็นทางการทำความดีง่ายๆ เป็นความมีน้ำใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งถ้าเราทำทุกวัน มันก็จะช่วยทำให้ความทุกข์ใจ แล้วก็ความเจ็บป่วยทุเลาเบาบาง ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วยเครียด หรือเพราะความดันสูง หรือทุกข์ใจเพราะซึมเศร้า เพราะเครียด หรือเพราะความเศร้าโศก คนที่สูญเสียคนรัก จมอยู่ในความเศร้าโศก ลองลุกออกไปทำอะไรเพื่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น ไปเป็นจิตอาสา หรือเอาเงินที่มีอยู่ไปเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้คนทุกข์ยาก ถ้าทำเรื่อยๆ ทำบ่อยๆ มันช่วยลดความเศร้าโศกได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นการทำความดีมันไม่ได้ดีกับผู้อื่นอย่างเดียว มันดีกับเราด้วย ตอนนี้ฝรั่งเขาศึกษากันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และเขาก็พบแล้วว่าภูมิปัญญาโบราณที่บอกว่า “ผู้ให้ความสุขย่อมได้รับความสุข” นี่ มันเป็นความจริงเลยนะ สุขทั้งใจสุขทั้งกาย หรืออย่างน้อยความทุกข์ก็ลดลง ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์กาย หรือความทุกข์ใจ.