ช่วงนี้สถานการณ์เกี่ยวกับโควิคเริ่มคลี่คลายขึ้น แล้วก็เริ่มที่จะมาร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆได้มากขึ้น รวมทั้งการมาฟังธรรม อาตมาอยากจะเริ่มต้นอย่างนี้ว่า ทุกวันนี้เรามีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น มากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะว่าแต่ก่อนนี้หมายความว่ามากกว่าตั้งแต่ 30 40 ปีก่อน หรือมากกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่รุ่นปู่ย่าตายายของเรา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าชีวิตของเราจะทุกข์น้อยลง
คนเรายากที่จะหนีความทุกข์พ้น
ความสะดวกสบายมากขึ้นไม่ได้เป็นหลักประกันว่าความทุกข์ของเราจะลดน้อยถอยลงไป สำหรับบางคนอาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะเพียงแค่สะดวกสบายน้อยลงก็ทุกข์เสียแล้ว หรือจะพูดได้ว่า คนเรายากที่จะหนีความทุกข์พ้น ในบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าจะมีประโยคหนึ่งที่แปลเป็นไทยว่า
“เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว”
หมายความว่า ความทุกข์อยู่กับเนื้อกับตัวเราอยู่แล้ว แล้วก็รอเราอยู่ข้างหน้านี่เอง
อยู่กับเนื้อกับตัวเราอย่างไร เช่น เรานั่งบนเก้าอี้เรารู้สึกว่าสบาย แต่ถ้าเรานั่งไปนานๆ เราจะเริ่มรู้สึกเมื่อย นี่แสดงว่าความทุกข์ที่หยั่งในตัวเราเริ่มแสดงตัวออกมา แล้วเราคิดว่านั่งเก้าอี้แบบนี้พอนั่งไปสักพักหนึ่งมันเมื่อย เราคิดว่าได้เอนกายสักหน่อยมันจะดี แล้วพอเราเอนกายก็สบาย สบายกว่าการนั่งเก้าอี้ แต่พอเอนไปสักพักอาจจะครึ่งชั่วโมง เราก็เริ่มรู้สึกเมื่อย แล้วจากอิสราเอนก็เลยเลบานอนเลย นอน อิสราเอนก็เลบานอน นอน เอ้..นอนนี่สบาย แต่ก็นอนไปสักพักก็เริ่มเมื่อยแล้ว เราเริ่มพลิกตัว แม้เราจะหลับไม่ได้แปลว่าเราไม่พลิกตัว หลับคืนหนึ่งเราพลิกตัวหลายครั้งทีเดียว ทำไมถึงพลิกตัว อันนี้แสดงว่าความเมื่อยมันซ่อนอยู่ในตัวร่างกายของเรา เพียงแต่มันรอเวลาแสดงออก
แต่บางครั้งเราไม่รู้สึกเมื่อยเพราะว่าเราขยับเนื้อขยับตัว แต่ถ้าเราไม่ขยับเมื่อไหร่ ความทุกข์ก็จะแสดงตัวออกมาในรูปของความเมื่อย อันนี้คือความหมายของคำว่า “เราทั้งหลายเป็นผู้ที่ถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว” คือมันแทรกซึมในตัวเรา เพียงแต่ว่ามันจะแสดงออกเมื่อไหร่ แต่ถ้าเราขยับเนื้อขยับตัวเปลี่ยนอริยาบถ เราจะไม่เห็นความจริงตรงนี้ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า อิริยาบถมันบังทุกข์
ที่จริงไม่ต้องรอให้นั่งจนเมื่อยหรือนอนจนเมื่อย ถึงจะรู้ว่ามีความทุกข์ซ้อนหรือแฝงอยู่กับร่างกายเรา เพียงแค่เราตั้งใจว่าจะไม่กระพริบตา เราไม่กระพริบตาสัก 2 นาทีหรือ 3 นาที เราจะรู้เลยว่ามันเมื่อย ปวดตา แต่ที่เราไม่รู้สึกปวดหรือเมื่อยเพราะอะไร เพราะเรากระพริบตาอยู่บ่อยๆ นี่เฉพาะส่วนที่เป็นความทุกข์ที่มันยังอยู่ในตัวเราแล้ว ยังไม่รวมถึงความทุกข์ที่รอเราอยู่เบื้องหน้า ที่มันแสดงออกเป็นอาการหรือเหตุการณ์ ซึ่งท่านบอกไว้ในบททำวัตรสวดมนต์นั่นแหละ จะมี 2 อาการหรือเหตุการณ์ใหญ่ๆ “ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่พอใจ” แล้วก็ “พลัดพรากกับสิ่งที่รักที่พอใจ” มีแค่นี้แหละความทุกข์ของคนเรา 8,000 ล้านคน
ทุกข์ของมนุษย์โลกมีไม่กี่เรื่อง
มนุษย์เราเพิ่มจำนวนถึง 8,000 ล้านคนเมื่อ 2-3 วันก่อน ไม่ใช่ 7,000 ล้านคน 8,000 ล้านคนความทุกข์นี่ไม่ว่าชาติใดภาษาใดก็วนเวียนอยู่ 2 เรื่องนี้ ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่รัก
ประสบกับสิ่งที่ไม่รักเช่นอะไร อาจจะเป็นอากาศร้อน ฝนตก รถติด คำต่อว่าด่าทอ พลัดพรากจากสิ่งที่รักเช่นอะไรบ้าง เงินหาย หรือว่าตกงาน หรือคนรักแยกทาง หรือพ่อแม่ล้มหายตายจากไปจากเรา ซึ่งถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่ง ความทุกข์ของคนเราก็วนเวียนอยู่กับ 4 เรื่องนี้ หนึ่ง ทรัพย์สินเงินทอง สอง ร่างกาย ร่างกายนี่หมายความรวมถึงสุขภาพที่มีความเจ็บป่วย จนถึงว่าน้ำหนักเกินอ้วนไป หรือเป็นสิวผิว แห้งผมแตกปลาย ร่างกาย แล้วก็เงินทอง เงินหายรายได้หด หนี้สิน แล้วก็ความสัมพันธ์ มีปัญหากับเพื่อนบ้าน เจ้านายชอบดูถูกเหยียดหยาม หรือทะเลาะกับลูก ทะเลาะกับคนรัก ไม่ว่าเราจะร่ำรวยแค่ไหน ไม่ว่าเราจะมีชีวิตที่สะดวกสบายเพียงไร เราก็หนีความทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับ 4 ประการนี้ไม่พ้นเลย แต่ทั้งหมดนี้มาลงอยู่ที่ความทุกข์ใจ อันนี้เมื่อเราหนีมันไม่พ้น ต้องเจอ เราจะทำอย่างไร
ยอมรับคือก้าวแรกของการพ้นทุกข์
ห้วข้อการบรรยายวันนี้ คือวิธียิ้มรับความทุกข์ ทำไมเราควรจะยิ้มรับความทุกข์ แต่ก่อนที่จะให้คำตอบว่าทำไมเราจะยิ้มรับความทุกข์ ก็อาจจะเริ่มต้นตรงที่ว่า เราจะยิ้มรับความทุกข์ได้ เราต้องทำข้อนี้ให้ได้ก่อน คือยอมรับ ยอมรับมัน ก่อนที่เราจะยิ้มรับความทุกข์ เราต้องยอมรับมัน เพราะว่าเมื่อความทุกข์เกิดขึ้นแล้วเรายอมรับไม่ได้ เราบ่นเราโวยวายตีโพยตีพาย มันจะเป็นการซ้ำเติมหรือเพิ่มความทุกข์ให้กับเรา ถ้าเงินหายเราโวยวายตีโพยตีพาย มันจะไม่หายแต่เงินแต่ว่าใจจะหายไปด้วย มันจะไม่เสียแต่ทรัพย์แต่ใจก็เสียไปด้วย ถ้าเราเจ็บป่วยแล้วเรายอมรับความเจ็บป่วยไม่ได้ เราจะไม่ป่วยแต่กายเราจะป่วยใจด้วย อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเรายอมรับไม่ได้ความทุกข์จะเพิ่มขึ้น
คนที่เจอเข็มฉีดยาแล้วยอมไม่ได้ กลัว เขาวิจัยพบว่าเข็มที่ทิ่ม ถ้ากลัวแล้วโดนเข็มทิ่ม มันจะเจ็บเป็น 3 เท่าของคนที่ไม่กลัว อันนี้เขาก็มีวิธีการวิจัยของเขา ซึ่งน่าสนใจ แปลว่าอะไร แปลว่าความกลัวทำให้ ความปวดเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 3 คนที่ไม่กลัวปวดแค่หนึ่ง คนที่กลัวปวด 3 คือความปวดเพิ่มขึ้น 2 ส่วนเมื่อมีความกลัว พูดอีกอย่างคือความกลัวทำให้ทุกข์ หรือความปวดคูณ 3 แล้วความกลัวก็เป็นอาการไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัญหา มีความทุกข์ มีความสูญเสียกิดขึ้นกับเรา อย่างแรกที่เราควรทำคือ ยอมรับมันให้ได้
มีผู้หญิงคนหนึ่งเธอพูดไว้ดีมาก เธอเป็นมะเร็ง เป็นมะเร็งเมื่ออายุ 30 ตอนนั้นชีวิตกำลังรุ่งโรจน์กำลังสนุกกับงาน และหลังจากที่ทุกข์มาระยะหนึ่ง เธอพบความจริงว่า มะเร็งไม่ได้ทำให้ชีวิตเราหายไป แต่ความทุกข์ใจต่างหากที่มันทำ แล้วทุกข์ใจเพราะว่าไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่าเธอเป็นมะเร็งชนิดที่มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุหรือคนที่สูบบุหรี่เยอะๆ เป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดหนึ่ง แต่เธอแค่ 30 แล้วยังไม่เคยแตะบุหรี่ เธอก็บ่นโวยวายตีโพยตีพายใส่หมอ โทษหมอว่าทำไมถึงเจอช้า ทีแรกหมอไม่คิดว่าเป็นก็เลยใช้เวลานาน แล้วเธอบ่นโวยวายกับหมอไม่พอ เธอก็เหวี่ยงวีนใส่คนที่บ้านรวมทั้งพ่อแม่ จนกระทั่งเธอได้หันมาลองปฏิบัติธรรมดู
แล้วการที่เธอได้ลองได้เจริญสติ ได้หันมามองใจเธอ ทำให้เธอพบว่า จริงๆตัวการที่สร้างความทุกข์ให้กับเธอโดยเฉพาะความทุกข์ใจ คือการไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับโรคมะเร็ง เธอพูดไว้ดีมากเธอบอกว่า ความจริงบางครั้งก็โหดร้าย แต่การไม่ยอมรับความจริงต่างหากที่โหดร้ายกว่า เพราะมันเหมือนคุกที่ขังใจเราเอาไว้ เมื่อเราเจอเหตุการณ์อะไรแล้วที่เรายอมรับไม่ได้ รวมทั้งการกระทำและคำพูดของใครที่เรายอมรับไม่ได้ เราจะงุ่นง่านอยู่กับเหตุการณ์หรือการกระทำและคำพูดนั้น เราไปต่อไม่ได้ และยิ่งไปจมอยู่กับ เหตุการณ์และความทุกข์นั้น ยิ่งทำให้ใจทุกข์ แต่พอยอมรับได้มันโล่งไปเยอะ มันเหลือแต่ความป่วยกาย แต่ความทุกข์ใจบรรเทาเบาบางลง
ยอมรับโดยไม่ผลักไส
มีผู้หญิงคนหนึ่งเธออายุประมาณสัก 40 เกือบ 50 ครอบครัวดีมาก สามีเป็น Family Man การงานก็มั่นคง ลูกก็เป็นเด็กที่ดี ใส่ใจการเรียนประพฤติตัวเรียบร้อย แล้วความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ดี มีโอกาสไปเที่ยวทั้งครอบครัวอยู่บ่อยๆ รวมทั้งไปต่างประเทศด้วย ชีวิตเธอก็น่าจะมีความสุขดี
แต่แล้ววันหนึ่งเธอเกิดรู้สึกเบื่อหน่าย เบื่อหน่ายกับชีวิต รู้สึกว่ามันไม่มีชีวิตชีวาเหมือนเมื่อก่อน มันแห้งแล้ง เธอก็ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะอะไร ความมีชีวิตเราหายไปไหนหมด เธอเริ่มซังกะตาย เธอคิดว่าเป็น เพราะฮอร์โมนในร่างกายเราเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ปรากฏว่าไม่ใช่ แล้วอาการไม่ได้จบแค่นั้นต่อมาเธอเริ่มนอนไม่หลับ เริ่มสับกระส่าย แล้วเริ่มเกิดอาการแพนิค ตื่นตระหนกตกใจ จนเธอต้องไปหาหมอ หมอบอกว่าอาการเธอนี่สงสัยต้องหาจิตแพทย์ เพราะว่าเธอก็พยายามทำหลายอย่างให้มีชีวิตชีวามากขึ้น ไปเที่ยว ไปพักผ่อน ไปทำอะไรที่คนเขานิยมทำกัน แต่มันไม่ทำให้ความซังกะตายหายไปเลย
แล้วเธอก็ไปหาจิตแพทย์คนหนึ่ง จิตแพทย์คนนี้เป็นคนที่ไม่ได้รู้แค่ศาสตร์ตะวันตกอย่างเดียว แต่ว่าสนใจการเจริญสติกรรมฐานแบบพุทธด้วย หมอฟังเรื่องราวของเธอแล้วหมอบอกว่า อยากให้คุณทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ให้พูดดังๆเลย 3 ครั้งว่า ฉันอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกซังกะตายได้แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นไปตลอดชีวิตก็ตาม เธอไม่ยอมพูด พูดไม่ออก
หมอก็คาดคั้นให้ลองดู เธอใช้ความพยายามมากในการที่จะพูดประโยคนี้ ฉันอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกซังกะตายได้แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นไปตลอดชีวิต พอเธอพูดจบ 3 ครั้ง หมอถามว่า รู้สึกยังไง เธอบอกรู้สึกแน่นหน้าอก รู้สึกเกร็งที่ท้อง แล้วก็ปวดท้อง หมอถามว่าอาการนี้มันแย่ไหม เธอทนไหวไหม เธอบอกว่ามันไม่ได้แย่อะไรมาก มันเป็นแค่ชั่วคราว
หมอแนะนำให้เธอลองกลับมาดูความรู้สึกความซังกะตายนี้ เธอก็เฝ้าดู หมอบอกว่า ดูเฉยๆนะ ไม่ต้องตัดสิน ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องทำอะไรกับมัน แค่ดูความรู้สึก แล้วก็ถามว่า คิดว่าความรู้สึกนี้เป็นปัญหามากน้อยแค่ไหน เธอบอกว่ามันก็ไม่เชิงเป็นปัญหา เพียงแค่รำคาญใจ หมอแนะนำว่าให้เธอกลับไป แล้วก็ไปดูความรู้สึก ดูมันเฉยๆ ไม่ต้องตัดสินมัน ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ต้องไปกดข่มผลักไสมัน แล้วหลังจากนั้นผ่านไปพักใหญ่หลายวัน เธอกลับมาหาหมอแล้วก็คุยกับหมอ 2-3 ครั้ง
แล้วครั้งสุดท้ายเธอก็มาเล่าให้หมอฟังว่า ตอนนี้มีความรู้สึกสองอย่างปะปนกัน ความรู้สึกแรก เกิดความรู้สึกที่ผิดหวังเล็กน้อยที่อาการนี้ยังไม่หายไป แต่อีกความรู้สึกหนึ่ง คือรู้สึกโล่ง ยอมรับความรู้สึกนี้ได้ แล้วเธอพบว่า พอยอมรับความรู้สึกนี้ได้ ความผิดหวังก็ค่อยๆเลื่อนหายไป แล้วเธอก็กลับมารู้สึกสดชื่นมีชีวิตชีวาแทบจะเหมือนเดิม
ความซังจะตายยังไม่ได้หายไป แต่รู้สึกดีขึ้น เพราะอะไร เพราะเธอยอมรับมันได้ เพราะเธออนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ ที่เธอมีอาการกระสับกระส่าย แพนิค เป็นเพราะไม่ใช่ความรู้สึกซังกะตาย แต่เป็นเพราะเธอ ตื่นตกใจ เธอยอมรับมันไม่ได้ เธอคิดปรุงแต่งว่าอาการมันจะลามมากไปกว่านี้หรือเปล่า พอคิดแบบนี้เข้าก็นอนไม่หลับ ตื่นตระหนก แต่ทันทีที่ยอมรับมันได้ มันโล่ง มันเบา
กรณีนี้น่าสนใจ บางครั้งอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล ที่จริงมีสาเหตุนะแต่เราไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร แม้กระทั่งคนที่มีครอบครัวก็ดี มีสามีก็ดี ลูกก็ดี การงานก็มั่นคง ไม่มีปัญหาเรื่องเงินทอง ไม่เจ็บไม่ป่วยอะไร แต่ยังมีความรู้สึกซังกะตาย เบื่อ เซ็ง ไม่มีชีวิตชีวา แต่ทันทีที่ยอมรับมันได้ ความทุกข์ที่เคยทำให้เธอนอนไม่หลับกระสับกระส่าย มันหายไปเลย
ฉะนั้นอาตมาคิดว่า การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นสิ่งที่เราเรียกว่าทุกข์ เป็นวิธีการสำคัญมาก อย่างน้อยมันไม่เพิ่มทุกข์ให้กับเรา มันทำให้ทุกข์ก้อนใหญ่ๆก้อนหนึ่งที่กดทับจิตใจเราหายไป ประการต่อมาคือ ก่อนที่เราจะยิ้มรับความทุกข์ได้ อีกสิ่งหนึ่งคือการที่เราไม่ทำให้ใจจมอยู่กับความทุกข์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะว่าชีวิตเรามีอะไรดีๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอยู่ไม่น้อย
ตระหนักถึงสิ่งดีในชีวิต
มีผู้หญิงไต้หวันคนหนึ่งชื่อหวางเหม่ยเหลียน ( Huang Meilian) เธอพิการตั้งแต่กำเนิดแล้ว เพราะว่ามีปัญหาที่สมอง เธอพูดไม่ได้ แล้วเธอไม่สามารถเดินได้ต้องนั่งรถเข็น แต่ว่าเธอเป็นคนที่มีความเพียร พยายามมาก เธอใช้ชีวิตเหมือนกับคนปกติธรรมดาเลยก็ว่าได้ แล้วเธอก็สามารถที่จะเรียนจนจบปริญญาเอกของ UCLA มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ทั้งที่สมองพิการ อวัยวะไม่ครบ 32 อาตมานี่ครบนะแต่ไม่มีปัญญาเรียนจบ UCLA แน่นอน
มีวันหนึ่งเธอได้รับเชิญให้ไปบรรยายให้กับนักเรียนมัธยม เป็นการบรรยายให้กำลังใจ เธอบรรยายด้วยการเขียนใส่กระดาน เธอพูดไม่ได้ พอเธอบรรยายเสร็จก็มีนักเรียนคนหนึ่งยกมือถามว่า คุณเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่กำเนิด เคยรู้สึกน้อยใจในโชคชะตาหรือไม่ คุณมองตัวเองอย่างไร ห้องประชุมนี้เงียบเลย เพราะเป็นคำถามที่ตรงเกิน
แต่ว่า หวางเหม่ยเหลียน เธอยิ้ม เธอตอบว่า ฉันมองตัวเองอย่างไร ข้อหนึ่ง ฉันเป็นคนน่ารัก สอง เรียวขวาฉันก็สวยงาม สาม พ่อแม่รักฉัน สี่ พระเจ้าก็รักฉัน เธอเป็นคริสต์ ห้า ฉันมีแมวที่น่ารัก หก ฉันวาดรูปแล้วเรียนหนังสือได้ เธอวาดรูปสวย แต่ที่ทำให้คนอึ้งคือข้อสุดท้าย ซึ่งเป็นเคล็ดลับหรือบทสรุป ที่ทำให้เธอสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขแม้ว่าจะพิการ
เธอเขียนว่า ฉันเห็นแต่สิ่งที่ฉันมี ฉันไม่มองหรือฉันไม่เห็นสิ่งที่ฉันไม่มี เธอไม่มีอะไร เธอไม่มีความสามารถที่จะพูดเหมือนคนอื่นได้ เธอไม่มีความสามารถที่จะเดินเหมือนคนอื่นทั่วไปได้ แต่แทนที่เธอจะทุกข์ เธอก็เลือกที่จะมองแต่สิ่งที่เธอมี แล้วเธอก็มีสิ่งหลายสิ่งหลายอย่างที่ควรแก่ความภาคภูมิใจ ซึ่งเธอได้ยกตัวอย่างมาแล้ว ที่จริงมีมากกว่านั้นมีมากกว่า 6 ข้อที่ว่า
ถ้าเธอมาสนใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เธอไม่มี เธอจะเป็นคนที่น้อยเนื้อต่ำใจกับโชคชะตามาก แต่เธอไม่เป็นเช่นนั้น มีมากเท่าไหร่ก็ตามแม้จะมีค่า 98 แต่ก็เห็นแต่อีก 2 ที่หายไป ถ้าคุณมี 98 แล้วคุณเห็นแต่ 2 ที่หายไป คุณทุกข์เลย ในขณะที่คนมี 90 แม้จะไม่มี 10 แต่เขาเห็นแต่ 90 ที่มีอยู่ ชีวิตเขากลับมีความสุขได้
มีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อกนกวรรณ เกิดมาเธอไม่พิการก็เหมือนกับพิการ เธอเป็นโรคธาลัสซีเมียอย่างแรง ธาลัสซีเมียเป็นโรคเลือด เธอมีร่างกายที่แคระแกรน ตาโปน กระดูกเปราะ ผอมแกรน หมอบอกว่าเธออยู่ได้ไม่ถึง 20 เธอก็อยู่ได้จนกระทั่งเกือบ 40 ตอนที่เธอมาพูดเรื่องนี้เธออายุ 30 กว่า ทั้งที่เธอไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ เธอกลับเป็นคนที่มีความสุข เธอบอกว่าแม้เลือดฉันจะแย่ แต่ฉันก็ยังมีตามองเห็นสิ่งสวยๆได้ มีจมูกดมกลิ่นหอม มีหูฟังเสียงไพเราะ กินอะไรก็อร่อย เดินไปไหนก็ได้ แค่นี้ฉันก็มีความสุข เธอมีทัศนคติหรือมุมมองเหมือนกับ Huang Meilian
เธอไม่มองสิ่งที่แย่ แต่ใส่ใจกับสิ่งที่ดีที่มีอยู่ สิ่งที่แย่คืออะไร คือเลือดที่ไม่ดี สิ่งที่ดีคืออะไร คือตาที่ยังมองเห็น หูที่ยังได้ยิน ลิ้นที่ยังรับรสได้ จมูกที่ยังดมกลิ่นได้ แล้วก็แขนขาที่ยังเป็นปกติ เธอเลือกจะมอง สิ่งที่ดีที่มีอยู่ แต่ไม่มองสิ่งที่มันเสียไป แล้วเหล่านี้คือเคล็ดลับของคนจำนวนไม่น้อย ที่แม้จะเจอกับสิ่งที่ไม่ดีหรือพลัดพรากจากสิ่งดีๆ แต่ก็ยังมีความสุข
เหมือนกับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอถูกโกงไป 60 ล้าน เธอก็เสียใจสัก 2-3 วัน แล้วหลังจากนั้นเธอก็ยิ้มได้ ใช้ชีวิตตามปกติ เพื่อถามเธอว่า เธอยิ้มได้ยังไงสามีเธอยังเศร้าอยู่เลย เธอบอกว่าฉันได้คิดว่า ทุกวันนี้ฉัน ก็ยังมีชีวิตที่สุขสบาย มีบ้านหลังใหญ่ อยากจะกินอะไรก็ได้กิน ชีวิตก็มีความสุขเหมือนเดิม แล้วจะทุกข์ไปทำไม
ถ้าเธอมัวสนใจแต่ 60 ล้านที่เสียไป อย่าว่าแต่ 60 ล้านเลย แม้แต่กระทั่งหนึ่งหมื่นหรือหนึ่งแสนที่เสียไปคงจะนอนไม่หลับ เธอจะไม่สนใจ 60 ล้าน เธอหันมาใส่ใจกับชีวิตที่ยังเป็นปกติ หรือความสุขสบายที่ยังมีอยู่ อันนี้จะเรียกว่าเป็นการมองบวกก็ได้ มองบวกไม่ใช่มองว่าอนาคตสดใสโชติช่วงชัชวาล แต่มองว่าปัจจุบันตอนนี้มีอะไรดีอยู่บ้าง หรือว่าตอนนี้เรามีอะไรดีอยู่บ้าง เมื่อมองเห็นแต่สิ่งที่มี ไม่มองสิ่งที่ไม่มี ก็สุขได้ไม่ยาก เราจะเรียกว่ารู้จักชื่นชมสิ่งดีๆที่มีอยู่ ซึ่งเป็นการมองหรืออยู่กับปัจจุบันอีกแบบหนึ่งก็ได้
อยู่ปัจจุบันให้เป็นคือ รู้จักชื่นชมสิ่งดีๆที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่ไปจดจ่อกับสิ่งที่เสียไปหรือสิ่งที่ไม่ดีที่เราเรียกว่าความทุกข์ ถ้าเราหัดมองแบบนี้บ้าง เราจะเป็นคนที่มีความสุขได้ง่าย มีความทุกข์ได้ยาก ความทุกข์ยังมีอยู่ เงินก็ยังไม่ได้คืน ร่างกายก็ยังป่วยอยู่ แต่ว่าใจไม่ได้ทุกข์ไปด้วย ซึ่งมันก็ทำให้เรายอมรับความทุกข์ หรือเหตุการณ์ร้ายๆ ที่ผ่านเข้ามาได้ เราต้องมองแบบนี้บ้าง
แต่ธรรมชาติของคนเรา เรามักจะชอบมองลบ ไปจดจ่อกับสิ่งที่เสียไป บางทีเงินหายไป 100 บาทเราหัวเสียเรากลุ้มใจ ทั้งๆที่มีเงินในกระเป๋าเป็นพันเป็นหมื่น บางทีไปต่างประเทศ แล้วก็ไปแลกเงินกลางถนนอย่างเช่นในอินเดีย ปรากฏว่าถูกโกงไปไม่กี่ร้อยบาท หัวเสียเลย ทั้งที่เรามีเงินในกระเป๋าเป็นหมื่น ถ้าเรามองแบบนี้เราจะทุกข์ง่าย
อาตมาประทับใจ CEO ของสุกี้ชื่อดังที่มีสาขาทั้งประเทศ เมื่อปี 53 เกิดจราจล มีคนตายเยอะ มีการเผาศูนย์การค้า 4 แห่ง ราชประสงค์ ประตูน้ำ สยาม เป็นต้น สาขาของสุกี้นี้โดนเผาไป 4 สาขา เสียหายไป หลายล้าน แล้วก็ต้องปิดกิจการเพื่อซ่อม รายได้หดหายไปเยอะเลย ผู้จัดการมารายงาน CEO แกเศร้าสร้อยมากเลยผู้จัดการ
CEO กลับพูดเหมือนกับให้กำลังใจหรือเปิดมุมมอง CEO พูดว่าอย่างไร แกพูดว่าร้านเราถูกเผาเป็น 4 สาขา แต่เรามีตั้ง 360 นะ แปลว่าอะไร ยังเหลือตั้ง 356 เสียไป 4 ซ่อนไป 4 แต่ว่าเหลือตั้ง 356 แล้วจะทุกข์ไปทำไม นี่เป็นการรู้จักมองสิ่งที่มีหรือมองสิ่งที่ยังอยู่ ไม่ได้มองแต่สิ่งที่เสียไป
หาประโยชน์จากทุกข์
ถ้าคุณรู้จักมองอย่างนี้บ้าง ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจะไม่กระเทือนไปถึงใจ แล้วอย่างนี้เราสามารถจะทำได้มากกว่านั้น สิ่งที่พูดมาทั้งหมดช่วยทำให้ใจเราไม่ทุกข์ คนเราเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นอย่างน้อยสิ่งที่เราทำได้คือ พยายามรักษาใจไม่ให้ทุกข์ ถ้าเรารักตัวเอง แต่เรายังทำได้มากกว่านั้น คือหาประโยชน์จากมัน
พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพระนันทิยา สอนพระนันทิยะ แต่ก่อนพระนันทิยะมาเล่าให้พระองคุลิมาลฟัง พระองคุลิมาลก็เพิ่งบวช ถามพระนันทิยะ พระพุทธเจ้าสอนอะไรท่าน พระนันทิยะพูดว่า ท่านพระผู้มีพระ ภาคเจ้าสอนว่า “ผู้ที่รู้จักหาประโยชน์จากอนิฏฐารมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าสรรเสริญว่าเป็นบัณฑิต”
อนิฏฐารมณ์คืออะไร คือรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส หรือเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจ หรือบางทีก็เรียกว่าโลกธรรมฝ่ายลบ โลกธรรมฝ่ายบวกบวกคือได้ลาภ ฝ่ายลบคือเสื่อมลาภ ได้ยศก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ เสื่อมลาภเสื่อมยศนินทาทุกข์ ที่จริงก็รวมไปถึงความเจ็บความป่วยด้วย พวกนี้รวมเรียกว่าอนิฏฐารมณ์ ผู้ที่รู้จักหาประโยชน์กับอนิฏฐารมณ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าสรรเสริญผู้นั้นว่าเป็นบัณฑิต
ความทุกข์หรือเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับเราก็มีประโยชน์ เราต้องรู้จักมอง หลายคนที่เป็นมะเร็งเขาบอกว่า ขอบคุณที่เป็นมะเร็ง เพราะมะเร็งทำให้เขาได้พบกับชีวิตใหม่ เพราะถ้าไม่เป็นมะเร็งก็ยังลัลลาสนุกสนาน หรือหมกมุ่นกับการทำงาน จนลืมไปว่าชีวิตมีอะไรมากกว่านั้นพอเป็นมะเร็งก็หันมาสนใจธรรมะ สนใจปฏิบัติธรรม แล้วก็เลยพบกับความสุขที่ไม่เคยพบมาก่อน แล้วก็เลยรู้ว่าคนเราอยู่เพื่ออะไร ถ้าไม่เป็นมะเร็งก็ไม่เจอจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของชีวิต
มีผู้หญิงคนหนึ่งเธอเป็นโรคซึมเศร้าอย่างแรง ต้องไปหาจิตแพทย์ แล้ววันดีคืนดีพบว่าเธอเป็นมะเร็ง ก็คงจะเสียศูนย์อยู่พักหนึ่ง แต่ไม่นานเธอก็กลับตัังหลักได้ แล้วเธอก็บอกว่าต้องขอบคุณมะเร็ง เพราะมะเร็งทำให้เธอได้เข้าใจตัวเอง แล้วก็รับมือกับโรคได้ดี ทำให้เธอมีความสุขมากขึ้น ถ้าเธอไม่เป็นมะเร็งเธอก็คงจะตายไปแล้ว เพราะเธอพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว 3 ครั้ง แต่พอเป็นมะเร็ง ทำให้เธอได้คิดเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนมุมมองของชีวิต ขนาดจิตแพทย์ที่รักษาเธอมายังบอกเลยว่า ทัศนคติในการมองชีวิตและมองโลกของเธอเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเธอเริ่มเป็นมะเร็ง อันนี้ เรียกว่าเธอได้ประโยชน์จากการเป็นมะเร็ง หรือรู้จักหาประโยชน์จากมัน
ความทุกข์ก็มีประโยชน์ มีผู้หญิงคนหนึ่งเธอพูดไว้ดี ความทุกข์มันดีกว่าความสุข ความทุกข์ทำให้เราอยู่กับตัวเอง แล้วก็อยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น ความสุขทำให้จิตใจเราล่องลอย แต่ความทุกข์ทำให้เราอยู่กับตัวเอง แล้วก็อยู่กับความเป็นจริงได้ดีขึ้น ซึ่งดีกว่าล่องลอยมากเลย
ผู้หญิงคนนี้เธออายุแค่ 30 แล้วเธอเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ปลายประสาท หายใจได้แค่ 10% ของคนทั่วไป เพราะว่าปอดเธอมีปัญหา อวัยวะต่างๆของเธอทำงานแทบไม่ได้เลย เพราะว่ากล้ามเนื้อมีปัญหา เธอเดินลำบาก แม้แต่จับปากกาเธอก็จับไม่ได้เลย เธอใช้โทรศัพท์ใช้ด้วยความลำบากมาก แต่เชื่อไหมเธอใช้โทรศัพท์เขียนนิยายมาแล้ว 19 เล่ม แล้วบางเล่มก็ได้รางวัล แล้ววิธีการเขียนโทรศัพท์ของเธอ เธอใช้ข้อนิ้วที่งอข้อนิ้วขวาจิ้มจอ แล้วไม่ได้จิ้มธรรมดา เธอต้องนอนกับเตียง เอาโทรศัพท์วางไว้ข้างซ้ายของศีรษะ แล้วเอาแขนพาดไปกับลำตัว เพื่อที่จะได้เอานิ้วที่งอข้อนิ้วที่หักไปจิ้มทีละตัวๆ คิดดูนะ กว่าจะได้ประโยคหนึ่งใช้เวลานานเท่าไหร่ แล้วนี่คือวิธีเขียนนิยายของเธอ 19 เล่ม ป่านนี้ 20 แล้วมั้ง แล้วเป็นนิยายที่ทำให้คนมีความเพลิดเพลิน เธอมีแรงบันดาลใจเขียนนิยายได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ อาการของเธอหนักกว่า Huang Meilian เยอะ แล้วก็อาจจะแย่กว่าผู้ป่วยมะเร็งหลายเท่า แต่เธอบอกว่า ความทุกข์มันดีกว่าความสุข ความสุขทำให้เราล่องลอย ความทุกข์ทำให้เราอยู่กับตัวเอง แล้วก็อยู่กับความเป็นจริงได้ดี เธอเห็นประโยชน์กับความทุกข์ ทำให้เธอยอมรับความทุกข์ได้ แล้วไม่ใช่ยอมรับอย่างเดียว มันทำให้เธอยิ้มรับความทุกข์ได้ ยิ้มรับเพราะว่ามันมีประโยชน์ มันมีคุณค่า
เจอทุกข์จึงเห็นธรรม
แล้วก็พูดไปอีกคำ ทุกข์มีความสำคัญ เพราะว่าต่อเมื่อเจอทุกข์จึงจะเห็นธรรม ต่อเมื่อเจอทุกข์จึงจะเห็นธรรม พระอรหันต์หลายๆท่าน ชีวิตท่านเปลี่ยนเพราะว่าท่านเจอทุกข์ที่รุนแรง อย่างนางกีสาโคตมีเสียลูก นางปฏาจาราเสียลูก 2 คน เสียสามี เสียพ่อ เสียแม่ เสียพี่ชาย ในเวลาห่างกัน 24 ชั่วโมง บางคนถูกลูกอัปเปหิ ลูกมี 14 คน ผู้หญิง 7 ผู้ชาย 7 ไม่มีใครดูแลแม่สักคนเลย ทั้งๆที่แม่เคยร่ำรวย แต่ว่าพอยกมรดกให้ลูกเท่าๆกัน เธอไม่เหลืออะไรสักแดงเลย คิดว่าจะหวังพึ่งพาลูก ปรากฏว่าพึ่งพาไม่ได้สักคน เพราะเขามองว่าทำไมต้องมาพึ่งเขาคนเดียว ในเมื่อลูกคนอื่นก็มีแล้วก็ได้เท่ากัน สุดท้ายแม่ไม่มีที่ไป ต้องไปบวชเป็นภิกษุณี แล้วก็เห็นธรรมบรรลุธรรม
หรืออย่างมารดาท่านกุมารกัสสปะ ที่ถูกมีคนเอาลูกไปเลี้ยงตั้งแต่ท่านบวชภิกษุณีใหม่ๆ แล้วก็พรากจากลูกมา 12, 14 ปี หวังจะเห็นหน้าลูก แต่พอเห็นลูกบิณฑบาต วิ่งมาแล้วหกล้ม ลูกพอรู้ว่าแม่ยังไม่ตัดใจในตัวลูก ลูกก็พูดรุนแรงเลย ท่านไปทำอะไรอยู่ ทำไมยังตัดอาลัยในลูกไม่ได้ แม่เสียใจมากเลย อุตส่าห์นึกถึงลูกมาทุกวันตลอด 12 ปี
ท่านกุมารกัสสปะท่านเป็นเณร แต่ท่านได้บรรลุธรรม แต่ท่านตั้งใจพูดเพื่อให้แม่ได้ตัดใจ หมดอาลัยในตัวลูก แล้วปรากฏว่าวันนั้นเลย ภิกษุณีผู้เป็นแม่ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ มีตัวอย่างมากมายของคนที่เห็นธรรมเพราะเจอทุกข์ เพราะฉะนั้นทุกข์จึงมีประโยชน์ แล้วนี่คือเหตุผลว่าทำไมอริยสัจข้อแรก คำว่าอริยสัจคือความจริงอันประเสริฐ ข้อแรกจึงได้แก่ทุกข์ เพราะว่าถ้ารู้จักทุกข์ ประตูสู่นิโรธก็จะเปิด เพราะถ้ารู้จักทุกข์ เห็นทุกข์ ก็ เข้าใจสมุทัย เหตุแห่งทุกข์ แล้วถ้ารู้ว่าอะไรคือเหตุแห่งทุกข์ ก็จะรู้ต่อไปว่าจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร และนั่นคือหนทางสู่นิโรธ
ทุกข์คือประตูบานแรก ที่จะพาเราไปสู่นิโรธหรือความพ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นการเจอทุกข์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถจะเขย่าให้เราเกิดปัญญา สลัดความหลงผิด จนออกจากทุกข์ได้
แต่ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มจากการที่ทำอย่างน้อยๆ ที่อาตมาว่ามา เมื่อเจอทุกข์แล้วให้ยอมรับทุกข์ ไม่ผลักไส ไม่บ่นโวยวายหรือตีโพยตีพาย แล้วพิจารณาว่าเราจะหาทางออกจากทุกข์ได้อย่างไร อย่างน้อยก็ ตระหนักว่า เพียงแค่เราไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไส ไม่โวยวายตีโพยตีพาย ความทุกข์ก็จะลดลง แล้วทำให้เราเห็นทางออกจากทุกข์ แล้วบางครั้งทางออกจากทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ไหน มันอยู่ที่ใจเรา อยู่ที่ใจเรา เรามักคิดว่าเหตุแห่งทุกข์อยู่ข้างนอก คนที่เขาต่อว่าเราด่าทอเรา คนที่เขาแย่งชิงทรัพย์สมบัติ คนที่ขโมยคนรักของเราไป คนที่ส่ง เสียงดังสร้างความรำคาญให้กับเรา แต่ที่จริงแล้วนั่นเป็นเหตุผลรอง เหตุผลหลักอยู่ที่ใจเรา ใจที่ยึดติดถือมั่น ใจที่มีความคาดหวังที่ไม่รู้จักพอ หรือปรารถนาไม่รู้จักหยุด
บ่อยครั้งความทุกข์ของคนเราไม่ต่างจากคนที่เดินไปเตะหิน แล้วก็โทษหินว่าเป็นเพราะหินทำให้เราเจ็บ แต่แท้จริงหินมันตั้งอยู่ตรงนั้นมานานแล้ว ถ้าเราไม่เดินเตะหินเราก็ไม่เจ็บ หรือคนที่โดนหนามเกี่ยว หรือโดนหนามทิ่มที่แขน แล้วก็โทษหนาม แทนที่จะมองว่าเป็นเพราะเราไม่ระมัดระวังหรือซุ่มซ่าม
คล้ายๆกับผู้ชายคนหนึ่ง ที่เดินผ่านหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง เสร็จแล้วอยู่ๆก็หยิบเอาหินก้อนนั้นขึ้นมาแบกอยู่พักหนึ่ง แล้วก็บ่นว่าหนักๆ หนักเหลือเกิน ชายคนนั้นมีความทุกข์ แต่ถามว่าเขาทุกข์เพราะอะไร เขา ทุกข์เพราะหิน หรือเขาทุกข์เพราะแบกหิน แต่ชายคนนั้นคิดว่าทุกข์เพราะหิน ถ้าเขาคิดว่าเขาทุกข์เพราะแบกหิน คำตอบมันง่ายมาก เมื่อทุกข์เพราะแบบหินก็วางหินลง เมื่อวางหินลงก็หายทุกข์ แต่ถ้าคิดว่าทุกข์เพราะหินเขาก็จะหาทางจัดการกับหินก้อนนั้น อาจจะหาทางทุบ ให้ใคร มาช่วยทุบช่วยตอกช่วยตีแตกเป็นหินก้อนเล็กๆ หรือหาคนมาช่วยแบกกับเรา หรือแบกแทนเรา ถ้าเขาไม่มาแบกกับเราหรือไม่แบกแทนเรา ก็จะไปว่าเขา
ลองพิจารณาดูดีๆ ความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสิ่งภายนอก หรือเป็นเพราะการวางใจของเรา อย่างที่หญิงผู้เป็นมะเร็งบอกว่า มะเร็งไม่ได้ทำให้ชีวิตเราหายไป ความทุกข์ใจต่างหาก ที่ทุกข์ใจเพราะยอมรับมันไม่ได้ เป็นเพราะใจของเราที่ยอมรับไม่ได้ แล้วไปปักตึงอยู่กับสิ่งนั้นจึงเป็นทุกข์ คล้ายๆกับที่หลวงปู่บุดดาท่านเคยพูดทำนองเตือนลูกศิษย์ หลวงปู่บุดดาท่านนอนพักอยู่ที่บ้านโยมหลังจากฉันเพลเสร็จ โยมอยากให้ท่านพักก่อนกลับสิงห์บุรี ขณะที่ท่านเอนก็มีลูกศิษย์ 2-3 คนมานั่งคุยเป็นเพื่อน แต่ละคนก็คุยกันแบบกระซิบกระซาบ กลัวเสียงจะไปรบกวนหลวงปู่
ห้องที่หลวงปู่นอนติดกับร้านโชว์ห่วย เจ้าของเป็นอาซิ้มคนจีน สมัย 50-60 ปีก่อนเขาสวมเกี๊ยะไม้ เวลาเดินเสียงจะดัง เสียงดังเข้ามาในห้องที่หลวงปู่จำวัดอยู่ ลูกศิษย์คนหนึ่งก็ไม่พอใจพูดขึ้นมาว่า เดิน เสียงดังจังเลยไม่เกรงใจเลย หลวงปู่ท่านได้ยินท่านก็เลยบอกว่า เขาเดินของเขาอยู่ดีๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง เสียงเกี๊ยะไม่ใช่ปัญหา ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเอาหูไปรองเกี๊ยะ แต่ชายกลุ่มนั้นคิดว่าคิดว่าที่ฉันหงุดหงิดเพราะเสียงเกี๊ยะ แต่ไม่ได้มองว่าเป็นเพราะเอาหูไปรองเกี๊ยะ สมุทัยเหตุแห่งความทุกข์อยู่ที่ใจที่ไม่ไปกำกับหู หูมันเดินไปรองเกี๊ยะ แล้วความทุกข์ใจส่วนใหญ่เป็นแบบนั้น อยู่ที่ใจของเรา ถ้าวางใจถูกอย่าว่าแต่เสียงเกี๊ยะเลย เสียงด่าก็ทำอะไรไม่ได้
ขอบคุณที่ด่า
สมัยที่หลวงปู่ขาวยังมีชีวิตอยู่ แล้วมีแม่ชีคนหนึ่งชื่อแม่ชีสา อุปัฏฐากพระเณรดีมาก แล้วก็ปฏิบัติดีด้วย วันหนึ่งหลวงปู่ขาวเรียกพระ 2 รูปมา เรียกมาทำไม เรียกให้ไปด่าแม่ชีสา พระทั้ง 2 รูปก็งง แต่ครูบา อาจารย์สั่งก็ไป ไปที่กุฏิแม่ชีสา เรียกแม่ชีออกมา พอแม่ชีสาออกมาท่านก็รุมด่า ผลัดกันด่า แม่ชีสาทีแรกก็งง แต่พอตั้งสติได้ก็พนมมือฟังอย่างสงบ พอทั้งสองท่านด่าจนไม่รู้จะด่ายังไงแล้วก็หยุด แม่ชีสาเลยพูดขึ้นมา แม่ชีไม่ได้โกรธเลยนะ แทนที่จะโกรธแทนที่จะน้อยใจว่าทำไมครูบาอาจารย์ว่าเรา ทั้งๆที่เราก็ปฏิบัติตัวดี ทำไมครูบาอาจารย์ว่าเราแบบนี้นะ คนอื่นเขารู้เราจะเอาหน้าไปซุกไว้ที่ไหน แม่ชีสาไม่มีความคิดแบบนี้ แม่ชีใช้พูดขึ้นมาว่า ท่านอาจารย์ด่าว่าดิฉันเสร็จแล้วหรือ ดิฉันซาบซึ้งใจเหลือเกิน เสียงด่าเป็นเสียงธรรมะทั้งนั้นเลย คราวหน้านิมนต์มาด่าอีกนะ กิเลสจะได้หมดเสียที คนเราเวลาทุกข์เพราะถูกด่า มักคิดว่าเป็นเพราะเสียงด่า แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นแม่ชีสาวก็น่าจะทุกข์ แต่ว่าทำไมแม่ชีสาไม่ทุกข์ เพราะจะทุกข์หรือไม่อยู่ที่ใจ เสียงด่าเป็นประโยชน์ที่มาช่วยขัดเกลากิเลส มองเห็นประโยชน์ของคำด่า หรือรู้จักหาประโยชน์จากคำด่าว่า
อันนี้ก็คล้ายๆกับ พวกเรารู้จักโจนจันไดไหม โจนจันไดตอนเป็นหนุ่มๆ เขาก็เหมือนคนหนุ่มทั้วไป อยากมีเงิน อยากมีอาชีพที่ดี ไปหางานทำในกรุงเทพฯ ได้เป็นพนักงานทำความสะอาดโรงแรมแห่งหนึ่ง โจนมีหัวหน้าเป็นแม่บ้านคนหนึ่ง โจนบอกว่าไม่เคยเจอผู้หญิงแบบนี้เลย ด่าอย่างเดียวเลย อะไรก็ด่าๆ มีอยู่วันหนึ่งแม่บ้านให้โจนไปเช็ดลูกบิดประตูห้องพัก ให้บรัสโซไป แล้วก็คุมเขาด้วย คุมอยู่ข้างๆโจน บังเอิญ MD ผ่านมาเห็นโจน ก็เลยตำหนิว่าเอามาขัดลูกบิดแบบนี้ได้ยังไง มันใช้ไม่ได้มันทำไม่ได้ แม่บ้านคนที่เป็นคนสั่งโจนนี่ซ้ำเติมโจนเลย ทำได้ยังไง ไม่ได้เรื่องเลย โจนแทนที่จะโกรธ อยู่ๆแกได้สติขึ้นมา แกยิ้มเลย แล้วก็พนมมือขอโทษครับขอบคุณครับ ขอบคุณแม่บ้าน
แล้วนับแต่นั้นมาเวลาแม่บ้านด่าโจน โจนก็จะพนมมือแล้วบอกขอบคุณครับ จนรู้กันไปทั่วทั้งโรงแรม พนักงานโรงแรมบอกว่าโจนนี่มันโง่ปล่อยให้แม่บ้านจิกหัวใช้ บางคนบอกโจนมันบ้า เขาด่าดันไปขอบคุณเขา ทีแรกโจนก็หวั่นไหว แต่ตอนหลังเขารู้สึกว่าที่เขาทำเขาก็ตั้งใจไม่ได้เสแสร้ง ขอบคุณจริงๆ ขอบคุณที่แม่บ้านมาช่วยเตือนเขา แล้วทำให้เขาหันมาจัดการความโกรธของตัวเอง
ผ่านไปหนึ่งเดือนแม่บ้านไม่เข้าใจว่า ทำไมโจนถึงไหว้แม่บ้านทั้งที่แม่บ้านด่า จึงเดินมาถามว่า ฉันสงสัยจริงๆว่าทำไมเวลาฉันด่าเธอ เธอจึงพนมมือไหว้ โจนบอกว่าขอบคุณที่แม่บ้านมาช่วยเตือนเขา ให้เขาหันมาดูตัวเอง ให้เขามาใคร่ครวญว่ามีเหตุผลสมควรโกรธไหม หรือทำอะไรผิดหรือเปล่า ในเมื่อไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่เห็นต้องเสียใจ ไม่เห็นต้องโกรธอะไรเลย ส่วนที่ถ้าแม่บ้านจะด่าว่าก็เป็นเรื่องของแม่บ้าน แม่บ้านชอบด่าก็เป็นเรื่องของแม่บ้านไป ตั้งแต่นั้นมาแม่บ้านเลิกด่าโจนเลย แพ้ใจ สิ่งสำคัญแบบนี้คือ ถูกด่าแล้วขอบคุณ ยิ้มรับ
ถ้าเรายิ้มรับคำด่าได้ ยิ้มรับความทุกข์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แล้วถ้าเรายิ้มรับความทุกข์ได้ ยิ้มรับคำด่าก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะอะไร เพราะว่าที่ยิ้มรับคำด่าเพราะเห็นประโยชน์ของมัน คำด่าช่วยขัดเกลากิเลสอย่างที่แม่ชีสาได้พูด หรือว่าคำด่าช่วยทำให้หันมามองตัว แล้วจัดการความโกรธของตัว ก็เป็นของดี
แล้วถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เห็นประโยชน์ของมัน การยิ้มรับความทุกข์ก็เกิดขึ้นได้ง่าย แล้วจะยิ้มรับอุปสรรคที่เกิดขึ้น แล้วต่อไปเมื่อเจออะไรหนักๆ ก็สามารถจะยิ้มรับได้ แม้กระทั่งความตาย เราจะเป็นมิตรกับมันได้ง่ายขึ้น แล้วถ้าเราเป็นมิตรกับความตายได้ ความตายก็เป็นมิตรกับเรา ถ้าเราไม่เป็นมิตรกับความตาย ความตายก็ไม่เป็นมิตรกับเรา เพราะเหตุนี้เราจึงควรเป็นมิตรกับความทุกข์ หรือยิ้มรับความทุกข์ เพราะถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น ความทุกข์ก็ไม่เป็นมิตรกับเรา ความทุกข์ก็ไม่เมตตาปราณีเรา อันนี้คือเหตุผลสำคัญว่า ทำไมเราจึงควรยิ้มรับความทุกข์
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล แสดงธรรมวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ณ อาคาร บี. ยู.เพลส กทม.