คุณลุงคนหนึ่งแกเล่าว่าวันหนึ่งเดินกลับบ้านยามค่ำคืน กลางทางก็ไปเจอชายหนุ่มคนหนึ่ง กำลังมองหาอะไรสักอย่างบนพื้น เดินวนไปรอบๆ บริเวณที่มีแสงไฟจากโคมไฟข้างถนน คุณลุงแกก็เลยถามชายหนุ่มว่า “ทำอะไร” ชายหนุ่มก็บอกว่า “กำลังหา กุญแจ ทำกุญแจตก”
ลุงแกก็เลยช่วยชายหนุ่มหา แต่ว่าหาเท่าไหร่ๆ ก็ไม่เจอ ก็เลยถามชายหนุ่มว่า “จำได้ไหมว่าทำกุญแจตกตรงไหน” ชายหนุ่มบอกว่า “ทำตกตรงสนามหญ้า” ชี้ไปที่สนามหญ้าไม่ไกล ลุงแกก็ถามว่า “อ้าว ทำกุญแจตกตรงนั้น ทำไมไม่ไปหาตรงนั้นล่ะ ทำไม ไม่ไปหาที่สนามหญ้า” ชายหนุ่มก็บอกว่า “หาตรงนี้ดีแล้ว เพราะว่ามันสว่างดี”
มันสว่างดีก็จริงนะ แต่มันจะหาเจอได้อย่างไร ในเมื่อกุญแจตกอีกที่หนึ่ง แต่บังเอิญสนามหญ้านี่มันมืด หาลำบาก ตรงข้างถนนนี่มันสว่าง หาง่ายกว่า มันสว่างก็จริง แต่หาอย่างไรก็ไม่เจอหรอก เพราะว่ากุญแจไม่ได้ตกตรงนั้น กุญแจตกตรงไหนก็ต้องไปหา ตรงนั้นสิ ถึงแม้ว่ามันจะมืด หายาก เพราะหาตรงนั้นถึงจะเจอ
อันนี้ก็เป็นเรื่องเล่าที่เป็นอุปมาอุปไมยได้ดีเลย หลายคนเวลามีปัญหา อย่างเช่น มีปัญหาขัดแย้งกันในครอบครัวในบ้าน แต่ก็แก้ปัญหาด้วยการมาวัด ปัญหาอยู่ที่ไหน ปัญหาอยู่ที่บ้าน ก็ต้องไปแก้กันที่บ้าน ไม่ใช่มาวัด ถ้าจะมาก็เพื่อพักผ่อนให้คลายเครียด หรือเพื่อจะได้มารู้จักวิธีการวางจิตวางใจ เพื่อได้กลับไปบ้านแล้วก็วางจิตวางใจให้ถูกต้อง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น อาจจะเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น ก็ควบคุมวาจาให้มากขึ้น หรือว่ารำคาญหูรำคาญตาคนในบ้าน ก็มีความยับยั้งชั่งใจสักหน่อย มีความอดทน มีขันติ ซึ่งก็เป็นเรื่องของการฝึกจิต หรือถ้าเกิดรู้สึกว่าเรามันชอบว่า ชอบ โวยวาย อดกลั้นไม่ค่อยได้ ก็มาวัดมาฝึกสติ อย่างนี้ก็ใช้ได้อยู่ แต่หลายคนไม่ใช่อย่างนั้น ปัญหาอยู่ที่บ้านแต่ว่ามาวัด เพราะคิดว่ามาวัดแล้วปัญหาจะหมดไป ปัญหาอยู่ที่บ้านก็ต้องแก้ที่บ้าน อาจจะมาวัดก็เพื่อมาตั้งหลักหรือมาฝึกสติ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต่างจากชายหนุ่มที่หากุญแจริมถนน เพียงเพราะว่ามันสว่าง ทั้งๆ ที่ กุญแจตกอยู่ที่สนามหญ้า แต่หายากเพราะมันมืด
ปัญหากับวิธีแก้ปัญหา มันต้องสอดคล้องกัน ถ้าเราเลือกวิธีการที่มันสบาย สะดวก แต่ถ้ามันไม่สอดคล้องกับปัญหา ก็แก้ไม่ได้
อันนี้ก็เหมือนกับคนที่เขามีปัญหาร้านอาหารไม่ค่อยมีลูกค้า ไม่มีลูกค้าทำอย่างไร ก็ไปให้หลวงพ่อพรมน้ำมนต์ แล้วคนก็ใช้วิธีนี้ ไปให้หลวงพ่อพรมน้ำมนต์ ทั้งที่การไม่มีลูกค้าเข้าร้านเป็นเพราะว่าอาหารไม่อร่อย หรือว่าพูดจาไม่มีน้ำ ถ้าหากว่าทำอาหารให้อร่อย แล้วก็ใส่ใจลูกค้า ลูกค้าก็จะเข้าร้านเอง แต่หลายคนพบว่าทำแบบนี้มันยาก สู้ไปให้หลวงพ่อพรมน้ำมนต์ไม่ได้ มันง่าย ทางออกมันง่าย แต่ว่ามันไม่ใช่ไปทางแก้
หลายคนมักจะนึกถึงวิธีหรือทางออกที่มันสะดวก แต่มันไม่ได้แก้ปัญหาเลย ก็เหมือนกับชายหนุ่มที่มาหากุญแจริมถนน เพราะว่ามันสว่าง สะดวก แต่ว่าหาอย่างไรก็ไม่เจอ จนกว่าจะไปหาที่สนามหญ้า เจ้าของร้านแม้จะให้พระพรมน้ำมนต์อย่างไร แต่ตราบใดที่ไม่ปรับปรุงอาหาร ไม่ปรับปรุงบริการ ก็ไม่มีลูกค้า แต่คนก็ไม่ค่อยอยากทำแบบนี้ เพราะมันยาก สู้ไปให้หลวงพ่อพรมน้ำมนต์ไม่ได้ มันง่าย มันง่ายแล้วมันแก้ปัญหาหรือเปล่า
เดี๋ยวนี้คนก็เป็นอย่างนี้เยอะอย่างที่พูดเมื่อวาน นักศึกษาในอเมริกา 90% เลย รู้สึกว่าอาจารย์สอนยาก แล้วทำให้เกรดมันได้น้อย ได้คะแนนน้อย ทำอย่างไรจะให้เกรดมันดีขึ้น ทำอย่างไรจะคะแนนได้สูงขึ้น ก็ควรจะขยัน ใส่ใจในการเรียน ค้นคว้าให้มากขึ้น แต่ว่านักศึกษาจำนวนมากพบว่าแบบนี้มันยาก สู้ไปใช้วิธีอื่นที่ง่ายกว่าดีกว่า คืออะไร คือไปเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยหว่านล้อมกดดันให้อาจารย์ปล่อยเกรดง่ายๆ หน่อย ให้เกรดง่ายๆ หน่อย หรือว่าถ้าอาจารย์ไม่ยอม ก็ไล่ออกไปเลย
ถามว่านี่เป็นวิธีการแก้ปัญหาหรือเปล่า มันไม่ใช่เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ตัวเองทำเกรดไม่ดีก็ต้องขยันสิ แต่ไปเรียกร้องให้อาจารย์ให้เกรดง่ายขึ้น หรือว่าสอนให้ง่ายขึ้น นี่เป็นวิธีแก้ของนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็คงจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมัน สะท้อนทัศนคติของผู้คนจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาอย่างเดียว แล้วก็ไม่ใช้เฉพาะในอเมริกาอย่างเดียว แต่มันเป็นกันทั่วไปเลย ผู้ใหญ่ก็เป็น
ก็คือว่าปัญหานี่มันต้องไปแก้ที่คนอื่น ต้องไปจัดการกับคนอื่น เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันง่ายกว่า ทำชื่อร้องเรียนไปถึงฝ่ายบริหารว่าอาจารย์คนนี้สอนยาก ให้เกรดยาก จะต้องบังคับกดดันหว่านล้อมให้อาจารย์สอนง่ายกว่านี้ ให้เกรดง่ายกว่านี้ หรือไม่อย่างนั้นก็ไล่ออกไปเลย วิธีที่มันง่าย แต่การที่จะปรับปรุงตัวเอง ขยันเรียนให้มากขึ้น ค้นคว้าให้หนักขึ้น มันยาก เหมือนกับไปหากุญแจในสนามหญ้าที่มันมืด สู้หาวิธีที่มันง่ายๆ สะดวกดีกว่า แต่มันแก้ปัญหาจริงหรือเปล่า คนก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งก็เพราะไปคิดว่าสาเหตุมันอยู่ที่ข้างนอก ก็เลยไปจัดการกับสิ่งที่อยู่นอกตัว สาเหตุของปัญหาอยู่ที่อาจารย์ ไม่ใช่อยู่ที่ว่าตัวเองเกรียจคร้าน ไม่ใส่ใจเรียน ไม่ขยันเรียน
มันง่ายที่คนเราจะมองออกไปนอกตัวว่าเป็นปัญหา และก็ใช้วิธีไปเปลี่ยนแปลงจัดการกับสิ่งอื่นนอกตัว มากกว่าที่จะจัดการหรือเปลี่ยนแปลงที่ตัวเอง
ที่จริงมันไม่ใช่เฉพาะเรื่องร้านอาหารไม่มีคนเข้า ไม่มีลูกค้า หรือว่าเรียนแล้วได้คะแนนไม่ดี ได้เกรดต่ำกว่าที่ตั้งใจ ซึ่งเป็นเรื่องทางโลก เป็นเรื่องที่จับต้องได้ ปัญหาหลายอย่างที่เป็นปัญหาชีวิต คนก็หาทางออกผิดพลาด เพราะว่า
1. ชอบวิธีการที่สบาย และ
2. เป็นเพราะว่ามองหาสาเหตุผิดพลาด คือไปมองว่าสาเหตุมันอยู่นอกตัว ทั้งที่ถ้าพิจารณาใคร่ครวญ สาเหตุมันก็อยู่ที่ตัวเองนั่นแหละ
อันนี้ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับอริยสัจ 4 เลยทีเดียวนะ อริยสัจ 4 นี่ท่านว่าเมื่อรู้ทุกข์แล้วต้องหาสมุทัยให้เจอ แล้วจึงจะเห็นมรรค และใช้มรรคในการแก้ปัญหาจนเกิดนิโรธ อริยสัจ 4 เป็นหลักธรรมที่สำคัญของชาวพุทธ ซึ่งเรารู้จักกันดี แต่ว่าเราไม่ค่อยใส่ใจจริงจัง โดยเฉพาะเวลามีทุกข์แล้ว เราไม่ค่อยใคร่ครวญเท่าไหร่ว่าอะไรคือเหตุแห่งทุกข์ พอมีปัญหาเราก็มักจะมองไปที่นอกตัว เมื่อเรามองสมุทัยผิด การที่จะแก้ปัญหาด้วยมรรคก็ผิดไปด้วย คงคล้ายๆ กับถ้าติดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดที่ 2 เม็ดที่ 3 ก็ผิดตามไปด้วย
ฉะนั้นการเข้าใจเหตุแห่งทุกข์ หรือสาเหตุแห่งปัญหา เป็นสิ่งสำคัญเลย ในการที่เราจะแก้ทุกข์ หรือว่าแก้ปัญหาให้หมดไป เกิดภาวะที่เรียกว่านิโรธ และเป็นเพราะว่าเราไม่ค่อยได้ใคร่ครวญไตร่ตรองมองตัวเท่าไหร่ บ่อยครั้งปัญหาที่มันมีสาเหตุมาจากตัวเรา หรือจากใจของเรา มันก็เลยถูกมองข้ามไป
เดี๋ยวนี้ตามป่าที่ใกล้ชุมชนหลายแห่ง มักจะมีฝูงลิง ที่วัดป่ามหาวันก็มีฝูงลิง เดี๋ยวนี้หลายแห่งหลายที่ก็มีฝูงลิง แล้วบางทีคนก็รำคาญลิงที่มาก่อกวน ก็อยากจะแกล้งลิง วิธีแกล้งก็ไม่ยากหรอก โยนข้าวเหนียวเข้าไปให้มัน แล้วข้าวเหนียวยัดไส้ด้วยกะปิ ลิงมันไม่รู้ มันคว้าข้าวเหนียวเสร็จมันก็เคี้ยวเลย พอเจอกะปิมันก็ตกใจ แต่ตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว เพราะว่ามือมันก็มีกะปิเปื้อน
เวลามันมีกะปิเปื้อนมือหรือติดนิ้วนี่ มันทำอย่างไร มันก็หาทางพยายามกำจัดกะปิ กำจัดอย่างไร มันก็เอามือหรือเอานิ้วที่มีกะปิติด ที่เปื้อนกะปิ ถูกับต้นไม้เปลือกไม้ ถูกับหิน ถูเสร็จก็มาดม ถ้ายังมีกลิ่นกะปิอยู่ก็ถูๆ จนกระทั่งบางทีถลอกเลยนะ เลือดไหลเลย มีเลือดไหลซิบๆ เลย และถ้ากลิ่นกะปิยังไม่หาย มันก็จะถูไปเรื่อยๆ จนเป็นแผลเลยนะ ที่มือหรือที่นิ้วนี่ น่าสงสาร สำหรับลิงบางตัวที่มันถูจนเลือดไหลเป็นแผลที่มือที่นิ้ว
คำถามคือว่าที่ลิงมีแผลเลือดไหลเป็นเพราะอะไร หลายคนจะบอกว่าเป็นเพราะกะปิ ที่จริงไม่ใช่นะ เป็นเพราะความเกลียดกะปิต่างหาก กะปิมันไม่ได้ทำให้ลิงเลือดไหล แต่ความเกลียดกะปิ มันทำให้ลิงทนไม่ได้ จะต้องถู เอามือเอานิ้วถูกับหินถูกับเปลือกไม้ ถ้ามองว่ากะปิคือปัญหา อันนั้นเรียกว่ามองสมุทัยผิดแล้ว สมุทัย เหตุแห่งการเกิดแผลตามนิ้วมือของลิง มันคือความเกลียดกะปิ และความเกลียดกะปิอยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจ
บางครั้งความทุกข์ของผู้คน โดยเฉพาะความทุกข์ใจ คนมักคิดว่าเป็นเพราะสิ่งภายนอก เป็นเพราะเสียงดัง เป็นเพราะการกระทำและคำพูดของคนนั้นคนนี้ เป็นเพราะดินฟ้าอากาศ พอคิดแบบนี้เข้าก็เลยไปจัดการกับสิ่งนอกตัว แต่ทำอย่างไรมันก็ไม่แก้ปัญหา เพราะว่าตราบใดที่ปัญหาที่แท้จริง หรือสาเหตุมันอยู่ที่ใจ หรือว่าอุปมาหนึ่งที่ชัดเจนคือ มีหมาขี้เรื้อนตัวหนึ่ง มันไปนอนตรงไหนก็คัน นอนที่ทุ่งหญ้าก็คัน เกา นอนใต้ต้นไม้ก็คัน เกาแล้วเกาอีก ไปนอนใต้ถุนศาลามันก็คัน แล้วมันก็คิดว่าเป็นเพราะสนามหญ้า เป็นเพราะทุ่งหญ้า เป็นเพราะโคนไม้ เป็นเพราะใต้ถุนศาลา ทำให้มันคัน มันก็เลยเปลี่ยนที่ มันอาจจะไปอยู่ตามกุฏิของพระ หรือตามบ้านของผู้คน และคิดว่ามันจะหายคัน แต่ไม่ว่ามันจะไปที่ไหน มันก็ยังคันอยู่นั่นแหละ แต่มันก็ยังคิดว่าเป็นเพราะสถานที่ มันก็เลยเปลี่ยนที่ไปเรื่อย อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะมันไม่ตระหนักหรือมันไม่เฉลียวใจว่าเป็นเพราะผิวหนังของมันเป็นขี้เรื้อน มีแผล ฉะนั้นไม่ว่าอยู่ที่ไหนมันก็ยังคันอยู่นั่นแหละ อันนี้เรียกว่าแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะว่าไม่รู้ว่าสมุทัยหรือเหตุแห่งปัญหาคืออะไร
คนเราถ้าหากว่าวางใจไม่ถูก ไม่ว่าเจออะไรมันก็ทุกข์ได้ง่าย เจอเสียงดังก็หงุดหงิดรำคาญใจ ไปโทษเสียงว่ามันทำให้เราทุกข์ ทำให้เราหงุดหงิด มีเรื่องเล่าว่าหลวงพ่อชา เมื่อสัก 40 ปีก่อน ท่านได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงธรรมที่ประเทศอังกฤษ ก็มีลูกศิษย์ที่เป็นพระฝรั่งไปด้วย
หลวงพ่อสุเมโธตอนนั้นก็ยังเป็นพระหนุ่ม ก็ไปด้วยกับคณะของหลวงพ่อชา ตอนนั้นยังไม่มีวัดอมราวดี วัดป่าจิตตวิเวก เจ้าภาพที่เป็นฝรั่ง เขาก็นิมนต์ให้หลวงพ่อชากับคณะ พักที่วิหารกลางกรุงลอน กลางคืนก็มีการร้องรำทำเพลง สมัยนั้นดิสโก้ก็เริ่มดังแล้ว กลางค่ำกลางคืนก็จะมีเสียงดัง ดังมาถึงห้องโถงที่หลวงพ่อพาพระและโยมนั่งสมาธิ พระและโยมหลายรูปนั่งสมาธิไม่เป็นสุขเลย เพราะเสียงดนตรีจากผับที่อยู่ใกล้ๆ แต่หลวงพ่อชาท่านนั่งสมาธิอย่างสงบ เหมือนกับไม่ได้ยินอะไรเลย พอนั่งสมาธิเสร็จเจ้าภาพก็มาหาท่าน มาขอโทษ ขอโทษที่เสียงดนตรีรบกวนการนั่งสมาธิ หลวงพ่อชาได้ยินท่านก็ยิ้ม ท่านก็ว่าโยมอย่าไปคิดว่าเสียงดนตรีรบกวนเรา ที่จริงเราต่างหากที่ไปรบกวนเสียงดนตรี
เราฟังแล้วเข้าใจไหม เสียงดนตรีไม่ได้รบกวนเรา แต่เราไปรบกวนเสียงดนตรี หมายความว่าใจเราไปทะเลาะกับเสียง เสียงมันก็สักแต่ว่าเป็นเสียงมากระทบหู แต่ถ้าใจไม่ไปทะเลาะกับเสียง มันก็ไม่หงุดหงิด ไม่รำคาญ ไม่ว้าวุ่น
หลวงพ่อชาท่านกำลังจะเตือนว่า อย่าไปคิดว่าเสียงมันมาทำให้เราทุกข์ ที่เราทุกข์ ที่เราหงุดหงิด เป็นเพราะใจเราไปทะเลาะกับเสียง ใจเราไปมีความรู้สึกลบกับเสียงนั้น หลวงพ่อชากำลังบอกว่าสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ มันอยู่ที่ใจเรา วางใจผิด แต่คนไปคิดว่าเหตุแห่งทุกข์อยู่ที่เสียงจากผับและบาร์เหล่านั้น เพราะเรามองสมุทัยผิด การแก้ปัญหามันก็ผิดไปด้วย และบางครั้งมันก็ทำให้ปัญหาแก้ไม่ได้เลย แต่ธรรมชาติของคนเราก็มักจะไปแก้ที่ข้างนอก ไปจัดการกับสิ่งภายนอก เช่นไปจัดการกับต้นเสียง เพราะอะไร เพราะมันแก้ได้ง่ายกว่าในความรู้สึกของเรา แก้คนอื่นนี่มันแแก้ได้ง่าย หรือเราคิดว่ามันแก้ได้ง่ายกว่าแก้ตัวเราเอง
ก็เหมือนกับไปหากุญแจตรงที่ที่มันมีไฟส่องสว่างข้างถนน แทนที่จะไปหากุญแจตามสนามหญ้า แต่จะไปหาทำไม มันมืด มันหายาก ไปหากุญแจริมถนนดีกว่า มันสว่างดี แต่มันไม่แก้ปัญหาอย่างแท้จริง พูดอีกอย่างคือมันหากุญแจไม่เจอ การไปจัดการกับสิ่งภายนอกมันเป็นเรื่องง่ายกว่า เพราะว่าเราถนัดกับการไปจัดการสิ่งภายนอก ขณะที่การแก้ปัญหาที่ใจเรามันยาก เพราะส่วนหนึ่งเราไม่ค่อยอยากยอมรับว่าใจเราเป็นเหตุแห่งปัญหา ธรรมชาติคนเราก็มักจะโทษสิ่งภายนอก
อย่างที่หลวงพ่อชาแทนพูดอยู่เสมอ ยกตัวอย่าง เวลาเอามือล้วงเข้าไปในหลุม ถ้าหากล้วงไม่ถึงก้นหลุม ร้อยทั้งร้อยก็จะบอกว่าเป็นเพราะหลุมมันลึก ไม่มีใครบอกว่าเป็นเพราะแขนเรามันสั้น อัตตาตัวตนหรือมานะ มันไม่ค่อยอยากจะยอมรับว่าเหตุแห่งทุกข์มันอยู่ที่ตัวเรา หรือที่ใจเรา มันง่ายที่จะไปโทษสิ่งภายนอก และจากนั้นก็เลยไปแก้ที่สิ่งภายนอก แต่สุดท้ายมันก็แก้ไม่ได้ เหมือนกับเปลี่ยนที่เปลี่ยนทาง ก็ยังไม่มีความสงบสุข เหมือนกับหมาขี้เรื้อนที่มันเปลี่ยนที่นอน มันเปลี่ยนไปที่นั่นที่นี่ มันก็ยังไม่ หายคัน แล้วมันก็ยังคิดว่าเป็นเพราะสถานที่ แต่มันไม่เฉลียวใจว่าเป็นเพราะตัวมันมีแผล เพราะขี้เรื้อน
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่สอนใจเรา ซึ่งการที่คนเราจะหันมาเห็นเหตุแห่งทุกข์หรือสมุทัย มันก็ต้องหมั่นมองตัวอยู่เสมอ อย่ามัวแต่ส่งจิตออกนอกอยู่ร่ำไป กลับมาดูใจของเรา กลับมามองตน เรื่องการหาสมุทัยที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญทีเดียว ที่ชาวพุทธเรามักจะไม่ ค่อยสนใจเท่าไหร่
เราก็รู้ว่าทุกข์เกิดจากสมุทัย แต่พอหาสมุทัยทีไร มันหาไม่เจอ หรือว่ามันหาผิด แล้วเกิดการเปิดแก้ปัญหาแบบผิดฝาผิดตัว การหมั่นมองตัวอยู่เสมอมันจะช่วยทำให้เราเจอสมุทัย หรือเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริง โดยเฉพาะเมื่อมันมีความทุกข์ใจขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความโกรธ ความหงุดหงิด ความเบื่อหน่าย ความคับแค้น กลับมาดูใจของเราอยู่เสมอ แล้วก็แก้ที่ใจของเรา มันก็จะช่วยทำให้ทุกข์บรรเทาเบาบาง
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565