เมื่อไม่กี่เดือนมานี้มีข่าวที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อาจารย์คนหนึ่งสอนวิชาเคมีในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่นิวยอร์ก วันดีคืนดีก็ถูกไล่ออกเพราะว่าสอนยากไป สอนยากไปนักศึกษาบ่น
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่นักศึกษาประมาณ 80 กว่าคนในจำนวน 350 คนก็คือจำนวนประมาณ 1 ใน 4 ร้องเรียนถึงมหาวิทยาลัยว่า อาจารย์คนนี้สอนยากจังเลย ที่สอนยากนี้ก็คงจะหมายความว่า ให้เกรดยาก เพราะหากสอนยากแต่ให้เกรดง่ายนี้ก็คงไม่มีการร้องเรียน
เดี๋ยวนี้ก็พบว่านักศึกษาในอเมริกาก็จะบ่นอาจารย์มาก ไม่ใช่เพราะว่าอาจารย์ไม่รับผิดชอบการสอน หรือว่ามาสาย หรือว่าไม่มีความรู้มากพอ หรือว่าไปล่วงละเมิดนักศึกษา แต่สาเหตุสำคัญก็เพราะว่า สอนยากไป พูดอย่างนี้เพราะว่าเขามีการทำแบบสอบถามนักศึกษาในอเมริกา 87 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์พูดเลยนะว่า เดี๋ยวนี้อาจารย์สอนหนังสือยากไป แล้วก็ประมาณ 2 ใน 3 เลย บอกว่ามหาวิทยาลัยควรจะบังคับ หรือกดดันให้อาจารย์สอนง่ายกว่านี้ หรือจะพูดให้มันเป็นรูปธรรมมากหน่อยก็คือ ให้เกรดง่ายกว่านี้
เรื่องนี้ก็น่าสนใจนะ สมัยก่อนเวลาเราเรียนหนังสือแล้วก็สอบได้คะแนนต่ำๆ สิ่งที่นักเรียนหรือนักศึกษาควรทำก็คือว่าต้องขยันให้มากขึ้น เพราะว่าถ้าอยากได้เกรดสูงๆ อยากได้คะแนนมากๆ ถ้าเราขยันมันก็มีโอกาสที่จะได้คะแนนเพิ่มขึ้น
คราวนี้นักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่เขาทำการสอบถาม เขาก็บอกเขาขยันแล้วนะ แต่ถามว่าขยันแค่ไหน ก็พบว่าประมาณ ใน 3 ของคนที่บอกว่าเขาขยันมากขึ้นแล้ว ปรากฏว่าใช้เวลากับการอ่านหนังสือค้นคว้าเพิ่มเติม แค่ห้าชั่วโมงต่ออาทิตย์ ก็หมายถึงว่าเฉลี่ยแล้ววันละชั่วโมง นี่คือขยันของเขาแล้วนะ เขาบอกอาทิตย์หนึ่งเขาขยันเพิ่มขึ้นหรือใช้เวลากับการเรียนเพิ่มขึ้นก็แค่ห้าชั่วโมง งั้นถามว่ามันพอไหม นี่ไม่ได้เรียกว่าขยันแล้วนะ เพราะว่าแค่วันละชั่วโมง นี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจนะว่า เดี๋ยวนี้ ความคิดของคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษาถ้าเกิดว่าได้คะแนนน้อย ได้เกรดต่ำ แทนที่จะหันมาขยันให้มากขึ้น แต่ก็ไปหาทางออกด้วยการเปลี่ยน อาจารย์ เอาอาจารย์ที่สอนง่ายกว่ามาแทน
ที่จริงก็มีคนที่เขาหาทางออกทางอื่นนะ ได้เกรดต่ำก็ไปขออาจารย์ วิธีนี้ก็ใช้กันมี 38 เปอร์เซ็นต์เลยนะที่บอกว่าเคยไปขออาจารย์ให้เพิ่มเกรด ที่น่าตกใจคือ 1 ใน 3 ใช้วิธีโกงข้อสอบ นี่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก แล้วเราก็อาจจะไม่คิดว่าในอเมริกานี้นักศึกษาโกงข้อสอบกัน แต่เดี๋ยวนี้มันเพิ่ม 1 ใน 3 ก็นับถือนะที่เขาพูดเปิดเผยตรงไปตรงมา เพราะฉะนั้นถ้าไปเทียบกับนักศึกษาไทยคิดว่ามันน่าจะมากกว่า 1 ใน 3 ที่จะโกงข้อสอบหรือว่าทุจริตในการสอบ
คนเราเวลาเรียนหนังสือแล้วสอบได้คะแนนไม่ดี เราควรจะเน้นที่การแก้ไขที่ตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้ไปเน้นที่การแก้ไขคนอื่น ให้อาจารย์เปลี่ยนเกรด หรือไม่ก็เปลี่ยนอาจารย์ไปเลย ที่จริงมันสะท้อนให้เห็นทัศนคติของคนสมัยนี้ ที่จริงก็ไม่ใช่เฉพาะเด็กอย่างเดียวหรือนักศึกษาอย่างเดียว แต่รวมถึงผู้ใหญ่ด้วยก็คือ
เวลาเจออุปสรรค เจอปัญหา หรือเจอความทุกข์ เราไม่ได้คิดที่จะแก้ไขตัวเอง แต่เราคิดที่จะไปแก้ไขสิ่งภายนอก
อันนี้เขาเรียกว่าวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตของคนยุคนี้ไปเลยก็ได้ เวลามีความทุกข์เราก็คิดแต่จะแก้ไขคนอื่นมากกว่าที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือว่าไปจัดการกับคนอื่นมากกว่าไปจัดการที่ใจ อันนี้ก็ธรรมดา เพราะว่าเทคโนโลยีมันเอื้อให้เราไปหา ทางออกในแง่นี้เช่น อากาศร้อน ก็ติดพัดลม ติดแอร์ การที่จะทำใจมันก็น้อยลง เวลาสุขภาพร่างกายอ้วน น้ำหนักเกิน แทนที่จะควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ก็ไปมองว่ามันจะมียาที่จะทำให้น้ำหนักน้อยลง หรือไม่ก็ไปผ่าตัดเอาเสียเลย
เดี๋ยวนี้หากลองสังเกตดู เราไปแก้ไขที่ข้างนอกมากกว่าที่จะจัดการกับตัวเอง งั้นก็ธรรมดานะเวลาเด็กเขารู้สึกว่าเขาได้คะแนนต่ำ แทนที่เขาจะแก้ไขที่ตัวเองคือเรียนให้มากขึ้น ขยันให้มากขึ้นเขาก็ไปเรียกร้องให้อาจารย์เปลี่ยนวิธีการสอน เปลี่ยนการให้เกรด ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็เปลี่ยนอาจารย์เสียเลย
ที่จริงถ้าพูดถึงเรื่องการเรียน เราเรียนเพื่ออะไร เดี๋ยวนี้เราไปคิดว่าเราเรียนเพื่อจะได้เกรดสูงๆ ได้คะแนนเยอะๆ ที่จริงเราเรียนเพื่อเอาความรู้มากกว่า ถ้าเราเข้าใจชัดว่าเรียนเพื่อความรู้ ยิ่งได้อาจารย์ที่สอนยาก อาจารย์ที่หิน มันกลายเป็นของดี มันทำให้เรามีความรู้มากขึ้น ที่จริงจะดูอาจารย์ดีหรือไม่ดีต้องดูว่า เขามีความรู้มากไหม แล้วก็ช่วยทำให้เรามีการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือเปล่า นี่คือวัตถุประสงค์ของการเรียน แต่พอไปตั้งเป้าว่าเรียนเพื่อเอาคะแนน มันก็เพี้ยนเลย อาจารย์คนไหนให้คะแนนต่ำ ให้เกรดต่ำ ก็ไม่พอใจ หรือถ้าแก้ไขอาจารย์ไม่ได้ก็ทุจริตในห้องสอบ แต่ถ้าเราคิดว่า เราเรียนเพื่อเอาความรู้ อาจารย์ที่มีความรู้มากแล้วก็สอนยากๆ นี่บางทีมันกลายเป็นเรื่องท้าทาย ท้าทายให้เราตั้งใจเรียนให้มากขึ้น ค้นคว้าให้มากขึ้น อ่านนอกเวลาให้มากขึ้น น่าจะดีใจนะที่ได้อาจารย์ที่เขาหิน เขาสอนยาก เพราะมันท้าทายเรามีความรู้มากขึ้น แต่พอไปตั้งเป้าว่าเรียนเพื่อเอาคะแนน สุดท้ายมันก็ลงเอยแบบนี้
ต่อไปเมืองไทยก็อาจจะเป็นแบบนี้ก็ได้ ถ้าหากว่าเราคิดว่าเราเรียนเพื่อเอาคะแนน เพื่อเอาเกรด นี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศที่เราคิดว่าเป็นแบบอย่างในทางการศึกษาในด้านการเรียนรู้ เป็นแบบอย่างในด้านมหาวิทยาลัย ในด้านการศึกษา
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565