พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565
สิ่งที่เราพาลพบประสบเจอะเจอตั้งแต่เล็กจนมาถึงปัจจุบัน หรือว่าที่เราเรียกว่าประสบการณ์ทั้งหลายทั้งปวง แม้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อสมัยที่เรายังเด็กเป็นวัยรุ่น หรือเพิ่งผ่านไปเมื่อไม่กี่วันไม่กี่ชั่วโมงก็ตาม แม้มันเป็นอดีตไปแล้ว แต่มันก็ไม่ได้หายไปไหน มันก็กลายมาเป็น ส่วนหนึ่งของความทรงจำของเรา
แล้วความทรงจำมันก็เป็นสิ่งที่จะเรียกว่าหล่อหลอมหรือปรุงแต่งมาเป็นตัวเราขึ้นมา รวมทั้งเป็นเหมือนวัตถุดิบที่เราเอามาใช้ในการดำเนินชีวิต ความทรงจำของเราเกี่ยวกับผู้คน จะเป็นพ่อแม่ เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการเกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้น หรือความทรงจำเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆก็เหมือนกัน มันล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์
และแน่นอนนะ ข้อมูล ความรู้ ข่าวสารที่เราได้เรียนรู้หรือได้อ่านเจอมันเป็นอดีตก็จริง แต่มันก็เป็นสิ่งที่เรานำเอามาใช้เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต อันนี้รวมถึงสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากโรงเรียน มหาวิทยาลัย จากครูบาอาจารย์ พวกนี้กลายมาเป็นความทรงจำของเรา
แต่ว่าสิ่งที่เราถือว่าเป็นความทรงจำนี้ มันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราเคยเจอะเจอ หรือพาลพบในอดีตเท่านั้นน่ะ คนมักจะเข้าใจว่าความทรงจำทั้งหลายทั้งปวงที่มันอยู่ในหัวของเรานี้ มันคือสิ่งที่เราได้เคยจะเจอะเจอมันคือความเป็นจริงที่อาจจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว
แต่ที่จริงแล้วมันเป็นอะไรที่ซับซ้อนมากไปกว่านั้นน่ะ เพราะว่าสิ่งที่มันอยู่ในความทรงจำของเราบางอย่างอาจจะไม่เคยเกิดขึ้นมาเลย เราอาจจะไม่เคยเจอะเจอมาก่อนด้วยซ้ำ แต่เราไปทึกทักว่ามันคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเราในอดีต เราจึงเรียกมันว่าความทรงจำ แต่ว่ามันก็ไม่แน่เสมอไปน่ะว่า สิ่งที่เราจำได้นั้นคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า
เคยมีการทดลองกับเด็กอายุประมาณ 9 ขวบ 10 ขวบกลุ่มหนึ่ง พี่ชายก็มาบอกมาเล่าให้กับเด็กกลุ่มนี้ว่าตอนที่พวกเธออายุ 4-5 ขวบ เธอเคยถูกลักพาตัว สิ่งที่พี่ชายบอกเล่ากับน้อง มันเป็นการบอกเล่าตามสคริปต์ตามบทที่นักจิตวิทยาบอก
เพราะฉะนั้นที่บอกกับเด็กกลุ่มนี้ 9 ขวบ 10 ขวบเหมือนกันหมดเลย ก็คือว่าตอนที่เกิดเหตุนี้น่ะ พวกเธออยู่ในห้างสรรพสินหค้าหรือ Supermarket กับแม่ แล้วจู่ๆตอนที่แม่เผลอ ก็มีผู้ชายคนหนึ่งจูงเธอไปที่ประตูทางออก แต่บังเอิญแม่เห็น แม่ก็เลยร้องโวยวาย ชาย คนนั้นก็เลยปล่อยมือเธอแล้วรีบหนีไป
ที่จริงเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้น มันเป็นแค่บทที่พี่ชายเล่าตาม Script ที่นักจิตวิทยาบอก มันไม่เคยเกิดขึ้นเลยแต่ว่าพอผ่านไป 2-3 เดือน เด็กกลุ่มนี้พอมีคนมีมาถามเกี่ยวกับประสบการณ์หรือเหตุการณ์ในช่วงอายุ 4-5 ขวบ ทั้งหมดเลยก็จะพูดว่าเคยถูกลักพาตัว เหมือน กับว่ามันเป็นส่วนหนึ่ง เหมือนกับว่ามันออกมาจากความทรงจำของเด็กเหล่านี้ พูดเป็นตุเป็นตะเลย เหมือนกับว่าจำได้ว่าเคยเกิดขึ้นมาก่อนตอนที่อายุ 4-5 ขวบถูกลักพาตัว แต่ไม่สำเร็จ
แล้วเด็กบางคนก็เติมแต่งเหตุการณ์ต่างๆ เรียกว่าเติมกันไปคนละอย่างสองอย่าง ทั้งๆที่ไม่ได้เคยเกิดขึ้นจริง แต่ว่าเด็กเหล่านี้คิดไปแล้วว่ามันคือเกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แล้วก็กลายเป็นความจำของเด็กกลุ่มนี้ไป
การทดลองนี้ต้องการพิสูจน์หรือชี้ว่า มันสามารถปลูกถ่ายความทรงจำลงไปในจิตใจของคนได้ หรือปลูกถ่ายความทรงจำลงไปในหัวของเด็กได้ เรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเด็ก เด็กก็คิดว่ามันเคยเกิดขึ้นเพียงเพราะมีคนมาบอก อันนี้ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เอ๊ะ สิ่งที่เด็ก คิดว่าตัวเองจำได้ หรือว่าจำว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เกิดขึ้น จริงหรือเปล่า
แล้วที่จริงไม่ใช่เฉพาะเด็ก ผู้ใหญ่ก็ใช่ว่าความจำจะน่าเชื่อถือได้หมด เพราะว่าความจำของผู้ใหญ่เอง มันก็สามารถที่จะถูกปรุงแต่ง หรือเติมแต่ง หรือปรับเปลี่ยนได้ ทั้งๆที่สิ่งที่ได้เห็นได้ยินอาจจะเพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึง 10 นาทีนี้เอง
อย่างที่เขาทดลองเอา นักศึกษาโตแล้ว เป็นนักศึกษาจิตวิทยาด้วย 3 กลุ่มมาดูหนัง เป็นคลิปสั้นๆ คลิปนั้นก็คือว่า มีผู้หญิงกำลังอยู่ในห้างสรรพสินค้า กำลังจะจับจ่ายซื้อของอยู่ แล้วก็มีรถเข็นด้วย ขณะที่กำลังเข็นรถอยู่ในห้างนั้น ก็มีผู้ชายคนหนึ่งย่องมาจากข้าง หลังแล้วก็รีบคว้ากระเป๋าเงินที่ผู้หญิงคนนั้นวางไว้ในรถเข็น แล้วก็หนีไปเลย
คลิปนั้นก็มีแค่นี้ แล้วนักศึกษาทั้ง 3 กลุ่ม ก็ได้รับมอบหมายให้บอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในคลิปนั้น แต่ว่า 3 กลุ่มนี้จะได้รับคำถามที่แตกต่างกัน
กลุ่มแรก เขาถามว่า ขโมยชนผู้หญิงคนนั้นหรือไม่ ส่วนกลุ่มที่ 2 ได้รับคำถามว่าผู้ร้ายผลักผู้หญิงอย่างไร ไม่ได้ถามว่าหรือไม่ แต่ถามว่าอย่างไร
กลุ่มที่ 3 ก็ให้เล่าว่า ได้เห็นอะไรจากคลิปนั้น ไม่มีการชี้นำ ไม่มีการถามว่าขโมยชนผู้หญิงหรือไม่ หรือผู้ร้ายผลักผู้หญิงอย่างไร
ปรากฏว่ากลุ่มแรกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์บอกว่า ขโมยชนผู้หญิง ก่อนที่จะคว้ากระเป๋าไป
ส่วนกลุ่มที่ 2 ที่ถูกถามว่า ผู้ร้ายชนผู้หญิงอย่างไร มี 70 เปอร์เซ็นต์ตอบแบบบรรยายเลยว่า ชนหรือผลักผู้หญิงคนนั้นอย่างไรบ้าง ทั้งๆที่จริงแล้วมันไม่มีการสัมผัสตัว ไม่มีการชน ไม่มีการผลักเลย
ในขณะกลุ่มที่ 3 เขาถาม ให้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากที่เห็นในคลิปนั้น มีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์บอกว่ามีการสัมผัสตัวหรือมีการชน
และสิ่งที่มันน่าสนใจก็คืออย่างที่บอกว่า มันไม่มีการสัมผัสตัวระหว่างผู้ชายที่เป็นขโมยกับผู้หญิง แต่ว่า 70% ของกลุ่มที่ 2 เล่าเป็นตุเป็นตะเลยว่ามันมีการชนอย่างไรบ้าง แล้วก็เติมแต่งรายละเอียด ทั้งที่เพิ่งเห็นเพิ่งดูคลิป 20 นาทีนี้เอง แต่ความจำของนักศึกษากลุ่มที่ 2 มันเปลี่ยนไปเลย เพราะมีการถามนำว่าผู้ร้ายนั้นชนผู้หญิงอย่างไร
พอถามแบบนี้ มันเกิดการปรุงแต่งขึ้นมาในใจของนักศึกษาว่ามันมีการชนกัน มันมีการสัมผัสตัว มันมีการผลัก อันนี้แสดงให้เห็นเลยว่าความจำแม้กระทั่งเป็นผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เหตุการณ์หรือภาพที่ได้ดู มันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 10 นาที แต่มันก็ถูกปรุงแต่งให้ผิดเพี้ยนได้
แม้แต่กลุ่มที่ 3 ซึ่งถามคำถามเพียงว่า ให้เล่าถึงสิ่งที่เห็นในคลิปนี้ ก็ยังมีถึงเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่ามีการชนกัน ทั้งที่ความจริงมันไม่มีเลย
อันนี้แปลว่าอะไร แปลว่าความจำของคนเรามันยังเชื่อไม่ได้ แล้วมันก็สามารถที่จะมีการเติมแต่ง โดยเฉพาะหากมีคำถามนำหรือโน้มน้าวแบบเนียนๆ บางทีไม่ต้องมีคำถามนำก็ได้ แต่ว่าอาจจะมีเหตุอื่นที่ทำให้ความจำของคนเรามันผิดเพี้ยนไปได้จากความจริง
อย่างมีอาจารย์คนหนึ่งกำลังบรรยายวิชาอาชญวิทยา ก็มีนักศึกษาเป็นร้อยเลยนั่งฟัง ขณะที่อาจารย์กำลังบรรยายอยู่ จู่ๆก็มีผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาในห้องแล้วก็คว้ากระเป๋าเอกสารของอาจารย์แล้วรีบออกไปจากห้อง
นักศึกษาที่อยู่ในห้องตื่นตกใจกันใหญ่ แต่ยังไม่ทันหายตื่นตกใจ อาจารย์ก็ถามเลยว่าผู้ชายคนเมื่อสักครู่นี้รูปพรรณสันฐานเป็นอย่างไร ใส่เสื้อสีอะไร กางเกงสีอะไร ส่วนสูงเท่าไร ปรากฏว่าคำตอบที่ได้จากนักศึกษา ซึ่งมีอยู่ 100 คนแตกต่างกันมากเลย ที่ตรงข้ามกันก็มี ทั้งๆที่เหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่ถึงหนึ่งนาทีเลย แต่ว่าสิ่งที่มันอยู่ในความจำของนักศึกษา มันคลาดเคลื่อนจากความจริงไม่น้อยเลย
เพราะอะไร เพราะตอนนั้นมันตื่นตกใจ พอตื่นตกใจ สิ่งที่จำได้ไม่ใช่ว่ามันเป็นสิ่งที่เห็น เห็นอย่างหนึ่งแต่ว่ามันปรุงแต่งไปอีกอย่างนึง แล้วก็จดจำเอาไว้หรือบันทึกในความทรงจำ มันก็กลายเป็นคนละเรื่องกันได้
อาจารย์คนนี้จัดฉากขึ้นมาเพื่อที่จะสอนหรือย้ำกับนักศึกษาว่าประจักษ์พยานในเหตุการณ์หนึ่งนั้น มันยังเชื่อไม่ได้ มันเป็นการสอนที่เรียกว่าไม่ได้สอนด้วยทฤษฎี แต่สอนจากประสบการณ์ของนักศึกษาเองนะว่า อย่าว่าแต่ประจักษ์พยานคนไหน ตัวเองนั้นแหล่ะเห็น เหตุการณ์ต่อหน้าต่อตา ก็ยังจำผิดๆถูกๆ เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อประจักษ์พยานมาก เพราะว่ามันอาจจะผิดก็ได้ ทั้งๆที่เห็นเหตุการณ์ต่อหน้าต่อตา
ความจำของคนเรา แม้ว่ามันจะมีประโยชน์ แม้ว่าบางคนอาจจะจำแม่น แต่มันก็ไม่มีหลักประกันว่า สิ่งที่เราจำได้มันจะถูก ยิ่งเวลาผ่านไปๆนานๆ มันก็ง่ายมากที่ความจำจะเลอะเลือน หรือว่าถูกปรุงแต่งโดยไม่รู้ตัว
อย่างตอนเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายนเป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่มาก มีอาจารย์คนหนึ่งแกติดต่อสอบถามคนหลากหลายอาชีพทันทีเลย ประมาณ 2000 คน แล้วก็ถามคำถาม 3 ข้อ ตอนเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายนนั้น คุณอยู่ที่ไหน คุณอยู่กับใคร แล้วกำลังทำอะไร ให้เขียนมา
อาจารย์คนนี้ก็เก็บคำตอบของคน 2000 คน เวลาผ่านไป 1 ปี 3 ปี แล้วก็ 10 ปี อาจารย์คนนี้ก็ถามคนทั้งสองพันคน คำถามเดิมว่า ตอน 11 กันยายน คุณอยู่ที่ไหน ทำอะไร อยู่กับใคร หลังจากเหตุการณ์ครบ 1 ปี ครบ 3 ปี และครบ 10 ปี
เขาก็เอาคำตอบของคน 2000 คนนี้ เอาคำตอบสุดท้ายก็คือเมื่อผ่านเหตุการณ์ไปแล้ว 10 ปี เอามาเทียบกับสิ่งที่เขียนหรือคำตอบตอนที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ ปรากฏว่าไม่ตรงกันถึง 40 เปอร์เซ็นต์
2,000 คน ถ้าคิด 40% ก็เท่ากับ 800 คน ที่ตอบผิด ตอบผิดหมายถึงว่า คำตอบไม่ตรงกับคำตอบแรกตอนที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ แปลว่าอะไร แปลว่าความจำเล่อะเลือน ความจำแปรเปลี่ยนไป ทั้งๆที่คำถามก็ไม่ได้ยากอะไร ตอนนั้นคุณอยู่ที่ไหน ทำอะไร อยู่กับใคร
แต่พอเหตุการณ์ผ่านไป 10 ปี หลายคนพอย้อนระลึกถึงเหตุการณ์นั้นว่า คุณอยู่ที่ไหน ทำอะไร อยู่กับใคร มันเปลี่ยนไปเลย แต่คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าความจำของฉันมันจะเปลี่ยนไปได้อย่างไร หลายคนยังมีความเชื่อว่าฉันต้องจำได้สิ เหตุการณ์แบบนี้มันไม่มีใครลืม ไม่วันลืมเลือนเลย ถ้าไม่มีหลักฐานยืนยัน ทุกคนก็จะบอกว่า นี้สิ่งที่ฉันจำ มันไม่มีผิดพลาดหรอก แต่ว่ามันมีหลักฐานยืนยันว่าที่คุณจำนี้น่ะหรือสิ่งที่อยู่ในความจำคุณนั้น มันไม่ใช่ สิ่งที่คุณจำหรือความจำของคุณ มันไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะมีหลักฐานยืนยัน
อันนี้เราอาจจะทดลองดูก็ได้ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม เราจำได้ไหมเกิดเหตุการณ์อะไร 6 ตุลาคมที่หนองบัวลำภู เหตุการณ์นี้คนไทยเรียกว่าแทบจะทั้งประเทศรู้ว่ามันเกิดอะไร เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญมาก ที่หนองบัวลำภู ลองบันทึกว่าตอนที่เกิด เหตุการณ์นั้น เราอยู่ที่ไหน เราทำอะไร แล้วเราอยู่กับใคร
ครบ 1 ปี ตอบใหม่ ฉันอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร ทำอะไร ผ่านไป 5 ปีตอบเหมือนเดิม ฉันอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร ทำอะไร แล้วลองเทียบนะ กับสิ่งที่ตอบในวันนี้ กับสิ่งที่ตอบในอีก 5 ปี ใน 10 ปีข้างหน้าว่ามันตรงกันไหม
ตอนที่ไม่เทียบกันนะ เราก็คิดนะว่าฉันจำไม่พลาดหรอก มันจะพลาดได้อย่างไร แต่ปรากฏว่าบางทีมันคนละเรื่องกันเลยหรือออกทะเลไปเลยก็มี แสดงว่าความจำคนเราไม่แน่นอน มันไม่ใช่แค่ความจำคนเราเล่อะเลือน หรือว่าเสื่อมไปตามวัย แต่ว่ามันแปรเปลี่ยนไปด้วย และถ้าไม่มีหลักฐาน เราก็ไม่เชื่อน่ะ
อย่างบางคนดูหนังบางเรื่องที่ชอบในวัยเด็ก เช่น ตอนเด็กๆดูหนังเรื่อง ET โห ชอบมากเลย แล้วก็จดจำบางฉากได้น่ะว่าฉากนั้นฉันชอบ แล้วก็คิดว่ามีฉากนี้ แต่พอมาดูใหม่ เอ๊ะมันหายไปไหนนะ ฉากที่ฉันคิดว่าฉันจำได้นี่มันไม่มีในหนัง แต่บางคนจะพบว่า ไอ้ที่จำนั้นมันผิดน่ะ แต่ถ้าไม่มาดูหนังตอนโต ก็อาจจะยังคิดว่าฉันจำได้แม่นเลย มีฉากนี้ แต่ที่จริงมันเติมแต่ง
อาตมาก็เป็น กับหนังบางเรื่องที่ดูตอนอายุ 5 ขวบนั้น แล้วก็จำได้ว่ามีฉากนี้ แต่พอมาดูตอนโต เอ๊ะมันไม่มีฉากนี้น่ะ มันเชื่อเป็นมั่นเป็นเหมาะเลยว่าจำได้ว่ามีฉากนี้ ตื่นตาตื่นใจมาก แต่ที่จริงมันปรุงแต่งขึ้นมาเอง
และทั้งหมดทั้งมวลเพื่อจะชี้ให้เห็นว่าความจำคนเรา มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อความจำมาก แต่คนจำนวนไม่น้อยเขาเชื่อฝังหัวเลยว่าฉันจำไม่ผิดหรอก แล้วบางทีก็ทะเลาะกันน่ะเพราะว่าความจำไม่เหมือนกัน
ไม่ต้องพูดถึงเหตุการณ์ในวัยเด็ก บางทีเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้หรือเมื่อวานซืนนี้ บางทีเถียงกัน ทะเลาะกัน ฉันจำได้ ฉันวางของไว้ตรงนั้น แล้วมันหายไปไหน อีกคนบอกไม่ได้วาง ก็เถียงกัน หรือบางทีก็เถียงกันว่า เธอพูดแบบนี้ อีกคนบอกว่าฉันไม่ได้พูด อีกคนบอกว่าจำได้ว่าเธอพูดแบบนั้น แล้วก็เถียงกัน ทะเลาะกัน บางทีระหว่างสามีภรรยา ระหว่างเพื่อน ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง และบางทีก็จะเอาเป็นเอาตายเลย
แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้จักเตือนใจตัวเองบ้างว่าความจำของคนเรา มันอาจจะผิดเพี้ยนก็ได้ แม้ว่าเราอาจจะเป็นคนที่มีความจำดี แต่ว่าในบางเรื่องเราอาจจะเติมแต่งเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เหมือนกับที่นักศึกษาจำรูปพรรณสัณฐานของผู้ร้ายที่มาขโมยกระเป๋าอาจารย์ต่อหน้าต่อตา จำแบบผิดๆถูกๆ ทั้งๆที่เป็นคนที่มีความรู้ บางคนเป็นคนมีความจำดี แต่ว่าพอให้ย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดเมื่อ 5 นาที หรือ 1 นาทีที่แล้วนี่มันจำผิดจำถูก และถ้าเอาจริงเอาจัง มันก็จะทะเลาะกัน
อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความจำเล่อะเลือน ตามวัยพอแก่ชราก็ยิ่งเลอะเลือน แล้วคนที่ไม่เข้าใจความจริงตรงนี้ว่า มันไม่เที่ยง จะทุกข์ คนแก่จำนวนไม่น้อยเลยหรือบางคนที่วัยกลางคนเป็นทุกข์มากเลย ว่าความจำเล่อะเลือน จำชื่อคนไม่ได้ จำข้อมูลข่าวสารไม่ได้ หรือ จำความรู้บางอย่างไม่ได้ เป็นทุกข์มากเลย ทั้งๆที่มันเป็นธรรมดา ยังไม่ต้องพูดถึงว่าที่มันจำอาจจะจำผิดก็ได้เพราะเติมแต่ง
เพราะฉะนั้น คนเราถ้าเกี่ยวข้องกับความจำได้ถูกต้อง มันไม่ทุกข์นะ เช่นอย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับความจำมาก รู้จักทักท้วง สิ่งที่คิดว่าเป็นความจำ สิ่งที่จำ มันอาจจะไม่เคยเกิดขึ้นก็ได้ ต้องรู้จักทักท้วงมันบ้าง อย่าไปหลงเชื่อมัน หรืออย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับมันทั้งหมด
และที่สำคัญอีกอย่างก็คือว่า อย่าให้ความจำเป็นนายเรา ถ้าความจำเป็นนายเรานี่แย่นะ เพราะบางครั้งคนเราก็มีความจำที่เจ็บปวด บางครั้งก็มีความจำที่มันทำให้ขมขื่น บางครั้งก็ทำให้อาจจะรู้สึกเจ็บปวดกับเหตุการณ์บางอย่าง
การที่เราจำเหตุการณ์นั้นได้ มันก็ดี มีประโยชน์ แต่ว่าถ้าปล่อยให้เป็นนายเรา มันก็เหมือนกับโซ่ที่ตรึงเราเอาไว้ เพราะว่ามันก็จะทำให้เราจมอยู่ในกับอดีต บางคนที่ไม่สามารถที่จะอยู่กับปัจจุบันหรือเดินไปข้างหน้าได้เลยเพราะว่าจมอยู่กับอดีต เพราะว่าถูกความทรงจำที่เจ็บปวดมันล่ามเอาไว้
บางทีก็ไม่ใช่ความทรงจำที่เจ็บปวด มันอาจจะเป็นอดีตที่รุ่งเรืองหรืออาจจะเป็นวันวานอันหวานชื่นก็ได้ แต่ว่ามันกลายเป็นอดีตไปแล้ว ก็เสียดายอาลัย ก็ยังจมอยู่กับอดีตที่เคยสวยงาม หรือบางคนอาจจะเคยประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงเป็นนักกีฬาเหรียญทอง แต่ ตอนนี้ไม่มีคนรู้จักแล้ว ก็ยอมรับกับปัจจุบันไม่ได้ ก็จมอยู่กับเรื่องราวในอดีต กับเรื่องที่มันเป็นความรุ่งเรืองเรืองโรจน์หอมหวาน แต่มันเป็นอดีตไปแล้ว
ถ้าปล่อยให้อดีตมาเป็นนายเราหรือปล่อยให้ความทรงจำเป็นนายเรา เราก็ไม่สามารถที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า แล้วก็อยู่กับปัจจุบันอย่างมีความรู้สึกตัวหรือมีความสุขได้เลย คนเราถ้าไม่อยู่กับปัจจุบัน มันก็ทุกข์ได้ง่าย มันก็เหมือนกับถูกล่ามไว้กับอดีต มันก็ทำให้ชีวิตยากที่จะพบกับความสดใส ความชื่นบาน หรือว่าใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์
ความจำนั้นถ้าเราเป็นนายมัน มีประโยชน์ เราใช้มันก่อให้เกิดประโยชน์ได้มากมาย แต่ถ้าปล่อยให้มันเป็นนายเรา แย่เลย เราไม่สามารถจะเดินต่อไปข้างหน้าได้เลย.