พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565
ก่อนที่พวกเราจะมาที่นี่ เชื่อว่าหลายคนก็ได้ฟังธรรมะ ฟังคำบรรยายมามากมายแล้ว อาจจะฟังทางวิทยุ หรือระยะหลังก็ฟังทางโทรศัพท์มือถือ ฟังทางคอมพิวเตอร์ ก่อนหน้านั้นก็อาจจะฟังทางซีดี เราฟังมาเยอะซึ่งก็มีประโยชน์นะ เพราะทำให้มีข้อคิดสำหรับเตือนจิตเตือนใจ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ฟังมากเท่าไหร่ มันก็ยังไม่ช่วยให้เปลี่ยนจิตเปลี่ยนใจได้ หลายคนทีเดียวนะ ฟังเช้าฟังเย็น แต่ยังเหมือนเดิม
ไม่ว่าจะเป็นนิสัยใจคอหรือพฤติกรรม ที่ยังขี้โกรธก็ยังขี้โกรธเหมือนเดิม ที่ยังจู้จี้ขึ้บ่นก็ยังเหมือนเดิม หรือที่ยังใจลอยลืมตัว บ่อยๆ ก็ยังเหมือนเดิม เพราะอะไรนะ เพราะขาดการปฏบิติ ขาดการฝึกฝน
หลายคนฟังแล้วก็ เออ สบายใจ เพราะระหว่างที่ฟัง ใจก็ไม่ได้ไปคิดถึงเรื่องอื่น ถ้าอยู่ว่างๆ เมื่อไหร่ ใจจะคิดถึงเรื่องงานเรื่องการ คิดถึงปัญหาการเงิน คิดถึงพฤติกรรมของลูก คิดถึงความเจ็บป่วยของสามี หรือปัญหาของพ่อแม่ที่ชอบมายืมเงิน พอคิดเรื่องแบบนี้เข้า มันก็หนักอกหนักใจรุ่มร้อน แต่พอมาฟังธรรม ฟังคำบรรยาย ใจมันมาจดจ่ออยู่กับคำบรรยาย มันไม่ไปคิดนึกถึงเรื่องราวเหล่านั้นก็เลยสบายใจ
แต่พอฟังเสร็จก็กลับเครียด กลับวิตกกังวลเหมือนเดิม อันนี้เพราะขาดการฝึกฝน ขาดการปฏิบัติ หลายคนก็รู้นะว่าโกรธไม่ดี แต่พอมีอะไรมากระทบไม่ว่าทางหู ทางตา ก็โกรธทุกที ทั้งๆ ที่ตั้งใจว่าถ้าเราโกรธนี่นะ เราจะกลับมาตามลมหายใจ เพราะได้ฟังครูบาอาจารย์ แนะนำอย่างนั้น หรือโกรธเมื่อใดก็จะกลับมาตามลมหายใจ หรือกลับมาภาวนาพุทโธ หรือเตือนใจตัวเองว่า “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า” แต่พอโกรธทีไรมันลืมหมดนะ ไอ้ที่ตั้งใจจะทำหรือคำแนะนำของครูบาอาจารย์
ท่านก็สอนดิบดีนะ แล้วตอนที่เราฟังเราก็คล้อยตามเห็นด้วย อยากจะทำตามที่ท่านแนะนำ แต่พอมีใครมาพูดนินทาหรือทำอะไรไม่ถูกใจก็โกรธ ลืมหมดนะ พุทโธ ตามลมหายใจ แม้กระทั่งครูบาอาจารย์บอกว่า “อย่าไปตอบโต้” ก็เห็นด้วยนะ แต่พอถึงเวลาก็โต้เถียง โต้แย้ง ต่อว่าให้หนักกว่าเดิม เขาว่าหนึ่ง เราว่าสอง เขาว่าสอง เราว่าสี่ ลืมหมดนะ เพราะอะไร เพราะไม่ได้ฝึกฝน ไม่ได้ฝึกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ฉะนั้นที่เรามาที่นี่ อันนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา เพราะเราไม่ใช่แค่มาฟังธรรมเช้าเย็น แต่เรามาเพื่อจะปฏฺิบัติด้วย แล้วขึ้นชื่อว่าปฏิบัตินี่ มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ อย่างน้อยมันก็ยากกว่าการฟังธรรม ตอนฟังธรรมเราก็ฟังในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ที่บ้าน บางทีก็เปิดแอร์ฟังธรรมะ ไม่มีอะไรมารบกวน อยู่ที่บ้านสถานที่คุ้นเคย มันก็ฟังแค่ครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงนึง บางทีฟังไปก็นั่งเอกเขนกไป มันก็สบาย
แต่ไม่เหมือนกับการมาปฏิบัติ โดยเฉพาะมาอยู่ที่นี่ ในที่ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งอาจจะไม่สะดวกสบายเท่าที่บ้าน แล้วต้องทำต่อเนื่องหลายชั่วโมง เรียกว่าทั้งวันเลย รวมทั้งการอยู่ในอิริยาบถซ้ำเดิม เดินกลับไปกลับมา ยกมือกลับไปกลับมา มันต้องใช้ความเพียรและความ ตั้งใจมาก และแน่นอนมันต้องสู้กับความเบื่อ สู้กับความง่วงเหงาหาวนอนสารพัด ไม่เหมือนเวลาเราฟังธรรมที่บ้าน ถ้าง่วงก็ลุกไปเดิน ถ้าเบื่อก็ไปหยิบอะไรมาเคี้ยวมากิน มันต่างกันเยอะนะ ระหว่างการฟังธรรมกับการมาปฏิบัติ แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติ มันก็ไม่เกิดความ เปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ก็ยังเหมือนเดิม ยังจู้จี้ขี้บ่น ยังหงุดหงิด หรือยังเป็นคนที่เครียด หนักอกหนักใจ กลุ้มใจเหมือนเดิม
เมื่อเรามาที่นี่ ก็ถือว่าเรามาทำสิ่งที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่เราก็ต้องรู้ว่า จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติที่นี่คืออะไร บางคนก็อยากจะมาหาความสงบ อยากจะมาพบกับความสงบ หลังจากที่ฟุ้งซ่าน หลังจากที่เครียดมานาน ที่จริงความสงบเป็นเรื่องรองสำหรับการปฏิบัติที่นี่ เรียกว่าเป็นผลพลอยได้ หรือเป็นสิ่งที่ตามมาทีหลัง แต่สิ่งสำคัญอย่างแรกที่เป็นจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติที่นี่คือ ‘ความรู้สึกตัว ความรู้เนื้อรู้ตัว หรือการมีสติ’ ซึ่งต่างจากสมาธิ บางทีหลายคนเวลาพูดถึงความสงบก็นึกถึงสมาธิ แต่ความสงบก็สัมพันธ์กับธรรมะตัวอื่นด้วย เช่น สติ ปัญญา ความรู้สึกตัว
เรารู้อะไรต่ออะไรมาเยอะแล้วนะ เรียกว่ารู้โลกมาเยอะแล้ว ถึงเวลาที่เราจะมารู้ตัว รวมทั้งรู้สึกตัว และรู้เนื้อรู้ตัวด้วย มันก็เป็นคำคล้ายๆ กันนะ แต่ก็มีความต่างกันอยู่บ้าง
‘รู้เนื้อรู้ตัว’ เป็นเรื่องของความรู้สึกตัวในแต่ละขณะ เป็นขณะๆ แต่ ‘ความรู้ตัว’ มีความหมายกว้าง ไม่ใช่เฉพาะรู้ตัวเมื่อมีอะไรมากระทบและไม่หลงไปตามอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ หดหู่ เศร้า ตื่นตกใจ… อย่างนั้นอาจจะยังเรียกว่าไม่รู้ตัวนะ ถ้าหลุดไปในอารมณ์เหล่านั้น เพราะตอนนั้นมันลืมตัวแล้ว
แต่ ‘รู้ตัว’ ยังมีความหมายกว้างกว่านั้น เช่น เรารู้ว่าเราเป็นคนมีนิสัยใจคออย่างไร บางคนไม่รู้นะ ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนขี้โมโห เป็นคนเจ้าอารมณ์ เป็นคนที่ชอบคิดเล็กคิดน้อย หรือเป็นคนที่ชอบจู้จี้ขี้บ่น ทั้งที่คนข้างนอกเห็นชัดเลยแต่ตัวเองไม่รู้ อันนี้เรียกว่าไม่รู้ตัวนะ แล้วก็เป็นกันเยอะทีเดียว เพราะมันยอมรับได้ยากนะ ว่าเราเป็นคนที่จู้จี้ขี้บ่น เป็นคนที่เจ้าอารมณ์ หรือเป็นคนที่เจ้าคิดเจ้าแค้น คิดเล็กคิดน้อย มันยอมรับได้ยากเพราะเราต้องการมีภาพของคนดี ตัวอัตตานี่มันไม่ค่อยอยากจะยอมรับว่าเรามีนิสัยแบบนั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่ ไม่ดีในสายตาของคนทั่วไป หรือเป็นสิ่งที่ไม่ดีในความรู้สึกของเราด้วย เพราะสิ่งที่ดีในความหมายของเราคือ ‘เป็นคนสงบ เป็นคนใจเย็น เป็นคนสุภาพ ไม่ชอบนินทาใคร หนักแน่นมั่นคง’ นั่นคือความอยาก เพราะจริงๆ แล้วเราอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น
‘รู้ตัว’ คือ รู้ว่าเรามีนิสัยอย่างไร อันนี้เป็นเบื้องต้นเลย แม้เป็นนิสัยที่อาจจะไม่ดีนักในสายตาของเรา หรือเราไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น แต่การรู้ตัวอย่างนี้ มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการรู้ตัวที่ลึกซึ้ง อย่าว่าแต่รู้นิสัยใจคอของตัวเองเลยนะ บางทีจะรู้ว่าชอบอะไรก็ยังไม่รู้เลย คนที่เรียนหนังสือหนังหา เรียนไปถึงมหาวิทยาลัย บางทียังไม่รู้เลยว่าตัวเองนี่ชอบวิชาอะไร ถนัดวิชาอะไร เรียนตามเพื่อน แม้กระทั่งบางคนเรียนหมอ ลึกๆ ก็ไม่ได้ชอบเรียนหมอ แต่เพราะถูกคาดหวังว่าต้องเรียนหมอ หรือเป็นเพราะค่านิยม สังคมแวดล้อม แต่ใจจริงอาจจะชอบถ่ายรูป อาจจะชอบทำละครมากกว่าก็ได้
อย่าว่าแต่ความชอบที่เป็นเรื่องของวิชาการ แม้เป็นเรื่องง่ายๆ เช่น ชอบดูหนังอะไร ชอบดูหนังประเภทไหน คนจำนวนมากนี่ไม่รู้นะ ยกตัวอย่าง เน็ตฟลิกซ์ ซึ่งเป็นบริการเกี่ยวกับเรื่องจัดหาหนังภาพยนตร์นานาชนิดมาให้กับสมาชิก เมื่อหลายปีก่อนเขาเคยทำ แบบสอบถามหรือความเห็นว่า ผู้ชมหรือสมาชิกชอบหนังประเภทไหน ให้ติ๊ก ให้กา ให้บอก ให้ระบุ หลายคนก็บอกว่าชอบดูหนังประเภทที่มันมีสาระ เป็นหนังเกรดเอ เป็นหนังคลาสสิก ไม่ใช่หนังแบบแอ็คชั่นหรือหนังประเภทเกรดบี
เน็ตฟลิกซ์เขาก็จัดหาหนังประเภทที่ว่ามาให้สมาชิกที่บอกว่าชอบหนังประเภทนี้ มีการแจ้งว่าตอนนี้หนังเรื่องนี้เรามีบริการให้แล้ว แต่ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ไม่ดูนะ ไม่เปิดดู ไปดูหนังประเภทอื่นแทน แล้วเป็นอย่างนี้กันมากเลย จนตอนหลังเขาเลิกถามแล้วว่าต้องการหรืออยากดูหนังประเภทไหน แต่เขาคอยสังเกตว่าสมาชิกเปิดดูหนังประเภทไหนเป็นพิเศษ แล้วก็พบว่าหนังที่สมาชิกดูจริงๆ มันไม่ใช่หนังประเภทเดียวกับที่สมาชิกบอกว่าอยากจะดู ที่ว่าอยากจะดูหนังคลาสสิกที่มันมีสาระ แต่ที่เปิดดูจริงๆ คือหนังบู๊ หนังเกรดบี
ตอนหลังเขาเลยไม่ถามแล้ว แต่อาศัยการดูว่าจริงๆ แล้วสมาชิกชอบดูหนังอะไร เพราะมันมีอัลกอริทึ่มที่สามารถบอกให้รู้ พอรู้แล้วเขาก็จัดหาหนังลักษณะนั้นมาให้ แจ้งข่าวให้สมาชิกทราบ ปรากฏว่าสมาชิกใช้บริการกันคับคั่งเลย แปลว่าเน็ตฟลิกซ์เขารู้ว่าสมาชิก ต้องการหรือชอบหนังอะไรมากกว่าเจ้าตัวเสียอีก สิ่งที่เจ้าตัวระบุว่าชอบหนังประเภทนี้เนี่ย จริงๆ ไม่ได้ชอบหรอก คิดว่าชอบแต่พฤติกรรมจริงๆ แล้วชอบหนังประเภทอื่น แล้วเจ้าตัวก็ไม่รู้นะ แต่เน็ตฟลิกซ์เขารู้ เพราะเขาติดตามว่าจริงๆ แล้วสมาชิกดูหนังอะไร แล้วเขาก็ หาหนังเหล่านั้นมาให้สมาชิก ก็เป็นวิธีการดึงลูกค้าเอาไว้
นี่ขนาดเรื่องง่ายๆ ว่าชอบหนังประเภทไหน คนจำนวนมากยังไม่รู้เลย เพราะการ ‘คิดว่าชอบ’ กับการ ‘ชอบจริงๆ’ นี่มันไม่เหมือนกัน
หรือยิ่งกว่านั้นนะ ชอบหรืออยากมีแฟนประเภทไหน อยากมีแฟนรูปร่างหน้าตาอย่างไร เดี๋ยวนี้มีหลายคนที่เขาหาคู่ทางอินเทอร์เน็ตหรือออนไลน์ สมัยก่อนคนก็ได้คู่ผ่านคำแนะนำของพ่อแม่ พ่อแม่หาคู่ให้ ตอนหลังก็เพื่อนๆ แนะนำ หรือได้คู่จากการทำงานร่วมกัน แต่ตอนหลังคนก็นิยมหาคู่ทางออนไลน์ มีบริการหาคู่เยอะแยะไปหมดเลย แล้ววิธีการก็คล้ายกันคือ ให้ระบุว่าต้องการอยากจะเจอ อยากจะคบคนประเภทไหน ผมสีอะไร ส่วนสูงเท่าไหร่ ผิวดำขาว อาชีพอะไร ระบุละเอียดเลยนะ คนก็ระบุไป แล้วเขาก็หาคนที่ตรงสเป็ค กับที่สมาชิกระบุ พอนัดเจอกัน ปรากฏว่าไม่ค่อยได้ลงเอยกันเท่าไหร่นะ ที่ลงเอยจริงๆ คือไปลงเอยกับสเป็คที่ตัวเองไม่ได้ระบุไว้ เป็นอย่างนี้เยอะเลย
นั่นแปลว่าอะไร แปลว่าคนจำนวนมากไม่รู้ว่าตัวเองชอบคู่ประเภทไหน แบบไหน ต่อเมื่อได้เจอบางคนเข้าถึงรู้ว่าใช่ มารู้ว่าใช่ตอนเจอจริงๆ ซึ่งมันก็ไม่ตรงกับที่ตัวเองเคยคิดหรือเคยระบุเอาไว้
นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า คนเราจริงๆ นั้น จำนวนมากไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร แม้กระทั่งเรื่องธรรมดาๆ เช่น ชอบดูหนังอะไร ชอบแฟนประเภทไหน ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่มันจริงจัง อย่างเช่น มีหลายคนที่มาหาอาตมา หลายคนบอกว่าอยากจะฟังธรรม คิดว่าอาตมา เป็นเทปนะ อยากจะฟังธรรมแล้วให้อาตนาเปิดหรือพูดไปเลยนะ อาตมาก็จะถามว่าอยากฟังเรื่องอะไร แล้วร้อยทั้งร้อยนี่อึ้งเลยนะ ตอบไม่ได้ว่าอยากจะฟังเรื่องอะไร นี่แม้กระทั่งว่าสนใจธรรมะ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองสนใจธรรมะเรื่องอะไร คิดอยู่นานนะ บางทีก็คิดไม่ออก ส่วน หนึ่งเป็นเพราะว่าไม่ได้เตรียมทำการบ้านมา มาถึงก็ให้อาตมาพูดธรรมะโดยที่ไม่ได้เตรียมการบ้านมาเลยว่า ตัวเองอยากจะฟังเรื่องอะไร อีกส่วนหนึ่งเพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือสนใจเรื่องอะไรด้วย
นี่ขนาดคนที่สนใจธรรมะนะ แล้วก็อุตส่าห์เดินทางมาไกล แต่ไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะฟังเรื่องอะไร หรือสนใจเรื่องอะไร
ฉะนั้นเรื่องการรู้ตัว อย่าคิดว่าเป็นเรื่องหญ้าปากคอกนะ คนส่วนใหญ่นี่เรียกว่าไม่ค่อยรู้ตัวหรอก ไม่ใช่แค่รู้ว่าตัวเองมีนิสัยอย่างไรหรือชอบอะไรนะ ยิ่งการรู้ตัวในแต่ละขณะ ยิ่งไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ เช่น ตอนที่ใจลอย หรือตอนที่จมอยู่ในอารมณ์ก็ไม่รู้ตัว หรือเวลามีอารมณ์ ความรู้สึกอะไรก็ไม่รู้ อาตมาเคยถามคนที่มาหาว่า “ตอนนี้รู้สึกยังไง มีความรู้สึกอะไรอยู่ตอนนี้” ตอบไม่ได้ ตอบเป็นความคิดไปเลย
คนเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยรู้นะว่า ตัวเองรู้สึกอะไร ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัวด้วย แล้วพอไม่รู้เนื้อรู้ตัวมันก็เกิดปัญหาตามมาคือ จมอยู่ในความทุกข์ได้ง่าย กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ กลายเป็นคนขี้หงุดหงิด กลายเป็นคนที่เครียดวิตกกังวล เพราะตอนนั้นมันลืมตัว แล้วพอ เครียด พอหงุดหงิด พอกังวล หรือตื่นตกใจ มันก็ยิ่งลืมตัวหนักเข้าไปใหญ่ อย่างเช่นคนที่โกรธเนี่ย พอโกรธก็ลืมตัว พูดอะไรไปก็ไม่รู้ บางทีก็ใส่อารมณ์กับลูก บางทีก็ต่อว่าพ่อแม่ เพราะท่านทำอะไรไม่ถูกใจหรือไม่เชื่อฟัง อันนี้เพราะลืมตัว พอมารู้ตัวหรือนึกขึ้นมาได้ก็ เสียใจว่า ไม่น่าเลย
แล้วคนเราเดี๋ยวนี้ลืมตัวกันบ่อย มีคนกลุ่มหนึ่งอยู่ในวัยกลางคน ไปเล่นน้ำทะเลแถวภูเก็ตหรือแถวอันดามัน ไปส่องดูปะการัง มีผู้หญิงคนหนึ่งเขาชอบดูปะการังมากเลย เกาะห่วงยางดูปะการังใต้ทะเล พอเหนื่อยแล้วก็ขึ้นมาบนเรือกับเพื่อนๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็วัยกลางคน กำลังนั่งพักอยู่บนเรือดีๆ ก็มีคนเห็นปลาโลมาเป็นฝูงอยู่ใกล้ๆ เพื่อนๆ ก็เลยกระโจนลงน้ำ ผู้หญิงคนนั้นที่เพิ่งขึ้นมาจากการดูปะการัง พอเห็นเพื่อนกระโดดลงน้ำ ตัวเองก็กระโดดลงบ้าง พอกระโดดไปสักพักก็ตะโกนว่า “ช่วยด้วยๆ กูว่ายน้ำไม่เป็น” จริงๆ เขาไม่ได้บอกว่า “ช่วยด้วย” เขาบอกว่า “ฉิบหายแล้ว กูว่ายน้ำไม่เป็น” … ว่ายน้ำไม่เป็นแล้วโดดไปทำไม ลืมตัวนะ เห็นเพื่อนโดดก็โดดบ้าง
แต่คนเราไม่ได้ลืมตัวแบบนี้เท่านั้นนะ บางทีเราลืมตัวแล้วมันเกิดโทษมากกว่านั้น เช่น ลงบันไดแล้วลืมตัว ใจลอย พลักตกบันได หรือเข้าห้องน้ำแล้วกำลังใจลอย ลื่นไถลล้มหัวฟาดพื้นกะโหลกร้าว หรือบางทีอัมพฤกษ์อัมพาตไปเลย นี่เขาเรียกว่า ‘ลืมตัว’ แล้วการจม เข้าไปในอารมณ์ก็เหมือนกัน อันนี้ก็เรียกว่า ‘ไม่รู้ตัว’ ตอนที่อยู่ในอามณ์นั้นก็ไม่รู้ตัว ซึ่งมันก็ธรรมดานะ คนเราจะให้รู้ตัวตลอดเวลามันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นปุถุชน แต่อย่างน้อยถ้าเรามีสติ เราก็จะรู้เนื้อรู้ตัวได้ไว เราจะรู้สึกตัวได้ทันท่วงที แล้วไม่ทำอะไรที่มันผิดพลาดหรือ เกิดโทษทั้งกับตัวเองและผู้อื่น
แต่เรื่องนี้คนไม่ค่อยสนใจนะ คนคิดแต่จะหาความสงบ สงบโดยที่ไม่ต้องคิดอะไร ซึ่งมันไม่พอนะ แม้จะมีความคิดแต่ก็ยังสงบได้ถ้าหากรู้ทันความคิด รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น มีความรู้เนื้อรู้ตัวจนหลุดจากอารมณ์ จนหลุดจากความคิดได้ เวลาโกรธนี่ก่อนที่จะพูดหลุด ปากอะไรไป มันรู้ตัวขึ้นมา มันไม่ได้แค่นึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์นะ แต่เกิดความระลึกได้ในปัจจุบัน เกิดความรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นก็เลยหายโกรธ เวลาที่กำลังเศร้า กำลังหดหู่อยู่ เกิดรู้ตัวเนื้อรู้ตัวขึ้นมา ก็หลุดจากความเศร้าความหดหู่ได้ ขณะที่ใจลอย พอมีสติรู้ทันความ คิดเกิดรู้สึกตัวขึ้นมา ก็กลับมาอยู่กับปัจจุบัน อันนี้ก็ทำให้เราพบกับความสงบได้ แม้ว่าอยู่ท่ามกลางผู้คน
หลวงปู่เจี๊ยะ ท่านพูดไว้ดี ท่านบอกว่า “สงบอยู่คนเดียวในที่เงียบ มันไม่ใช่ความสงบที่แท้ มันต้องสงบท่ามกลางความเป็นไปของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง มีการเคลื่อนไหวหรือมีความแปรปรวน คือความสงบที่แท้จริง” ซึ่งสงบแบบนี้ได้มันต้องมีสติ มีความรู้สึกตัว ซึ่ง ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการฟังธรรมเยอะๆ บ่อยๆ แต่เกิดจากการปฏิบัติ ซึ่งต้องอาศัยการลงแรง ต้องเจอกับความเมื่อย ต้องเจอกับความง่วง ต้องเจอกับความเบื่อ แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันก็จะสอนให้เรามีสติ รวมทั้งความคิดฟุ้งปรุงแต่งต่างๆ ถ้าเราไม่ไปกด ไม่ไปห้ามมัน มันก็ จะสอนให้เรามีสติรู้ทันความคิดได้เร็ว
แต่ก่อนที่จะไปรู้ทันความคิด ก็ให้มารู้กายก่อน เวลาเดินก็ให้รู้ตัวว่าเดิน เวลายกมือก็ให้รู้ตัวว่ายกมือ ตอนนั้นมันจะรู้สึกว่ามือยก กายขยับ เท้าเขยื้อน อันนี้เรียกว่ารู้กาย เป็นความรู้ตัวแบบหนึ่ง ต่อไปมันก็จะรู้ความคิด รู้อารมณ์ ก็เป็นการรู้ตัวอีกระดับหนึ่ง.