พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565
มีโยมคนหนึ่งมาถาม อยากจะให้ลูกชายมีธรรมะ จะทำอย่างไรดี เพราะว่าลูกชายซึ่งอายุประมาณ 12-13 ไม่ค่อยสนใจศาสนา เรียกว่าไม่ชอบเลยก็ว่าได้ อันนี้ก็ธรรมดาของเด็กหรือเยาวชนสมัยนี้ ถามว่าทำไมอยากจะให้ลูกมีธรรมะ ตัวแม่ก็อยากจะให้ลูกมีศรัทธาในพุทธศาสนา
อาตมาบอกว่า ถึงแม้จะไม่สนใจศาสนาก็มีธรรมะได้ ไม่ใช่ว่าคนที่ม่มีศาสนาหรือไม่สนใจศาสนาจะมีธรรมะไม่ได้ แต่แม่ก็ยังอยากจะให้ลูกได้มามีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็ถามว่าศรัทธาในพระพุทธศาสนาหมายความว่าอย่างไร แม่อยากจะให้ลูกได้เข้าวัด รู้จักใส่บาตร รู้จักสวดมนต์ นั่งสมาธิ
อาตมาบอกว่าดีนะ แต่ว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เป็นแก่นของพุทธศาสนา สิ่งที่เป็นแก่นของพุทธศาสนาไม่ใช่การเข้าวัด ไม่ใช่การสวดมนต์ หรือแม้แต่ใส่บาตร เพราะว่านั่นอาจจะเป็นแค่พิธีกรรมในความเข้าใจของคนจำนวนมาก ก็ดีอยู่นะ แต่สิ่งที่ดีกว่าสำคัญกว่าคือการมีธรรมะ และธรรมะที่ว่านี่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาเข้าวัด จะต้องมาสวดมนต์
บางทีถ้าสอนลูกดีๆ หรือส่งเสริมลูกดีๆ ลูกสามารถจะมีธรรมะได้ โดยที่เป็นธรรมะในพุทธศาสนาด้วย ทั้งๆที่ตัวเองอาจจะไม่ได้รู้เลยว่าตัวเองกำลังนับถือพุทธศาสนา หรือปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาอยู่ ธรรมะที่ว่านั้นได้แก่อะไรบ้าง เช่น
หนึ่ง รู้จักคิดถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว รู้จักคิดถึงผู้อื่นด้วย ถ้ามีธรรมะข้อนี้ก็ทำให้เห็นคุณค่าของศีล เพราะศีลโดยเฉพาะศีล 5 พื้นฐานคือการไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น คนเราถ้าหากว่ารู้จักคิดถึงคนอื่น การที่จะน้อมใจไปในทางรักษาตนให้มีศีลก็เป็นไปได้ง่าย
และไม่ใช่แค่ศีล 5 อย่างเดียว รวมอย่างอื่นด้วย เช่น รับผิดชอบต่อส่วนรวม สิ่งแวดล้อม ทิ้งขยะเป็นที่ รู้จักใช้น้ำใช้ไฟอย่างประหยัด แม้จะเป็นสมบัติของส่วนรวม
คนที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่เพราะว่าเขาคิดถึงแต่ตัวเอง คิดถึงแต่ความสะดวกสบายของตัวเอง กินขนมเสร็จหรือดื่มน้ำเสร็จ ก็ทิ้งห่อขนมลงข้างทางทันที หรือโยนขวดเปล่าทิ้งลงทันที เพราะอะไร เพราะว่ามันสะดวกตัวเอง แต่นี่เป็นเพราะว่าไม่ได้คิดถึงผู้อื่น ว่าคนอื่นเขา จะต้องมาเดือดร้อนในการเก็บขยะที่ตัวเองทิ้งอย่างไรบ้าง
แม้ว่าบางคนอาจจะเป็นพนักงานทำความสะอาด อาจจะมีเงินเดือนอยู่แล้วมีค่าจ้างอยู่แล้ว แต่ถ้าคนที่คิดถึงผู้อื่นด้วยหรือรู้จักคิดถึงผู้อื่นด้วย เขาก็จะไม่ทำอย่างนั้น ไม่อยากสร้างภาระให้กับคนอื่น หรือว่าทำให้ส่วนรวม เช่น วัด โรงเรียน สถานที่สาธารณะ เช่นสวนสาธารณะหรืออุทยานสกปรกเลอะเทอะ
เราจะพูดถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ได้ หรือแม้แต่การประหยัดพลังงาน หรือแม้กระทั่งการรักษาสถานที่ให้เรียบร้อย ถ้าหากว่าคิดถึงตัวเองอย่างเดียว ไม่รู้จักคิดถึงผู้อื่นหรือส่วนรวม
ประการที่สองคือ ช่วยให้ลูกได้เข้าถึงความสุขที่ไม่อิงกับวัตถุ เดี๋ยวนี้คนไปเข้าใจว่าความสุขอย่างเดียวที่มีคือการเสพ เสพทางตาหูจมูกลิ้นกาย ซึ่งต้องอาศัยวัตถุ ต้องอาศัยเงินทอง อันนี้เรียกว่าสุขจากวัตถุสิ่งเสพหรือกาม สุขแบบนี้เรียกว่ากามสุข แล้วคนเราถ้ารู้จัก แต่กามสุขมันหาความสุขได้ยาก แล้วก็ง่ายที่จะไปเบียดเบียนคนอื่นด้วย
ความสุขที่ไม่อิงวัตถุมีมากมายหลายอย่าง ความสุขจากการเรียน ความสุขจากการทำงาน หรือถ้ายากไปก็ความสุขจากการปลูกต้นไม้ มีพ่อแม่บางคนชวนลูกทำอาหารทำครัวด้วยกัน แล้วลูกก็มีความสุข สอนตั้งแต่เล็กเลย เด็กๆ ก็อยากจะทำครัว กลายเป็นความสุข อย่างหนึ่งของลูกๆในบ้าน
ไม่ใช่เป็นภาระ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ เป็นความสุข เพราะว่าได้ทำครัวร่วมกันพ่อแม่ลูก กลายเป็นสิ่งที่ลูกตั้งตารอคอย แล้วก็ได้สร้างสรรค์อาหารชนิดต่างๆ ทั้งอาหารทั้งขนม นี่ก็เป็นความสุขแบบง่ายๆ ที่ไม่อิงวัตถุ เป็นความสุขที่เกิดจากการกระทำ
หรือบางทีพ่อแม่ชวนลูกมาตอบคำถามปริศนากัน มีการเล่นเกม 20 คำถาม ชวนลูกมาเล่นด้วย พ่อแม่ก็เล่นด้วย ลูกก็มีความสุข สุขกว่าดูหนังดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมด้วยซ้ำ แต่ถ้าไม่สอนแบบนี้เด็กก็ไปติดเกม แล้วก็กลายเป็นเสพติดวัตถุ
ตอนหลังก็สุขจากการไปช้อปปิ้งกัน การมีของแพงๆ สินค้าแบรนด์เนม เสร็จแล้วก็เดือดร้อนพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่สอนแต่เรื่องความสุขโดยอาศัยวัตถุ ลูกอยากได้อะไรก็ให้ โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นเกมส์ ไอแพค ให้ไป เด็กก็จะรู้จักแต่ความสุขที่อิงวัตถุ
แต่ว่าถ้าเด็กรู้จักความสุขที่ไม่อิงวัตถุ ความสุขจากการกระทำ สิ่งที่ท้าทายสติปัญญา เล่นเกมบ้าง หรือทำครัวบ้าง หรือร้องเพลงด้วยกันบ้าง หรือปลูกต้นไม้ทำสวนด้วยกัน อันนี้เด็กจะรู้จักความสุขที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปความสุขจากการทำความดี ความสุขจากการเรียน ความสุขจากการทำงาน ก็จะเกิดขึ้นตามมา
ประการที่สามคือ อย่าหวังลาภลอยคอยโชคและนิยมทางลัด ให้พึ่งความเพียรของตัวเอง สอนลูกให้เข้าใจว่า ความเพียรเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เรามีความสุขความเจริญ และพ้นจากความทุกข์ได้ ทำอะไรต้องพึ่งความเพียรของตัวเอง อันนี้เป็นแก่น หรือเป็นหลักธรรมพื้น ฐานของพุทธศาสนา
แต่เดี๋ยวนี้เด็กและผู้ใหญ่ด้วยหวังลาภลอยคอยโชค จะทำอะไรก็หวังโชค บางทีพ่อแม่ก็สอนลูกว่าโชคดีนะ สอบนี่ขอให้โชคดีนะ แต่ไม่ได้สอนลูกว่าให้มีความเพียร แล้วไม่ใช่แค่ลาภลอยคอยโชค นิยมทางลัดด้วย ทำการบ้านก็ใช้ทางลัดตัดแปะจากกูเกิลจากวิกิพีเดีย พอโตขึ้นก็โกงทุจริตคอรัปชั่น
แล้วถ้าหากว่ามีคุณธรรม 3 ประการนี้ ถือว่าลูกได้ปฏิบัติตามหลักคำสอนของพุทธศาสนาแล้ว เป็นชาวพุทธโดยที่ไม่รู้ตัว เป็นชาวพุทธโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นชาวพุทธ ดีกว่าเป็นชาวพุทธแต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติ
แล้วต่อไปถ้ามีคุณธรรม 3 ประการเป็นพื้นฐาน การที่จะน้อมเข้ามาสู่ธรรมะขั้นสูงในพระพุทธศาสนา เช่น การเจริญสติ การทำสมาธิ ก็ง่าย แล้วต่อไปจะเห็นคุณค่าของหลักธรรมขั้นสูงของพุทธศาสนาเอง อริยมรรคมรรคมีองค์ 8 เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์
ให้เด็กเขามีคุณธรรมหรือหลักธรรมพื้นฐาน 3 ประการนี้ก่อน และเขาก็จะเป็นชาวพุทธที่ถูกต้อง
หรือแม้จะเป็นชาวพุทธเพราะไม่ได้รู้ว่าตัวเองเป็นชาวพุทธ แต่เป็นชาวพุทธโดยปริยาย อันนี้ดีกว่าเป็นชาวพุทธที่เข้าวัดสวดมนต์ใส่บาตร แต่ว่าเห็นแก่ตัว แล้วก็ยังหวังโชคลาภ หวังลาภลอยคอยโชค ได้แต่พึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ดลบันดาลให้ร่ำรวยมั่งมี แต่ว่าไม่ได้พึ่งความเพียรพยายามของตัวเอง แล้วก็ไม่มีน้ำใจให้คนอื่น ยังติดในสุขทางวัตถุ อย่างนี้เรียกว่าเป็นพุทธแต่ในนาม แต่โดยคุณธรรมแล้วห่างไกลจากความเป็นพุทธมาก.