พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565
การฝึกจิตอบรมใจ ที่เราเรียกอีกอย่างว่าปฏิบัติธรรม มันมีวิธีที่หลากหลายหรือมีหลายรูปแบบ อย่าไปคิดว่ามันจะต้องจำกัดอยู่ที่การนั่งหลับตา หรือการเดินจงกรม หรือการยกมือสร้างจังหวะ บางอย่างดูเหมือนไม่น่าจะเป็นการปฏิบัติธรรม แต่มันก็ใช่นะ เพราะมันช่วย กล่อมเกลาอบรมจิตได้ อย่างเช่นการจัดดอกไม้ ซึ่งก็ช่วยฝึกสติ สมาธิ ช่วยทำให้ใจมีความอ่อนโยน แล้วบางทีอาจจะเกิดปัญญาเห็นธรรมจากไม้
จากดอก จากใบ ที่ตัวเองนำมาจัดในแจกันก็ได้
โรงเรียนของฉือจี้ ที่มีเจ้าของคือมูลนิธิฉือจี้ (มูลนิธิทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงในประเทศไต้หวัน) ชั้นเรียนในโรงเรียนของฉือจี้ตั้งแต่ ป.๑ เลยก็ว่าได้ เขาจะสอนให้เด็กรู้จักจัดดอกไม้ เรียนกันจนกระทั่งถึงระดับมัธยมเลย แล้วยิ่งกว่านั้นวิทยาลัยพยาบาลหรือ มหาวิทยาลัยแพทย์ของฉือจี้นั้น วิชาหนึ่งที่ต้องเรียนคือจัดดอกไม้ ขนาดนักศึกษาแพทย์ยังต้องเรียนหรือฝึกการจัดดอกไม้ ซึ่งนับว่าแปลกมากในสายตาของคนทั่วไป เพราะไม่เห็นเกี่ยวกับเรื่องของการรักษาร่างกายเลย
แต่ที่จริงมันเกี่ยวมากนะ เพราะมันเป็นวิธีในการกล่อมเกลาจิตของนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล ให้มีความอ่อนโยน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ช่วยเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ เพราะฉือจี้เขาชูประเด็นเรื่องการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ว่ารู้แต่เรื่องกายวิภาค รู้แต่เรื่องอวัยวะต่างๆ แต่จิตใจแห้งแล้งหรือไม่เข้าใจถึงเรื่องความสำคัญของจิตใจ แล้วที่สำคัญคือ หมอและพยาบาลต้องมีความเมตตา มีความอ่อนโยนด้วย อันนี้เรียกว่า การจัดดอกไม้ เป็นการภาวนาอย่างหนึ่งที่ฝึกใจ เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมก็ได้
การชงน้ำชานี่ก็ใช่นะ เซนซึ่งเป็นพุทธศสานานิกายหนึ่งที่แพร่หลายมากในญี่ปุ่นเมื่อหลายร้อยปีก่อน จวบจนกระทั่งเมื่อร้อยกว่าปีมานี้ เขาก็ถือว่าการชงน้ำชาเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ช่วยทำให้ใจเกิดความสงบและเกิดสมาธิด้วย แล้วฝึกให้จิตอยู่กับปัจจุบัน เป็นการเจริญสติทำความรู้สึกตัว มันมีปรัชญาลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ในพิธีชงน้ำชา ไม่ใช่ว่าจะทำกันง่ายๆ นี่ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งนะ
ทุกวันนี้ก็มีการฝึกจิตหรือการอบรมใจที่หลากหลาย พิธีหนึ่งที่อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมเลยนะ แต่ผลลัพธ์มันใช่เลย นั่นก็คือการทำภาพพิมพ์ลายใบไม้ เคยพูดไปแล้วนะ การทำภาพพิมพ์ลายใบไม้เนี่ย ดูเผินๆ มันก็เป็นงานศิลปะ ทำให้ผ้ามันมีความ งดงามโดยอาศัยลายของใบไม้ เป็นความงามจากธรรมชาติ มันไม่ใช่แค่ลายของใบไม้นะ แต่รวมถึงสีจากใบไม้ด้วย ซึ่งก็มีความหลากหลาย ใบไม้ที่เราเห็นหล่นอยู่บนพื้น ถ้าเอามาทำเป็นงานศิลปะมันก็สวยนะ ทั้งสีทั้งลวดลาย อย่างที่เราอาจจะนึกไม่ถึงเลยนะว่า ใบไม้ ธรรมดาๆ นี่จะให้ลายและสีที่งดงาม ซึ่งทำให้คนที่ทำงานแบบนี้มีจิตใจอ่อนโยน รักธรรมชาติ
แต่ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ มันช่วยฝึกจิตให้รู้จักปล่อยวางด้วย เพราะสีก็ดี ลายก็ดีของใบไม้มันเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้เลย เราอยากจะให้มันมีลายแบบนี้ สีแบบนั้น แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็ไม่เป็นไปดั่งใจเรา ได้เรียนรู้ว่าธรรมชาตินี้เขาไม่อนุญาตให้เราไปควบคุมเขา ได้เรียนรู้ว่าเราไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามใจของเราได้ มันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยมากมายที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรา และไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของเรา ยิ่งคาดหวังจะให้มันมีสีออกมาแบบนี้ ลายออกมาแบบนั้น ยิ่งเป็นทุกข์ แต่พอไม่คาดหวัง ให้ธรรมชาติเขาแสดงตัวออกมา มันก็เกิดความสุขความพอใจขึ้น
สำหรับคนที่ทำงานแบบนี้ก็ได้ฝึกการปล่อยวาง ทีแรกอาจจะปล่อยวางไม่คาดหวังจากผลงานที่เกิดขึ้นจากใบไม้ แต่ต่อไปก็จะทำให้เกิดความเข้าใจว่าสิ่งอื่นก็เหมือนกันนะ จะไปบังคับควบคุมให้เป็นไปดั่งใจเราก็ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นดินฟ้าอากาศ ต้นไม้ที่ปลูก หรือแม้ กระทั่งผู้คนที่อยู่รอบข้าง รวมทั้งงานการที่ทำ ถ้าหากทำแล้วไตร่ตรอง มันก็เกิดการพัฒนาทางจิตใจเหมือนกัน
มีการปฏิบัติธรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่หลายคนไม่นึกว่ามันจะเป็นการปฏิบัติธรรมได้ นั่นคือ การวิ่ง การวิ่งเดี๋ยวนี้ก็เป็นกีฬาที่คนนิยมมาก โดยเฉพาะการวิ่งที่ทำอย่างสม่ำเสมอ คนที่ตั้งใจจะวิ่งให้เป็นประจำเขาจะรู้เลยนะว่า ใหม่ๆ นี่มันต้องต่อสู้กับความเกียจคร้านในใจ รวมทั้งต้องต่อสู้กับความอ่อนแอภายใน โดยเฉพาะหากต้องวิ่งในระยะทางที่ไม่คุ้นเคย มันทั้งเหนื่อยและต้องใช้ความอดทนมากในการวิ่ง โดยเฉพาะถ้าเป็นการวิ่งที่ทำอย่างสม่ำเสมอ หรือการวิ่งระยะไกลที่ไม่คุ้นเคย การทำอะไรที่สม่ำเสมอมันก็ต้องใช้ความเพียร พยายามและความตั้งใจมาก ยิ่งเป็นการวิ่งเพื่อทำร่างกายให้ฟิตพร้อมสำหรับการลงวิ่งระยะไกล อันนี้ยิ่งต้องอาศัยการเคี่ยวกรำ ไม่ใช่แค่ร่างกายอย่างเดียว แต่จิตใจด้วย
เดี๋ยวนี้ก็มีการวิ่งระยะไกลที่จัดขึ้นอยู่หลายแห่งหลายที่ มีทั้งวิ่งมินิมาราธอน (ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร) มีทั้งวิ่งฮาล์ฟมาราธอน (ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร) หรือวิ่งมาราธอน (ประมาณ ๔๒ กิโลเมตร) คนที่จะลงวิ่งแบบนี้ได้มันก็ต้องมีการฝึกการซ้อม แล้วหลายคนก็ใช้โอกาสแบบนี้เป็นการฝึกเคี่ยวกรำตนเอง เพราะรู้ว่าการจะทำอะไรที่ยากลำบาก มันต้องมีจุดมุ่งหมายหรือมีเป้า ถ้าไม่มีเป้าพอวิ่งไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เลิกเอง แต่พอมีเป้าว่าจะต้องลงวิ่ง ๑๐ กิโลเมตร มินิมาราธอน ฮาล์ฟมาราธอน มันต้องฝึกซ้อม ยิ่งเป็นการวิ่งระยะไกล ๔๐ กิโลเมตรนี่มันต้องมีการซ้อมอย่างจริงจัง ซึ่งสิ่งที่ได้มาก็คือการมีวินัย
มันก็ไม่ต่างจากการปฏิบัติธรรมนะ เดินจงกรม สร้างจังหวะ หรือการนั่งทำสมาธิอานาปานสติ มันต้องอาศัยวินัย เพราะวินัยจะทำให้เกิดการทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ถ้าได้ฟังได้อ่านเรื่องราวของผู้ที่เขาฟิตซ้อมเพื่อลงวิ่งระยะทางไกลๆ จะเห็นเลยว่านี่คือการ ปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง เพราะมันต้องต่อสู้เคี่ยวเข็ญกับตัวเองมาก แล้วบางครั้งนี่เรียกว่าต้องยอมสละความสะดวกสบาย บางคนอยากจะนอนตื่นสาย แต่นอนไม่ได้ ต้องตื่นเช้าขึ้นมาเพื่อที่จะวิ่ง เพื่อที่จะซ้อม เพื่อที่จะฝึกให้มีความอดทนเข้มแข็ง
แล้วไม่ใช่แค่วิ่ง ๑-๒ กิโลนะ ถ้าจะวิ่งระยะไกลให้ได้มันก็ต้องวิ่งวันหนึ่ง ๑๐ กิโล แล้วถ้าหากวิ่งระยะไกลที่ตัวเองไม่คุ้นเคย เช่น วิ่งเทรล ๑๐๐ กิโลเมตรอย่างนี้ มันยิ่งกว่ามาราธอนอีกนะ วิ่งมาราธอนอาจจะวิ่งบนทางราบ แต่วิ่งเทรลนี่นอกจากระยะทางจะไกลกว่า มาราธอนเป็นสองเท่าแล้ว บางช่วงก็ต้องวิ่งขึ้นเขา ขึ้นเขาก็ว่าแย่แล้ว ตอนลงเขานี่ก็หนักเหมือนกัน
แล้วของพวกนี้มันต้องอาศัยการซ้อมให้ร่างกายฟิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายความว่าต้องซ้อมกัน ๔-๕ เดือนเลยทีเดียว แล้วก็ต้องมีวินัยนะ ต้องวิ่งกันอาทิตย์ละ ๑๐๐ กิโลเมตร บางคนตั้งเป้าแล้วทำได้ด้วยนะ วิ่ง ๑๕๐-๑๖๐ กิโลเมตรต่ออาทิตย์ เท่านั้นไม่พอ เสาร์ อาทิตย์ต้องวิ่งวันละ ๓-๔ ชั่วโมง บางทีก็วิ่ง ๕ ชั่วโมง เสาร์อาทิตย์ซ้อมติดกันเลย เรียกว่า back to back นะ ติดๆ กันเลยสองวัน
คนที่จะทำได้ มันต้องใช้วินัยและใจที่ฮึดสู้มาก ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมเลย เพราะต้องต่อสู้กับความอ่อนแอภายใน ต้องต่อสู้กับกิเลสความเกียจคร้าน แล้วบางทีมันมีคำถามนะว่า “วิ่งไปทำไม” เพราะมันเหนื่อยเหลือเกิน บางคนวิ่งตั้ง ๕-๖ ชั่วโมง แล้ว ไม่ใช่วิ่งกลางวันนะ วิ่งสองทุ่มถึงตีสามอย่างนี้ ถ้าถามว่าวิ่งไปทำไม บางทีมันไม่มีเหตุผลที่จะตอบนะ ไม่รู้จะตอบยังไงว่า “วิ่งไปทำไมสองทุ่มถึงตีสาม” หรือวิ่งทั้งวันตั้งแต่เช้าสายบ่ายเย็น ทั้งๆ ที่เอาเวลาไปทำอย่างอื่นก็ได้ ไปเที่ยวเล่นก็ได้ หรือนั่งดูหนังดูโทรทัศน์ ก็ได้ เล่นโทรศัพท์หรือไปคุยกับแฟนก็ได้ แต่หลายคนเลือกที่จะวิ่งแบบนี้ ๔-๕ ชั่วโมง บางที ๗ ชั่วโมงทั้งวัน
แล้วพบว่าถ้าจะวิ่งให้ได้ต่อเนื่อง มันต้องหยุดถามว่าวิ่งทำไม อย่างที่มีคนบอกว่า “ถามให้น้อย ทำให้หนัก” ซึ่งอันนี้ก็เป็นหลักของการปฏิบัติธรรมนะ หลวงพ่อคำเขียนท่านก็พูดอยู่บ่อยๆ นะ หลักของการปฏิบัติธรรม อย่าไปถามว่า “ทำไปทำไม” หรืออย่าไปเอาเหตุผลจากการปฏิบัติ เพราะถ้าเอาเหตุเอาผล นอกจากจะฟุ้งแล้ว บางทียังทำให้ไม่อยากจะปฏิบัติ มันไม่มีคำว่าทำไม เพราะถ้ามีคำว่าทำไมแล้ว มันจะเกิดความลังเลใจในการปฏิบัติ เพราะทำแล้วก็ยังไม่ค่อยเห็นผลสักที หรือทำแล้วก็เหนื่อย
คนที่ซ้อมวิ่งเพื่อลงรอบระยะไกลก็เหมือนกันนะ เขาพูดคล้ายๆ กันเลยว่า อย่าถามว่าวิ่งทำไม เพราะมันจะทำให้ท้อ ทำให้เลิกง่าย ฉะนั้นถามให้น้อยนะ แต่ทำให้หนัก หรือวิ่งไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวมันรู้คำตอบเอง เพราะผลมันจะค่อยๆ แสดงตัวให้เห็น แต่กว่าผลจะ แสดงให้เห็นมันต้องใช้เวลานะ มันต้องเคี่ยวกรำตัวเองมาก เพราะถ้าไม่เคี่ยวกรำตัวเอง ถึงเวลาไปวิ่งระยะไกล แม้จะไม่ได้วิ่งแข่งขันหรือวิ่งเอาชนะใคร แต่เป็นการวิ่งให้ได้ครบระยะหรือจบถึงเส้นชัย ถ้าไม่ซ้อมอย่างหนักมันก็ไปไม่ถึง ฉะนั้นจะวิ่งไปให้ถึงหรือจบที่เส้นชัย ก็ต้องซ้อม แต่ซ้อมมากๆ มันก็เหนื่อย หลายคนบอกว่าไม่ใช่แค่เหนื่อยอย่างเดียวนะ มันเบื่อด้วย วิ่ง ๔-๕ ชั่วโมงนี่มันเบื่อ ความเหนื่อยนี่ยังพอว่านะถ้ามันสนุก แต่วิ่งไปๆ มันเบื่อ
แต่สิ่งหนึ่งที่จะช่วยทำให้วิ่งได้ก็คือ ไม่ใช่แค่วินัยอย่างเดียว มันต้องฝึกใจให้รักสิ่งที่ทำด้วย อย่างมีบางคนบอกว่าแต่ก่อนไม่ชอบวิ่งนะ แต่พอวิ่งมากๆ แล้วร่างกายมันบอกเองว่า “ถ้ามึงไม่รักการวิ่งนะ มึงวิ่งไม่ไหวหรอก” ร่างกายมันบอกนะ “มึงต้องรักการวิ่ง มึงถึงจะวิ่งไหว” เพราะฉะนั้นการวิ่งสำหรับหลายคน ก็คือการทำสิ่งที่ไม่รัก ให้กลายเป็นสิ่งที่รัก
อันนี้ก็เหมือนการปฏิบัติธรรมในรูปแบบ ถ้าเราจะทำได้อย่างต่อเนื่องทั้งวัน จนบางทีไปถึงกลางคืน ทั้งเดินจงกรม สร้างจังหวะ ตามลมหายใจ ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ มันต้องมีใจรัก เรียกว่ามีฉันทะ แต่ถามว่าฉันทะจะเกิดขึ้นได้อย่างไร มีบางคนตอบว่าก็ต้องทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ มันก็กลายเป็นงูกินหางนะ เราจะทำบ่อยๆ ทำซ้ำๆ ได้ก็ต้องมีใจรัก แต่ใจรักจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องทำซ้ำๆ ทำบ่อยๆ มันก็ดูเหมือนไม่มีเหตุผลนะ แต่พอทำไปแล้วทีละนิดๆ ก็จะเกิดใจรักขึ้นมาเอง แต่กว่าจะทำถึงจุดนั้นได้มันต้องเหนื่อย มันเหนื่อย มันล้า มันเบื่อ มันเซ็ง ซึ่งการปฏิบัติธรรมก็แบบนี้แหละ ใหม่ๆ มันไม่ชวนให้อยากจะทำเลย หลายคนที่มาเจริญสติจะพบว่ามันเบื่อมาก ต้องอยู่กับตัวเอง ต้องทนอยู่กับการกระทำที่ซ้ำๆ แต่สุดท้ายฉันทะก็เกิด พอฉันทะเกิดแล้วความสุขก็ตามมา มีความสุขกับการปฏิบัติ
แต่ที่พูดมาทั้งหมดนี่มันเป็นช่วงการซ้อมนะ หรือเป็นช่วงที่ต้องใช้ในการซ้อม ซึ่งตัวมันเองก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าร่างกายจะฟิตพร้อมสำหรับการวิ่งระยะไกล พอถึงเวลาวิ่งระยะไกลแล้วยิ่งยากกว่าตอนซ้อมอีกนะ หลายคนบอกซ้อมมาถือว่าแย่แล้วหนักแล้ว พอ ลงสนามจริงๆ วิ่ง ๔๐ กิโล วิ่ง ๘๐ กิโล วิ่ง ๑๐๐ กิโล มันจะวิ่งให้จบก็ใช้เวลานานมากนะ อย่างบางคนวิ่งเทรล ๑๐๐ กิโล ก็คือไม่ได้หลับไม่ได้นอน วิ่งตั้งแต่แปดโมงเช้ากว่าจะถึงเส้นชัยก็สิบโมงของวันรุ่งขึ้น คือ ๒๖ ชั่วโมง บางคนกว่าจะวิ่งถึงเส้นชัยก็ ๓๐ ชั่วโมง คือไม่ต้องหลับไม่ต้องนอน เพราะถ้านอนเมื่อไหร่มันจะใช้เวลานนานกว่า ๓๐ ชั่วโมง ซึ่งเขาก็มีเวลาให้เพียงแค่ ๓๐ ชั่วโมง
เพราะฉะนั้นไม่ว่าเหนื่อยยังไงก็ต้องวิ่ง ถ้าไม่วิ่งก็ต้องเดิน แม้ง่วงยังไงก็หยุดไม่ได้ เพราะถ้าหยุดนอนเมื่อไหร่ก็ยาวเลย หลายคนรู้สึกว่ามันทรมานมากนะ แต่คนที่ฮึดสู้ก็มีนะ มานึกดูนะว่าการปฏิบัติธรรมเนี่ย บางครั้งก็ต้องอย่างนี้แหละ คือทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ไหวแต่ต้องทำให้ไหวจนได้ เรียกว่าต้องพยายามข้ามขีดจำกัดของตัวเอง
ที่จริงการซ้อมก็เป็นการพยายามข้ามขีดจำกัดของตัวเองเหมือนกันนะ อย่างเช่นบางคนวิ่งได้ครึ่งกิโลก็เหนื่อยแล้ว แต่พอวิ่งบ่อยๆ ครึ่งกิโลนี่สบายแล้ว สามารถจะวิ่งได้ ๑ กิโล แต่จะวิ่ง ๒ กิโลก็ยังเหนื่อยนะ แต่พอวิ่งบ่อยๆ ๒ กิโลก็วิ่งได้สบาย ก็เขยิบเป็นวิ่ง ๕ กิโล พอวิ่ง ๕ กิโลนี่เหนื่อยมากเหมือนว่าขีดจำกัดจะอยู่ที่ ๕ กิโล แต่พอวิ่งไปบ่อยๆ มันข้ามขีดจำกัดคือวิ่ง ๑๐ กิโลก็ได้ ขณะที่การวิ่ง ๕ กิโลกลายเป็นสบาย
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกันนะ คือการพยายามข้ามขีดจำกัดของตัวเอง บางทีเราคิดว่าปฏิบัติธรรม ๒ ชั่วโมงนี่ฉันก็แย่แล้ว แต่พอทำไปๆ พบว่าเราทำได้มากกว่านั้น บางทีเราสามารถทำความเพียรจนข้ามคืนได้ แต่ก่อนคิดว่าจะเนสัชชิก (ปฏิบัติโดยไม่นอน) ฉันจะไหวเหรอ แต่พอทำไปๆ “เออ เราก็ทำได้นะ” ทีแรกไม่คิดว่าจะทำได้ คิดว่าจะลองทำให้ถึงเที่ยงคืนก็พอแล้ว แต่พอทำไปมันไหวนะ ก็ทำต่อถึงตีสอง อดทนจนถึงตีสองก็ยังทำได้ สุดท้ายก็สามารถประคองตัวเองไปจนถึงตีสี่ ซึ่งก็อาจจะร่อแร่นะ อาจจะเหมือนกับหมด สภาพไปเลย แต่ก็ได้เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามตนเอง
หลายคนพบว่าเมื่อทำอย่างนั้นได้ มันได้เห็นตัวเอง ได้รู้จักตัวเอง คนที่วิ่งระยะไกลแม้กระทั่งในช่วงของการฝึกซ้อม ถ้าเคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนักก็จะเห็นตัวเอง เห็นด้านที่ตัวเองไม่คิดว่าจะมี เช่น ความเข้มแข็ง ใจที่ฮึดสู้ รวมทั้งเห็นด้านที่อ่อนแอด้วย เพราะบางที หรือบ่อยครั้งมันก็งอแงบอกว่า “ไม่ไหวแล้วๆ” มันมีด้านที่อ่อนแอโผล่มาให้เห็น ซึ่งบางทีหลายคนไม่เคยรู้ว่ามันมีสิ่งเหล่านี้อยู่ ขณะเดียวกันก็ได้เห็นว่าเรามีความเข้มแข็ง มีความอดทน มีความฮึดสู้
อันนี้ก็เหมือนการปฏิบัติธรรมนะ การปฏิบัติธรรมคือการทำให้เราเห็นตัวเอง รู้จักตัวเองในแง่มุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งด้านบวกและด้านลบ บางทีก็เห็นความไม่ดีของตัวเอง เช่น ขี้อิจฉา หรือเป็นคนที่มีความโลภ เป็นคนที่ชอบบ่นชอบโวยวาย ไอ้ความไม่ดีของตัวเองนี่เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติธรรมจำนวนมากเขาเริ่มเห็น
หลายคนคิดว่าฉันเป็นคนดี ฉันเป็นคนเสียสละ แต่พอมาปฏิบัติธรรมก็ได้เห็นความเห็นแก่ตัวที่มันโผล่ขึ้นมา หรือความอิจฉา ความพยาบาท ที่มันโผล่ขึ้นมา บางทีก็อยากจะเอาเปรียบคนอื่น ตรงนี้คือสิ่งที่นักปฏิบัติธรรมจะเห็น จนกระทั่งรู้ว่าเรานี่ก็ไม่ใช่คนดีเด่นอะไร แต่ขณะเดียวกันก็ได้เห็นอีกด้านหนึ่ง คือด้านที่เป็นด้านบวก เช่น ความเพียรพยายาม ความอดทน หรือการรู้จักปล่อยรู้จักวาง รวมทั้งความรู้สึกตัวที่เกิดขึ้นให้ได้เห็น ได้ประจักษ์ คนเราถ้าปฏิบัติธรรมแล้วไม่รู้จักตัวเองมากขึ้น ไม่เห็นตัวเอง มันก็ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมแล้ว
ยิ่งกว่านั้นคนที่วิ่งระยะไกลเขาบอกว่า หลังจากที่วิ่งระยะไกล หลังจากที่ฝึกซ้อมเคี่ยวกรำตัวเองอย่างหนัก และผ่านการวิ่งระยะไกล ๔๐ กิโล ๘๐ กิโล ๑๐๐ กิโล บางทีกว่าจะวิ่งเสร็จก็เดี้ยง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ มันเกิดความเปลี่ยนแปลงภายใน ไม่ใช่แค่ร่างกาย ที่แข็งแรงฟื้นตัวเร็วหรืออดทน แต่มันมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นในจิตใจ เช่น การเป็นคนฮึดสู้ ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคง่ายๆ หรือบางอย่างที่คนอื่นท้อ แต่ตัวเองไม่ยอมท้อง่ายๆ
อันนี้มันก็ธรรมดานะ เพราะคนเราพอเจอความยากลำบากมันก็ต้องมันความอดทน ต้องมีใจที่ฮึดสู้ถึงจะผ่านจุดนั้นมาได้ แต่สิ่งที่หลายคนพบว่ามันเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในก็คือ เป็นคนที่สุขง่าย อยู่กับตัวเองง่าย แต่ก่อนก็ติดสุขนะ อยากเที่ยว อยากกิน อยากดื่ม อยากช้อป แต่พอผ่านประสบการณ์การซ้อมการวิ่งมานานๆ มันกลายเป็นคนสุขง่าย อยู่ง่าย มีความพึงพอใจในชีวิตอย่างง่ายๆ ชีวิตไม่ต้องการอะไรมาก อาจเป็นเพราะได้พบความสุขจากการวิ่ง คนเราพอมีความสุขจากการวิ่ง หรือความสุขจากการที่ได้เห็นตัวเองในมุมที่ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ พอภูมิใจในตัวเอง มันก็เป็นความสุขที่ทำให้ไม่ต้องไปพึ่งพาความสุขจากสิ่งอื่นหรือความสุขจากภายนอก
แล้วหลายคนก็ตั้งข้อสังเกตนะ คนที่ผ่านประสบการณ์จากการวิ่งมามากๆ เขาจะเป็นคนที่อ่อนน้อมถ่อมตัว ไม่ขี้อวด และบ่นน้อย อันนี้ก็เป็นการตั้งข้อสังเกตของหลายคน ที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของคนที่ผ่านการวิ่งมานานๆ ผ่านการซ้อมมาเยอะๆ ซึ่งอันนี้ก็ เหมือนกับการปฏิบัติธรรมนะ เพราะคนที่ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง สุดท้ายก็เป็นคนที่สุขง่ายอยู่ง่าย เป็นคนที่มีอัตตาตัวตนเบาบาง ไม่โอ้อวด แต่ถ้ายังโอ้อวดยังมีตัวตนอยู่ ก็แสดงว่ายังปฏิบัติธรรมไม่มากพอ หรือยังไม่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง แต่ถ้าหากปฏิบัติธรรม จริงจัง มันจะมีคุณสมบัติบางส่วนคล้ายกับคนที่ผ่านการวิ่งมานานๆ ผ่านการฝึกซ้อมเคี่ยวกรำตัวเองมาอย่างหนัก จึงอดไม่ได้ที่จะมองว่า การวิ่งระยะทางไกลๆ หรือการซ้อมเคี่ยวกรำตัวเองอย่างสม่ำเสมอ มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง
แต่ดูไปแล้วบางทีนักปฏิบัติธรรมก็ทุ่มเทน้อยกว่านักวิ่งเหล่านี้ เราเห็นว่านักวิ่งเหล่านี้เขาทุ่มเทมาก บางทีนักปฏิบัติธรรมที่เรียกว่าตัวเองเป็นนักปฏิบัติธรรม ยังทุ่มเทสู้คนเหล่านี้ไม่ได้นะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวินัย เรื่องของฉันทะในการทำความเพียร หรือแม้กระทั่ง ความเปลี่ยนแปลงภายใน เพราะฉะนั้นเวลานักปฏิบัติธรรม หรือเวลาพวกเรามาปฏิบัติธรรมแล้วเราท้อ เราเบื่อ เราไม่ไหว บางทีต้องเรียนรู้จากนักวิ่งเหล่านี้ว่า ขนาดที่เขาไม่ได้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ไม่ได้มุ่งนิพพานอย่างเรา แต่เขาทุ่มเทกับตัวเองอย่างมาก เขาสู้กับ ตัวเองอย่างมาก
ในขณะที่เราอ้างว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม แต่เจออุปสรรคนิดหน่อยก็ “ไม่ไหวๆ” แม้กระทั่งเวลาที่จะให้กับการปฏิบัติธรรมก็น้อยกว่าเขานะ พวกนี้เขาวิ่งกันวันหนึ่ง ๒-๓ ชั่วโมง บางวันก็ ๔-๕ ชั่วโมง แล้วแถมวิ่งกลางคืนด้วย อย่างที่ว่าสองทุ่มถึงตีสาม มีนักปฏิบัติธรรมกี่คนที่จะทำความเพียรขนาดนั้น
ฉะนั้นจะว่าไปแล้ว เวลาเราท้อแท้กับการปฏิบัติ มองไปทางคนเหล่านี้ก็ดีนะ จะได้รู้ว่าแม้เขาไม่ได้มุ่งนิพพาน ไม่ได้มุ่งความหลุดพ้น หรือไม่ได้มีศรัทธาในสิ่งที่เป็นอุดมคติสูงส่ง แต่เขาทุ่มเทและพยายามเอาชนะกิเลสตัวเองยิ่งกว่าเรานักปฏิบติธรรมเสียอีก ถ้ามองแบบนี้ได้ก็จะทำให้เกิดกำลังใจ และให้เขาเป็นครู.