แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565
ฉันมาทำอะไร
เวลาเราขึ้นมาที่หอไตร เราจะสังเกตเห็นป้าย มีข้อความติดไว้ตรงบันไดว่า 'ฉันมาทำอะไร' หลายคนเห็นแล้วก็ไม่ได้สนใจอะไร ก็เดินขึ้นบันได แต่ที่จริงถ้าเราไม่เพียงแต่เห็นข้อความนี้ แต่ว่าถามตัวเราเองสักหน่อยก็ดีว่า "ฉันมาทำอะไร หรือว่าฉันมาที่นี่เพื่ออะไร"
เพราะบางทีพอเรามาอยู่สักพัก เราก็ลืมไปเลยว่าเรามาที่นี่เพื่ออะไร หรือตั้งใจมาทำอะไรที่นี่ ถ้าเราถามแล้วพบว่าเรามาที่นี่เพื่อจะปฏิบัติ เพื่อฝึกจิตฝึกใจของตัว หรือเพื่อฝึกหัดขัดเกลา มันก็ทำให้เราแจ่มชัดในจุดมุ่งหมายของการมาที่นี่ และพอเราย้ำเตือนตัวเองว่า เรามาที่นี่เพื่อฝึกฝน เพื่อปฏิบัติ ดังนั้นพอเจออุปสรรค เจอปัญหาอะไร เราก็จะได้ไม่หวั่นไหว เพราะธรรมดาของการมาปฏิบัติ การมาฝึกหัดขัดเกลา มันก็ย่อมมีความยากลำบาก มีอุปสรรค
เพื่อหาความสงบ
เราไม่ได้มาที่นี่เพื่อสบาย และบางทีเราก็ลืมไปว่าเรามาทำอะไร เราอาจจะคิดว่ามาเพื่อหาความสงบ อยากได้ความสงบ และพอมันมีอะไรที่ทำให้ใจเราไม่สงบ เราก็เกิดความไม่พอใจ เกิดความหงุดหงิด เกิดความขัดเคืองใจ บางคนอาจจะไม่ได้คิดว่ามาทำอะไรที่นี่ แต่ว่ามาเพื่อหาความสงบ เพื่อเสพรับความสงบ อันนั้นยังไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่ถูกต้องของการมาที่นี่ เพราะว่าถ้ามาเพื่อสัมผัสความสงบ เสพรับความสงบ ประโยชน์ที่ได้มันก็เพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว พอออกจากนี้ไป กลับไปบ้าน บางทีแค่ไปถึงแก้ง คร้อเท่านั้นแหละ ความสงบที่ได้รับที่นี่มันก็จางหายไปเสียแล้ว เพราะว่ามันเป็นความสงบที่ขึ้นอยู่กับสถานที่
และขณะเดียวกันถ้าหากว่ามีความไม่สงบเกิดขึ้น เพราะผู้คนก็ตาม เพราะแมลง หรือว่าความไม่สะดวกสบายของสถานที่ก็ตาม อันนั้นก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาไป เพราะเราไม่ได้มาเพื่อหาความสงบหรือความสบาย เรามาเพื่อปฏิบัติ เพื่อฝึกหัดขัดเกลา ถ้าตั้งจิตแบบนี้สิ่งที่มารบกวนใจ สิ่งที่จะมาทำให้ขัดเคืองใจ ก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา หรือเป็นการบ้านเพื่อฝึกใจของเรา ไม่ใช่พอเกิดความไม่สงบกระทบใจ ก็บ่นโวยวายตีโพยตีพาย คนที่มีอาการแบบนั้น ไม่ว่าจะมาอยู่วันแรก หรือมาอยู่กี่วันก็ตาม นั่นเป็นเพราะเขาลืมไปว่าเขามาทำอะไรที่นี่
เตือนย้ำว่าฉันมาทำอะไรที่นี่
เดิมอาจจะตั้งใจหรือบอกกับตัวเองว่าเรามาเพื่อปฏิบัติ แต่พออยู่ไปๆ ก็ลืม เพราะฉะนั้นพอเจออะไรมากระทบใจก็เลยเกิดความขุ่นเคือง เกิดความไม่พอใจ เพราะฉะนั้นการมาถาม หรือเตือนย้ำว่าฉันมาทำอะไรที่นี่ จะทำให้เราไม่ลืมจุดมุ่งหมาย และมันทำให้เรารู้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงของการฝึกฝนตน แล้วก็ย่อมมีอุปสรรค มีความยากลำบากเป็นธรรมดา
แต่ว่าที่นี่มันไม่ใช่รีสอร์ท มันก็ไม่ได้มีความสะดวกสบายเท่าไหร่ แล้วความสงบก็อาจจะไม่ได้เกิดอย่างที่ใจหวัง เพราะว่าคนก็มาจากทั่วทุกสารทิศ ไม่ใช่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่รีสอร์ทที่จะยิ้มแย้มให้กับเรา บางทีเขาก็อาจจะพูดไม่ถูกหูเรา หรือว่าอาหารไม่ ถูกปาก ถ้าเราเตือนหรือแจ่มชัดว่าเรามาเพื่อฝึกฝนขัเกลาตน เรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา
เหมือนกับเรามาโรงเรียน เรามาโรงเรียนจะหวังความสบาย มันก็ไม่ใช่ มันก็ต้องมีความยากลำบาก เพราะบางทีครูก็ดุ บางทีชั้นเรียนก็น่าเบื่อ บางทีก็ต้องเจอการบ้าน มันไม่ใช่รีสอร์ท ไม่ใช่โรงแรม มันไม่ใช่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ฉันกำลังทำอะไรอยู่
คราวนี้พอเราเตือนตัวเอง ย้ำกับตัวเองว่าเรามาทำอะไรแล้ว พอเรามาปฏิบัติ มันก็สำคัญนะ ถ้าหากว่าเราถามตัวเราเองว่า "ฉันกำลังทำอะไรอยู่" ทีแรกถามตัวเองว่า ฉันมาทำอะไรที่นี่ แต่พอลงมือปฏิบัติ ไม่ว่าในรูปแบบ ก็ควรถามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าฉันกำลัง ทำอะไรอยู่ หรือว่าฉันทำอะไรอยู่ เพราะบางทีเราก็ลืมไปว่ากำลังทำอะไรอยู่ แม้ขณะที่กำลังเดินจงกรม ขณะที่กำลังสร้างจังหวะ หรือขณะที่ทำกิจต่างๆ เราก็ลืมไปว่ากำลังทำอะไรอยู่ กลับไปคิดว่าฉันจะทำอะไรเมื่อกลับไป คิดถึงวันพรุ่งนี้ ว่าฉันจะทำอะไร จะ ไปหาลูก หรือว่าจะติดต่อเพื่อน หรือว่าจะทำโน่นทำนี่
บ่อยครั้งขณะที่เราเดินจงกรม เราสร้างจังหวะ เราปฏิบัติอยู่ เราลืมไปว่ากำลังทำอะไรอยู่ เราคิดแต่การวางแผนว่าจะทำโน่นทำนี่ หรือว่าไม่ใช่ทำโน่นทำนี่พรุ่งนี้ บางทีอาจจะทำโน่นทำนี่เมื่อเสร็จจากการทำวัตร เสร็จจากการฟังธรรม คิดแต่เรื่องว่าจะทำอะไรๆ แต่ลืมว่ากำลังทำอะไรอยู่ หรือบางทีก็คิดไปว่าทำอะไรไปบ้างแล้ว หรือไปคิดหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เมื่อวานนี้ ว่าฉันไม่น่าเลย ไม่น่าพูดกับเขาเลยแบบนั้นแบบนี้ หรือว่าฉันพลาดไปเสียแล้วเมื่อวานนี้
เราไม่ค่อยได้ระลึกหรือตระหนักว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แต่ไปจดจ่ออยู่ว่าจะทำอะไร วางแผนจะทำนั่นทำนี่ หรือไม่ก็คิดไปถึงเรื่องที่ได้ทำไปแล้ว พูดง่ายๆ คือไม่ได้อยู่กับปัจจุบันเท่าไหร่ ไปอยู่กับอนาคตหรือไม่ก็อยู่กับอดีต และบางทีไม่ใช่ว่าฉันจะทำอะไร หรือฉันทำอะไรไปแล้ว บางทีก็เตลิดไปถึงว่าคนอื่นเขาทำอะไรกับเรา ไปจดจ่อหมกมุ่นอยู่ว่าทำไมเขาพูดกับเราอย่างนี้เมื่อวาน ทำไมเขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือคิดไปถึงว่าเขาจะทำอะไร พรุ่งนี้ลูกจะต้องไปเข้าโรงเรียน พ่อแม่จะไปโรงพยาบาล ก็ไป อยู่กับเรื่องของคนนั้นคนนี้ นี่ไปไกลกว่าเดิมเลยนะ ไม่ได้จดจ่อหรือเตลิดไปเพียงแค่ว่า ฉันจะทำอะไรวันพรุ่งนี้มะรืนนี้ แต่ว่าคิดไปถึงว่าแล้วคนอื่นเขาวางแผนจะเล่นงานเราหรือเปล่านะ เมื่อเรากลับไปที่ทำงาน ปรุงแต่งไปเลยนะ ถึงเรื่องของคนอื่น แค่คิดถึงเรื่องของตัวเอง แต่เป็นอดีตหรืออนาคตนี่ก็ทำให้เราหลุดจากปัจจุบันไปแล้ว
เพราะฉะนั้นคำว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่ เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่ว่าฉันมาทำอะไรที่นี่เท่านั้น แต่ว่าใช้กำลังทำอะไรอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่ตอนเดินจงกรม สร้างจังหวะเท่านั้น แต่ว่าเวลาอาบน้ำ เวลาถูฟัง เวลากินข้าว บางทีเราก็ลืมไปว่ากำลังทำอะไรอยู่ ฉะนั้นกลับ มาระลึกรู้ ตระหนักว่าฉันทำอะไรอยู่ตอนนี้ เรามักลืมสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่อาตมากำลังพูด หลายคนก็ลืมไปแล้วว่ากำลังฟังอยู่ ใจมันไปอยู่ไหนก็ไม่รู้แล้ว กว่าจะกลับมาว่ากำลังฟังอยู่ ก็คิดไปหลายเรื่องหลายราวแล้ว
พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน
อันนี้ก็ธรรมดานะ แต่ว่าถ้าหากเราหัดที่จะพาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ระลึกรู้อยู่ว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่ มันจะช่วยทำให้เรามีความรู้สึกตัวมากขึ้น และต่อไปไม่ใช่ฉันทำอะไรอยู่เท่านั้น เราก็ต้องขยายการปฏิบัติของเราไปสู่คำถามที่ว่า ฉันกำลังคิดอะไรอยู่ ฉันทำอะไรอยู่นี่ช่วยทำให้เรารู้ว่ากายกำลังอยู่ไหน มันทำให้เรากลับมาอยู่กับความรู้สึกตัว รู้ตัวว่ากายทำอะไร กำลังเดิน กำลังนั่ง กำลังยืน แต่รู้กายแล้วไม่พอ ต้องรู้ใจด้วย ก็คือรู้ว่าตอนนี้กำลังคิดอะไรอยู่ หรือเมื่อกี้กำลังคิดอะไรอยู่ ใจลอยไปถึงบ้าน หรือ บางทีก็ใจลอยไปที่กุฏิที่พัก เพราะไม่แน่ใจว่าล็อคประตูหรือเปล่า ปิดหน้าต่างหรือเปล่า
ฉันกำลังคิดอะไรอยู่ หรือฉันกำลังรู้สึกอย่างไร ถามตัวเราเองบ้างก็ดี หรือกลับมาย้อนมองตัวเราเองว่า "ฉันกำลังรู้สึกอย่างไร" กำลังสบาย กำลังผ่อนคลาย กำลังเครียด หรือบางทีอาจจะกำลังเศร้า กำลังขุ่นมัว กำลังขัดเคือง นี่ก็เป็นสิ่งที่เราควรจะรู้ และการ ปฏิบัติก็เพื่อให้เราได้เห็นได้รู้ตรงนี้แหละ ว่าฉันกำลังรู้สึกอย่างไรตอนนี้ นี่เป็นการปฏิบัติแล้วนะ ไม่ใช่แค่ว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่ แต่ว่าฉันกำลังรู้สึกอย่างไร เหงา เบื่อ วิตกกังวล
ฝึกใจให้ยอมรับ
และถ้าเราต้องการปฏิบัติให้มากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่รู้ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร แต่ลองฝึกใจให้ยอมรับ ที่ตัวเองรู้สึกอย่างนั้น เช่น ตอนนี้กำลังรู้สึกเศร้า ก็ให้ยอมรับว่าตัวเองกำลังเศร้า นี่ก็ปฏิบัติแล้ว ไม่ต้องไปกดข่มความเศร้า ไม่ต้องผลักไสมัน แค่ยอมรับว่าตัวเองกำลังเศร้า ก็เป็นการปฏิบัติระดับหนึ่งแล้ว หรืออนุญาตให้ตัวเองเศร้าได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราก็จะพยายามกดข่ม ผลักไส หรือพยายามหนี พยายามไม่ยอมรับ ถ้าเรายอมรับว่าตัวเองเศร้า อันนี้ก็ถือว่าเราได้ปฏิบัติมาขั้นหนึ่งแล้ว เป็นการเจริญสติ
ต่อไปแทนที่จะยอมรับว่าตัวเองเศร้า ก็ยอมรับความเศร้า ไม่เหมือนกันนะ ยอมรับว่าตัวเองเศร้านี่มันยังมีตัวเราตัวกูเป็นผู้เศร้าอยู่ ลองขยับการปฏิบัติของเรา จากยอมรับว่าตัวเองเศร้า เป็นยอมรับความเศร้า มันไม่มีตัวเราผู้เศร้าแล้ว มันมีแต่ความเศร้า หรือให้เห็น ทีแรกก็เห็นตัวเองเศร้าก่อน เห็นตัวเองเศร้า เห็นโดยที่ไม่ไปทำอะไรกับความเศร้านั้น ยอมรับว่าตัวเองเศร้า อนุญาตให้ตัวเองเศร้าได้ จากนั้นก็เห็นความเศร้า อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติอีกขั้นหนึ่งแล้ว มันไม่มีตัวกูผู้เศร้า หรือไม่มีตัวตนที่เศร้า มันมีแต่ความ 'เศร้า' เห็นความเศร้า นี่ก็เป็นการปฏิบัตินะ
เพราะส่วนใหญ่เราไม่ได้เห็นความเศร้า หรือไม่ได้เห็นตัวเองเศร้า มันเป็นผู้เศร้าไปเรียบร้อยแล้ว การปฏิบัติก็เพื่อให้เห็น ไม่เข้าไปเป็น หลวงพ่อคำเขียนท่านเน้นอยู่บ่อยๆ เห็น อย่าเข้าไปเป็น เห็นความเศร้าอย่าเป็นผู้เศร้า แต่ใหม่ๆ สติยังไม่แข็งแรงพอ มันไม่เห็นความเศร้าได้ชัดเจน แต่อย่างน้อยก็เห็นว่าตัวเองเศร้า มันยังมีตัวกูหรือตัวเราอยู่ เป็นผู้เศร้า แต่ก็ยังดีที่เห็นมัน ไม่ถึงกับเข้าไปเป็น
สติคือตาในที่ทำให้เห็น
แต่ต่อไปก็จะไม่ใช่เห็นตัวเองเศร้าแล้ว มันจะเห็นความเศร้า เป็นการเห็นหรือการรู้ตัวที่เกิดจากสติ สติคือตาในที่ทำให้เห็น เราไม่ค่อยเห็นความเศร้า เห็นความทุกข์ เห็นความโกรธ แต่เราเป็นผู้โกรธ เป็นผู้เศร้า เป็นผู้เครียด ทุกครั้งที่อารมณ์เหล่านี้มันเกิดขึ้น เช่นเดียวกันเวลามีความคิด ก็ไม่ได้เห็นความคิด แต่มันเข้าไปในความคิด หรือเป็นผู้คิดไปเรียบร้อยแล้ว การที่เรามาถามตัวเองว่าตอนนี้เราคิดอะไรอยู่ มันก็เป็นบันไดขั้นต้น ในการที่จะช่วยให้เราเห็นความคิด เช่นเดียวกันการที่เราถามตัวเองว่า ตอนนี้รู้สึกอย่างไร มันก็เป็นบันไดขั้นต้นที่ทำให้เราเห็นอารมณ์ความรู้สึก
ต่อไปมันจะไม่ใช่เห็นแค่อารมณ์ เช่น ความโกรธ ความเครียด ความหงุดหงิด ต่อไปก็จะเห็นสิ่งที่เรียกว่าเวทนา ความเจ็บ ความปวด ความเมื่อย แต่ก่อนมันเกิดขึ้นทีไร เข้าไปเป็นทุกทีเลย เป็นผู้เจ็บ ผู้ปวด ผู้เมื่อย แต่เราทำได้มากกว่านั้น และควรทำด้วย คือเห็น เห็นความปวด เห็นความเจ็บ เห็นความเมื่อย เห็นเวทนานั่นเอง หรือจะเรียกว่าเห็นความรู้สึกก็ได้ เห็นความคิด เห็นอารมณ์ เห็นความรู้สึก และไม่ใช่แค่ทุกขเวทนาอย่างเดียว สุขเวทนาก็เห็นด้วย เห็นแล้วก็ไม่เข้าไปยึด ไม่เข้าไปเป็น อันนี้ทำให้เราเป็น อิสระจากความคิด อารมณ์ และความรู้สึกเหล่านี้
รักษาใจ
เราห้ามไม่ให้มันเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่าเป็นวิสัยปุถุชน โดยเฉพาะถ้ายังเผลออยู่บ่อยๆ มีอะไรมากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ มันก็เกิดอารมณ์สุขบ้างทุกข์บ้าง ดีใจบ้างเสียใจบ้าง หรือว่าขุ่นมัว หงุดหงิด คับแค้น เราห้ามไม่ได้ ห้ามไม่ให้มันเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เราสามารถรักษาใจไม่ให้มันเผารนใจ บีบคั้นใจ กรีดแทงใจได้ พูดง่ายๆ คือสามารถรักษาใจ ไม่ให้เป็นทุกข์เพราะมันได้
อันนี้เพราะเห็น หรือยอมรับ ใหม่ๆ อาจจะยังไม่เห็นชัด แต่ก็ยอมรับมันก่อน อย่างที่บอกยอมรับว่าตัวเองเศร้า แล้วก็พัฒนาเป็นยอมรับความเศร้า ต่อไปก็เห็นตัวเองเศร้า แล้วพัฒนาเป็นเห็นความเศร้า เห็นความโกรธ เห็นความดีใจ เห็นความเสียใจ เห็นความปวด เห็นความเมื่อย ก็ทำให้เราเป็นอิสระ แล้วเราจะเข้าใจที่เมื่อกี้เราสวดมนต์ มีตอนหนึ่งบอก 'ละสุขเสียได้' หลายคนสงสัยละสุขทำไมล่ะ ละทุกข์เสียได้นี่มันก็ดีอยู่แล้ว ก็สมควร แต่ทำไมต้องละสุขเสียได้ด้วย ละสุขก็คือไม่ยึด เพราะว่าอะไร ยึดเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น เพราะว่าสิ่งใดที่เรายึด เมื่อถึงเวลาที่มันแปรปรวนไป ก็ย่อมเกิดความเสียใจ เกิดความขุ่นเคืองใจ อันนี้ก็คือทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อมันเกิดขึ้น ก็อย่าไปยึดมัน ก็แค่เห็นมันเฉยๆ แม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความสุข เป็นความดีใจ
ฝึกเอาไว้ ด้วยการที่เราหมั่นถามตัวเราเอง เริ่มต้นจากการถามตัวเอง หรือระลึกอยู่เสมอว่าฉันทำอะไรอยู่ ต่อไปก็ฉันคิดอะไรอยู่ ฉันรู้สึกอะไรอยู่ แล้วก็จะนำไปสู่การเห็น การยอมรับความคิด อารมณ์ และความรู้สึก โดยที่ไม่ไปตกอยู่ในการครอบงำของมัน