แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญ แล้วก็จำเป็นสำหรับชีวิตของเรา นอกจากอาหาร นอกจากน้ำ นอกจากอากาศ ที่อยู่อาศัย และปัจจัย 4 แล้ว สิ่งนั้นคือการเรียนรู้
การเรียนรู้สำคัญนะ เพราะมันช่วยทำให้การอยู่รอดเป็นไปได้ แต่คนเราก็ไม่ได้มีชีวิตเพียงเพื่อเอาตัวให้รอดนะ ชีวิตของเราทำอะไรมันได้มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาจิตใจให้เจริญงอกงาม ไม่ใช่แค่มีกินมีใช้ แต่มีความสุข มีความเจริญงอกงาม ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ก็เพราะอาศัยการเรียนรู้ แต่การเรียนรู้ก็มีหลายอย่าง แต่ไม่ว่าจะมีการเรียนรู้ที่หลากหลายเพียงใด สิ่งสำคัญของการเรียนรู้ก็คือความรู้ เราเรียนเพื่อรู้ ด้วยเหตุนี้คำว่าเรียนรู้ มันจึงมี 2 คำนี้ควบคู่กันไปตลอดเวลา คือเรียนแล้วก็รู้ เราเรียนเพื่อรู้ อันนี้เป็นจุดมุ่งหมายพื้นฐานประการแรกเลยของการเรียน ส่วนเรื่องอย่างอื่นนั้นตามมาทีหลัง ถ้าเรียนแล้วไม่รู้อะไรเลย มันก็สูญเปล่า แม้เรียนแล้วจะได้คะแนนได้เกรดดี แต่ไม่ได้รู้อะไรเลย อันนั้นก็เปล่าประโยชน์
คำว่ารู้เป็นคำที่มีความสำคัญ แล้วเราจะรู้ได้ ส่วนหนึ่งก็อาศัยการเรียน แต่ก็อย่างที่บอก เรียนจะมีความหมายก็ต่อเมื่อรู้ ยิ่งในยุคนี้แล้ว คำว่ารู้เป็นสิ่งสำคัญมากเลย แต่ว่ารู้บางอย่างมันก็อาจจะไม่ดี รู้ส่วนใหญ่มันก็มีประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการรู้ทางโลก ไม่ว่าจะเป็นการรู้ทางธรรม
แต่มันมีรู้บางอย่างที่ไม่มีประโยชน์ บางทีก็เป็นผลเสียเลย เช่นอะไร เช่นรู้แล้ว คำว่ารู้แล้วนี่ ถ้ามันออกมาจากปากของใคร หรือว่ามันอยู่ในความคิดของใคร อันนี้มันเกิดผลเสียนะ อย่างลูกบอกพ่อว่าสูบบุหรี่ทำให้เป็นมะเร็งนะ พ่อบอกรู้แล้ว หรือพ่อแนะนำลูกว่า เล่นเกมออนไลน์นี่มันไม่ดีนะ หรือบางทีสอนลูกด้วยซ้ำ กินเหล้ามันไม่ดีนะ เด็กตอบว่ารู้แล้ว ไม่ว่าใครที่บอกว่ารู้แล้วนี่ มันแปลว่าอะไร มันแปลว่าการเรียนรู้ไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อใดก็ตามที่เราบอกว่ารู้แล้วๆ มันแปลว่าการเปิดใจรับความรู้ใหม่ๆ มันไม่เกิดขึ้นเลย
เวลาใครพูดว่ารู้แล้ว บางทีมันแปลว่าเขาไม่ได้รู้อะไรเลย หรือเขาไม่เปิดใจฟัง ไม่ไว่าจะเป็นความรู้ ความคิด ความเห็น หรือคำแนะนำ รู้แล้วเมื่อไหร่นี่ ก็แปลว่าการเรียนรู้ไม่เกิดขึ้นแล้ว
แล้วคนเราพอยิ่งมีอายุมาก มีประสบการณ์มาก หรือแม้แต่เรียนมามาก มันก็ง่ายที่จะบอกว่ารู้แล้ว เด็กแนะนำผู้ใหญ่ ลูกแนะนำพ่อ ผู้ใหญ่หรือพ่อบอกรู้แล้ว ตรงนี้น่ากลัว หรือน่าเป็นห่วงว่าการเรียนรู้มันเกิดขึ้นเลย
รู้อะไรก็ไม่แย่เท่ากับรู้แล้วนะ ฉะนั้นบางทีเราต้องตั้งคำถามกับตัวเราเองว่า เราคิดว่าเรารู้แล้วมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าหากว่าเรารู้แล้ว มันก็จะแปลว่าเราไม่รู้อะไรเลย หรือรู้น้อยมาก แต่บางทีความเป็นผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า หรือว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน ก็ทำให้เราคิดว่าที่ใครๆ พูดมา ที่ใครๆ แนะนำมา โดยเฉพาะคนที่มีอายุน้อยกว่า อ่อนเยาว์กว่า เราก็จะบอกว่ารู้แล้ว
บางทีเด็กก็พูดอย่างนั้นกับพ่อแม่ ซึ่งมันกลายเป็นคำข้ออ้าง ในการที่จะไม่ฟัง หรือว่าไม่ปฏิบัติตาม เพราะฉันรู้
แล้วนอกจากรู้แล้วมันมีรู้อีกอย่างหนึ่งที่มันไม่ดีเลย หรือเกิดประโยชน์น้อย คือ "รู้้งี้" เวลาใครบอกว่ารู้งี้ มันแปลว่าสิ่งที่รู้มันสายไปแล้ว อย่างคนป่วยบางคนเป็นมะเร็งปอดก็บอก รู้งี้ฉันไม่สูบบุหรี่ดีกว่า หรือตับแข็งรู้งี้ฉันไม่กินเหล้าดีกว่า รู้งี้ฉันเลิกไปนานแล้ว หรือบางคนเป็นโรคหัวใจ จนกระทั่งนอนติดเตียง รู้งี้ฉันออกกำลังกายบ่อยๆ ดีกว่า หรือว่ารู้งี้ฉันจะไม่กินพวกไขมัน พวกเนื้อสัตว์เยอะ คนที่เป็นเบาหวานก็เหมือนกัน พออาการมันหนักกำเริบมากขึ้น รู้งี้ฉันไม่กินน้ำอัดลมวันละ 3 ขวด 5 ขวด หรือว่ากินของหวานเยอะๆ
บางคนก็บอกว่ารู้งี้ก็จะให้เวลากับพ่อแม่มากขึ้น จะไปเยี่ยมท่านให้มากขึ้น ไม่ใช่มัวแต่ทำงาน เวลาพูดแบบนี้แปลว่าอะไร แปลว่าสายไปแล้ว บางทีพ่อแม่ก็อาจจะเสียชีวิตไปแล้ว มารู้งี้ก็ตอนที่ท่านจากไปแล้ว หรือบางคนพอป่วยหนัก ไม่มีใครมาเยี่ยมเลย เพราะเป็น คนที่ไม่เอาเพื่อน เป็นคนที่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน คิดแต่จะไต่เต้าเอาดี โดยที่ไม่สนใจความรู้สึกของเพื่อนๆ ถึงเวลาป่วยหนักก็ไม่มีใครมาเยี่ยม ก็พูดว่ารู้งี้ฉันจะใส่ใจความรู้สึกของเพื่อนมากกว่านี้ ฉันจะไม่เอาเปรียบเพื่อนอย่างที่ได้ทำไป
ทั้งหมดนี้มันเป็นความรู้ที่สายไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว จึงเป็นการรู้ที่ไร้ประโยชน์ รู้งี้นี่ สองคำนี้ สองรู้นี่ รู้แล้วกับรู้งี้ พยายามให้มันเกี่ยวข้องกับชีวิตเราให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้จะดีกว่า
บางทีคนที่บอกว่ารู้แล้วๆ สุดท้ายพอป่วยหนัก เพราะว่าโรคมะเร็งปอด หรือเพราะตับแข็ง คนที่บอกว่ารู้แล้วเมื่อ 10 ปีที่ 20 ปีที่แล้ว ก็กลายเป็นคนที่มาบอกว่ารู้งี้ ฉันไม่สูบบุหรี่กินเหล้า หรือว่ารู้งี้ฉันจะออกกำลังกายมากกว่านี้ แต่ก่อนหน้านั้นพอมีคนแนะนำ ก็บอกว่ารู้ แล้วๆ แปลว่าไม่ต้องพูดมาก แต่ว่าตัวเองก็ไม่ได้ทำ ไม่ได้น้อมมาใส่ใจ ก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม กินเหล้าสูบบุหรี่ หรือว่ากินอาหารตามใจปาก จนกระทั่งเกิดความเจ็บป่วยขึ้น แล้วก็ระลึกนึกได้ก็เลยบอกรู้งี้ ฉันน่าจะเลิกกินเหล้า น่าจะเลิกสูบบุหรี่ อย่าให้คำว่ารู้แล้ว รู้งี้ มันเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของเรา
ถ้าจะรู้นะ มันมีรู้อย่างหนึ่งที่สำคัญมาก คือรู้ตัว รู้ตัวนี่มันเยี่ยมยอดมากเลย เป็นรู้ที่ประเสริฐ เป็นรู้ที่มีคุณมาก รู้ตัว มันช่วยทำให้รู้อย่างอื่น เช่นรู้เรื่องการทำมาหากิน รู้วิชาการต่างๆ มันเกิดประโยชน์กับเราอย่าง เต็มที่ รู้โลก รู้รอบตัว อันนี้ดีอยู่ แต่ว่าก็อย่าลืมรู้ตัว บางคนทุกวันนี้แม้จะรู้เยอะ แต่ว่ารู้ตัวนี่ ค่อนข้างจะละเลยมาก
รู้ตัวในด้านหนึ่งก็คือเวลาทำอะไรก็รู้ว่ากำลังทำสิ่งนั้นอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่ง่ายนะว่า เราทำอะไรแล้วจะรู้ชัดในการทำสิ่งนั้น บางทีเรากินข้าว เราก็ไม่รู้ตัวว่าเรากินข้าวอยู่ อาบน้ำเราก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังอาบน้ำอยู่ เพราะอะไร เพราะใจลอย บางทีเราทำอะไรผิดๆ พลาดๆ ก็เพราะไม่รู้ตัว ไม่รู้กำลังทำอะไรอยู่ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานั้นๆ
มีโยมคนหนึ่งรับอาสาพาพระไปส่งที่วัด ท่านแสดงธรรมเสร็จแล้วท่านก็จะกลับวัด โยมก็อาสาขับรถพาท่านกลับวัด นิมนต์พระกับลูกศิษย์มานั่งเบาะหลัง แล้วก็ขับรถไป ขับไปได้สักพักก็เลี้ยวซ้าย พระก็ถามว่าโยมจะไปไหน โยมก็ตอบว่าก็พาท่านไปส่งวัดไง วัดอาตมานี่มันตรงไปนะ ไม่ใช่เลี้ยวซ้าย พอทักแบบนี้เข้า โยมก็เลยตกใจ เพราะว่าเลี้ยวซ้ายนี่มันคือเลี้ยวไปที่บ้านของตัว เส้นทางนั้นตัวเองผ่านประจำ ใช้ประจำ พอถึงทางแยกก็เลี้ยวซ้ายเลย เพราะว่าบ้านไปทางนั้น เพราะเขาใจลอย คนที่ขับรถพาพระไปส่งวัดนี่ใจลอย พอเห็นทางแยกที่คุ้นเคย กลับบ้านเป็นประจำ ตรงทางแยกนั้นก็เลี้ยวซ้ายทันที นี่เรียกว่าไม่รู้ตัว เรียกว่าลืมตัวก็ได้ ตอนนั้นลืมไปว่ากำลังทำอะไรอยู่
มีคุณหมอท่านหนึ่งเล่าว่า วันหนึ่งก็ขับรถกลับบ้าน บ้านเขาอยู่แถวปากน้ำ แล้วต้องรีบกลับด้วยเพราะมีนัดที่นั่น นัดคนไว้ที่บ้าน แต่ระหว่างทางปรากฏว่ามันมีรถคันหนึ่งมาปาดหน้า หมอนี่โมโหเลยนะ ไล่ตาม ไล่กวดรถคันนั้นเลย รถคันนั้นมันก็ขับเร็ว ก็เลี้ยวซ้ายเลี้ยว ขวาพาไปไกลเลย คุณหมอก็ขับรถตาม กะจะไปปาดหน้าคืน มารู้ตัวอีกทีก็เลยเส้นทางกลับบ้านไปเยอะแล้ว ลืมไปเลยนะ ว่าตอนนั้นตั้งใจว่าจะรีบกลับบ้าน พอมีคนมาปาดหน้า ความคิดที่จะเอาคืน หรือสั่งสอนซึ่ งแน่นอนก็มีความโกรธ ความไม่พอใจ เข้ามาครอบงำจิตด้วย ตอนนั้นก็เลยลืมตัว อันนี้ก็เรียกว่าไม่รู้ตัว แล้วเราก็ไม่รู้ตัวแบบนี้เป็นประจำเลย ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร หรือว่าลืมสิ่งที่กำลังทำอยู่
อันนี้ทางพระท่านเรียกว่าไม่มีสัมปชัญญะ ถ้าสัมปชัญญะนี่…เรียกว่าโคจรสัมปชัญญะ คือความรู้ชัดในแดนงานที่ทำอยู่ หมายถึงว่ากำลังทำอะไรอยู่ก็รู้จุดมุ่งหมาย แล้วจิตกำกับอยู่กับงานนั้น ไม่ให้พลาด ไม่ให้หลง ไม่ให้เขว แต่บ่อยครั้งเราก็ลืมไปเลยว่ากำลังทำ อะไรอยู่ ลืมจุดมุ่งหมายของสิ่งที่กำลังทำอยู่ แทนที่จะกลับบ้าน ก็คิดแต่จะไปปาดหน้าเอาคืน หรือว่าแทนที่จะไปส่งพระกลับวัด ก็คิดถึงการกลับบ้าน
บางทีเราประชุมกัน หลายคนกำลังประชุมกัน เพื่อจะโน้มน้าวลูกค้าให้เห็นด้วยกับข้อเสนอ จะวางแผนโฆษณา จะขายโฆษณาให้ลูกค้า แต่พอลูกค้าเขาทักเขาท้วง เกิดโกรธ เพราะมันกระทบอัตตา ก็ไปทะเลาะกับเขา แทนที่จะโน้มน้าวเขาให้เห็นด้วย หรือว่าซื้อไอเดียนั้น ก็กลายเป็นว่าทะเลาะกับเขา เสร็จแล้วลูกค้าก็อาจจะเลิกเลย ไม่เอาแล้ว เพราะว่าทะเลาะกันหนัก
อันนี้ก็เรียกว่าลืมตัว แล้วพอลืมตัวมันก็ลืมจุดมุ่งหมายว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ พวกเราที่มาปฏิบัติเราก็คงจะประสบกับภาวะนี้อยู่บ่อยๆ เวลาเดินจงกรม เวลาสร้างจังหวะ มันลืมไปเลยว่ากำลังเดินจงกรม กำลังสร้างจังหวะ ใจมันลอย คิดโน่นคิดนี่ เดินก็ไม่รู้ว่าเดิน ยกมือก็ไม่รู้ว่ายกมือ นี่คือเรียกว่าไม่รู้กาย ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ความหมายหนึ่งคือไม่รู้กาย ไม่รู้กายคือไม่รู้ว่ากายเขยื้อนขยับ ไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหว การกระทำของกาย
ไม่รู้ตัวอีกอย่างคือไม่รู้ใจ ว่าตอนนั้นใจมันเป็นอย่างไร ใจมันถูกอารมณ์ครอบงำ กำลังคิดเรื่องนี้อยู่ กำลังคิดเรื่องงานอยู่ เผลอแผล็บเดียวไปคิดถึงเรื่องการจะเล่นงานตอบโต้เพื่อน ที่เขามารบกวนรังควาน หรือเราจะหาทางเล่นงานเพื่อนบ้าน ที่ชอบส่งเสียงดัง อันนี้เรียกว่าลืม ลืมใจ ไม่รู้ว่าใจตอนนั้นมันถูกอารมณ์หรือความรู้สึกใดครอบงำอยู่ ก็เลยถูกอารมณ์นั้นชักนำพาจิตใจของเรา แบบเข้ารกเข้าพง หรือทำให้การกระทำและคำพูดของเรามันเกิดปัญหา ตัวอย่างที่ยกมา ส่วนหนึ่งมันก็เป็นเพราะความไม่รู้ใจ เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น เมื่อมีความหงุดหงิดเกิดขึ้นก็ไม่รู้ทัน
รู้ตัวนี่สำคัญมากนะ รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ แล้วก็รู้ว่าตอนนี้กำลังมีความคิดและความรู้สึกอย่างไร ถ้าเราไม่อยากให้อารมณ์ต่างๆ เผารนใจเราให้รุ่มร้อน บีบคั้นใจเราให้เจ็บปวด หรือทำให้เกิดความหนักอกหนักใจ ก็ต้องหมั่นรู้ตัว เพื่อที่จะได้หลุด พาจิตหลุดออกไปจาก ความคิดนั้น อย่าปล่อยให้ทั้งวันมันเต็มไปด้วยความรุ่มร้อน หลายคนก็ปล่อยให้จิตใจของตัวเองรุ่มร้อน ด้วยความหงุดหงิด ด้วยความโกรธ ด้วยความไม่พอใจ แล้วก็ปล่อยให้อารมณ์นั้นมันเผารนจิตใจอยู่นั่นแหละ อันนี้เพราะไม่รู้ตัว
ถึงแม้บางคนจะมาวัดบ่อย มาปฏิบัติอยู่เป็นอาจิน แต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ทัน ให้เกิดความรู้ตัว ทีแรกมันก็รู้กายรู้ใจ รู้ว่ากายทำอะไร รู้ว่าใจกำลังคิดนึกอะไร ต่อไปมันก็จะรู้ความจริงของกายและใจ มันไม่ใช่เพียงแค่รู้ถึงการมีอยู่ของอารมณ์ และความคิดต่างๆ เท่านั้น แต่มันยังรู้ถึงธรรมชาติของความคิดและอารมณ์เหล่านั้นด้วย หรือว่าเห็นมันเกิด เห็นมันดับ มันมาแล้วก็ไป เป็นของชั่วครูชั่วยาม เอาจริงเอาจังกับมันไม่ได้ แม้สิ่งที่เป็นความสุข ความเพลิดเพลิน ความดีใจ มันก็เป็นของประเดี๋ยวประด๋าว
เราก็จะเริ่มที่จะรู้ว่าเอาจริงเอาจังกับมันไม่ได้ เอาเป็นเอาตายกับมันไม่ได้ ความคิดและอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งรู้ว่ามันยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ต่อไปก็จะเห็นว่าความคิดและอารมณ์เหล่านี้มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา ตอนที่ไม่รู้ตัว มันก็ไไปสำคัญมั่นหมายว่าเราคิด ความคิดเป็นของเรา เราโกรธ ความโกรธเป็นของเรา แล้วมันก็เลยเผารนใจเวลาโกรธ ความโกรธมันเผารนใจ เมื่อไปสำคัญมั่นหมายว่าเราโกรธ ความเกลียดมันกรีดแทงใจ เมื่อไปสำคัญมั่นหมายว่าเราเกลียด
แต่พอเรารู้ตัวบ่อยๆ รู้กายรู้ใจ เราก็จะเห็นว่าความโกรธและความเกลียดมันไม่ใช่เรา ความทุกข์ ความเศร้าไม่ใช่เรา มันก็เห็นว่ามันเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เรา มันเป็นคนละอันกัน มันเกิดการแยกได้ หรือเกิดการวางได้ ใจมันก็จะมีความรุ่มร้อนน้อยลง มีความทุกข์น้อยลง อันนี้เรียกว่าเพราะรู้ เพราะรู้ตัว และความรู้ตัวมันก็ทำให้รู้ถึงความจริงของกายและใจ มันไม่ใช่แค่รู้กายและรู้ใจอย่างเดียว มันรู้ไปถึงว่าความจริงของกายและใจเป็นอย่างไร
แล้วพอรู้ความจริงของกายและใจ มันก็จะรู้ความจริงของโลกภายนอกได้ชัดขึ้น เพราะว่ากายและใจ หรือรูปกับนาม มันก็เป็นเรื่องของขันธ์ 5 ซึ่งมันก็ไม่ได้แยกไปจากโลกภายนอก เห็นธรรมชาติของขันธ์ 5 ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นเรา มันก็นำไปสู่ความเข้าใจธรรมชาติของขันธ์ 5 ที่ประกอบขึ้นมาเป็นโลกภายนอก เพราะโลกรอบตัวเราก็หนีไม่พ้นขันธ์ 5 ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มาประกอบกันขึ้นมาเป็นเรา เป็นรูปกับนาม เป็นกายกับใจ เห็นกายและใจว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันก็จะเห็นชัดว่าโลกภายนอก โลกรอบ ตัวเรา ผู้คน คน สัตว์ สิ่งของ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเหมือนกัน
จากความรู้ตัวก็จะกลายเป็นความรู้ความจริง เห็นความจริงของโลก มันก็จะรู้ลึกและรู้กว้าง และมันช่วยทำให้เราสามารถที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ ด้วยความรู้ทัน ใช้กายและใจให้เป็นประโยชน์ โดยที่ไม่ตกเป็นทาสของกายและใจ หรือไปยึดมั่นสำคัญหมายว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา เพราะถ้าเราไปยึดมั่นว่ามันเป็นเราเป็นของเราเมื่อไหร่ เราก็กลายเป็นของมันในทันที เพราะฉะนั้นให้หมั่นรู้ตัวบ่อยๆ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องมารู้งี้ในภายหลัง ซึ่งมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย
ที่มา - พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565