พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565
มีภาษิตของคนโบราณซึ่งเข้าใจง่ายและจำได้ง่ายคือ “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา” มันเป็นข้อเตือนใจที่ดีนะ เพราะว่ามิตรหรือเพื่อนจะผิดใจกัน จะทะเลาะกัน ขัดเเย้งกัน ก็เพราะวาจานี่แหละ คือคำพูด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อน ร่วมงาน หรือเพื่อนคู่ชีวิต สามีภรรยา หรือแม้กระทั่งมิตรในวัด จะทะเลาะกันหรือสร้างความทุกข์ให้แก่กัน ก็เพราะวาจานี่แหละ
แต่เวลาอยู่คนเดียว สิ่งที่ต้องระวังก็คือความคิด เพราะคนเราเวลาอยู่คนเดียว มันก็ทุกข์เพราะความคิด แล้วคนเดี๋ยวนี้ทุกข์เพราะความคิดมากทีเดียว เช่น เครียด วิตกกังวล หนักอกหนักใจ เศร้า อาลัยอาวรณ์ มันก็ล้วนแต่เกิดจากความคิด ถ้าเราไม่คิดถึง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในอดีต เราก็ไม่เศร้า ถ้าเราไม่คิดถึงการกระทำและคำพูดของใครบางคน เราก็ไม่โกรธแค้น ถ้าเราไม่คิดถึงความผิดพลาดในอดีต เราก็ไม่รู้สึกผิดติดค้างใจ ถ้าเราไม่คิดถึงปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า เราก็ไม่วิตก หรือถ้าเราไม่คิดถึงปัญหาที่ ปรุงแต่งขึ้นมา เราก็ไม่เกิดความกังวล ถ้าเราไม่นึกถึงอันตราย เช่นคนร้ายหรือผีสางในยามค่ำคืน เราก็ไม่เกิดความกลัว
เห็นได้ชัดเลยว่า ความทุกข์ใจของคนเราก็เป็นเพราะความคิดนี่แหละ แล้วความคิดเหล่านี้มันมักจะเกิดขึ้นเวลาที่เราอยู่คนเดียว เวลาเราอยู่กับเพื่อนมันก็ไม่มีโอกาสที่จะคิดเรื่องราวเหล่านั้น หรือเวลาเราดูหนังฟังเพลง ไปเที่ยวห้าง ใจมันก็ไม่ไหลลอยไปถึงเรื่องราวที่เจ็บปวดในอดีตหรือสิ่งที่เป็นปัญหาในอนาคต เว้นแต่ว่าเห็นของชอบแล้วไม่มีเงินซื้อหรือเงินไม่พอ จึงค่อยรู้สึกเครียด เป็นปัญหาเฉพาะหน้า
คนเราเดี๋ยวนี้มีความเครียด ความวิตกกังวลสูงมาก เพราะปล่อยให้ความคิดเล่นงาน โดยเฉพาะเวลาอยู่คนเดียว คนเดี๋ยวนี้เลยไม่ค่อยชอบอยากอยู่คนเดียวเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้เรามีเหตุที่ต้องอยู่คนเดียวมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่บ้านคนเดียวเพราะไปเช่าหออยู่ หรือไม่ก็แยกเรือนจากพ่อแม่ เพราะคนสมัยนี้ชอบอิสระ แล้วบางครั้งก็ต้องอยู่คนดียวเพราะสถานการณ์บีบบังคับให้จำยอม เช่น ช่วงโควิด ล็อกดาวน์ ปิดประเทศ ปิดเมือง หรือเขาให้ทำงานที่บ้าน พอไม่มีงานทำมันก็เคว้ง พอเคว้งแล้วใจก็ได้โอกาสคิดโน่นคิดนี่
คนทุกวันนี้เป็นทุกข์ จิตไม่สงบ เพราะความคิดทั้งนั้นแหละ มันไม่ใช่เพราะเสียงดังจากข้างนอก มันไม่ใช่เป็นเพราะว่าผู้คนรอบข้างพูดเสียงดังก่อปัญหา อันนั้นก็อาจจะมีส่วนอยู่นะ แต่ว่าที่ทุกข์มากๆ มันเป็นเพราะความคิด
คนทุกวันนี้ต้องการความสงบ ไม่ใช่สงบเพราะไม่มีเสียงดังนะ แต่สงบเพราะไม่มีความคิดรบกวน เพราะฉะนั้นก็พยายามหาทางที่จะควบคุมความคิด ควบคุมจิตไม่ให้คิดนั่นคิดนี่ หลายคนมาวัด มาปฏิบัติก็เพราะอยากจะควบคุมความคิดหรือจิตใจไม่ให้มัน เพ่นพ่าน ให้มันอยู่นิ่งๆ ให้มันอยู่กับที่ พูดง่ายๆ คือคุมไม่ให้จิตมันไปโน่นไปนี่
แต่มันคุมยากนะ จิตหรือใจเนี่ย เพราะมันชอบท่องเที่ยว ชอบเดินทาง แล้วหลายคนก็มีความทุกข์มากกับการบังคับจิตไม่ให้ไปนั่นไปนี่ เวลามาปฏิบัติก็พยายามบังคับจิตให้มันอยู่กับที่ ไม่ให้มันไป อาจจะด้วยการเพ่งจิตให้มาอยู่ที่เท้า อยู่ที่ลมหายใจ หรือให้มันอยู่กับคำบริกรรม เช่น พุทโธ หรือตัวเลข 1, 2, 3,..ให้ตัวเลขมันเป็นตัวร้อยรัดจิตไม่ให้เพ่นพ่าน ไม่ให้ไปที่โน่นไปที่นี่ แล้วคิดว่าถ้าทำอย่างนี้จิตมันจะสงบได้
หลายคนปรารถนาความสงบด้วยการที่ไม่มีความคิดเกิดขึ้น หรือสงบเพราะบังคับจิตให้อยู่กับที่ ทั้งสองอย่างนี่ทำได้ยากนะ เพราะธรรมชาติของจิตมันก็ชอบท่องเที่ยว แล้วที่สำคัญคือจิตมันไม่ใช่เป็นของเรา มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ของเราที่จะควบคุมบังคับ บัญชาได้ ดังนั้นแทนที่จะบังคับจิตไม่ให้คิด หรือบังคับจิตไม่ให้ไปนั่นไปนี่ มันมีวิธีหนึ่งคือ ‘เมื่อมันไป ก็พามันกลับมาไวๆ’
‘ไป’ แล้ว ‘กลับ’ เป็นของคู่กัน และนี่ก็คืออาการของจิต มันไปแล้วก็กลับ แต่ส่วนใหญ่พอพูดถึงการปฏิบัติ เรามักนึกถึงการบังคับจิตไม่ให้ไป แต่วิธีการปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งคือ การฝึกจิตให้กลับมาไวๆ
การปฏิบัติที่นี่ซึ่งหลวงพ่อเทียนเป็นผู้พาทำ และหลวงพ่อคำเขียนเป็นผู้สืบต่อ ไม่ได้เน้นให้จิตไม่ไปนั่นไปนี่ แต่เน้นที่การฝึกจิตให้กลับมาไวๆ ไม่ว่ามันจะไปไหนก็ตาม อันนั้นมันเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการปฏิบัติที่เราคุ้นเคย การปฏิบัติที่เราคุ้นเคยส่วนใหญ่ จะเน้นที่การบังคับจิตไม่ให้ไป มีคำบริกรรมเป็นตัวกำกับ มีการบังคับจิตหรือเพ่งให้จิตอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แล้วบางทีก็มีการปิดตาให้อยู่นิ่งๆ เพื่อให้ใจมันไม่ไปนั่นไปนี่
แต่การปฏิบัติของหลวงพ่อเทียนนี่อีกแบบหนึ่งเลยนะ จะไปก็ได้ ไม่ว่าอะไร แต่จะฝึกให้กลับมาไวๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการหลับตา แต่จะมีการเคลื่อนไหว และไม่มีการบังคับจิต อนุญาตให้ไปได้ แต่เราจะฝึกให้กลับมาไวๆ หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดเองเลย นะว่า “เก่งตรงที่มันกลับมา” ความเก่งของการปฏิบัติหรือความก้าวหน้าของการปฏิบัติ มันวัดตรงที่ว่ากลับมาได้เร็วไหม ท่านใช้คำว่า “เก่งตรงที่กลับมา” ไม่ใช่เก่งตรงที่ไม่ไปนะ
บางคนไปวัดกันตรงนั้นว่า จิตฟุ้งมากน้อยแค่ไหน ฟุ้งก็คือไป ถ้าฟุ้งมากแสดงว่าไม่ก้าวหน้า ถ้าฟุ้งน้อยหรือไปน้อยแล้ว เรียกว่าก้าวหน้า อันนี้เขาเรียกว่าเก่ง แต่หลวงพ่อคำเขียนท่านบอกมันไม่ใช่นะ เก่งหรือไม่เก่งอยู่ที่ว่า มันกลับมาไวหรือกลับมาเร็วไหม ท่านใช้คำว่า “เก่งตรงที่กลับมา” ไม่ใช่เก่งตรงที่ไม่ไป จะไปก็ไม่ว่า แต่ให้กลับมาไวๆ กลับมาได้เพราะอะไร เพราะสตินั่นแหละเป็นผู้พากลับมา
ฉะนั้นจะสังเกตเห็นว่าการปฏิบัติ จะไม่มีการบังคับจิตหรอกนะ ท่านสอนให้ปฏิบัติสบายๆ บางทีท่านก็ใช้คำว่า “ทำเล่นๆ” ไม่มีวิธีการบังคับจิต แต่ให้จิตเพียงแค่มารู้กาย รู้ก็รู้แบบเบาๆ ไม่ใช่ไปเพ่ง ซึ่งการรู้เบาๆ หรือการรู้แบบสบายๆ ก็หมายความว่า จิตมัน ก็จะเผลอหรือหลุดจากกาย กลับไปที่บ้าน ไปที่บ้านบ้าง ไปที่ทำงานบ้าง บางทีก็ไปถึงโน่น เกาหลี ญี่ปุ่น เพราะวางแผนว่าจะไปเที่ยว ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้กลับมาไวๆ
หลวงพ่อเทียนท่านเคยพูดว่า “อย่าไปห้ามคิด” คืออย่าไปห้ามความคิด ให้มันคิดไปเลยนะ แต่อย่าไปช่วยมันคิด คนละเรื่องนะ เพราะฉะนั้นคิดก็คิดไป แต่อย่าไปคิดกับมัน หรืออย่าไปช่วยมันคิด อย่าไปห้ามคิด แต่ท่านบอกว่า “ยิ่งคิดยิ่งรู้” ถ้าเข้าใจตรงนี้ก็จะรู้ว่า การที่ใจมันคิดก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะการที่เผลอคิดไป ก็ถือเป็นแบบฝึกหัดให้จิตกลับมารู้ได้ไว ยิ่งจิตมันคิดไปโน่นคิดไปนี่ มันก็เป็นแบบฝึกหัดให้สติได้ทำงาน สติได้ทำงานบ่อยๆ ก็จะทำงานได้เร็วขึ้น
เหมือนกับนักวิ่ง ทีแรกก็วิ่งได้ช้า คนที่ไม่เคยวิ่งเนี่ย วิ่งใหม่ๆ มันช้า แล้วก็วิ่งไม่ได้นาน แต่พอวิ่งบ่อยๆ มันจะวิ่งได้เร็วขึ้นๆ เพราะกล้ามเนื้อได้ใช้งาน การที่จิตมันเผลอหรือการที่มันไปนั่นไปนี่ มันก็เป็นแบบฝึกหักให้สติได้ทำงานในการดึงจิตกลับมา จะคิดไปกี่เรื่องกี่ราว คิดไปกี่ครั้งไม่เป็นไร ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า มันกลับมาไวไหม
แต่ใหม่ๆ ก็กลับมาช้านะ อันนั้นก็ธรรมดา เพราะว่าสติเรายังงุ่มง่าม กว่าจะควานหาใจเจอก็ไม่รู้ไปไหนแล้ว ใหม่ๆ ใจก็เตลิด กว่าสติจะตามหาใจให้เจอก็ใช้เวลานาน คิดไปแล้ว 7-8 เรื่อง 10-20 เรื่อง สติถึงหาใจเจอ หรือหมายความว่า พอคิดไปถึง 7-8 เรื่อง 10 เรื่องแล้วเนี่ย จิตมันถึงกลับมา มันกลับมาช้า แต่ว่าทำไปเรื่อยๆ มันจะกลับมาเร็ว แล้วที่มันกลับมาเร็วได้เพราะอะไร เพราะสติมันได้ฝึกจากความคิด จากการเผลอคิด ซึ่งก็คือความหลงนั่นเอง
หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดเสมอ “ยิ่งหลงก็ยิ่งรู้” ทั้งที่ความหลงกับความรู้มันเป็นสิ่งตรงข้ามกัน แต่ตัวหลงนี่แหละเป็นอุปกรณ์ เป็นวัตถุดิบที่ส่งเสริมตัวรู้ได้ เปรียบเหมือนขยะกับดอกไม้ ซึ่งมันคนละเรื่องเลยนะ ขยะนี่เหม็น น่าเกลียด ดอกไม้นี่หอม สวย แต่ ขยะมันสามารถจะส่งเสริมบำรุงให้เกิดดอกไม้ที่งามสวยได้ เอาขยะไปทำเป็นปุ๋ย ดอกไม้ก็งาม ตัวหลงนี่ก็สามารถจะเป็นเหมือนกับปุ๋ย หรือวัตถุดิบที่บำรุงตัวรู้ให้เจริญงอกงาม
สิ่งที่ดูเหมือนว่าตรงข้ามกัน ที่จริงมันก็เกื้อกูลกันนะ เหมือนกับเงาหรือร่มเงาของต้นไม้ มันเกิดขึ้นได้เพราะอะไร เพราะแสงแดด แดดยิ่งแรง เงาของร่มไม้ก็ยิ่งคล้ำ ยิ่งดำ หรือยิ่งเย็น ไม่มีแดดก็ไม่มีเงา มีเงาก็เพราะมีแดด มีขยะจึงมีดอกไม้ ในแง่นี้จึงพูดได้ว่า เป็นเพราะหลงจึงมีรู้เกิดขึ้น ฉะนั้นอย่าไปกลัวตัวหลงนะ ถ้าเราใช้มันเป็น มันจะเป็นวัตถุดิบที่ไปส่งเสริมบำรุงตัวรู้หรือความรู้ตัว หลงคิดก็ทำให้สติแข็งแรงว่องไวปราดเปรียว แล้วพอสติทำงานได้เร็ว ความรู้สึกตัวหรือตัวรู้มันก็จะเติบโตและแข็งแรง เกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง
สิ่งตรงข้ามกัน ไม่ใช่ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกันนะ ความโกรธ ความเศร้า ความเกลียด ความเครียด พวกนี้ก็เหมือนกันนะ มันเป็นความหลงชนิดหนึ่ง แต่ถ้าใช้ให้เป็นมันก็ส่งเสริมสติ ส่งเสริมปัญญา ส่งเสริมความรู้สึกตัวได้ เพราะมันสามารถเป็นวัตถุดิบ
ถ้าเราเจริญสติแล้วเราไม่เจอความโกรธเลย ไม่เจอความเครียดเลย ไม่เจอความเศร้าเลย นี่มันไม่ก้าวหน้านะ เราต้องเจอ แต่ใหม่ๆ พอเจอแล้วก็จม จมเข้าไปในอารมณ์นั้น แต่พอเราปฏิบัติบ่อยๆ มันจะออกจากอารมณ์นั้นได้เร็วขึ้น เรียกว่ามันกลับมาได้ไวขึ้น หลุดจากความโกรธ หลุดจากความเครียด หลุดจากความเศร้า
ปฏิบัติเก่งไม่ได้แปลว่าไม่โกรธ ไม่เศร้า ไม่เหงา ไม่เครียด แต่ปฏิบัติเก่งอยู่ตรงที่ว่ามันกลับมาได้ไวไหม อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดว่า “มันเก่งตรงที่กลับมา” กลับมาหรือหลุดจากความหลง หลุดจากความเศร้า แล้วที่มันหลุดมาได้ ก็เพราะมันได้ฝึกจากของจริง ก็คือ ความโกรธ ความเศร้า ความเกลียด ความเครียด ฉะนั้นอย่าไปรังเกียจมันนะ อารมณ์พวกนี้ ถึงแม้ว่ามันจะทำให้เราทุกข์ แต่นั่นเป็นเพราะว่าเราเกี่ยวข้องกับมันไม่ถูก เกี่ยวข้องกับมันไม่เป็น
ให้ลองมองอารมณ์เหล่านี้รวมทั้งความทุกข์ เหมือนกับช่างปั้นหม้อมองดินเหนียว ช่างปั้นหม้อไม่ได้มองว่าดินเหนียวคือปัญหา แต่มองว่าดินเหนียวคือวัตถุดิบ ที่ใช้ในการปั้นหม้อให้เป็นรูปเป็นร่างและขนาดที่ต้องการ ซึ่งเราก็ควรจะมองอารมณ์โกรธ เศร้า เครียด วิตกกังวล รวมทั้งความทุกข์หรือความหลงว่า มันเป็นเหมือนวัตถุดิบที่สามารถจะบำรุงเลี้ยงสติปัญญาหรือความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น
แม้ว่า ‘หลง’ กับ ‘รู้’ จะตรงข้ามกัน แต่มันก็ส่งเสริมกันได้ เหมือนแสงแดดกับร่มเงา เหมือนปุ๋ยกับดอกไม้ ที่จริงครูบาอาจารย์ท่านถึงกับบอกเลยนะว่า วังวนแห่งความทุกข์หรือที่ท่านเรียกวัฏสงสาร มันก็เกื้อกูลต่อพระนิพพานนะ
มีคำเปรียบเปรยว่า “ในเตาหลอมเหลวนั้น กลางเตาหลอมเหลวคือจุดที่เย็นที่สุด” เตาหลอมเหลวนี่ท่านก็หมายถึงวัฏสงสาร ซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ วัฏสงสารก็คือวังวนแห่งความทุกข์ แต่ในวัฏสงสารนั่นแหละที่เราจะพบพระนิพพาน ซึ่งเป็นความสงบเย็น
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงต้องมาตรัสรู้ ต้องมาเกิดในภพมนุษย์ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นพระองค์ก็อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต เพราะบนนั้นมันไม่มีทุกข์มากพอที่จะทำให้เกิดการตรัสรู้ได้ แล้วถ้าไม่ตรัสรู้เล้วจะเข้าถึงนิาพพานได้อย่างไร ต้องลงมาที่โลกมนุษย์ซึ่งเป็นดินแดน แห่งความทุกข์ เป็นวังวนแห่งความทุกข์ที่ชัดเจน ในวัฏสงสารตรงไหนที่มันมีทุกข์ ตรงนั้นแหละที่จะเอื้อให้เกิดการตรัสรู้หรือการเข้าถึงนิพพานได้
ฉะนั้นคนโบราณจึงพูดเป็นอุปมาว่า “กลางเตาหลอมเหลวคือจุดที่เย็นที่สุด” ก็คือในวัฏสงสารนั่นแหละที่จะได้พบหรือเข้าถึงพระนิพพาน แล้ววัฏสงสารในที่นี้ก็หมายถึงวังวนแห่งความทุกข์ ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งเผ็ดร้อน
พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านล้วนแต่บรรลุธรรมได้ก็เพราะเจอความทุกข์ สูญเสียลูก สูญเสียคนรัก หรือบางทีก็เจ็บป่วยอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่ก็เจอความทุกข์ซึ่งสาหัสทีเดียว บางทีแม่ก็ถูกลูกทิ้ง หรือแม่ต้องเจ็บปวดเพราะลูก แต่ความทุกข์เหล่านี้มันก็กลาย เป็นวัตถุดิบสำหรับการตรัสรู้เข้าถึงนิพพาน เพราะเมื่อพิจารณาใคร่ครวญท่านก็จะพบว่า ไอ้ที่ทุกข์เนี่ยไม่ใช่เพราะพลัดพราก ที่ทุกข์เนี่ยไม่ใช่เพราะสูญเสีย แต่ทุกข์เพราะความยึดติดถือมั่นต่างหาก อันนี้คือสิ่งที่คนไม่เข้าใจ มองไม่เห็น
อย่างที่พูดไว้เมื่อวาน คนเราถ้าหากว่ามองสมุทัยผิด ทางออกจากทุกข์มันก็ผิดไปด้วย คนเราเวลามีความทุกข์ เมื่อสูญเสียคนรัก หรือสูญเสียของรัก ก็ไปคิดว่าทุกข์เพราะสูญเสีย แต่ไม่ใช่หรอกนะ ที่ทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่นต่างหาก ความยึดมั่นถือมั่น หรืออุปาทานนี่แหละคือสมุทัย ถ้าหากไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือวางหรือคลายได้ มันก็ไม่ทุกข์แม้จะยังมีความสูญเสียเกิดขึ้น ซึ่งพอวางแล้วอะไรที่เกิดขึ้นก็ไม่เรียกว่าเป็นความสูญเสีย เพราะมันไม่มีตั้งแต่แรกแล้วมันจะเสียได้ยังไง เสียเกิดขึ้นได้เพราะมี แต่ถ้าไม่มี หรือไม่ไปยึดว่ามี มันก็ไม่มีคำว่าเสีย
ในเมื่อวัฏสงสารกับนิพพานเกื้อกูลกัน วังวนแห่งความทุกข์กับความสงบเย็น ก็เป็นสิ่งที่เกื้อกูลกัน หลงกับรู้มันก็เกื้อกูลกัน ฉะนั้นอย่าไปกลัวหลง ถ้าเราปฏิบัติถูก หลงมันก็เป็นอุปกรณ์หรือวัตถุดิบให้เกิดรู้ อย่าไปกลัวการที่ใจมันไปโน่นไปนี่ เพราะการที่มันไปก็เป็นโอกาสดี หรือเป็นแบบฝึกหัดให้มันกลับมา
หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า “เก่งที่กลับมา” มันจะกลับมาได้ มันต้องไปก่อน เพราะถ้ามันไม่ไปแล้วมันจะกลับมาได้ยังไง แล้วพอเราฝึกจิตให้กลับมาได้ไวเพราะมีสติ เวลามีอะไรมากระทบแล้วใจมันเผลอหลุดออกไป หรือเกิดอารมณ์ขึ้นมา ถ้ากลับมาเร็ว มันก็ จะสงบได้เร็ว สงบไม่ใช่เพราะไม่ไป หรือเพราะมันอยู่นิ่ง หรือสงบเพราะไม่มีความคิด แต่สงบเพราะ ‘รู้ทันได้ไว และกลับมาได้เร็ว’
ถ้าเราคิดว่า เราจะสงบเพราะไม่มีความโกรธ ไม่มีความเศร้า ไม่มีความเครียด ไม่มีความวิตกกังวลเลย มันยากนะ ปุถุชนเนี่ย มันก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แต่พอมีแล้วเรารู้ทันได้เร็ว ใจที่เผลอจมเข้าไปในอารมณ์นั้นหลุดออกมาได้เร็ว พอหลุดออกมาได้เร็ว ไอ้พวกนี้มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมันเกิดขึ้นเพราะความหลงหรือมีตัวหลง หรือความหลงนี่เป็นอาหารบำรุงเลี้ยงมัน พอจิตกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว ความหลงหายไป ไอ้ความทุกข์เหล่านั้นมันก็หายไปด้วย
แต่ต่อไปมันจะไม่ใช่แค่รู้สึกตัว มันจะรู้ความจริงว่า ‘ไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้’ พอไม่ยึดมั่นถือมั่นกับอะไรเลย มันก็ไม่มีที่ตั้งแห่งความทุกข์ มันมีแต่ทุกข์ แต่ไม่มีผู้ทุกข์ ถ้าไม่มีผู้ทุกข์แล้วใครจะทุกข์ละนะ แล้วที่ไม่มีผู้ทุกข์เพราะมันเห็น มันรู้ความจริงว่า ไม่มีอะไรที่ยึดว่าเป็นเรา-เป็นของเราได้
ทั้งหมดนี้ก็เริ่มจากการที่มารู้ตัว แล้วรู้ตัวได้เพราะกลับมาได้ไว รู้ทันได้เร็ว แล้วที่รู้ทันได้เร็วกลับมาได้ไว เพราะยอมให้มันไป แล้วก็ได้อาศัยการที่ใจมันไปนี่แหละ เพื่อฝึกให้กลับมาได้ไวๆ
ลองทำความเข้าใจให้ดีนะ ที่หลวงพ่อคำเขียนพูดว่า มันเก่งตรงที่กลับมา ไม่ใช่เก่งตรงที่ไม่ไป ไม่ใช่เก่งตรงที่นิ่งหรือไร้ความคิด